Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เยี่ยมบ้าน "จิม ทอมป์สัน" เรือนไทยกลางกรุง






มีฝรั่งคนหนึ่งที่ฉันอยากจะแนะนำให้รู้จัก...

เขาชื่อว่า เจมส์ แฮริสัน วิลสัน ทอมป์สัน อาจจะไม่คุ้นหูกันสักเท่าไร แต่ถ้าบอกว่า เจ้าของชื่อนั้นเป็นคนเดียวกับ "จิม ทอมป์สัน" หลายคนคงร้องอ๋อ... ก็คนที่ได้รับฉายาว่าเป็น "ราชาไหมไทย" นั่นยังไงล่ะ

ตัวฉันเองแม้เกิดไม่ทันยุคที่เขายังมีชีวิตอยู่ แต่ก็พอจะรู้บ้างว่า จิม ทอมป์สัน ชาวอเมริกันคนนี้เป็นคนที่ช่วยให้ผ้าไหมไทยของเราโด่งดังไปทั่วโลก หลังจากที่เขาลงหลักปักฐานอยู่ที่เมืองไทย หลังปี พ.ศ.2489 และมีความหลงใหลในความงามของไหมไทย จนได้เข้ามาช่วยชาวบ้านพัฒนาในเรื่องการผลิต การย้อมสี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการตลาด จนทำให้วงการผ้าไหมซึ่งกำลังซบเซา กลับเฟื่องฟูขึ้นมาได้อีกจนถึงปัจจุบัน

แต่ที่ฉันพาจิม ทอมป์สัน มาแนะนำให้รู้จักวันนี้ ไม่ได้จะมาพูดถึงเรื่องผ้าไหมอย่างเดียวหรอก เพราะยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือบ้านเรือนไทยหลังใหญ่ ริมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของเขา เมื่อคราวที่ยังมีชีวิตอยู่ ก่อนที่จะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในประเทศมาเลเซียใน พ.ศ.2510 เมื่อเขาอายุได้ 61 ปี

***********************************


จากปากซอยเกษมสันต์ 2 ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ ปากซอยมีป้ายตัวใหญ่ชี้ทางไปพิพิธภัณฑ์บ้านเรือนไทยจิม ทอมป์สัน ฉันเดินเข้าไปในซอยยังไม่ทันจะเหนื่อยก็ถึงสุดซอยพอดี มองเห็นเรือหางยาวแล่นไปมาอยู่ในคลองแสนแสบ ส่วนบ้านเรือนไทย จิม ทอมป์สันตั้งอยู่ทางซ้ายมือ เห็นแล้วรู้ได้ทันที เพราะลักษณะที่ต่างไปจากบ้านเรือนหลังอื่นๆ ในซอย

ความแตกต่างที่ว่าก็คือ บ้านนี้เป็นบ้านเรือนไทยที่พบเห็นได้น้อยมากในเมืองกรุงอย่างนี้ จริงๆ แล้วตามบ้านนอกที่ฉันอยู่ เรือนไทยหลังใหญ่แบบนี้ก็หาได้ยากแล้วเหมือนกัน เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็สร้างบ้านตึกบ้านปูนกันทั้งนั้น คนอยู่ก็ต้องทนร้อนกันไปตามระเบียบ แต่คิดอีกทีก็ดีเหมือนกัน จะได้ไม่ต้องตัดต้นไม้มาสร้างบ้าน เพราะเรือนไทยหลังหนึ่งก็ใช้ไม้ไม่น้อยอยู่เหมือนกัน

จิม ทอมป์สันเป็นฝรั่งแท้ๆ แต่กลับมีความชื่นชอบชื่นชมเมืองไทยรวมทั้งศิลปะของเอเชีย ทำให้เขาเลือกสร้างบ้านเรือนไทยขึ้นเป็นที่พักอาศัยอยู่ริมคลองแสนแสบ ตรงข้ามกับหมู่บ้านช่างทอผ้าไหมบ้านครัว ซึ่งเป็นชุมชนที่เขามักจะแวะเวียนเข้าไปดูเรื่องการผลิตผ้าไหมอยู่เป็นประจำ ซึ่งไม้ที่นำมาสร้างบ้านนั้นก็นำมาจากเรือนไม้เก่าจากที่ต่างๆ ทั้งจากอยุธยาและในชุมชนบ้านครัวเองด้วย โดยเขาเป็นคนออกแบบเองร่วมกับสถาปนิกชาวไทย

พูดไปพูดมาก็ไม่ได้เข้าไปในตัวบ้านเสียที อย่ามัวเสียเวลา เข้าไปชมภายในบ้านกันเลยดีกว่า หลังจากเสียเงินค่าบัตรเข้าชมไป 100 บาท แล้ว ฉันก็มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวบ้านเรือนไทยที่เห็นอยู่ด้านหน้า สิ่งแรกที่รับรู้ได้ทันทีเมื่อเข้าไปด้านในก็คือ ความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ๆ หลายๆ ต้นที่ปลูกอยู่ในบริเวณบ้าน ไม่น่าเชื่อว่าใจกลางเมืองอย่างนี้จะยังมีต้นไม้ใหญ่หลงเหลืออยู่มากขนาดนี้


ในการเดินชมห้องต่างๆ ภายในบ้านเรือนไทยนั้นจะมีมัคคุเทศก์นำชม ซึ่งแต่ละคนก็เก่งๆ กันทั้งนั้น ฉันได้ยินกลุ่มนี้บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ กลุ่มนั้นเป็นภาษาฝรั่งเศส กลุ่มโน้นเป็นภาษาญี่ปุ่น ส่งภาษากันช้งเช้งๆ ส่วนฉัน ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าต้องบรรยายให้ฟังเป็นภาษาไทยแน่นอน

บางคนอาจจะกำลังคิดอยู่ว่า นอกจากเรือนไทยและต้นไม้ร่มรื่นแล้ว ที่นี่ยังมีอะไรให้ดูอีก ขอตอบว่ามีแน่นอน เพราะจิม ทอมป์สัน นอกจากจะชอบไหมไทย และเรือนไทยแล้ว ก็ยังชอบสะสมของเก่าอีกด้วย ซึ่งแต่ละชิ้นก็เก่าแก่และมีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปเก่าอายุหลายร้อยปี ถ้วยชามเบญจรงค์ต่างๆ ภาพเขียนเก่าแก่ และศิลปวัตถุอื่นๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะของไทยเท่านั้น แต่มีของหลายๆ เชื้อชาติ ทั้งจีน พม่า ฯลฯ จัดแสดงไว้ในห้องต่างๆ ภายในบ้าน

มัคคุเทศก์สาวสวยเริ่มพาฉันชมห้องต่างๆ ในบ้าน โดยห้องแรกก็คือห้องครัวเก่าที่ปัจจุบันใช้จัดแสดงพวกเครื่องถ้วยชามทั้งหลาย ซึ่งมีทั้งเครื่องเบญจรงค์และลายน้ำทองจำนวนกว่าครึ่งร้อย มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือกาน้ำของประเทศจีน ที่ไม่ได้เอาไว้ใส่น้ำชา แต่เอาไว้ใส่ไวน์ ลักษณะก็เหมือนกาน้ำเล็กๆ ที่ไม่มีฝาด้านบน เวลาใส่ต้องหงายด้านล่างขึ้น ตัวกามีลวดลายแบบจีนๆ น่ารักดี

ใกล้ๆ กับจัดแสดงห้องถ้วยชามคือห้องรับประทานอาหาร ขนาดห้องไม่ใหญ่นักแต่ตกแต่งอย่างสวยงาม มีโคมไฟระย้าอยู่กลางห้อง ภายในประดับตกแต่งด้วยเครื่องถ้วยชามเก่าแก่ และภาพเขียนสีบนแผ่นผ้าเป็นภาพพุทธประวัติ แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นก็คือ โต๊ะกินข้าว ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นโต๊ะเล่นไพ่นกกระจอกสองตัวมาต่อกัน ฉันว่าลวดลายที่สวยงามของโต๊ะก็น่าจะทำให้กินข้าวได้อร่อยมากขึ้นกว่าปกติ


ออกจากห้องกินข้าว เดินมาตามทางเดินเล็กๆ ที่ประดับด้วยพระพุทธรูป รูปภาพ และรูปปั้นตุ๊กตาแบบไทย จะพบกับห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ที่ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยศิลปวัตถุต่างๆ เป็นต้นว่า ตุ๊กตาพม่ารูป "นัต" ซึ่งเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ตั้งประดับอยู่ในช่องบานหน้าต่างทั้งสี่ช่อง ฉันชอบบรรยากาศห้องนั่งเล่นที่นี่มาก เพราะด้านหนึ่งมองเห็นวิวต้นไม้เขียวๆ ผ่านหน้าต่าง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นระเบียงเปิดโล่งมองเห็นเรือวิ่งไปมาในคลอง ทำให้บรรยากาศภายในไม่ทึบอึดอัด แถมลมโกรกเย็นสบายอีกต่างหาก

จากห้องนั่งเล่น เดินตรงไปจะเจอกับประตูโรงรับจำนำ อ้าว...อย่าหาว่าฉันโม้นะ ก็ประตูที่ว่านี้เป็นประตูโรงรับจำนำจริงๆ เพราะเจ้าของบ้านซื้อมาจากเยาวราชเพื่อนำมาเป็นประตูกั้นระหว่างทางเดิน แต่ไม่บอกก็ไม่รู้หรอกว่ามาจากโรงรับจำนำ เพราะดูเก๋ไม่หยอกเลย ชมประตูเสร็จเลี้ยวซ้ายไปชมห้องทำงานต่อ ห้องนี้เป็นห้องที่จิม ทอมป์สันใช้เวลาอยู่มากที่สุด สิ่งที่ดูจะโดดเด่นที่สุดคงจะเป็นหน้าต่างบานสูงทรงสอบหน้าโต๊ะทำงานที่เปิดรับลมและชมวิวของสวนต้นไม้ด้านหน้าได้พอดี

คนนำชมบอกฉันว่า ห้องหับส่วนใหญ่ในบ้านนี้ก็ยังจัดตกแต่งเหมือนเมื่อสมัยที่จิม ทอมป์สันยังมีชีวิตอยู่ อาจมีการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุบางชิ้นบ้าง แต่โดยรวมก็ยังคงเป็นแบบเดิม ซึ่งฉันว่าคนอยู่อาศัยคงเจริญหูเจริญตาไม่น้อย เพราะแต่ละห้องตกแต่งอย่างประณีต สวยงามไปทุกมุม และอีกอย่างหนึ่งที่เห็นก็คือ ถึงบ้านนี้จะเป็นบ้านเรือนไทย แต่ไม่ยักสร้างห้องน้ำแยกจากตัวบ้านไปแบบไทยแท้ๆ คงเพราะความเคยชินในแบบตะวันตกของจิม ทอมป์สันเอง รวมทั้งคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้อยู่ด้วย

นอกจากห้องต่างๆ ในชั้นบนแล้ว ด้านล่างยังมีของที่น่าสนใจอย่างพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในบ้าน คือ 1,300 ปี และเป็นชิ้นที่จิม ทอมป์สันรักมากที่สุดอีกด้วย แต่ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะนอกจากเรือนไทยหลังใหญ่แล้ว ในเรือนหลังเล็กอีก 2-3 หลัง บริเวณริมรั้วก็ยังมีข้าวของต่างๆ อย่างภาพเขียนบนผืนผ้าจัดแสดงไว้ เรียกว่าของดีๆ มีเยอะจนจัดแสดงไม่พอว่างั้นเถอะ

ฉันว่าที่นี่ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพ แต่เท่าที่เห็นนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างประเทศเสียมากกว่า คนไทยนั้นแทบไม่เห็นเลย เมื่อลองถามคนนำชมแล้วเขาก็บอกว่า คนไทยไม่ค่อยมาเที่ยวที่นี่กันสักเท่าไร วันธรรมดาไม่มีเลย ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ก็มีบ้างสัก 5-6 คน อาจเป็นเพราะไม่รู้ หรือเพราะอะไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน

แต่คราวนี้ก็ได้รู้กันแล้วนะว่ากรุงเทพก็ยังมีสถานที่น่าไปอย่างนี้อยู่กลางกรุง ไปมาก็สะดวกอย่างนี้ พลาดไม่ได้แล้วใช่ไหมล่ะ

ชุมชนบ้านครัว











ลุงอู๊ด..แห่งร้าน..ลุงอู๊ดบ้านครัวไหมไทย.. แกได้กรุณาเล่าประวัติความเป็นมาของชุมชนให้ฟังว่า... ปัจจุบันลุงอายุ ๕๙ ปี เกิดที่นี่ (บ้านครัวเหนือ) เมื่อประมาณห้าสิบปีก่อน ชาวบ้านแถวนี้ทำผ้าไหมกันทุกครัวเรือน เพราะคุณจิม ทอมสัน ซึ่งมาสร้างบ้านทรงไทยข้างคลองตรงข้ามบ้านครัวเหนือ..และได้ให้ชาวบ้านครัวเหนือเป็นผู้ผลิตผ้าไหมให้..ตั้งแต่ย้อม กระทั่งทอเป็นผืน.. ต่อมาเมื่อจิม ทอมสัน หายสาบสูญไปในปีประมาณ ๒๕๑๐ กิจการก็เริ่มซบเซาลง ชาวบ้านหลายรายก็ค่อย ๆ ทยอยเลิกกิจการไป..ปัจจุบันในชุมชนบ้านครัวเหนือ เหลือผู้ที่ยังคงทอผ้าไหมอยู่เพียงสามราย...ลุงอู๊ด..เล่าว่าแกมีลูกชายสามคน คนโตประกอบธุรกิจส่วนตัว คนรองเป็นวิศวกรอยู่องค์การโทรศัพท์ ส่วนคนเล็กไม่ชอบเรียนหนังสือ จึงเป็นโชคดีของลุงที่จะได้มีผู้สืบทอดกิจการ...
.....ผ้าไหมของลุงอู๊ด มีจุดเด่นที่คุณภาพดี ราคาไม่แพง (แกบอกว่าถูกกว่า จิม ทอมสัน สิบเท่า) ใครสนใจก็ไปอุดหนุนได้ครับ..เปิดบริการทุกวันตั้งแต่ ๙.๐๐ - ๒๐.๐๐ น. หรือโทรสอบถามได้ที่ ๐๒-๒๑๕๙๘๖๔

บ้านครัว..ชุมชนเก่าแก่อายุกว่ากึ่งศตวรรษ..ชุมชนตั้งอยู่เรียงรายสองฟากคลองแสนแสบ รวมระยะทางประมาณหนึ่งกิโลเมตร...ตั้งแต่วังสระปทุม ถึงถนนอุรุพงษ์..สภาพบ้านเรือนเป็นบ้านไม้เก่าแก่แบบโบราณ..บางหลังมีอายุเกือบร้อยปี...
....ชุมชนบ้านครัว แบ่งออกเป็นสามส่วนด้วยกันคือ บ้านครัวเหนือ บ้านครัวใต้ และบ้านครัวตะวันตก...จริง ๆ แล้วทั้งหมดก็คือชุมชนบ้านครัว แต่แบ่งก็เพื่อการดูแลจัดการชุมชนจะได้ง่ายขึ้น...
....เดิมชุมชนบ้านครัวจะมีชาวมุสลิมอยู่เป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป..รุ่นลูกรุ่นหลานได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่...ส่วนถิ่นฐานเดิมได้ให้ผู้อื่นเช่าอยู่แทน..ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เช่าจะเป็นคนภาคอีสาน..ดังนั้น..หากวันนี้คุณไปเดินในชุมชนแล้วได้ยินสำเนียงอีสานตลอดเส้นทางก็ไม่ต้องแปลกใจ....
....สิ่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงของชุมชนบ้านครัวคือ..ผ้าไหม..


