ระบอบอัตราแลกเปลี่ยนแบบใหม่ของจีนส่อท่าเป็นแค่เหล้าเก่าในขวดใหม่ หลังแบงก์ชาติแถลงชี้แจงจีนยังคงอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ต่อไป ไม่คิดปรับขึ้นค่าเงินหยวนครั้งใหญ่ แม้ว่าหนึ่งวันก่อนหน้านั้นเพิ่งมีคำประกาศจะทำให้ค่าหยวนยืดหยุ่นมากขึ้น
ทางการจีนเพิ่งประกาศไว้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ตนจะหวนไปใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้ค่าเงินหยวนหรือที่เรียกว่า เหรินหมินปี้ (เงินของประชาชน) มีความยืดหยุ่นมากขึ้นหลังจากเศรษฐกิจของจีนมั่นคงมากขึ้น และเป็นการส่งสัญญาณว่าจีนพร้อมแล้วที่จะยกเลิกการตรึงค่าเงินหยวนกับสกุลดอลลาร์ ซึ่งใช้มานาน 23 เดือน และตกเป็นเป้าวิจารณ์ของนานาประเทศอย่างรุนแรงว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ภาคการส่งออกของจีนเอง
ในวันอาทิตย์ ธนาคารประชาชนจีนมีคำแถลงชี้แจงยาวเหยียดตามมาถึงกระบวนการปฏิรูปดังกล่าว โดยประกาศท่าทีชัดเจนว่าจีนจะไม่ปรับขึ้นค่าเงินหยวนครั้งใหญ่ในคราวเดียว อ้างว่าค่าเงินหยวนในปัจจุบันไม่ได้ห่างไกลจากระดับที่ยุติธรรม
แถลงการณ์กล่าวว่า การรักษาอัตราแลกเปลี่ยนไว้ใน "ระดับที่สมดุลและสมเหตุสมผล" จะช่วยสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่เน้นภาคการบริหารและการบริโภคมากขึ้น
แบงก์ชาติของจีนกล่าวด้วยว่า การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของจีนจะอิงกับระบบตะกร้าเงินมากขึ้น ซึ่งรวมถึงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐด้วย
พวกเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนยืนกรานมาช้านานว่าการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนของจีนจะดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป คำแถลงซึ่งมีขึ้น 1 สัปดาห์ก่อนหน้าประธานาธิบดีหูจิ่นเทาจะไปร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศจี 20 ที่แคนาดาครั้งนี้ ก็ไม่ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดเป็นการเฉพาะ แต่เชื่อว่าตลาดเงินตราวันจันทร์นี้จะพุ่งเป้าสายตาไปที่แบงก์ชาติของจีนว่าจะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนรายวันเช่นไร
ในคำแถลงเมื่อวันจันทร์ แบงก์ชาติจีนให้คำมั่นว่าจีนจะใช้การปรับเปลี่ยนและจัดการอย่างมีพลวัต ซึ่งอาจไม่ทำให้หยวนแข็งขึ้น แต่อ่อนค่าลงอีกเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราของเงินสกุลอื่นๆ ด้วย แต่ด้วยปัญหายุ่งยากของระบบอัตราแลกเปลี่ยน จึงเป็นไปได้มากที่เงินหยวนจะค่อยๆ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์เช่นเดียวกับที่เคยเป็นมาในช่วงเวลา 3 ปีก่อนที่จีนจะกลับมาตรึงค่าเงินช่วงกลางปี 2551
"การคงค่าเงินหยวนให้คงที่โดยพื้นฐานในระดับที่สมเหตุสมผลและสมดุล เป็นส่วนสำคัญของการส่งเสริมการจัดตั้งกลไกการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อไป" คำแถลงกล่าว
ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐเพิ่งกล่าวตอบรับคำประกาศยืดหยุ่นค่าหยวนของจีนว่าเป็นการดำเนินการที่สร้างสรรค์และจะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ แสดงความยินดีว่าการปฏิรูปค่าหยวนของจีนน่าจะช่วยสร้างสมดุลแก่เศรษฐกิจโลกได้
ด้านนักเศรษฐศาสตร์ของจีนหลายคนมองว่าคำประกาศของรัฐบาลจีนในช่วงนี้ชอบด้วยเหตุผลทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะทางการเมืองนั้นก็เพื่อไม่ให้ประเด็นค่าหยวนของจีนตกเป็นเป้าโจมตีในเวทีจี 20 แม้ว่าในโลกออนไลน์ ผู้เชี่ยวชาญและชาวจีนทั่วไปจะวิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรงว่ายอมแพ้ต่อแรงกดดันของต่างชาติโดยเฉพาะจากสหรัฐ
รัฐบาลจีนตรึงค่าหยวนกับสกุลดอลลาร์เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันแก่ภาคการผลิตของจีนแข่งขันในภาวะที่ตลาดโลกมีความต้องการต่ำ แต่แรงกดดันจากประเทศคู่ค้าหลายชาติทำให้จีนต้องเริ่มปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐในปี 2548 กระทั่งมายกเลิกนโยบายนี้กะทันหันในปี 2551 เมื่อการวิกฤติการเงินโลก นับแต่นั้นมาอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนของจีนมีค่าราว 6.83 หยวนต่อดอลลาร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น