Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ชุมชนบางเชือกหนัง



บางเชือกหนัง-บางระมาด ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ มีอายุมากกว่า ๕๐๐ ปี อยู่ในคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่

กรุงเทพฯ มีอายุ ๒๒๑ ปี นับจากแรกสถาปนาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ถึงปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๖
แต่ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ มีอายุมากกว่า ๕๐๐ ปี และเป็นไปได้ว่าเก่ากว่านั้นขึ้นไปอีกจนเกือบพันปีมาแล้วก็ได้
ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ เท่าที่รู้ชื่อขณะนี้มี ๘ แห่ง คือ บางเขน บางกรูด บางพลู ฉมังราย บางระมาด บางฉนัง บางจาก บางนางนอง ทั้ง ๘ แห่งนี้ตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ๔ แห่ง คือ บางเขน บางกรูด บางพลู ฉมังราย อีก ๓ แห่งอยู่ในคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ คือ บางระมาด บางฉนัง บางจาก แห่งสุดท้ายอยู่ในคลองด่านไปทางบางขุนเทียนคือ บางนางนอง


กรุงเทพฯ มาจาก กรุงธนฯ

กรุงธนฯ มาจาก "บางกอก"

บริเวณที่เป็นกรุงเทพมหานครซึ่งประกอบด้วยฝั่ง "กรุงเทพฯ" และฝั่ง "กรุงธนฯ" แท้ที่จริงมีพัฒนาการมาจากย่านๆ หนึ่ง หรือตำบลๆ หนึ่งบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่รู้จักกันทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในชื่อ "บางกอก"

บางกอกอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้อ่าวไทย เป็นบริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลคดเป็นรูปโค้งเกือกม้า (Oxbow Lake) กล่าวคือเมื่อแม่น้ำไหลจากทิศเหนือผ่านเขตจังหวัดนนทบุรี มาถึงสถานีรถไฟบางกอกน้อย ก็ไหลวกไปทางตะวันตก ปัจจุบันเรียกชื่อคลองบางกอกน้อย พอถึงบางระมาดก็ไหลวกลงใต้ ปัจจุบันคือคลองบางระมาด ถึงวัดนวลนรดิศแล้ววกมาทางตะวันออก ปัจจุบันเรียกคลองบางกอกใหญ่ เมื่อมาถึงวัดอรุณราชวรารามก็วกไหลเรื่อยลงไปทางทิศใต้จนออกทะเลที่ปากแม่น้ำ

การที่ลำแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมไหลคดเป็นรูปโค้งเกือกม้านั่นเอง เป็นเหตุให้สองฟากแม่น้ำคดโค้งนี้กลายเป็นที่ดอนขึ้นมา อันเป็นผลสืบเนื่องจากแม่น้ำนำตะกอนจากที่ต่างๆ ทางเหนือมาทับถมทุกปีในฤดูน้ำหลาก จึงเหมาะแก่การตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย นานเข้าก็กลายเป็นชุมชนเล็กๆ แล้วขยายใหญ่ขึ้นเรียกกันทั่วไปว่าย่าน "บางกอก" ที่ปัจจุบันอยู่สองฝั่งคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ

บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่

กรุงธนฯ-กรุงเทพฯ

คลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ชุมชนย่านบางกอกนี้มีความเจริญและพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางของประเทศได้ ก็เพราะมีลำน้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อทั้งภายในและภายนอกได้สะดวก

สมัยที่พระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (หลัง พ.ศ. ๑๘๐๐) ลงมานั้น จำเป็นต้องอาศัยลำแม่น้ำเจ้าพระยานี้เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่สุด ดังนั้นการเดินทางเรือจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อจะเข้าไปยังพระนครศรีอยุธยาจะต้องผ่านชุมชนเก่าแก่ดังกล่าวมา คือชุมชนย่านบางกอก เป็นแหล่งพักดีที่สุด เพราะเส้นทางน้ำที่จะเดินทางต่อไปไม่สะดวก เนื่องจากลักษณะคดและโค้งของแม่น้ำซึ่งต้องเสียเวลาอีกมากนัก ในที่สุดย่านบางกอกก็ทวีความสำคัญมากขึ้น และชุมชนก็ยิ่งขยายใหญ่มากขึ้นตามไปด้วย

