Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กบฏวังหลวง


กบฏวังหลวง ชื่อเรียกการกบฏที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เกิดขึ้นโดยนายปรีดี พนมยงค์นำกองกำลังส่วนหนึ่งจากประเทศจีนร่วมกับคณะนายทหารเรือ และอดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" นำกำลังยึดพระบรมมหาราชวังและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกองบัญชาการ (จึงเป็นที่มาของชื่อกบฏในครั้งนี้) ในเวลาประมาณ 16.00 น. โดยเรียกปฏิบัติการครั้งนี้ว่า "แผนช้างดำ-ช้างน้ำ" จากนั้นในเวลา 21.00 น. ประกาศถอดถอน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนาย และได้ประกาศแต่งตั้ง นายดิเรก ชัยนาม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน โดยที่นายดิเรกมิได้มีส่วนรู้เห็นอันใดกับการกบฏครั้งนี้ และแต่งตั้ง พลเรือโท สินธุ์ กมลนาวิน เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ในส่วนของนายปรีดีที่หลบหนีออกจากประเทศไปตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้แอบเดินทางกลับมาโดยปลอมตัวเป็นทหารเรือและติดหนวดปลอมปะปนเข้ามาพร้อมกับกลุ่มกบฏ แต่มีผู้พบเห็นและจำได้

ซึ่งความจริงแล้ว ทางฝ่ายรัฐบาลก็รู้ตัวก่อนล่วงหน้าว่าอาจมีเหตุเกิดขึ้นได้ เพราะ จอมพล ป.ก่อนหน้านั้นได้พูดทิ้งท้ายไว้เป็นนัยทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยว่าไว้ถึง 2 ครั้ง เช่น "เลือดไทยเท่านั้น ที่จะล้างเมืองไทยให้สะอาดได้" เป็นต้น และได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ล่วงก่อนถึง 3 วันเกิดเหตุ รวมทั้งได้มีการฝึกซ้อมรบด้วยกระสุนจริงของทหารบกที่ตำบลทุ่งเชียงราก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งหนังสือพิมพ์ได้ขนานนามการซ้อมรบครั้งนั้นว่า "การประลองยุทธ์ที่ตำบลทุ่งเชียงราก"

ในระยะแรก ฝ่ายกบฏดูเหมือนจะเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ เพราะสามารถยึดสถานที่สำคัญและจุดยุทธศาสตร์ไว้ได้หลายจุด แต่ทว่าตกค่ำของคืนวันนั้นเอง ทหารฝ่ายรัฐบาลก็ตั้งตัวติดและสามารถยึดจุดยุทธศาสตร์กลับคืนมาได้ อีกทั้งกองกำลังทหารเรือฝ่ายสนับสนุนกบฏจากฐานทัพเรือสัตหีบก็ติดอยู่ที่ท่าน้ำบางปะกง เพราะน้ำลดขอดเกินกว่าปกติ แพขนานยนต์ไม่สามารถที่จะลำเลียงอาวุธและกำลังคนข้ามฟากไปได้ เมื่อน้ำขึ้นก็เป็นเวลาล่วงเข้ากลางคืน กองกำลังทั้งหมดมาถึงพระนครในเวลา 2 ยาม ถึงตอนนั้นฝ่ายกบฏก็เพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาลแล้ว

จุดที่มีการปะทะกันระหว่างทหารบกฝ่ายรัฐบาล และทหารเรือฝ่ายกบฏ เช่น ถนนวิทยุ, ถนนพระราม 4, ถนนสาทร, สี่แยกราชประสงค์ มีการยิงกระสุนข้ามหลังคาบ้านผู้คนในละแวกนั้นไปมาเป็นตับ ๆ มีผู้ได้บาดเจ็บกันทั้ง 2 ฝ่าย

พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ยศในขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการปราบปราม มีการสู้รบกันในเขตพระนครอย่างหนักหน่วง โดย พล.ต.สฤษดิ์เป็นผู้ยิงปืนจากรถถังทำลายประตูวิเศษไชยศรีของพระบรมมหาราชวังพังทลายลง จนในที่สุด เวลาเย็นของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ทั้ง 2 ฝ่ายก็หยุดยิง เมื่อรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้และปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง และหลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน ได้มีการสังหารบุคคลสำคัญทางการเมืองลงหลายคน เช่น พล.ต.ต. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พ.ต. โผน อินทรทัต ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบและอดีตเสรีไทย รวมทั้งการสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีที่ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 11 คือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งเป็นนักการเมืองในสายของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น

สืบสาวราวเรื่อง
กบฏวังหลวง (26 กุมภาพันธ์ 2492)


นายปรีดี พนมยงค์ พร้อมด้วย เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวชนายทหารนอกราชการเลขานุการส่วนตัว และคณะเดินทาง ออกจากประเทศจีน เมื่อ 10 มกราคม พ.ศ.2492 โดยเรือรบอเมริกัน และมาถึงน่านน้ำไทยทอดสมอนอกเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 (รัฐบาลอเมริกันช่วยเพราะสนิทกับนายปรีดี และไม่ชอบจอมพล ป. ที่ไปเป็นพันธ มิตรญี่ปุ่น)


ตอนแรกนายปรีดี ต้องการกลับมาสู้คดีกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงให้ เรือเอก ชลิต ชัยสิทธิเวช เป็นตัวแทนไปติดต่อผู้มีอำนาจในรัฐบาลและ ในราชการเช่นพลตำรวจตรี เผ่า ศรียานนท์ พันโท ละม้าย อุทยานานนท์ พลตรี สฤษดิ์ธนะรัชต์ เพื่อให้ความคุ้มครองแต่ได้รับการปฏิเสธ จึงให้นายทหารผู้นั้นติดต่อ พลเรือตรี สังวร สุวรรณ ชีพนำเรือยนต์ไปรับเมื่อ 22.00 น. ของ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 เมื่อแนวทางสู้คดีไม่ได้ รับการรับรองจากผู้มีอำนาจ จึงตัดสินใจใช้กำลังเข้าโค่นล้มรัฐบาล พร้อมๆ กับแสวงหาพันธ มิตรหลายกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารเรือ และเสรีไทย ซึ่งขณะนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็น "กองทัพพลเรือน"


แนวความคิดในการปฏิบัติของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส เจ้าของโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ คือแผนการยึดอำนาจแบบใต้ดินเป็นการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างพลพรรคเสรีไทย กับกองทหารประจำการ โดยใช้วิธีการแบบ "สายฟ้าแลบ" เข้ายึดสถานที่สำคัญ จับกุมบุคคลสำคัญของทางราชการ ปิดล้อมกองพันต่าง ๆ แล้ว ทำการปลดอาวุธ จากนั้นจึงล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศตั้งรัฐบาลใหม่ตลอดจน ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2492 แล้วนำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2475 มาใช้ โดยนัดหมายสมาชิกเสรีไทย เวลา 19.00 น. ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ในวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ว่าจะมีงานเลี้ยง บุคคที่นายปรีดีนัดแนะมาได้แก่ พล.ต. สมบูรณ์ ศรานุชิต นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร์ นายสมพงษ์ ชัยเจริญ นายละออ เชื้อภัย นายกมล ชลศึก นายทวี ตเวกุล และยังมีคนอื่นๆอีกประมาณ 50 คน


