Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553


พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ได้ให้คำจำกัดความของ “ผี” ว่าคือ สิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นสภาพลึกลับ มองไม่เห็นตัว แต่อาจจะปรากฏเหมือนมีตัวตนได้ อาจให้คุณหรือโทษได้ มีทั้งดีและเลว หรืออาจหมายถึง คนที่ตายไปแล้ว หรือเทวดาก็ได้ ส่วน “วิญญาณ” หมายถึง สิ่งที่เชื่อกันว่ามีอยู่ในกายเมื่อมีชีวิต เมื่อตายจะออกจากกายล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่

ด้วยเหตุที่ “ผี” เป็นสิ่งที่ยากจะบอกได้ถึงรูปพรรณสัณฐานที่แน่นอน มีความลึกลับ ขึ้นกับความเชื่อ และจินตนาการ จึงถูกหยิบยกมาขู่เด็กอยู่เสมอ จนทำให้บางคนแม้โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ความรู้สึกกลัวผีก็ยังมีอยู่ หนัง/ละครหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นของไทย หรือต่างประเทศ ต่างก็สร้างสรรค์ “ผี” ออกมาในรูปแบบต่างๆมีทั้งแนวตลกขบขัน แนวสยองขวัญ น่ากลัว หรือแม้แต่แนวรักโรแมนติก ที่ฮิตๆอมตะสร้างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ได้แก่ พวกแดร็กคิวร่า แฟรงเก็นสไตน์ แวมไพร์ม ส่วนไทยก็มี แม่นาคพระโขนง ผีปอบ ผีกระสือ ผีกระหัง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผีที่เราเห็นในหนังหรือละครนับว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผีทั้งหลายที่ยังมีอีกหลากหลายในไทย ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงอยากจะขอแนะนำ “ผีไทย” ในแบบอื่นๆให้รู้จักกันบ้าง โดยทั่วไป คนไทยแต่เดิมได้แบ่งผีออกเป็นประเภทใหญ่ๆ คือ

๑.ผีฟ้า ได้แก่ผีที่อยู่บนฟ้า ซึ่งต่อมาเมื่อเรารับความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์มาจากพุทธศาสนา คนไทยภาคกลางจึงเรียกผีที่อยู่บนฟ้าว่า “เทวดา”หรือ “เทพ” และถือว่าเทวดามีหลายองค์ ส่วนคนทางภาคอีสานจะเรียกว่า “แถน”

๒.ผีคนตาย ได้แก่ผีที่เชื่อกันว่าเป็นวิญญาณของคนที่ตายไปแล้ว ผีชนิดนี้มีทั้งผีดีและผีไม่ดี ซึ่งผีดีที่คนนับถือยังแบ่งย่อยเป็นอีก ๓ ระดับ คือ ผีเรือน เป็นผีประจำครอบครัว คนไทยโบราณและชนชาติไทบางกลุ่มเรียกว่า “ผีด้ำ” หมายถึง ผีบรรพบุรุษ หรือผีปู่ย่าตายายพ่อแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ยังสถิตอยู่ในบ้านเรือน เพื่อคอยคุ้มครองและดูแลช่วยเหลือลูกหลาน และลูกหลานจะต้องเซ่นสรวงตามโอกาสอันสมควร ผีบ้าน คือ ผีประจำหมู่บ้าน บางแห่งเรียก”เสื้อบ้าน” ได้แก่ผีที่คอยคุ้มครองและให้ความอนุเคราะห์แก่คนในหมู่บ้าน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านมักจะมีสถานที่สำหรับทำพิธีบูชาบวงสรวง ผีเมือง หรือบางแห่งเรียก”เสื้อเมือง” ได้แก่ วิญญาณของเจ้าเมืององค์ก่อนๆหรือวีรบุรุษของกลุ่มชน คอยคุ้มครองและให้ความอนุเคราะห์ดูแลคนทั้งเมืองหรือรัฐ บางแห่งก็เรียก “เทพารักษ์” และมักมีการสร้างศาลให้เป็นที่สถิต

๓.ผีไม่ปรากฎรายละเอียดในด้านความเป็นมา ได้แก่ ผีที่ประจำอยู่กับสิ่งต่างๆที่มีในธรรมชาติ เช่น ผีป่า ผีเขา ผีน้ำ ผีประจำต้นไม้ เป็นต้น ผีดังกล่าวให้คุณและโทษได้ จึงต้องเซ่นสรวงให้ถูกวิธี โดยเฉพาะเมื่อต้องการความช่วยเหลือหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์

นอกจากนี้ ยังมีผีตามสภาพที่ปรากฏ เช่น บอกสภาพการตาย ได้แก่ ผีตายโหง ผีหัวกุด ผีตายทั้งกลม เป็นต้น ต่อไปนี้จะขอแนะนำผีแต่ละจำพวกให้ได้รู้จักกัน ดังนี้

ผียอดนิยมซึ่งเป็นที่รู้จักและมักถูกนำมาสร้างหนัง/ละครบ่อยๆ ได้แก่ ผีกระสือ คือผีที่เข้าสิงในตัวผู้หญิง และชอบกินของโสโครก คู่กับผีกระหัง ที่ชอบเข้าสิงผู้ชาย เชื่อกันว่าผีกระหังเป็นผู้ชายที่เรียนวิชาอาคม เมื่อแก่กล้าก็มีปีกมีหาง จะไปไหนก็ใช้กระด้งต่างปีก สากตำข้าวต่างขา สากกะเบือ ต่างหาง ชอบกินของโสโครกเช่นเดียวกับกระสือ ผีปอบ คือ ผีที่สิงอยู่ในตัวคน พอกินตับไต้ไส้พุงหมดแล้วก็จะออกไปและคนๆนั้นก็จะตาย ผีดิบ คือ ผีที่ยังไม่ได้เผา หรือผีดูดเลือด ผีตายทั้งกลม คือ หญิงที่ตายในขณะที่ลูกอยู่ในท้อง ผีตายโหง คือ คนที่ตายผิดธรรมดา เช่น ถูกฆ่าตาย ตกน้ำตายหรือตายด้วยอุบัติเหตุ ผีพราย หมายถึงหญิงที่ตายอันเนื่องมาจากคลอดลูกหรือตายในขณะที่ลูกเกิดมาได้ไม่นาน เชื่อกันว่าวิญญาณหญิงดังกล่าวจะมีความร้ายกาจมาก ส่วนผีพราย อีกประเภทหนึ่ง คือคนแก่ที่ป่วยไข้ออดแอดจนไม่มีกำลังต้องนอนซมอยู่เสมอ แต่พอคนอื่นไม่อยู่หรือเผลอ คนแก่นั้นก็เปลี่ยนไป ดวงตากลับวาวโรจน์และมีเรี่ยวแรงลุกไปหาของกินที่เป็นของสดหรือมีกลิ่นคาว หากมีใครมาพบก็จะทำท่าหมดแรงต้องนอนซมเหมือนเดิม บางแห่งก็ว่าผีพรายสามารถจำแลงกายเป็นสัตว์ต่างๆได้ โดยเฉพาะนกเค้าแมว หากบ้านไหนมีคนป่วยและมีนกเค้าแมวมาเกาะ จะเชื่อกันว่าผีพรายแปลงกายมาซ้ำเติมคนป่วยให้ตายโดยเร็ว ส่วนผีที่มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มข้างต้นแต่ชื่ออาจจะไม่ค่อยคุ้นหูสักเท่าไรก็ได้แก่ ผีโพง และ ผีเป้า คือผีที่ชอบกินของสด ของคาว เช่น เลือดสด และสิงในคนได้ บ้างก็ว่าผีโพงสิงคนแล้ว จะทำให้มีแสงสว่างออกมาทางจมูกเวลาหายใจและชอบหากินเวลากลางคืน ผีโขมด เป็นพวกเดียวกับผีกระสือหรือผีโพง เห็นเป็นแสงเรืองวาวในเวลากลางคืน ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าคนถือไฟอยู่ข้างหน้า ผีกองกอย คือ ผีชนิดหนึ่งที่มีตีนเดียว ไม่มีสะบ้าหัวเข่า จึงต้องเดินเขย่งเกงกอย ชอบออกมาดูดเลือดที่หัวแม่เท้าของคนที่นอนหลับพักแรมในป่า

สำหรับผีที่ให้คุณก็มี ผีขุนน้ำ คือ อารักษ์ประจำต้นน้ำแต่ละสาย ซึ่งสถิตอยู่บนดอยสูง ผีขุนน้ำมักอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ ชาวบ้านจะอัญเชิญมาสถิตที่หอผีที่ปลูกอย่างค่อนข้างถาวรใต้ต้นไม้เหล่านี้ ผีขุนน้ำที่อยู่ต้นแม่น้ำใด ก็มักจะได้ชื่อตามแม่น้ำนั้น เช่น ขุนลาว เป็นผีอยู่ต้นแม่น้ำลาว ในจ.เชียงราย ผีมด และ ผีเมง คือ ผีบรรพบุรุษตามความเชื่อชาวล้านนา ( คำว่า “มด” หมายถึงระวังรักษา) ส่วนผีเมงนี้เข้าใจกันว่ารับมาจากชนเผ่าเม็งหรือมอญโบราณ ผีเจ้าที่ คือผีที่รักษาประจำอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เป็นผู้ดูแลรักษาเขตนั้นๆ ดังนั้น คนโบราณเมื่อเดินทางและหยุดพักที่ใด มักจะบอกขออนุญาตเจ้าที่ทุกครั้ง ผีเจ้านาย คือ ผีที่มาประทับทรงเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆของชาวบ้านชาวเมือง แต่มิใช่เสื้อบ้าน เสื้อเมืองหรือผีปู่ย่าตายาย ผีย่าหม้อหนึ้ง เป็นผีจำพวกผีเรือนสถิตอยู่กับหม้อที่ใช้นึ่งข้าว เมื่อใครจะเดินทางไกลก็นำข้าวเหนียวหนึ่งปั้นและกล้วยหนึ่งผลไปสังเวยบอกกล่าวผีย่าหม้อหนึ้งเพื่อให้คุ้มครอง หรือหากลูกหลานไม่สบายร้องไห้โยเยกลางคืน ชาวบ้านก็มักไปเอายาจากผีย่าหม้อหนึ้งโดยขูดเอาดินหม้อที่ติดกับหม้อไปผสมน้ำให้ลูกอ่อนกิน นอกจากดูแลคุ้มครองทรัพย์สินในครัวเรือนแล้ว ยังมีอำนาจในการพยากรณ์ได้ด้วย ซึ่งการลงผีย่าหม้อหนึ้งนี้มักทำเมื่อบุตรหลานไม่สบายหรือของหาย

นอกเหนือไปจากผีดังกล่าวแล้ว ในแต่ละท้องถิ่นยังมีผีอีกหลายประเภท ซึ่งหลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน อาทิ ผีกละ หรือ ผีกะเป็นผีที่มักเข้าสิงคนเพื่อเรียกร้องจะกินอาหาร เมื่อเข้าสิงใคร ก็จะแสดงกิริยาผิดปกติไป เมื่อคนสังเกตเห็นก็มักร้องขอกินอาหารและจะกินอย่างตะกละตะกลาม จึงเรียกผีกละตามลักษณะการกิน แต่มักเขียนเป็นผีกะ ผีกละยักษ์ เป็นผีที่อยู่รักษาสถานที่ต่างๆ เช่น วัดร้าง ถ้ำ หรือที่ซึ่งมีสมบัติฝังหรือซ่อนอยู่ ผีกละยักษ์จะคอยพิทักษ์สมบัติเหล่านั้น จนกว่าเจ้าของจะรับทรัพย์สินเหล่านั้นไป ในกรณีผีกละยักษ์ที่อยู่ในวัด เล่ากันว่า มักจะเป็นวิญญาณของพระหรือเจ้าอาวาสที่ผิดวินัย เมื่อตายแล้วไปเกิดไม่ได้ จึงต้องทำหน้าที่พิทักษ์วัดไปจนกว่าจะสิ้นกรรม รูปร่างของผีกละยักษ์ ไม่แน่นอน บ้างก็ว่าเป็นหมูตัวใหญ่ที่มีร่างกายเป็นทองแดง บ้างก็ว่าเป็นสุนัขใหญ่สีดำสนิททั้งตัว ผีตามอย (อ่านว่า ผี-ต๋า-มอย) หมายถึงผี ๒ ชนิด ชนิดแรกเป็นผีที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีคน ผีชนิดนี้จะคอยมาเลียก้นคนที่ไปถ่ายอุจจาระ เพราะคนสมัยก่อนมักไปถ่ายตามขอนไม้ เมื่อถ่ายเสร็จก็จะใช้ไม้แก้งขี้ปาดไปตามร่องก้นให้สะอาด ถ้าแก้งขี้ไม่สะอาดก็จะถูกผีตามอยมาเลียก้น ทำให้เจ็บไข้ได้ วิธีแก้คือให้เอาดุ้นไฟสุดหรือไม้ที่เหลือจากไฟไหม้แล้วมาแก้งขี้เสีย (แก้ง-หมายถึงขูดให้สะอาด) ผีตามอย อีกชนิด เป็นผีที่คอยจับเอาหนุ่มหรือสาววัยรุ่นที่แตกกลุ่มเพื่อนที่เข้าไปในป่าหรือในดง นำไปมีเพศสัมพันธ์กับตน โดยคนที่ถูกกุมไปมักมีสภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น ผีโป่ง เป็นผีที่อยู่ตามโป่งซึ่งอาจเป็นโป่งดิน คือบริเวณที่มีดินเค็มซึ่งสัตว์มักไปแทะกิน หรือโป่งน้ำ คือที่มีน้ำผุดออกมาจากดิน ผู้ที่ไปสู่บริเวณโป่ง หากไม่สำรวมอาจจะถูกผีโป่งทำร้าย ทำให้เจ็บปวดที่เท้าหรือขา หรืออาจมีอาการเจ็บไข้รักษาไม่หาย

นอกจากผีลักษณะต่างๆตามที่กล่าวมาแล้ว เรายังมีทั้งการละเล่น สำนวน ช่วงเวลา กิริยาอาการและคำหลายคำที่เกี่ยวกับผี เช่น ผีด้งหรือผีนางด้ง เป็นผีที่หนุ่มสาวในท้องที่จะเชิญมาเล่นตามลานบ้านช่วงสงกรานต์ ผีถ้วยแก้ว เป็นการเล่นทรงเจ้าเข้าผีโดยผู้เล่นเอานิ้วแตะก้นแก้วให้เคลื่อนไปตามตัวอักษรเพื่อสื่อความหมาย ผีถึงป่าช้า หมายถึงจำใจทำเพราะไม่มีทางเลือก ผีบุญ คือ ผู้อวดคุณวิเศษว่ามีฤทธิ์ทำได้ต่างๆนานา ผีบ้านไม่ดี ผีป่าก็พลอย หมายถึง คนในบ้านเป็นใจให้คนนอกบ้านเข้ามาทำความเสียหายได้ ผีซ้ำด้ำพลอย คือ ถูกซ้ำเติมเมื่อพลาดพลั้งหรือเมื่อคราวเคราะห์ร้าย ผีอำ คือ อาการที่ปรากฏเมื่อเวลานอนเคลิ้มไปว่ามีคนมาปลุกปล้ำหรือยึดคร่า ทำให้มีอาการเหนื่อยหอบจนตื่นขึ้น บางคนก็เรียก ผีทับ จะมีอาการอึดอัด พูดจาไม่ได้ ลุกไม่ได้ ผีผลัก คืออุบัติเหตุที่ทำให้บาดเจ็บหรือล้มตาย เนื่องจากใช้ของแหลมมาจี้ใส่กันเป็นเชิงล้อเล่น ผีเจาะปาก หมายถึงมีปากก็สักแต่พูดเรื่อยเปื่อย พูดไม่มีสาระ ผีพุ่งไต้ หมายถึงดาวตก ผีตากผ้าอ้อม หมายถึง แสงแดดที่สะท้อนกลับมาสว่างในเวลาเย็นจวนค่ำ มีสีส้มอมเหลือง ผีขนุน หมายถึงหญิงขายบริการตามต้นขนุนริมคลองหลอด กรุงเทพฯ ผีเพลีย คือดิถีวันห้าม ไม่ให้แรกนา ฯลฯ (ดิถี คือการนับวันตามจันทรคติ เช่น ขึ้น ๑ ค่ำ แรม ๒ ค่ำ เป็นต้น)

ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น แม้จะเป็นเพียงบางส่วนของเรื่องผีๆ แต่เชื่อว่าคงจะทำให้ท่านได้รู้จัก “ผีของไทย”มาก ยิ่งขึ้น

..................................................

อมรรัตน์ เทพกำปนาท

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
ข้อมูลจากสารานุกรมไทย /พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานและฉบับมติชน

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
http://www.culture.go.th/knowledge/study.php?&YY=2547&MM=12&DD=2
ที่มาภาพ :
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3hPREU1TVRFMU1nPT0=

พระจันทร์ : ความเชื่อ ตำนาน เล่าขานสู่ประเพณี “ไหว้พระจันทร์”




แม้ว่า “ดวงจันทร์” จะเป็นดินแดนนอกโลกแห่งเดียวที่มนุษย์ได้เดินทางไปสำรวจมาแล้ว แต่ดวงจันทร์ก็ยังมีความลี้ลับที่ทำให้เกิดความเชื่อ ตำนาน บทเพลง และเรื่องราวต่างๆมากมาย อันชวนให้มนุษย์ต้องไปค้นคว้า ไขว่หาดังต้องมนต์นับแต่อดีตมาจนปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะขอนำบางส่วนมาเล่าต่อ ดังนี้

ในระบบสุริยจักรวาล ที่โลกเราอยู่นี้ ดวงจันทร์ หรือที่ชาวโรมันเรียกว่า “ลูน่าร์” และชาวกรีกเรียกว่า “เซเลเน่” หรือ “อาร์เทมิส” เป็นเทหวัตถุ(ก้อน/ชิ้นหรือส่วนหนึ่งของสสาร ที่อาจเป็นของแข็ง ของเหลวหรือแก๊สก็ได้) ที่สว่างเป็นที่สองรองจากดวงอาทิตย์ เป็นดาวเคราะห์ที่ไม่มีแสงสว่างในตนเองเช่นเดียวกับ ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวอังคาร แต่ได้รับแสงสะท้อนมาจากดวงอาทิตย์ และเป็นบริวารดวงเดียวของโลก ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด ดวงจันทร์โคจรรอบโลกครั้งหนึ่งใช้เวลา ๒๙.๕ วัน ซึ่งการหมุนรอบโลกและดวงอาทิตย์นี้ทำให้มุมเปลี่ยนไปเราจึงเห็นดวงจันทร์เต็มดวงบ้าง เป็นเสี้ยวบ้าง กำเนิดของดวงจันทร์มีสมมติฐานหลายอย่าง บ้างก็ว่าโลกและดวงจันทร์เกิดพร้อมๆกันจากกลุ่มก้อนก๊าซมหึมาของเนบิวลาต้นกำเนิดระบบสุริยะ บ้างก็ว่าดวงจันทร์แตกตัวออกจากโลก ขณะที่โลกเริ่มก่อรูปร่างขึ้นทำให้มีการหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว มวลสารบางส่วนจึงหลุดอกมาเป็นดวงจันทร์ เป็นต้น พื้นผิวดวงจันทร์จะมี ๒ ลักษณะคือ เป็นเทือกเขาเก่าแก่ เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาต และบริเวณที่ราบเรียบที่มีอายุน้อยกว่า เรียกว่า “ทะเล”(Maria) ซึ่งมิใช่ทะเลจริง แต่สันนิษฐานว่าเป็นหลุมขนาดใหญ่ที่ลาวาไหลท่วมภายหลัง และจะมีเฉพาะด้านที่หันเข้าโลกเท่านั้น ในดวงจันทร์ไม่มีบรรยากาศ เพราะมีแรงโน้มถ่วงต่ำกว่าโลก ๑ ใน ๖ เราถึงเห็นมนุษย์อวกาศเดินตัวลอยไปลอยมาบนดวงจันทร์ แรงโน้มถ่วงระหว่างโลกและดวงจันทร์ทำให้เกิดน้ำขึ้น-น้ำลง

ในสมัยก่อนกวีมักจะชมหญิงสาวว่ามีใบหน้างามดุจพระจันทร์วันเพ็ญ สาวได้ยินก็ปลื้ม เพราะรู้ว่าชมแน่นอน แต่ถ้าเป็นสมัยนี้ สาวใดได้รับคำชมว่าหน้าเหมือนพระจันทร์คงคิดหนัก เพราะตั้งแต่มนุษย์โลกสามารถส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ เราก็เลยได้รู้ว่าพื้นผิวดวงจันทร์ หาได้สว่างนวล ดูงามอย่างที่เห็นไม่ แต่กลับขรุขระเต็มไปด้วยหลุมบ่อมากมาย เนื่องจากดวงจันทร์ไม่มีสนามแม่เหล็กและบรรยากาศ ทำให้ลมสุริยะจากดวงอาทิตย์พัดกระหน่ำทำลายพื้นผิวตลอด ๔ พันล้านปีที่ผ่านมา

ในตำนานโหราศาสตร์กล่าวไว้ว่า พระอิศวรหรือพระศิวะได้สร้างพระจันทร์ขึ้นมาจากนางฟ้า ๑๕ นาง โดยร่ายพระเวทให้นางฟ้าทั้ง ๑๕ นางละเอียดป่นเป็นผงแล้วห่อด้วยผ้าขาว ประพรมด้วยน้ำอมฤต ก็บังเกิดเป็นพระจันทร์เทพบุตรขึ้นมา มีวรกายสีขาวนวล ทรงทิพย์อาภรณ์ มีวิมานที่สถิตเป็นแก้วมุกดา ทรงอัศวราชเป็นพาหนะ สถิต ณ ทิศบูรพา (ตะวันออก) และด้วยเหตุที่พระจันทร์สร้างจากนางฟ้า ๑๕ นางนี้เอง จึงทำให้เป็นเทวะรูปงามที่มีเสน่ห์ยิ่ง และยังมีความเจ้าชู้มากรักอีกด้วย กล่าวกันว่า เทพบุตรองค์นี้นอกจากจะมีมเหสีหลายองค์แล้ว ยังมีชายาที่เป็นธิดาของพระทักษะประชาบดีอีก ๒๗ องค์ด้วย และในบางคัมภีร์ยังมีกล่าวไว้ว่า พระจันทร์ได้ลักลอบเกี้ยวพาชายาของพระพฤหัส และพานางไปเสพสมที่วิมานของตน ทำให้พระพฤหัสกริ้วติดตามไปทวงชายาคืน และก่อให้เกิดเทวะสงครามขึ้น พระพรหมผู้เป็นใหญ่ได้มาห้าม และลงทัณฑ์มิให้พระจันทร์เข้าประชุมเทวสภาอีก ในตำราบางแห่ง ได้พูดถึงการที่พระจันทร์เป็นศัตรูกับพระพฤหัสว่า เกิดจากชาติหนึ่งพฤหัสซึ่งเป็นทิศาปาโมกข์ พ่อนางจันทร์ ได้นำความลับที่จันทร์ลูกสาวเป็นชู้กับอังคาร ไปบอกอาทิตย์ลูกเขย สามีนางจันทร์ ทำให้ถูกจับได้ จันทร์เลยโกรธเกลียดพฤหัส และก็เป็นที่มาของวันคู่มิตรและศัตรูในทางโหราศาสตร์อีกทางหนึ่ง คือ คนเกิดวันจันทร์ จะไม่ถูกกับคนเกิดวันพฤหัส แต่เป็นคู่มิตรกับวันอังคาร