ความสนใจที่พระนครศรีอยุธยามีต่อย่านบางกอก มีปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตรงกันเกือบทุกฉบับว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๕ "ศักราช ๘๘๔ ปีมะโรง จัตวาศก ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้านั้นก็ได้ขุดคลองบางกอกใหญ่ตำบลหนึ่ง"

นี่คือหลักฐานที่ระบุว่าสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๗๗-๒๐๘๙) โปรดให้ขุดคลองลัดบางกอก ส่วนคอดแคบที่สุดที่ทุกวันนี้เรียกปากคลองบางกอกน้อยไปถึงปากคลองบางกอกใหญ่ ปัจจุบันนี้กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา (สายใหม่) ช่วงตั้งแต่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือหน้าสถานีรถไฟบางกอกน้อย ไปจนถึงวัดอรุณราชวราราม

ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยา (สายเก่า) ที่ผ่านย่านบางกอกก็แคบลงกลายเป็นคลอง ทุกวันนี้เรียกว่าคลองบางกอกน้อย และคลองบางกอกใหญ่

สาเหตุที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชโปรดให้ขุดคลองลัดสายนี้ก็เพื่อย่นระยะทางจากปากน้ำขึ้นไปพระนคร ศรีอยุธยา เพราะสมัยนั้นการติดต่อกับต่างประเทศ เช่น จีน และโปรตุเกส มีความสม่ำเสมอมากขึ้น เมื่อกระแสน้ำมีร่องให้พุ่งตรงซึ่งจะไหลคล่องกว่าการเลี้ยวลดคดโค้งไปตามเส้นทางเก่า กระแสน้ำจึงมีกำลังแรงสามารถทำให้คลองลัดขยายกว้างขึ้น ด้วยการทำลายสองฟากตลิ่งจนกลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาแทนสายเก่า ส่วนลำแม่น้ำเก่าก็แคบเข้าจนเหลือเป็นคลองดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

กล่าวกันว่าการขุดคลองลัดที่ย่านบางกอกช่วยย่นระยะทางคมนาคมมากทีเดียว เพราะแทนที่จะเสียเวลาพายเรือทั้งวันเพื่ออ้อมไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าก็จะเหลือเพียงชั่วตั้งหม้อข้าวเดือด

ผลที่ตามมาอย่างรวดเร็วก็คือ ย่านดังกล่าวกลายเป็นเกาะและขยายชุมชนใหญ่ขึ้น ในที่สุดก็กลายเป็น "เมือง" อยู่บริเวณสองฟากฝั่งคลองลัดที่กลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยา (สายใหม่) จนเป็นกรุงธนบุรี แล้วเป็นกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ แต่นานาชาติยังรู้จักมักคุ้นชื่อเก่าว่าบางกอก (Bangkok)



กำสรวลสมุทร

สุดคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่

เอกสารเกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า หรือคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ มีเก่าสุดอยู่ที่หนังสือ โคลงกำสรวลสมุทร อันเป็นงานวรรณคดีร้อยกรองที่แต่งขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แสดงให้เห็นว่ามีการใช้คลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่เป็นเส้นทางคมนาคมไปจนออกทะเลมาแต่ยุคแรกของกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนหน้านั้น

หนังสือโคลงกำสรวลสมุทรเล่มนี้ แท้ที่จริงก็คือวรรณคดีที่เรียกในตำราเรียนสมัยใหม่ (ที่เรียกกันขึ้นเอง) ว่า "กำสรวลศรีปราชญ์" แต่จากการศึกษาของ พ. ณ ประมวญมารค (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดี ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี) รวมทั้งผลการศึกษาของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม (อดีตผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีในประเทศไทยประจำกรมศิลปากร) มีข้อสรุปตรงกันว่าเป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นก่อนแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ก่อนขุดคลองลัด) และอาจจะอยู่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หรือหลังจากนั้นเล็กน้อยระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๑-๒๐๗๒

