Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553

จอห์นเบาริ่ง-การค้าเสรี (ระเบียบใหม่ของโลกเก่า)


คง เกือบไม่มีอาจารย์ หรือนักเรียนนักศึกษาไทยคนใด ที่ไม่เคยได้ยินชื่อหรือไม่รู้จักนามของ “เซอร์ จอห์น เบาว์ริง” เจ้าตำรับของ “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ที่ทำให้ไทยสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ 4 ต้อง “เสียอำนาจอธิปไตยทางการศาล” และปรากฏมี “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” เกิดขึ้น แต่ ก็ ทำให้สยามรอดจากการตกเป็น อาณานิคม (โดยตรงสมบูรณ์แบบ) ไปได้ และหากจะสนใจมากไปกว่านี้ ก็คง ทราบว่าสนธิสัญญาดังกล่าว ทำให้เกิด “การค้าเสรี” ถือเป็นการสิ้นสุดของ “การผูกขาดการค้าต่าง ประเทศ” โดย “พระคลังสินค้า” ของกษัตริย์และเจ้านายสยาม ฯลฯ

แต่ก็คงมีน้อยคนที่จะทราบว่าเซอร์จอห์น เบาว์ริง เป็นมนุษย์มหัศจรรย์ของยุคสมัยจักรวรรดินิยมล่าอาณานิคม ที่เป็นทั้งเจ้าเมืองฮ่องกง (ถึง 9 ปีระหว่าง ค.ศ. 1848-57) เป็นพ่อค้า เป็นนักการทูต เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นนักการศาสนา เป็นนัก แต่งเพลงสวด เป็นกวี เป็นนักประพันธ์ เป็นบรรณาธิการ เป็นนักภาษาศาสตร์ (รู้ถึง 10 ภาษาหลักๆ ทั้งหมด ในยุโรป รวมทั้งภาษาจีน) กล่าวกันว่าเบาว์ริงเชื่อมั่นอย่างรุนแรงทั้ง “การค้าเสรี” ทั้ง “พระเยซูเจ้า” ดังนั้นจึงได้กล่าว “คำขวัญ” ไว้ว่า "Jesus Christ is free trade, free trade is Jesus Christ" หรือ “พระเยซู คริสต์คือการค้าเสรี และการค้าเสรีก็คือพระเยซูคริสต์”

ท้าย ที่สุดสมัยปลายรัชกาลที่ 4 และต้นรัชกาลที่ 5 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตไทยประจำลอน ดอน และยุโรป ถือได้ว่าเป็น “ตัวแทนประจำคนแรกของไทย” ก็ว่าได้ มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยา สยามมานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ” เบาว์ริงเกิด พ.ศ. 2335 (17 ตุลาคม 1792) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 ท่านมี อายุมากกว่าพระจอมเกล้า 12 ปี ท่านสิ้นชีวิต พ.ศ. 2415 (23 พฤศจิกายน 1872) เมื่ออายุ 80 ปี หรือ ภายหลังการสวรรคตของพระจอมเกล้าฯ 4 ปีนั่นเอง

“หนังสือ” สนธิสัญญาเบาว์ริง

สนธิ สัญญาเบาว์ริง ว่าด้วย “การค้าเสรี” อันเป็น “ระเบียบใหม่” ของโลกในยุคลัทธิจักรวรรดินิยม อาณานิคมตะวันตก ลงนามกันระหว่างอังกฤษและสยามเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) ในสมัยรัฐบาล “ประชาธิปไตย” ของพระบาทสมเด็จฯ พระราชินีนาถวิกตอเรีย และ สยามสมัย “ราชาธิปไตย” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 สนธิสัญญานี้มีความสำคัญอย่างยิ่งและใช้บังคับอยู่เป็นเวลา ถึง 70 กว่าปี จนกระทั่งมีการแก้ไขค่อยๆยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 6 ภายหลังเมื่อสงครามโลกครั้ง ที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อปี 2461 (1918) แต่กว่าไทยจะมี “เอกราชสมบูรณ์” ก็ต่อเมื่อในปี 2482 (1938) ใน สมัย “รัฐธรรมนูญนิยม” ของรัฐบาลพลตรีหลวงพิบูลสงครามที่มีการแก้ไขและลงนามในสนธิสัญญา ใหม่กับโลกตะวันตก (และญี่ปุ่น) ทั้งหมด