นอกจากนี้ก็ยังมีนิทานเล่าว่า นานมาแล้ว โลกมีพระจันทร์สองดวง เป็นชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง ต่อมาพระจันทร์หญิงไปหลงใหลแสงเจิดจ้าของพระอาทิตย์ จึงเลื่อนตัวตามพระอาทิตย์ไปเรื่อยๆจนแยกจากจันทร์ชายในที่สุด เมื่อค่ำคืนมาถึงจึงเหลือเพียงพระจันทร์ชายเพียงดวงเดียว พระจันทร์ชายได้ออกตามหาพระจันทร์หญิงคืนแล้วคืนเล่า แต่ก็ไม่พบ จึงได้ระเบิดตัวเองออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปทั่วจักรวาลเพื่อช่วยกันตามหา ครั้นต่อมาพระจันทร์หญิงได้ประจักษ์ว่าพระอาทิตย์มิได้ส่องแสงเจิดจ้ามาเพียงเธอเท่านั้น แต่ยังส่องไปยังดาวดวงอื่นอีกมากมาย จึงได้กลับมาหาพระจันทร์ชายอีกครั้ง แต่เธอก็ไม่อาจได้พบพระจันทร์ชายได้อีกแล้ว ทำให้เธอเศร้าโศกเสียใจ พระจันทร์ชายจึงพยายามเปล่งแสงที่มีอยู่น้อยนิดให้พระจันทร์หญิงได้เห็น เป็นแสงพร่างพรายเต็มท้องฟ้าเคียงข้างดวงจันทร์ จนเกิดเป็นดวงดาวและดวงจันทร์อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ เพียงแต่วันไหนคุณเห็นดวงจันทร์สวยสด คุณก็จะไม่เห็นแสงจากดาวดวงเล็กดวงน้อย หรือวันใดที่เราเห็นดาวระยิบระยับเต็มท้องฟ้า เราก็จะไม่เห็นพระจันทร์ เพราะเขาและเธอไม่อาจพบกันตลอดกาล

แม้ในตำราจะบอกว่า พระจันทร์เป็นเทพบุตร แต่ในทางทฤษฎีแพทย์แผนจีน ที่แบ่งสรรพสิ่งในธรรมชาติออกเป็น ๒ ฝ่ายคือหยิน และหยาง พระจันทร์จะถูกจัดให้เป็น ยิน อันหมายถึงผู้หญิง กลางคืน น้ำ และความนิ่งรวมอยู่ด้วย ส่วน หยาง จะได้แก่ พระอาทิตย์ ผู้ชาย ไฟ และความเคลื่อนไหว เป็นต้น ซึ่งในทางโหราศาสตร์ ดาวจันทร์ ยังหมายถึงรูปร่างหน้าตา จริตมารยา ความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการ ความอ่อนไหวง่าย ปรับตัวง่าย ถิ่นที่อยู่อาศัย และญาติพี่น้อง รวมถึงเป็นดาวธาตุน้ำ มีสัญลักษณ์เป็นเลข ๒ มีพระพุทธรูปปางประจำวันจันทร์คือ “ปางห้ามญาติ” หรือ “ปางห้ามสมุทร” โดยมีลักษณะต่างกันคือ ปางห้ามญาติจะยกมือขวาขึ้นห้ามเพียงมือเดียว ถ้าเป็นปางห้ามสมุทรจะยกมือทั้งสองขึ้นห้าม ซึ่งการที่ถือพระพุทธรูปปางนี้ประจำวันจันทร์ มีการสันนิษฐานว่า เกิดจากเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์เสด็จไปห้ามพระญาติสองเมืองคือกรุงกบิลพัสดุ์ และเทวทหะมิให้ทะเลาะแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี ที่ใช้ทำเกษตรร่วมกัน ดังนั้น จึงเกี่ยวพันกันทั้งน้ำและญาติ อันเป็นความหมายและอิทธิพลของดาวจันทร์ จึงใช้พระพุทธรูปปางนี้เป็นสัญลักษณ์ เพื่อเตือนสติ เช่นเดียวกับปางห้ามสมุทรที่เกี่ยวกับน้ำ อันเป็นเหตุการณ์เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปปราบชฏิลสามพี่น้องซึ่งเป็นนักบวชที่บูชาไฟ และตั้งต้นเป็นใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ได้ทรงแสดงปาฏิหารย์ห้ามลม ห้ามฝน ห้ามพายุน้ำท่วม มิให้มาทำอันตรายพระองค์ได้ จนชฏิลทั้งหลายเกิดเลื่อมใสขอบวชตาม คนโบราณสร้างพระพุทธรูปปางนี้ประจำวันจันทร์เพื่อแก้เคล็ด มิให้เป็นคนหวั่นไหวง่าย และรู้จักหักห้ามใจตนเอง รวมทั้งขจัดปัดเป่าให้เรื่องร้ายกลายเป็นดี ตามลักษณะอาการที่ยกพระหัตถ์ห้ามนั่นเอง นอกจากนี้ในทางพุทธศาสนา เราจะสังเกตเห็นว่าเหตุการณ์สำคัญๆต่างๆก็ล้วนเกิดในคืนวันเพ็ญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน วันมาฆบูชา อาสาฬหบูชา เป็นต้น

ในหนังสยองขวัญต่างๆ เช่น มนุษย์หมาป่า ก็มักกำหนดให้ พระเอกกลายร่างเป็นมนุษย์หมาป่าในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง หรือพระจันทร์สีเลือด นอกจากนี้บางแห่งยังมีความเชื่อว่าอิทธิพลของดวงจันทร์ทำให้อะไรเล็กอะไรใหญ่ก็ได้ เช่น ถ้าต้องการปลูกต้นน้ำเต้าให้ผลเล็ก ให้ปลูกตอนเดือนเริ่มหงายใหม่ๆ ถ้าต้องการจะปลูกให้ผลโต ต้องปลูกหลังเดือนเพ็ญไปแล้ว ๓ วัน ซึ่งก็คือข้างแรมนั่นเอง

สำหรับบทเพลงที่เกี่ยวกับ ดวงจันทร์ พระจันทร์ที่เราคุ้นหูตั้งแต่เด็กก็คือ จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกง ขอแหวนทองแดงผูกมือน้องข้า ฯ แล้วก็ยังมีเพลงที่แสดงให้เห็นว่า ผู้แต่งเพลงทั้งหลายผูกพันหรือต้องมนต์ของพระจันทร์อยู่ไม่น้อย เช่น เพลงโสมส่องแสง จันทร์แจ่มฟ้า และลาวดวงเดือน เป็นต้น ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่าแสงสกาวสุกใสในคืนวันเพ็ญ ทำให้เกิดความรู้สึกโรแมนติก และมีผลต่อจินตนาการของนักกวี นักแต่งเพลง และนักเขียนซึ่งไม่เฉพาะบ้านเราเท่านั้น แต่เข้าใจว่ามีอยู่ในทุกประเทศด้วย นอกจากนี้ “ดวงจันทร์” ยังมีชื่อเรียกอื่นๆอีก เช่น จันทรา ดวงเดือน แข หรือ โสม เป็นต้น (คำว่า”เพ็ญ” หมายถึง “เต็ม” เช่น คืนเดือนเพ็ญ คือ คืนพระจันทร์เต็มดวง)

เรื่องราวเกี่ยวกับ “พระจันทร์” อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ “ประเพณีไหว้พระจันทร์” ซึ่งตามเอกสารเผยแพร่ของกองวิชาการและแผนงาน เทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ได้กล่าวว่า เป็นประเพณีที่สำคัญประเพณีหนึ่งของชาวจีนที่มีมาแต่โบราณนับร้อยๆปี วันไหว้พระจันทร์จะตรงกับวันที่ ๑๕ เดือน ๘ ของจีน ซึ่งถือกันว่าเป็น วันกลางเดือนของเดือนกลางฤดูใบไม้ร่วง เพราะจีนจะแบ่งวันเวลาออกเป็น ๔ ฤดูคือ ชุง ฤดูใบไม้ผลิ ตรงกับเดือน ๑ ๒ ๓ แห่ คือ ฤดูร้อน ตรงกับเดือน ๔ ๕ ๖ ชิว คือ ฤดูใบไม้ร่วง ตรงกับเดือน ๗ ๘ ๙ และตัง คือฤดูหนาว ตรงกับเดือน ๑๐ ๑๑ และ ๑๒ ของจีน ซึ่งวันสารทกลางเดือนกลางฤดูใบไม้ร่วงดังกล่าว ยังเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง ที่เล่ากันว่าจักรพรรดิ์จีนสมัยโบราณจะทำพิธีเซ่นไหว้พระอาทิตย์ในฤดูใบไม้ผลิ และไหว้พระจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วง

การไหว้พระจันทร์ เป็นการไหว้เพื่อรำลึกถึงองค์ไท้อิมเนี้ย เทพผู้ให้ความสุขสงบแก่สรรรพสิ่งในโลก และถือว่าเป็นเทพที่มีพระสิริโฉมงดงามที่สุดองค์หนึ่ง ซึ่งจะเสด็จมาโปรดสัตว์โลกในคืนพระจันทร์เต็มดวงของเดือน ๘ ของสักการะจึงมักเป็นของเสี่ยงทายเพื่อขอให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว นอกจากนี้ วันไหว้พระจันทร์ ยังเกี่ยวกับประวัติศาสาตร์จีน ตอนที่ “จูง่วนเจียง” ผู้นำชาวจีนสมัยนั้นได้นัดแนะชาวจีนขึ้นต่อต้านกษัตริย์ชาติมองโกลที่ยึดครองจีนอยู่ โดยให้แต่ละครอบครัวจัดทำอาวุธ และเอกสารนัดหมายแอบซ่อนไว้ในหรือใต้ขนมโก๋ หรือขนมเปี๊ยะที่มีขนาดใหญ่ โดยแกล้งทำเป็นธรรมเนียมแลกเปลี่ยนขนมระหว่างญาติเพื่อตบตาชาวมองโกล เพราะสมัยก่อนมีกฏหมายห้ามชาวจีนตีเหล็กทำอาวุธ และให้มีมีดใช้ ๕ ครอบครัวต่อหนึ่งเล่ม ซึ่งในหนังสือก็ได้นัดให้ทุกครอบครัวจัดงานไหว้พระจันทร์ด้วยการประดับประดาตกแต่งโต๊ะไหว้ให้สวยงามโดยพร้อมเพรียงกัน และถือเป็นวันดีเดย์ในการยึดอำนาจคืน เมื่อสำเร็จ จูง่วนเจียงได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ นามว่า “พระเจ้าไท้โจวเกาอ่วงตี้”

ในสมัยก่อน ประเพณีวันไหว้พระจันทร์จะเป็นวันที่สาวๆหนุ่มชาวจีนจะได้มีโอกาสออกมาพบปะกันด้วย ทำให้หลายคู่ได้แต่งงานกันเพราะประเพณีนี้ ปัจจุบัน ประเพณีการไหว้พระจันทร์ได้ลดน้อยถอยลงไปมาก นับตั้งแต่สหรัฐฯได้ส่งนีล อาร์มสตรองไปเหยียบดวงจันทร์ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๒ และประเพณีดังกล่าวก็ได้กลายมาเป็นการไหว้เจ้าแม่กวนอิมด้วยอาหารเจ พร้อมมีการจัดโต๊ะประดับประดาตกแต่งอย่างสวยงามแทน ซึ่งในปีนี้ “วันไหว้พระจันทร์” ตรงกับวันที่ ๑๘ กันยายน ซึ่งหลายแห่งก็มีการจัดงานตามประเพณีกันอยู่เช่นที่เทศบาลเมืองพนัสนิคม ในจังหวัดชลบุรี

ที่กล่าวข้างต้น คงจะทำให้หลายๆคนได้รู้จัก “พระจันทร์”ที่แสนจะใกล้ชิดเรายิ่งขึ้น และไม่ว่าเราจะมอง “ดวงจันทร์” ที่ไกลจากโลก ๓๘๔,๔๐๐กิโลเมตร อย่างนักดาราศาสตร์ หรือจะเฝ้าชม “จันทรา” ด้วยมนต์สะกดแบบไหน “พระจันทร์” ก็ยังเป็นพระจันทร์ที่ส่องแสงแก่ทุกคนในโลกอย่างเท่าเทียมกัน

..............................................................

อมรรัตน์ เทพกำปนาท

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.

ความเชื่อโชคลางในวันตรุษจีน


· ทุกคนจะไม่พูดคำหยาบหรือพูดคำที่ไม่เป็นมงคล
ความหมายเป็นนัย และคำว่า สี่ ซึ่งออกเสียงคล้ายความตายก็จะต้องไม่พูดออกมา ต้องไม่มีการพูดถึงความตายหรือการใกล้ตาย และเรื่องผีสางเป็นเรื่องที่ต้องห้าม เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในปีเก่าๆ ก็จะไม่เอามาพูดถึง ซึ่งการพูดควรมีแต่เรื่องอนาคต และทุกอย่างที่ดีกับปีใหม่และการเริ่มต้นใหม่
· หากคุณร้องไห้ในวันปีใหม่
คุณจะมีเรื่องเสียใจไปตลอดปี ดังนั้นแม้แต่เด็กดื้อที่ปฎิบัติตัวไม่ดีผู้ใหญ่ก็จะทน และไม่ตีสั่งสอน
· การแต่งกายและความสะอาด
ในวันตรุษจีนเราไม่ควรสระผมเพราะนั้นจะหมายถึงเราชะล้างความโชคดีของเราออกไป เสื้อผ้าสีแดงเป็นสีที่นิยมสวมใส่ในช่วงเทศกาลนี้ สีแดงถือเป็นสีสว่าง สีแห่งความสุข ซึ่งจะนำความสว่างและเจิดจ้ามาให้แก่ผู้สวมใส่ เชื่อกันว่าอารมณ์และการปฏิบัติตนในวันปีใหม่ จะส่งให้มีผลดีหรือผลร้ายได้ตลอดทั้งปี เด็ก ๆ และคนโสด เพื่อรวมไปถึงญาติใกล้ชิดจะได้ อังเปา ซึ่งเป็นซองสีแดงใส่ด้วย ธนบัตรใหม่เพื่อโชคดี
· วันตรุษจีนกับความเชื่ออื่น ๆ
สำหรับคนที่เชื่อโชคลางมากๆ ก่อนออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนเพื่อนหรือญาติ อาจมีการเชิญซินแส เพื่อหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการออกจากบ้านและทางที่จะไปเพื่อ เป็นความเป็นสิริมงคล
· บุคคลแรกที่พบและคำพูดที่ได้ยินคำแรกของปีมีความหมายสำคัญมาก
ถือว่าจะส่งให้มีผลได้ตลอดทั้งปี การได้ยินนกร้องเพลงหรือเห็นนกสีแดงหรือนกนางแอ่น ถือเป็นโชคดี
· การเข้าไปหาใครในห้องนอนในวันตรุษ
ถือเป็นโชคร้ายดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนป่วยก็ต้องแต่งตัวออกมานั่งในห้องรับแขก
· ไม่ควรใช้มีดหรือกรรไกรในวันตรุษเพราะเชื่อว่าจะเป็นการตัดโชคดี
ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าชาวจีนทุกคนจะคงยังเชื่อตามความเชื่อที่มีมาแต่ทุกคนก็ยังคงยึดถือ และปฎิบัติตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนธรรมเนียม และวัฒนธรรม โดยที่ชาวจีน ตระหนักดีว่าการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมมาแต่เก่าก่อนเป็นการแสดงถึงความเป็น ครอบครัวและเอกลักษณ์ ของตน



ที่มา : http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/poonsak/chinesenewyear/index.html

ตำ น า น พ ร ะ บ ร ม ส า รี ริ ก ธ า ตุ







ตำ น า น พ ร ะ บ ร ม ส า รี ริ ก ธ า ตุ

พระบรมสารีริกธาตุ
คือธาตุส่วนต่างๆ ในพระวรกายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่กลายเป็นพระธาตุหลังถูกพระเพลิง

ซึ่งแยกชิ้นส่วนเป็นของแข็งคือ กระดูก
ส่วนที่เป็นของอ่อน คือ ส่วนเนื้อหนังและอวัยวะภายในทั้งหมด

ซึ่งกล่าวได้ว่า

“พระวรกายของพระพุทธเจ้าทั้งหมดหลังการถูกพระเพลิง
จะกลายเป็นพระบรมสารีริกธาตุทั้งสิ้น”

พระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หรือที่เรียกเป็นภาษาสามัญว่า “กระดูกของพระพุทธเจ้า”
เป็นพระธาตุที่เกิดขึ้นภายหลังการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ



หลังจากทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ได้มีการจัดการพระศพเยี่ยงพระเจ้าจักรพรรดิทั่วไป
คือพระห่อพระศพด้วยผ้าใหม่ แล้วหุ้มสำลีสลับกัน ๕๐๐ ชั้น
ใส่ลงในรางน้ำมันที่ทำด้วยเหล็ก แล้วปิดด้วยฝาเหล็ก
ตั้งเผาบนไม้หอม เสร็จแล้วจึงนำไปบรรจุในสถูป
ที่สร้างไว้บนทางสี่แพร่งเพื่อเป็นที่สักการบูชาของคนที่มาทั้งสี่ทิศ

แต่ในการถวายพระเพลิงพระศพของพระพุทธเจ้า
ได้จัดสถานที่ให้ประชาชนได้มาถวายบังคม ๗ วัน
ก่อนที่จะอัญเชิญพระศพเข้าพระนคร



เสร็จแล้วจึงได้อัญเชิญพระเพลิงติดขึ้นในทันใด
เมื่อพระศพไหม้พระเพลิงดับ
จึงได้มีพิธีรวมพระอัฐิธาตุและพระอังคาร (เถ้าถ่าน)
ไปตั้งสักการะกลางพระนครอีก ๗ วัน

ซึ่งปรากฏว่าหลังพระเพลิงดับ

พระฉวี (หนังกำพร้า) พระมังสะ (เนื้อ) พระจัมมะ (หนัง)
และพระลสิกา (ไขข้อ) และพระนารหุ (เอ็น)

ได้ไหม้และกลายเป็นเถ้าถ่าน

ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า

ภายหลังได้กลายเป็นพระธาตุทั้งสิ้น
นอกจากนี้ผ้าชั้นนอกและผ้าชั้นในคู่หนึ่งไม่ไหม้

ส่วนพระอัฐฺธาตุทั้งปวงนั้นไหม้ทั้งหมด
แต่กลับกลายเป็นเกล็ดสีขาวบริสุทธิ์
สัณฐานใหญ่เท่าเมล็ดถั่วแตก
สัณฐานกลางเท่าเมล็ดข้าวสารหัก
สัณฐานเล็กเท่าเมล็ดผักกาด และเท่าเมล็ดงา



ส่วนที่ยังเป็นชิ้นตามรูปเดิม คือ

พระอุณหิสธาตุ (พระอัฐิหน้าผาก) ๑
พระทาฐธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ๔
พระอักขธาตุ (พระรากขวัญ) ๒
พระทันต์ทั้ง ๓๖ ซี่
พระเกศา พระโลมา และพระขนา

ตามตำนานพบพระบรมสารีริกธาตุมีเพียง ๔ สัณฐาน
ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นเท่านั้น

แต่ตามความเป็นจริงแล้ว
พระบรมสารีริกธาตุยังมีสัณฐานพิเศษ
นอกเหนือจากที่ตำรากล่าวไว้อีกมากมาย

นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า
พระบรมสารีริกธาตุในส่วนที่มาจากกระดูกนั้น จะสามารถลอยน้ำได้
แต่ต้องค่อยๆ เอาภาชนะช้อนองค์พระธาตุไปวางไว้ในน้ำ
ให้น้ำค่อยๆ รองรับองค์พระธาตุ

ลักษณะการลอยนั้นองค์พระธาตุจะลอยปริ่มน้ำ
กดน้ำจนเป็นแอ่งคล้ายวังน้ำวน
และองค์พระธาตุก็จะอยู่ระดับเดียวกันกับผิวน้ำ
แล้วจะค่อยๆ เคลื่อนเข้ามารวมกัน



พระธาตุของพระอรหันต์ชั้นสูงก็เช่นเดียวกัน
เมื่อพระสาวกได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุธรรมชั้นสูง
จิตใจที่บริสุทธิ์หมดซึ่งกิเลส
พลังแห่งการสั่งสมบารมีจะปรากฏให้เห็น
ซึ่งเราเรียกพระธาตุของพระอรหันต์ว่า
“พระอรหันตธาตุ” ซึ่งสามารถลอยน้ำได้เช่นกัน

ความเชื่อเรื่องนางสงกรานต์





ประเพณีสงกรานต์ในล้านนาเรียกกันว่า ปี๋ใหม่เมือง มีวันสำคัญ 3 วัน คือ วันที่ 13 เมษายน เรียกวันว่าสังขานต์ล่อง วันที่ 14 เรียกว่าวันเน่า วันที่ 15 เรียกว่าวันพญาวัน คติความเชื่อโดยทั่วไปเกี่ยวกับวันสงกรานต์มีความคล้ายคลึงกันกับของไทย-ลาว คือพระอาทิตย์โคจรจากราศีมีนไปสู่ราสีเมษ แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปก็คือ ในล้านนาไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการตัดหัวยักษ์มาร หรือเศียรพระพรหม ส่วนขบวนแห่นางสงกรานต์ในปัจจุบัน ซึ่งมีเศียรพระพรหมปรากฏอยู่ด้วยนั้น เป็นการรับอิทธิพลมาจากของไทย ซึ่งมีนางสงกรานต์ประจำวันทั้ง 7 ดังนี้

1. วันอาทิตย์ นางทุงษะ
2. วันจันทร์ นางโคราค
3. วันอังคาร นางรากษส
4. วันพุธ นางมณฑา
5. วันพฤหัสบดี นางกิริณี
6. วันศุกร์ นางกิมิทา
7. วันเสาร์ นางมโหทร

สำหรับปีใหม่ของล้านนานั้น มีนางสงกรานต์ ดังนี้

1. วันอาทิตย์ นางธัมมสิริ
2. วันจันทร์ นางมโหสถา
3. วันอังคาร นางสุนันทา
4. วันพุธ นางคิรินันทา
5. วันพฤหัสบดี นางกัญญา
6. วันศุกร์ นางลิตา
7. วันเสาร์ นางตโปตา



ในเอกสารใบลานเรื่องหนังสือปีใหม่ ฉบับวัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ได้กล่าวถึงนางสงกรานต์ทั้ง 7 และคำทำนาย ซึ่งแปลเป็น ไทยได้ ดังนี้

วันอาทิตย์ ขุนสงกรานต์ขี่นาค มือหนึ่งถือปืน มือหนึ่งถือค้อน มาจากทิศตะวันออกไปตะวันตก นางผู้ชื่อธัมมสิรินั่งรับเอา ลุกยืน ไป ปีนี้ศึกสงครามและแมลงบ้งจักมีมากนักแล ฝนหัวปี กลางปี ปลายปีดี วัวควายจักตายมากนัก พยาธิโรคาจักมีมากนัก คนผู้มีข้าว ของจักฉิบหาย ไม้ยางขาวหลวงเป็นเจ้าแก่ไม้ทังหลาย ขวัญข้าวอยู่ไม้ไผ่แล คนเกิดวันอังคารจักมีเคราะห์ คนเกิดวันเสาร์จักมีลาภ

วันจันทร์ ขุนสงกรานต์ขี่ครุฑ มาจากทิศอีสานไปทางตะวันตกเฉียงใต้ มือหนึ่งถือหอก มือหนึ่งถือขอช้าง นางผู้ชื่อมโหสถา นั่งรับเอา ในปีนี้งูจักออก ฝนหัวปี กลางปีดี พยาธิโรคาของคนมีมากนัก ไม้ผักกุ่มเป็นเจ้าแก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ไม้เดื่อ คนเกิด วันพฤหัสบดีจักมีเคราะห์ ให้สะเดาะเคราะห์เสีย คนเกิดวันพุธมีลาภ

วันอังคาร ขุนสงกรานต์ขี่ผียักษ์ มาจากทิศเหนือไปทิศใต้ นางผู้ชื่อสุนันทานอนรับเอา ปีนี้สัตว์มีปีกจักแพง ฝนหัวปี ปลายปี มีมาก กลางปีไม่มี ข้าวในนาจักลีบ ไม้พิมานเป็นเจ้าแก่ไม้ ขวัญข้าวอยู่ไม้อ้อช้าง คนเกิดวันอาทิตย์จักมีเคราะห์ใหญ่ ให้บูชาธาตุเจดีย์ เสีย คนเกิดวันศุกร์จะมีลาภ