สืบเนื่องจากการที่ฉันได้เคยลุยกรุงเดินดุ่มๆ ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์บ้านเรือนไทยจิม ทอมป์สันเมื่อไม่นานมานี้ และได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ของราชาไหมไทย (แต่เป็นฝรั่ง) ที่ชื่อ "จิม ทอมป์สัน" ว่าเขาเป็นผู้หลงใหลเสน่ห์ของผ้าไหมไทย และเป็นคนที่ช่วยประชาสัมพันธ์ผ้าไหมไทยให้โด่งดังไปทั่วโลก

การไปชมพิพิธภัณฑ์ในครั้งนั้นทำให้ฉันได้รู้จักกับ "ชุมชนบ้านครัว" ซึ่งอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์บ้านเรือนไทยจิม ทอมป์สัน โดยมีคลองมหานาคคั่นกลาง โดยรู้จักในฐานะที่เป็นชุมชนที่ทอผ้าไหมส่งให้กับจิม ทอมป์สัน


ก็น่าแปลกเหมือนกันที่ในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตราชเทวีซึ่งดูเป็นย่านการค้าขายนี้จะมีชุมชนที่ยังทำอาชีพทอผ้า เพราะที่ฉันเคยเห็นการทอผ้าส่วนมากก็จะอยู่ตามต่างจังหวัดแทบทั้งสิ้น ก็เลยตัดสินใจลองไปดูให้เห็นว่าเขาทอผ้ากันจริงๆ แต่ไม่รู้ทำไม เมื่อฉันเข้าไปถามทางแม่ค้าขายข้าวแกงแถวๆ สะพานหัวช้างว่า จะไปดูชาวบ้านครัวเขาทอผ้ากันได้ที่ไหน แม่ค้ากลับทำหน้างงๆ ก่อนจะบอกว่า เขาทอผ้าหรือเปล่าอันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ถ้าจะไปบ้านครัวละก็ให้เดินไปทางนี้ ก่อนจะชี้มือไปยังทางเดินข้างหน้า

ฉันก็ออกจะใจแป้วกับสีหน้างงๆ ของแม่ค้า เพราะเริ่มทำให้ไม่แน่ใจว่า เอ... จะยังมีชาวบ้านครัวคนไหนทอผ้าอยู่อีกไหมหนอ หรือว่าจะเลิกไปทำอาชีพอื่นกันหมดแล้ว และยิ่งเดินลึกเข้าไปก็ไม่เห็นบ้านไหนจะมีทีท่าว่าจะทอผ้ากันสักบ้าน หลังจากที่เดินสอดส่องไปได้สักพัก ฉันก็เหลือบไปเห็นป้าย "อู๊ดบ้านครัวไหมไทย" แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าที่นี่เป็นแค่เพียงร้านขายผ้าไหมหรือว่าเป็นบ้านที่ยังคงทอผ้าไหมอยู่จริงๆ

ไปยืนเก้ๆ กังๆ อยู่หน้าบ้านสักประเดี๋ยวหนึ่ง ก่อนที่คนในบ้านซึ่งกำลังสาละวนอยู่กับการสะบัดม้วนเส้นไหมสีสดใสจะเรียกฉันให้เข้ามาชมข้างใน ก็เป็นอันแน่ใจได้ว่าที่ชุมชนบ้านครัวนี้ยังคงมีการทอผ้าอยู่ และที่นี่ฉันก็ได้พบกับลุงอู๊ด มนัสนันท์ เบญจรงค์จินดา ชาวชุมชนบ้านครัว และเจ้าของร้านอู๊ดบ้านครัวไหมไทย ที่จะเป็นคนพาฉันชมการทอผ้าที่นี่

ลุงอู๊ดท้าวความให้ฉันฟังว่า ชาวบ้านครัวแต่เดิมนั้นเป็นชุมชนชาวแขกจาม หรือคนอิสลามที่มาจากจามปา หรือประเทศเขมร ซึ่งอพยพมาอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์และสืบทอดลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสืบทอดฝีมือการทอผ้าซึ่งเป็นอาชีพของชาวชุมชนบ้านครัวส่วนใหญ่นี้ด้วย

การทอผ้าของชาวบ้านครัวนี้ก็เพื่อไว้ใช้สอยเองบ้าง รวมทั้งส่งไปขายตามต่างจังหวัด เช่นล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาไปขายคนทางจังหวัดอยุธยาบ้าง จนเมื่อจิม ทอมป์สัน หรือที่ชาวบ้านครัวเรียกว่า"นายห้างจิม"ฝรั่งชาวอเมริกันผู้หลงรักไหมไทยเข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านครัวทอผ้าไหมเพื่อส่งขายในรูปแบบต่างๆ ภายใต้ชื่อยี่ห้อจิม ทอมป์สัน จนผ้าไหมไทยโด่งดังไปทั่วโลก ก็ทำให้การทอผ้าของชาวบ้านครัวในตอนนั้นเฟื่องฟูยิ่งกว่าครั้งไหนๆ

สำหรับลุงอู๊ดนั้นก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เริ่มรู้จักกับการทอผ้าไหมมาตั้งแต่อายุ 13 ปี โดยเริ่มประสบการณ์ในแวดวงนี้ด้วยการรับจ้างย้อมไหม โดยเมื่อก่อนนี้จะเป็นการย้อมสีธรรมชาติโดยนำมาต้มกับไม้แกแล ซึ่งจะให้สีเหมือนสีหมากสุก หรือใช้ลูกแสดซึ่งให้สีส้ม จากนั้นในช่วงหลังที่นายห้างจิมเข้ามาจึงมีการใช้สีเคมีกันมากขึ้น

ลุงอู๊ดเล่าถึงบรรยากาศในช่วงสมัยนั้นให้ฟังว่า นายห้างจิมเข้ามาบอกกับคนในชุมชนว่า เขาจะเอาเส้นไหมมาให้ เอาสีมาให้ แล้วให้ทอผ้าส่งเขาได้ไหม จากนั้นแถบนี้ก็เลยทอผ้าส่งจิม ทอมป์สันกันทั้งหมู่บ้าน ถึงเวลาก็ไปเอาไหม เอาสีจากที่บริษัทมาจัดการทอเป็นผืน รวมทั้งเปลี่ยนจากการใช้กี่กระทบแบบเก่ามาเป็นกี่กระตุกเพื่อจะทอผ้าได้เร็วขึ้น





และโชคดีที่นายห้างจิมได้ที่ดินมาปลูกสร้างบ้านอยู่อีกฟากของคลองมหานาคตรงข้ามชุมชนบ้านครัวพอดิบพอดี ดังนั้นชาวบ้านครัวจึงได้มีโอกาสพบกับนายห้างซึ่งแวะเวียนมาดูการผลิตผ้าไหมถึงที่อยู่บ่อยๆ ฉันเลยถามลุงอู๊ดว่าจิม ทอมป์สันในตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ลุงอู๊ดเล่าว่า "เขาก็แวะมาดูการทอผ้าไหมบ่อยๆ ก็เป็นคนอัธยาศัยดี อารมณ์ดี คนบ้านครัวก็รักนายห้างจิม เพราะเป็นคนที่ทำให้ชาวบ้านมีงานทำ ทำให้คนมีเงินขึ้นมา และทำให้เศรษฐกิจแถวนี้ดีขึ้นเยอะเลย"

ลุงอู๊ดเล่าต่อว่า "แต่อยู่มาซัก 20-30 ปี นายห้างจิมก็หายตัวไป เขาว่าไปราชการที่มาเลเซีย ตั้งแต่นั้นทางบริษัทเขาก็ไม่รับผ้าจากของทางบ้านครัวแล้ว เขาก็ไปสร้างโรงงานของเขาเอง ทางบ้านครัวก็เลยต้องเลิกเพราะเมื่อทอผ้าไปแล้วก็ไม่มีตลาดให้ขาย ก็ค่อยๆ เลิกทีละสามบ้านสี่บ้าน เลิกๆๆ จนหมด" จนปัจจุบันนี้ก็เหลืออยู่แค่สองบ้านเท่านั้นที่ยังคงทอผ้าอยู่ คือที่บ้านลุงอู๊ดกับบ้านอีกหลังหนึ่งที่อยู่ติดกัน แต่สำหรับบ้านลุงอู๊ดนั้นจะทำเองทุกขั้นตอนตั้งแต่ย้อมสี ไปจนถึงทอออกมาเป็นผืน แต่เส้นไหมนั้นรับซื้อมาจากจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมทั้งจากประเทศจีนและเวียดนามด้วย ส่วนเหตุที่ลุงอู๊ดยังคงทำอาชีพทอผ้าไหมอยู่มาจนถึงตอนนี้ก็เพราะมีความรู้สึกว่า อยู่กับไหมมาชั่วชีวิตแล้ว และมีความรู้ในเรื่องผ้าไหมดี ก็เลยคิดว่าจะทำต่อไป

คุยกับคุณลุงมาพอหอมปากหอมคอแล้ว ฉันก็เริ่มลุกเดินชมรอบๆ บ้านซึ่งเต็มไปด้วยอุปกรณ์ในการทอผ้า ลุงอู๊ดอธิบายขั้นตอนที่เส้นไหมจะถูกทอออกมาเป็นผืนให้ฉันฟังว่า ในขั้นแรกจะต้องฟอกไหม หรือนำเส้นไหมดิบมาต้มเพื่อเอากาวออกเสียก่อน จากนั้นจึงย้อมสี และต้มอีกประมาณหนึ่งชั่วโมงให้สีติดทน แล้วจึงล้างและกระทบไหมให้เส้นไหมไม่พันกัน จากนั้นนำไปตากให้แห้ง แล้วนำมากรอเข้าใส่หลอดด้าย แล้วก็นำไปทอเป็นผืนด้วยเเรงงานคนจนได้ออกมาเป็นผืนผ้าไหมสวยงาม เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติที่ชอบงานแฮนด์เมด





ผ้าไหมของลุงอู๊ดนั้นเป็นที่รู้จักไปถึงต่างประเทศเลยทีเดียวเชียว เพราะหลังจากที่ทางราชการเข้ามาส่งเสริมเรื่องโอทอป (OTOP) หรือสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ผ้าไหมของลุงก็ได้ไปออกบูธตามงานแสดงสินค้าต่างๆ และมีสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศถ่ายทอดเรื่องราวกลับไป ทำให้ที่บ้านลุงอู๊ดมีคนมาเยี่ยมชมบ่อยๆ รวมทั้งก็มีนักท่องเที่ยวที่ได้ไปชมพิพิธภัณฑ์บ้านไทยจิม ทอมป์สันแล้วก็อยากเห็นแหล่งทอผ้าไหมของจิม ทอมป์สันขึ้นมา ทางพิพิธภัณฑ์ก็จะแนะนำให้มาชมที่นี่

ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อว่าในกรุงเทพมหานครนี้จะยังมีชุมชนเล็กๆ ที่ทอผ้าไหมเป็นอาชีพ แถมยังทอกันมายาวนานเป็นร้อยๆ ปีมาแล้วอีกด้วย แม้ในตอนนี้จะเหลืออยู่เพียงสองบ้านเท่านั้นที่ยังคงมีภาพนี้ให้เห็น แต่ก็นับว่าเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมขั้นตอนการผลิตผ้าไหม รวมทั้งเลือกซื้อผ้าไหมของชาวชุมชนบ้านครัวเหนือได้ที่ ลุงอู๊ดบ้านครัวไหมไทยได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. ที่ 847/1 สุดซอยเกษมสันต์ 3 เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0-2215-9864

การเดินทาง ให้เข้ามาทางซอยเกษมสันต์ 3 ซึ่งอยู่ตรงข้ามศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ สาขาสนามกีฬาแห่งชาติ เมื่อเดินเข้ามาจนสุดซอยจะเจอสะพานข้ามคลองมหานาค เมื่อข้ามสะพานมาแล้วให้เดินมาทางซ้ายมือมาอีกประมาณ 100 เมตร จะเจอลุงอู๊ดบ้านครัวไหมไทยอยู่ในซอยทางขวามือ

เดินเล่นชุมชนเก่าแก่กลางกรุง...ตลาดน้อย













เผอิญเปิดไปเจอกระทู้ของคุณเลเซอร์ในพันทิพ ที่แนะนำเส้นทางละแวกตลาดน้อยไว้ซะละเอียดยิบ แหม ร้านแม่ของแมวน้ำอยู่ตรงสี่พระยาเอง เดินไป ใกล้นิดเดียว แต่ไม่ยักกะเคยไปซักที ถือโอกาสไปซะวันนี้เลยแล้วกัน หงืดๆๆ


พออิ่มหนำสำราญกันแล้วก็ เดินย่อยอาหารกันเลย ...


และที่สุดท้ายที่แมวน้ำจะไปคือโรงเรียนสอนดำน้ำ ตอนแรกก็งงเหมือนกันว่า จริงอ่ะ มีโรงเรียนสอนดำน้ำที่ตลาดน้อยจริงหรือ ต้องไปดูให้เห็นกับตาซะหน่อย
หายากเหมือนกันนะ เพราะไม่มีป้ายบ่งบอกอะไรเลย เดินเข้าไปทางศาลเจ้าซือกง ซอยทานตะวัน บ้านเลขที่ 292/1

โอ๊ะโอ เจอแล้วนี่ไง โรงเรียนสอนดำน้ำ สวยจัง เก๋มั่กๆ

จบและ ทัวร์ชุมชนเก่าแก่ตลาดน้อย ไม่น่าเชื่อว่าชุมชนเล็กๆในกรุงเทพฯ ก็มีอะไรน่าสนใจซ่อนอยู่ ยังมีร้านของกินอีกหลายร้านที่ยังไม่ได้ชิม เอาไว้วันหลังแล้วกันนะง๊าบ ส่วนเรื่องเรียนดำน้ำใครอยากทราบข้อมูลก็ลองเข้าไปดูที่เวบ dumnam.com เอาเองแล้วกันนะง๊าบ
ยังไงขอบคุณกระทู้ของคุณเลเซอร์อีกทีที่แนะนำเส้นทางและสถานที่ต่างๆในย่านนี้ไว้ให้ได้ตามรอยในวันนี้ ใกล้แค่นี้ลองมาเดินเล่นกันดูนะง๊าบ หงืดๆๆๆ

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2552 12:33:40 น. 3 comments
Counter : 302 Pageviews. Add to





แอบไปมั้งน้า ตลาดน้อย สถาปัตยกรรมน่าสนใจมากจ้้าชอบๆ จัง..
เจ้าของ บล๊อกก็น่ารักมากๆ เลย อิอิ อยากไปเที่ยวด้วยจัง ต้องเป็นขาเที่ยวตังยกแน่นเลย เที่ยวแบบนี้แล้วมีความสุขเน้อ อ๋ออ...
ไปตลาดน้อยยังไงอะจ้า ฝากตอบด้วยน้าขอบคุณจ้า

โดย: kapaos วันที่: 22 พฤศจิกายน 2551 เวลา:12:17:59 น.




