Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ชุมชนบ้านบาตร














...บ้านบาตร เป็นชุมชนที่คนทั่วไปรู้จักันเป็นอย่างดี เนื่องจากมีชื่อเสียงทางด้านการทำบาตรพระมาตั้งแต่อดีต โดยที่หน้าบ้านของชุมชนดังกล่าวในแต่ละหลังจะมีอุปกรณ์และเครื่องมือการทำบาตรพระตั้งวางอยู่ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในระยะหลังนี้ การทำบาตรพระในชุมชนได้ลดน้อยลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้เหลือเพียง 3 ครอบครัว ที่ยังคงยึดอาชีพการทำบาตรอยู่ นับตั้งแต่ที่ ประเทศไทยมีกรุงเทพ มหานครเป็นราชธานี โดยพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งอดีตทรงเป็นทหาร หลวงในหรุงศรีอยุธยานั้น ทรงมี พระราชประสงค์จะ ให้พระราชธานีแห่งใหม่นี้ เป็นศูนย์กลางประเทศ เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่มั่งคั่ง สมบูรณ์ไม่แพ้กรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งรุ่งเรืองนั้น ชาวบ้านที่อพยพ มาจากกรุงเก่า และชาวบางกอกเดิมนั้น ต่างก็ต้องปรับตัวให้ตนอยู่รอดมากที่สุด ดังนั้นชุมชนเดิมๆ ที่รวมกลุ่มเป็นหมู่บ้าน แบบเฉพาะถิ่นตน อาทิ กลุ่มชาวนา กลุ่มพ่อค้า กลุ่มชาวจีน ชาวญวน หรือแม้แต่กลุ่มอาชีพดั้งเดิมก็ถูกปลุกให้เกิดขึ้น และที่ถนนบำรุงเมือง หลังวัดสระเกศ ใกล้ๆ กับเมรุปูนนั้น มีซอยย่อยๆ ที่ตั้งใกล้ๆ กันอยู่ยาวทั่วทั้งถนน ซึ่งในอดีตนั้น ที่ถนนแห่งนี้เคยเป็นแหล่งชุมชนคนทำกิน อาชีพหนึ่ง ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับ ชาวบ้านได้ตลอดทั้งปี ย่านนี้เราเรียก กันว่า "บ้านบาตร" แนวคิดการทำ "หนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล" ของรัฐบาลทักษิณ มิใช่เรื่องใหม่ เพราะนับตั้งแต่ 2 ศตวรรษมาแล้ว ที่ชาวบ้านจากกรุงเก่า ชาว บางกอกเดิม รวมทั้งชาวญวนอพยพที่พากันมา ตั้งถิ่นฐานใกล้ๆ กับวัดสระเกศนี้เคยเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านแทบทุกคนประกอบอาชีพคล้ายๆ กันจนเรียกอาชีพ ส่วนใหญ่ของแต่ละถิ่นนั้นเป็นชื่อหมู่บ้านไป ที่ย่านถนนบำรุงเมืองนี้ก็มีลักษณะของหมู่บ้านตามอาชีพเช่นกัน อย่างชุมชนบ้านดอกไม้ที่อยู่ข้างวัดสระเกศฝั่งคลองโอ่งอ่างก็เป็นหมู่บ้านทำ ดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล และหมู่บ้านบ้านบาตรดังที่เกริ่นไว้ในข้างต้น ก็ทำธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายบาตรพระเช่นเดียวกันหมด ด้วยเหตุที่ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้วัด หลวงอยู่หลายแห่ง ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการทำผลิตภัณฑ์ซ้ำๆ กันเพียง อย่างเดียวได้อย่างไม่ขัดสน ซึ่งจะว่าไป แนวคิดที่ว่ามาทั้งหมดนี้เคยเกิดขึ้นใน ยุคกรุงศรีอยุธยามาก่อนแล้ว ในปัจจุบัน ยังมีชาวบ้านในย่านบ้านบาตรทำบาตร พระให้เห็นอยู่บ้าง 3-4 แห่ง

71 ซ. บ้านบาตร ถ. บริพัตร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100

โทร. 0-2223-7970

เข้าชมได้ทุกวัน เวลา 10.00 - 20.00 น. ไม่เสียค่าธรรมเนียม

*** Update การเดินทาง

...ไปยังชุมชนบ้านบาตร จากเสาชิงช้าเดินไปตามถนนบำรุงเมืองมุ่งหน้าไปทางแยกสำราญราษฎร์ เมื่อข้ามสะพานสมมติอมรมารคให้เลี้ยวขวาเข้าไปในถนนบริพัตร เดินไปประมาณเกือบกลางซอยจะเห็นซอยบ้านบาตรอยู่ทางซ้ายมือ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการมาชมอยู่ที่เวลา 11.00-15.00 เนื่องจากชาวชุมชนจะกำลังทำบาตรกันพอดี