วันพุธ ขุนสงกรานต์ขี่ควายไป มือหนึ่งถือดอกไม้ มือหนึ่งถือดาบ มาจากทิศตะวันออกไปตะวันตก นางผู้ชื่อคิรินันทานั่งคู้เข่า รับเอา ปีนี้สัตว์สี่ตีนจักแพง ฝนหัวปี กลางปีไม่มี ปลายปีจักมีมากนักแล ปีนี้ภิกษุสังฆะกับชีปะขาว รวมทั้งขุนนางจะตกต่ำ ไม้ซะเลียม เป็นเจ้าแก่ไม้ ขวัญข้าวอยู่ไม้ข่อย คนเกิดวันศุกร์จักมีเคราะห์ คนเกิดวันจันทร์ และวันเสาร์จักมีลาภ

วันพฤหัสบดี ขุนสงกรานต์ขี่ม้า มือหนึ่งถือหม้อน้ำ มือหนึ่งถือพัด มาจากทิศตะวันตกไปตะวันออก นางผู้ชื่อกัญญานั่งคู้เข่า รับเอา ในปีนี้ช้างม้าจักตาย ฝนหัวปี กลางปี ปลายปีมีเสมอกัน ปีนี้ขุนนางผู้ใหญ่และปุโรหิตรวมทั้งภิกษุสงฆ์จะมีทุกข์ คนเดินทาง จักมีเคราะห์ใหญ่ ไม้ตะเคียนหลวงเป็นเจ้าแก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ต้นมะพร้าว คนเกิดวันอาทิตย์จักมีลาภ คนเกิดวันจันทร์ จักมีเคราะห์ ให้บูชาธาตุเจดีย์เสีย


วันศุกร์ ขุนสงกรานต์ขี่วัว มือหนึ่งถือขวาน มือหนึ่งถือค้อน มาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ นางผู้ชื่อ ลิตา นั่งรับเอา ในปีนี้พระพุทธรูปจะมีฤทธิ์ ฝนหัวปีไม่มี ผู้หญิงทั้งหลายจักถูกเคราะห์ ขวัญข้าวอยู่ไม้พุทรา คนเกิดวันอังคารจักมีลาภ อยู่สุขสบายดี คนเกิดวันศุกร์จักมีเคราะห์ ให้บูชาธาตุเจดีย์แล้วล้างศีรษะเสีย

วันเสาร์ ขุนสงกรานต์ขี่ปราสาทลงมา มือหนึ่งถือขวาน มือหนึ่งถือค้อนเหล็ก มาจากทิศอีสานไปทางตะวันตกเฉียงใต้ นางผู้ชื่อ ตโปตานั่งเหยียดเท้ารับเอา ปีนี้ไฟจักไหม้บ้านเมือง ให้ระวัง ฝนบางทีก็ตก บางทีก็ไม่ตก แมลงบ้งจักมีมากนัก คนเกิดวันอาทิตย์จะ มีลาภ อยู่สุขสบายดี คนเกิดวันศุกร์จะมีเคราะห์
ที่มา : http://www.sri.cmu.ac.th

พระพิฆเณศวร์ : เทพผู้ประทานความสำเร็จ


พระพิฆเณศวร์ : เทพผู้ประทานความสำเร็จ


แม้ว่าอดีตที่ผ่านมา คนไทยจะรู้จักและเคารพนับถือเทพอยู่หลายองค์ เช่น เจ้าแม่กวนอิม พระแม่อุมา พระศิวะ พระพรหม และพระนารายณ์ เป็นต้น แต่ปีสองปีที่แล้ว เทพที่มาแรงแซงโค้ง เห็นทีจะไม่มีองค์ใดดังเกินท่านพ่อจตุคามรามเทพ เพราะความนิยมในตัวท่าน ก่อให้เกิดกระแส “จตุคามรามเทพฟีเวอร์” ขึ้นทั่วประเทศ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยต้องมีองค์ท่านอย่างน้อยรุ่นใดรุ่นหนึ่ง เพราะชื่อแต่ละรุ่นล้วนชวนให้สะสมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรุ่นโคตรเศรษฐี รุ่นเศรษฐีทวีทรัพย์ รุ่นมั่งมีศรีสุข ฯลฯ เรียกว่าแค่มีไว้ จะรวยจริงหรือไม่ ก็รู้สึกอุ่นใจขึ้นอักโข

แต่สำหรับปีชวดหรือปีหนูนี้ เทพที่กำลังเป็นที่นิยมและต้องหาไว้บูชาเป็นพิเศษคือพระพิฆเณศวร์ หลายคนคงสงสัยว่า ทำไม? เพราะอันที่จริง พระพิฆเณศวร์ท่านก็ดังแบบอภิมหาอมตะนิรันดร์กาลอยู่แล้ว คือเป็นเทพอันดับต้นๆที่คนทั่วไปให้ความเคารพบูชาเสมอมา แล้วทำไมปีนี้จึงต้องบูชาเป็นพิเศษ คำตอบก็เพราะ ท่านเป็นเทพที่มี “หนู”เป็นพาหนะผู้คนจึงเชื่อว่า ถ้าบูชาท่าน ก็อาจช่วยให้ “หนู” ซึ่งเป็นลูกน้องของท่านและเป็นสัญลักษณ์ของปี ๒๕๕๑ นี้ไม่เที่ยวอาละวาด ทำความเดือดร้อนมาสู่ตัวเขา และยังอาจนำโชคลาภวาสนามาให้อีกด้วย

ดังนั้น เพื่อให้เป็นความรู้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำตำนานและเรื่องราวเกี่ยวกับเทพองค์นี้มาเสนอให้ทราบดังนี้

พระพิฆเณศวร์ หรือบางแห่งก็เขียน พระพิฆเนศ หรือ พระคเณศ เป็นเทพองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู ซึ่งคนไทยรู้จักกันดี ด้วยเชื่อว่าท่านเป็นเทพแห่งศิลปะความรู้ และความสำเร็จทั้งมวล ถ้าใครบูชาท่าน ท่านก็จะช่วยขจัดปัดเป่าอุปสรรค ข้อขัดข้องต่างๆให้ รวมทั้งอำนวยความสำเร็จให้แก่กิจการทั้งหลายทั้งปวงด้วย คนจึงนิยมกราบไหว้ท่านก่อนที่จะกระทำการใดๆ

สำหรับรูปกายของท่าน หลายๆคนคงจะคุ้นกันดี เพราะท่านจะมีหุ่นคล้ายๆกับพระสังกัจจายย์บ้านเรา คือทรงตุ้ยนุ้ย อ้วนพุงพลุ้ย และแทนที่จะมีหัวเป็นคน ท่านกลับมีเศียร(หัว)เป็นช้าง มีกร(มือ) ๔บ้าง ๖บ้าง ๘บ้าง สุดแล้วแต่จะเสด็จมาปางใด ซึ่งในเชิงปรัชญาเขาบอกว่า ร่างกายแต่ละส่วนของท่านล้วนมีความหมายในทางมงคลทั้งสิ้น นั่นคือ พระเศียร ที่เป็นหัวช้าง จะเป็นเศียรที่ใหญ่ จึงหมายถึง สมองที่เต็มไปด้วยปัญญาความรู้ พระกรรณ (หู) ที่กว้างใหญ่ หมายถึง การได้รับฟังคำสวดจากคัมภีร์หรือความรู้อื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งเบื้องต้นของการศึกษาเล่าเรียน หรือพูดง่ายๆว่าฟังมาก ก็รู้มาก ส่วน งา ที่มีเพียงข้างเดียวและอีกข้างหักนั้น มีนัยแสดงให้รู้ว่าคนเรามักต้องอยู่ระหว่างความดี-ความชั่วอยู่เสมอ จึงต้องรู้จักแยกแยะ ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ถึงความแตกต่างนั้น เช่นเดียวกับ งวงช้างที่อยู่ตรงกลาง ที่ใช้ชั่งน้ำหนักต่อการกระทำหรือค้นหาสิ่งที่ดีงามโดยใช้ปัญญาเลือกเฟ้นไม่ว่าจะเป็นความผิด-ความถูก ความดี-ความชั่ว และหนู พาหนะที่ท่านขี่มา หมายถึง ความปรารถนาของมนุษย์ ตรงนี้อาจจะเข้าใจยากสักหน่อย เพราะเป็นความคิดเชิงปรัชญา เลยต้องคิดให้ลึกซึ้งกว่าปกติ

โดยทั่วไป เราจะพบเห็นรูปพระพิฆเณศวร์ มี ๑ เศียร ๔ กร แต่จริงๆแล้วท่านมีหลายปางมาก บางประเทศอย่างอินเดียหรือเนปาล พระพิฆเณศวร์จะมีถึง ๕ เศียร ส่วนพระกรหรือมือ จะมีตั้งแต่ ๒ กรไปจนถึง ๑๐ กว่ากรขึ้นไป โดยแต่ละหัตถ์หรือมือของท่านก็จะถือสิ่งของแตกต่างกันไป มีทั้งที่เป็นขนม ผลไม้ อาวุธ และสิ่งมงคลต่างๆ เช่น ขนมโมทกะ (เป็นข้าวสุกผสมน้ำตาลปั้นเป็นลูก)ผลทับทิม ลูกหว้า งาหัก ขวาน ตรีศูล สังข์ แก้วจินดามณี เป็นต้น ส่วนท่าทางนั้น เดิมจะอยู่ในรูปยืนเสียเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาก็พัฒนาเป็นท่านั่ง ซึ่งจะมี ๔ ลักษณะด้วยกัน คือ ๑.ท่าเข่าข้างหนึ่งยกขึ้น อีกข้างงอพับบนอาสนะ(ที่นั่ง) ๒.ท่านั่งขาไขว้กัน ๓.ท่านั่งห้อยพระบาทข้างใดข้างหนึ่ง และอีกข้างพับอยู่บนอาสนะ ๔.ท่านั่งโดยขาทั้งสองข้างพับอยู่ด้านหน้า ฝ่าเท้าทั้งสองอยู่ชิดติดกัน

การที่มีจำนวนพระเศียร และสัญลักษณ์ที่ถือในมือ ตลอดจนลักษณะท่าทางที่ปรากฎเป็นปางที่ไม่เหมือนกันนั้น ก็เพราะความเชื่อที่ว่า แต่ละปางก็จะให้คุณที่แตกต่างกันออกไปนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น
-ปางพาลคเณศ จะเป็นรูปพระคเณศตอนเด็ก อยู่ในท่าคลานหรืออิริยาบถไร้เดียงสาแบบเด็ก ถ้าโตหน่อยก็จะเป็นรูปนั่งขัดสมาธิบนดอกบัว มี ๔ กร ถือขนมโมทกะ กล้วย รวงข้าว ซึ่งปางนี้หมายถึง ความมีสุขภาพดีของเด็กๆในครอบครัว จึงนิยมบูชาในบ้านที่มีเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน
-ปางนารทคเณศ เป็นปางที่อยู่ในท่ายืน มี ๔ กร ถือคัมภีร์ หม้อน้ำ ไม้เท้า และร่ม หมายถึงการเดินทางไกลไปศึกเล่าเรียน ปางนี้เขาว่าเหมาะกับคนที่มีอาชีพเป็นครูบาอาจารย์
-ปางมหาวีระคเณศ เป็นปางที่มีมือมากเป็นพิเศษอาจจะ ๑๒-๑๖ กรเลยทีเดียว และแต่ละพระหัตถ์ก็ถืออาวุธต่างๆกัน เช่น ตะบอง หอก ตรีศูล คันธนู ฯลฯ ปางนี้เป็นปางออกศึกเพื่อปราบศัตรู จึงเหมาะกับพวกทหาร ตำรวจ และข้าราชการ
-ปางสัมปทายะคเณศ เป็นปางที่เราพบเห็นกันบ่อย คือ มี ๔ กร ถืออาวุธอยู่สองหัตถ์บน เช่น ขวานหรือตรีศูล ที่ทรงใช้ทำลายสิ่งชั่วร้าย และคอยขับไล่อุปสรรค อีกพระหัตถ์ถือบ่วงบาศ หมายถึง บ่วงที่ทรงใช้ลากจูงให้คนทั้งหลายเดินตามรอยพระบาทของท่านหรือใช้ขจัดศัตรู หัตถ์ล่างจะถือขนมโมทกะ ท่านถือไว้เพื่อประทานเป็นรางวัลแก่ผู้ปฏิบัติตามรอยพระบาทของท่าน ส่วนหัตถ์ขวาล่างทำท่าประทานพร หมายถึง ทรงประทานความผาสุกและความสำเร็จให้แก่สาวกของท่าน หรือบางที่ก็ถืองาที่หัก

อ้อ! มีบางคนอาจสงสัยเกี่ยวกับงูที่พันรอบพุงท่านว่ามาจากไหน เขาก็มีเรื่องเล่าขำๆว่า วันหนึ่งหลังเสด็จกลับจากงานเลี้ยง กำลังขี่หนูเพลินๆ ก็ดันมีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยผ่านหน้า หนูตกใจเลยทำท่านหล่นลงมาท้องแตก ด้วยความเสียดายขนมต้มที่ทะลักออกมา (เพราะเสวยเข้าไปมาก) ท่านจึงเอาขนมยัดกลับไปในพุงใหม่ แล้วเอางูตัวแสบตัวนั้นมารัดพุงเสีย เจ้ากรรม ! สิ่งที่ท่านทำ พระจันทร์มาเห็นเข้า ก็ขำกลิ้ง ท่านคงโกรธและอาย เลยเอางาขว้างไปติดพระจันทร์จนแน่น ทำให้โลกมืดไปในทันใด ทวยเทพที่ทราบเรื่อง ก็เลยพากันไปอ้อนวอนขอโทษแทน ท่านใจอ่อนก็ยอมถอนเอางาออก แต่คงยังไม่หายเคือง จึงให้พระจันทร์ต้องรับโทษ ด้วยการต้องเว้าๆแหว่งๆไม่เต็มดวงทุกคืน ยกเว้นวันขึ้น ๑๕ ค่ำและแรม ๑ ค่ำ นี่ก็เป็นเหตุหนึ่งที่เราเห็นพระจันทร์เป็นเสี้ยวอยู่บนท้องฟ้าแทบทุกค่ำคืน

ได้รู้จักรูปลักษณ์ของท่านแล้ว คราวนี้มาถึงชาติกำเนิดกันบ้าง เขาว่ามีอยู่สองสามตำนาน ได้แก่
ตำนานแรก เล่าว่าวันหนึ่งพระนางปารวตีหรือพระแม่อุมา เมียพระศิวะทรงสรงน้ำ อาบไปอาบมา ถูกขี้ไคลไปด้วย ก็นึกขึ้นได้ว่าพระสหายเคยแนะนำให้หาบริวารเป็นของตนเองบ้าง จะได้ไม่ต้องพึ่งพาแต่บริวารของพระสวามี คิดได้ดังนั้นแล้ว พระนางก็เลยนำเอาเหงื่อไคลมาปั้นเป็นหนุ่มรูปงาม แล้วสั่งให้ไปเฝ้าประตู ห้ามใครเข้ามารบกวน ถ้าไม่ได้อนุญาต หนุ่มน้อยที่ว่าก็ทำหน้าที่นายทวารบาลอย่างดีเยี่ยม จนมาวันหนึ่งพระศิวะเกิดคิดถึงพระนางปารวตี จึงเสด็จมาหา เจ้าหนุ่มไม่รู้จักว่าทรงเป็นพระบิดา ก็เข้าขัดขวางมิให้พบพระมารดา พระศิวะจึงทรงกริ้ว และคงบวกกับลมเพชรหึงด้วย เพราะจู่ๆก็มีหนุ่มรูปงามมาเฝ้าอยู่หน้าห้องเมีย แถมห้ามมิให้เข้าหาอีก ก็เลยพุ่งตรีศูลตัดเศียรนายทวารบาลหนุ่มจนสิ้นชีพ พอความทราบถึงพระนางปารวตีก็ทรงโกรธพระสวามียิ่ง (ฐานฆ่าบริวารที่พระนางอุตส่าห์ปั้นมากับมือ และถือได้ว่าเป็นลูกชายตาย) โดยไม่ถามไถ่ให้รู้เรื่อง จึงเกิดศึกใหญ่ระหว่างเทพและเทพีบนสวรรค์ ร้อนถึงพระฤษีนารอดอดรนทนไม่ไหว ต้องทำหน้าที่เป็นทูตเจรจาหย่าศึก พระนางก็ยินยอม แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องชุบชีวิตลูกของพระนางให้ฟื้นคืนมา พระศิวะจึงต้องระดมเทวดาทั้งหลายให้ไปหาศีรษะของสิ่งมีชีวิตสิ่งแรกที่พบมาต่อให้โอรสพระนาง ปรากฏว่าได้หัวช้างงาเดียวมา จึงต่อให้พระคเณศฟื้นขึ้นมา และเมื่อคืนชีวิตแล้ว พระคเณศได้ทราบว่าพระศิวะคือพระบิดาก็ตรงเข้าไปขออภัยโทษ เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พระศิวะพอพระทัย จึงประสาทพรให้พระคเณศมีอำนาจเหนือเทวดาทั้งปวง ท่านจึงได้ชื่อว่าพระคเณศ หรือคณปติที่หมายถึงผู้เป็นใหญ่ในคณะเทพ

ส่วนตำนานที่สอง เล่าว่าครั้งหนึ่งพระศิวะและพระแม่อุมาได้เสด็จไปเที่ยวภูเขาหิมาลัย แล้วไปเจอช้างกำลังสมสู่กัน ก็บังเกิดความใคร่ พระศิวะก็แปลงเป็นช้างพลาย ส่วนพระแม่แปลงเป็นช้างพังร่วมสโมสรกันจนมีลูกเป็นพระคเณศ

ตำนานที่สาม เล่าว่าพวกอสูรและรากษสได้ทำการบวงสรวงพระศิวะจนได้รับพรหลายประการ จึงเกิดความฮึกเหิมก่อความเดือดร้อนไปทั่ว ร้อนถึงพระอินทร์ต้องนำเทวดาทั้งหลายไปเฝ้าพระศิวะบ้าง ขอให้พระองค์ทรงสร้างเทพแห่งความขัดข้องขึ้น เพื่อขัดขวางมิให้พวกยักษ์บวงสรวงขอพรได้สำเร็จ พระศิวะจึงทรงแบ่งกายส่วนหนึ่งให้บังเกิดในครรภ์ของพระแม่อุมา ซึ่งออกมาเป็นบุรุษรูปงามนามวิฆเนศวรมีหน้าที่ขัดขวางเหล่าอสูร และคนชั่วมิให้ทำการบัดพลีขอพรจากพระศิวะ อีกทั้งให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกแก่เทวดาและคนดีที่จะทำการใดๆให้ไปสู่ความสำเร็จ ดังนั้น ชื่อ วิฆเนศวร ซึ่งเป็นอีกพระนามของพระคเณศ ที่หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในความติดขัด จึงมาจากตำนานนี้ คือ ทำให้คนชั่วทำการติดขัด แต่ส่งเสริมคนดีให้ประสบความสำเร็จในกิจการต่างๆ

สำหรับสองตำนานแรก จะเห็นกำเนิดพระคเณศที่บอกเหตุว่าทำไมจึงมีเศียรเป็นช้าง แต่ตำนานที่สามมิได้บอกไว้ ซึ่งไม่แน่ชัดว่าจะเป็นตำนานหลังนี้หรือไม่ ที่มีเรื่องเล่าต่อมาว่า เมื่อพระคเณศมีอายุพอจะทำพิธีโสกันต์ (โกนจุก)แล้ว พระศิวะก็ได้ให้เทวดาไปอัญเชิญพระนารายณ์หรือพระวิษณุที่บรรทมอยู่ ณ เกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนมมาร่วมพิธีด้วย ปรากฎว่าท่านกำลังหลับเพลินๆอยู่ พอถูกปลุกก็คงจะหงุดหงิด จึงพลั้งปากเปล่งวาจา ว่า “ไอ้ลูกหัวหาย กวนใจจริง” ด้วยวาจาสิทธิ์ เลยมีผลให้เศียรพระคเณศหลุดไปในทันใด พระศิวะจึงต้องมีเทวโองการให้เหล่าเทวดาไปหาหัวมนุษย์ที่เสียชีวิตมาต่อให้ แต่ปรากฏว่าวันนั้น กลับไม่มีใครตาย มีเพียงช้างที่นอนตายอยู่ทางทิศตะวันตกเท่านั้น เทวดาจึงต้องตัดหัวช้างมาต่อเศียรให้พระคเณศแทน ท่านเลยมีหัวเป็นช้างมาตั้งแต่บัดนั้น และอาจเพราะเหตุนี้ คนโบราณเขาถึงห้ามมิให้นอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก เพราะจะทำให้ประสบเหตุร้าย แต่บางแห่งก็ว่าเป็นทิศเหนือ นี่ก็สุดแต่ความเชื่อ

ส่วนสาเหตุที่พระคเณศมีเพียงงาเดียวนั้น เล่ากันว่า ถูกขวานของปรศุรามขว้างใส่ ซึ่งปรศุรามนี้ เป็นพราหมณ์ซึ่งเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระนารายณ์ และได้รับประทานขวานเพชรจากพระศิวะ ทำให้มีฤทธิ์เดชมาก ได้ใช้เทพศัตราวุธนี้ไปล้างแค้นแทนบิดามารดา รวมถึงไปปราบปรามเหล่ากษัตริย์ทั้งหลายจนสิ้นโลก วันหนึ่งปรศุรามเกิดระลึกถึงพระศิวะ จึงอยากไปเฝ้าด้วยความจงรักภักดี แต่เมื่อไปถึงเทพสถานชั้นใน ก็ถูกพระคเณศออกมาห้ามมิให้เข้าไป เนื่องจากพระศิวะมีเทวบัญชาห้ามผู้ใดเข้าเฝ้าเด็ดขาดในวันนั้น เพราะกำลังทรงพระสำราญกับพระแม่อุมาอยู่ ไม่อยากให้ใครรบกวน แต่เพราะปรศุรามคิดว่าตนเป็นคนโปรด ไม่ฟังเสียง จะเข้าเฝ้าให้ได้ จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น ปรศุรามโกรธจนลืมตัว เหวี่ยงขวานเพชรไปที่องค์พระคเณศ พระคเณศเห็นขวานถูกขว้างมาก็ตกใจและจำได้แม่นว่าเป็นขวานของพระศิวะเทพบิดา ก็เกิดความเคารพยำเกรง ไม่กล้าต่อสู้ด้วย เพราะกลัวว่าจะเป็นการหลู่พระเกียรติยศของมหาเทพ อีกทั้งเห็นว่าลูกไม่ควรบังอาจไปต่อต้านอาวุธของพ่อ แม้จะเสียชีวิตเพราะความกตัญญูก็ต้องทำ จึงก้มเศียรลงคารวะต่ออาวุธพระบิดา พร้อมหลับเนตรลง ยอมถวายชีวิตแต่โดยดี ก็ปรากฎว่าขวานที่ขว้างมากระทบกับงาเบื้องขวาของท่าน เสียงดังสนั่นหวั่นไหว และก่อนงาที่หักจะตกสู่โลก ท่านก็รีบรับไว้ ด้วยเกรงว่า หากงาของท่านตกสู่พื้นโลกจะเป็นอันตรายต่อโลก และเพราะเสียงดังเอะอะขนาดนั้น พระศิวะและพระแม่อุมาที่กำลังสำราญพระทัยก็เลยต้องเสด็จออกมาดู ครั้นพอทราบเรื่อง พระแม่อุมาก็กริ้วจัด สาปปรศุรามจนสิ้นฤทธิ์ ต่อมาพระวิษณุได้มาอ้อนวอนขอให้พระแม่อุมายกโทษให้ปรศุราม พระแม่จึงยอมและถอนคำสาปให้