ตอบคุณ kapaos นะคะ

ไปไม่ยากเลยค่า ได้ทั้งทางบกทางน้ำ

ทางบกก็มาทางถนนเจริญกรุงตรงมาจากบางรักเรื่อยๆ ผ่านหน้าไปรษณีย์กลาง ผ่านแยกสี่พระยา ตรงมาอีกถึงสุดทางเลี้ยวซ้าย ลงสะพานข้ามคลองเล็กๆก็ถึงแล้วจ้า

ส่วนทางน้ำก็ไม่ยากเลย นั่งเรือด่วนมาลงที่ท่าเรือกรมเจ้าท่า หรือท่าน้ำสี่พระยา แล้วเดินทะลุซอยมาก้อได้

ลองเข้าไปดูกระทู้ของคุณเลเซอร์ได้ที่

http://topicstock.pantip.com/food/topicstock/2008/08/D6876761/D6876761.html

เค้าบอกไว้ละเอียดมากๆค่ะ ลองไปเดินเล่นดูนะคะ

ไม่แน่มีโอกาสเราอาจได้ไปเที่ยวกันก็ได้เนอะ ดูจากบล็อกของคุณ kapaos แล้ว ท่าทางจะ lifestyle เหมือนกัน

ชุมชนบางเชือกหนัง



บางเชือกหนัง-บางระมาด ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ มีอายุมากกว่า ๕๐๐ ปี อยู่ในคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่

กรุงเทพฯ มีอายุ ๒๒๑ ปี นับจากแรกสถาปนาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ถึงปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๖
แต่ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ มีอายุมากกว่า ๕๐๐ ปี และเป็นไปได้ว่าเก่ากว่านั้นขึ้นไปอีกจนเกือบพันปีมาแล้วก็ได้
ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ เท่าที่รู้ชื่อขณะนี้มี ๘ แห่ง คือ บางเขน บางกรูด บางพลู ฉมังราย บางระมาด บางฉนัง บางจาก บางนางนอง ทั้ง ๘ แห่งนี้ตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ๔ แห่ง คือ บางเขน บางกรูด บางพลู ฉมังราย อีก ๓ แห่งอยู่ในคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ คือ บางระมาด บางฉนัง บางจาก แห่งสุดท้ายอยู่ในคลองด่านไปทางบางขุนเทียนคือ บางนางนอง


กรุงเทพฯ มาจาก กรุงธนฯ

กรุงธนฯ มาจาก "บางกอก"

บริเวณที่เป็นกรุงเทพมหานครซึ่งประกอบด้วยฝั่ง "กรุงเทพฯ" และฝั่ง "กรุงธนฯ" แท้ที่จริงมีพัฒนาการมาจากย่านๆ หนึ่ง หรือตำบลๆ หนึ่งบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่รู้จักกันทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในชื่อ "บางกอก"

บางกอกอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้อ่าวไทย เป็นบริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลคดเป็นรูปโค้งเกือกม้า (Oxbow Lake) กล่าวคือเมื่อแม่น้ำไหลจากทิศเหนือผ่านเขตจังหวัดนนทบุรี มาถึงสถานีรถไฟบางกอกน้อย ก็ไหลวกไปทางตะวันตก ปัจจุบันเรียกชื่อคลองบางกอกน้อย พอถึงบางระมาดก็ไหลวกลงใต้ ปัจจุบันคือคลองบางระมาด ถึงวัดนวลนรดิศแล้ววกมาทางตะวันออก ปัจจุบันเรียกคลองบางกอกใหญ่ เมื่อมาถึงวัดอรุณราชวรารามก็วกไหลเรื่อยลงไปทางทิศใต้จนออกทะเลที่ปากแม่น้ำ

การที่ลำแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมไหลคดเป็นรูปโค้งเกือกม้านั่นเอง เป็นเหตุให้สองฟากแม่น้ำคดโค้งนี้กลายเป็นที่ดอนขึ้นมา อันเป็นผลสืบเนื่องจากแม่น้ำนำตะกอนจากที่ต่างๆ ทางเหนือมาทับถมทุกปีในฤดูน้ำหลาก จึงเหมาะแก่การตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย นานเข้าก็กลายเป็นชุมชนเล็กๆ แล้วขยายใหญ่ขึ้นเรียกกันทั่วไปว่าย่าน "บางกอก" ที่ปัจจุบันอยู่สองฝั่งคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ

บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่

กรุงธนฯ-กรุงเทพฯ

คลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ชุมชนย่านบางกอกนี้มีความเจริญและพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางของประเทศได้ ก็เพราะมีลำน้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อทั้งภายในและภายนอกได้สะดวก

สมัยที่พระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (หลัง พ.ศ. ๑๘๐๐) ลงมานั้น จำเป็นต้องอาศัยลำแม่น้ำเจ้าพระยานี้เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่สุด ดังนั้นการเดินทางเรือจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อจะเข้าไปยังพระนครศรีอยุธยาจะต้องผ่านชุมชนเก่าแก่ดังกล่าวมา คือชุมชนย่านบางกอก เป็นแหล่งพักดีที่สุด เพราะเส้นทางน้ำที่จะเดินทางต่อไปไม่สะดวก เนื่องจากลักษณะคดและโค้งของแม่น้ำซึ่งต้องเสียเวลาอีกมากนัก ในที่สุดย่านบางกอกก็ทวีความสำคัญมากขึ้น และชุมชนก็ยิ่งขยายใหญ่มากขึ้นตามไปด้วย

ความสนใจที่พระนครศรีอยุธยามีต่อย่านบางกอก มีปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตรงกันเกือบทุกฉบับว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๕ "ศักราช ๘๘๔ ปีมะโรง จัตวาศก ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้านั้นก็ได้ขุดคลองบางกอกใหญ่ตำบลหนึ่ง"

นี่คือหลักฐานที่ระบุว่าสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๗๗-๒๐๘๙) โปรดให้ขุดคลองลัดบางกอก ส่วนคอดแคบที่สุดที่ทุกวันนี้เรียกปากคลองบางกอกน้อยไปถึงปากคลองบางกอกใหญ่ ปัจจุบันนี้กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา (สายใหม่) ช่วงตั้งแต่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือหน้าสถานีรถไฟบางกอกน้อย ไปจนถึงวัดอรุณราชวราราม

ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยา (สายเก่า) ที่ผ่านย่านบางกอกก็แคบลงกลายเป็นคลอง ทุกวันนี้เรียกว่าคลองบางกอกน้อย และคลองบางกอกใหญ่

สาเหตุที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชโปรดให้ขุดคลองลัดสายนี้ก็เพื่อย่นระยะทางจากปากน้ำขึ้นไปพระนคร ศรีอยุธยา เพราะสมัยนั้นการติดต่อกับต่างประเทศ เช่น จีน และโปรตุเกส มีความสม่ำเสมอมากขึ้น เมื่อกระแสน้ำมีร่องให้พุ่งตรงซึ่งจะไหลคล่องกว่าการเลี้ยวลดคดโค้งไปตามเส้นทางเก่า กระแสน้ำจึงมีกำลังแรงสามารถทำให้คลองลัดขยายกว้างขึ้น ด้วยการทำลายสองฟากตลิ่งจนกลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาแทนสายเก่า ส่วนลำแม่น้ำเก่าก็แคบเข้าจนเหลือเป็นคลองดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

กล่าวกันว่าการขุดคลองลัดที่ย่านบางกอกช่วยย่นระยะทางคมนาคมมากทีเดียว เพราะแทนที่จะเสียเวลาพายเรือทั้งวันเพื่ออ้อมไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าก็จะเหลือเพียงชั่วตั้งหม้อข้าวเดือด

ผลที่ตามมาอย่างรวดเร็วก็คือ ย่านดังกล่าวกลายเป็นเกาะและขยายชุมชนใหญ่ขึ้น ในที่สุดก็กลายเป็น "เมือง" อยู่บริเวณสองฟากฝั่งคลองลัดที่กลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยา (สายใหม่) จนเป็นกรุงธนบุรี แล้วเป็นกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ แต่นานาชาติยังรู้จักมักคุ้นชื่อเก่าว่าบางกอก (Bangkok)



กำสรวลสมุทร

สุดคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่

เอกสารเกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า หรือคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ มีเก่าสุดอยู่ที่หนังสือ โคลงกำสรวลสมุทร อันเป็นงานวรรณคดีร้อยกรองที่แต่งขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แสดงให้เห็นว่ามีการใช้คลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่เป็นเส้นทางคมนาคมไปจนออกทะเลมาแต่ยุคแรกของกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนหน้านั้น

หนังสือโคลงกำสรวลสมุทรเล่มนี้ แท้ที่จริงก็คือวรรณคดีที่เรียกในตำราเรียนสมัยใหม่ (ที่เรียกกันขึ้นเอง) ว่า "กำสรวลศรีปราชญ์" แต่จากการศึกษาของ พ. ณ ประมวญมารค (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดี ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี) รวมทั้งผลการศึกษาของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม (อดีตผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีในประเทศไทยประจำกรมศิลปากร) มีข้อสรุปตรงกันว่าเป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นก่อนแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ก่อนขุดคลองลัด) และอาจจะอยู่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หรือหลังจากนั้นเล็กน้อยระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๑-๒๐๗๒

โคลงกำสรวลสมุทรเป็นพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในกรุงศรี อยุธยา (ไม่ใช่ "ศรีปราชญ์" ตามตำราเรียน) กล่าวถึงการเดินทางจากพระนครศรีอยุธยาโดยทางเรือ มีชื่อเรือว่า "ขทิงทอง" ล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาลงทางใต้ เมื่อผ่านสถานที่ใดก็คร่ำครวญถึงหญิงคนรักซึ่งระบุนามว่า "ศรีจุฬาลักษณ์" (อันอาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบงานวรรณกรรมร้อยกรองประเภท "โคลงนิราศ" ที่ครวญถึงคนรัก เช่น นิราศนรินทร์ ก็เลียนแบบกำสรวลสมุทรนี้)

เพราะเหตุที่การเดินทางของ "กำสรวลสมุทร" เกิดขึ้นก่อนที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชจะโปรดให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางกอก ดังนั้นเรือ "ขทิงทอง" ของกำสรวลสมุทรจึงแล่นเข้าไปตามลำน้ำเจ้าพระยาสายเก่า กล่าวคือแล่นเข้าไปตามเส้นทางที่ทุกวันนี้เรียกว่าคลองบางกอกน้อย ไปออกคลองบางกอกใหญ่นั่นเอง ด้วยเหตุนี้โคลงกำสรวลสมุทรจึงพรรณนาถึงตำบลที่อยู่บนสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า

เหตุการณ์ครั้งนั้นอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๑-๒๐๗๒ จะเป็นปีใดยังไม่รู้แน่ แต่อยู่ระหว่างแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ กับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ต่อเนื่องกัน มีหลักฐานยืนยันคือโคลงดั้น จำนวน ๑๓๐ บท เรียกกำสรวลสมุทร หรือรู้จักทั่วไปชื่อกำสรวลศรีปราชญ์ (แต่ "ศรีปราชญ์" ไม่ได้เป็นคนแต่งเรื่องนี้) แต่งอย่างที่เรียกในชั้นหลังว่านิราศ นับเป็นหนังสือนิราศมีอายุเก่าแก่มาก หรืออาจเก่าแก่ที่สุดของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็คงได้ แต่เรื่องนี้ต้องพิจารณาต่อไปอีก

ความสำคัญของกำสรวลสมุทรอยู่ที่พรรณนาชื่อบ้านนามเมืองและสถานที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (สายเก่า) ของกรุงเทพฯ ยุคดึกดำบรรพ์เอาไว้ด้วย ยังไม่พบเอกสารเก่ากว่าเล่มนี้ และไม่น่าจะมีให้พบแล้ว ต้องยกเป็นเอกสารเก่าสุดที่ออกชื่อบ้านนามเมืองและสถานที่ของกรุงเทพฯ กับปริมณฑล มีรายการตั้งแต่ใต้จังหวัดนนทบุรีลงมาดังต่อไปนี้

บางเขน

ชื่อนี้ไม่ใช่เขตบางเขน กรุงเทพฯ ปัจจุบัน หากเป็นบางเขนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้ายเหนือสะพานพระราม ๖ แต่ใต้วัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี บริเวณนี้มีคลองแยกไปทางตะวันออก เรียกคลองบางเขน

เวลาที่แต่งโคลงกำสรวลสมุทร ภูมิประเทศครั้งนั้นคงเป็นทุ่งโล่ง กวีจึงพรรณนาว่า

๐ มาทุ่งทุเรศพี้ บางเขน

เขนข่าวอกนมเฉลา ที่ตั้ง

ปืนกามกระเวนหัว ใจพี่ พระเอย

ฤาบ่ให้แก้วกั้ง พี่คงคืนคง ฯ



บางกรูด

อยู่ใต้บางเขนลงมา แต่หาร่องรอยไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหน รู้แต่ว่าน่าจะมีต้นมะกรูดขึ้นเป็นป่า เพราะกวีพรรณนาว่า

๐ เยียมาสมดอกแห้ง ฤทัย ชื่นแฮ

เครงย่อมถงวลถงมอก ค่ำเช้า

เยียมาเยียไกลกลาย บางกรูด

ถนัดกรูดเจ้าสระเกล้า กลิ่นขจร ฯ



บางพลู

อยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำ ใต้บางกรูด ถัดลงมาทางใต้สะพานพระราม ๖ และใต้บางพลัด มีวัดบางพลูเป็นร่องรอยอยู่ ย่านนี้เห็นจะปลูกพลูไว้กินกับหมากเต็มไปหมด ดังกวีพรรณนาว่า

๐ เยียมาพิเศษพี้ บางพลู

ถนัดเหมือนพลูนางเสวย พี่ดิ้น

เรียมรักษเมื่อไขดู กระเหนียก นางนา

รสรำเพยต้องมลิ้น ลั่นใจลานใจ ฯ



ฉมังราย

อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำ ทางใต้สะพานซังฮี้ลงมา ชื่อนี้เรียกกันภายหลังต่อมาว่าสมอราย มีวัดสมอรายตั้งอยู่ ปัจจุบันคือวัดราชาธิวาส