โดยมีแผนแรกคือใช้กำลังส่วนหนึ่งเข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอาไว้ เป็นกองบัญชาการ และรวบรวมสรรพกำลัง แผนต่อไปคือจะใช้กำลังส่วนหนึ่ง เข้ายึดพระบรมมหาราชวังไว้เป็นกองบัญชาการชั่วคราว เหตุผลที่เลือกพระบรมมหาราชวัง เพราะมีกำแพงมั่นคงแข็งแรง มีปราสาทราชมณเฑียรอันล้ำค่า ซึ่ง ฝ่ายก่อการคาดว่าฝ่ายรัฐบาลคงไม่กล้าที่จะใช้อาวุธหนักเข้าทำการปราบปราม และที่สำคัญที่สุดคืออยู่ติดกับกองเรือรบ ซึ่งขณะนั้นยังตั้งอยู่ที่ฝั่งพระนคร ส่วนที่บัญชาการคุมกำลังส่วนใหญ่ หรือเป็นที่รวบรวมสรรพอาวุธอันสำคัญนั้น อยู่ที่กองสัญญาณทหารเรือที่ศาลาแดง กำลังอีกส่วนหนึ่ง นายปรีดี ได้บัญชาการให้ไปยึดบริเวณวัดพระเชตุพนตรงข้ามกับ ร. พัน 1. เพื่อเป็นการตรึงกำลัง ร. พัน. 1 ไว้ เมื่อกำลังส่วนต่างๆในพระนคร ซึ่งมีทหารบก พลเรือน ตำรวจเข้ายึดสถานที่สำคัญๆ เพื่อตรึงกำลังของหน่วยทหารบกบางแห่งไว้แล้ว กลุ่มเสรีไทยที่เคยร่วมมือกับนายปรีดีต้านญี่ปุ่น ก็จะเคลื่อนกำลังเข้าสมทบโดยเร็วที่สุด โดยนายชาญ บุนนาค ผู้จัดการป่าไม้สัมปทานหัวหิน จะเป็นผู้นำพวกเสรีไทยเข้าสู่พระนคร นายชวน เข็มเพชร นำพวกเสรีไทยภาคตะวันออกได้แก่ ลาว ญวณอิสระ เข้ามาทางอรัญประเทศ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และนายเตียง ศิริขันธ์ จะนำพวกเสรีไทยยึดภาคอิสาน แล้วจะนำพวกเสรีไทยเข้ามาสมทบในพระนคร นายเปลว ชลภูมิ จะนำเสรีไทยจากเมืองกาญจนบุรี เข้ามาสมทบอีก สำหรับทหารเรือที่เป็นฝ่ายสนับสนุนการปฎิวัติของนายปรีดีนั้น ก็มี พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ พล. ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ ก็จะนำกำลังทหารเรือบางส่วนจากสัตหีบ ชลบุรี ระยอง เคลื่อนมารวมกำลังที่ชลบุรี ต่อจากนั้นจะมุ่งสู่กรุงเทพฯ เพื่อดำเนินตามแผนการณ์ที่วางไว้


ด้านของทหารเรือนั้นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเลย กับการร่วมมือกับนายปรีดี พนมยงค์ แต่จากการที่ทหารบกและทหารเรือ มีข้อขัดแย้งที่ลึกซึ้ง กันมาก่อน จึงได้มีการเคลื่อนพลใหญ่ เพื่อทำการซ้อมรบ ทั้งจากหน่วยนาวิกโยธิน กองเรือรบ และกองโรงเรียนชุมพลทหารเรือ จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนทหารบกก็มีการฝึกซ้อมยิงปืนใหญ่ ด้วยกระสุนจริงใน 23 กุมภา พันธ์ พ.ศ. 2492 เรียกว่า "การประลองยุทธ์ที่ตำบลทุ่งเชียงราก"


ต่อมารัฐบาลซึ่งพอทราบ ระแคะระคาย เกี่ยวกับการกลับมาของนายปรีดี ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้น และสั่งให้มีการ เตรียมพร้อมทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ ภายใต้แผนการปราบจลาจล ที่เรียกเป็นรหัสลับว่า "แผนช้างดำ ช้างน้ำ" โดยมีข้อตกลงระหว่างกองทัพบกและกองทัพเรือว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นให้แต่ละกองทัพแบ่งเขตกันทำการปราบปรามและปฏิบัติงานร่วมกันในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ของแต่ละกองทัพ


ในส่วนของกองทัพบกในตอนเย็นของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 มี การเตรียมพร้อมตามกองพันต่างๆ มีการตั้งปืนกลตามจุดที่สำคัญ โดยเฉพาะข้างวังสวนกุหลาบ ปิดการจราจร