อย่างไรก็ดี พระวิษณุก็ได้มีเทวประกาศิต แบ่งกำลังของปรศุรามมาให้พระคเณศครึ่งหนึ่ง เพื่อมิให้ปรศุรามมีกำลังมากเกินไป และใช้ไปในทางที่ไม่ควรอีก นอกจากให้กำลังแล้ว ท่านยังประกาศให้พระคเณศมีพระนามว่า เอกทนต์ คือ ผู้มีงาเดียว และว่านามนี้จะเป็นเครื่องประกาศคุณงามความดีที่ทรงเป็นลูกกตัญญูต่อบิดา รู้จักรักษาเกียรติบิดา และยังให้นามว่า พิฆเนศวร ซึ่งหมายถึงผู้ที่สามารถกำจัดอุปสรรคได้นานาประการ รวมทั้งให้นามว่า สิทธิบดี หมายถึง เจ้าแห่งความสำเร็จ แต่ที่สำคัญคือ ทรงให้พรแก่พระคเณศอีกว่า ในการประกอบพิธีกรรมทั้งปวง ท่านจงเป็นใหญ่เป็นประธาน ผู้กระทำพิธีกรรมใดๆ หากไม่เอ่ยนามท่าน ไม่สวดสรรเสริญท่านก่อน พิธีกรรมนั้นจะไร้ผล และล้มเลิกโดยสิ้นเชิง บุคคลใดสวดสดุดีท่านก่อนทำกิจกรรมใดๆ กิจกรรมของเขาจะลุล่วงเป็นผลสำเร็จโดยง่าย

และด้วยพรที่พระวิษณุหรือพระนารายณ์ประทานแก่พระคเณศนี้เอง ที่ทำให้ผู้คนทั้งหลายต่างพากันบูชาและกล่าวสดุดีองค์พระพิฆเณศวร์ก่อนเทพองค์อื่นเพื่อความสำเร็จแห่งตน และนอกจากพระนามข้างต้นแล้ว พระคเณศยังมีอีกหลายพระนามซึ่งล้วนเรียกตามลักษณะของพระองค์ทั้งสิ้น เช่น อาขุรถ หมายถึง ผู้ทรงหนูเป็นพาหนะ สัพโพทร หมายถึง ผู้มีท้องย้อย และ ลัมพกรรณ หมายถึง ผู้มีหูยาน เป็นต้น

นอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว พระคเณศยังได้ชื่อว่า เป็นเทพแห่งปัญญาด้วย โดยมีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งพระแม่อุมาได้นำมะม่วงผลหนึ่งมาถวายพระศิวะ โอรสทั้งสองคือ พระคเณศและพระขันธกุมาร ต่างอยากเสวยมะม่วงผลนี้บ้าง พระศิวะจึงได้ทดสอบดูว่าพระกุมารทั้งสองใครเก่งกว่ากัน โดยบอกว่าใครก็ตามที่เดินทางรอบโลกได้เจ็ดรอบ แล้วกลับมาถึงก่อนเป็นผู้ชนะ ขันธกุมารได้ฟังปั๊บไม่รอช้า ขี่นกยูงออกไปท่องโลกทันที ฝ่ายพระคเณศแทนที่จะทำตาม กลับเดินประทักษิณ (เดินเวียนขวา) รอบพระศิวะผู้เป็นบิดาเจ็ดรอบ แล้วกล่าวว่า “ข้าแต่พระบิดา พระองค์คือจักรวาล และจักรวาลคือพระองค์ พระองค์เป็นผู้สร้างโลก และทรงเป็นบิดาแห่งข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้ทำประทักษิณพระบิดาเจ็ดรอบ ถือว่าได้กุศลเท่ากับเดินทางรอบโลกเจ็ดรอบ” พระศิวะได้ยินคำตอบก็ชื่นชมในสติปัญญาของพระคเณศ จึงมอบผลมะม่วงให้พระองค์ทันที

ที่ว่ามาข้างต้นถือว่าเป็นเรื่องในตำนาน แต่ตามหลักวิชาการ เขาว่ากันว่า ลัทธิบูชาพระคเณศ นั้น น่าจะมาจากชนพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดียซึ่งเป็นลัทธิที่บูชาสัตว์ และพระคเณศอาจมีต้นกำเนิดมาจากการเป็นเทพเจ้าประจำเผ่าของคนที่อาศัยอยู่ในป่าเขาอันกว้างใหญ่ และต้องเผชิญกับฝูงช้างอันน่ากลัว จึงได้เกิดการเคารพในรูปช้างขึ้น เพื่อปกป้องคุ้มครองตน และได้พัฒนาต่อมาเป็นเทพชั้นสูง จนกลายมาเป็นเทพผู้ขจัดอุปสรรค ที่มีความเฉลียวฉลาด และยังได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าแห่งเทพที่มีเศียรเป็นสัตว์ทั้งหลายอีกด้วย และต่อมาก็ได้พัฒนาเรื่องราวจนกลายเป็นโอรสแห่งพระศิวะและพระแม่อุมาตามตำนานข้างต้น ส่วนหนูนั้น เขาว่าน่าจะเกิดจากการที่สมัยก่อนคนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ หนูที่ชอบทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารจึงเป็นอุปสรรคต่ออาชีพและเป็นศัตรูอันดับหนึ่ง ดังนั้น การนำหนูมาเป็นพาหนะของเทพเจ้าที่ตนนับถือ จึงเป็นการแสดงความมีอำนาจเหนือกว่า และมีนัยของการขจัดอุปสรรคไปในตัว

ทั้งหมดทั้งปวงที่ว่ามานี้ คงจะทำให้ทุกท่านได้รู้เรื่องราวขององค์พระพิฆเณศร์เพิ่มขึ้น และก่อนจบขอนำคาถาที่นิยมใช้บูชาพระองค์มาให้ท่านผู้สนใจได้ท่อง คือ “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” หมายถึง ข้าฯขอนอบน้อมแด่พระคเณศ

ฝังลูกนิมิต : กิจของสงฆ์ ทางสร้างกุศลของฆราวาส


พุทธศาสนิกชนที่เข้าไปในวัด ส่วนใหญ่คงจะรู้สึกชินตากับแท่นหินในซุ้มที่ตั้งอยู่รอบๆโบสถ์ที่เราเรียกกันว่า “ ใบสีมา ” หรือ “ ใบเสมา ” อยู่ไม่น้อย แต่เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่ทราบว่าใบสีมานี้มีไว้เพื่ออะไร และหากจะบอกต่อว่าใต้ใบสีมานี้จะมี “ ลูกนิมิต ” ฝังอยู่ข้างใต้ คงมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่อยากทราบว่า “ ลูกนิมิต ” คืออะไร และทำไมต้องฝังไว้ใต้ใบสีมาดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อเราเดินทางไปต่างจังหวัด หลายครั้งหลายคราที่เราเห็นป้ายที่ปักข้างทางเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนไปร่วม “ ฝังลูกนิมิต ” ตามวัดต่างๆ หลายคนก็คงสงสัยว่าใช่ลูกนิมิตเดียวกันหรือไม่ ดังนั้น เพื่อเป็นความรู้ในเรื่องดังกล่าว กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำเรื่องเกี่ยวกับลูกนิมิตมาเสนอให้ทราบ ดังนี้

โดยทั่วไป “ ลูกนิมิต ” ที่เราเห็น มักจะมีลักษณะเป็นลูกหินกลมๆสีดำ มีทองคำเปลวปิดโดยรอบ ซึ่งตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฯ “ ลูกนิมิต ” หมายถึง “ ลูกที่ทำกลมๆประมาณเท่าบาตร มักทำด้วยหิน ใช้ฝังเป็นเครื่องหมายเขตอุโบสถ ” ส่วนพจนานุกรมฉบับมติชนให้ความหมายว่า “ ก้อนหินที่วางบอกเขตพัทธสีมาในการทำสังฆกรรม ” สรุปแล้ว ลูกนิมิต ก็คือ ลูกหินกลมๆที่ใช้ฝังเพื่อเป็นเครื่องหมายบอกให้ทราบว่าตรงไหนเป็นเขตอุโบสถหรือโบสถ์ เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรมนั่นเอง เพราะคำว่า “ นิมิต ” แปลว่า “ เครื่องหมาย ”

เหตุที่ต้องมี “ นิมิต ” เป็นเครื่องหมายบอกว่าตรงไหนเป็นโบสถ์ ก็สืบเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาล เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาแล้ว ภายหลังได้มีผู้เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุสาวกมากขึ้น พระองค์จึงได้ส่งพระภิกษุเหล่านี้ออกไปเผยแผ่พระศาสนาตามที่ต่างๆ ซึ่งการที่พระภิกษุออกไปอยู่ห่างไกลจากพระพุทธองค์นั้น ก็เท่ากับห่างจากการฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ อีกทั้ง พระสงฆ์ที่บวชแล้วก็มิใช่ว่าจะบรรลุพระอรหันต์กันทุกองค์ ดังนั้น อาจจะเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของพระพุทธองค์ที่ต้องการให้มีการทบทวนพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์อยู่เสมอ รวมทั้งให้สงฆ์ได้มีการปรึกษาหารือเพื่อแก้ปัญหาหรือทำกิจบางประการร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงได้กำหนดให้ พระสงฆ์ต้องประชุมร่วมกัน หรือที่เรียกว่า ทำสังฆกรรม ในบางเรื่อง เช่น การสวดปาติโมกข์ การบวชพระ การกรานกฐิน และการปวารณากรรม เป็นต้น โดยกำหนดให้ทำสังฆกรรมในบริเวณที่กำหนดไว้เท่านั้น เพื่อมิให้ฆราวาสมายุ่งเกี่ยว เนื่องจากเรื่องเหล่านี้เป็นกิจของสงฆ์ผู้ทรงศีลโดยเฉพาะ แต่เนื่องจากในสมัยแรกๆพระภิกษุยังไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน แม้ว่าต่อมาจะมีผู้ถวายพื้นที่เป็นวัดให้พระอยู่ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นป่าตามธรรมชาติ เช่น วัดเวฬุวัน (ป่าไผ่) ดังนั้น เมื่อพระสงฆ์ต้องจาริกไปยังที่ต่างๆจึงทรงให้ หมายเอาวัตถุบางอย่างเป็นเครื่องกำหนดเขตแดน ขึ้น เรียกว่า การ ผูกสีมา (คำว่า “ สีมา ” แปลว่า “ เขตแดน ” ) ซึ่งพระพุทธองค์ได้กำหนดไว้ ๘ ประการ ได้แก่ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และ น้ำนิ่ง และเรียกเครื่องหมายบอกเขตแดนนี้ว่า “ นิมิต ” แต่นิมิตเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ ทำให้การกำหนดเขตแดนที่จะทำสังฆกรรมหรือพูดง่ายๆว่า การกำหนดสถานที่ประชุมสงฆ์ทำได้ยากและมักคลาดเคลื่อน ต่อมาจึงการพัฒนากำหนดนิมิตใหม่อีกประเภทหนึ่งขึ้นแทน คือ เป็นนิมิตที่จัดสร้างหรือทำขึ้นเฉพาะ เช่น บ่อ คู สระ และก้อนหิน โดยเฉพาะก้อนหินเป็นที่นิยมกันมาก เพราะทนทานและเคลื่อนย้ายได้ยาก ครั้นเมื่อเทคโนโลยี่มีความก้าวหน้ามากขึ้น จึงได้มีการประดิษฐ์ก้อนหินให้เป็นลูกกลมๆเป็นเครื่องหมายที่ค่อนข้างถาวรขึ้นแทน และเรียกกันว่า “ ลูกนิมิต ” ดังที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงมีการเรียกเขตแดนที่ใช้ทำสังฆกรรมนี้ว่า “ โบสถ์ ” ซึ่งสมัยก่อนโบสถ์คงมีลักษณะตามธรรมชาติมากกว่าจะเป็นถาวรวัตถุเช่นสมัยนี้ และเมื่อมี “ ลูกนิมิต ” เป็นเครื่องหมายบอกเขต ต่อๆมาก็มีพิธีที่เรียกว่าการ “ ฝังลูกนิมิต ” ขึ้นด้วย

“ การฝังลูกนิมิต ” นี้ มีชื่อเรียกเป็นทางการอีกอย่างหนึ่งว่าการ “ ผูกพัทธสีมา ” (ซึ่งก็แปลว่า เขตทำสังฆกรรมที่กำหนดตามพุทธานุญาต) โดยปัจจุบันจะเริ่มจากพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันในโบสถ์ เพื่อทำพิธี สวดถอน มิให้อาณาบริเวณที่จะกำหนดนี้ไปทับที่ที่เคยเป็นสีมา หรือเป็นที่ที่มีเจ้าของครอบครองอยู่ก่อน เมื่อพระสงฆ์สวดถอนเป็นแห่งๆไปตลอดสถานที่ที่กำหนดเป็นเขตแดนทำสังฆกรรมแล้วว่ามีอาณาเขตเท่าใด จากนั้นจะต้องไปขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเพื่อให้ที่ดินบริเวณนั้นเป็นสิทธิ์ของสงฆ์ ที่เรียกว่าขอ วิสุงคามสีมา (คือเขตที่ได้พระราชทานแก่สงฆ์เพื่อใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม) เป็นการแยกส่วนบ้านออกจากส่วนวัด ( วิสุง แปลว่า ต่างหาก คาม แปลว่า บ้าน)การที่ต้องขอพระบรมราชานุญาตเพราะถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดิน การจะกระทำใดบนพื้นแผ่นดินจึงต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน

โดยทั่วไป ลูกนิมิตที่ใช้ผูกสีมาจะมีจำนวน ๙ ลูก โดยฝังตามทิศต่างๆโดยรอบอุโบสถทั้ง ๘ ทิศๆละ ๑ ลูก และฝังไว้กลางอุโบสถอีก ๑ ลูกเป็นลูกเอก เมื่อจะผูกสีมาพระสงฆ์จำนวน ๔ รูปก็จะเดินตรวจลูกนิมิตที่วางไว้ตามทิศต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่ทิศตะวันออกเป็นต้นไป เรียกว่า สวดทักสีมา จนครบทุกทิศและมาจบที่ทิศตะวันออกอีกครั้งเพื่อให้แนวนิมิตบรรจบกัน เมื่อสวดทักนิมิตจบแล้วก็จะกลับเข้าไปประชุมสงฆ์ในอุโบสถ และสวดประกาศสีมาอีกครั้ง หลังจากนั้นก็จะทำการตัดลูกนิมิตลงหลุมเพื่อกลบ แล้วสร้างเป็นซุ้มหรือก่อเป็นฐานตั้งใบสีมาต่อไป ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันใบสีมานี้ได้กลายเป็นเครื่องหมายบอกเขตของโบสถ์แทนลูกนิมิตที่เป็นเครื่องหมายเดิมที่ถูกฝังอยู่ข้างใต้ไปแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของความสวยงามหรือการออกแบบในภายหลังก็ได้

อนึ่ง ลูกนิมิตที่ใช้ฝังตามทิศต่างๆนี้ มีผู้เปรียบว่าเป็นเสมือนองค์พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวกสำคัญๆ กล่าวคือ ลูกนิมิตที่ฝังทาง ทิศตะวันออก หมายถึง พระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งได้ชื่อว่าผู้รู้ราตรีกาลนาน คือ มีความรู้มาก ผ่านโลกมามาก ทิศตะวันออกเฉียงใต้ หมายถึง พระมหากัสสปะ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ทรงธุดงค์คุณ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หมายถึง พระราหุล ผู้เป็นเลิศทางการศึกษา ทิศใต้ หมายถึง พระสารีบุตร ผู้เลิศในทางปัญญา ทิศเหนือ หมายถึง พระโมคัลลานะ ผู้เลิศทางฤทธิ์ ทิศตะวันตก หมายถึง พระอานนท์ ผู้เลิศในทางพหูสูต ทิศตะวันตกเฉียงใต้ หมายถึง พระอุบาลี ผู้เลิศในทางวินัย และ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หมายถึง พระควัมปติ ผู้เลิศในทางลาภและรูปงาม ส่วนลูกนิมิต กลางโบสถ์ ก็คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ด้วยเหตุที่ในสมัยก่อน การที่จะสร้างโบสถ์ได้หลังหนึ่งๆ หรือแม้จะซ่อมแซมโบสถ์เก่าให้สวยงามขึ้นมิใช่เรื่องง่าย และต้องใช้ระยะเวลานานมาก ดังนั้น จึงเชื่อกันว่าหากใครได้มีโอกาสทำบุญ “ ฝังลูกนิมิต ” หรือพูดง่ายๆว่าได้ร่วมสร้างโบสถ์ให้พระได้ใช้ทำสังฆกรรมนั้น จะมีอานิสงส์ถึง ๖ ประการด้วยกัน คือ ๑.ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บทุกชาติ ปราศจากอุปัททวะ(อุ-ปัด-ทะ-วะ สิ่งอัปมงคล)ทั้งหลาย ๒.ไม่เกิดในตระกูลต่ำ ๓.หากเกิดในมนุษย์โลกก็จะเกิดเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์ ๔.หากเกิดในเทวโลกก็จะเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช ๕.จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง มีผิวพรรณผ่องใส และข้อสุดท้าย คือ มีอายุยืนนาน และมักจะใส่สมุด ดินสอ เข็มและด้ายลงไปในหลุมที่ฝังลูกนิมิตด้วย เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้มีความจำดี มีปัญญาเฉียบแหลมเหมือนเข็ม และมีความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเหมือนความยาวของด้าย

อันที่จริงแล้ว การ “ ฝังลูกนิมิต ” เพื่อกำหนดเขตทำสังฆกรรมหรือปัจจุบันก็คือการกำหนดเขตที่เป็นโบสถ์นั้น เป็นกิจของสงฆ์โดยเฉพาะ คือฆราวาสหรือชาวบ้านไม่ได้มีส่วนยุ่งเกี่ยว แต่เนื่องจากปัจจุบันโบสถ์มิเพียงแต่จะเป็นสถานที่ที่สงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นศาสนสถานที่พุทธศาสนิกชนใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมอื่นๆด้วย อีกทั้ง ไม่ว่าสร้างหรือซ่อมแซมโบสถ์ขึ้นใหม่จำเป็นจะต้องมีการผูกพัทธสีมาใหม่ทุกครั้ง ดังนั้น ทางวัดต่างๆจึงมักจะประกาศเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนได้มาทำบุญสร้างกุศลด้วยกัน โดยการจัดงาน “ ฝังลูกนิมิต ” เพื่อสร้างโบสถ์ร่วมกัน ซึ่งชาวพุทธส่วนใหญ่ก็ยินดี เพราะเชื่อกันว่าจะได้อานิสงส์มากดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม อานิสงส์จากการร่วมทำบุญฝังลูกนิมิตนี้ บางคนอาจจะมีข้อกังขาว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องอนาคตอันยาวไกล แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นผลทันตา ก็คือ จิตใจที่อิ่มเอิบและความปีติที่ได้มีโอกาสทำบุญสร้างกุศลที่ดีแก่ตนเอง ที่สำคัญบุญนี้ก็ได้มีส่วนช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรต่อไปด้วย

ความเชื่อของชาวล้านนาจากจารึกโบราณ


ความเชื่อของชาวล้านนาจากจารึกโบราณ


ภาคเหนือของไทยที่คนทั่วไปมักเรียก “ล้านนา”นั้น นับเป็นดินแดนอีกแห่งหนึ่งที่มีมนต์เสน่ห์ดึงดูดใจให้คนอยากไปเยือนอยู่เสมอ ทั้งนี้ เพราะวิถีชีวิตที่ปรากฎเป็นรูปธรรมอันโดดเด่นได้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ต่างไปจากภูมิภาคอื่นๆ จากหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ในอดีต “ล้านนา” เป็นอาณาจักรหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งทางภาคเหนือตอนบนก่อนที่จะมาหลอมรวมกับกรุงรัตนโกสินทร์เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งแม้จะผ่านช่วงพัฒนาการที่ยาวนานทั้งการเป็นอาณาจักรที่เป็นอิสระปกครองโดยราชวงศ์มังราย มีความเจริญรุ่งเรืองและเสื่อม จนต่อมาต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าและสยามนั้น อาณาจักรล้านนาก็ยังคงมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มชน ภายใต้ระบบความเชื่อแบบผสมผสานทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และการนับถือผี โดยสะท้อนให้เห็นจากมรดกวัฒนธรรม อาทิ ศาสนสถาน โบราณสถาน โบราณวัตถุ และเอกสารโบราณต่างๆ เช่น คัมภีร์ใบลาน พับสา สมุดไทย และจารึกล้านนาที่มีเป็นจำนวนมาก

จากจารึกล้านนาอันเป็นเอกสารโบราณนี้เองที่นางสาวธนพร แตงขาว นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ทำการวิจัยโดยทุนสนับสนุนของสวช.เรื่อง “การศึกษาวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวล้านนาจากจารึกล้านนา” โดยเป็นการศึกษาวิเคราะห์วิถีชีวิต สังคม ความเชื่อของชาวล้านนาในทุกชนชั้น จากข้อมูลในจารึกล้านนาที่มีการจารึก ตั้งแต่พ.ศ. ๑๘๒๒-๒๔๗๘ จำนวน ๑๘๖ หลัก ที่พบบริเวณ ใน ๘ จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่และแม่ฮ่องสอน เน้นในเรื่องวิถีชีวิตด้านกิจกรรมทางศาสนาของสังคมอาณาจักรอันได้แก่กษัตริย์ เจ้าเมือง และชาวบ้าน และสังคมพุทธจักรที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ การเป็นข้าวัดหรือข้าพระ (หมายถึงการถวายคนให้เป็นผู้ดูแลพระสงฆ์ รวมทั้งดูแลวัดและผลประโยชน์ของวัด เนื่องจากสมัยก่อนวัดในล้านนารุ่งเรืองมาก จึงต้องมีข้าวัดหรือข้าพระคอยดูแลและถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง) รวมถึงความเชื่อของชาวล้านนาที่ปรากฎในจารึกดังกล่าวข้างต้น ซึ่งในที่นี้ ทางกลุ่มประชาสัมพันธ์ สวช. กระทรวงวัฒนธรรมจะขอนำเฉพาะเรื่องความเชื่อของชาวล้านนามาเสนอ เพื่อให้เห็นถึงแนวคิดและความศรัทธาที่สืบเนื่องมาจากอดีตว่าเป็นเช่นไร จึงมีผลต่อการดำเนินชีวิตดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

จากการศึกษาวิเคราะห์จารึกข้างต้นพบว่า ชาวล้านนามีความเชื่อในคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นสำคัญ โดยมีความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ และความเชื่อทางโหราศาสตร์ผสมผสานอยู่ด้วย กล่าวคือ
๑.ความเชื่อในคำสอนของศาสนาพุทธ ได้แก่ ความเชื่อในกฎแห่งกรรม ชาวล้านนาเชื่อว่าการทำดีย่อมได้รับผลดีตอบแทน เช่น การทำบุญทำนุบำรุงพุทธศาสนา ก็จะทำให้ผู้ทำบุญพบแต่สิ่งที่ดีงาม คิดสิ่งใดก็สมปรารถนา เชื่อในเรื่องนิพพาน เชื่อว่าหากตนได้บรรลุนิพพานก็จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ดังนั้น จึงมุ่งทำบุญให้ตนเองหลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เชื่อว่าพุทธศาสนายุคพระสมณโคดมจะสิ้นสุดเมื่อมีอายุ ๕,๐๐๐ปี ชาวล้านนาจึงมุ่งทำบุญเพื่อต่ออายุพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันก็เชื่อว่าจะมียุคพระศรีอาริยเมตตไตรยต่อเนื่องจากนั้น จึงทำบุญเพื่อขอให้ตนได้ไปเกิดเป็นพระหรือพระอรหันต์ในยุคนั้น นอกจากนี้ชาวล้านนายังเชื่อและศรัทธาในเรื่องพระธาตุ เป็นอย่างมาก ดังปรากฎว่าสถานที่สำคัญๆทุกเมืองจะกล่าวถึงที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ และเชื่อว่าผู้ที่ได้สักการะพระธาตุอันเป็นกระดูกของพระพุทธเจ้าจะเกิดสิริมงคลแก่ตน ความเชื่อเรื่องเทวดาพุทธ ชาวล้านนาเชื่อว่าเทวดาที่ปรากฎในคำเทศนาของพระพุทธองค์ เช่น พระอินทร์ พระพรหม ท้าวจัตุโลกบาลเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณงามความดี และอยู่ในภพภูมิที่สูงกว่ามนุษย์ และจะคอยปกป้องคุ้มครองผู้ที่กระทำความดี จึงให้ความเคารพสักการะเทวดาเหล่านี้ด้วย ความเชื่อในเรื่องการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ชาวล้านนาเชื่อว่าผลบุญที่ทำจะสามารถอุทิศให้แก่บุคคลที่ล่วงลับไปแล้วได้ และยังสามารถอุทิศให้แก่บุคคลที่มีชีวิตอยู่ให้มีความสุข ความสมหวังได้ด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากคำอธิษฐานที่ปรากฎในจารึกที่ต่างๆ