คำเดิมว่าฉมังรายจะเป็นคำมอญหรือคำเขมรยังไม่รู้ แต่กวีพรรณนาว่าย่านนี้เป็นหลักแหล่งของชาวประมงแม่น้ำ ใช้อวนหาปลาในแม่น้ำ ดังนี้

๐ เรือมาเจียรเจียดใกล้ ฉมังราย

ฉมังนอกฉมังในใน อกช้ำ

ชาวขุนสรมุทรหลาย เหลือย่าน

อวนหย่อนหยั่งน้ำถ้า ถูกปลาฯ



บางระมาด

ปัจจุบันอยู่ในคลองบางกอกน้อย แต่ยุคนั้นคือแม่น้ำเจ้าพระยา (สายเก่า) ที่ไหลคดเป็นรูปโค้งเกือกม้า

ชื่อระมาดเป็นคำเขมร แปลว่าแรด คงจะมีแรดอยู่แถบนั้น หรือจะหมายถึงอย่างอื่นก็ไม่รู้

ย่านนี้เป็นเรือกสวน มีกล้วย อ้อย และผักต่างๆ มีชาวสวนตั้งหลักแหล่งเรียงราย รวมทั้งมีตลาด (จรหลาด) ด้วย กวีพรรณนาไว้ดังนี้

๐ กล้วยอ้อยเหลืออ่านอ้าง ผักนาง

จรหลาดเล็กคนหนา ฝั่งเฝ้า

เยียมาลุดลบาง ระมาด

ถนัดระมาดเต้นเต้า ไต่เฉนียน ฯ

บางฉนัง

ปัจจุบันเรียกเพี้ยนเป็นบางเชือกหนัง อยู่ในคลองบางกอกน้อย ยังมีคลองบางเชือกหนังอยู่ฝั่งขวา ใต้คลองบางระมาด

ชื่อฉนังเป็นคำเขมร แปลว่าหม้อ น่าเชื่อว่าชุมชนนี้มีอาชีพปั้นหม้อขาย ถ้าแปลความหมายต้องเรียก บางปั้นหม้อ หรือบางหม้อ

ย่านนี้เป็นเรือกสวนหนาแน่น เพราะกวีพรรณนามาก่อนว่าสองฝั่งแม่น้ำ (เดิม) เต็มไปด้วยสวนผลไม้ มีมะม่วง ขนุน มะปราง ฯลฯ สวนถัดๆ ไปยังมีหมาก มะพร้าว เต็มไปหมด พวกแม่ค้าชาวบ้านต่างทำขนมแล้วเอาผลหมากผลไม้มาขาย แสดงว่าสมัยนั้นเป็นชุมชนใหม่แล้ว ดังนี้

๐ มุ่งเห็นเดียรดาษสร้อย แสนสวน

แมนม่วงขนุนไรเรียง รุ่นสร้อย

กทึงทองลำดวนโดร รสอ่อน พี่แม่

ปรางประเหลแก้มช้อย ซาบฟัน ฯ

๐ เยียมาแล้วไส้หย่อน บางฉนัง

ฉนังบ่มาทันสาย แสบท้อง

ขนมทิพย์พงารัง รจเรข มาแม่

ยินข่าวไขหม้อน้อง อิ่มเอง ฯ

๐ ด้าวหั้นอเนกซื้อ ขนมขาย

อรอ่อนเลวงคิด ค่าพร้าว

หมากสุกชระลายปลง ปลิดใหม่

มือแม่ค้าล้าวล้าว แล่นชิงโซรมชิง ฯ



บางจาก

อยู่ฝั่งขวาแม่น้ำ (เดิม) ใต้บางเชือกหนัง มีโคลงว่า

๐ มลักเห็นน้ำหน้าไน่ นัยน์ตา พี่แม่

เรียมตากตนติงกาย น่าน้อง

ลันลุงพี่แลมา บางจาก

เจียรจากตีอกร้อง เรียกนางหานาง ฯ



บางนางนอง

ในโคลงเขียนคร่ำครวญว่า "นองชลเนตร"

เมื่อกวีล่องเรือตามแม่น้ำ (เดิม) ถึงคลองบางกอกใหญ่ ได้เลี้ยวขวาเข้าคลองด่าน (ตรงวัดปากน้ำภาษีเจริญ) มุ่งไปทางบางขุนเทียน ผ่านตำบลบ้านแห่งหนึ่ง คือบางนางนอง ปัจจุบันมีวัดนางนอง ตั้งอยู่ริมคลอง มีโคลงกล่าวว่า

๐ เสียดายหน้าช้อยชื่น บัวทอง กูนา

ศรีเกษเกษรสาว ดอกไม้

มาดลบันลุนอง ชลเนตร

ชลเนตรชู้ช้อยไห้ ร่วงแรงโรยแรง ฯ

บรรยากาศของสองฝั่งคลองด่านย่านบางนางนองยังเป็นเรือกสวนหนาแน่น โดยเฉพาะสวนหมาก ดังโคลงบาทแรกของบทที่ ๖๓ ว่า "ลันลุงสองฟากฟุ้ง ผกาสลา" เมื่อสัก ๕๐ ปีที่แล้วย่านนี้ยังมีสวนหมากแน่นสองฝั่งคลอง



บางเชือกหนัง-บางระมาด

ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ

หลังยุคกำสรวลสมุทรโคลงดั้น ราว พ.ศ. ๒๐๘๕ สมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดให้ขุดคลองลัด ตั้งแต่บริเวณที่ปัจจุบันเรียกปากคลองบางกอกน้อยจนถึงปากคลองบางกอกใหญ่ เพื่อให้การคมนาคมทางเรือย่นเวลา ไม่ต้องแล่นเรืออ้อมไปตามความคดเป็นรูปโค้งเกือกม้าเสียเวลามาก

เมื่อขุดคลองลัดแล้วกระแสน้ำก็ไหลลงตามทางตรงมากกว่าไหลไปตามความคดโค้งที่เป็นมาแต่ก่อน ทำให้คลองลัดที่ขุดใหม่ถูกทะลุทะลวงด้วยกระแสน้ำ เมื่อนานปีเข้าก็ขยายออกกว้างขวางกลายเป็นแม่น้ำสายใหม่ ส่วนแม่น้ำสายเดิมค่อยเล็กลงเป็นคลอง แล้วเรียกคลองบางกอกน้อย-คลองบางกอกใหญ่สืบมาถึงทุกวันนี้

บริเวณคลองลัดที่ขยับขยายกลายเป็นแม่น้ำสายใหม่ ภายหลังเรียกแม่น้ำเจ้าพระยา (ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยถึงปากคลองบางกอกใหญ่ หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับโรงพยาบาลศิริราช ถึงวัดโพธิ์กับวัดแจ้ง) ก็ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีสำเภาจากต่างประเทศเข้ามาค้าขาย แล้วแวะจอดพักแรมก่อนขึ้นไปพระนครศรีอยุธยา ทำให้มีผู้คนมาตั้งหลักแหล่งมากขึ้นทั้งสองฟากฝั่ง

ในที่สุดก็เติบโตขึ้นเป็นเมือง ให้ชื่อเมืองธนบุรี มีผู้เป็นหัวหน้าได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรี อยุธยาให้เป็นเจ้าเมือง มีจวนเจ้าเมืองอยู่ฝั่งขวา ทางตะวันตก ตรงปากคลองบางกอกใหญ่ ใกล้วัดแจ้ง แต่ชาวต่างชาตินิยมเรียกเมืองบางกอก ตามชื่อเดิมสืบมาจนปัจจุบัน

แต่สิ่งที่ยังเหลืออยู่ให้เห็นรากเหง้าเก่าแก่ของแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าคือ คลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่

ที่สำคัญคือ บางเชือกหนัง-บางระมาด ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร มีอายุมากกว่า ๕๐๐ ปี อยู่ในคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่นี่เอง

ขลุ่ยบ้านลาว ( ชุมชนวัดบางไส้ไก่ )








ในช่วงตอนที่ผมยังเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาอยู่ในโรงเรียนวัดประยุรวงศาวาสแถวฝั่งธนฯ ยังมีช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงหนึ่งที่ผมยังจำได้อยู่พอลางๆ ว่าครั้งหนึ่งคุณครูเคยพาผมกับเพื่อนๆ ไปดูนิทรรศการวิชาการที่โรงเรียนศึกษานารีที่อยู่ไม่ไกลกันนัก ...แค่เดินออกจากหลังโรงเรียนทะลุวัดประยูรฯ ไปก็ถึงแล้ว ที่นั่น...หอประชุมชั้นล่าง มีลุงกับป้าสองคนจากชุมชมวัดบางไส้ไก่กำลังสาธิตการเทตะกั่วที่หลอมละลายเป็นของเหลวให้เกิดลวดลายบนลำขลุ่ยไม้รวก ผมจำได้ว่าผมยืนดูอยู่นานเหมือนกัน... แต่อย่างว่าน่ะครับ การรับรู้ของเด็กอย่างผมก็แค่เป็นเรื่องที่ไม่เคยเห็น ยังไม่มีความสามารถในการตีค่าความสำคัญหรือความมีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์และศิลปะซะเท่าไร

เวลาผ่านไป คำว่าชุมชนวัดบางไส้ไก่ และวิธีการทำลวดลายดังกล่าวมันเลือนหายไปจากความทรงจำของผม จนเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยหน้าที่ในการหาข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนลาวที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงกรุงธนบุรี - ต้นรัตนโกสินทร์ ทำให้ผมได้มีโอกาสเดินทางเข้าไปที่ชุมชนวัดบางไส้ไก่เพื่อที่จะไปตามหาขลุ่ยบ้านลาว ที่น่าจะเป็นตัวแทนในเชิงงานฝีมือของชุมชนลาวได้อย่างหนึ่ง

บล็อกนี้ผมจะพามาให้รู้จักกับบ้านเล็กๆ หลังหนึ่งในชุมชนวัดบางไส้ไก่ หลังมหาวิทยาลัยราชภัฏสมเด็จเจ้าพระยา ที่ยังคงสืบทอดการทำขลุ่ยที่มีคุณภาพที่สุดแห่งหนึ่ง ที่เรียกโดยทั่วๆ ไปของนักเป่าขลุ่ยว่า "ขลุ่ยบ้านลาว"


และบ้านหลังนั้น ..คือ...
บ้านของลุงจรินทร์ กลิ่นบุปผา
ผู้ซึ่งเสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็งที่ตับและลำไส้
เมื่อปลายปี 2549 ไม่นานมานี้เอง

ถึงแม้ว่าคุณลุงจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่บรรยากาศภายในบ้านเหมือนกับว่าคุณลุงยังเป็นเจ้าของอยู่เหมือนเดิม เพราะไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็จะมีแต่รูปของคุณลุงที่ถ่ายกับลูกศิษย์ที่คุณลุงไปสอน ถ่ายกับเพื่อนนักดนตรีด้วยกันให้แขกที่เข้าไปอย่างผมได้รับรู้ถึงความรักของลูกหลานและลูกศิษย์ที่มีต่อคุณลุงว่ามีมากน้อยแค่ไหน

ถ้าพูดถึงขลุ่ยไทยเท่าที่ยังมีขายกันอยู่ในท้องตลาดทุกวันนี้มีที่มาจากแหล่งต่างๆ ที่รู้จักกันดีก็เห็นจะมีขลุ่ยจากบ้านสีแก้ว จังหวัดร้อยเอ็ด บ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี และบ้านลาวบางไส้ไก่ กรุงเทพฯ ซึ่งที่หลังนี้เองที่เป็นแหล่งผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานดีที่สุด ทั้งนี้ชุมชนดังกล่าวสืบทอดมาจากบรรพบุรุษเชื้อสายลาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งชาวลาวเหล่านี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นชนชาติที่รักในเสียงดนตรีเป็นอย่างมาก และครอบครัวกลิ่นบุปผานี่เองก็เป็นครอบครัวหนึ่งที่ยังคงสืบทอดวิชาการทำขลุ่ยจากรุ่นปู่รุ่นย่ามาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานจนถึงปัจจุบัน

การได้เข้าไปที่บ้านของคุณลุงจรินทร์ครั้งนี้ผมมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะไปขอซื้อขลุ่ยแบบที่มีการตกแต่งผิวขลุ่ยด้วยการเทตะกั่วร้อนให้เป็นลายสีน้ำตาลไหม้ที่ผมเคยเห็นเมื่อตอนเด็กๆ เพื่อที่จะนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง แน่นอนว่าในวันนั้นผมไม่ได้พบกับคุณลุงจรินทร์ แต่ผมได้พบกับพี่สุนัยซึ่งเป็นลูกชายของคุณลุงจรินทร์ที่ยังคงประกอบอาชีพทำขลุ่ยไทยขายอยู่จนถึงทุกวันนี้


แต่เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะยินดีสักเท่าไร เพราะพี่สุนัยบอกว่าการเทตะกั่วร้อนให้เกิดลายบนผิวขลุ่ยนั้นปัจจุบันหาช่างทำไม่ได้แล้ว และเด็กรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่มีใครสนใจที่จะทำกันเนื่องจากต้องใช้ความอดทนและความชำนาญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะลายดอกพิกุลที่ถือว่าเป็นลายที่สวยที่สุด และพี่สุนัยเองก็เหลือขลุ่ยแบบดังกล่าวแค่ 3 เลาเท่านั้นเอง ซึ่งก่อนหน้าที่ผมมาก็เพิ่งจะมีคนติดต่อขอซื้อไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เหมือนกัน

แต่ด้วยความใจดีของพี่สุนัยที่อยากให้เยาวชนรุ่นหลังได้เห็นความงดงามที่อยู่บนลำขลุ่ยไม่รวกนั้น พี่เขาได้สละขลุ่ยที่เหลืออยู่นั้นมาให้ผม 1 เลา และเป็นเลาที่สวยที่สุดเท่าที่เหลืออยู่ เพื่อนำไปจัดแสดง โดยที่ผมก็มีค่าตอบแทนให้เล็กๆ น้อยๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตามผมว่ามันเทียบไม่ได้กับคุณค่าทางฝีมือและเรื่องราวของขลุ่ยตระกูลกลิ่นบุปผาแม้แต่น้อย

ขลุ่ยแบบนี้ล่ะครับที่ผมต้องการ
เลาบนและเลาล่างเป็นขลุ่ยลายดอกพิกุลซึ่งเป็นลายที่ทำยากที่สุด
เลากลางเป็นลายกระจับ

ไม้แบบที่เป็นตัวเทียบตำแหน่งในการเจาะรูขลุ่ย


พี่สุนัย กับผลงานของตัวเองที่เรียกว่า พญางิ้วดำ
เป็นขลุ่ยที่ทำจากไม้เนื้อสีดำของจริงสวยมากๆ และราคาก็ไม่ใช่น้อย

นอกจากจะทำขลุ่ยแบบโบราณแล้วก็ยังทำขลุ่ยจากท่อ PVC
ที่รุ่นเด็กๆ สมัยนี้ใช้เรียนตามโรงเรียนทั่วๆ ไปด้วยนะครับ