สอบถามรายละเอียด ติดต่อคุณป้ากฤษณา แสงไชย โทร. 0-2819-3641 กด 7, 0-6997-6621

สำหรับย่านเสาชิงช้านอกจากบ้านบาตรแล้วยังมีสถานที่ที่น่าสนใจให้เที่ยวชมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดสุทัศนเทพวราราม ที่มีเสาชิงช้าสีแดงสดตั้งโดดเด่นอยู่ด้านหน้าวัด มีโบสถ์พราหมณ์ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน

พิธีโล้ชิงช้าที่ว่านั้นเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เพื่อต้อนรับพระอิศวรที่เสด็จลงมาเยี่ยมโลก แต่พิธีที่ว่านี้ได้เลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 7 ยังคงเหลือเพียงเสาชิงช้าที่เด่นเป็นสง่าท้าแดดฝนมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ย่านเสาชิงช้ายังเป็นแหล่งรวมร้านขายสังฆภัณฑ์ และย่านร้านอร่อย อีกด้วย

บ้านบาตร : จากหัตถกรรมที่กำลังโรยรา สู่ การแข่งขันในยุค OTOP *
*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานวิชา Folklife and Material Culture ของผู้เขียน นักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

บทความอื่น

ชุมชนบ้านบาตร ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณสี่แยกเมรุปูน ซอยบ้านบาตร ถนนบำรุงเมืองและถนนบริพัตร แขวงสำราญราษฎร์
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ 37 งาน ที่ดินเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
สภาพทั่วไปเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวและสองชั้น รวมถึงบ้านปูนตามแบบสมัยใหม่ ปลูกอยู่ติดกัน
ทางเดินเท้าภายในชุมชนเป็นคอนกรีตเชื่อมติดต่อกันตลอด


กว่าจะเป็น " ย่านบ้านบาตร"




พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
เมื่อครั้งอดีตทรงเป็นทหารหลวงในสมัยอยุธยา มีพระราชประสงค์จะให้กรุงเทพฯเป็นราชธานีแห่งใหม่ เป็นศูนย์กลางอาณาจักร
ด้วยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่มั่งคั่งสมบูรณ์ไม่แพ้กรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านที่อพยพมาจากกรุงเก่า และชาวบางกอกเดิม
ต่างก็ต้องปรับตัวให้ตนอยู่รอดมากที่สุด ดังนั้นชุมชนเดิมที่รวมกลุ่มเป็นหมู่บ้านแบบเฉพาะถิ่น อาทิ กลุ่มชาวนา กลุ่มพ่อค้า
กลุ่มชาวจีน ชาวญวน หรือแม้แต่กลุ่มอาชีพดั้งเดิมก็ถูกรื้อฟื้นให้มีขึ้น เช่น ที่ถนนบำรุงเมืองหลังวัดสระเกศ
ใกล้กับเมรุปูนมีซอยย่อยที่ตั้งใกล้กันอยู่ยาวทั่วทั้งถนน ในอดีตนั้นถนนแห่งนี้เคยเป็นแหล่งชุมชนคนทำกินอาชีพหนึ่ง
ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ตลอดทั้งปี ย่านนี้เรียกกันว่า "บ้านบาตร"


บ้านบาตรตั้งขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด ประมาณกันว่า ชุมชนมีอายุยาวนานกว่าสองร้อยปี แหล่งที่มาของชาวบ้านบาตร
มีประวัติศาสตร์บอกเล่าที่แตกต่างกัน


ปรากฏคำบอกเล่าว่า คนบ้านบาตรเดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา อพยพมาเมื่อครั้งเสียกรุงใน พ.ศ.2310 สันนิษฐานว่า
บ้านบาตรอาจตั้งขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
โปรดให้สถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานีและขุดคลองรอบกรุงขึ้นในปี พ.ศ. 2326
ชาวบ้านบาตรจึงมาตั้งบ้านเรือนในละแวกนอกคลองตามที่อยู่ปัจจุบัน