ส่วนกำลังทหารเรือ จากกองสัญญาณทหารเรือ ณ ที่ตั้ง (ซึ่งต่อมากลาย เป็นโรงเรียนเตรียมทหาร ลุมพินี) ได้วางกำลังที่สี่แยกราชประสงค์ ตั้งแต่เวลา 18.00 น และ ปิดถนนสายกรุงเทพ สมุทรปราการ สำหรับกำลังนาวิกโยธินจากจังหวัดชลบุรี ที่เตรียมนำมา เสริมตามจุดต่าง ๆ ปรากฏว่าแพขนานยนต์ติดแห้งที่ท่าข้ามบางปะกง


ขณะเดียวกันสมาชิก เสรีไทย คือ นายประสิทธิ์ ลุสิตานนท์ ได้นำอาวุธที่นำมาจากบริษัท เคเถา ตัวแทนจำหน่ายปืน ไปแจกจ่ายให้พรรคพวกในธรรมศาสตร์ เวลา 20.30 น เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวชนายทหารนอกราชการ ได้เคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรถยนต์ 4 คัน ภายในรถมีอาวุธและพลพรรคเต็มคันรถ ที่หน้าประตูวิเศษไชยศรี นายเรือเอก วัชรชัย กระโดลงจากรถ พร้อมด้วยพรรคพวก ก็พร้อมอยู่แล้วสำหรับเหตุการณที่จะเกิดขึ้น จากนั้น ร.อ. วัชรชัย ก็ร้องเรียกให้นายร้อยโทพร เลิศล้ำ ผู้กองรักษาการณ์ ร. พัน. 1 ประจำพระบรมมหาราชวัง ออกมาพบที่หน้าประตู เมื่อ ร.ท. พร ออกมาพบก็ถูกเอาปืนจี้บังคับให้ปลดอาวุธโดยทันที จากนั้นก็บุกเข้าไปปลดอาวุธทหารที่รักษาการณ์ทั้งหมด แล้วเข้ายึดพระบรมมหาราชวังไว้ได้ ก่อนจะลำเรียงอาวุธนานาชนิดเข้าไป


เมื่อการยึดพระบรมมหาราชวังได้เป็นไปตามแผนแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ กับพรรคพวก 7 คน สวมเครื่องแบบทหารสื่อสาร พร้อมอาวุธครบมือ ได้พากันเข้าไปในสถานีวิทยุของกรมโฆษณาการพญาไท แล้วใช้อาวุธบังคับเจ้าหน้าที่กรมโฆษณาการ แล้วกระจายข่าวเมื่อเวลา 21.15 น. ด้วยเสียงของ พันตรี โผน อินทรทัต เสรีไทยสายอเมริกาแทรกรายการแสดงลิเกเรื่องคำปฏิญาณของ นายสุชิน ว่า ....พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ล้มเลิกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสีย และคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งด้วย และได้แต่งตั้งนาย ดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง ให้นายทวี บุณยเกต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้ประกาศแต่งตั้งและปลดบุคคลสำคัญ อีกหลายคน จากนั้นก็ถอดชิ้นส่วนของเครื่องกระจายเสียงไปด้วย เพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลทำการกระจายเสียงต่อไป


คำแถลงการณ์จากวิทยุของพวกกบฎแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ฝูงชนที่สัญจรไปมา พากันกลับบ้านจ้าละหวั่น เพราะเกรงอันตราย ร้านรวงต่างๆพากันปิดกิจการ เพราะกลัวพวกปล้นสดมภ์จะฉวยโอกาส