+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +

ในวันนั้น... ผมสามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปภาระกิจหนึ่ง แต่สิ่งที่ได้นอกเหนือจากนั้นคือ ความสุขใจที่ได้เป็นผู้ฟังและผู้รับการถ่ายทอดความภาคภูมิใจของคนในตระกูลกลิ่นบุปผาในการสืบทอดวิชาการทำขลุ่ย และความสุขใจนั้นเองได้แปรเปลี่ยนมาเป็นสัญญาใจในการที่จะกลับมาประชาสัมพันธ์ต่อๆ ไป เพื่อให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ว่า ขลุ่ยบ้านลาวเป็นขลุ่ยที่มีคุณภาพที่สุดแห่งหนึ่ง และยังไม่เลือนหายไปจากประเทศไทย

ชุมชนบ้านบาตร














...บ้านบาตร เป็นชุมชนที่คนทั่วไปรู้จักันเป็นอย่างดี เนื่องจากมีชื่อเสียงทางด้านการทำบาตรพระมาตั้งแต่อดีต โดยที่หน้าบ้านของชุมชนดังกล่าวในแต่ละหลังจะมีอุปกรณ์และเครื่องมือการทำบาตรพระตั้งวางอยู่ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในระยะหลังนี้ การทำบาตรพระในชุมชนได้ลดน้อยลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้เหลือเพียง 3 ครอบครัว ที่ยังคงยึดอาชีพการทำบาตรอยู่ นับตั้งแต่ที่ ประเทศไทยมีกรุงเทพ มหานครเป็นราชธานี โดยพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งอดีตทรงเป็นทหาร หลวงในหรุงศรีอยุธยานั้น ทรงมี พระราชประสงค์จะ ให้พระราชธานีแห่งใหม่นี้ เป็นศูนย์กลางประเทศ เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่มั่งคั่ง สมบูรณ์ไม่แพ้กรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งรุ่งเรืองนั้น ชาวบ้านที่อพยพ มาจากกรุงเก่า และชาวบางกอกเดิมนั้น ต่างก็ต้องปรับตัวให้ตนอยู่รอดมากที่สุด ดังนั้นชุมชนเดิมๆ ที่รวมกลุ่มเป็นหมู่บ้าน แบบเฉพาะถิ่นตน อาทิ กลุ่มชาวนา กลุ่มพ่อค้า กลุ่มชาวจีน ชาวญวน หรือแม้แต่กลุ่มอาชีพดั้งเดิมก็ถูกปลุกให้เกิดขึ้น และที่ถนนบำรุงเมือง หลังวัดสระเกศ ใกล้ๆ กับเมรุปูนนั้น มีซอยย่อยๆ ที่ตั้งใกล้ๆ กันอยู่ยาวทั่วทั้งถนน ซึ่งในอดีตนั้น ที่ถนนแห่งนี้เคยเป็นแหล่งชุมชนคนทำกิน อาชีพหนึ่ง ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับ ชาวบ้านได้ตลอดทั้งปี ย่านนี้เราเรียก กันว่า "บ้านบาตร" แนวคิดการทำ "หนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล" ของรัฐบาลทักษิณ มิใช่เรื่องใหม่ เพราะนับตั้งแต่ 2 ศตวรรษมาแล้ว ที่ชาวบ้านจากกรุงเก่า ชาว บางกอกเดิม รวมทั้งชาวญวนอพยพที่พากันมา ตั้งถิ่นฐานใกล้ๆ กับวัดสระเกศนี้เคยเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านแทบทุกคนประกอบอาชีพคล้ายๆ กันจนเรียกอาชีพ ส่วนใหญ่ของแต่ละถิ่นนั้นเป็นชื่อหมู่บ้านไป ที่ย่านถนนบำรุงเมืองนี้ก็มีลักษณะของหมู่บ้านตามอาชีพเช่นกัน อย่างชุมชนบ้านดอกไม้ที่อยู่ข้างวัดสระเกศฝั่งคลองโอ่งอ่างก็เป็นหมู่บ้านทำ ดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล และหมู่บ้านบ้านบาตรดังที่เกริ่นไว้ในข้างต้น ก็ทำธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายบาตรพระเช่นเดียวกันหมด ด้วยเหตุที่ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้วัด หลวงอยู่หลายแห่ง ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการทำผลิตภัณฑ์ซ้ำๆ กันเพียง อย่างเดียวได้อย่างไม่ขัดสน ซึ่งจะว่าไป แนวคิดที่ว่ามาทั้งหมดนี้เคยเกิดขึ้นใน ยุคกรุงศรีอยุธยามาก่อนแล้ว ในปัจจุบัน ยังมีชาวบ้านในย่านบ้านบาตรทำบาตร พระให้เห็นอยู่บ้าง 3-4 แห่ง

71 ซ. บ้านบาตร ถ. บริพัตร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100

โทร. 0-2223-7970

เข้าชมได้ทุกวัน เวลา 10.00 - 20.00 น. ไม่เสียค่าธรรมเนียม

*** Update การเดินทาง

...ไปยังชุมชนบ้านบาตร จากเสาชิงช้าเดินไปตามถนนบำรุงเมืองมุ่งหน้าไปทางแยกสำราญราษฎร์ เมื่อข้ามสะพานสมมติอมรมารคให้เลี้ยวขวาเข้าไปในถนนบริพัตร เดินไปประมาณเกือบกลางซอยจะเห็นซอยบ้านบาตรอยู่ทางซ้ายมือ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการมาชมอยู่ที่เวลา 11.00-15.00 เนื่องจากชาวชุมชนจะกำลังทำบาตรกันพอดี

สอบถามรายละเอียด ติดต่อคุณป้ากฤษณา แสงไชย โทร. 0-2819-3641 กด 7, 0-6997-6621

สำหรับย่านเสาชิงช้านอกจากบ้านบาตรแล้วยังมีสถานที่ที่น่าสนใจให้เที่ยวชมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดสุทัศนเทพวราราม ที่มีเสาชิงช้าสีแดงสดตั้งโดดเด่นอยู่ด้านหน้าวัด มีโบสถ์พราหมณ์ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน

พิธีโล้ชิงช้าที่ว่านั้นเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เพื่อต้อนรับพระอิศวรที่เสด็จลงมาเยี่ยมโลก แต่พิธีที่ว่านี้ได้เลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 7 ยังคงเหลือเพียงเสาชิงช้าที่เด่นเป็นสง่าท้าแดดฝนมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ย่านเสาชิงช้ายังเป็นแหล่งรวมร้านขายสังฆภัณฑ์ และย่านร้านอร่อย อีกด้วย

บ้านบาตร : จากหัตถกรรมที่กำลังโรยรา สู่ การแข่งขันในยุค OTOP *
*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานวิชา Folklife and Material Culture ของผู้เขียน นักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

บทความอื่น

ชุมชนบ้านบาตร ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณสี่แยกเมรุปูน ซอยบ้านบาตร ถนนบำรุงเมืองและถนนบริพัตร แขวงสำราญราษฎร์
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ 37 งาน ที่ดินเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
สภาพทั่วไปเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวและสองชั้น รวมถึงบ้านปูนตามแบบสมัยใหม่ ปลูกอยู่ติดกัน
ทางเดินเท้าภายในชุมชนเป็นคอนกรีตเชื่อมติดต่อกันตลอด


กว่าจะเป็น " ย่านบ้านบาตร"




พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
เมื่อครั้งอดีตทรงเป็นทหารหลวงในสมัยอยุธยา มีพระราชประสงค์จะให้กรุงเทพฯเป็นราชธานีแห่งใหม่ เป็นศูนย์กลางอาณาจักร
ด้วยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่มั่งคั่งสมบูรณ์ไม่แพ้กรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านที่อพยพมาจากกรุงเก่า และชาวบางกอกเดิม
ต่างก็ต้องปรับตัวให้ตนอยู่รอดมากที่สุด ดังนั้นชุมชนเดิมที่รวมกลุ่มเป็นหมู่บ้านแบบเฉพาะถิ่น อาทิ กลุ่มชาวนา กลุ่มพ่อค้า
กลุ่มชาวจีน ชาวญวน หรือแม้แต่กลุ่มอาชีพดั้งเดิมก็ถูกรื้อฟื้นให้มีขึ้น เช่น ที่ถนนบำรุงเมืองหลังวัดสระเกศ
ใกล้กับเมรุปูนมีซอยย่อยที่ตั้งใกล้กันอยู่ยาวทั่วทั้งถนน ในอดีตนั้นถนนแห่งนี้เคยเป็นแหล่งชุมชนคนทำกินอาชีพหนึ่ง
ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ตลอดทั้งปี ย่านนี้เรียกกันว่า "บ้านบาตร"


บ้านบาตรตั้งขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด ประมาณกันว่า ชุมชนมีอายุยาวนานกว่าสองร้อยปี แหล่งที่มาของชาวบ้านบาตร
มีประวัติศาสตร์บอกเล่าที่แตกต่างกัน


ปรากฏคำบอกเล่าว่า คนบ้านบาตรเดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา อพยพมาเมื่อครั้งเสียกรุงใน พ.ศ.2310 สันนิษฐานว่า
บ้านบาตรอาจตั้งขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
โปรดให้สถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานีและขุดคลองรอบกรุงขึ้นในปี พ.ศ. 2326
ชาวบ้านบาตรจึงมาตั้งบ้านเรือนในละแวกนอกคลองตามที่อยู่ปัจจุบัน


นอกจากนั้นยังมีคำบอกเล่าต่อ ๆกันว่า บรรพบุรุษเดิมเป็นชาวเขมรที่เข้ามากับกองทัพไทยในสมัยรัชกาลที่ 3
หลังจากนั้นได้รวมกันมาอยู่ที่ตรอกเขมรและบ้านบาตรจนกลายเป็นชุมชน เนื่องจากพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ หรือผู้มีฐานะมักนิยมสร้างวัด ทำให้มีวัดในกรุงเทพฯ จำนวนมาก ทั้งชาวเขมรในชุมชนแห่งนี้มีชื่อเสียงด้านทำบาตรพระ
และประกอบอาชีพนี้มานานกว่า 100 ปีแล้ว

เนื้อความในพงศาวดารฉบับหนึ่งกล่าวถึงภูมิสถานอยุธยาว่า ตลาดหน้าวัดพระมหาธาตุที่กลางกรุง เป็นตลาดค้าบาตรถลกบาตร
เฉกเช่นเดียวกับตลาดเสาชิงช้ากลางกรุงเทพมหานคร อันเป็นย่านการค้าพระพุทธรูปใหญ่น้อยและเครื่องสังฆภัณฑ์นานาชนิด
สถานที่ดังกล่าวนี้เองเคยเป็นตลาดใหญ่ขายส่งบาตรของชาวบ้านเมื่อหลายสิบปีล่วงมาแล้ว

ทั้งนี้ด้วยอาศัยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนร่วมกันทำนุบำรุงค้าชูพระศาสนาโดยประเพณีบวชลูกหลานสืบเนื่องต่อกันมาโดย
ไม่ขาดสาย ชาวบ้านบาตรจึงมีงามอุดมพอเลี้ยงชีพและผดุงศิลปะการทำบาตรต่อมาในชุมชนบ้านบาตรทุกเหย้าเรือน

"จนกระทั่งปี พ.ศ.2514 มีการก่อตั้งโรงงานผลิตบาตรพระขึ้นมาจึงทำให้กิจการทำบาตรพระที่บ้านบาตรค่อยๆลดน้อยลงไป
"ก่อนหน้านั้นบ้านบาตรทำบาตรพระกันทั้งหมู่บ้าน พอเจอบาตรปั๊มจากโรงงานตีตลาด เราก็หยุดไปประมาณ 20-30 ปี มาปี พ.ศ.2544
มีการตั้งกลุ่มทำบาตรพระขึ้นมา โดยท่านชาญชัย วามะศิริ ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบฯ ท่านได้ส่งเสริมอนุรักษ์การทำบาตรของเรา
โดยการส่งเสริมพานักท่องเที่ยวเข้ามาดูวิธีการทำบาตร ตอนนี้งาน เริ่มขยับตัวขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2544-2545" (คุณหิรัญ เสือศรีเสริม
รองประธานชุมชนบ้านบาตร)


ปัจจุบันมีการผลิตบาตรบุน้อยลงมากและจำกัดอยู่เพียงจำหน่ายเป็นของที่ระลึกหรือรับสั่งทำจากพระสงฆ์โดยตรงเท่านั้น
ปัจจัยหลักที่ทำให้หัตถกรรมบาตรบุลดน้อยถอยลงเป็นลำดับเนื่องจากมี "บาตรปั๊ม" เข้ามาแทนที่เมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมา
และมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นส่วนใหญ่ บาตรปั๊มซึ่งมีกำลังการผลิตสูง ราคาขายส่งถูก



จึงเป็นที่ต้องการของพ่อค้าคนกลางเทียบกันตามราคาขาย "บาตรบุ" ขนาด 7 นิ้ว จำหน่ายในราคา 800 บาท
บาตรปั๊มสามารถขายในราคาเพียง 100 กว่าบาทเท่านั้น พ่อค้าคนกลางจึงหันมาจำหน่ายบาตรปั๊ม และกดราคาบาตรบุลง
จนช่างไม่สามารถหากำไรจากการขายส่งได้ จึงหันมารับงานที่ผู้ว่าจ้างต้องการความประณีตเป็นพิเศษโดยไม่เกี่ยงราคา
บางคนก็เลิกอาชีพช่างไปประกอบอาชีพอื่น บาตรปั๊มจึงเข้ายึดครองตลาดจนบาตรบุขาดหายไปจากตลาดเครื่องสังฆภัณฑ์ในช่วง 30
ปีนั้น


บาตรบุของชาวบ้านบาตรมีราคาสูงเนื่องจากการทำบาตรต้องอาศัยช่างหลายประเภท แบ่งค่าจ้างแรงงานให้กับช่างฝีมือต่างๆ
ประกอบด้วย ช่างตีขอบ ช่างต่อบาตร ช่างแล่น ช่างลาย ช่างตีและช่างตะไบ จึงมีค่าใช้จ่ายเป็นต้นทุนสูง
ช่างบางคนก็ทำได้เองทุกขั้นตอนแต่แบ่งงานกันไปตามความชำนาญเป็นการผ่อนแรงโดยมาก


วัสดุที่ใช้ทำบาตร ในอดีตคือ ตัวถังเหล็กยางมะตอย ที่ทางเทศบาลกรุงเทพมหานครใช้ใส่ยางมะตอยเพื่อราดถนน
เมื่อถึงเวลาจะมีคนนำถังยางมะตอยที่ใช้แล้วมาส่งให้ที่ชุมชน ราคาประมาณ 10 กว่าบาทต่อถัง 1 ใบ โดยถังยางมะตอยทำจากเหล็ก
มีเนื้อบาง ทำให้สามารถตีบาตรได้ง่าย สะดวก และราคาไม่แพง


