วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553
ขลุ่ยบ้านลาว ( ชุมชนวัดบางไส้ไก่ )
ในช่วงตอนที่ผมยังเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาอยู่ในโรงเรียนวัดประยุรวงศาวาสแถวฝั่งธนฯ ยังมีช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงหนึ่งที่ผมยังจำได้อยู่พอลางๆ ว่าครั้งหนึ่งคุณครูเคยพาผมกับเพื่อนๆ ไปดูนิทรรศการวิชาการที่โรงเรียนศึกษานารีที่อยู่ไม่ไกลกันนัก ...แค่เดินออกจากหลังโรงเรียนทะลุวัดประยูรฯ ไปก็ถึงแล้ว ที่นั่น...หอประชุมชั้นล่าง มีลุงกับป้าสองคนจากชุมชมวัดบางไส้ไก่กำลังสาธิตการเทตะกั่วที่หลอมละลายเป็นของเหลวให้เกิดลวดลายบนลำขลุ่ยไม้รวก ผมจำได้ว่าผมยืนดูอยู่นานเหมือนกัน... แต่อย่างว่าน่ะครับ การรับรู้ของเด็กอย่างผมก็แค่เป็นเรื่องที่ไม่เคยเห็น ยังไม่มีความสามารถในการตีค่าความสำคัญหรือความมีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์และศิลปะซะเท่าไร
เวลาผ่านไป คำว่าชุมชนวัดบางไส้ไก่ และวิธีการทำลวดลายดังกล่าวมันเลือนหายไปจากความทรงจำของผม จนเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยหน้าที่ในการหาข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนลาวที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงกรุงธนบุรี - ต้นรัตนโกสินทร์ ทำให้ผมได้มีโอกาสเดินทางเข้าไปที่ชุมชนวัดบางไส้ไก่เพื่อที่จะไปตามหาขลุ่ยบ้านลาว ที่น่าจะเป็นตัวแทนในเชิงงานฝีมือของชุมชนลาวได้อย่างหนึ่ง
บล็อกนี้ผมจะพามาให้รู้จักกับบ้านเล็กๆ หลังหนึ่งในชุมชนวัดบางไส้ไก่ หลังมหาวิทยาลัยราชภัฏสมเด็จเจ้าพระยา ที่ยังคงสืบทอดการทำขลุ่ยที่มีคุณภาพที่สุดแห่งหนึ่ง ที่เรียกโดยทั่วๆ ไปของนักเป่าขลุ่ยว่า "ขลุ่ยบ้านลาว"
และบ้านหลังนั้น ..คือ...
บ้านของลุงจรินทร์ กลิ่นบุปผา
ผู้ซึ่งเสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็งที่ตับและลำไส้
เมื่อปลายปี 2549 ไม่นานมานี้เอง
ถึงแม้ว่าคุณลุงจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่บรรยากาศภายในบ้านเหมือนกับว่าคุณลุงยังเป็นเจ้าของอยู่เหมือนเดิม เพราะไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็จะมีแต่รูปของคุณลุงที่ถ่ายกับลูกศิษย์ที่คุณลุงไปสอน ถ่ายกับเพื่อนนักดนตรีด้วยกันให้แขกที่เข้าไปอย่างผมได้รับรู้ถึงความรักของลูกหลานและลูกศิษย์ที่มีต่อคุณลุงว่ามีมากน้อยแค่ไหน
ถ้าพูดถึงขลุ่ยไทยเท่าที่ยังมีขายกันอยู่ในท้องตลาดทุกวันนี้มีที่มาจากแหล่งต่างๆ ที่รู้จักกันดีก็เห็นจะมีขลุ่ยจากบ้านสีแก้ว จังหวัดร้อยเอ็ด บ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี และบ้านลาวบางไส้ไก่ กรุงเทพฯ ซึ่งที่หลังนี้เองที่เป็นแหล่งผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานดีที่สุด ทั้งนี้ชุมชนดังกล่าวสืบทอดมาจากบรรพบุรุษเชื้อสายลาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งชาวลาวเหล่านี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นชนชาติที่รักในเสียงดนตรีเป็นอย่างมาก และครอบครัวกลิ่นบุปผานี่เองก็เป็นครอบครัวหนึ่งที่ยังคงสืบทอดวิชาการทำขลุ่ยจากรุ่นปู่รุ่นย่ามาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานจนถึงปัจจุบัน
การได้เข้าไปที่บ้านของคุณลุงจรินทร์ครั้งนี้ผมมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะไปขอซื้อขลุ่ยแบบที่มีการตกแต่งผิวขลุ่ยด้วยการเทตะกั่วร้อนให้เป็นลายสีน้ำตาลไหม้ที่ผมเคยเห็นเมื่อตอนเด็กๆ เพื่อที่จะนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง แน่นอนว่าในวันนั้นผมไม่ได้พบกับคุณลุงจรินทร์ แต่ผมได้พบกับพี่สุนัยซึ่งเป็นลูกชายของคุณลุงจรินทร์ที่ยังคงประกอบอาชีพทำขลุ่ยไทยขายอยู่จนถึงทุกวันนี้
แต่เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะยินดีสักเท่าไร เพราะพี่สุนัยบอกว่าการเทตะกั่วร้อนให้เกิดลายบนผิวขลุ่ยนั้นปัจจุบันหาช่างทำไม่ได้แล้ว และเด็กรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่มีใครสนใจที่จะทำกันเนื่องจากต้องใช้ความอดทนและความชำนาญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะลายดอกพิกุลที่ถือว่าเป็นลายที่สวยที่สุด และพี่สุนัยเองก็เหลือขลุ่ยแบบดังกล่าวแค่ 3 เลาเท่านั้นเอง ซึ่งก่อนหน้าที่ผมมาก็เพิ่งจะมีคนติดต่อขอซื้อไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เหมือนกัน
แต่ด้วยความใจดีของพี่สุนัยที่อยากให้เยาวชนรุ่นหลังได้เห็นความงดงามที่อยู่บนลำขลุ่ยไม่รวกนั้น พี่เขาได้สละขลุ่ยที่เหลืออยู่นั้นมาให้ผม 1 เลา และเป็นเลาที่สวยที่สุดเท่าที่เหลืออยู่ เพื่อนำไปจัดแสดง โดยที่ผมก็มีค่าตอบแทนให้เล็กๆ น้อยๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตามผมว่ามันเทียบไม่ได้กับคุณค่าทางฝีมือและเรื่องราวของขลุ่ยตระกูลกลิ่นบุปผาแม้แต่น้อย
ขลุ่ยแบบนี้ล่ะครับที่ผมต้องการ
เลาบนและเลาล่างเป็นขลุ่ยลายดอกพิกุลซึ่งเป็นลายที่ทำยากที่สุด
เลากลางเป็นลายกระจับ
ไม้แบบที่เป็นตัวเทียบตำแหน่งในการเจาะรูขลุ่ย
พี่สุนัย กับผลงานของตัวเองที่เรียกว่า พญางิ้วดำ
เป็นขลุ่ยที่ทำจากไม้เนื้อสีดำของจริงสวยมากๆ และราคาก็ไม่ใช่น้อย
นอกจากจะทำขลุ่ยแบบโบราณแล้วก็ยังทำขลุ่ยจากท่อ PVC
ที่รุ่นเด็กๆ สมัยนี้ใช้เรียนตามโรงเรียนทั่วๆ ไปด้วยนะครับ
+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +
ในวันนั้น... ผมสามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปภาระกิจหนึ่ง แต่สิ่งที่ได้นอกเหนือจากนั้นคือ ความสุขใจที่ได้เป็นผู้ฟังและผู้รับการถ่ายทอดความภาคภูมิใจของคนในตระกูลกลิ่นบุปผาในการสืบทอดวิชาการทำขลุ่ย และความสุขใจนั้นเองได้แปรเปลี่ยนมาเป็นสัญญาใจในการที่จะกลับมาประชาสัมพันธ์ต่อๆ ไป เพื่อให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ว่า ขลุ่ยบ้านลาวเป็นขลุ่ยที่มีคุณภาพที่สุดแห่งหนึ่ง และยังไม่เลือนหายไปจากประเทศไทย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น