Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เยี่ยมบ้าน "จิม ทอมป์สัน" เรือนไทยกลางกรุง






มีฝรั่งคนหนึ่งที่ฉันอยากจะแนะนำให้รู้จัก...

เขาชื่อว่า เจมส์ แฮริสัน วิลสัน ทอมป์สัน อาจจะไม่คุ้นหูกันสักเท่าไร แต่ถ้าบอกว่า เจ้าของชื่อนั้นเป็นคนเดียวกับ "จิม ทอมป์สัน" หลายคนคงร้องอ๋อ... ก็คนที่ได้รับฉายาว่าเป็น "ราชาไหมไทย" นั่นยังไงล่ะ

ตัวฉันเองแม้เกิดไม่ทันยุคที่เขายังมีชีวิตอยู่ แต่ก็พอจะรู้บ้างว่า จิม ทอมป์สัน ชาวอเมริกันคนนี้เป็นคนที่ช่วยให้ผ้าไหมไทยของเราโด่งดังไปทั่วโลก หลังจากที่เขาลงหลักปักฐานอยู่ที่เมืองไทย หลังปี พ.ศ.2489 และมีความหลงใหลในความงามของไหมไทย จนได้เข้ามาช่วยชาวบ้านพัฒนาในเรื่องการผลิต การย้อมสี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการตลาด จนทำให้วงการผ้าไหมซึ่งกำลังซบเซา กลับเฟื่องฟูขึ้นมาได้อีกจนถึงปัจจุบัน

แต่ที่ฉันพาจิม ทอมป์สัน มาแนะนำให้รู้จักวันนี้ ไม่ได้จะมาพูดถึงเรื่องผ้าไหมอย่างเดียวหรอก เพราะยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือบ้านเรือนไทยหลังใหญ่ ริมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของเขา เมื่อคราวที่ยังมีชีวิตอยู่ ก่อนที่จะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในประเทศมาเลเซียใน พ.ศ.2510 เมื่อเขาอายุได้ 61 ปี

***********************************


จากปากซอยเกษมสันต์ 2 ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ ปากซอยมีป้ายตัวใหญ่ชี้ทางไปพิพิธภัณฑ์บ้านเรือนไทยจิม ทอมป์สัน ฉันเดินเข้าไปในซอยยังไม่ทันจะเหนื่อยก็ถึงสุดซอยพอดี มองเห็นเรือหางยาวแล่นไปมาอยู่ในคลองแสนแสบ ส่วนบ้านเรือนไทย จิม ทอมป์สันตั้งอยู่ทางซ้ายมือ เห็นแล้วรู้ได้ทันที เพราะลักษณะที่ต่างไปจากบ้านเรือนหลังอื่นๆ ในซอย

ความแตกต่างที่ว่าก็คือ บ้านนี้เป็นบ้านเรือนไทยที่พบเห็นได้น้อยมากในเมืองกรุงอย่างนี้ จริงๆ แล้วตามบ้านนอกที่ฉันอยู่ เรือนไทยหลังใหญ่แบบนี้ก็หาได้ยากแล้วเหมือนกัน เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็สร้างบ้านตึกบ้านปูนกันทั้งนั้น คนอยู่ก็ต้องทนร้อนกันไปตามระเบียบ แต่คิดอีกทีก็ดีเหมือนกัน จะได้ไม่ต้องตัดต้นไม้มาสร้างบ้าน เพราะเรือนไทยหลังหนึ่งก็ใช้ไม้ไม่น้อยอยู่เหมือนกัน

จิม ทอมป์สันเป็นฝรั่งแท้ๆ แต่กลับมีความชื่นชอบชื่นชมเมืองไทยรวมทั้งศิลปะของเอเชีย ทำให้เขาเลือกสร้างบ้านเรือนไทยขึ้นเป็นที่พักอาศัยอยู่ริมคลองแสนแสบ ตรงข้ามกับหมู่บ้านช่างทอผ้าไหมบ้านครัว ซึ่งเป็นชุมชนที่เขามักจะแวะเวียนเข้าไปดูเรื่องการผลิตผ้าไหมอยู่เป็นประจำ ซึ่งไม้ที่นำมาสร้างบ้านนั้นก็นำมาจากเรือนไม้เก่าจากที่ต่างๆ ทั้งจากอยุธยาและในชุมชนบ้านครัวเองด้วย โดยเขาเป็นคนออกแบบเองร่วมกับสถาปนิกชาวไทย

