Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ชุมชนมัสยิดฮารูน


เป็นมัสยิดที่2 ของประเทศไทย โดยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เป็นบิดาของฮัจยียูซุบ บาฟาเด็ล คือ เช็ค ฮารูณ บาฟาเด็ล ตั้งแต่วันนั้นมาเมื่อกว่า 150 ปีก่อน หรือ อาจจะกว่า 200 ปีก่อนด้วยซ้ำไป มีหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก(ที่เป็นสถานีตำรวจดับเพลิงบางรักในปัจจุบัน) มีชื่อว่า หมู่บ้านต้นสำโรง ไม่สามารถค้นคว้าได้ว่าหมู่บ้านนี้มีมาตั้งแต่ยุคใด สมัยใด เล่าต่อๆ กันมาหลายชั่วคนว่าเป็นหมู่บ้านที่มีชาวไทย นับถือศาสนาอิสลามอาศัยอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ มีมัสยิดหลังหนึ่งสร้างด้วยไม้อยู่ที่นี่ มัสยิดริมฝั่งแม่น้ำแห่งนี้จึงถูกเรียกกันตามชื่อของหมู่บ้านคือ มัสยิดต้นสำโรง ไม่มีใครทราบข้อเท็จจริงว่าทำไมหมู่บ้านนี้ และ มัสยิดหลังนี้จึงถูกเรียกชื่อว่า “ ต้นสำโรง “ ( อาจจะมีต้นไม้ชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่าต้นสำโรงอยู่ในบริเวณนั้น) มัสยิดนี้เป็นต้นกำเนิดของมัสยิดฮารูณ และ มีความเป็นมาจากการบันทึกของคุณวิทยา เรสลี ผู้พยายามค้นคว้าหาข้อมูล และ ประวัติของบรรพบุรุษของตนเองจึงเป็นประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับมัสยิดฮารูณอย่างน่าสนใจ

กว่า 150 ปีมาแล้ว ขณะนั้นมีหมู่บ้านต้นสำโรง และ มัสยิดต้นสำโรงอยู่แล้ว เมื่อ ฮ.ศ.1257 (พ.ศ.2380) มีชายผู้หนึ่งชื่อ มูซา บาฟาเด็ล เป็นชาวอินโดนีเซีย เชื้อสายอาหรับ/เปอร์เซีย บ้านเกิดที่เมืองปันติยานะห์ อยู่ทางใต้ของเกาะบอร์เนียว เป็นพ่อค้าวาณิชย์ ทำการค้าโดยทางเรือ ใช้เรือใบเป็นพาหนะ เดินทางค้าขายระหว่างประเทศสยาม มาลายู และอินโดนีเซีย มีความสนใจในประเทศสยามเป็นพิเศษ เดินเรือทำการค้าไปๆ มาๆ เป็นเวลาหลายแรมปี ในขณะล่องเรือค้าขายก็ได้สอดส่องตามริมแม่น้ำเจ้าพระยาเรื่อยมา ต้องการหาทำเลที่เหมาะสมตามที่ใจรัก เพื่ออนาคตและส่วนหนึ่งคือการธรรมจาริก ศาสนาอิสลามไปด้วย สุดท้ายจึงตัดสินใจขึ้นฝั่งตั้งถิ่นฐานถาวร ยังริมชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศตะวันออกซึ่งมีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่า “หมู่บ้านต้นสำโรง”

ในระหว่างที่เดินเรือทำการค้าระหว่างประเทศอยู่นั้น ได้นำบุตรชายทั้ง 3 คนติดตามผู้เป็นบิดาไปด้วยตลอดมา มีความประสงค์เพื่อฝึกฝนให้มีความรู้ ความชำนาญ ในการค้ามากยิ่งขึ้นเพื่อได้เจริญรอยตามบิดาภายหน้าต่อไป บุตรชายทั้ง 3 มีนามว่า ฮารูณ,
อุสมาน และอิสฮาก เมื่อตั้งถิ่นฐานและเรียนทำการค้าจากผู้เป็นบิดาแล้ว บุตรทั้ง3จึงได้เดินทางทำการค้าด้วยความสามารถของตนเอง