แม้ว่าในปัจจุบันสนธิสัญญา เบาว์ริง จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้วก็ตาม แต่หลักการว่าด้วย “การค้า เสรี” ที่ลงรากในสมัยนั้น ก็ยังคงเป็น “ระเบียบแบบแผน” ของเศรษฐกิจกระแสหลักของโลกอยู่ใน ปัจจุบันอยู่ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจสนธิสัญญาเบาว์ริงนี้ตามสมควร

พระ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในปี 2394 (1851) พร้อมด้วยการตั้งพระทัยอย่าง มุ่งมั่นว่า หากสยามจะดำรงความเป็นเอกราชอยู่ได้และพระองค์จะทรงมีฐานะเป็น “เอกกษัตราธิราชสยาม” ได้ ก็จะต้องทั้ง “เรียนรู้” และ “ลอกเลียน” รูปแบบจากชาติตะวันตก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาอำนาจอังกฤษ) จะต้องประนีประนอมประสานแบ่งปันผลประโยชน์กับฝรั่ง ทั้งนี้เพราะ 10 กว่าปีก่อนการขึ้นครองราชของพระองค์นั้น จีนซึ่งเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งเป็น “อาณาจักรศูนย์กลาง” ของโลกเอเชีย (และจีนก็ยังคิดว่าตนเป็น “ศูนย์กลาง” ของโลกทั้งหมด โปรดสังเกตชื่อประเทศและตัวหนังสือจีนที่ใช้สำหรับประเทศของตน) และก็ถูกบังคับด้วยแสนยานุภาพทางนาวีให้เปิดประเทศให้กับการค้า ของฝรั่ง ดังที่เป็นที่ทราบกันดีว่าจีนพ่ายแพ้อย่างย่อยยับใน “สงครามฝิ่น” ปี พ.ศ. 2383-85 (1840-42 ) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3) ต้องยกเลิกระบบบรรณาการ “จิ้มก้อง” และเปิดการค้าเสรีกับเมืองท่าชาย ทะเลให้ฝรั่ง (ขายฝิ่นได้โดยเสรี) แถมยังต้องเสียเกาะฮ่องกงไปอีกด้วย

การล่มสลาย ของจีนต่อ “ฝรั่งอั้งม๊อ” (คนป่าคนเถื่อน) ครั้งนี้น่าจะส่งอิทธิพลต่อพระจอมเกล้าฯ อย่างมหาศาล ที่เห็นได้ชัดคือการส่งบรรณาการ “จิ้มก้อง” ที่ไทยไม่ว่าจะสมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ก็ได้ส่งไปยังเมืองจีนเพื่อถวายกับจักรพรรดิจีนมาเป็นเวลากว่าครึ่ง สหัสวรรษ นั้นต้องสิ้นสุดลง

ดังนั้น พระจอมเกล้าฯ จึงทรงเป็นกษัตริย์ไทยองค์สุดท้ายที่ส่ง “บรรณาการ” หรือ “จิ้มก้อง” ครั้งสุดท้ายไปกรุง ปักกิ่งเมื่อปี 2396 (1853) หรือก่อนการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงเพียง 2 ปีเท่านั้นเอง ในรัชสมัย ของพระองค์ สยามก็หลุดออกจากวงจรแห่งอำนาจของจีน และก้าวเข้าสู่วงจรแห่งอำนาจของ อังกฤษด้วยการลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริงดังกล่าวข้างต้น

แต่เรื่องของ อำนาจทางการเมืองของตะวันตก ก็หาใช่เหตุผลสำคัญประการเดียว ในการที่พระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 จะทรงผูกมิตรอย่างมากกับฝรั่งไม่ ดูเหมือนว่าพระองค์จะทรงเชื่อว่า สยามใหม่ของพระองค์ น่าจะได้รับประโยชน์ ในการที่จะมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับชาติตะวันตก พร้อมๆกับการ เปลี่ยนแปลงเรื่องของรายได้ ภาษีอากรภายในประเทศด้วย พระองค์จึงพอพระทัยที่จะแสวงหาและพัฒนาความสัมพันธ์นั้น