๒.ความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ นอกจากจะนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ชาวล้านนายังเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ นับถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และวิญญาณต่างๆในธรรมชาติที่ช่วยปกป้องคุ้มครองให้ผู้คนในสังคมอยู่เย็นเป็นสุข ดังที่ปรากฎอยู่ในจารึก ๒ เรื่องคือ ความเชื่อในเรื่องเรือนยันต์ อันเป็นคาถาที่ขอให้เกิดความเป็นสิริมงคลในการทำกุศลกิจกรรม หรือเป็นคาถาขับไล่สิ่งชั่วร้าย มิให้เกิดขึ้น ความเชื่อเรื่องเสื้อบ้าน เสื้อเมืองและเสื้อวัด เสื้อบ้านจะหมายถึง วิญญาณที่คอยให้ความอนุเคราะห์แก่คนในหมู่บ้าน ส่วนเสื้อเมือง หมายถึง วิญญาณของเจ้าเมืององค์ก่อนๆหรือวีรบุรุษที่คอยให้ความคุ้มครองและอนุเคราะห์ดูแลคนทั้งเมือง และเสื้อวัด คือ วิญญาณที่คอยปกป้องดูแลวัด ซึ่งในปัจจุบันชาวล้านนาก็ยังมีความเชื่อในเรื่องนี้อยู่ ดังจะได้เห็นบางบ้านมีหิ้งบูชาบรรพบุรุษหรือหรือหิ้งผีปู่ย่า หรือในหมู่บ้านก็จะมีสถานที่ตั้งของเสื้อบ้านหรือผีหมู่บ้านอยู่ โดยทุกปีชาวบ้านจะมีการจัดของไปเซ่นไหว้ จากนั้นก็นำมาแจกจ่ายกันกิน

๓.ความเชื่อในเรื่องโหราศาสตร์ ในเรื่องฤกษ์งามยามดี ชาวล้านนาเมื่อจะประกอบการทำบุญทำกุศลซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ก็จะดูฤกษ์ยามที่เป็นมงคลควบคู่กันไปด้วย ซึ่งความเชื่อนี้จะปรากฎให้เห็นในวงดวงหรือดวงฤกษ์ที่จารึกในตอนบนสุด และจารึกที่เป็นการบอกปี เดือน วัน ดิถี นาทีฤกษ์ของการทำกิจกรรมนั้นๆ รวมถึงวงดวงชะตาของโบสถ์ วิหารหรือวัดด้วย อันแสดงให้เห็นว่าความเชื่อทางโหราศาสตร์สามารถผสมผสานกับความเชื่อทางพุทธศาสนาอย่างลงตัว

กล่าวโดยสรุปชาวล้านนามีความเชื่อในคำสอนของพุทศาสนาเป็นหลักสำคัญ และใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต อีกทั้งใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงส่งผลให้ชาวล้านนามุ่งเน้นที่จะประกอบการบุญการกุศล นอกจากนี้ก็ยังมีความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น เรือนยันต์ ที่เป็นเวทย์มนต์คาถาที่คอยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไป และยังมีความเคารพต่อเสื้อบ้าน เสื้อเมือง ซึ่งก็คือวิญญาณของบรรพบุรุษหรือวีรบุรุษ ที่เชื่อว่ายังคงอยู่และคอยคุ้มครองให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหลาน โดยจะมีพิธีกรรมที่แสดงออกถึงความเชื่อด้วยการเซ่นไหว้เป็นประจำทุกปี นอกเหนือจากนี้ชาวล้านนายังเชื่อเรื่องการดูฤกษ์งามยามดีอันเป็นเวลามงคลในการประกอบกุศลกรรมต่างๆด้วย

ความเชื่อของชาวล้านนาเหล่านี้ หลายคนอ่านแล้ว อาจคิดว่าก็ไม่ต่างอะไรกับคนปัจจุบันที่เชื่อทั้งในเรื่องพุทธศาสนา โหราศาสตร์ และสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่โดยความเป็นจริงแล้วความเชื่อของชาวล้านนาดังกล่าวเป็นความเชื่อสั่งสม ที่ผ่านการสั่งสอน และปลูกฝังจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาด้วยระยะเวลาอันยาวนาน จึงปรากฎเป็นหลักฐานให้เห็นเด่นชัดทั้งในโบราณสถาน โบราณวัตถุ และจารึกต่างๆตามที่กล่าวข้างต้น และเป็นความเชื่อที่มุ่งเน้นให้คนประกอบคุณงามความดีโดยมีจุดมุ่งหมายให้เกิดความสุข ความเจริญแก่ตน ครอบครัว ชุมชนและบ้านเมือง มิใช่สอนให้คนงมงาย เห็นแก่ตัว หรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวกเป็นที่ตั้งโดยใช้ศาสนาบังหน้า หรือชักจูงไปสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ดังที่เห็นในสมัยนี้ ที่บางแห่งยังมีความเชื่อทางไสยาศาสตร์อันถือเป็นมนต์ดำมาเกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ดี ในยุคโลกาภิวัตน์ที่โลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ความเชื่อบางอย่างก็ได้สูญหายไปกับกาลเวลาและข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ แต่ความเชื่อหลายอย่างก็ยังอยู่ เพื่อท้าทายให้พิสูจน์ถึงสัจจธรรมความเป็นจริงแห่งชีวิตที่คนทั้งหลายไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังเช่น เรื่อง “กฎแห่งกรรม”ของพระพุทธองค์ ที่หลายๆคนพูดว่า “ยุคนี้ เป็นยุคกรรมติดจรวด” เห็นผลทันตา ทันใจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ กังหันน้ำชัยพัฒนา


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ กังหันน้ำชัยพัฒนา


2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ "เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย" หรือ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ซึ่งใช้ประโยชน์ในการบำบัดน้ำเสียโดยช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนลงในน้ำ นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรและเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการออกสิทธิบัตรให้แก่พระมหากษัตริย์

ที่มาของ "กรุงเทพมหานคร" และ "บางกอก"




ที่มาของ "กรุงเทพมหานคร" และ "บางกอก"



กรุงเทพมหานคร มาจากนามพระราชทาน "กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" มีความหมาย "เมืองของเทวดา มหานครอันเป็นอมตะ สง่างามด้วยแก้ว 9 ประการ และเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน เมืองที่มีพระราชวังหลายแห่ง ดุจเป็นวิมานของเทวดา ซึ่งพระวิษณุกรรมสร้างขึ้นตามบัญชาของพระอินทร์" ปัจจุบันภาษาราชการเรียก กรุงเทพมหานคร และอย่างย่อว่า กรุงเทพฯ
แต่เมื่อแรกสถาปนาราชธานีนั้น ตรงสร้อย "อมรรัตนโกสินทร์" พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระราชทานว่า "บวรรัตนโกสินทร์" จวบจนถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็น อมรรัตนโกสินทร์ และต่อมามักเรียกกันว่า กรุงรัตนโกสินทร์



ชื่อกรุงเทพมหานครเมื่อถอดเป็นอักษรโรมัน คือ Krung Thep Maha Nakhon แต่ต่างชาติส่วนใหญ่เรียกเมืองนี้ว่า Bangkok อันมาจากอดีตของเมืองซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ที่ชาวต่างชาติเรียกกันว่า "บางกอก" แต่จะออกเสียงเป็น "แบงก์ค็อก" มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีความสำคัญในฐานะเส้นทางออกสู่ทะเลและติดต่อค้าขายกับอาณาจักรต่างๆ ทั้งเป็นเมืองหน้าด่านขนอน คอยดูแลเก็บภาษีจากเรือสินค้าทุกลำที่ผ่านเข้าออก ส่วนบริเวณปากน้ำตรงอ่าวไทย เรียกกันว่า "นิวอัมสเตอร์ดัม" (ฝรั่งเทียกับกรุงอัมสเตอร์ดัมของฮอลแลนด์ที่เมืองท่าสำคัญของยุโรป) มีชุมชนใหญ่และโกดังของชาวต่างประเทศไว้สำหรับพักสินค้า ปัจจุบันคือพื้นที่บริเวณอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
สำหรับที่มาของคำว่า บางกอก มีข้อสันนิษฐานว่าอาจมาจากที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกกันว่า "บางเกาะ" หรือ "บางโคก" แล้วเพี้ยนเป็นบางกอก บ้างก็ว่าเนื่องเพราะบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกว่า "บางมะกอก" คือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยต้นมะกออก ข้อสันนิษฐานนี้อ้างอิงมาจากชื่อเดิมของวัดอรุณราชวราราม คือ วัดมะกอก (ก่อนจะเป็นวัดมะกอกนอก และวัดแจ้ง ตามลำดับ) และต่อมาบางมะกอกกร่อนคำเหลือแค่ บางกอก
เมื่อครั้งกอบกู้อิสรภาพจากพม่าหลังเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงสถาปนาเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ คือ กรุงธนบุรี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2313 แต่ด้วยกรุงธนบุรีมีสภาพเป็นเมืองอกแตก ตรงกลางมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน เมื่อ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ขึ้นเสวยราชสมบัติ เฉลิมพระนาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระราชดำริว่า ฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีชัยภูมิดีกว่า เพราะมีลำน้ำเป็นขอบเขตอยู่กว่าครึ่ง หากข้าศึกยกมาติดถึงชานพระนคร ก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่า



โปรดเกล้าฯ ให้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นทางฝั่งตะวันออกนั้นเป็นราชธานีแห่งใหม่ โดยสืบทอดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา ทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที ปีขาล จ.ศ.1144 จัตวาศก ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325 เวลา 6.54 น. พระราชทานนามก่อนมีการเปลี่ยนแปลงสร้อยในรัชกาลที่ 4 ดังกล่าว
วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2514 รัฐบาลได้รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกัน เป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2515 ได้เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร

ห้องเเรก เสวยราชสมบัติ



ห้องเเรก เสวยราชสมบัติ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์



ห้องแรก : เสวยราชสมบัติ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีพระบรมราชภิเษก 2 ครั้ง ในครั้งแรก ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธี บรมราชาภิเษก ตามขัตติยโบราณราชประเพณี เพื่อประดิษฐาน ความเป็นพระมหากษัตริย์ โดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๓ แต่งดการแห่เสด็จเลียบพระนคร และการรื่นเริงอื่นๆ จนกระทั่งถวายพระเพลิง พระบรมศพพระราชบิดา คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และครบกำหนด การไว้ทุกข์แล้ว ๑ ปี นับแต่วันสวรรคต จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธี บรมราชาภิเษกสมโภช อีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้ มีเจ้านาย และอรรคราชฑูต ผู้แทนพระองค์ พระราชาธิบดี และผู้แทนประธานนาธิบดี จากนานาประเทศมาร่วม งานถึง ๑๔ ประเทศ

ห้องที่ ๒ : ทัดเทียมประเทศอารยะ
ใน พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้เกิดสงครามขึ้นในทวีปยุโรปโดยแบ่งออกเป็นฝ่ายมหาอำนาจอันได้แก่ เยอรมัน และออสเตรีย-ฮังการี กับฝ่ายสัมพันธมิตรได้แก่อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และรัสเซีย เป็นต้น ต่อมาสงครามนี้ ได้กลายเป็นมหาสงครามโลกครั้งที่ 1
ในระยะแรก ของสงครามสยามประเทศ ได้ประกาศความเป็นกลาง แต่เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนายทหารเก่าแก่แห่งกรมทหารราบเบาเดอรัม พระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์แก่ทายาทของทหาร ในกรมทหารราบเบาเดอรัม ที่เสียชีวิตในสงคราม และสมเด็จ พระเจ้ายอร์ชที่ ๕ แห่งอังกฤษ ทรงซาบซึ่งพระทัย ได้ถวายพระยศ นายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกอังกฤษ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถวายพระยศ พลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกสยาม เป็นการตอบแทน

ห้องที่ ๓ : นำชัยชนะสู่สยาม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการ ประกาศสงครามกับ ประเทศเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐ เพื่อรักษาประโยชน์ ของประเทศ และเพื่อรักษา ความเป็นธรรม ของโลกส่วนรวม พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดกองทหาร อาสามสมัคร ไปร่วมรบกับ ฝ่ายสัมพันธมิตร ณ สมรภูมิ ทวีปยุโรป เมื่อสงครามโลกยุติลง กองทหารอาสาสมัคร เดินทางถึง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ทรงโปรดฯ ให้จัดงานฉลอง พระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดี แก่ธงไชยเฉลิมพล โดยทรงผูกประทับดวงตรา ที่ยอดคันธงไชยเฉลิมพลนั้น ด้วยพระองค์เอง
การร่วมกับฝ่ายชนะสงครามนี้ ทำให้เราสามารถแก้ไข สนธิสัญญาทางการค้า และการศาลกับนานาประเทศ ได้เป็นผลสำเร็จ


ห้องที่ ๑๐ : เกิดอุดมศึกษา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัย ในเรื่องการศึกษาของชาติเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทรง พระราชดำริว่า "…การศึกษาย่อมเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นต้นเหตุแห่งความเจริญของชาติบ้านเมือง ผู้ใดอุดหนุนการศึกษา ผู้นั้นได้ชื่อว่า อุดหนุนชาติบ้านเมือง…" พระองค์ทรงริเริ่ม สร้างโรงเรียนขึ้นแทนวัด ประจำรัชกาล และพระราชทานการอุดมศึกษาแก่คนไทย โดยทรงโปรดฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับพระราชทานเงินไว้ เป็นทุนของมหาวิทยาลัย และพระราชทานที่ดิน พระคลังข้างที่ ที่ตำบลสระปทุม เนื้อที่ ๑,๓๐๙ ไร่ ไว้เป็นอาณาเขต ทั้งยังทรงพระกรุณาเสด็จฯ ไปทรงวาง ศิลาพระฤกษ์ ตึกบัญชาการ ซึ่งปัจจุบัน คือ คณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘ อีกด้วย

ห้องที่ ๑๑ : ทดลองประชาธิปไตย

ดุสิตธานี เป็นเมืองจำลองเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในบริเวณ พระราชวังดุสิต และภายหลังย้ายมาที่ พระราชวังพญาไท ประกอบด้วย อำเภอ ๖ อำเภอ บ้านเรือน ๓๐๐ หลังคาเรือน ถนน วัด ร้านค้า โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ ประชุม พระราชวัง และสวนสาธารณะ มีนคราภิบาล ทำหน้าที่บริหาร มีพรรคการเมือง ๒ พรรค มีการทดลองการเลือกตั้ง คือแบบเลือกนคราภิบาลโดยตรง และให้เลือก เชษฐบุรุษของอำเภอ แล้วจึงเลือกตั้ง นคราภิบาล จากเชษฐบุรุษเหล่านั้น ฉะนั้น ดุสิตธานีจึงเป็นภาพรวม ของการทดลอง การปกครองระบอบประชาธิปไตย ในระยะแรก อาคารบ้านเรือนต่างๆ พลัดหายไปมาก ที่จัดแสดง มีพระที่นั่งเทวอาสน์จำรูญ พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท พระที่นั่งบรมพิมาน และพระที่นั่งสุทไธสูรย์ปราสาท

ห้องที่ ๑๒ : ทรงนำไทยให้รุ่งเรือง

"ในขั้นต้น กิจกรรมต่าง ๆ คงต้องเดินอย่างช้า ๆ เพราะมีเครื่องกีดขวางอยู่หลายอย่าง ที่ฉันจะต้องข้าม เราอยู่ในสมัยที่ลำบาก เพราะมีขนบธรรมเนียมโบราณ คอยต่อสู้ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง แต่ฉันไม่คิด ยอมแพ้ ฉันหวังว่า ฉันจะยังมีชีวิตอยู่นานพอ จะได้เห็น ประเทศสยามได้เข้าร่วมอยู่ ในหมู่ชาติต่าง ๆ โดยได้รับเกียรติและความเสมอภาคอย่างจริง ๆ ตามความหมายของคำนั้นทุกประการ"

ด้วยพระราชปณิธาน ที่พระราชทานแก่พระอนุชา เมื่อต้นรัชกาลตลอดเวลา ๑๕ ปี ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำ รัฐนาวาฝ่าคลื่นแห่งปัญหา ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อไปให้ถึงจุดหมายที่ทรงวาดหวังไว้

ประวัติศาสตร์สงครามเก้าทัพ และบทวิเคราะห์ว่าเหตุใดไทยจึงรบชนะพม่าทีมีกำลังมากกว่าหลายเท่าได้





สงครามเก้าทัพ เป็นสงครามระหว่างกรุงรัตนโกสินทร์กับอาณาจักรพม่า หลังจากที่พระบาทพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานีแห่งใหม่ เวลานั้นบ้านเมืองอยู่ในช่วงผ่านศึกสงครามมาใหม่ ๆ ประจวบทั้งการสร้างบ้านแปลงเมือง รวมทั้งปราสาทราชวังต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2328 พระเจ้าปดุง กษัตริย์อังวะ หลังจากบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์พม่าแล้ว ต้องการประกาศแสนยานุภาพ เผยแผ่อิทธิพล โดยได้ทำสงครามรวบรวมเมืองเล็กเมืองน้อยรวมถึงเมืองประเทศราชให้เป็นปึกแผ่น แล้วก็ได้ยกกองกำลังเข้ามาตีไทย โดยมีจุดประสงค์ทำสงครามเพื่อทำลายกรุงรัตนโกสินทร์ให้พินาศย่อยยับเหมือน เช่นกรุงศรีอยุธยา



สงครามครั้งนี้พระเจ้าปดุงได้ยกทัพมาถึง 9 ทัพ รวมกำลังพลมากถึง 144,000 นาย โดยแบ่งการเข้าโจมตีกรุงรัตนโกสินทร์ออกเป็น 5 ทิศทาง

* ทัพที่ 1 ได้ยกมาตีหัวเมืองประเทศราชทางปักษ์ใต้ตั้งแต่เมืองระนองจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช
* ทัพที่ 2 ยกเข้ามาทางเมืองราชบุรีเพื่อที่จะรวบรวมกำลังพลกับกองทัพที่ตีหัวเมืองปักษ์ใต้แล้วค่อยเข้าโจมตีกรุงรัตนโกสินทร์
* ทัพที่ 3 และ 4 เข้ามาทางด่านแม่ละเมาแม่สอด
* ทัพที่ 5-7 เข้ามาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เชียงแสน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตีตั้งแต่หัวเมืองฝ่ายเหนือลงมาสมทบกับทัพที่ 3 4 ที่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา เพื่อตีเมืองตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก นครสวรรค์
* ทัพที่ 8-9 เป็นทัพหลวงพระเจ้าปดุงเป็นผู้คุมทัพ โดยมีกำลังพลมากที่สุดถึง 50,000 นาย ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เพื่อรอสมทบกับทัพเหนือ และใต้โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้ารบกับกรุงเทพฯ



เวลานั้นทางฝ่ายไทยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รวบรวมกำลังไพล่พลได้เพียง 70,000 นายมีกำลังน้อยกว่าทัพพระเจ้าพม่าถึง 2 เท่า ประจวบเป็นทหารรบเดิมของพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เคยกอบกู้บ้านเมืองสมัยเสีย กรุงศรีอยุธยาไว้ได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงปรึกษาวางแผนการรับข้าศึกกับ สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ว่าจะทำการป้องกันบ้านเมืองอย่างไร แผนการรบของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ คือจัดกองทัพออกเป็น 4 ทัพโดยให้รับศึกทางที่สำคัญก่อน แล้วค่อยผลัดตีทัพที่เหลือ

* ทัพที่ ๑ ให้ยกไปรับทัพพม่าทางเหนือที่เมืองนครสรรค์
* ทัพที่ ๒ ยกไปรับพม่าทางด้านพระเจดีย์สามองค์ ทัพนี้เป็นทัพใหญ่ มีสมเด็จพระบวรราชเจ้ามาหาสุรสิงหนาทเป็นแม่ทัพ คอยไปรับหลวงของพระเจ้าปดุงที่เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
* ทัพที่ ๓ ยกไปรับทัพพม่าที่จะมาจากทางใต้ที่เมืองราชบุรี
* ทัพที่ ๔ เป็นทัพหลวงโดยมีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นผู้คุมทัพคอยเป็นกำลังหนุน เมื่อทัพไหนเพลี้ยงพล้ำก็จะคอยเป็นกำลังหนุน

สมเด็จพระอนุชาธิราช พระบวรราชเจ้ามาหาสุรสิงหนาท ได้ยกกองทัพไปถึงเมืองกาญจนบุรี ตั้งรับทัพอยู่บริเวณทุ่งลาดหญ้า เชิงเขาบรรทัด สกัดกั้นไม่ให้ทัพพม่าได้เข้ามารวบรวมกำลังพลกันได้ นอกจากนี้ยังจัดกำลังไปตัดการลำเลียงเสบียงของพม่าเพื่อให้กองทัพขาดเสบียง อาหาร แล้วยังใช้อุบาย โดยทำเป็นถอยกำลังออกในเวลากลางคืน ครั้นรุ้งเช้าก็ให้ทหารเดินเข้ามาผลัดเวร เสมือนว่ามีกำลังมากมาเพิ่มเติมอยู่เสมอ เมื่อทัพพม่าขาดแคลนเสบียงอาหารประจวบกับครั้นคร้ามคิดว่ากองทัพไทยมีกำลัง มากกว่า จึงไม่กล้าจะบุกเข้ามาโจมตี สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเมื่อสบโอกาสทำการโจมตีกองทัพ 8-9 จนถอยร่นพระเจ้าปดุงเมื่อเห็นว่าไม่สามารถบุกโจมตีต่อได้ประจวบทั้งกองทัพ ขาดเสบียงอาหารจึงได้ถอยทัพกลับ สำหรับการโจมตีทางด้านอื่น ทางด้านเหนือพระยากาวิละเจ้าเมืองลำปางสามารถป้องกันทัพพม่าที่ยกมาทางหัว เมืองฝ่ายเหนือได้สำเร็จ



ส่วนทัพที่บุกมาทางด่านแม่ละเมามีกำลังมากกว่าจึงสามารถตีเมืองพิษณุโลก ได้ แต่เมื่อเสร็จศึกทางด้านพระเจดีย์สามองค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงเสด็จยกทัพขึ้นไปช่วยหัวเมืองทางเหนือ

ส่วนทางปักใต้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เมืองเสร็จศึกที่ลาดหญ้าแล้ว เสด็จยกทัพลงไปช่วยทางปักต์ใต้ต่อ แต่ก่อนที่จะเสด็จไปถึงทัพพม่าได้โจมตีเมืองระนองถึง เมืองถลาง เวลานั้นเจ้าเมืองถลางเพิ่งจะถึงแก่กรรมยังไม่มีการตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ แต่ชาวเมืองถลางนำโดยคุณหญิงจันภริยาเจ้าเมืองถลางที่ถึงแก่กรรมและนางมุก น้องสาว ได้รวบรวมกำลังชาวเมืองต่อสู้ข้าศึกจนสุดความสามารถ สามารถป้องกันข้าศึกพม่าไม่ให้ยึดเมืองถลางไว้ได้ หลังเสร็จศึกแล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้คุณหญิงจันเป็นท้าวเทพกษัตรีย์ (หรือท้าวเทพสตรี) นางมุกน้องสาวเป็นท้าวศรีสุนทร นอกจากนี้ทัพพม่าบางส่วนสามารถตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ และยกลงไปตีเมืองสงขลาต่อ เจ้าเมืองและกรมการเมืองพัทลุงพอทราบข่าวทัพพม่าตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ ด้วยความขลาดจึงหลบหนีเอาตัวรอด แต่มีภิษุรูปหนึ่งนามว่าพระมหาช่วยมีชาวบ้านนับถือศรัทธากันมาก ได้ชักชวนชาวเมืองพัทลุงให้ต่อสู้ป้องกันสกัดทัพพม่าไม่ให้เข้ายึดเมือง พัทลุงได้ เมืองกองทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ยกกองทัพลงมาช่วยหัวเมืองปักต์ใต้ ตีทัพพม่าตั้งแต่เมืองไชยาลงมาจนถึงนครศรีธรรมราช เมื่อทัพพม่าแตกพ่ายถอยร่นไปพ้นจากหัวเมืองปักต์ใต้แล้ว พระมหาช่วยต่อมาได้ลาสิกขาบทและเข้ารับราชการ