ปัจจุบัน เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นจึงทำบาตรจากเหล็กแผ่น ที่ต้องหาซื้อเองจากแถวหัวลำโพง ราคาเฉลี่ยต่อบาตรใบละ 100 บาท
สาเหตุที่ทำให้วัตถุเปลี่ยนแปลง เนื่องจากชาวบ้านบาตรชะงักการผลิตลงในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อทำบาตรใหม่อีกครั้งจึงต้องเริ่มต้นใหม่
ด้วยการปรับเปลี่ยนคุณภาพบาตรให้ดีกว่าเดิม เพื่อแข่งขันกับ "บาตรปั๊ม" "บาตรบุ" จึงต้องทำจากเหล็กหนา
ให้เป็นสินค้าที่ทำด้วยมือถูกต้องตามหลักพระวินัย บาตรจึงมีราคาสูงขึ้นจากเดิมมาก ทั้งวัสดุมีราคาสูง
และค่าแรงที่เพิ่มมากขึ้นด้วยขั้นตอนที่ซับซ้อนในการทำบาตรด้วยเหล็กคุณภาพดี



ต้นทุนในการทำบาตรมีตั้งแต่ค่าเหล็ก ใบละ 100 บาท ค่าแรงงานในการตัดเหล็ก, งอเหล็ก, ติดปากบาตร, ติดหน้าวัว = 100 บาท
ปากบาตรขนาดทั่วไป เส้นละ 50 บาท ขนาดเล็กสำหรับเป็นของฝาก เส้นละ 15 บาท เชื่อมตะเข็บ ใบละ 70 บาท ตีตะเข็บ ใบละ 70
บาท ตีเม็ด ใบละ 80 บาท ตะไบบาตร ใบละ 100 บาท รวมราคาบาทพร้อมค่าแรงเบื้องต้น 570 บาท


ยังต้องมีค่าวัสดุในการแล่นบาตร ล้างบาตรที่ปัจจุบันใช้น้ำกรดผสมในการล้างคราบเขม่าจากการแล่นบาตร
และค่าสีในการตกแต่งบาตรเพื่อเป็นของที่ระลึก ทำให้บาตรมีราคาสูงมากขึ้นจากในอดีตที่บาตรใบละ 100 บาท เท่านั้น
แต่ปัจจุบันบาตรใบละ 800-1,500 บาท (ราคาบาตรที่บ้านบาตร ถ้าขายให้คนไทยจะนิยมขนาด 7 นิ้ว ราคาใบละ 900 บาท
ชาวต่างชาติขายราคาใบละ 1,200-1,500 บาท ส่วนบาตรขนาดมาตรฐานก็คือ 8.5-9 นิ้ว ราคา 1,400-1,500 บาท)
ไม่นับรวมบาตรสแตนเลสที่กำลังได้รับความนิยมแทนบาตรเหล็ก ราคาใบละ 3,500 บาท เนื่องจากการใช้งานสะดวกกว่า

และด้วยกาลเวลาทำให้ความสะดวก ความเหมาะสมมีความสำคัญมากกว่าหลักพระวินัย
จึงมีการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบจากเหล็กเป็นสแตนเลสตาม ความต้องการของพระซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ด้วยคุณสมบัติของบาตรที่ทำด้วยมือของชาวบ้านบาตร เมื่อเทียบกับราคาแล้วถือว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมากเมื่อ เปรียบเทียบ กับบาตรปั๊มที่ทำจากเครื่องจักรกล นอกจากนั้น บาตรยังต้องกับพระวินัยและ ยังมีความคงทนมีความหลากหลายในรูปทรงที่ สืบทอดภูมิปัญญามาแต่โบราณ ซึ่งช่างทำบาตรที่ยึดอาชีพนี้จะต้องทำด้วยใจรักอย่างแท้จริง ทำขึ้นด้วยความศรัทธา
ในพระพุทธศาสนา ด้วยความเคารพในวิชาความรู้ ครูบาอาจารย์ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้สอยในการยังชีพทุกชิ้น ตามแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทย บาตรของชาวบ้านบาตรจึงกอปรด้วยคุณค่าที่ผสานฝีมือแรงงาน
และจิตใจไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนบางครั้งการตีค่าความคุ้มค่าของบาตรอาจไม่สามารถกำหนดด้วยค่าเงินตรา
ควรเป็นค่าที่จิตใจมากกว่า



ชุมชนบ้านบาตรจากวันวานถึงวันนี้


บริเวณชุมชนบ้านบาตรมีการทำบาตรพระตลอดทั้งซอย การประกอบอาชีพทำบาตรทำมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
พื้นเพของชาวบ้านมาจากอยุธยา แต่เริ่มประกอบอาชีพทำบาตรอย่างจริงจังเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5
แล้วสืบทอดต่อกันมาจากชั่วอายุหนึ่งสู่อีกชั่วอายุหนึ่ง แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนผ่านไป แต่การทำบาตรที่ชุมชนนี้ยังคงดำเนินอยู่
และเป็นแค่ชุมชนเดียวเท่านั้นในประเทศไทยที่มีการทำบาตรพระด้วยมือตามแบบอย่างโบราณ

ทุกวันนี้ อนุชนช่างบ้านบาตรยังคงสืบสานงานอาชีพศิลป์อยู่ ณ แหล่งเดิม สิ่งที่คนทำบาตรทุกคนจะต้องทำก่อนการเริ่มอาชีพ
ทำบาตรคือ ไปขอกับพ่อปู่ โดยการกล่าวบอกว่าตนเองต้องการเป็นช่าง ขอฝากตัวเป็นศิษย์ ขอให้ทำบาตรให้ออกมาสวย ดี
ไม่บุบ โดยทุกคนจะต้องมาไหว้ขอก่อน มิเช่นนั้นจะไม่สามารถตีบาตรที่สวยได้เลย ถ้าตีเรียบก็อาจจะตีไม่เที่ยงไม่โดนกะล่อน อาจทำให้บาตรเสียทรงได้


ในชีวิตประจำวัน ช่างทำบาตรต้องยกมือไหว้เครื่องมือทุกชิ้น พบว่ามีความเชื่อหนึ่งที่ว่า บ้านใดที่เคยเป็นช่างแล่นมาก่อน
จะมีเตาสูบ เมื่อเตาสูบเลิกใช้งานแล้ว มักนำเตาสูบตั้งบูชานับถือเป็นปู่ครูทั่วทั้งย่านบ้านบาตร ทำให้เตาสูบแบบ ดั้งเดิมยังคงหลงเหลือให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามาแทนที่ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได
้เคยสร้างไว้ ให้หลงเหลือแค่เพียงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีคุณค่าต่อการเคารพบูชาปัจจุบันการทำบาตรพระในชุมชน
บ้านบาตรเหลืออยู่ 3 หลังคาเรือนหลักเท่านั้น

มรดกการทำบาตร: ใครจะสืบทอด?


ในอดีตจะมีการสืบทอดให้กับลูกหลานในบ้านของตน แต่ปัจจุบันลูกหลานไม่มีความสนใจเท่าที่ควรอีกทั้งการได้รับ
การศึกษาที่สูงขึ้น ทำให้การหาอาชีพที่สบายกว่า รายได้ดีกว่า หรือมีเกียรติในมุมมองของชาวบ้านอย่างการรับราชการ เป็นอาชีพที่ถูกเลือกทั้งจากพ่อแม่และลูกหลานในชุมชน ทำให้ผู้ที่สนใจการทำบาตรเป็นคนนอกชุมชนที่ต้องการอนุรักษ์บาตร
ให้คงอยู่ จึงมีการเปิดสอนที่สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายแต่ทั้งผู้ใหญ่ และเด็กไม่สนใจเท่าที่ควร จึงหยุดสอน ในปัจจุบันจะมีแต่โรงเรียนเพาะช่างซึ่งอยู่ใกล้ชุมชนและสนใจในงานบาตรบุ จึงมีการเชิญชาวบ้านบาตร ไปเป็นวิทยากรบ้าง แต่ไม่ได้จริงจังที่จะเป็นหลักสูตรใด จึงยังไม่มีการสืบทอดอย่างจริงจัง ช่างทุกคนล้วนเป็นลูกหลานที่ปัจจุบันอายุไม่ต่ำกว่า 45 ป
ีแล้ว และยังไม่มีคนรุ่นใหม่คนไหนที่ต้องการเรียนรู้อย่างแท้จริง


ในมุมมองของผู้เขียน ช่างทำบาตรเป็นอาชีพที่ใช้แรงมาก ค่าแรงน้อย ไม่เป็นที่ต้องการของคนรุ่นใหม่ที่มีทางเลือกในอาชีพ
ที่หลากหลายและสบายมากกว่าการตีบาตร แต่ทั้งนี้ ถ้าไม่มีใครสืบทอดต่อจริง ๆ แล้ว คนนอกชุมชนนั้นที่จะต้องยื่นมือเข้ามา
ช่วยเหลือ เพื่ออนุรักษ์ไว้ และเมื่อถึงวันนั้นจริง ๆ เชื่อว่า บาตรเหล็กที่ทำจากมือจะยังคงอยู่ แต่ไม่ใช่ในชุมชนบ้านบาตรเท่านั้น



เสียงร้องจากชาวบ้านบาตร


นายช่างทำบาตรหลายคน ต้องการให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเผยแพร่เรื่องราว ความเป็นมาอันยาวนานและมีคุณค่า
ของชุนชนบ้าน บาตรลงในวารสารการท่องเที่ยว และอยากให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือ เพื่อศิลปะการทำบาตรพระจะอยู่ได้ต่อไป
ปัจจุบันการสนับสนุนให้บาตรพระกลับมาเป็นสิ่งที่ระลึกเพื่อ กระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคในสังคมให้มากขึ้น รัฐบาลได้จัดให้บาตรพระขนาดเล็ก (ประมาณ 2-5 นิ้ว) เป็นสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว ที่คุณสมศักดิ์ บัพชาติ ชนะการประกวดระดับเขตมาได้


แนวคิดการทำ "หนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล" ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน(พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร) ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่
เพราะนับเวลากว่า 2 ศตวรรษแล้ว ที่ชาวบ้านจากกรุงเก่า ชาวบางกอกเดิม รวมทั้งชาวญวนอพยพที่พากันมาตั้งถิ่นฐานใกล้ ๆ กับวัดสระเกศนี้ เคยเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านแทบทุกคนประกอบอาชีพคล้าย ๆ กัน

จนเรียกอาชีพส่วนใหญ่ของแต่ละถิ่นนั้นเป็นชื่อหมู่บ้านไป เช่นเดียวกับที่ย่านถนนบำรุงเมืองนี้ ได้มีลักษณะของหมู่บ้านตามอาชีพ
เช่นกัน อย่างชุมชนบ้านดอกไม้ที่อยู่ข้างวัดสระเกศฝั่งคลองโอ่งอ่างก็เป็นหมู่บ้านทำ ดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล

และสำหรับหมู่บ้านบ้านบาตรดังที่เกริ่นไว้ในข้างต้น ก็ทำธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายบาตรพระเช่นเดียวกันหมด ด้วยเหตุที่ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้วัดหลวงอยู่หลายแห่ง ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการทำผลิตภัณฑ์ซ้ำ ๆ กันเพียง อย่างเดียวได้อย่าง
ไม่ขัดสน ซึ่งจะว่าไป แนวคิดที่ว่ามาทั้งหมดนี้เคยเกิดขึ้นใน ยุคกรุงศรีอยุธยามาก่อนแล้ว


แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ ในอดีต ชาวบ้านทำสินค้าชนิดเดียวกันเพื่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชน จะได้เกื้อกูลกันในการค้าขาย การกำหนดราคาเพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางหรือลูกค้า แต่ปัจจุบันมิได้
เป็นเช่นในอดีตแล้ว เพราะการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ตลาดรองรับบาตรมีวงจำกัดมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านแข่งขัน
กันเอง ด้วยการตัดราคากันเอง ส่งผลให้เกิดเป็นรอยร้าวในชุมชนซึ่งอาจปรากฏขึ้นก่อนโครงการ OTOP ก็เป็นได้



การแข่งขันในยุค OTOP


การทำบาตรขึ้นมาหนึ่งใบได้นั้นต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ หลายสิบขั้นตอน และบาตรหนึ่งใบล้วนประกอบจากฝีมือของช่างหลากหลาย
คนตามความชำนาญ ทำให้การทำบาตรต้องเป็นหนึ่งในการพึ่งพากันของชาวบ้าน ชาวบ้านจะต้องมีปฏิสัมพันธ์
แลกเปลี่ยนกันเพื่อให้สามารถประกอบเกิดเป็นบาตรหนึ่งใบได้ แสดงให้เห็นว่าการทำบาตรช่วยก่อให้เกิดความสามัคคี
ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน


แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ช่างที่ทำบาตรลดจำนวนลงอย่างมาก หลายต่อหลายบ้านที่เคยทำบาตรเลิกทำบาตร เพราะไม่สามารถต้านทาน
กระแสการทำบาตรปั๊มที่มีราคาต่ำมากไม่ได้ จึงเลิกกิจการกันไป ปัจจุบันบ้านที่เป็นร้านค้าหลักในการจำหน่ายบาตรเหลือเพียง
ไม่กี่หลังคาเรือน


ร้านทำบาตรเก่าแก่ที่ถือว่าเป็นหน้าตาของชุมชน เนื่องจากได้รับการตอบรับจากสื่อต่าง ๆ มากมายเช่น รายการเกมแก้จน
หนังสือแก้จน หนังสือพิมพ์ และสื่อต่าง ๆ อีกมาก ทำให้เป็นที่รู้จักกันดีของคนนอกชุมชนมากกว่า ถือเป็นร้านเดียวที่มีช่าง
ครบทุกขั้นตอน ภายในร้านเก่าแก่ดั้งเดิมมีบาตรพระที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในชุมชน เป็นบาตรของตระกูล "เสือ ศรีเสริม"
ซึ่งมีต้นตระกูลมาจากคุณปู่อิน-คุณย่าด่วน เสือศรีเสริม เล่าขานกันว่า เป็นชาวอยุธยาที่อพยพมาตั้งรกราก ณ ชุมชนแห่งนี้
นับร้อยปีแล้ว บาตรใบเก่าแก่ที่สุดตีขึ้นที่บ้านบาตร โดยคุณปู่อิน เสือศรีเสริม เป็นบาตรขนาด 9 นิ่ว ตีขึ้นจากเหล็กถังยางมะตอย
โดยนำถังมาตีแผ่ออกเป็นแผ่น ทำให้บาตรที่ได้มีความหนา เมื่อลองเคาะบาตรจะมีเสียงก้องกังวาน ลูกหลานผู้สืบทอดการตีบาตรพระของตระกูลได้เก็บรักษาและนำมารมดำใหม่ จึงทำให้สภาพของบาตรใบนี้ไม่เก่าตามอายุ
หลายขั้นตอนในการทำบาตร ทำให้ต้องใช้ช่างที่มีฝีมือจำนวนหลายคน จำนวนช่างจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของเจ้าของร้าน ทำให้เกิดการแก่งแย่งพื้นที่ในการกระจายงาน กล่าวคือ บ้านช่างหนึ่งคนสามารถรับงานได้เพียงหนึ่งร้านเท่านั้น