ดังนั้น เซอร์ จอห์น เบาว์ริงก็โชคดีมาก ที่การเจรจาสนธิสัญญาใหม่ทำได้โดยง่ายกว่าบรรดาทูต หรือตัวแทนของอังกฤษที่มาก่อนหน้านั้น ที่ต้องเผชิญกับขุนนางและข้าราชสำนักสยามที่ไม่ เป็นมิตรนัก ซ้ำยังต้องเผชิญกับกษัตริย์ (พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) ที่ไม่ทรงเห็นด้วยกับ การที่สยามจะต้องทำสนธิสัญญาที่เสียเปรียบฝรั่งในลักษณะดังกล่าว และที่สำคัญคือไม่ทรงเห็น ด้วยที่จะให้ฝรั่งเข้ามาค้าขาย “ฝิ่น” ได้อย่างเสรี ดังปรากฎอยู่ใน “ประกาศห้ามซื้อขายและสูบกิน ฝิ่น” ปี พ.ศ. 2382 (1839) ที่ออกมาบังคับใช้แบบไม่ค่อยจะเป็นผลนัก ก่อนหน้า “สงครามฝิ่น” เพียงปีเดียว

แม้ว่าเบาว์ริงจะมีปัญหาในการเจรจากับข้า ราชสำนักบางท่าน (เช่นสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ และสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย หรือเจ้าพระยาพระคลัง) แต่ดูเหมือนพระจอมเกล้าฯ ก็ทรงอยู่ในปีกความคิดฝ่ายเดียวกับเบาว์ริงมาแต่เริ่มแรก ว่าไปแล้วในประเทศเช่นสยาม ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีอำนาจเกือบจะสมบูรณ์นั้น ก็ถือว่าเป็นความได้เปรียบของเบาว์ริงอย่างยิ่ง

ในสมัยก่อนหน้าเบาว์ ริงนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสยามและอังกฤษ ถูกกำหนดไว้โดยสนธิสัญญา เบอร์นีปี 2369 (1826) และเบาว์ริงก็ใช้สนธิสัญญานี้เป็นจุดเริ่มต้นเจรจา ทั้งนี้โดยรักษามาตราเดิมๆ ที่ยังใช้ได้ไว้ บางมาตราก็เพียงแต่ให้นำมาบังคับใช้ให้เป็นผล และมีเพียงไม่กี่มาตราที่จะต้องทำการ แก้ไขใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เบาว์ริงต้องการขจัดออกไปให้ได้จากข้อผูกมัดของ สนธิสัญญา เบอร์นี คือ

1. ข้อความที่ให้คนในบังคับอังกฤษในสยาม ต้องขึ้นกับกระบวนการของกฎหมายสยาม

2. ข้อความที่ให้อำนาจข้าราชสำนักสยามห้ามพ่อค้าอังกฤษไม่ให้ปลูกสร้าง หรือว่าจ้าง หรือซื้อบ้านพักอาศัย ตลอดจนร้านค้าได้ในแผ่นดินสยาม

3. ข้อความที่ให้อำนาจต่อเจ้าเมืองในหัวเมือง ที่จะไม่อนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษค้าขายในท้อง ที่ของตน

4. ข้อความที่กำหนดให้ฝิ่นเป็นสินค้า “ต้องห้าม” (แบบที่จักรพรรดิจีนและรัชกาลที่ 3 เคยห้าม หรือให้เฉพาะแต่เจ้าภาษีนายอาการผูกขาดไป)

5. ข้อความที่กำหนดว่าเรือของอังกฤษที่เข้ามายังเมืองท่าบางกอกนั้น จะต้องเสียค่าระวาง (ค่าธรรมเนียมปากเรือ) สูง และในมาตราเดียวกันของข้อความนี้ ยังมีการห้ามส่งออกข้าวสารและข้าวเปลือกรวมทั้งปลาและเกลืออีกด้วย