อุสมาน มุ่งหน้าไปทำการค้า ยังประเทศมาเลเซีย รัฐเคดะห์ อลอสตาร์ เป็นเมืองที่ใกล้ชายแดนประเทศสยาม ต่อมาก็ได้ภรรยาที่นั่น และ ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั่น

อิสฮาก ได้เดินทางไปค้าขายยังประเทศเขมร และได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ยังประเทศเขมร ฮารูณ บุตรชายผู้นี้ก็เดินทางค้าขายระหว่างประเทศสยาม และมาลายูไปๆ มาๆ และขออาศัยอยู่ร่วมกับบิดายังประเทศสยาม และ เป็นผู้ดูแลการค้าแทนบิดาตลอดมา ได้เดินทางทำการค้าระหว่างเมืองบางกอก ( กรุงเทพฯ ) กับ กรุงเก่า ( อยุธยา ) ระหว่างขึ้นๆ ล่องๆ ทำการค้าได้พบหญิงกรุงเก่าผู้หนึ่งมีนามว่า อำแดงพุ่ม ภายหลังจึงได้แต่งงานกัน ต่อมาจึงได้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ได้ตั้งชื่อว่า “มูฮัมหมัดยูซุบ”

หลังจากท่านมูซา บาฟาเด็ลบิดาของฮารูณ ได้ถึงแก่กรรมแล้วที่หมู่บ้านต้นสำโรง ฮารูณผู้เป็นบุตรชายคนเดียวที่อยู่ในประเทศสยาม จึงเป็นผู้รับช่วงดูแลทรัพย์สินทั้งหมดของบิดาแต่ผู้เดียวตลอดมา และได้เลี้ยงดูบุตรชายของท่านคือ “มูฮัมหมัดยูซุบ” เป็นอย่างดี จนกระทั่งเป็นหนุ่ม วันที่ 12 เดือน รอบิอุลเอาวัล ฮ.ศ.1299 (พ.ศ.2422) ท่านได้ทำบุญ และได้เชิญแขกระดับผู้ใหญ่ของหมู่บ้านต่างๆ มาด้วย เมื่อหลังจากเลี้ยงอาหารแล้ว จึงประชุมระดับผู้ใหญ่ให้เป็นพยาน เนื่องด้วยวันนี้ ท่านมีความประสงค์จะทำบันทึกพินัยกรรม มอบหมายให้บุตรชายคนเดียวของท่าน คือ “มูฮัมหมัดยูซุบ” (ตวนโส) เป็นผู้รับมอบหมายดูแลของวากั๊ฟ และทรัพย์สินของท่านโดยส่วนตัวด้วย ตามพินัยกรรมเป็นภาษามาลายู ดังนี้


คำแปลบันทึกพินัยกรรมจากภาษามาลายู
สถานที่บันทึก ประเทศสยาม บางกอก หมู่บ้านต้นสำโรง
วันพุธที่ 12 เดือน รอมิอุ้ลเอาวัล ฮ.ศ.1299 ( พ.ศ. 2422 ) เวลา 10.00 น.


ข้าพเจ้า เช็คฮารูณ บาฟาเด็ล บุตรของอัลมัรฮูมมุซา ข้าพเจ้าเกิดที่เมือง ปันติยานะห์ ในเวลานี้ ข้าพเจ้าได้อยู่บ้านที่หมู่บ้านต้นสำโรง และ ข้าพเจ้าสบายดี สติปัญญาของข้าพเจ้าก็ยังสมบูรณ์ดี พินัยกรรมฉบับนี้ได้ถูกจารึกขึ้นต่อหน้าบุคคลหลายคนที่รู้เรื่องดี และ เขาทั้งหลายได้ลงลายมือชื่อไว้ข้างล่างนี้ มีทั้งที่อยู่ที่หมู่บ้านนี้ และ หมู่บ้านอื่นๆ