จุดแรกที่นายปรีดี พนมยงค์ และพรรคพวก จะเข้ายึดก็คือ กรมรักษาดินแดน อันอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ พ.อ. จรัส โรมรัน รองเจ้ากรมรักษาดินแดน และทำการปลดอาวุธให้สิ้นเชิง แต่ก็ช้าไป คำสั่งจากกองบัญชาการของรัฐบาลให้เตรียมรับสถานการณ์จากฝ่ายกบฎ ทำให้ทหารในกรมการรักษาดินแดน จึงพร้อมอยู่เสมอในการที่จะรับการจู่โจมจากฝ่ายกบฎ ทหารเข้าประจำอยู่ตามจุดต่างๆ อย่างพร้อมเพียงที่จะหยุดยั้งการจู่โจมของกบฎ และในเวลาเดียวกันนั้นเอง ฝ่ายรัฐบาลก็ลำเลียงกำลังทหารและอาวุธเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ทำให้กรมการรักษาดินแดนมีกำลังต้านทานแข็งแกร่งยิ่งขึ้น


แผนการณ์ จู่โจมได้กระทำสำเร็จแล้วในการยึดวังหลวง สำหรับกรมการรักษาดินแดนนั้นล้มเหลว เพราะรัฐบาลสั่งการและป้องกันไว้ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ฝ่ายกบฎจึงได้เปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ ใช้การเจรจาทางการทูตแทน โดยให้คนยกธงขาวขอเปิดการเจรจาด้วยสันติวิธี แต่ได้รับการปฎิเสธไม่ยอมร่วมมือ ทูตสันติจึงกลับไปรายงานถึงความล้มเหลวในการเจรจา และพันเอกจำรัส โรมรัน เจ้ากรมรักษาดินแดนยังได้ยื่นคำขาดให้ฝ่ายกบฎถอยออกไปเสียจากวังหลวง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนรุ่งอรุณ ถ้าไม่ปฎิบัติตามจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อไป


23.00 น. ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นายปรีดี พนมยงค์ ก็ให้ลูกน้องยิงปืนจากท่าวาสุกรีไปยังวังสวนกุหลาบ อันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการทหาร โดยฝ่ายกบฎใช้เครื่องยิงลูกระเบิด ค. 85 ชุดแรกยิงไป 4 นัด แต่ลูกกระสุนพลาดเป้าไปตกที่หลังบ้านพลโทสุข ชาตินักรบ


ก่อนเสียงปืนจะดังขึ้น พลตรีเผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีตำรวจฝ่ายปราบปราม ได้นำกำลังตำรวจสถานีชนะสงครามมายึดกรมโฆษณาการไว้โดยเรียบร้อย ในเวลาเดียวกันรถยนต์หุ้มเกราะขบวนหนึ่งก็วิ่งมาที่กรมโฆษณาการ พร้อมด้วยทหารอาวุธครบมือ นำโดย พลโทหลวงกาจ กาจสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบก จากนั้นกำลังทหารอีกหน่วยหนึ่งจากสวนเจ้าเชตุก็มาถึง และเข้าทำการรักษากรมโฆษณาการต่อจากกำลังตำรวจ ต่อมาเวลา 02.00 น. ได้เข้ายึดสถานีวิทยุกรมโฆษณาการ พญาไท และยิงพันตรี โผน อินทรทัต ตายแต่ ไม่สามารถส่งกระจายเสียงได้ เนื่องจากชิ้นส่วนของเครื่องส่งถูกถอดออก จึงย้ายไปส่งกระจาย เสียงจากสถานีวิทยุกรมจเรทหารสื่อสาร


จอมพล ป. และคณะรัฐบาลจึงออกประกาศเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบถึงการปฎิวัตินั้นว่า รัฐบาลได้ติดตามความเคลื่อนไหวของพวกกบฎอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาเป็นระยะ จึงได้ทราบแน่ชัดว่า ไม่มีวิถีทางใดที่จะหลีกเลี่ยงการนองเลือดได้ จึงเตรียมอยู่ทุกโอกาสที่จะรับมือพวกกบฎ เมื่อการกบฎเกิดขึ้นฝ่ายรัฐบาลจึงได้แต่งตั้งให้ พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกที่ 1 เป็นผู้อำนวยการปราบปรามกบฎคราวนี้ ให้ประชาชนอยู่ในความสงบ