กล่าว โดยย่อ เซอร์ จอห์น เบาว์ริงมีวัตถุประสงค์ในการเจรจาสนธิสัญญาใหม่ ที่จะขจัดข้อจำกัดกีด ขวางเรื่องของการค้าทั้งหมด และก็ประสบความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ใจ แต่ก็กล่าวได้เช่นกันว่า ที่พระจอม เกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงยินยอมต่อข้อเรียกร้องทางผลประโยชน์ของฝรั่งตะวันตก ทั้งหมดนั้น กลายเป็น win-win situation ทั้งสองฝ่าย แม้ว่าบางเรื่องจะมาเกิดปัญหาอย่างหนักหน่วง และต้องเจรจาแก้ไขภายหลัง เช่น เรื่อง “คนในบังคับ” ของต่างชาติ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ สิทธิสภาพ นอกอาณาเขต ฯลฯ

ข้อตกลงหลักๆในสนธิสัญญาเบาว์ริงที่ลงนามกันในปี 2398 (1855) ก็มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. คนในบังคับอังกฤษ จะขึ้นกับอำนาจของศาลกงสุลอังกฤษ เกิดสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิ สภาพนอกอาณาเขต” ขึ้นในสยามเป็นครั้งแรก ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาหนักของสยามใน สมัยต่อๆมา

2. คนในบังคับอังกฤษ มีสิทธิที่จะทำการค้าโดยเสรีตามเมืองท่าของสยาม (หัวเมืองชาย ทะเล)ทั้งหมด และสามารถพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ได้เป็นการถาวร คนในบังคับอังกฤษ สามารถซื้อหาหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ในปริมณฑลของกรุงเทพฯ คือ ในบริเวณ 4 ไมล์ หรือ 200 เส้นจากกำแพงพระนคร หรือ “ตั้งแต่กำแพงเมืองออกไป เดินด้วยกำลังเรือแจว เรือพายทาง 24 ชั่วโมง” ได้ อนึ่ง คนในบังคับอังกฤษได้รับอนุญาตให้เดินทางภายใน ประเทศได้อย่างเสรี โดยให้ถือใบผ่านแดนที่ได้รับจากกงสุลของตน

3. มาตรการต่างๆ ทางภาษีอากรเดิมให้ยกเลิก และกำหนดภาษีขาเข้าและขาออก ดังนี้

(ก) ภาษีขาเข้ากำหนดแน่นอนไว้ที่ร้อยละ 3 สำหรับสินค้าทุกประเภท ยกเว้นฝิ่น ซึ่งจะปลอดภาษี แต่จะต้องขายให้แก่เจ้าภาษีฝิ่นเท่านั้น ส่วน เงินแท่งก็จะปลอดภาษีเช่นกัน (ตรงนี้เบาว์ริงและอังกฤษได้ไปอย่างสม ประสงค์ ไม่ต้องทำ “สงครามฝิ่น” กับไทย แต่ทางฝ่ายไทย คือ เจ้าภาษีนาย อากรก็ได้ผลประโยชน์จากการค้าฝิ่น ที่ลักลอบทั้งซื้อ ทั้งสูบทั้งกิน ที่ทำมาตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 3 แล้ว ในเวลาเดียวกันเจ้านายราชสำ นักไทยในรัชกาลใหม่ ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินจนกระทั่งเจ้านายทรงกรมต่างๆ ก็ได้ผล ประโยชน์ จากเงินรายได้ภาษีฝิ่นนี้ เพราะมีการให้สัมปทานฝิ่น กับเจ้าภาษีนายอากรมาแล้วก่อนการลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริงด้วยซ้ำไป

(ข) สินค้าขาออกจะถูกเก็บภาษีเพียงครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็นภาษีภายใน หรือผ่านแดน หรือส่งออกก็ตาม

4. พ่อค้าอังกฤษได้รับอนุญาตให้ซื้อและขายโดยตรงกับคนชาวสยาม ทั้งนี้โดยไม่มีการ แทรกแซงจากบุคคลที่สามแต่อย่างใด

5. รัฐบาลสยามสงวนสิทธิ์ที่จะห้ามการส่งออก ข้าว เกลือ และปลา หากเห็นว่าสินค้าดังกล่าว อาจจะขาดแคลนได้

6. กำหนดให้มีมาตราที่ว่าด้วย a most-favored nation ซึ่งหมายถึง “ถ้าฝ่ายไทยยอมให้สิ่งใดๆ แก่ชาติอื่นๆ นอกจากหนังสือสัญญานี้ ก็จะต้องยอมให้อังกฤษ แลคนในบังคับอังกฤษ เหมือนกัน”

