วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553
ตลาดนางเลิ้ง
ตลาดนางเลิ้ง
Nang Loeng Market
ตลาดนางเลิ้ง เดิมเรียกว่า บ้านสนามควาย ก่อนจะเรียกว่า อีเลิ้ง ตามชื่อตุ่มชนิดหนึ่งของชาวมอญ จนมาเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น นางเลิ้ง ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม นัยว่าเพื่อความสุภาพตามธรรมเนียมนิยมในยุคเชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย
ตลาดนางเลิ้ง เป็นตลาดบกแห่งแรกของประเทศไทย ในสมัยก่อนชาวบางกอกนิยมเดินทางเฉพาะน้ำ จึงยังไม่มีตลาดบกตั้งเป็นหลักแหล่ง เพราะชาวบ้านนิยมพายเรือนำของสวนมาขายตามสองฝั่งคลอง ที่นี่เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อในสมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2442 และวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552 ตลาดนางเลิ้งจะมีอายุ 110 ปีพอดี
สมัยก่อนย่านนี้นับว่าเป็นศูนย์รวมความบันเทิงใจกลางกรุงเลยทีเดียว ย่านนางเลิ้งมีราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) ทั้งยังมีโรงภาพยนต์ศาลาเฉลิมธานี ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นเรียกกันติดปากว่า โรงหนังนางเลิ้ง
โรงภาพยนต์ศาลาเฉลิมธานี เป็นอาคารไม้สองชั้น เปิดฉายภาพยนต์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2461 ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 80 ปี สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นที่บันเทิงที่จะได้ดูหนังจากทุกชาติทั้งไทย จีน อินเดีย ฝรั่ง จากจำนวนคนดูที่เคยมากถึงรอบละ 300-400 คนก็เหลือเพียงรอบละไม่ถึง 10 คน จนต้องเลิกฉายไปเมื่อปี 2536 ปัจจุบันเป็นเพียงโกดังเก็บของ ด้านในมีลักษณะเป็นม้านั่งยาวไม่กำหนดที่นั่ง ใครพอใจที่นั่งตรงไหนก้เลือกได้เต็มที่ เนื่องจากหลังคาโรงหนังเป็นสังกะสี ถ้าวันไหนเกิดฝนตก เสียงเม็ดฝนที่กระทบกับสังกะสีจะกลายเป็นเสียงซาวนด์แทร็คคลอบรรเลงตลอดหนังทั้งเรื่อง ก่อนฉายหนังจะมีแตรส่งสัญญาณเป่าเรียกคนดู ระยะแรกฉายแต่หนังใบ้ ไม่มีการพากย์เสียง ดังนั้นเมื่อใดที่ถึงฉากตื่นเต้น แตรวงก็จะทำหน้าที่ใส่เสียงประกอบฉากเพิ่มอรรถรสไปด้วย แต่แล้วปี พ.ศ. 2536 โรงภาพยนต์แห่งนี้ก็ต้องปิดฉากลง รวมระยะเวลาที่ฉายหนังยาวนานถึง 75 ปี นับเป็นการอำลาที่ควรค่าและสมแก่เวลา ก่อนที่ยุคสมัยของระบบเสียงซีนีเพล็กซ์จะมารับช่วงต่อ
ไส้กรอกปลาแนม สาคูไส้หมู ขนมบาเยีย ห่อหมกข้าวเกรียบปากหม้อ เป็ดย่างจิ๊บกี่ บะหมี่รุ่งเรือง ล้วนเป็นเมนูขึ้นชื่อสำหรับนักชิมหลายท่าน ตลอดสองข้างทางในตรอกตลาด เราจะได้เห็นอาหารชื่อโบราณแถมรสชาติเก่าแก่โดยฝีมือคนทำดั้งเดิมที่วางขายกันอย่างแน่นขนัด
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น