พูดไปพูดมาก็ไม่ได้เข้าไปในตัวบ้านเสียที อย่ามัวเสียเวลา เข้าไปชมภายในบ้านกันเลยดีกว่า หลังจากเสียเงินค่าบัตรเข้าชมไป 100 บาท แล้ว ฉันก็มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวบ้านเรือนไทยที่เห็นอยู่ด้านหน้า สิ่งแรกที่รับรู้ได้ทันทีเมื่อเข้าไปด้านในก็คือ ความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ๆ หลายๆ ต้นที่ปลูกอยู่ในบริเวณบ้าน ไม่น่าเชื่อว่าใจกลางเมืองอย่างนี้จะยังมีต้นไม้ใหญ่หลงเหลืออยู่มากขนาดนี้


ในการเดินชมห้องต่างๆ ภายในบ้านเรือนไทยนั้นจะมีมัคคุเทศก์นำชม ซึ่งแต่ละคนก็เก่งๆ กันทั้งนั้น ฉันได้ยินกลุ่มนี้บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ กลุ่มนั้นเป็นภาษาฝรั่งเศส กลุ่มโน้นเป็นภาษาญี่ปุ่น ส่งภาษากันช้งเช้งๆ ส่วนฉัน ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าต้องบรรยายให้ฟังเป็นภาษาไทยแน่นอน

บางคนอาจจะกำลังคิดอยู่ว่า นอกจากเรือนไทยและต้นไม้ร่มรื่นแล้ว ที่นี่ยังมีอะไรให้ดูอีก ขอตอบว่ามีแน่นอน เพราะจิม ทอมป์สัน นอกจากจะชอบไหมไทย และเรือนไทยแล้ว ก็ยังชอบสะสมของเก่าอีกด้วย ซึ่งแต่ละชิ้นก็เก่าแก่และมีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปเก่าอายุหลายร้อยปี ถ้วยชามเบญจรงค์ต่างๆ ภาพเขียนเก่าแก่ และศิลปวัตถุอื่นๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะของไทยเท่านั้น แต่มีของหลายๆ เชื้อชาติ ทั้งจีน พม่า ฯลฯ จัดแสดงไว้ในห้องต่างๆ ภายในบ้าน

มัคคุเทศก์สาวสวยเริ่มพาฉันชมห้องต่างๆ ในบ้าน โดยห้องแรกก็คือห้องครัวเก่าที่ปัจจุบันใช้จัดแสดงพวกเครื่องถ้วยชามทั้งหลาย ซึ่งมีทั้งเครื่องเบญจรงค์และลายน้ำทองจำนวนกว่าครึ่งร้อย มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือกาน้ำของประเทศจีน ที่ไม่ได้เอาไว้ใส่น้ำชา แต่เอาไว้ใส่ไวน์ ลักษณะก็เหมือนกาน้ำเล็กๆ ที่ไม่มีฝาด้านบน เวลาใส่ต้องหงายด้านล่างขึ้น ตัวกามีลวดลายแบบจีนๆ น่ารักดี

ใกล้ๆ กับจัดแสดงห้องถ้วยชามคือห้องรับประทานอาหาร ขนาดห้องไม่ใหญ่นักแต่ตกแต่งอย่างสวยงาม มีโคมไฟระย้าอยู่กลางห้อง ภายในประดับตกแต่งด้วยเครื่องถ้วยชามเก่าแก่ และภาพเขียนสีบนแผ่นผ้าเป็นภาพพุทธประวัติ แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นก็คือ โต๊ะกินข้าว ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นโต๊ะเล่นไพ่นกกระจอกสองตัวมาต่อกัน ฉันว่าลวดลายที่สวยงามของโต๊ะก็น่าจะทำให้กินข้าวได้อร่อยมากขึ้นกว่าปกติ