นอกจากนั้นยังมีคำบอกเล่าต่อ ๆกันว่า บรรพบุรุษเดิมเป็นชาวเขมรที่เข้ามากับกองทัพไทยในสมัยรัชกาลที่ 3
หลังจากนั้นได้รวมกันมาอยู่ที่ตรอกเขมรและบ้านบาตรจนกลายเป็นชุมชน เนื่องจากพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ หรือผู้มีฐานะมักนิยมสร้างวัด ทำให้มีวัดในกรุงเทพฯ จำนวนมาก ทั้งชาวเขมรในชุมชนแห่งนี้มีชื่อเสียงด้านทำบาตรพระ
และประกอบอาชีพนี้มานานกว่า 100 ปีแล้ว

เนื้อความในพงศาวดารฉบับหนึ่งกล่าวถึงภูมิสถานอยุธยาว่า ตลาดหน้าวัดพระมหาธาตุที่กลางกรุง เป็นตลาดค้าบาตรถลกบาตร
เฉกเช่นเดียวกับตลาดเสาชิงช้ากลางกรุงเทพมหานคร อันเป็นย่านการค้าพระพุทธรูปใหญ่น้อยและเครื่องสังฆภัณฑ์นานาชนิด
สถานที่ดังกล่าวนี้เองเคยเป็นตลาดใหญ่ขายส่งบาตรของชาวบ้านเมื่อหลายสิบปีล่วงมาแล้ว

ทั้งนี้ด้วยอาศัยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนร่วมกันทำนุบำรุงค้าชูพระศาสนาโดยประเพณีบวชลูกหลานสืบเนื่องต่อกันมาโดย
ไม่ขาดสาย ชาวบ้านบาตรจึงมีงามอุดมพอเลี้ยงชีพและผดุงศิลปะการทำบาตรต่อมาในชุมชนบ้านบาตรทุกเหย้าเรือน

"จนกระทั่งปี พ.ศ.2514 มีการก่อตั้งโรงงานผลิตบาตรพระขึ้นมาจึงทำให้กิจการทำบาตรพระที่บ้านบาตรค่อยๆลดน้อยลงไป
"ก่อนหน้านั้นบ้านบาตรทำบาตรพระกันทั้งหมู่บ้าน พอเจอบาตรปั๊มจากโรงงานตีตลาด เราก็หยุดไปประมาณ 20-30 ปี มาปี พ.ศ.2544
มีการตั้งกลุ่มทำบาตรพระขึ้นมา โดยท่านชาญชัย วามะศิริ ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบฯ ท่านได้ส่งเสริมอนุรักษ์การทำบาตรของเรา
โดยการส่งเสริมพานักท่องเที่ยวเข้ามาดูวิธีการทำบาตร ตอนนี้งาน เริ่มขยับตัวขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2544-2545" (คุณหิรัญ เสือศรีเสริม
รองประธานชุมชนบ้านบาตร)


ปัจจุบันมีการผลิตบาตรบุน้อยลงมากและจำกัดอยู่เพียงจำหน่ายเป็นของที่ระลึกหรือรับสั่งทำจากพระสงฆ์โดยตรงเท่านั้น
ปัจจัยหลักที่ทำให้หัตถกรรมบาตรบุลดน้อยถอยลงเป็นลำดับเนื่องจากมี "บาตรปั๊ม" เข้ามาแทนที่เมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมา
และมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นส่วนใหญ่ บาตรปั๊มซึ่งมีกำลังการผลิตสูง ราคาขายส่งถูก



จึงเป็นที่ต้องการของพ่อค้าคนกลางเทียบกันตามราคาขาย "บาตรบุ" ขนาด 7 นิ้ว จำหน่ายในราคา 800 บาท
บาตรปั๊มสามารถขายในราคาเพียง 100 กว่าบาทเท่านั้น พ่อค้าคนกลางจึงหันมาจำหน่ายบาตรปั๊ม และกดราคาบาตรบุลง
จนช่างไม่สามารถหากำไรจากการขายส่งได้ จึงหันมารับงานที่ผู้ว่าจ้างต้องการความประณีตเป็นพิเศษโดยไม่เกี่ยงราคา
บางคนก็เลิกอาชีพช่างไปประกอบอาชีพอื่น บาตรปั๊มจึงเข้ายึดครองตลาดจนบาตรบุขาดหายไปจากตลาดเครื่องสังฆภัณฑ์ในช่วง 30
ปีนั้น