ข้าพเจ้า เช็คฮารูณ บุตรของมูซา บาฟาเด็ล ข้าพเจ้าเป็นผู้รับมอบหมายต่อสิ่งที่เขามอบให้
สิ่งที่ 1 ที่ดินวากั๊ฟแปลงหนึ่ง
สิ่งที่ 2 มัสยิดซึ่งมีตัวอาคารมัสยิดอยู่บนที่ดินผืนนั้น
สิ่งที่ 3 บ้านเช่าซึ่งมีบ้านอยู่ในที่ดินผืนนั้น
สิ่งที่ 4 ที่ดินทำวากั๊ฟกุโบร์ด้วย กับ ที่ดินผืนนั้น
ข้าพเจ้า เช็คฮารูณ มีความพอใจ ให้กับบุตรของข้าพเจ้า คือ มูฮัมหมัดยุซุบ เขานี่แหละมีความรู้ความสามารถ ที่จะปกครองแทนข้าพเจ้า และ ข้าพเจ้าได้ดำเนินตามแนวทางของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล) ในเรื่องการรับมอบ และ ยังมี
สิ่งที่ 5 บ้านที่ข้าพเจ้าอยู่
สิ่งที่ 6 ทรัพย์สมบัติ และ สิ่งที่เป็นสิทธิของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ายกให้กับบุตรของข้าพเจ้า
นี่แหละคือการเปลี่ยนผู้ปกครอง ของทั้งหมดจากข้าพเจ้า โดยบุตรของข้าพเจ้าได้รับหน้าที่ต่อจากข้าพเจ้าสืบต่อไปในพินัยกรรมฉบับนี้

ข้าพเจ้าฮัจยียูซุบบุตรของเช็คฮารูณบาฟาเด็ลยอมรับในสิ่งที่บิดาข้าพเจ้าให้กับข้าพเจ้าซึ่งได้กล่าวมาข้างบนนี้
ลงชือ เช็คฮารูณ บาฟาเด็ล ผู้มอบ
ลงชื่อ เช็คฮัจยียูซุบ บาฟาเด็ล ผู้รับมอบ

รายชื่อพยานในที่นั้นมีดังนี้
1. ฮัจยีฮะซัน บุตรอิสฮาก
2. บิล้าล มูฮัมมัด กูการิต
3. ฮัจยี มูฮัมมัด อะลีย์
4. ลีมิค์
5. ฮัจยี มูฮัมมัด ซออีด บุตรลีมิค์

เมื่อเช็คฮารูณ ได้มอบหมายพินัยกรรม ให้กับบุตรชายปกครองดูแลแทนถูกต้องตามกฎหมายอิสลามแล้ว
หลังจากนั้น 2 ปีต่อมา ท่านก็ได้ถึงแก่กรรม สิ่งของวากั๊ฟรวมทั้งทรัพย์สินทั้งหลายดังที่กล่าวมาแล้วตามพินัยกรรม ก็ตกมาเป็นของฮัจยียูซุบ (ตวนโส) ดูแล และปกครอง แต่ผู้เดียวตลอดมา (หลักฐานต้นฉบับพินัยกรรมเป็นภาษามลายู ฉบับนี้ปัจจุบันตระกูลเรสลี เป็นผู้เก็บรักษาไว้ )