ในด้านสะพานเฉลิมโลก (ตรงประตูน้ำ) อันเป็นแดนแบ่งเขตรักษาการณ์ระหว่างทหารบก ทหารเรือ หรือเป็นพื้นที่ร่วมก็ เกิดการเข้าใจผิดจนเกิดปะทะกัน เมื่อเรือตรี ประภัทร จันทรเขต หัวหน้าสายตรวจ ทหารเรือ ขอเข้าไปตรวจ แต่ทหารบกไม่ยอม เกิดการโต้เถียงและยิงกันจน เรือตรี ประภัทร จันทรเขต ถูกยิงบาดเจ็บสาหัส (ท่านผู้นี้ต่อมา เป็นพลเรือโท เจ้ากรมยุทธศึกษาทหาร) เมื่อ เวลา 01.00 น. ทำให้ นาวาเอก ชลี สินธุโสภณ ผู้บังคับการกองสัญญาณทหารเรือ ซึ่งท่านมีนิสัยรักลูกน้อง ยิ่ง เกิดความเจ็บแค้น จึงเขียนข้อความออกอากาศทางสถานีวิทยุของกอง สัญญาณทหารเรือ ซ้ำ ๆ อยู่หลายครั้งว่า "ทหารบกกระทำแก่ทหารเรือจนสุดจะทนทาน ขอให้ทหารเรือกระทำ ตอบแทน โดยให้เรือรบทุกลำเข้ามาในพระนครเพื่อทำการต่อสู้กับทหารบก เพื่อเกียรติและ ศักดิ์ศรีของ ทหารเรือเอง"


เนื่องจากการกระจายเสียงของสถานีวิทยุกองสัญญาณทหารเรือ ดัง กล่าว ใช้คลื่น เดียวกับคลื่นส่งวิทยุของกรมจเรทหารสื่อสารกองทัพบก ประชาชนจึง ตกอยู่ใน ความหวาดผวา ในเหตุการณ์ที่สับสน การต่อสู้ที่รุนแรงระหว่างทหารบกและทหารเรือ เกิดขึ้น จากการปลุกเร้า ของวิทยุกองสัญญาณ ทหารเรือ ที่มุ่งเน้นอยู่ตรงความไม่พอใจจากการ ที่ ทหารเรือถูกทหาร บกยิง มิใช่อยู่ที่การต่อสู้เพื่อยึดอำนาจการปกครองแต่อย่างใด


การปลุกเร้า ดังกล่าวสามารถ ระดมกำลังแทบทุกส่วนของกองทัพเรือ แม้แต่เรือรบที่กำลังฝึกทางทะเล ก็ ยัง เดินทางเข้ามา ตามคำประกาศนั้น ยกเว้นกองพันนาวิกโยธิน ที่ 4 และ 5 สวนอนันต์ ซึ่ง อยู่ใกล้ กับพระบรม มหาราชวัง อันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการของฝ่ายกบฏ มิได้แสดง ท่าทีและ ออกปฏิบัติ การที่เป็น การ หนุนช่วยหรือให้ความคุ้มกันฝ่ายกบฏแต่อย่างใด การที่ทหารเรือ ไม่ได้สนับสนุน เต็มที่ใน ทุกส่วนนี่เอง เป็นผลให้นายปรีดี ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ในเวลาต่อมา


ทางด้านพระบรมมหาราชวังอันเป็นป้อมปราการของนายปรีดี ยังเปิดฉากยิงเข้าไปใน ร. พัน. 1 มีทหารเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บอีกหลายนาย ผู้บังคับบัญชาการกองทัพทหารราบที่ 1 ได้สั่งการให้ยิงโต้ตอบไปบ้างเสียงสนั่นกรุง ประมาณ 1 ชั่วโมงก็เงีบยไป