ที่มา: วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อ้างอิงภาพจาก : กองบัญชาการกองทัพบก www.rta.mi.th






บทวิเคราะห์ ราชการสงครามกับพม่าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

หลังจากกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าตีแตก พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงกอบกู้เอกราชของไ
ทยไว้ได้และทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี และมีราชการสงครามเกือบตลอดรัชกาล ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ทรงปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนาราชวงศ์จักรี และย้ายเมืองหลวงมาฝั่งบางกอก ตั้งเป็นกรงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพมหานครนั่นเอง

นับตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีของไทย ราชอาณาจักรไทยได้ทำสงครามกับพม่ารวมทั้งหมดสิบครั้งด้วยกัน เป็นสงครามฝ่ายพม่ารุกรานไทย๕ครั้ง ข้างไทยไปโจมตีพม่า๕ครั้ง ในสิบครั้งนี้เป็นสงครามในรัชกาลที่หนึ่ง๗ครั้ง รัชกาลที่สอง๑ครั้ง รัชกาลที่สาม๑ครั้ง และรัชกาลที่สี่๑ครั้งส่วนในรัชกาลที่ห้า เป็นเพียงการขับไล่พวกพม่ามิได้ถึงกับรบพุ่งกัน และในการรบกันแต่ละครั้งเป็นสงครามใหญ่อยู่แต่ในสมัยรัชกาลที่๑ ส่วนในรัชกาลอื่นๆต่อมาเป็นเพียงการปะทะกันตามแนวชายแดน ไม่ได้เป็นการรบพุ่งกันจริงจังแต่อย่างใด

ในสมัยรัชกาลที่๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงใช้เวลาสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเวลาสามปี ที่มีเวลาพอสร้างก็เพราะว่าพม่ามีปัญหาการเมืองภายใน พอแก้ปัญหาได้ ข้างฝ่ายไทยก็ลงหลักปักฐานมั่นคงเสียแล้ว ประเจ้าปดุงกษัตริย์พม่าจึงหมายยกทัพมาปราบไทยให้ราบคาบจึงเป็นที่มาของสงครามครั้งแ

รกของกรุงรัตนโกสินทร์ หรือที่รู้จักกันในนามสงครามเก้าทัพ ซึ่งในสงครามครั้งนี้ไทยได้ใช้ยุทธวิธีใหม่ไม่เหมือนที่ผ่านมาแต่เก่าก่อน กล่าวคือ

ในสมัยอยุธยาไทยได้ใช้ตัวพระนครเป็นปราการตั้งรับพม่า รอจนฤดูน้ำหลากให้พม่าถอยทัพไปเองแต่ในสงครามคราวนี้ไทยได้ใช้ยุทธวิธีใหม่คือไม่ใช้
ตัวพระนครตั้งรับแต่ยกทัพไปออกมาตั้งรับจนถึงชายแดน เรียกว่ากลยุทธปิดตรอกตีพม่า ซึ่งจะได้กล่าวรายละเอียดในบทต่อๆไป หลังจากที่ไทยรบชนะพม่าหลายครั้งหลายครั้งก็คิดจะยกทัพไปตีพม่าบ้าง แต่ก็ไม่สำเร็จได้แต่หัวเมืองลื้อเขิน3 ของพม่ามาเป็นของไทยบ้างเท่านั้น

ในสมัยรัชกาลที่๒พม่าก็ยกทัพมาตีไทยอีกแต่มีเหตุขัดข้อง เลยเพียงแค่ปล้นหัวเมืองฝ่ายใต้พอทัพหลวงยกไปปราบก็พ่ายแพ้ไป ในรัชกาลที่๓อังกฤษชวนไทยไปตีพม่า ไทยได้รบกับพม่าบ้างประปราย แต่ไม่ได้ช่วยอังกฤษรบอย่างจริงจัง เพียงแต่ตั้งทัพคอยอยู่เท่านั้นเนื่องด้วยมีการขัดกันด้านผลประโยชน์ไม่ลงตัว ในรัชกาลที่๔ไทยไปตีเมืองเชียงตุง เนื่องด้วยพม่ามักใช้เชียงตุงเป็นฐานมาตีหัวเมืองเหนือของไทยเสมอ ฝ่ายไทยจึงใคร่อยากได้เชียงตุงมาเป็นของไทยเพื่อเป็นการตัดทางพม่า แต่กระทำการไม่สำเร็จเพราะไม่ชำนาญภูมิประเทศ และเหตุการณ์ครั้งนี้ก็เป็นการรบครั้งสุดท้ายกับพม่าเพราะหลังจากนี้อังกฤษได้ครอบคร
องหัวเมืองมอญของพม่าทั้งหมด ต่อมาพระเจ้ามินดงพยายามจะทำสัมพันธไมตรีกับไทยแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ห
ัวไม่ทรงรับ

ในสมัยรัชกาลที่๕พวกพม่าที่อพยพมาอยู่เมืองเชียงแสนเกิดกระด้างกระเดื่อง ร.๕จึงโปรดเกล้าฯให้กองทัพเจ้านายในมณฑลพายัพยกขึ้นไปขับไล่พม่า พวกพม่าจึงหนีกลับเมืองพม่ากันหมด1การรบครั้งนี้เป็นเพียงการปราบปรามพวกพม่าที่อพยพ
มาเชียงแสนจำนวนพันเศษเท่านั้นไม่นับว่าเป็นการทำสงครามกับประเทศพม่า อีกอย่างหนึ่งคือพม่าในขณะนั้นเสียเอกราชแก่อังกฤษแล้ว ไม่มีกำลังจะมารบกับไทยได้อีกต่อไป


สาเหตุของการเกิดสงครามเก้าทัพ

ก่อนจะเกิดสงครามเก้าทัพในเมืองพม่าเกิดเหตุการณ์วุ่นวายตามที่พงศาวดารพม่าบันทึกไว
้ ดังนี้

เมื่อพระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์ มังลอกราชบุตรองค์โตขึ้นครองราชต่อมา พระเจ้ามังลอกมีราชบุตรกับมเหสีองค์หนึ่งชื่อมังหม่อง เมื่อพระเจ้ามังลอกสิ้นพระชนม์ราชสมบัติตกแก่มังระอนุชา เมื่อมังหม่องโตขึ้นมังระมีดำริจะฆ่ามังหม่องแต่นางราชชนนีผู้ย่าขอชีวิตไว้ให้บวชเร

ียนตลอดชีวิตมิให้ยุ่งเกี่ยวราชการ

พระเจ้ามังระมีราชบุตรสององค์ องค์โตชื่อจิงกูจาเป็นลูกมเหสี องค์รองชื่อแชลงจาเป็นลูกพระสนม จิงกูจามีประพฤติเสเพล พระเจ้ามังระมิใคร่เต็มใจให้เป็นรัชทายาท ครั้น พ.ศ.๒๓๑๙
พระเจ้ามังระประชวนหนักใกล้สินพระชนม์จึงมอบราชสมบัติให้แก่จิงกูจา ด้วยเกรงว่ามอบให้ผู้อื่นจะเกิดจราจล พระเจ้าจิงกูจาได้ราชสมบัติแล้วก็เกรงคนคิดร้าย จึงจับแชลงจาสำเร็จโทษ เรียกอะแซหวุ่นกี้กลับจากเมืองพิษณุโลกแล้วถอดบรรดาศักดิ์ แล้วจับพระเจ้าอาองค์ใหญ่ชื่อ มังโปตะแคงอะเมียงสำเร็จโทษอีกองค์หนึ่ง และให้เนรเทศพระเจ้าอาอีกสามองค์ คือมังเวงตะแคงปดุง มังจูตะแคงพุกาม และมังโพเชียงตะแคงแปงตะแล ไปจากเมืองอังวะเอาตัวไปคุมไว้ในหัวเมือง

พระเจ้าจิงกูจามีมเหสีแต่ไม่มีราชบุตร จากนั้นได้ธิดาอำมาตย์อะตวนหวุ่นมาเป็นสนม แต่แรกมีความเสน่ห์หานางนั้นมากถึงกับยกให้เป็นสนมเอก บิดาของนางก็ยกย่องให้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ วันหนึ่งพระเจ้าจิงกูจาเมาและเกิดพิโรธให้เอานางสนมเอกไปถ่วงน้ำเสีย แล้วถอดอะตวนหวุ่นบิดาลงมาเป็นไพร่ อะตวนหวุ่นโกรธแค้นจึงไปคบคิดกับตะแคงปดุงพระเจ้าอาปรึกษาจะกำจัดพระเจ้าจิงกูจาเสีย
ตะแคงปดุงกลัวอนุชาสององค์จะไม่ให้ราชสมบัติจึงอุดหนุนมังหม่องบุตรมเหสีพระเจ้ามังล
อกซึ่งบวชเป็นสามเณรให้ชิงราชสมบัติ

ปี พ.ศ.๒๓๒๔ พระเจ้าจิงกูจาเสด็จออกประพาสหัวเมือง มังหม่องจึงสึกออกมาคุมพรรคพวกเข้าปล้นเมืองอังวะได้โดยง่าย มังหม่องจะถวายราชสมบัติกับพระเจ้าอาทั้งสาม แต่พระเจ้าอาไม่ยอมรับ มังหม่องจึงขึ้นว่าราชการ แต่มังหม่องไม่สามารถปกครองแผ่นดินได้ พวกข้าราชการจึงเชิญตะแคงปดุงขึ้นครองราชสมบัติ มังหม่องนั่งเมืองอยู่๑๑วันก็ถูกสำเร็จโทษ

ฝ่ายพระเจ้าจิงกูจาซึ่งออกประพาสหัวเมืองเมื่อทราบข่าวว่ามังหม่องชิงเมืองอังวะ พวกไพร่พลที่ติดตามไปด้วยก็หลบหนีไปเป็นอันมาก เหลือแต่ขุนนางคนสนิทอยู่ไม่กี่คน แต่แรกพระเจ้าจิงกูจาคิดจะไปอาศัยอยู่กระแซ แต่เป็นห่วงราชชนนีจึงลอบลงมาใกล้กรุงอังวะแล้วมีหนังสือกราบทูลว่าจะไปอยู่เมืองกระ

แซ นางราชชนนีห้ามปรามว่า ”เกิดเป็นกษัตริย์ ถึงตายก็ชอบที่จะตายอยู่ในเมืองของตัว ที่จะหนีไปพึ่งเมืองน้อยอันเคยเป็นข้าหาควรไม่” พระเจ้าจิงกูจาก็เกิดมานะ พาพวกบริวารเข้าไปในเมืองอังวะ ทำเหมือนเสด็จไปประพาสแล้วเสด็จกลับคืนพระนคร พวกไพร่พลที่รักษาประตูเห็นเป็นพระเจ้าจิงกูจาก็เกรงกลัวไม่กล้าต่อสู้ พระเจ้าจิงกูจาเสด็จเข้าไปถึงในเมืองพออะตวนหวุ่นทราบความจึงคุมพลมาล้อมจับพระเจ้าจ
ิงกูจา อะตวนหวุ่นฟันพระเจ้าจิงกูจาสิ้นพระชนม์ พระเจ้าปดุงทรงทราบความว่าอะตวนหวุ่นฆ่าพระเจ้าจิงกูจาก็ทรงพิโรธว่าควรจับมาถวายโดย
ละม่อม ไม่ควรฆ่าฟันเจ้านายโดยพละการ ให้เอาตัวอะตวนหวุ่นไปประหารชีวิตเสีย

ขณะเมื่อเกิดแย่งชิงราชสมบัติกันวุ่นวายในเมืองพม่าครั้งนั้น พวกหัวเมืองต่างๆก็พากันกระด้างกระเดื่อง บางเมืองถึงขั้นยกทัพบุกอังวะเลยก็มี พระเจ้าปดุงจึงต้องทำสงครามปราบกบฎอยู่หลายปี แต่พระเจ้าปดุงนั้นทรงเชี่ยวชาญการศึกมากกว่ากษัตริย์องค์อื่นในราชวงศ์เดียวกันพระอ
งค์ทรงสามารถปราบได้ทั้งพวกรามัญและไทยใหญ่ จากนั้นจึงทรงสร้างเมืองอมระบุระขึ้นเป็นราชธานีใหม่ แล้วยกทัพไปตีประเทศมณีบุระทางฝ่ายเหนือ และยะไข่ทางตะวันตก ได้ทั้งสองประเทศ แผ่ขยายอาณาเขตได้มากกว่ารัชกาลอื่นๆที่ผ่านมา

พระเจ้าปดุงครองราชย์ได้สามปีก็คิดจะยกทัพมาตีประเทศไทยให้ปรากฏเกียรติยศดังเช่นพระ
เจ้ากรุงหงสาวดีบุเรงนอง ประกอบกับรบชนะมาทุกหัวเมืองทำให้ทหารมีความฮึกเหิมลำพองใจและได้รี้พลเพิ่มเติมจากห
ัวเมืองต่างๆที่ตีได้ จึงหมายยกทัพใหญ่มาปราบให้ราบคาบเหมือนเมื่อคราวกรุงศรีอยุธยา


การจัดทัพของทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายพม่า

การจัดกำลังทัพของฝ่ายพม่า

ครั้นถึงวันพฤหัสบดี เดือนธันวาคม แรม ๔ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงสั่งเคลื่อนพลออกจากเมาะตะมะ ซึ่งได้ยกทัพมาเป็นห้าทางตามที่พงศาวดารพม่าระบุคือ
ทางเส้นมะริด กำลังพล ๑๑,๐๐๐
ทางเส้นทวาย กำลังพล ๑๑,๐๐๐
ทางเส้นเชียงใหม่ กำลังพล ๓๓,๐๐๐
ทางเส้นระแหง กำลังพล ๕,๐๐๐
ทางด่านเจดีย์สามองค์พม่าเรียกทางเส้นไทรโยค มีกำลังรวม ๘๗,๙๐๐ แบ่งเป็นทัพช้าง ๕๐๐ ทัพม้า ๘,๔๐๐ และพลเดินเท้า ๗๙,๐๐๐ รวม ๑๔๗,๙๐๐๐

ส่วนพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่๑ฉบับเจ้าพระยาทิพพากรวงศ์ระบุไว้ว่าทัพพม่ายกมา ๑๐๓,๐๐๐ ส่วนพงศาวดารไทยรบพม่าของกรมพระยาดำรงราชานุภาพระบุไว้ว่าพม่ายกทัพมา ๑๔๔,๐๐๐ จัดกระบวนเป็นเก้าทัพคือ

ทัพที่๑ เมื่อแรกให้แมงยีแมงข่องกยอเป็นแม่ทัพแต่แมงยีแมงข่องกยอไม่อาจจัดหาเสบียงพอแกกองทั

พเมื่อทัพหลวงยกมาพระเจ้าปดุงจึงประหารเสียแล้วจึงยกเกงหวุ่นแมงยีมหาสีหะอัครมหาเสน
าบดีเป็นแม่ทัพแทน
นายกองทัพย่อยมี๒ทัพได้แก่ ๑.นัดมีแลง,แปดตองจา,นัดจักกีโบ,ตองพะยุงโบ,ปะเลิงโบคุมพลตีเมืองชุมพร เมืองไชยา ๒.ยี่วุ่น,บาวาเชียง,แวงยิงเดชะ,บอกินยอตีเมืองถลาง รวมจำนวนคนทั้งหมด ๑๐,๐๐๐ ตีหัวเมืองฝ่ายใต้

ทัพที่ ๒ อนอกแฝกคิดหวุ่นเป็นแม่ทัพถือพล๑๐,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองทวาย เดินทัพเข้าด่านบ้องตี้ตีราชบุรี เพชรบุรีไปบรรจบกับทัพที่หนึ่งที่ชุมพร นายทัพย่อยมี๓ทัพได้แก่ ๑.ทวายวุ่น,จิกแก,มนีจอข้อง,สีหะแยจอข้อง,เบยะโบยกทัพไปทางด่านเจ้าข้าว ๒.จิกสิบโบ,ตะเรียงยามะซู,มนีสินตะ,สุรินทะจอข้อง ๓.อนอกแฝกคิดหวุ่น

ทัพที่ ๓ หวุ่นคยีสะโดะศิริมหาอุจจะนาเจ้าเมืองตองอูเป็นแม่ทัพถือพลสามหมื่นยกมาทางเชียงแสนม
าตีเมืองลำปาง สวรรคโลก สุโขทัย พิษณุโลกลงมาบรรจบกับทัพใหญ่ที่กรุงเทพนายทัพย่อยมี เนมโยสีหซุย,ปันยีตะจองโบ,ลุยลั่นจองโบ,ปลันโบ,มัดชุนรันโบ,มิกอุโบ,แยจอนระทา,สาระจ
อซู

ทัพที่ ๔ เมียนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่องเป็นแม่ทัพถือพล ๑๑,๐๐๐ ยกมาตั้งทัพที่เมาะตะมะเป็นทัพหน้าที่จะเข้าสู่ด่านเจดีย์สามองค์ นายทัพย่อยประกอบด้วยกลาวุ่น,บิลุ่งยิง,สะเลจอ,ปิญาอู อากาจอแทง,ลันชังโบ,อะคุงวุ่น,บันยีตะจอง,ละไมวุ่น,ซุยตองอากา

ทัพที่ ๕ เมียนเมหวุ่นเป็นแม่ทัพถือพล ๕,๐๐๐ มาตั้งที่เมาะตะมะเป็นทัพหนุนที่ ๔ นายทัพมี ยอยแหลกยาเยข้อง,จอกาโบ,จอกแยกาโบ,ตะเรียงบันยี

ทัพที่ ๖ ตะแคงกามะราชบุตรที่๒(ศิริธรรมราชา) เป็นแม่ทัพถือพล ๑๒,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะเป็นทัพหน้าของทัพหลวงที่จะยกเข้ากรุงเทพทางด่านเจดีย์สามองค
์ มีจานจุวุ่น,จิตกองสิริย,แยเลวุ่น,อะตอนวุ่นเป็นนายทัพ

ทัพที่ ๗ ตะแคงจักกุราชบุตรที่๓(สะโดะมันซอ)เป็นแม่ทัพถือพล ๑๑,๐๐๐ มาตั้งที่เมาะตะมะเป็นทัพหน้าที่สองของทัพหลวง นายทัพได้แก่ เมมราโบ,อะ กีตอ,อากาปันยี,มะโยลักวุน

ทัพที่ ๘ พระเจ้าปดุงเป็นจอมพลนำทัพหลวง ๕๐,๐๐๐ มาตั้งที่เมาะตะมะ แบ่งเป็น๕ทัพ

๑.พระเจ้าปดุงทัพกลาง ๒.อะแซวังมู,จาวาโบ,ยะไข่โบ,ปะกันวุ่น,ลอกาซุนถ่อวุ่น,เมจุนวุ่นเป็นกองหน้า ๓.มะยอกวังมู,อำมะลอกวุ่น,ตวนแซงวุ่น,แลจาลอพวา,ยักจอกโบ,งาจูวุ่นเป็นปีกขวา ๔.ตองแมงวู,แลกรุยกีมู,แลแซวุ่น,ยอนจูวุ่น,เยกีวา,สิบจอพวาเป็นปีกซ้าย ๕.อะนอกวังมู,ระวาลักวุ่น,ออกกะมาวุ่น,โมกองจอพวา,โมเยียงจอพวา,โมมิกจอพวา ยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์

ทัพที่ ๙ จอข่องนรทาเป็นแม่ทัพ(พงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าซุยจองเวระจอแทงเป็นแม่ทัพ
) ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา มาตีเมืองตาก เมืองกำแพงเพชรลงมาบรรจบทัพหลวงที่กรุงเทพ แบ่งเป็นสองทัพคือ ๑.ทัพหน้ามีซุยจองเวระจอแทง,ซุยจองนรทา,ซุยจองสิริยะจอจะวา ๒.ทัพหลังมีจอข่องนรทา1

ทัพพม่าทั้งเก้านี้มีแผนที่จะตีหัวเมืองต่างๆของไทยทั้งทางทิศเหนือ ทิศตะวันตกและทิศใต้โดยจะมาบรรจบกัน๕ทัพที่กรุงเทพมหานคร หมายจะปิดล้อมจากสามทิศและเข้าตีให้ราบพนาสูรในคราวเดียวเหมือนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุ
ธยา ส่วนที่เหลืออีกสี่ทัพแบ่งตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ๒ทัพและหัวเมืองฝ่ายใต้สองทัพ


การจัดกำลังทัพฝ่ายไทย

ฝ่ายกรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ เดือน๑๒ แรม๙ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๓๒๘ จ.ศ.๑๑๔๗ พวกกองมอญไปลาดตระเวนสืบทราบมาว่า พม่ายกทัพมาประชุมพลอยู่ที่เมืองสมิ(เมาะตะมะ) เตรียมจะยกมาตีพระนคร1 จากนั้นหัวเมือเหนือใต้ทั้งปวงก็แจ้งข่าวพม่ามา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงเรียกประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางน้อยใหญ่เรื่องการเตรียมรับศึกพม่า แล้วจึงจัดแบ่งเป็นสี่ทัพออกรับศึกคือ

ทัพที่ ๑ ให้พระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์เป็นแม่ทัพ พร้อมด้วยกรมหลวงนรินทร์รณเรศ เจ้าพระยามหาเสนา พระยาพระคลัง พระยาอุทัยธรรม และเท้าพระยาข้าราชการในกรุงและหัวเมือง ถือพล ๑๕,๐๐๐ ไปตั้งขัดตาทัพพม่าที่นครสวรรค์ป้องกันพม่ายกทัพมาทางเหนือขณะที่ทัพใหญ่รบอยู่ที่ลา
ดหญ้า

ทัพที่ ๒ เป็นทัพใหญ่นำทัพโดยสมเด็จพระอนุชาธิราชสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยกพล ๓๐,๐๐๐ ไปตั้งรับทัพพระเจ้าปดุงที่เมืองกาญจนบุรี

ทัพที่ ๓ นำโดยเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์(บุญรอด)และพระยายมราชนำพล ๕,๐๐๐ ไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี คอยรักษาเส้นทางลำเลียงเสบียงของทัพหลวง และคอยป้องกันพม่าที่จะยกมาจากทางใต้

ทัพที่ ๔ เป็นทัพหลวงกำลังพล ๒๐,๐๐๐ ตั้งมั่นอยู่ที่กรุงเทพ เป็นกองหนุนถ้าทัพใดรับศึกไม่ไหวก็จะยกไปช่วย2 และคอยเป็นกำลังรักษาพระนคร

ทัพทั้งสี่นี้ยกออกไปตั้งรับพม่าตามจุดยุทธศาสร์ต่างๆที่พม่าจะยกเข้ามา เพื่อสกัดกั้นทัพพม่ามิให้ยกมาได้ถึงตัวพระนคร

การรบในสมรภูมิต่างๆ

สมรภูมิลาดหญ้าเมืองกาญจนบุรี

เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เดินทัพมาถึงตำบลลาดหญ้าแล้ว ก็ทรงมีพระราชบัณฑูรดำรัสให้หยุดทัพหลวงที่ทุ่งลาดหญ้าเชิงเขาบรรทัด แล้วให้กองหน้าตั้งค่ายขึ้นหลายค่าย ชักปีกกาถึงกันทุกๆค่ายเพื่อสกัดทางพม่ามิให้เข้ามาลอบตีด้านหลังได้ และค่ายหลวงตั้งห่างกันลงมา๕เส้น แล้วให้ขุดสนามเพลาะปักขวากหนามป้องกันข้าศึก จากนั้นให้พระยามหาโยธาคุมกองมอญ ๓,๐๐๐ ยกไปขัดตาทัพอยู่ที่ด่านกรามช้าง