บาตรบุของชาวบ้านบาตรมีราคาสูงเนื่องจากการทำบาตรต้องอาศัยช่างหลายประเภท แบ่งค่าจ้างแรงงานให้กับช่างฝีมือต่างๆ
ประกอบด้วย ช่างตีขอบ ช่างต่อบาตร ช่างแล่น ช่างลาย ช่างตีและช่างตะไบ จึงมีค่าใช้จ่ายเป็นต้นทุนสูง
ช่างบางคนก็ทำได้เองทุกขั้นตอนแต่แบ่งงานกันไปตามความชำนาญเป็นการผ่อนแรงโดยมาก


วัสดุที่ใช้ทำบาตร ในอดีตคือ ตัวถังเหล็กยางมะตอย ที่ทางเทศบาลกรุงเทพมหานครใช้ใส่ยางมะตอยเพื่อราดถนน
เมื่อถึงเวลาจะมีคนนำถังยางมะตอยที่ใช้แล้วมาส่งให้ที่ชุมชน ราคาประมาณ 10 กว่าบาทต่อถัง 1 ใบ โดยถังยางมะตอยทำจากเหล็ก
มีเนื้อบาง ทำให้สามารถตีบาตรได้ง่าย สะดวก และราคาไม่แพง


ปัจจุบัน เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นจึงทำบาตรจากเหล็กแผ่น ที่ต้องหาซื้อเองจากแถวหัวลำโพง ราคาเฉลี่ยต่อบาตรใบละ 100 บาท
สาเหตุที่ทำให้วัตถุเปลี่ยนแปลง เนื่องจากชาวบ้านบาตรชะงักการผลิตลงในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อทำบาตรใหม่อีกครั้งจึงต้องเริ่มต้นใหม่
ด้วยการปรับเปลี่ยนคุณภาพบาตรให้ดีกว่าเดิม เพื่อแข่งขันกับ "บาตรปั๊ม" "บาตรบุ" จึงต้องทำจากเหล็กหนา
ให้เป็นสินค้าที่ทำด้วยมือถูกต้องตามหลักพระวินัย บาตรจึงมีราคาสูงขึ้นจากเดิมมาก ทั้งวัสดุมีราคาสูง
และค่าแรงที่เพิ่มมากขึ้นด้วยขั้นตอนที่ซับซ้อนในการทำบาตรด้วยเหล็กคุณภาพดี



ต้นทุนในการทำบาตรมีตั้งแต่ค่าเหล็ก ใบละ 100 บาท ค่าแรงงานในการตัดเหล็ก, งอเหล็ก, ติดปากบาตร, ติดหน้าวัว = 100 บาท
ปากบาตรขนาดทั่วไป เส้นละ 50 บาท ขนาดเล็กสำหรับเป็นของฝาก เส้นละ 15 บาท เชื่อมตะเข็บ ใบละ 70 บาท ตีตะเข็บ ใบละ 70
บาท ตีเม็ด ใบละ 80 บาท ตะไบบาตร ใบละ 100 บาท รวมราคาบาทพร้อมค่าแรงเบื้องต้น 570 บาท


ยังต้องมีค่าวัสดุในการแล่นบาตร ล้างบาตรที่ปัจจุบันใช้น้ำกรดผสมในการล้างคราบเขม่าจากการแล่นบาตร
และค่าสีในการตกแต่งบาตรเพื่อเป็นของที่ระลึก ทำให้บาตรมีราคาสูงมากขึ้นจากในอดีตที่บาตรใบละ 100 บาท เท่านั้น
แต่ปัจจุบันบาตรใบละ 800-1,500 บาท (ราคาบาตรที่บ้านบาตร ถ้าขายให้คนไทยจะนิยมขนาด 7 นิ้ว ราคาใบละ 900 บาท
ชาวต่างชาติขายราคาใบละ 1,200-1,500 บาท ส่วนบาตรขนาดมาตรฐานก็คือ 8.5-9 นิ้ว ราคา 1,400-1,500 บาท)
ไม่นับรวมบาตรสแตนเลสที่กำลังได้รับความนิยมแทนบาตรเหล็ก ราคาใบละ 3,500 บาท เนื่องจากการใช้งานสะดวกกว่า