เวลา 02.00 น.พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 สั่งการให้ พันเอก ถนอม กิตติขจร ผู้บังคับการ กรมทหารราบที่ 11 และ พันโท กฤช ปุณณกัณฑ์ ผู้บังคับการกรมรถรบ ให้ล้อมพระบรมมหาราชวัง 3 ด้าน (ยกเว้นด้านกองเรือรบ) และบุกเข้าไปในพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี โดยทหารราบและ ป.ต.อ. วิ่งตามเข้าไปอย่างไม่เกรงกลัว พวกฝ่ายกบฎในพระบรมมหาราชวังยิงปืนกราดออกมาดังห่าฝน รถถังคันหนึ่งในจำนวนหลายคันถูกปืนบาซูก้ากระหน่ำเสียจนไปต่อไม่ได้ จากนั้นรถถังอีก 2 คันก็พุ่งเข้าชนประตูวิเศษไชยศรีจนประตูเบื้องซ้ายพังลงมา จากนั้นก็พากันบุกเข้าไปอย่างรวดเร็ว เกิดการยิงต่อสู้กันอย่างรุนแรงและหนักหน่วง


กำลังฝ่ายรัฐบาลอีกส่วนหนึ่งได้โอบล้อมเข้าไปอย่างเงียบๆ โดยกำลังทหาร ร. พัน 1 สวนเจ้าเชตุ ได้เคลื่อนเข้ายึดวังสราญรมย์ และระดมยิงปืนใหญ่ พอเวลา 06.00 น. ประตูสวัสดิ์โสภา และเทวาพิทักษ์ก็พังลง เปิดทางให้ทหารราบกรูกันเข้าไปในพระบรมมหาราชวังได้อีก 2 ทาง ฝ่ายกบฎจึงถูกบีบวงล้อมกระชับขึ้น และตกอยู่ในฐานะลำบาก


นายปรีดี พนมยงค์ ในชุดพันจ่าเอกไว้หนวด เรือเอก วัชรชัยและชนชั้นหัวหน้าพากันหลบหนีออกจากพระบรมมหาราชวัง ออกไปทาง ประตูเทวาภิรมย์ ด้านท่าราชวรดิษฐ์ โดยเรือโท สิริ ข้าราชการกรมพระธรรมนูญทหารเรือ เป็นผู้นำออกไป แต่เมื่อได้นำตัวนายปรีดีออกไปได้แล้ว ก็เกิดกลัวความผิด จึงได้กระโดดน้ำตายที่ท่าราชวรดิตถ์นั่นเอง แม้ว่าผู้ก่อการชั้นหัวหน้าจะหนีไปแล้ว ฝ่ายผู้ก่อ การในวังที่เหลือ ยังใช้กลยุทธ์ยิงทางโน้นทีทางนี้ที ลวงให้ทหารบก ผู้ปราบจลาจล และทหาร เรือที่กองเรือรบ เข้าใจผิดต่างกระหน่ำยิงกันต่อไปกันใหญ่ จนสายก็ไม่หยุด


ในอีกด้านหนึ่งของ กรุงเทพ ฯ ทางด้านสี่แยกราชประสงค์ รถถังของ พันเอก ประภาส จารุเสถียร ผู้บังคับการกรม ทหารราบที่ 1 ได้รับคำสั่งให้ข้ามสะพานราชเทวี เพื่อเตรียมเผด็จศึกด้านกองสัญญาณทหารเรือ ถูกบาซูก้าของทหารเรือยิงทำลายกลางสะพาน จากนั้นทหารเรือก็ใช้ปืน ค.85 ยิงถล่มใส่ อย่างรุนแรง จนทหารบกต้องถอยร่นอย่างไม่เป็นขบวนข้ามทางรถไฟสายอรัญประเทศไปตั้ง หลักที่สี่แยกพญาไท และทหารเรือสามารถยึดรถถังกับปืนใหญ่ทหารบกได้


เหตุการณ์ดำเนิน มาถึง ราว 16.00 น. กำลังทหารเรือหนุนเนื่องเป็นสายก็ขึ้นมาจากเรือ ณ ท่าเรือใหม่(ท่าเรือ คลองเตย) มาสู่กองสัญญาณ เสียงทหารเรือพูดกันอย่างมั่นใจว่าพวกเราเป็นผู้ถูกข่มเหงน้ำใจ มานานแล้ว เลือดนาวีต้องสู้กันละ