โคลงกำสรวลสมุทรเป็นพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในกรุงศรี อยุธยา (ไม่ใช่ "ศรีปราชญ์" ตามตำราเรียน) กล่าวถึงการเดินทางจากพระนครศรีอยุธยาโดยทางเรือ มีชื่อเรือว่า "ขทิงทอง" ล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาลงทางใต้ เมื่อผ่านสถานที่ใดก็คร่ำครวญถึงหญิงคนรักซึ่งระบุนามว่า "ศรีจุฬาลักษณ์" (อันอาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบงานวรรณกรรมร้อยกรองประเภท "โคลงนิราศ" ที่ครวญถึงคนรัก เช่น นิราศนรินทร์ ก็เลียนแบบกำสรวลสมุทรนี้)

เพราะเหตุที่การเดินทางของ "กำสรวลสมุทร" เกิดขึ้นก่อนที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชจะโปรดให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางกอก ดังนั้นเรือ "ขทิงทอง" ของกำสรวลสมุทรจึงแล่นเข้าไปตามลำน้ำเจ้าพระยาสายเก่า กล่าวคือแล่นเข้าไปตามเส้นทางที่ทุกวันนี้เรียกว่าคลองบางกอกน้อย ไปออกคลองบางกอกใหญ่นั่นเอง ด้วยเหตุนี้โคลงกำสรวลสมุทรจึงพรรณนาถึงตำบลที่อยู่บนสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า

เหตุการณ์ครั้งนั้นอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๑-๒๐๗๒ จะเป็นปีใดยังไม่รู้แน่ แต่อยู่ระหว่างแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ กับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ต่อเนื่องกัน มีหลักฐานยืนยันคือโคลงดั้น จำนวน ๑๓๐ บท เรียกกำสรวลสมุทร หรือรู้จักทั่วไปชื่อกำสรวลศรีปราชญ์ (แต่ "ศรีปราชญ์" ไม่ได้เป็นคนแต่งเรื่องนี้) แต่งอย่างที่เรียกในชั้นหลังว่านิราศ นับเป็นหนังสือนิราศมีอายุเก่าแก่มาก หรืออาจเก่าแก่ที่สุดของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็คงได้ แต่เรื่องนี้ต้องพิจารณาต่อไปอีก

ความสำคัญของกำสรวลสมุทรอยู่ที่พรรณนาชื่อบ้านนามเมืองและสถานที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (สายเก่า) ของกรุงเทพฯ ยุคดึกดำบรรพ์เอาไว้ด้วย ยังไม่พบเอกสารเก่ากว่าเล่มนี้ และไม่น่าจะมีให้พบแล้ว ต้องยกเป็นเอกสารเก่าสุดที่ออกชื่อบ้านนามเมืองและสถานที่ของกรุงเทพฯ กับปริมณฑล มีรายการตั้งแต่ใต้จังหวัดนนทบุรีลงมาดังต่อไปนี้

บางเขน

ชื่อนี้ไม่ใช่เขตบางเขน กรุงเทพฯ ปัจจุบัน หากเป็นบางเขนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้ายเหนือสะพานพระราม ๖ แต่ใต้วัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี บริเวณนี้มีคลองแยกไปทางตะวันออก เรียกคลองบางเขน

เวลาที่แต่งโคลงกำสรวลสมุทร ภูมิประเทศครั้งนั้นคงเป็นทุ่งโล่ง กวีจึงพรรณนาว่า

๐ มาทุ่งทุเรศพี้ บางเขน

เขนข่าวอกนมเฉลา ที่ตั้ง

ปืนกามกระเวนหัว ใจพี่ พระเอย

ฤาบ่ให้แก้วกั้ง พี่คงคืนคง ฯ



บางกรูด

อยู่ใต้บางเขนลงมา แต่หาร่องรอยไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหน รู้แต่ว่าน่าจะมีต้นมะกรูดขึ้นเป็นป่า เพราะกวีพรรณนาว่า

๐ เยียมาสมดอกแห้ง ฤทัย ชื่นแฮ

เครงย่อมถงวลถงมอก ค่ำเช้า

เยียมาเยียไกลกลาย บางกรูด

ถนัดกรูดเจ้าสระเกล้า กลิ่นขจร ฯ



บางพลู

อยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำ ใต้บางกรูด ถัดลงมาทางใต้สะพานพระราม ๖ และใต้บางพลัด มีวัดบางพลูเป็นร่องรอยอยู่ ย่านนี้เห็นจะปลูกพลูไว้กินกับหมากเต็มไปหมด ดังกวีพรรณนาว่า