ฝ่ายกองทัพพระเจ้าปดุงอังวะทัพหน้ายกมาถึงด่านกรามช้างก็ตีกองมอญของของพระยามหาโยธา

แตกพ่ายหนีกลับมา แล้วจึงเดินทัพมายังลาดหญ้า ทัพหน้าที่สองก็ยกมาหนุน เมียนหวุ่นและเมียนแมวุ่นแม่ทัพก็ให้ตั้งค่ายเรียงรายกันหลายค่ายชักปีกกาถึงกัน ทัพตะแคงกามะยกมาตั้งที่ท่าดินแดง ทัพตะแคงจักกุยกมาตั้งที่สามสบ ส่วนทัพหลวงพระเจ้าอังวะตั้งค่ายอยู่แนวต่อชายแดนด่านเจดีย์สามองค์คอยฟังข้อราชการจ

ากทัพหน้า

กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงให้นายทัพนายกองทังปวงยกพลออกตีพม่า พวกพม่าก็ออกรบอย่างแข็งขัน ทหารไทยและทหารพม่าต่างยิงปืนตอบโต้กันทั้งสองฝ่าย บาดเจ็บล้มตายกันทั้งคู่ ไทยจะตีเอาค่ายพม่าไม่ได้ก็ถอยกลับเข้าค่าย กรมพระราชวังบวรฯจึงให้ทำครกกับสากใหญ่ไว้ในค่าย ใครถอยหนีพม่าจะเอาตัวลงครกโขลกเสีย

จากนั้นทรงให้พระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ พระยาเพชรบุรี เป็นนายทัพกองโจร พระยารามกำแหง พระยาเสนานนท์ เป็นปลัดทัพ นำพล๕๐๐ยกลัดป่าไปคอยตีกองลำเลียงพม่าที่ต.พุไคร้ช่องแคบอย่าให้พม่าส่งลำเลียงกันได
้ พระยาทั้งสามทำการได้สักหน่อยก็คิดย่อท้อหนีไปตั้งทัพอยู่ที่อื่น เลยถูกลงพระราชอาญาประหารเสียทั้งสามคน แล้วให้เสียบประจานที่หน้าค่าย กรมพระราชวังบวรฯจึงตั้งพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าขุนเณรเป็นนายทัพกองโจร คุมทหาร๑,๐๐๐คนไปรวมกับของเดิมอีก๕๐๐คนเป็น๑,๕๐๐คน ไปคอยตีสกัดเสบียงพม่าที่พุไคร้เหมือนเดิม คราวนี้ทำการสำเร็จตลอด ได้เสบียงและช้างม้ามาอยู่เนืองๆ

ทางฝ่ายค่ายพม่าตั้งหอรบขึ้นหลายแห่งหน้าค่ายเอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งยิงค่ายไทย ข้างฝ่ายไทย
จึงเอาปืนลูกไม้ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีเข็นออกไปตั้งหน้าค่ายยิงหอรบพม่าหักพังลง ทหารพม่าก็ถูกปืนลูกไม้ล้มตายเป็นอันมาก ไม่อาจออกนอกค่ายได้ เสบียงอาหารก็ขัดสน กรมพระราชวังบวรจึงให้แต่งหนังสือบอกข้อราชการสงครามมาถวายยังกรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงทราบถึงข้อราชการก็ทรงพระวิตกว่าจะเอาชนะข้าศึกไม่ได้โดยเร็ว ครั้นถึงวันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ จึงทรงเสด็จออกจากกรุงเทพมหานครพร้อมทัพหลวง ๒๐,๐๐๐ ไปทางเรือถึง ณ ค่ายลาดหญ้าเมืองกาญจนบุรี กรมพระราชวังบวรฯกราบทูลว่าทัพพม่าใกล้แตกแล้วขอทรงเสด็จกลับพระนครเถิด ค่ำวันนั้นจึงเสด็จกลับพระนคร

ทางข้างพม่าได้ยินเสียงฆ้องกลองช้างม้าดังสนั่นจึงขึ้นดูบนหอรบ เห็นทัพหลวงมาหนุนก็เกิดครั่นคร้ามทัพไทย แม่ทัพพม่าทั้งสองนายคือเมียนหวุ่นกับเมียนเมวุ่น จึงให้เก็บลูกปืนไม้ที่ยิงตกมาในค่ายไปถวายพระเจ้าปดุงอังวะ และกราบทูลว่า ”ไทยเอาไม้ทำเป็นลูกปืนได้ ต่อไม้หมดทั้งป่าจึงจะสิ้นกระสุน แล้วเมื่อใดไม้ในป่าจึงจะสิ้นจะตีให้ได้เมืองไทยนั้นเหลือกำลังทั้งกองโจรไทยก็มาซุ่

มสะกัดตีตัดลำเลียงเสบียงอาหารจะส่งถึงกันก็ขัดสน รี้พลก็อดอยากถดถอยกำลังลงทุกวันจึงขอพระราชทานล่าทัพ” พระเจัาปดุงจึงตอบกลับไปว่าให้รอดูท่าทีก่อนถ้าเห็นว่ารี้พลอิดโรยนักเห็นจะทำการไม่

สำเร็จค่อยล่าทัพแต่อย่าให้เสียทีแก่ข้าศึก แม่ทัพพม่าทราบดังนั้นจึงตั้งรับอยู่แต่ในค่ายไม่ออกรบ

กรมพระราชวังบวรฯเกิดคิดกลศึกทำลายขวัญพม่า จึงให้ไพร่พลยกออกจากค่ายในเวลากลางคืนไปยังค่ายเมืองกาญจนบุรี พอเช้าก็ยกกลับลงมายังค่ายหลวง ทั้งนี้เพื่อลวงพม่าว่ามีทัพหนุนยกมามาก และทำเช่นนี้ทุกวัน

ฝ่ายพม่าขึ้นดูบนหอรบเห็นดังนั้นก็หมายว่าทัพไทยยกมาเพิ่มทุกวันก็เกิดครั่นคร้ามเกร

งกลัว
คิดท้อถอย อีกทั้งยังเกิดโรคระบาดในกองทัพพม่าเจ็บป่วยล้มตายกันเป็นอันมาก และขาดเสบียงอาหารด้วยทำให้กำลังรบถดถอยลงทุกด้าน

กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงสังเกตเห็นว่า ข้าศึกอ่อนกำลังลงมากแล้ว ครั้นถึง วันศุกร์ เดือน๓ แรม๔ค่ำ จึงให้แม่ทัพนายกองทั้งปวง ยกพลบุกค่ายพม่าทุกทัพทุกกอง เอาปืนใหญ่ลากล้อออกยิงค่ายพม่าทุกค่าย ค่ายและหอรบพม่าพังทลายลงหลายแห่ง พม่ายิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบอยู่จนค่ำ คั้นเวลาประมาณทุ่มเศษแม่ทัพพม่าเห็นทีจะต้านไม่อยู่ จึงทิ้งค่ายทัพพม่าจึงแตกออกจากค่ายไป ทหารไทยเคลื่อนพลเข้าค่ายพม่าได้ทั้งสิ้น จับเชลยและเครื่องศาสตราวุธได้เป็นอันมาก กรมพระราชวังบวรฯจึงรับสั่งให้ไล่ตามตีพม่าไปจนถึงชายแดน จับพม่าซึ่งหนีไปไม่ทันและได้ช้างศาสตราวุธมาถวายเป็นอันมาก ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรซึ่งรับหน้าที่กองโจรเมื่อทราบข่าวว่าพม่าแตกทัพแล้วก็ยกมาตาม

ตีจับได้ทังคนอาวุธและช้าม้าจำนวนมากส่งมาถวายยังค่ายหลวง แล้วจึงยกไปจนถึงท่าดินแดงและสามสบ

ครั้นพระเจ้าปดุงทรงทราบความว่ากองทัพหน้าแตกเสียแล้ว ก็เห็นว่าจะทำการต่อไปคงไม่
สำเร็จ ด้วยกองทัพที่มากับพระเจ้าปดุงทางด่านเจดีย์สามองค์เกิดขัดสนเสบียงอาหาร และผู้คนเจ็บไข้ล้มตายลงทุกๆทัพจึงสั่งให้เลิกทัพกลับไปเมืองเมาะตะมะ

ฝ่ายกองทัพพม่าที่นำด้วยอนอกแฝกคิดหวุ่น ยกมาตั้งที่ทวายนั้น เมื่อรวบรวมรี้พลได้แล้วจึงจัดพระยาทวายเป็นกองทัพหน้าถือพล๓,๐๐๐ อนอกแฝกคิดหวุ่นเองเป็นทัพกลางถือพล๔,๐๐๐ ให้จิกสิบโบเป็นกองหลัง ถือพล๓,๐๐๐ ยกเข้ามาทางด่านบ้องตี้ แต่ทางที่มาเป็นภูเขากันดารกว่าทางด่านเจดีย์สามองค์ ช้างม้าพาหนะต่างๆผ่านมายากจึงเข้ามาช้าเพราะต้องรั้งรอกันทุกระยะ ในที่สุดกองหน้าของพระยาทวายก็มาตั้งค่ายที่นอกเขางู อนอกแฝกคิดหวุ่นตั้งทัพที่ท้องชาตรี จิกสิบโบทัพหลังตั้งที่ด่านเจ้าเขว้าริมลำน้ำภาชี ไม่รู้ว่าทัพหลวงที่ลาดหญ้าแตกไปแล้ว

แต่เจ้าพระยาธรรมาและพระยายมราชไม่ส่งกองลาดตระเวนไปดูลาดเลาเลยไม่รู้ว่าพม่ามาตั้ง

ทัพอยู่ปลายจมูก จนกรมพระราชวังบวรฯรบชนะที่ลาดหญ้าแล้ว มีรับสั่งให้พระยากลาโหมราชเสนากับพระยาจ่าแสนยากรคุมกองทัพกลับลงมาทางบก มาทรงทราบว่าพม่าตั้งค่ายอยู่นอกเขางูจึงยกกองทัพเข้าตีค่ายพม่า รบพุ่งกันถึงตะลุมบอน พม่าทานกำลังไทยไม่ได้ก็แตกหนีทั้งกองหน้าและกองหลัง ไทยไล่ตามไปจนปะทะกับทัพหลังพม่า ทัพหลังพม่าก็พลอยแตกไปด้วย กองทัพไทยจับช้างม้าเชลยและได้ศาสตราวุธมากมาย พวกพม่าที่เหลือก็หนีกลับไปยังเมืองทวาย 2 พอทัพหลวงเสด็จมาถึงราชบุรีได้ทรงทราบความก็ทรงพิโรธให้ลงพระราชอาญาจองจำเจ้าพระยาธ

รรรมาธิกรณ์ พระยายมราชและแม่ทัพนายกองทั้งปวงไว้แล้วแจ้งไปยังกรุงเทพฯ พระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ลงทัณฑ์ประจานตามอัยการศึกแล้วถอดจากถานันดรศักดิ์ แล้วจึงเลิกทัพกลับพระนคร



การรบที่ปากน้ำพิงเมืองเหนือ

ฝ่ายกองทัพสะโดะมหาสิริยะอุจนาเจ้าเมืองตองอู เมื่อมาประชุมพลที่เมืองเชียงแสนแล้วจึงให้เนมะโยสีหะปติคุมพล ๕,๐๐๐ ยกลงมาทางแจ้ห่มเพื่อตีสวรรคโลก สุโขทัย พิไชย และพิษณุโลก แล้วให้โปมะยุง่วนคุมพล ๓,๐๐๐ เป็นกองหน้าตนเองเป็นกองหลวง ถือพล๑๕,๐๐๐ยกลงมาทางเมืองเชียงใหม่

เวลานั้นเชียงใหม่เป็นเมืองร้างเพราะพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองอพยพผู้คนหนีพม่ามา

อยู่ที่สวรรคโลกตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี เมื่อพระยาวิเชียรปราการถึงแก่กรรม ชาวเมืองก็ยกกลับขึ้นไปอยู่ลำปาง ทัพพม่าจึงยกผ่านเชียงใหม่มาตีนครลำปางเลย พระยากาวิละเจ้าเมืองจึงเกณฑ์คนขึ้นเชิงเทินป้องกันเมืองอย่างเหนียวแน่น พม่าจึงไม่สามารถตีเอาเมืองได้ ก็ตั้งทัพล้อมเมืองไว้ ส่วนทางสวรรคโลก สุโขทัย และพิษณุโลก บ้านเมืองบอบช้ำแต่ครั้งศึกอะแซหวุ่นกี้ มีผู้คนอยู่น้อยจึงพาครอบครัวหนีเข้าป่า ทัพพม่าที่ยกมาจึงได้เมืองทั้งหมดนั้น แล้วยกมาตั้งค่ายอยู่บ้านระแหงแขวงเมืองตาก เจ้าเมืองตากยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี พม่าจึงส่งตัวเจ้าเมืองตากกับครอบครัวพลเมืองไปยังเมืองพม่า

ฝ่ายไทยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีท้องตราสารไปถึงกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ว่าทา

งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลรบได้ชัยชนะแล้ว ถ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ยังทำการไม่สำเร็จพระเศียรก็ไม่ได้อยู่คงกายเป็นแน่แท้ กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ทราบดังนั้นก็ทรงเกรงพระราชอาญาจึงมีรับสั่งให้กองทัพเจ้าพระ

ยามหาเสนาซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่พิจิตร ให้ยกขึ้นไปตีค่ายพม่าที่ปากน้ำพิง เจ้าพระยามหาเสนาจึงให้แต่งกองทัพพระยาสระบุรีเป็นกองหน้ายกนำไปก่อน แล้วเจ้าพระยามหาเสนาจึงยกตามไป และทัพกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กับกรมหลวงนรินทร์รณเรศก็ยกทัพตามไปทีหลัง

กองทัพพระยาสระบุรียกขึ้นไปเวลาเช้าตรู่เห็นฝูงนกกระทุงข้ามน้ำมา พระยาสระบุรีคิดว่าเป็นพม่าก็ขลาดกลัวสั่งถอยทัพ กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ทรงทราบว่าพระยาสระบุรีหนีนกกระทุงจึงให้เอาตัวไปประหารชีวิต

เสีย เอาศีรษะเสียบไว้ที่หาดทราย

ฝ่ายทัพหลวงก็เสด็จหนุนขึ้นไป ดำรัสให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ยกทัพไปบรรจบกับพระยาพระคลังและพระยาอุทัยธรรมซึ่งตั้งค่

ายอยู่ชัยนาทให้ยกไปทางปากน้ำโพตีทัพพม่าที่บ้านระแหงให้แตกโดยเร็ว ส่วนทัพหลวงตั้งค่ายอยู่ ณ บางข้าวตอกให้เรือตำรวจขึ้นไปเร่ทัพกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ให้ตีค่ายพม่าที่ปากพิงให

้แตกในวันเดียว ถ้าช้าไปจะเอาโทษถึงประหาร กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์กับเจ้าพระยามหาเสนาแจ้งดังนั้นก็เตรียมจัดทัพ พอถึงวันเสาร์ เดือน๔ แรม๔ค่ำปีมะเส็ง

พ.ศ.๒๓๒๘ เวลาเช้าก็ยกพลบุกตีพม่าพร้อมกันทุกค่าย รบกันแต่เช้าจดค่ำ พม่าต้านทัพไทยไม่ อยู่ก็แตกหนีออกจากค่าย กองทัพไทยก็ไล่ตาม พม่าต้องลงน้ำข้ามแม่น้ำหนีไปฝั่งตะวันตก แต่พม่าจมน้ำตายทั้งคนทั้งม้าประมาณ๘๐๐คนเศษ จนศพลอยเต็มแม่น้ำทัพไทยจับเป็นได้ก็มาก

กรมหลวงอนุรักษ์เวศร์กับเจ้าพระยามหาเสนาจึงให้ม้าใช้ไปกราบทูล ณ ค่ายหลวงบางข้าวตอกว่าได้ตีทัพพม่าแตกไปแล้ว

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็ทรงโปรดให้เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา ยกทัพออกไปสมทบกับทัพเจ้าพระยามหาเสนาเพื่อไปช่วยเมืองลำปางที่โดนพม่าล้อมอยู่ แล้วจึงเรียกหาตัวกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมหลวงนรินทร์รณเรศ มาเข้าเฝ้า จากนั้นจึงเลิกทัพหลวงมาประทัพอยู่ ณ ค่ายนครสวรรค์

ฝ่ายกองทัพพม่าที่นำโดยจอข่องนรทาทราบว่ากองทัพที่ปากน้ำพิงแตกไปแล้วและทัพไทยกำลัง

ยกขึ้นมา ก็รีบหนีกลับไปทางด่านแม่ละเมา พระยาคลัง,พระยาอุทัยธรรมสืบรู้ว่าพม่าถอยทัพไปแล้วจึงมาแจ้งแก่กรมหลวงเทพหริรักษ์ๆ

จึงกราบทูลมายังทัพหลวง พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็ให้เรียกตัวกลับ แล้วเลิกทัพกลับพระนคร

ส่วนเนมโยสีหซุยที่แตกทัพมาจากปากน้ำพิงก็เดินทางมาถึงค่ายพม่าที่เมืองลำปาง แล้วแจ้งแก่สะโดะมหาสิริยอุจนาแม่ทัพใหญ่ว่า รบแพ้ไทยมาและกองทัพไทยก็ไล่ติดตามมาจวนถึงลำปางแล้ว เมื่อกองทัพกรมหลวงจักรเจษฎาและเจ้าพระยามหาเสนายกมาถึงก็สั่งเข้าตีค่ายพม่าที่ตั้ง

ล้อมเมือง สะโดะมหาสิริยอุจนาแม่ทัพใหญ่กับอาประการะมะนีจึงสั่งพลพม่าออกรบ ฝ่ายพระยากาวิละก็คุมกองทัพตีกระหนาบออกมา รบกันอยู่ครึ่งวันพม่าก็แตกทัพหนีกลับไปอยู่เมืองเชียงแสน เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทราบจากใบบอกแล้วก็ทรงให้เรียกทัพกลับพระน

คร

การศึกที่แหลมมลายูฝ่ายใต้

ฝ่ายกองทัพพม่านำโดยเกงหวุ่นแมงยีมาประชุมพร้อมกันที่เมืองมะริดแล้ว เมื่อถึงเดือนอ้าย ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๓๒๘ เกงหวุ่นแมงยี่จึงให้ยี่วุ่นคุมพล๓,๐๐๐ขึ้นเรือมาตีเมืองถลาง ให้เนมโยคุงนะรัดเป็นทัพหน้าคุมพล๒,๕๐๐ ตัวเกงหวุ่นแมงยี่เองถือพล๔,๕๐๐ ยกหนุนมาสองทัพ รวม๗,๐๐๐ คน ยกมาทางบกจากเมืองมะริด ตีเมืองกระบุรี เมืองระนองแล้วยกเข้ามาทางปากจั่นถึงเมืองชุมพร กรมการเมืองชุมพรมีไพรพลน้อยก็พาครอบครัวหนีเข้าป่า ทัพพม่าก็เผาเมืองเสียแล้วยกทัพหน้าไปตีไชยา กรมการเมืองไชยาทราบว่าชุมพรเสียแก่พม่าแล้วก็อพยพครอบครัวหนีเข้าป่า พม่าก็เผาเมืองไชยาแล้วยกไปตีนครศรีธรรมราช

ฝ่ายเจ้าพระยานครพัฒน์ทราบว่าพม่าได้เมืองชุมพรและไชยาแล้วก็จัดกองพล๑,๐๐๐เศษไปขัดต

าทัพที่ท่าข้ามแม่น้ำหลวงเขตต่อเมืองไชยา พม่ายกไปถึงเห็นไทยตั้งทัพอยู่พม่าจึงเอาชาวไชยาที่จับได้ไปร้องบอกพวกนครศรีธรรมราช

ว่า

“เมืองบางกอกเสียแล้ว พวกเองมาตั้งค่ายสู้รบเห็นจะสู้ได้แล้วหรือ ให้เร่งไปบอกเจ้านายให้มาอ่อนน้อมยอมเข้าแต่โดยดีจึงจะรอดชีวิตแม้นขัดแข็งอยู่จะฆ่า

ให้สิ้นเสียทั้งเมือง แม้แต่ทารกก็มิให้เหลือ”

พวกกองทัพเมืองนครฯนำเอาความไปแจ้งแก่พระยานครฯ พระยานครฯพิจารณาดูก็เห็นสมคำพม่าด้วยตั้งแต่แจ้งข่าวไปทัพหลวงก็ไม่ยกมาช่วย แล้วก็ไม่ทราบข่าวทางพระนครเลยเกรงกรุงจะแตกแล้วจึงอพยพชาวเมืองหนีเข้าป่า ข้ามเขาบรรทัดไปทางตะวันตก พม่ายกเข้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ก็เที่ยวไล่จับและเกลี้ยกล่อมคนที่หนีไม่ทัน กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินได้เป็นอันมาก พวกผู้ชายพม่ามักหาเหตุฆ่าเสีย เหลือไว้แต่เด็กและผู้หญิง แต่ทรัพย์สมบัติที่พม่าได้จากนครศรีธรรมราชนั้นเรือที่บรรทุกไปแตกล่มในทะเลของจมน้ำ

หมดหาได้ถึงเมืองพม่า พม่าได้เมืองนครศรีธรรมราชแล้วก็คิดอ่านจะยกไปตีพัทลุงกับสงขลาต่อไป


ฝ่ายยี่วุ่นแม่ทัพเรือสามารถตีได้เมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งแล้วก็ไปตีเมืองถลาง ยกพลขึ้นบกที่เกาะถลางแล้วเข้าตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้หลายค่าย เมื่อทัพพม่ายกไปถึงนั้นพระยาถลางชิงถึงแก่กรรมเสียก่อนแล้ว ไม่มีเจ้าเมืองคนใหม่ คุณหญิงจันทรภรรยาพระยาถลางเป็นเชื้อสายเจ้าเมืองถลางมาก่อน กับนางมุกน้องสาวจึงคิดอ่านกับกรมการ เกณฑ์ไพร่พลตั้งค่ายใหญ่สองค่ายป้องกันเมืองไว้อย่างสามารถยี่หวุ่นล้อมเมืองไว้ได้เ

ดือนเศษก็เสบียงหมดต้องยกทัพกลับ

ทางเมืองพัทลุงทราบข่าวว่าเมืองไชยา ชุมพร และนครศรีธรรมราชเสียแก่พม่าแล้ว พระยาแก้วโกรพและกรมการเมืองก็หนีเอาตัวรอดเข้าป่าไป ครานั้นมีพระภิกษุองค์หนึ่งเป็นอธิการอยู่ในวัดเมืองพัทลุงชื่อว่าพระมหาช่วย ชาวเมืองนับถือว่าเป็นผู้มีวิชาอาคมมีความรู้ ได้ชักชวนชาวพัทลุงต่อสู้รักษาเมือง ได้ลงยันต์ ตะกรุด ผ้าประเจียดและมงคลแจกจ่ายเป็นอันมาก กรมการและนายบ้านจึงชักชวนหาคนมาขอของขลังพระมหาช่วยแล้วคิดการยกรบพม่า จนหาคนมาได้พันเศษ ตระเตรียมอาวุธแล้วยกพระมหาช่วยขึ้นคานหาม ยกจากเมืองพัทลุงมาตั้งค่ายดักทางพม่าที่จะยกออกจากเมืองนครศรีธรรมราช

ฝ่ายทัพกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เดินทัพมาทางเรือผ่านอ่าวไทยมาถึงชุมพรจึงให้ตั้งค่ายหลวงแล้วดำรัสให้พระยากลาโหมรา

ชเสนา พระยาจ่าแสนยากร ยกทัพหน้าล่วงไปตั้งอยู่เมืองไชยา

ทางทัพพม่ารู้ข่าวทัพกรุงเทพฯมา เกงวุ่นแมงยี่จึงให้เนมโยคุงนะรักเป็นนายทัพหน้ายกมาประจันกับทัพไทย กองทัพพม่าปะทะกับทัพไทยที่ไชยาพม่ายังไม่ทันตั้งค่ายก็ถูกทัพไทยเข้าโอบล้อม ขุดสนามเพลาะรบกันตั้งแต่เช้าจนค่ำ เกิดมีฝนตกห่าใหญ่ปืนเปียกยิงไม่ออกพม่าจึงฝ่าออกไปได้ แต่ตองพยุงโบนายทัพคนหนึ่งของพม่าตายในที่รบ ทหารไทยไล่ตามตีฆ่าฟันและจับเป็นได้เป็นอันมาก เกงวุ่นแมงยี่แม่ทัพทราบว่ากองหน้าแตกแล้วจึงรีบยกทัพกลับเมืองพม่า