ฮ.ศ.1319 (พ.ศ.2442) ระหว่างปกครองหมู่บ้านต้นสำโรงสืบทอดจากเช็คฮารูณผู้เป็นบิดา ผ่านมาหลายปี ทางรัฐบาลโดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เห็นว่าที่ดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก ซึ่งทางทิศใต้ติดกับสถานฑูตประเทศฝรั่งเศส ทางทิศเหนือติดกับวัดม่วงแค ผืนนี้ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชมชาวไทยมุสลิม ที่มีชือว่า หมู่บ้านต้นสำโรงนี้ เป็นทำเลที่เหมาะแก่การที่จะใช้เป็นสถานที่สร้าง กรมร้อยชักสาม หรือ โรงเก็บภาษี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กรมศุลกากร เพราะสมัยนั้น การนำสินค้าเข้ามาจากต่างประเทศโดยทางเรือ และ ที่ดินผืนนี้อยู่ใกล้แหล่งความเจริญของพ่อค้าวาณิชย์ รัฐบาลจึงส่งเจ้าหน้าที่มาเจรจากับ ฮัจยียูซุบ (ตวนโส) ขอแลกเปลี่ยนที่ดิน ที่ดินริมฝั่งน้ำทั้งหมด กับที่ดิน ที่เป็นที่ดินของต้นสำโรง โดยมีเงื่อนไขยินยอมอนุญาตให้ชาวบ้านเดิมที่ต้องย้ายจากริมน้ำเข้ามาอยู่ด้านใน มีสิทธิ์ผ่านเข้าออกไปท่าน้ำเจ้าพระยาหน้ากรมร้อยชักสาม (กรมศุลกากร) โดยเสรีได้ทุกเวลา และ ให้มีสิทธิ์ใช้ท่าน้ำเหมือนเดิม

ชาวหมู่บ้านต้นสำโรง ที่เคยอยู่ริมน้ำจึงได้ถอยเข้ามาอยู่ยังที่ใหม่ ห่างจากฝั่งแม่น้ำประมาณ 100 เมตรเศษ จนเป็นหมู่บ้านฮารูณตราบเท่าทุกวันนี้ เมื่อย้ายเข้ามาแล้ว มัสยิดที่ย้ายมาก็ยังมาปลูกเป็นเรือนไม้เหมือนเดิม

เวลาผ่านพ้นไปจนถึง ฮ.ศ.1324 (พ.ศ.2447) ฮัจยียูซุบ (ตวนโส) จึงดำริที่จะสร้างมัสยิดใหม่ จากเรือนไม้มาเป็นอาคารโบกอิฐถือปูน เพื่ออุทิศแก่ผู้บิดา เช็คฮารูณ ผู้ล่วงลับไปแล้ว จึงสละทรัพย์สินส่วนตัวโดยขายที่ดินข้างสุสานฝรั่งสีลมไปส่วนหนึ่ง เป็นเงิน 180 ชั่ง นำมาสมทบในการก่อสร้างมัสยิดใหม่ด้วย ผู้สมทบสร้างมัสยิดมีทั้งชาวหมู่บ้านต้นสำโรงช่วยกันลงแรง และ ทรัพย์ ยังมีอีกส่วนหนึ่งจากแขกนอก คือพ่อค้าวาณิชย์ชาวอินเดียหลายตระกูลที่เข้ามาใช้มัสยิดนี้ บางท่านก็ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านจนจบชีวิต ณ ที่แห่งนี้ ท่านเหล่านั้นได้คอยเกื้อหนุนมัสยิดเสมอมา

ในสมัยนั้น มัสยิดที่สร้างขึ้นใหม่นั้นเป็นที่กล่าวขวัญถึงความกว้างขวาง ศิลปกรรม แกะสลักไม้เป็นตัวภาษาอาหรับ อยู่บนหน้าต่าง ประตูทุกบาน มีตัวไม้ เขียนเป็นภาษาอาหรับ อัลกูรอ่านซูเราะห์ อัลฟาติฮะห์ ติดไว้โดยรอบ เป็นศิลปกรรมภาพสะท้อนจากกำแพงด้านซ้าย จะเห็นตัวภาษาอาหรับเขียนกลับด้านได้ บรรจงวิจิตรยิ่งนัก มีเมียะหรอบทำด้วยไม้แกะสลัก และมิมบั๊รที่ถูกบรรจงแกะด้วยไม้ ให้สีเขียวสลับทอง หาค่ามิได้ ตัวอาคารมองจากภายนอกเป็นปูนฉาบสีชมพู มิใช่สีทา (แต่สมัยหนึ่งทรุดโทรมมากจึงได้ซ่อมแซม และ ทาสีขาวแทนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน) ขอบหน้าต่างด้านนอก และ ชายคาวิจิตรด้วยปูนปั้น ซึ่งยังคงเหลือให้เห็น แต่ปัจจุบันตัวอาคารก็ถูกดัดแปลงให้กว้างขวางเพื่อรองรับผู้มาทำละหมาด ได้มากขึ้น (มัสยิดฮารูณ ได้รับการทนุบำรุงซ่อมแซมหลายครั้ง ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในโอกาสต่อไป)