๐ เยียมาพิเศษพี้ บางพลู

ถนัดเหมือนพลูนางเสวย พี่ดิ้น

เรียมรักษเมื่อไขดู กระเหนียก นางนา

รสรำเพยต้องมลิ้น ลั่นใจลานใจ ฯ



ฉมังราย

อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำ ทางใต้สะพานซังฮี้ลงมา ชื่อนี้เรียกกันภายหลังต่อมาว่าสมอราย มีวัดสมอรายตั้งอยู่ ปัจจุบันคือวัดราชาธิวาส

คำเดิมว่าฉมังรายจะเป็นคำมอญหรือคำเขมรยังไม่รู้ แต่กวีพรรณนาว่าย่านนี้เป็นหลักแหล่งของชาวประมงแม่น้ำ ใช้อวนหาปลาในแม่น้ำ ดังนี้

๐ เรือมาเจียรเจียดใกล้ ฉมังราย

ฉมังนอกฉมังในใน อกช้ำ

ชาวขุนสรมุทรหลาย เหลือย่าน

อวนหย่อนหยั่งน้ำถ้า ถูกปลาฯ



บางระมาด

ปัจจุบันอยู่ในคลองบางกอกน้อย แต่ยุคนั้นคือแม่น้ำเจ้าพระยา (สายเก่า) ที่ไหลคดเป็นรูปโค้งเกือกม้า

ชื่อระมาดเป็นคำเขมร แปลว่าแรด คงจะมีแรดอยู่แถบนั้น หรือจะหมายถึงอย่างอื่นก็ไม่รู้

ย่านนี้เป็นเรือกสวน มีกล้วย อ้อย และผักต่างๆ มีชาวสวนตั้งหลักแหล่งเรียงราย รวมทั้งมีตลาด (จรหลาด) ด้วย กวีพรรณนาไว้ดังนี้

๐ กล้วยอ้อยเหลืออ่านอ้าง ผักนาง

จรหลาดเล็กคนหนา ฝั่งเฝ้า

เยียมาลุดลบาง ระมาด

ถนัดระมาดเต้นเต้า ไต่เฉนียน ฯ

บางฉนัง

ปัจจุบันเรียกเพี้ยนเป็นบางเชือกหนัง อยู่ในคลองบางกอกน้อย ยังมีคลองบางเชือกหนังอยู่ฝั่งขวา ใต้คลองบางระมาด

ชื่อฉนังเป็นคำเขมร แปลว่าหม้อ น่าเชื่อว่าชุมชนนี้มีอาชีพปั้นหม้อขาย ถ้าแปลความหมายต้องเรียก บางปั้นหม้อ หรือบางหม้อ

ย่านนี้เป็นเรือกสวนหนาแน่น เพราะกวีพรรณนามาก่อนว่าสองฝั่งแม่น้ำ (เดิม) เต็มไปด้วยสวนผลไม้ มีมะม่วง ขนุน มะปราง ฯลฯ สวนถัดๆ ไปยังมีหมาก มะพร้าว เต็มไปหมด พวกแม่ค้าชาวบ้านต่างทำขนมแล้วเอาผลหมากผลไม้มาขาย แสดงว่าสมัยนั้นเป็นชุมชนใหม่แล้ว ดังนี้

๐ มุ่งเห็นเดียรดาษสร้อย แสนสวน

แมนม่วงขนุนไรเรียง รุ่นสร้อย

กทึงทองลำดวนโดร รสอ่อน พี่แม่

ปรางประเหลแก้มช้อย ซาบฟัน ฯ

๐ เยียมาแล้วไส้หย่อน บางฉนัง

ฉนังบ่มาทันสาย แสบท้อง

ขนมทิพย์พงารัง รจเรข มาแม่

ยินข่าวไขหม้อน้อง อิ่มเอง ฯ

๐ ด้าวหั้นอเนกซื้อ ขนมขาย

อรอ่อนเลวงคิด ค่าพร้าว

หมากสุกชระลายปลง ปลิดใหม่

มือแม่ค้าล้าวล้าว แล่นชิงโซรมชิง ฯ



บางจาก

อยู่ฝั่งขวาแม่น้ำ (เดิม) ใต้บางเชือกหนัง มีโคลงว่า

๐ มลักเห็นน้ำหน้าไน่ นัยน์ตา พี่แม่

เรียมตากตนติงกาย น่าน้อง

ลันลุงพี่แลมา บางจาก

เจียรจากตีอกร้อง เรียกนางหานาง ฯ



บางนางนอง

ในโคลงเขียนคร่ำครวญว่า "นองชลเนตร"