ออกจากห้องกินข้าว เดินมาตามทางเดินเล็กๆ ที่ประดับด้วยพระพุทธรูป รูปภาพ และรูปปั้นตุ๊กตาแบบไทย จะพบกับห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ที่ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยศิลปวัตถุต่างๆ เป็นต้นว่า ตุ๊กตาพม่ารูป "นัต" ซึ่งเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ตั้งประดับอยู่ในช่องบานหน้าต่างทั้งสี่ช่อง ฉันชอบบรรยากาศห้องนั่งเล่นที่นี่มาก เพราะด้านหนึ่งมองเห็นวิวต้นไม้เขียวๆ ผ่านหน้าต่าง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นระเบียงเปิดโล่งมองเห็นเรือวิ่งไปมาในคลอง ทำให้บรรยากาศภายในไม่ทึบอึดอัด แถมลมโกรกเย็นสบายอีกต่างหาก

จากห้องนั่งเล่น เดินตรงไปจะเจอกับประตูโรงรับจำนำ อ้าว...อย่าหาว่าฉันโม้นะ ก็ประตูที่ว่านี้เป็นประตูโรงรับจำนำจริงๆ เพราะเจ้าของบ้านซื้อมาจากเยาวราชเพื่อนำมาเป็นประตูกั้นระหว่างทางเดิน แต่ไม่บอกก็ไม่รู้หรอกว่ามาจากโรงรับจำนำ เพราะดูเก๋ไม่หยอกเลย ชมประตูเสร็จเลี้ยวซ้ายไปชมห้องทำงานต่อ ห้องนี้เป็นห้องที่จิม ทอมป์สันใช้เวลาอยู่มากที่สุด สิ่งที่ดูจะโดดเด่นที่สุดคงจะเป็นหน้าต่างบานสูงทรงสอบหน้าโต๊ะทำงานที่เปิดรับลมและชมวิวของสวนต้นไม้ด้านหน้าได้พอดี

คนนำชมบอกฉันว่า ห้องหับส่วนใหญ่ในบ้านนี้ก็ยังจัดตกแต่งเหมือนเมื่อสมัยที่จิม ทอมป์สันยังมีชีวิตอยู่ อาจมีการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุบางชิ้นบ้าง แต่โดยรวมก็ยังคงเป็นแบบเดิม ซึ่งฉันว่าคนอยู่อาศัยคงเจริญหูเจริญตาไม่น้อย เพราะแต่ละห้องตกแต่งอย่างประณีต สวยงามไปทุกมุม และอีกอย่างหนึ่งที่เห็นก็คือ ถึงบ้านนี้จะเป็นบ้านเรือนไทย แต่ไม่ยักสร้างห้องน้ำแยกจากตัวบ้านไปแบบไทยแท้ๆ คงเพราะความเคยชินในแบบตะวันตกของจิม ทอมป์สันเอง รวมทั้งคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้อยู่ด้วย

นอกจากห้องต่างๆ ในชั้นบนแล้ว ด้านล่างยังมีของที่น่าสนใจอย่างพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในบ้าน คือ 1,300 ปี และเป็นชิ้นที่จิม ทอมป์สันรักมากที่สุดอีกด้วย แต่ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะนอกจากเรือนไทยหลังใหญ่แล้ว ในเรือนหลังเล็กอีก 2-3 หลัง บริเวณริมรั้วก็ยังมีข้าวของต่างๆ อย่างภาพเขียนบนผืนผ้าจัดแสดงไว้ เรียกว่าของดีๆ มีเยอะจนจัดแสดงไม่พอว่างั้นเถอะ

ฉันว่าที่นี่ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพ แต่เท่าที่เห็นนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างประเทศเสียมากกว่า คนไทยนั้นแทบไม่เห็นเลย เมื่อลองถามคนนำชมแล้วเขาก็บอกว่า คนไทยไม่ค่อยมาเที่ยวที่นี่กันสักเท่าไร วันธรรมดาไม่มีเลย ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ก็มีบ้างสัก 5-6 คน อาจเป็นเพราะไม่รู้ หรือเพราะอะไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน

แต่คราวนี้ก็ได้รู้กันแล้วนะว่ากรุงเทพก็ยังมีสถานที่น่าไปอย่างนี้อยู่กลางกรุง ไปมาก็สะดวกอย่างนี้ พลาดไม่ได้แล้วใช่ไหมล่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น