ในสมัยนั้น มัสยิดหลังนี้ยังถูกเรียกชื่อว่า “มัสยิดหลังโรงภาษี” หรือ “มัสยิดวัดม่วงแค” ตามภาษาชาวบ้าน เพราะมัสยิดนี้มาสร้างใกล้กับวัดม่วงแค ซึ่งมีอยู่มาก่อน

เมื่อราวปี พ.ศ.2490 รัฐบาลได้ตรากฎหมายเพื่อรองรับมัสยิดอิสลาม เพื่อให้เป็นนิติบุคคล และ มีคณะกรรมการเข้ามารับผิดชอบ จึงได้ออกกฎหมายเรียกว่า “พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม” และ ดำเนินการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ผู้ร่วมดูแลมัสยิดสมัยนั้น จึงได้ยื่นจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเป็นมัสยิดที่2 ของประเทศไทย โดยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เป็นบิดาของฮัจยียูซุบ บาฟาเด็ล คือ เช็ค ฮารูณ บาฟาเด็ล ตั้งแต่วันนั้นมา มัสยิดซึ่งมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานนี้จึงได้รับการตั้งชื่อ และ จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลามว่า

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ชาวฮารูณมีสื่อสัมพันธ์ กับ แขกนอก (ชาวอินเดีย มุสลิม) ตั้งแต่ดั้งเดิม อาจจะตั้งแต่ยุดที่อยู่ในหมู่บ้านต้นสำโรง แม้แต่ผู้เข้ามาดูแลรักษามัสยิดต้นสำโรง เช่น เช็คมูซา บาฟาเด็ล และ เช็คฮารูณ บาฟาเด็ล ผู้เป็นบุตรก็เป็นชาวอินโดนีเซีย เชื้อสายอาหรับ/เปอร์เซีย ดังนั้นมัสยิดฮารูณจึงเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมไทย กับ มุสลิมต่างชาติ ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน อยู่ร่วมกัน คบค้าสมาคมกันฉันท์พี่น้อง ตั้งแต่อดีตกาลตลอดจนถึงปัจจุบัน กว่า 100 ปี

เมื่อฮัจยียูซุบ (ตวนโส) ผู้ทำหน้าที่อีหม่าม และ ดูแลมัสยิดเรื่อยมา มีอายุมากแล้วต้องการความสงบ และ พักผ่อนบ้าง จึงมอบหมายให้ฮัจยีมัสอู้ด อัลอุมารี ผู้มีความรู้ด้านศาสนา และ เป็นครูสอนศาสนาให้แก่ชาวฮารูณยุคต้นๆ มากมาย เป็นที่เคารพนับถือในฐานะ “ ครู ” หรือ “ หยอ” (หมายถึง บิดา) เป็นอิหม่ามต่อจาก ฮัจยียูซุบ (ตวนโส) ต่อไป นับว่าเป็นอิหม่ามท่านที่ 2 ของมัสยิดฮารูณ

ครั้นเมื่อปี ฮ.ศ.1337 (พ.ศ.2460) เป็นปีที่ชาวฮารูณ (ชาวหมู่บ้านต้นสำโรง) ต้องได้รับความเสียใจอย่างที่สุด เพราะ ฮัจยียูซุบ บาฟาเด็ล (โสหะรุณ หรือ ตวนโส) ซึ่งเป็นผู้ที่ชาวฮารูณรัก และ เคารพดั่งบิดา ได้ถึงแก่กรรม ถึงอายั้ลของอัลลอห์

1 ความคิดเห็น:

  1. นั่งเรือผ่านทาง มองเห็นแต่รถดับเพลิง อาคารหลังเก่าๆ น่าสนใจมากแถวๆเขตบางรัก เก่าแก่จริงๆ

    ตอบลบ