และด้วยกาลเวลาทำให้ความสะดวก ความเหมาะสมมีความสำคัญมากกว่าหลักพระวินัย
จึงมีการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบจากเหล็กเป็นสแตนเลสตาม ความต้องการของพระซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ด้วยคุณสมบัติของบาตรที่ทำด้วยมือของชาวบ้านบาตร เมื่อเทียบกับราคาแล้วถือว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมากเมื่อ เปรียบเทียบ กับบาตรปั๊มที่ทำจากเครื่องจักรกล นอกจากนั้น บาตรยังต้องกับพระวินัยและ ยังมีความคงทนมีความหลากหลายในรูปทรงที่ สืบทอดภูมิปัญญามาแต่โบราณ ซึ่งช่างทำบาตรที่ยึดอาชีพนี้จะต้องทำด้วยใจรักอย่างแท้จริง ทำขึ้นด้วยความศรัทธา
ในพระพุทธศาสนา ด้วยความเคารพในวิชาความรู้ ครูบาอาจารย์ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้สอยในการยังชีพทุกชิ้น ตามแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทย บาตรของชาวบ้านบาตรจึงกอปรด้วยคุณค่าที่ผสานฝีมือแรงงาน
และจิตใจไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนบางครั้งการตีค่าความคุ้มค่าของบาตรอาจไม่สามารถกำหนดด้วยค่าเงินตรา
ควรเป็นค่าที่จิตใจมากกว่า



ชุมชนบ้านบาตรจากวันวานถึงวันนี้


บริเวณชุมชนบ้านบาตรมีการทำบาตรพระตลอดทั้งซอย การประกอบอาชีพทำบาตรทำมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
พื้นเพของชาวบ้านมาจากอยุธยา แต่เริ่มประกอบอาชีพทำบาตรอย่างจริงจังเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5
แล้วสืบทอดต่อกันมาจากชั่วอายุหนึ่งสู่อีกชั่วอายุหนึ่ง แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนผ่านไป แต่การทำบาตรที่ชุมชนนี้ยังคงดำเนินอยู่
และเป็นแค่ชุมชนเดียวเท่านั้นในประเทศไทยที่มีการทำบาตรพระด้วยมือตามแบบอย่างโบราณ

ทุกวันนี้ อนุชนช่างบ้านบาตรยังคงสืบสานงานอาชีพศิลป์อยู่ ณ แหล่งเดิม สิ่งที่คนทำบาตรทุกคนจะต้องทำก่อนการเริ่มอาชีพ
ทำบาตรคือ ไปขอกับพ่อปู่ โดยการกล่าวบอกว่าตนเองต้องการเป็นช่าง ขอฝากตัวเป็นศิษย์ ขอให้ทำบาตรให้ออกมาสวย ดี
ไม่บุบ โดยทุกคนจะต้องมาไหว้ขอก่อน มิเช่นนั้นจะไม่สามารถตีบาตรที่สวยได้เลย ถ้าตีเรียบก็อาจจะตีไม่เที่ยงไม่โดนกะล่อน อาจทำให้บาตรเสียทรงได้


ในชีวิตประจำวัน ช่างทำบาตรต้องยกมือไหว้เครื่องมือทุกชิ้น พบว่ามีความเชื่อหนึ่งที่ว่า บ้านใดที่เคยเป็นช่างแล่นมาก่อน
จะมีเตาสูบ เมื่อเตาสูบเลิกใช้งานแล้ว มักนำเตาสูบตั้งบูชานับถือเป็นปู่ครูทั่วทั้งย่านบ้านบาตร ทำให้เตาสูบแบบ ดั้งเดิมยังคงหลงเหลือให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามาแทนที่ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได
้เคยสร้างไว้ ให้หลงเหลือแค่เพียงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีคุณค่าต่อการเคารพบูชาปัจจุบันการทำบาตรพระในชุมชน
บ้านบาตรเหลืออยู่ 3 หลังคาเรือนหลักเท่านั้น

มรดกการทำบาตร: ใครจะสืบทอด?


ในอดีตจะมีการสืบทอดให้กับลูกหลานในบ้านของตน แต่ปัจจุบันลูกหลานไม่มีความสนใจเท่าที่ควรอีกทั้งการได้รับ
การศึกษาที่สูงขึ้น ทำให้การหาอาชีพที่สบายกว่า รายได้ดีกว่า หรือมีเกียรติในมุมมองของชาวบ้านอย่างการรับราชการ เป็นอาชีพที่ถูกเลือกทั้งจากพ่อแม่และลูกหลานในชุมชน ทำให้ผู้ที่สนใจการทำบาตรเป็นคนนอกชุมชนที่ต้องการอนุรักษ์บาตร
ให้คงอยู่ จึงมีการเปิดสอนที่สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายแต่ทั้งผู้ใหญ่ และเด็กไม่สนใจเท่าที่ควร จึงหยุดสอน ในปัจจุบันจะมีแต่โรงเรียนเพาะช่างซึ่งอยู่ใกล้ชุมชนและสนใจในงานบาตรบุ จึงมีการเชิญชาวบ้านบาตร ไปเป็นวิทยากรบ้าง แต่ไม่ได้จริงจังที่จะเป็นหลักสูตรใด จึงยังไม่มีการสืบทอดอย่างจริงจัง ช่างทุกคนล้วนเป็นลูกหลานที่ปัจจุบันอายุไม่ต่ำกว่า 45 ป
ีแล้ว และยังไม่มีคนรุ่นใหม่คนไหนที่ต้องการเรียนรู้อย่างแท้จริง