เนื่องจากปรากฏภาพความขัดแย้งและเป็นที่รับรู้กันทั้งชุมชน นายช่างให้ความเห็นว่า สาเหตุหลักคือแย่งงานกัน อีกทั้งช่างมีจำนวนน้อยทำให้ไม่สามารถทำบาตรพระได้ตรงตามกำหนดเวลา เกิดกระทบกระทั่งกันกัน ส่งผลให้ความ
สัมพันธ์ร้าวฉานกัน ตัวช่างเองไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากต้องพึ่งพาร้านขายบาตรทุกร้าน จึงแก้ไขปัญหาด้วยการแบ่งแยกงาน
กันไปทำ บ้านไหนรับทำบาตรของคู่ตรงข้ามก็จะไม่รับงานของอีกฝ่ายไปโดยปริยาย มิฉะนั้นจะไม่ได้งานจากร้านใดเลย


เมื่อเกิดปัญาหทางความสัมพันธ์ สิ่งที่เกิดตามมาคือ การตัดราคากัน การกล่างอ้างที่ต่างกันออกไป อาทิ มีใบประกาศการประกวดเป็นสิ่งการันตีความสวยงาม ใช้ความดั้งเดิมที่ทำมาตั้งแต่โบราณอย่างแท้จริง และทำป้ายบอกทางตลอดบริเวณใกล้เคียง เพื่อต้องการให้ลูกค้าเข้าร้านตนเป็นร้านแรก มีการกล่าวโจมตีกัน
ในบางคราว


ภาวะเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันสูงขึ้นเพื่อให้ต่างก็สามารถอยู่รอดได้ ราคาบาตรที่สูงขึ้น ทำให้การตัดราคากันเพื่อ
ดึงดูดลูกค้าทั่วไป ที่สนใจในราคามากกว่าฝีมือในการทำบาตรกลุ่มผู้บริโภค สำหรับคนไทย ไม่นิยมซื้อบาตรพระเป็นของที่ระลึก เนื่องจากมีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป เช่น การนำบาตรเข้าบ้านเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะบาตรเป็นของสูงของที่พระใช้ เป็นต้น

แต่สำหรับชาวต่างชาติไม่มีความเชื่อเช่นนี้ อีกทั้งงานฝีมือที่ทำจากมือยิ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก แม้ราคาจะแพงกว่าคนไทยซื้อถึง
เท่าตัวก็ตาม (บาตรขนาด 3 นิ้ว คนไทยราคา 300-500 บาท
ชาวต่างชาติ 600-1,200 บาท) ผู้บริโภคทั่วไปเป็นชาวต่างชาติเสียเป็นส่วนมาก จึงเกิดการแย่งลูกค้ากัน


ปรากฏการณ์ OTOP ของภาครัฐบาล ที่จัดการประกวดและมอบใบประกาศนียบัตร ทำให้เกิดความแตกต่างกันภายในชุมชน เพราะใบประกาศเหมือนเป็นคำตัดสินในคุณภาพ ทั้งที่บางครั้งคุณภาพบาตรที่เข้าประกวดกับบาตรที่ทำขายนั้นแตกต่างกันก็เป็นได้
สำหรับสาเหตุอื่นที่ส่งผลต่อความขัดแย้ง ผู้เขียนมิอาจทราบได้ เนื่องจากเวลาในการเก็บข้อมูลเป็นแค่ช่วงระยะสั้น แต่ทั้งนี้ผู้เขียนกลับเห็นข้อดีในการแข่งขันกันในชุมชน ภาวะที่ต้องแข่งขันกัน ส่งผลให้บาตรมีราคาที่ไม่สูงเกินไป เป็นราคาที่เหมาะสมและยุติธรรมต่อผู้บริโภค อีกทั้งคุณภาพในการทำบาตรต้องประณีตที่สุดเพื่อให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จัก ลูกค้าจะได้กลับมาซื้อบาตรในครั้งต่อไป เมื่อมีการแข่งขันกันอยู่อย่างนี้ การทำบาตรด้วยงานฝีมือคงไม่หมดไป เพราะการแข่งกันทำบาตรที่ดีที่มีคุณภาพ ยิ่งทำให้บาตรของชุมชนบ้านบาตรยิ่งเป็นที่ยอมรับและคงอยู่คู่สังคมไทยได้

บรรณานุกรม
"กว่า 200 ปีจากอยุธยาสู่พระนครชุมชนบ้านบาตร การทำบาตรพระด้วยมือ งานฝีมือที่ยังหลงเหลือ", น.ส.พ.บางกอกทูเดย์. วันที่ 15 กันยายน 2546. หน้า 10-11.
"บาตรบุ บ้านบาตร", โครงการพัฒนาผลผลิตบาตรพระด้วยมือและชุมชนบ้านบาตรให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว. สำนักงานเขตป้อมปราบ
ศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ.
เอกสารจากฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม. สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ.

วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ศุลกสถาน :โรงภาษีร้อยชักสาม ภาค2






วันนี้พอดีได้มีโอกาสไปถ่ายรูปให้ โรงภาษีร้อยชักสาม ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดกับสถานทูตฝรั่งเศส ใกล้ๆกับโรงแรมโอรียนเต็ล ก่อนที่จะดูรูปเลยขอเอาข้อมูลบางอย่างมาให้ วันนี้เนื้อหาเลยอาจจะยาวซักหน่อย แต่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ในการตัดสินใจ

ขอเอาประวัติมาให้อ่าน ศุลกสถานเดิมเป็นที่ของหลวงราชายสาธก ต่อมาได้ถูกยึดเพื่อหักใช้หนี้พระราชทรัพย์ เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินของบริเวณอาคารนั้น มีการเปลี่ยนแปลงถือกรรมสิทธิ์คือ ส่วนที่เป็นตึก 3 หลัง เดิมเป็นเรือนไม้สองชั้น เป็นที่อยู่ของฝรั่งชาวโปรตุเกส ชื่อนายเจ.เอน.เอฟ.ดาคอสตา รับราชการอยู่กรมศุลกากร มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงราชายสาธก (เป็นชื่อบรรดาศักดิ์ของกรมศุลกากร คู่กับขุนเสวกวรายุตถ์ ผู้เป็นน้องชาย) เมื่อหลวงราชายสาธกถึงแก่กรรมแล้ว ภรรยาแหม่มของหลวงราชายสาธก จึงอยู่ในที่นั้นต่อมา ภายหลัง ร้องทุกข์ขอเบี้ยบำนาญเลี้ยงชีพ โดยตกลงยกสิทธิ์ที่อยู่ให้แก่รัฐบาลเป็นการแลกเปลี่ยนกัน กรมศุลกากรจึงรื้อเรือนไม้สร้างเป็นตึกขึ้น เพื่อเป็นที่ทำการศุลกากร เนื่องจากตัวที่ทำการศุลกากร (Customs House) หรือโรงภาษีแต่เดิมนั้นไม่มี มีแต่เพียงด่านขนอนที่ตั้งเก็บอากรการผ่านเขต
ตัวที่ทำการศุลกากร (Customs House) หรือโรงภาษี เริ่มมีเป็นครั้งแรก หลังจากไทยได้ทำสนธิสัญญาบาวริงกับประเทศอังกฤษ ซึ่งในตอนหนึ่งระบุว่าจะต้องปลูกโรงภาษีให้ใกล้ท่าจอดเรือพอสมควร ถึงแม้ว่าภายหลังจากสนธิสัญญาบาวริง ได้มีที่ทำการศุลกากร (Customs House) หรือโรงภาษีขึ้นแล้ว แต่ก็ทราบได้แน่นอนราวปี พ.ศ. 2428 ว่าที่ทำการศุลกาการเวลานั้น เดิมเรียกว่า โรงภาษีร้อยชักสาม หรือเรียกสั้นๆ ว่าโรงภาษีตั้งอยู่ปากคลองผดุงกรุงเกษม เยื้องธนาคารฮ่องกงและเซียงไฮ้แบงค์ปัจจุบัน ลักษณะของอาคารเป็นเรือนปั้นหยาชั้นเดียว หันหน้าลงแม่น้ำ

ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่หลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงภาษีนี้แก่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอิศริยาภรย์ เพื่อทำตึกให้ฮ่องกงแอนด์เซียงไฮ้แบงค์เช่า (พระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 ถึงเจ้าพนักงาน พระคลังมหาสมบัติ ลงวันที่ 7 ปีชวด สัมฤทธิศก พ.ศ. 2430) จึงได้ย้ายมาตั้ง ณ ที่อาคารเก่าศุลกากร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจดับเพลิงบางรักในปัจจุบัน ที่ทำการศุลกากร มีชื่อเรียกในหนังสือทางราชการว่า ศุลกสถาน แต่คนทั่วไปเรียกว่า โรงภาษี ร้อยชักสาม หรือเรียกสั้นๆ ว่า โรงภาษี ส่วนชาวแต้จิ๋วเรียกว่า ฟ้าซีกวนหรือแป๊ะลั่นซา ซึ่งมีความหมายเดียวกัน เหตุที่เรียกว่าร้อยชักสาม เพราะเดิมเรียกเก็บภาษีจากสินค้าต่างประเทศ ที่เข้ามาขายเพียงอัตราเดียว คือ เก็บเป็นภาษีตามราคาของสินค้าร้อยละสาม

สถานที่ตรงศุลกากรเดิมเป็นตึกจีน เป็นที่ของนายนุด อาหารบริรักษ์ ภายหลังตกเป็นของหลวง เมื่อย้ายมาอยู่ในทีแรกตั้งอยู่ที่ตึกจีนหลังกลาง ภายหลังจึงสร้างเป็นเรือนปั้นหยา 2 หลัง ตั้งอยู่คนละมุม หลังหนึ่งเป็นที่ทำการภาษีร้อยชักสาม ซึ่งพระยาภาศกรวงศ์ (ชุมพร บุนนาค) เป็นผู้บังคับบัญชา อีกหลังหนึ่ง เป็นที่บัญชาการภาษีข้าวขาออก ซึ่งพระยาพิพิธโภคัยเป็นผู้บังคับบัญชา แยกกันคนละส่วน แล้วจึงสร้างที่ทำการศุลกากร ให้ชื่อว่า ศุลกสถาน เป็นตึกซึ่งเห็นอยู่ทุกวันนี้

ตึกหลังนี้ มิสเตอร์กราสลี นายช่างชาวอิตาเลี่ยน เป็นผู้ออกแบบรับเหมาก่อสร้าง สร้างเสร็จภายหลังปี พ.ศ.2431 เพราะมีหลักฐานอยู่ในหนังสือ Bangkok Time Guide ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2433 กล่าวชมศุลกากรสถานที่สร้างใหม่ว่า เป็นสถานที่ที่งดงามแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำในที่สง่างาม มีเนื้อที่ราวๆ 2 - 4 ไร่ ใช้เป็นท่าเรือ กุดังสินค้า ตัวที่ทำการตึกเฉลียง ข้างที่อยู่เจ้าพนักงานและอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับศุลกสถานโดยตรง ท่าเรือมีความสะดวก สำหรับขนถ่ายสินค้าจากเรือลำเลียง แม้เรือกลไฟใหญ่กินน้ำ ซึ่งก็สามารถเข้าเทียบท่ากลางขนถ่ายสินค้าได้ มีโรงพักสินค้าและที่ทำการเจ้าพนักงาน และมีรถรางขนาดเบา ซึ่งนอกจากใช้ในการขนสินค้า ยังใช้บรรทุกน้ำจากแม่น้ำ ไปจ่ายตามเรือนที่พักของเจ้าพนักงานในเวลานอกราชการ ตัวตึกใหญ่นั้นรูปทรงงดงาม มีสามชั้น โดยมากใช้เป็นที่ทำการของพนักงานกรมเกษตร (ชั้นที่สาม เดิมนัยว่าใช้เป็นที่เต้นรำของชาวต่างประเทศ เป็น เครื่องประดับมีกระจกเงาแผ่นใหญ่ๆ โคมระย้าแก้ว ฉากรูปแล้ว ฉากรูปสีน้ำยังเหลือสืบมา ได้รื้อถอนไปในราว 70 กว่าปีมาแล้ว) มีสะพานข้ามติดต่อกับที่ทำการศุลกากร ซึ่งเป็นตึก 2 ชั้น เป็นที่ทำการภาษีขาเข้าขาออก (ยังมีตัวหนังสือบอกว่า Import and Export Department ไว้ที่หน้าบันตัวตึกหลังนี้)

ที่ทำการกรมศุลกากร ดังที่กล่าวไว้ในหนังสือ Bangkok Times Guide Book ชมศุลกสถานว่า เป็นตึกที่งดงามในสมัยนั้น เพราะทางราชการเคยใช้ศุลกสถานตอนชั้นที่ 3 เป็นสถานที่เต้นรำของชาวต่างประเทศ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา แม้ต่อมาในสมัยพระวรงค์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช เป็นอธิบดีกรมศุลกากร ก็เคยใช้ศุลกสถาน เป็นที่เต้นรำในงานเฉลิมพระชนม์พรรษา 2 - 3 ครั้ง รวมทั้งงานสมโภช เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากยุโรปคราวแรกด้วย

ต่อมา ได้เปลี่ยนมาเป็นที่ทำการตำรวจน้ำ (ศุลการักษ์ คนโดยทั่วไป เรียกว่าโบลิศน้ำ ภายหลังเรียกว่าพลตระเวน แล้วต่อมาเรียกตำรวจนครบาล หรือเรียกสั้นๆ ว่าตำรวจ มีหน้าที่ในทางน้ำคล้ายตำรวจนครบาล) เป็นที่ที่ทำการ ของสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก เมื่อ พ.ศ. 2502 ปัจจุบัน อยู่ในความดูแลของกองตำรวจดับเพลิง

เมื่อได้รู้ประวัติแล้วคงจะเห็นได้ว่าสถานที่แห่งนี้มีความสำคัญกับประเทศไทยยังไง และควรได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้

คราวนี้เรามาดูว่ารัฐบาลจะรักษาสถานที่แห่งนี้โดยวิธีไหนกัน


โครงการ โรงแรม อามันรีสอร์ท กรุงเทพ
กิจการร่วมค้าบริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน),
บริษัท อามันรีสอร์ท เซอร์วิสเซส ลิมิเต็ด และบริษัท ซิลเวอร์ลิงค์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด
ได้รับคัดเลือกจากกรมธนารักษ์ เพื่อเข้าพัฒนาโครงการ ที่ราชพัสดุ
แปลงที่ตั้งหมายเลขทะเบียนที่ กท. 043314 (แปลงโรงภาษีร้อยชักสาม) เขตบางรัก จังหวัดกรุงเทพมหานคร
โดยกิจการร่วมค้าฯ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการนี้ ให้เป็นโครงการโรงแรม ประเภทบูติก (Boutique Hotel) ชั้นนำแห่งหนึ่งของโลก