สรุปแล้ว สนธิ สัญญาเบาว์ริง มีสาระสำคัญอยู่ที่การกำหนดให้มี “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ให้มี “การค้าเสรี” และให้มีภาษีขาเข้าและขาออกในอัตราที่แน่นอน (3 %) แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ การที่ข้อกำหนด ต่างๆ ได้รับการเคารพและปฏิบัติตามโดยรัฐบาลสยามเป็นอย่างดี มิได้เป็นเพียงแต่ตัวหนังสือในตัวบทกฎข้อสัญญาเท่านั้น กล่าวได้ว่านี่ก็เนื่องจากความตั้งพระทัยแน่วแน่ของรัชกาลที่ 4 และขุนนางรุ่นใหม่ที่มีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในฐานะกลาโหมเป็นผู้นำ ที่จะทำให้สนธิสัญญาเป็นผลอย่างแท้จริง เป็นผลประโยชน์ของราชสำนักและขุนนางร่วมกัน เป็น win-win situation ดังกล่าวข้างต้น และอาจจะมีเพียงมาตราที่เกี่ยวกับเรื่องการส่งออกข้าวเท่านั้น เอง ที่ดูจะคลุมเครือและขึ้นอยู่กับการตีความของราชสำนักเป็นสำคัญ แต่ก็หาได้เป็นการเสียผลประ โยชน์ของฝ่ายอังกฤษไม่

สนธิสัญญาเบาว์ริง ยังมีความหมายถึงการที่สยามต้องยอมเสีย “อำนาจอธิปไตย” บาง ประการ ซึ่งไม่เพียงแต่เรื่องของการมี “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ของคนในบังคับอังกฤษเท่านั้น แต่มีทั้ง เรื่องของภาษีขาเข้าร้อยละ 3 กับการกำหนดภาษีขาออก ที่ราชสำนักสยามต้องยอมปล่อยให้ภาษีศุล กากรนี้หลุดมือไป มีสินค้า 64 รายการทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญถูกกำหนดไว้อย่างแน่นอนและ ละเอียดยิบไว้ในสนธิสัญญานี้ (เบาว์ริงเป็นนักการบัญชีด้วย พร้อมๆกับการที่ต้องเผชิญเจรจากับเจ้า พระยาพระคลัง (รวิวงศ์หรือทิพกรวงศ์) ที่ก็มีความละเอียดถี่ถ้วน เช่นกัน) และในจำนวนนี้มีถึง 51 รายการที่จะไม่ต้องเสียภาษีภายในประเทศเลย ส่วนอีก 13 รายการก็ไม่ต้องเสียภาษีขาออก ด้วยเช่นกัน

กล่าวได้ว่ารายได้ สำคัญของสยาม(กษัตริย์ เจ้า และขุนนาง) ก็สูญหายไปเป็นจำนวนมากด้วยสน ธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับนี้ และกล่าวได้ว่ารายได้สำคัญที่เข้ามาแทนที่ในตอนแรก คือ “ฝิ่น” การพะนัน ตลอดจนภาษีอบายมุขด้านอื่นๆ ฯลฯ และต่อมาจะชดเชยด้วยการผลิต “ข้าว” เพื่อส่งออกขนานใหญ่ ที่จะมาเห็นผลชัดเจน ในกลางรัชสมัยของ รัชกาลที่ 5

ดัง นั้น แม้สนธิสัญญาเบาว์ริง จะทำให้การค้าและการผูกขาดของรัฐ หรือที่รู้จักกันในนามกิจการของ “พระคลัง สินค้า” ต้องสิ้นสุดลงก็ตาม แต่ราชสำนัก เจ้านาย ขุนนางสยาม ก็ผันตัวไปสู่รายได้จาก “การค้าเสรี” ในรูปแบบใหม่ และในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษารูปแบบบางประการของการให้สัมปทานหรือการผูกขาด ของเจ้าภาษีอากรแบบเดิมอยู่ (ฝิ่นและบ่อนเบี้ยการพะนัน)