เมื่อกวีล่องเรือตามแม่น้ำ (เดิม) ถึงคลองบางกอกใหญ่ ได้เลี้ยวขวาเข้าคลองด่าน (ตรงวัดปากน้ำภาษีเจริญ) มุ่งไปทางบางขุนเทียน ผ่านตำบลบ้านแห่งหนึ่ง คือบางนางนอง ปัจจุบันมีวัดนางนอง ตั้งอยู่ริมคลอง มีโคลงกล่าวว่า

๐ เสียดายหน้าช้อยชื่น บัวทอง กูนา

ศรีเกษเกษรสาว ดอกไม้

มาดลบันลุนอง ชลเนตร

ชลเนตรชู้ช้อยไห้ ร่วงแรงโรยแรง ฯ

บรรยากาศของสองฝั่งคลองด่านย่านบางนางนองยังเป็นเรือกสวนหนาแน่น โดยเฉพาะสวนหมาก ดังโคลงบาทแรกของบทที่ ๖๓ ว่า "ลันลุงสองฟากฟุ้ง ผกาสลา" เมื่อสัก ๕๐ ปีที่แล้วย่านนี้ยังมีสวนหมากแน่นสองฝั่งคลอง



บางเชือกหนัง-บางระมาด

ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ

หลังยุคกำสรวลสมุทรโคลงดั้น ราว พ.ศ. ๒๐๘๕ สมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดให้ขุดคลองลัด ตั้งแต่บริเวณที่ปัจจุบันเรียกปากคลองบางกอกน้อยจนถึงปากคลองบางกอกใหญ่ เพื่อให้การคมนาคมทางเรือย่นเวลา ไม่ต้องแล่นเรืออ้อมไปตามความคดเป็นรูปโค้งเกือกม้าเสียเวลามาก

เมื่อขุดคลองลัดแล้วกระแสน้ำก็ไหลลงตามทางตรงมากกว่าไหลไปตามความคดโค้งที่เป็นมาแต่ก่อน ทำให้คลองลัดที่ขุดใหม่ถูกทะลุทะลวงด้วยกระแสน้ำ เมื่อนานปีเข้าก็ขยายออกกว้างขวางกลายเป็นแม่น้ำสายใหม่ ส่วนแม่น้ำสายเดิมค่อยเล็กลงเป็นคลอง แล้วเรียกคลองบางกอกน้อย-คลองบางกอกใหญ่สืบมาถึงทุกวันนี้

บริเวณคลองลัดที่ขยับขยายกลายเป็นแม่น้ำสายใหม่ ภายหลังเรียกแม่น้ำเจ้าพระยา (ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยถึงปากคลองบางกอกใหญ่ หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับโรงพยาบาลศิริราช ถึงวัดโพธิ์กับวัดแจ้ง) ก็ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีสำเภาจากต่างประเทศเข้ามาค้าขาย แล้วแวะจอดพักแรมก่อนขึ้นไปพระนครศรีอยุธยา ทำให้มีผู้คนมาตั้งหลักแหล่งมากขึ้นทั้งสองฟากฝั่ง

ในที่สุดก็เติบโตขึ้นเป็นเมือง ให้ชื่อเมืองธนบุรี มีผู้เป็นหัวหน้าได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรี อยุธยาให้เป็นเจ้าเมือง มีจวนเจ้าเมืองอยู่ฝั่งขวา ทางตะวันตก ตรงปากคลองบางกอกใหญ่ ใกล้วัดแจ้ง แต่ชาวต่างชาตินิยมเรียกเมืองบางกอก ตามชื่อเดิมสืบมาจนปัจจุบัน

แต่สิ่งที่ยังเหลืออยู่ให้เห็นรากเหง้าเก่าแก่ของแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าคือ คลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่

ที่สำคัญคือ บางเชือกหนัง-บางระมาด ชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร มีอายุมากกว่า ๕๐๐ ปี อยู่ในคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่นี่เอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น