ภายหลังการปราบปรามพวกกบฎ ภายในพระบรมมหาราชวังเรียบร้อยแล้ว พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้นำกำลังที่มีอยู่เคลื่อนมายังบริเวณดังกล่าว ท่ามกลางการต่อสู้กันอย่างดุเดือดนั้น พลตรีประวัติ ศรีพิพัฒน์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้เข้าพบ พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อเปิดเจรจาหยุดยิง พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยอมรับข้อเสนอในการหยุดยิงของฝ่ายทหารเรือ เพราะไม่ต้องการให้คนไทยฆ่ากันเอง โดยให้ตั้งเวลาหยุดยิงให้ตรงกันคือ 10.15 น.


ครั้นได้เวลา 10.15 น. ฝ่ายทหารเรือ ทหารบก ก็หยุดยิงกันตลอดแนว และจากนั้นก็ไกล่เกลี่ยกันจนเป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว แต่ละฝ่ายก็เคลื่อนกำลังเข้าสู่ที่ตั้งของตน


หลังจากปราบปรามพวกกบฎในครั้งนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุม พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข อดีตผู้บังคับการสันติบาล และ พ.ต. โผน อินทรทัต อดีตผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ แต่ทั้งสองคนถูกตำรวจยิงตายในข้อหาว่า ต่อสู้เจ้าหน้าที่.


ส่วนนายปรีดี ยังคงหลบซ่อนตัว ในประเทศ ไทยต่อไปอีก 6 เดือน จึงได้อาศัยเรือหาปลาเล็ก ๆ ลำหนึ่ง เดินทางไปประเทศ สิงคโปร์ ซ่อน ตัวอยู่ในประเทศสิงคโปร์อีก 11 วัน จากนั้นจึงเดินทางโดยเรือเดินสมุทร "ฮอยวอง" ไปประเทศ ฮ่องกง และต่อด้วยรถยนต์ไปซิงเตา


กบฏวังหลวง มีพื้นฐานอยู่บนความขัดแย้ง 2 มิติ คือ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถือว่าเป็นกบฏวังหลวงแท้ๆ อีกมิติหนึ่งคือ ความขัดแย้งที่ดำเนินมา เป็นระยะ เวลาอันยาวนานระหว่างทหาร บกกับทหารเรือ ซึ่งเกิดมาภายหลังการเปลี่ยนแปลง การปกครอง พ.ศ.2475 จากกรณี ต่าง ๆ เช่น การที่ทหารบกซึ่งคุมอำนาจทางการเมือง แทรกแซงการแต่งตั้ง ผู้บังคับบัญชาทหารเรือ ทหารเรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกรณีกบฏบวร
เดช และผู้นำทหารบก ออกคำสั่งที่ได้ขัดต่อความรู้สึก ของทหารเรือทั่วไป


จึงอาจวิเคราะห์ แยกการปะทะออกมาเป็นสองกรณี คือ การปะทะกันระหว่าง ทหารบกผู้ปราบจลาจลกับฝ่ายกบฏในวังหลวง กับ กรณีปะทะกันที่ราชประสงค์ระหว่างทหารบก ทหารเรือ แต่ทั้ง 2 กรณี เกิดขึ้นวันเวลาเดียวกัน คือ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ทหารเรือ ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าตนเอง เป็นกบฏ หรือ เป็นฝ่ายกบฏเข้าข้างฝ่ายกบฏ แต่ถือว่าเป็นการเข้าใจผิดในระหว่างการ ปราบจลาจล กับหยุดยั้งความก้าวร้าวของทหารบก ยกเว้นทหารเรือกลุ่ม พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ เท่านั้นที่คิดว่าตนเองแพ้ไปพร้อมกับฝ่ายกบฏด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น