การเจรจาสนธิสัญญาเบาว์ริง

เซอร์ จอห์น เบาว์ริง อยู่ในกรุงสยาม 1 เดือน และใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์เจรจากับ “ผู้สำเร็จราชการฝ่ายสยาม” 5 ท่านที่ได้ รับการแต่งตั้งโดย “กุศโลบายทางรัฐประศาสนศาสตร์” ของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ

(1) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท

(2) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาปยุรวงศ์ หรือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ผู้มีอาญาสิทธิ์บังคับบัญชาได้สิทธิขาดทั่วทั้งพระราชอาณาจักร

(3) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาทั่วทั้งพระนคร

(4) เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกระลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองชายทะเลปากใต้ฝ่ายตะวันตก

(5) เจ้าพระยารวิวงศ์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ทิพากรวงศ์” หรือ ขำ บุนนาค) พระคลัง และสำเร็จราชการกรมท่า บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายตะวันออก

น่าสนใจที่ ว่าทางฝ่ายสยามมีถึง 5 ท่าน (ตามปกติในแง่ของประเพณีโบราณ หากจะมีการแต่งตั้งทูต เป็นผู้แทน ก็มักจะมีเพียง 3 เท่านั้น) ซึ่ง ต่างก็ตระหนักดีว่านี่เป็นความเปลี่ยนแปลง อย่างใหญ่หลวง ใน 5 ท่านนี้ บุคคลที่มีอำนาจอย่างมากในยุคนั้น คือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ และ สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ที่มีผลประโยชน์อยู่กับระบอบเดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และมักถูกตั้งข้อสงสัยว่าขัดขวางการเจรจากับตัวแทนของอังกฤษและอเมริกามา ก่อนหน้า ที่เบาว์ริงจะเข้ามา

แต่การที่พระจอมเกล้าฯ ทรงสามารถแต่งตั้งให้บุคคลทั้งสอง ต้องเข้าร่วมเป็นตัวแทนสยามเจรจา และต้องตกลงกับเบาว์ริงจนได้ ก็หมายถึงการที่ “ทรงเล่นเกม” ได้ถูก (“กุศโลบายทางรัฐประศาสน ศาสตร์”) หรือไม่ก็ทรงมีอำนาจอย่างสมบูรณ์ของพระองค์เอง น่าเชื่อว่าในด้านหนึ่งจากความ แก่ชราและโรคภัยที่เบียดเบียนอยู่ ก็ทำให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ (หัวหน้าตระกูลบุนนาค) ต้องคล้อยตามไปกับการเจรจาสนธิสัญญาครั้งนี้ ท่านสิ้นชีวิตไปในวันที่ 25 เมษายน 2398 (1855) หรือเพียง 7 วันหลังจากประทับตราในสนธิสัญญาร่วมกับเบาว์ริง

และก็น่า เชื่อว่าการค้าแบบใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้ทำให้ฝ่ายเจ้าและขุนนางเดิมต้องเสียประ โยชน์ไปมากมายแต่อย่างใด ที่สำคัญคือบุตรชายของท่าน คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ “สมุหพระกระลาโหม” ก็เห็นด้วย อย่างยิ่งกับความสัมพันธ์แบบใหม่นี้ และเป็นตัวจักรสำคัญในการบรรลุซึ่งการเจรจา

อนึ่ง สนธิสัญญาเบาว์ริงได้กลายเป็นแม่แบบของการที่ประเทศอื่นๆ ที่สำคัญๆ (ยกเว้นจีน ที่หมดอำนาจไปแล้วในศตวรรษนี้) ติดตาม เข้ามาทำสัญญาแบบเดียวกันอย่างรวดเร็ว มีทั้งหมด 14 ประเทศที่ทำสนธิสัญญากับสยามตามลำดับ

1856 สหรัฐอเมริกา

1856 ฝรั่งเศส

1858 เดนมาร์ค

1859 โปรตุเกศ

1860 เนเธอร์แลนด์

1862 เยอรมนี

1868 สวีเดน

1868 นอรเวย์

1868 เบลเยี่ยม

1868 อิตาลี

1869 ออสเตรีย-ฮังการี

1870 เสปน

1898 ญี่ปุ่น

1899 รัสเซีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น