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอผลการคัดเลือกของคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย 1) บริษัท แนเชอรัลพาร์ค จำกัด (มหาชน) 2) บริษัท อามันรีสอร์ท เซอร์วิสเซส ลิมิเต็ด 3) บริษัท ซิลเวอร์ลิงค์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด โดยบริษัท แนเชอรัลพาร์ค จำกัด (มหาชน) ผู้รับมอบอำนาจ เป็นผู้ได้รับสิทธิในโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท. 043314 (แปลงโรงภาษีร้อยชักสาม) โฉนดที่ 2317, 3618, และ 3257 ถนนเจริญกรุง 36 เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ต่อไป

ความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการโรงแรม อามันรีสอร์ท กรุงเทพฯ โรงแรมหรูระดับ 6 ดาว บนที่ราชพัสดุ บริเวณโรงภาษีร้อยชักสาม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มูลค่าโครงการกว่า 1,500 ล้านบาทว่า ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการขุดค้นทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ก่อสร้างโครงการเพราะเป็นอาคารเก่า 100 ปี และเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ จึงต้องสรุปสรุปผลการขุดค้นทางประวัติศาสตร์ก่อน จึงจะเริ่มดำเนินการปักผัง แล้วเริ่มงานก่อสร้างตามสัญญา อย่างไรก็ดีการขุดค้นทางประวัติศาสตร์ในปัจจุบันกระทำได้บางส่วนเพราะหน่วยงานที่อาศัยในอาคารโรงภาษีร้อยชักสาม คือ ตำรวจดับเพลิง และตำรวจน้ำ โดยเฉพาะตำรวจดับเพลิงยังไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก เดิมตำรวจดับเพลิงสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ได้ย้ายสไปสังกัดกทม.แทน แต่ในสัญญาระบุเพียงว่า สร่างอาคารชดเชยให้หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งหากตำรวจดับเพลิงย้ายออกก็จะมีปัญหาในการหาสถานที่รองรับหน่วยงานเพราะไม่ได้ระบุไว้ในสัญญา ทั้งนี้ เมื่อยังมีปัญหาการย้ายออกของหน่วยงานที่อาศัยอยู่ในอาคารโรงภาษีร้อยชักสาม เอกชนที่ต้องประสานทางกรมศิลปากรเพื่อขุดสำรวจ ทางโบราณวัตถุ ก็ยังไม่ดำเนินการได้ ขั้นตอนการปักผัง เพื่อก่อสร้างโครงการจึงยังไม่เริ่ม ทางกรมธนารักษ์ก็พยามยามที่จะให้เอกชนผู้ชนะประมูลปักผังเพื่อเริ่มงานก่อสร้าง ทั้งที่ยังไม่มีการสำรวจตามเงื่อนไขสัญญา ส่งผลให้สัญญายังไม่มีผลบังคับที่กำหนดงานก่อสร้างต้องเสร็จในปี 2551 หรือ 2ปี ทั้งที่มีการเซ็นสัญญามาตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องแบบของอาคารชดเชย ที่ทางกรมธนารักษ์เป็นผู้ออกแบบก่อสร้างมาให้กับกลุ่มผู้ชนะประมูล ก็คือบริษัท แนเชอรัลพาร์ค จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงทุนและดำเนินการก่อสร้างบริเวณเจริญนคร 53 และสะพานกรุงเทพยังมีการขออนุญาตจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทางเอกชนผู้ชนะประมูลก็ยังไม่สามารถก่อสร้างอาคารชดเชยตามแบบได้

โครงการนี้มีปัญหาที่ใกล้คียงกับการพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์บนที่ดินราชพัดุ บริเวณหมอชิตเก่า มีมูลค่าโครงการกว่า 19,000 ล้านบาท โดยมีบริษัทซันเอสเตท จำกัด หรือบางกอกเทอร์มินอล เป็นผู้รับสัมปทาน 30 ปี ก็ไม่สามารถปักผังส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างได้ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาไม่ผ่านพ.ร.บ.ร่วมทุนรับเอกชน พ.ศ. 2535 ที่กำหนดโครงการเกิน 1,000 ล้านต้องผ่านความเห็นชอบจากครม. และปัจจุบันไม่สามารถหาผู้รับสัมปทานรายใหม่ และเริ่มงานก่อสร้างได้ สร้างความเสียหายต่อภาครัฐ ที่สำคัญก็ยังไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเอกชน เพราะยังไม่มีการปักผัง ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชน ซึ่งอาจจะถูกเอกชนฟ้องกรียกค่าเสียหายกลับได้เช่นกัน ต้องคอยดูว่าการแก้ไขปัญหาโครงการพัฒนาอาคารโรงภาษีร้อยชักสาม จะดำเนินการอย่างไร ที่ผ่านมาจะมีการขอร้องให้ทางสผ.ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบ อีไอเอ ให้ เพื่อจะได้เริ่มก่อสร้างอาคารชดเชยกับตำรวจดับเพลิง และตำรวจน้ำซึ่งไม่ถูกต้องนัก นอกจากนี้อาจจะต้องมีกาสรแก้ไขสัญญาที่ระบุในทำนองที่ว่า เอกชนผู้รับสัมปทานต้องสร้างอาคารชดเชยให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาเป็น ต้องสร้างอาคารชดเชยให้กับตำรวจดับเพลิง สังกัดกรุงเทพมหานคร ด้านเอกชนผู้รับสัปทานก็ประสบปัญหาการประสานงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย เดิมทางกลุ่มแนเชอรัลพาร์คไม่ทราบว่าจะต้องประสานกับทางกรมศิลปากร เนื่องจากเป็นการปรับปรุงตึกเก่าที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีการนำเสนอแบบไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ทางกรมศิลปากรให้กลับมาแก้ไข เพราะองค์ประกอบบางอย่างไม่สอดคล้องกับรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม แต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลากว่าจะแล้วเสร็จ ปัจจุบันก็ต้องเริ่มการจ่ายเงินค่าเช่าแล้วปีละ 3.3 ล้าน โดยเริ่มจ่ายตั้งแต่วันเซ็นสัญญามาแล้วปีเศษ อนึ่ง โรงแรม อามันรีสอร์ท กรุงเทพฯ ก่อสร้างในนามกลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้า ซึ่งประกอบด้วย บริษัท แนเชอรัลพาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นพาร์ค บริษัท อามัน รีสอร์ท เซอร์วิสเซส ลิมิเต็ด และบริษัท ซิลเวอร์ลิงค์ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลและเซ็นสัญญาสัมปทานไปตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ขณะนี้บริษัทยังไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อปรับผังและเริ่มก่อสร้างโครงการ จากที่เคยกำหนดว่าการก่อสร้างจะดำเนินการหลังจากที่เซ็นสัญญา 6 เดือน และใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี และจะเปิดบริการได้ในปี 2551 โดยแผนพัฒนาให้เป็นโรงแรมที่ดีที่สุดในโลก โดยพัฒนาเชิงอนุรักษ์ และจะให้ผลตอบแทนที่ดีโดยกำหนดราคาค่าห้องพักราคา 600-2,000 เหรียญสหรัฐต่อห้อง ต่อคืน คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้จากห้องพักและการบริการประมาณ 220 ล้านบาทในปีแรก ปีต่อมาจะเพิ่มเป็น 260 ล้าน และปีที่ 3 เป็น 300 ล้านบาท อัตราการเข้าพักจะอยู่ในสัดส่วนที่ 50% 55% และ 60% มีระยะเวลาคืนทุนเพียง 10 ปี ขณะที่ผลตอบแทนที่ให้กับราชพัสดุคือ แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมจัดหาผลประโยชน์ 125 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารชดเชยยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังรวมมูลค่า 153 ล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทนด้านค่าเช่ารวม 30 ปี 1,346.3 ล้านบาท โดยค่าเช่ารายปี แบ่งเป็น ปี 1-11 ปีละ 3,300,000 บาท ปีที่ 12-16 ปีละ 30,000,000 บาท ปีที่ 17-20 ปีละ 40,000,000 บาท และปี ที่21-30 ปีละ 100,000,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่างานก่อสร้างจะอยู่ที่ประมาณ 1,120 ล้านบาท


ที่เอาทั้ง 2 เรื่องมาให้อ่านเพื่อที่จะได้รู้ประวัติความเป็นมา และอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่ในความเห็นส่วนตัวรู้สึกเสียดายแทนกรมศุลกากรที่ไม่เห็นคุณค่าของสถานที่ตั้งกรมศุลกากรแห่งแรก และเป็นอาคารประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าอาคารกรมศุลกากรในปัจจุบันที่ตั้งอยู่ที่คลองเตยชนิดที่ไม่ควรจะเอามาเทียบกันเลย จริงๆแล้วกรมศุลกากรน่าที่จะขออาคารหลังนี้คืนจากกรมธนารักษ์เพื่อที่จะนำมาบูรณะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของกรมศุลกากรเพื่อที่จะได้เกิดประโยชน์กับคนไทยทั่วไปมากกว่าที่จะเอาไปทำโรงแรมราคาแพงเพื่อให้ชาวต่างชาติเฉพาะกลุ่มได้ชื่น โดยที่คนไทยส่วนใหญ่คงไม่มีโอกาสที่จะได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย อีกทั้งโรงแรมแถวนั้นก็มีเยอะแยะไปหมดแล้ว พิพิธภัณฑ์ต่างหากที่แทบไม่มีเลยในบริเวณนั้น โดยการบูรณะสามารถดูตัวอย่างได้จากธนาคารแห่งประทศไทยที่เก็บรักษา อาคารเก่าได้เป็นอย่างดี พิพิธภัณฑ์ก็ควรเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ไม่ใช่สถานที่ก็เก็บของที่ไม่ใช้แล้ว โดยอาจดึงเอาชุมชนในระแวงนั้นเข้ามาร่วมคิดร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การออกร้านของดีในกรุงเทพ โดยให้แต่ละเขตนำสินค้าที่มีชื่อมาออกร้าน พลัดเปลี่ยนเดือนละเขต โดยอาจให้มีการสาทิตวิธีการทำสินค้าเหล่านั้นด้วย หรืออาจจัดเวทีให้นักเรียนวิทยาลัยนาฎศิลป์มาจัดการแสดง โดยให้นักเรียนเป็นคนคิดและรับผิดชอบการแสดงนั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีเวทีที่จะแสดงออก อีกทั้งบริเวณนั้นเป็นทีพักของชาวต่างชาติ ซึ่งเค้าก็น่าที่จะสนใจที่จะเข้ามาร่วมกิจกรรม หรือชมการแสดงโดยไม่ต้องเดินทางไปไกลถึง Rose Garden หรือ สยามนฤมิตร โดยอาจมีการเก็บค่าเข้าชมเพื่อให้นักเรียนที่มาแสดงมีรายได้ แต่หากคิดว่าพิพิธภัณฑ์อย่างเดียวไม่น่าจะมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ก็อาจจัดให้มีห้องประชุมหรือห้องจัดเลี้ยงให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้บริการได้ โดยอาจให้โรงแรมโอเรียนเต็ลซึ่งอยู่ใกล้ๆกันข้ามาช่วยบริหารจัดการ และทางกรมศุลกากรก็เก็บค่าใช้สถายที่ เมื่อรื้อสิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นมาปิดบังตัวอาคารบริเวณริมน้ำให้หมดไปแล้วทัศนียภาพจะดีขึ้นมากเพราะจะสามารถมองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่เอาทั้ง 2 เรื่องมาให้อ่านเพื่อที่จะได้รู้ประวัติความเป็นมา และอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่ในความเห็นส่วนตัวรู้สึกเสียดายแทนกรมศุลกากรที่ไม่เห็นคุณค่าของสถานที่ตั้งกรมศุลกากรแห่งแรก และเป็นอาคารประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าอาคารกรมศุลกากรในปัจจุบันที่ตั้งอยู่ที่คลองเตยชนิดที่ไม่ควรจะเอามาเทียบกันเลย จริงๆแล้วกรมศุลกากรน่าที่จะขออาคารหลังนี้คืนจากกรมธนารักษ์เพื่อที่จะนำมาบูรณะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของกรมศุลกากรเพื่อที่จะได้เกิดประโยชน์กับคนไทยทั่วไปมากกว่าที่จะเอาไปทำโรงแรมราคาแพงเพื่อให้ชาวต่างชาติเฉพาะกลุ่มได้ชื่น โดยที่คนไทยส่วนใหญ่คงไม่มีโอกาสที่จะได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย อีกทั้งโรงแรมแถวนั้นก็มีเยอะแยะไปหมดแล้ว พิพิธภัณฑ์ต่างหากที่แทบไม่มีเลยในบริเวณนั้น โดยการบูรณะสามารถดูตัวอย่างได้จากธนาคารแห่งประทศไทยที่เก็บรักษา อาคารเก่าได้เป็นอย่างดี พิพิธภัณฑ์ก็ควรเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ไม่ใช่สถานที่ก็เก็บของที่ไม่ใช้แล้ว โดยอาจดึงเอาชุมชนในระแวงนั้นเข้ามาร่วมคิดร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การออกร้านของดีในกรุงเทพ โดยให้แต่ละเขตนำสินค้าที่มีชื่อมาออกร้าน พลัดเปลี่ยนเดือนละเขต โดยอาจให้มีการสาทิตวิธีการทำสินค้าเหล่านั้นด้วย หรืออาจจัดเวทีให้นักเรียนวิทยาลัยนาฎศิลป์มาจัดการแสดง โดยให้นักเรียนเป็นคนคิดและรับผิดชอบการแสดงนั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีเวทีที่จะแสดงออก อีกทั้งบริเวณนั้นเป็นทีพักของชาวต่างชาติ ซึ่งเค้าก็น่าที่จะสนใจที่จะเข้ามาร่วมกิจกรรม หรือชมการแสดงโดยไม่ต้องเดินทางไปไกลถึง Rose Garden หรือ สยามนฤมิตร โดยอาจมีการเก็บค่าเข้าชมเพื่อให้นักเรียนที่มาแสดงมีรายได้ แต่หากคิดว่าพิพิธภัณฑ์อย่างเดียวไม่น่าจะมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ก็อาจจัดให้มีห้องประชุมหรือห้องจัดเลี้ยงให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้บริการได้ โดยอาจให้โรงแรมโอเรียนเต็ลซึ่งอยู่ใกล้ๆกันข้ามาช่วยบริหารจัดการ และทางกรมศุลกากรก็เก็บค่าใช้สถายที่ เมื่อรื้อสิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นมาปิดบังตัวอาคารบริเวณริมน้ำให้หมดไปแล้วทัศนียภาพจะดีขึ้นมากเพราะจะสามารถมองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยา

บางครั้งเงินก็ไม่น่าจะใช่ประโยชน์สูงสุดที่รัฐควรคิดถึง เราควรคิดถึงประโยชน์ที่ไม่ได้มาเป็นรูปตัวเงินแต่เป็นรูปของสำนึกในรากเหง้าของประวัติศาสตร์ชาติ