ปราบเมืองแขกมลายู

หลังจากเสร็จศึกกับพม่าแล้ว สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงพระราชดำริจะเอาหัวเมืองมลายูที่เคยเป็นของไทยเมื่

อครั้งกรุงศรีอยุธยากลับคืนมา ด้วยเหตุว่าเมื่อเสียกรุงแล้วพวกหัวเมืองมลายูพากันแยกตัวออก เมื่อครั้งกรุงธนบุรีก็มิได้ปราบเสียให้ราบคาบ แต่เมื่อเสร็จศึกคราวนี้แล้วทัพหลวงมาตั้งอยู่ที่สงขลา สะดวกต่อการทำการยิ่งนัก จึงส่งข้าหลวงเชิญรับสั่งไปยังหัวเมืองแขกคือปัตตานีและไทรบุรีให้เข้ามาอ่อนน้อมแต่

โดยดี

สุลต่านเจ้าเมืองปัตตานีทราบความในรับสั่งแล้วก็แข็งขืนไม่ยอมอ่อนน้อม กรมพระราชวังบวรฯจึงดำรัสให้พระยาจ่าแสนยากรและพระยากลาโหมเป็นกองหน้าไปตีเมืองปัตต

านี แล้วจึงเสด็จลงตามไป ทัพไทยรบชนะตีได้เมืองปัตตานีและได้ปืนใหญ่และทรัพย์สมบัติมาเป็นอันมาก ปืนใหญ่นั้นชื่อพระยาตานี กรมพระราชวังบวรทรงให้นำลงสำเภาส่งมากรุงเทพฯ

เมื่อพระยาไทรพระยากลันตันและพระยาตรังกานูทราบว่าปัตตานีรบแพ้ไทยจึงแต่งเครื่องราช

บรรณาการมาถวายขออยู่ภายใต้ขอบขัณฑสีมาด้วย หลังจากเสร็จการใหญ่แล้วกรมราชวังบวรฯก็ทรงแต่งหนังสือบอกข้อราชการไปยังกรุงเทพมหาน

คร

เมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงเสด็จมาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ทรงตั้งกรมการเมืองที่มีความชอบขึ้นเป็นพระยาถลา

งและตั้งคุณหญิงจันทร์ภรรยาพระยาถลางคนเก่าให้เป็นท้าวเทพสตรี ส่วนนางมุกน้องสาวให้เป็นท้าวศรีสุนทร พระราชทานเครื่องยศทองคำอันได้แก่ ถาดทองคำเชี่ยนหมาก จอกหมากทองคำ ตลับทองคำสามใบเถา คนโททองคำและขันน้ำทองคำอีกหนึ่งใบ1 แล้วโปรดเกล้าฯให้ตั้งหลวงสุวรรณคีรีเป็นพระยาสงขลา ยกให้เป็นเมืองตรีขึ้นต่อกรุงเทพมหานคร ส่วนหัวเมืองประเทศราชมลายูยกให้ขึ้นแก่เมืองสงขลาต่อไป ทางพระมหาช่วยที่ที่เมืองพัทลุงนั้นก็ลาสิกขาออกรับราชการได้ที่เป็นพระยาทุกขราษฎร์

ประจำที่กรมการเมืองพัทลุง ส่วนพระยานครพัฒน์และพระยาพัทลุงทรงไม่ได้เอาโทษที่หนีเข้าป่า เพราะเห็นว่าศึกเกินกำลังและไม่ได้ข่าวสารจากกรุงเทพฯ จึงไม่ลงพระราชอาญา

สาเหตุที่ไทยรบชนะพม่า

1การวางแผนที่ผิดพลาดของพม่า

กองทัพพม่าซึ่งนำโดยพระเจ้าปดุงอังวะมีการวางแผนที่ผิดพลาด กล่าวคือ มีการแยกทัพออกไปมากถึงเก้าทัพ ทำให้กองทัพที่มีกำลังถึงแสนสี่หมื่นคนต้องแบ่งกำลังคนออกเป็นทัพเล็กทัพน้อยทำให้ไม

่สามารถใช้กำลังคนจำนวนมากให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ เมื่อทัพไทยที่มีกำลังน้อยกว่าครึ่งหนึ่งคือเพียงแค่เจ็ดหมื่นคน(ทัพที่ลาดหญ้าสามหม

ื่นคน)แต่รวมกำลังเข้าจู่โจมทัพหลวงที่เป็นหัวใจหลักของทัพพม่าทำให้ทัพหลวงส่วนหน้า

พ่ายแพ้ไปในที่สุด

อีกสิ่งหนึ่งคือการแบ่งเป็นหลายทัพและกระจายกันออกไป ในพื้นที่ที่ห่างไกลกัน ทำให้การนัดหมายรวมพลไม่เป็นไปตามที่กำหนด ทัพหลวงที่มาทางด่านเจดีย์สามองค์ซึ่งเป็นทางสะดวกและใกล้แหล่งรวมพลคือเมาะตะมะมาถึ

งก่อน ทัพที่มาทางราชบุรีต้องข้ามเทือกเขาบรรทัดมาซึ่งเป็นทางทุรกันดารนัก ก็มาช้ามากทัพหลวงแตกไปแล้วเพิ่งยกมาถึง ทัพที่ยกมาตีหัวเมืองเหนือและใต้ ถึงแม้จะมาเร็วแต่ไม่ได้รับคำสั่งให้มารวมพลที่กรุงเทพและไม่รู้ข่าวกันและกัน เมื่อทัพกลางแตกไปทัพเหนือและใต้ก็ไม่รู้ ได้แต่ทำหน้าที่ของตนไป เมื่อทัพใหญ่ของไทยยกไปตีก็พ่ายแพ้ไปในที่สุด

ถ้าพม่าจะแก้ไขเรื่องข่าวสารระหว่างกองทัพควรตั้งสถานีนกพิราบสื่อสารไว้ตามแนวเทือก

เขาบรรทัดในฝั่งพม่า จะได้คอยส่งหนังสือบอกข่าวระหว่างทัพให้รู้กันโดยไวโดยกองทัพส่งกลับมาที่สถานีแล้วส

่งข่าวต่อไปยังทัพที่ใกล้ที่สุด หรือถ้าไกลนักก็ให้ส่งต่อไปยังสถานีอื่นต่อกันเป็นทอดๆ หรืออย่างน้อยก็ควรมีม้าเร็วส่งข่าวระหว่างทัพจึงจะเป็นการดี


2กลยุทธอันชาญฉลาดของฝ่ายไทย

ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีทัพไทยจะใช้รูปแบบการรบอยู่สองอย่างคือ
1.ถ้าข้าศึกมีกำลังน้อยจะยกทัพออกไปรับนอกพระนคร
2.ถ้าข้าศึกมีกำลังมากกว่ามาก จะตั้งรับอยู่ในพระนครรอจนฤดูน้ำหลากให้ข้าศึกยกทัพกลับไปเอง

ซึ่งทั้งสองกลยุทธนี้ก็ใช้ได้ผลตลอดจนมาเมื่อคราวก่อนกรุงแตก ทัพพม่าได้เตรียมเสบียงอาหารเอาไว้อย่างดี และมีการต่อแพและสร้างค่ายบนที่ดอนไม่ยกกลับไปเมื่อฤดูน้ำหลาก จึงสามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้
แต่คราวสงครามเก้าทัพนี้ ฝ่ายไทยได้ใช้ยุทธวิธีใหม่คือ การยกทัพใหญ่ออกไปรบกับพม่าถึงชายแดน ทำให้พม่าต้องหยุดอยู่ที่ทุ่งลาดหญ้าหน้าด่านเจดีย์สามองค์ทำให้ทัพอื่นๆที่ตามหลังม

าต้องหยุดตามไปด้วย กลยุทธนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวิเคราะห์ไว้ว่าเปรียบเสมือนการปิดตรอกตีพม

่า1 ซึ่งก็คือทัพไทยไปตั้งค่ายดักพม่าอยู่ทุ่งลาดหญ้าหน้าด่านเจดีย์สามองค์ซึ่งเป็นช่อง

เขา เปรียบเสมือนเป็นตรอก ทัพพม่ายกมาเจอทัพไทยตั้งดักอยู่ ก็ต้องหยุดทัพตั้งค่ายทัพพม่าอื่นๆที่ตามมาข้างหลังก็ต้องหยุดตั้งค่ายเรียงรายกันอย

ู่ในช่องเขาบรรทัด เดินหน้าต่อไปไม่ได้ด้วยทัพไทยขวางอยู่เสียแล้ว อีกทั้งการตั้งค่ายก็ตั้งอยู่ตามเชิงเขาซึ่งเป็นที่ทุรกันดาร การคมนาคมขนส่งไม่สะดวก ทำให้ถูกตีชิงเสบียงระหว่างทางขนส่งได้ง่าย

แผนการนี้มีที่มาจาก หลังจากที่ทางพระนครทราบข่าวการเคลื่อนทัพของพม่าจากใบบอกของหัวเมืองเหนือใต้และกอง

มอญลาดตระเวนแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเรียกประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชบริ

พาร ให้มาหารือเรื่องการรับศึกพม่า แต่การหารือครั้งนี้ไม่มีการบันทึกรายงานการประชุมไว้ทำให้ไม่สามารถทราบรายละเอียด แต่พอจะคาดการจากการกระทำได้ว่าจะยกทัพไปจัดการทัพหลวงของพม่าที่ด่านเจดีย์สามองค์ก

่อน แล้วค่อยไปจัดการกับส่วนอื่นๆทีหลังดังจะเห็นได้จากหลังจากที่ทัพกรมพระราชวังบวรฯเส

ร็จศึกทางด่านเจดีย์สามองค์แล้วก็ทรงยาตราทัพขึ้นไปทางเหนือ เมื่อจัดการกับทัพพม่าทางเหนือแล้วก็ทรงเสด็จลงเรือล่องลงใต้สู่แหลมมลายูจัดการกับท

ัพพม่าที่เหลือต่อไป

ยุทธวิธีนี้เปรียบเสมือนการรักษาคนป่วยที่เจ็บหลายที่ จะรักษาให้หายได้นั้นต้องรักษาส่วนที่เห็นว่าหนักหนาสากรรจ์เสียก่อนเพื่อรักษาชีวิต

แล้วจึงค่อยไปรักษาส่วนอื่นๆที่เจ็บน้อยกว่า

3ขวัญกำลังใจและกำลังรบ

ขวัญกำลังใจของทหารเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้กองทัพรบชนะถ้าทหารมีขวัญกำลังใจดีมีความ

ฮึกเหิมในการรบการบชนะก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าทหารหมดอาลัยท้อแท้ไม่อยากรบการที่จะรบชนะนั้นก็จะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เ

ลย

แต่ในการรบนั้นจะเอาใจใส่แต่ขวัญกำลังใจทหารฝ่ายตนข้างเดียวไม่ได้ ต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะทำลายขวัญฝ่ายตรงข้ามได้ด้วยกาทำให้ทหารมีขวัญกำลังใจในการ

รบนั้นมีทั้งการขู่และการปลอบ การขู่คือการลงโทษทหารที่กลัวไม่กล้ารบทำให้ทหารคนอื่นๆเกิดความเกรงกลัวการลงโทษยอม

ออกไปรบ ดังเช่นที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงให้สร้างครกกับสากใหญ่ไว้ในค่ายสามสำรับสำหรับ

โขลกพวกที่หนีไม่กล้าสู้พม่า

ส่วนการปลอบนั้นคือการใช้ถ้อยคำปลุกใจหรือการกระทำของตัวผู้นำที่ทำให้ทหารเกิดความฮ

ึกเหิมไม่เกรงกลัวข้าศึก ส่วนการทำลายขวัญข้าศึกคือการกระทำใดๆก็ตามที่ทำให้ข้าศึกเกิดความขลาดกลัวไม่กล้ารบ

ซึ่งในสงครามเก้าทัพนี้ ข้าศึกเริ่มขลาดกลัวฝ่ายไทยเมื่อครั้งที่พม่าต่อหอรบเอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งยิงมายังค่าย

ไทย กรมพระราชวังบวรฯจึงทรงให้นำปืนลูกไม้ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีออกมาตั้งเรียงรายหน้าค

่ายระดมยิงท่อนไม้ถล่มค่ายพม่าบ้าง ก็ถูกหอรบและป้อมค่ายพม่าหักพังลง อีกทั้งปืนลูกไม้ของไทยใช้ลูกเป็นไม้ทำให้ลำกล้องไม่ร้อนยิงได้เรื่อยๆ และปืนใหญ่โบราณก็เป็นกระสุนวิถีราบเมื่อหอรบพม่าหักพังก็ไม่สามารถจะยิงตอบโต้กับไท

ยได้

อีกตอนหนึ่งคือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีความเป็นห่วงจึงยกทัพหลวงมาจนถึงค่ายไทย

ที่ลาดหญ้า พม่ามองลงมาจากหอรบลงมาเห็นทหารหลายหมื่นยกมาเพิ่มเติมก็เกิดความขยาดขลาดกลัว อีกทั้งกรมพระราชวังบวรฯทรงดำริแผนทำลายขวัญพม่าได้อีกโดยลอบนำทัพออกจากค่ายลาดหญ้า

ไปพักทัพอยู่ที่เมืองกาญจนบุรีในเวลากลางคืนแล้วยกพลกลับตอนรุ่งสางทำทีว่าเป็นทัพหน

ุนยกมาเพิ่มเติม และทำเช่นนี้ทุกวัน ฝ่ายพม่าเห็นดังนั้นจึงสำคัญว่าเป็นทัพหนุนยกมาเพิ่มทุกวันจึงเกิดความขลาดกลัวไม่กล

้าออกรบได้แต่ตั้งอยู่ในค่ายเมื่อถูกทัพไทยระดมตีจึงพ่ายแพ้ไปในที่สุด

พระเจ้านโปเลียนมหาราชเคยกล่าวไว้ว่า”กองทัพต้องเดินด้วยท้อง”ซึ่งหมายถึงว่ากองทัพจ

ะมีกำลังรบอยู่ได้ ทหารในทัพต้องมีอาหารกินจนอิ่ม เมื่อทหารกินจนอิ่มแล้วจึงจะมีแรงรบแต่ถ้าไม่มีอาหารกิน ทหารอยู่อย่างอดอยากการที่จะรบชนะนั้นก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เช่นเดียวกันในศึกสงครามเก้าทัพ กรมพระราชวังบวรฯทรงให้พระองค์เจ้าขุนเณรเป็นผู้นำกองโจร คุมพล๑,๕๐๐คนไปตีตัดเสบียงพม่าที่ส่งมาจากทัพหลังทำให้ทัพหน้าของพม่าที่มารบกับไทยข

าดเสบียงและอดอาหาร ไม่มีแรงรบ และทัพไทยยังได้เสบียงและช้าง ม้า วัวที่ขนเสบียงของพม่าอีกด้วย มีครั้งหนึ่งทัพหลวงพม่าให้เอาเสบียงบรรทุกช้างกว่าหกสิบเชือกทหารหาบหามเสบียงสามร้

อยคนก็ถูกกองโจรไทยตีชิงได้หมด

ถ้าพม่าต้องการแก้ไขตรงนี้ทัพพม่าต้องจัดกองกำลังคุ้มกันเสบียงมากหน่อย ต้องให้มากกว่ากองโจรไทย อย่างน้อยต้องมากกว่าหนึ่งพันห้าร้อยคนของกองโจรไทย หรือวางกลศึกล่อลวงให้กองโจรไทยมาตีชิงเสบียงโดยซุ่มทหารล้อมจับก็อาจแก้ปัญหาการตีต

ัดเสบียงได้



4ความพร้อมในการรบ

ในการทำสงครามนั้นฝ่ายที่มีความพร้อมมากกว่าก็เท่ากับว่ามีชัยชนะไปกว่าครึ่งหนึ่งแล

้ว ดังนั้นการเตรียมพร้อมรบจึงเป็นสิ่งสำคัญมากดังคำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมงกุ

ฏเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า ”ถ้ารักสงบจงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ” ซึ่งหมายความว่าถ้าต้องการจะอยู่อย่างสงบต้องมีการเตรียมพร้อมในการรบเมื่อมีภัยสงคร

ามมาจะได้สามารถป้องกันเอาไว้ได้

ในสงครามเก้าทัพนี้ถ้าดูจากกำลังพลพม่ามีมากกว่าไทยกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ทัพไทยก็ยังสามารถเอาชนะทัพพม่าได้ ในการรบนั้นจำเป็นต้องมีปัจจัยในการรบที่ดีจึงจะสามารถเอาชนะข้าศึกได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้แก่
1.กำลังพล
2.ยุทธโธปกรณ์
3.เวลา
4.ภูมิประเทศ
5.ผู้นำ
6.การดำเนินกลยุทธ
7.การส่งกำลังบำรุง

ถ้าพิจารณาจากบันทึกทางประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่าทัพพม่าจะเหนือกว่าไทยแค่กำลังพลเท

่านั้น ส่วนปัจจัยด้านอื่นๆทัพไทยไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าทัพพม่าเลยบางอย่างอาจดีกว่าด้ายซ้ำ

สิ่งที่ทัพไทยเหนือกว่าอาจแจกแจงได้ดังนี้

1.ยุทธโธปกรณ์-ยุทธโธปกรณ์ในการรบในสมัยก่อนนั้นส่วนใหญ่ก็คล้ายๆกันคือมีดาบ ปืนคาบศิลา ปืนใหญ่ เป็นต้น แต่ทัพไทยมีปืนลูกไม้ที่ใช้ยิงท่อนไม้ ถึงแม้อานุภาพไม่ร้ายแรงนักแต่สามารถยิงทำลายหอรบและกำแพงค่ายได้ อีกทั้งยังยิงได้ต่อเนื่องเพราะลำกล้องจะร้อนช้ากว่าใช้กระสุนปืนใหญ่

2.เวลา- ทัพไทยทราบข่าวเร็วจากกองมอญลาดตระเวนและใบบอกจากหัวเมืองว่าพม่าตั้งทัพเตรียมยกมาต

ี ทำให้ทางฝ่ายไทยมีเวลาเตรียมตัวคิดกลยุทธรับศึกและเรียกระดมพล เมื่อทัพพม่ามาถึงลาดหญ้านั้นทัพไทยได้มาตั้งทัพรอยู่ถึงสิบห้าวันแล้ว

3.ภูมิประเทศ-ทัพไทยรู้จักใช้ภูมิประเทศให้เป็นประโยชน์ในการรบและการเดินทาง ทัพไทยเดินทางมาทางเรือซึ่งเร็วกว่าทัพพม่าที่มาทางบกต้องฝ่านป่าและภูเขา

4.ผู้นำ- ทัพไทยมีผู้นำที่ชาญฉลาดเป็นทัพหน้าคือกรมพระราชวังบวรฯส่วนทัพหน้าของพม่าคือเมียนห

วุ่นแมงยี่กับเมียนเมหวุ่นไม่อาจสู้กรมพระราชวังบวรฯได้ถึงแม้ทัพพม่าจะมีแม่ทัพมากแ

ต่ทัพหน้ามีเพียงสองคนนี้เท่านั้น พระเจ้าปดุงเองก็อยู่ทัพหลวงซึ่งห่างออกไปหลายสิบกิโลเมตรไม่อาจบัญชาทัพได้

5.การดำเนินกลยุทธ-ฝ่ายไทยรู้จักใช้ยุทธวิธี”ปิดตรอกตีพม่าซึ่งได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น ที่เป็นการใช้ภูมิประเทศให้เป็นประโยชน์ และยังมีการตีชิงเสบียงเพื่อทอนกำลังข้าศึก อีกทังใช้กลศึกลวงพม่าให้เข้าใจผิดว่ามีทัพหนุนมาเพื่อทำให้ข้าศึกเสียขวัญและไทยยัง

สามารถดำเนินกลยุทธได้เหมาะสมทุกขั้นตอนคือ
5.1ขั้นตอนดำเนินการตั้งรับด้วยการเข้ายึดพื้นที่ๆเกือกูลการปฏิบัติเสียก่อน คือการเข้ายึดพื้นที่ทุ่งลาดหญ้า
5. 2การวางกำลังในแนวต้านทานหลักคือการตั้งทัพหน้าดักทัพพม่าที่ทุ่งลาดหญ้าบริเวณหน้าด

่านเจดีย์สามองค์
5.3การจัดหน่วยระวังป้องกันเป็นกองรักษาด่านรบ เพื่อสังเกตการเข้ามาของข้าศึกคือการจัดกองมอญไปขัดตาทัพ
5. 4เมื่อข้าศึกรุกเข้ามาบีบข้าศึกให้เข้าไปอยู่บนเขาอันเป็นพื้นที่ๆจะใช้ปืนใหญ่ยิงคื

อการดึงข้าศึกมาเข้าพื้นที่สังหารแบบคล่องตัว
5.5ทำให้ข้าศึกอ่อนกำลังบอบช้ำและเสียขวัญคือการตีตัดเสบียง การลวงข้าศึกและการยิงปืนใหญ่รบกวน
5.6กลับทำการรุกโดยดำเนินการตามหลักการเข้าตีโดยครบถ้วนคือ
-ใช้ปืนใหญ่ยิงตัดรอนกำลังและยิงรบกวนข้าศึก
-ทำให้ข้าศึกอ่อนกำลังลงด้วยวิธีดังกล่าวมาแล้ว
-เข้าตีข้าศึกอย่างรุนแรงและฉลับพลัน1
ด้วยยุทธวิธีทั้งหมดนี้ทำให้ไทยสามารถเอาชนะทัพพม่าได้ในที่สุด

นอกจากนี้ทัพพม่ายังทำผิดหลักพิชัยสงครามอีกหลายประการเช่นที่ปากพิงทัพพม่าตั้งค่าย

หันหลังให้แม่น้ำเมื่อถูกทัพไทยรุกไล่ก็ไม่มีทางหนีต้องหนีลงแม่น้ำทำให้จมน้ำตายหลา

ยร้อยคน และที่ราชบุรีก็ไม่มีการตรวจตราลาดตระเวนทั้งๆที่ตั้งค่ายอยู่ห่างค่ายไทยเพียงแค่๕ก

ิโลเมตรก็ยังไม่รู้(อันนี้ทัพไทยก็ด้วยเหมือนกัน)


5กองทัพพม่าประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติและตั้งค่ายในป่าทำให้ป่วยกันมาก

ตอนที่พระเจ้าปดุงทรงรวบรวมกำลังพลนั้น ทรงเกณฑ์พลมาจากเมืองประเทศราชที่ตีมาได้ด้วย ทั้งมอญรามัญ ยะไข่ ไทยใหญ่ และมณีบุระ ทำให้กองทัพที่มีกำลังถึงแสนสี่หมื่นคนนั้นอาจไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในที่สุด นอกจากนั้นการที่พม่าตั้งทัพในป่าที่มียุงชุมทำให้ทหารป่วยเป็นไข้ป่า(มาลาเรีย)กันม

าก มีบันทึกไว้ว่าไพร่พลพม่าเจ็บไข้ตายลงกันทุกๆกองทัพ

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้นคือสาเหตุว่าทำไมทัพไทยที่มีกำลังน้อยกว่าครึ่งหนึ่งจึง

สามารถเอาชนะทัพพระเจ้าปดุงที่ยกพลมากันมหาศาลได้ และยังเป็นบทเรียนสำคัญให้แก่พม่าในการแก้ไขข้อบกพร่องในการเข้ามาตีไทยครั้งต่อไป นั่นคือสงครามครั้งที่สองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์สงครามท่าดินแดงนั่นเอง


จบแล้วจ้ารบกันสนุกดีไหมจ๊ะ โฮะๆๆ

หาพงศาวดารพม่าอ่านไม่ได้เล้ย ยังดีมีของนักวิชาการที่อ่านพงศาวดารพม่าแล้วมาเขียนไว้เลยใช้เป็นข้อมมูลอ้างอิงได้

ขืนใช้แต่พงศาวดารไทยลำเอียงตายเลยครับ

หนังสืออ้างอิง

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่๑ โดย เจ้าพระยาทิพพากรวงศ์

"ข้อมูลสงครามเก้าทัพ" โดย พลโทรวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์

พม่ารบไทย:ว่าด้วยสงครามระหว่างไทยกับพม่า โดย ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์

พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า โดย สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