ในมุมมองของผู้เขียน ช่างทำบาตรเป็นอาชีพที่ใช้แรงมาก ค่าแรงน้อย ไม่เป็นที่ต้องการของคนรุ่นใหม่ที่มีทางเลือกในอาชีพ
ที่หลากหลายและสบายมากกว่าการตีบาตร แต่ทั้งนี้ ถ้าไม่มีใครสืบทอดต่อจริง ๆ แล้ว คนนอกชุมชนนั้นที่จะต้องยื่นมือเข้ามา
ช่วยเหลือ เพื่ออนุรักษ์ไว้ และเมื่อถึงวันนั้นจริง ๆ เชื่อว่า บาตรเหล็กที่ทำจากมือจะยังคงอยู่ แต่ไม่ใช่ในชุมชนบ้านบาตรเท่านั้น



เสียงร้องจากชาวบ้านบาตร


นายช่างทำบาตรหลายคน ต้องการให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเผยแพร่เรื่องราว ความเป็นมาอันยาวนานและมีคุณค่า
ของชุนชนบ้าน บาตรลงในวารสารการท่องเที่ยว และอยากให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือ เพื่อศิลปะการทำบาตรพระจะอยู่ได้ต่อไป
ปัจจุบันการสนับสนุนให้บาตรพระกลับมาเป็นสิ่งที่ระลึกเพื่อ กระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคในสังคมให้มากขึ้น รัฐบาลได้จัดให้บาตรพระขนาดเล็ก (ประมาณ 2-5 นิ้ว) เป็นสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว ที่คุณสมศักดิ์ บัพชาติ ชนะการประกวดระดับเขตมาได้


แนวคิดการทำ "หนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล" ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน(พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร) ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่
เพราะนับเวลากว่า 2 ศตวรรษแล้ว ที่ชาวบ้านจากกรุงเก่า ชาวบางกอกเดิม รวมทั้งชาวญวนอพยพที่พากันมาตั้งถิ่นฐานใกล้ ๆ กับวัดสระเกศนี้ เคยเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านแทบทุกคนประกอบอาชีพคล้าย ๆ กัน

จนเรียกอาชีพส่วนใหญ่ของแต่ละถิ่นนั้นเป็นชื่อหมู่บ้านไป เช่นเดียวกับที่ย่านถนนบำรุงเมืองนี้ ได้มีลักษณะของหมู่บ้านตามอาชีพ
เช่นกัน อย่างชุมชนบ้านดอกไม้ที่อยู่ข้างวัดสระเกศฝั่งคลองโอ่งอ่างก็เป็นหมู่บ้านทำ ดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล

และสำหรับหมู่บ้านบ้านบาตรดังที่เกริ่นไว้ในข้างต้น ก็ทำธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายบาตรพระเช่นเดียวกันหมด ด้วยเหตุที่ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้วัดหลวงอยู่หลายแห่ง ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการทำผลิตภัณฑ์ซ้ำ ๆ กันเพียง อย่างเดียวได้อย่าง
ไม่ขัดสน ซึ่งจะว่าไป แนวคิดที่ว่ามาทั้งหมดนี้เคยเกิดขึ้นใน ยุคกรุงศรีอยุธยามาก่อนแล้ว


แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ ในอดีต ชาวบ้านทำสินค้าชนิดเดียวกันเพื่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชน จะได้เกื้อกูลกันในการค้าขาย การกำหนดราคาเพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางหรือลูกค้า แต่ปัจจุบันมิได้
เป็นเช่นในอดีตแล้ว เพราะการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ตลาดรองรับบาตรมีวงจำกัดมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านแข่งขัน
กันเอง ด้วยการตัดราคากันเอง ส่งผลให้เกิดเป็นรอยร้าวในชุมชนซึ่งอาจปรากฏขึ้นก่อนโครงการ OTOP ก็เป็นได้



การแข่งขันในยุค OTOP


การทำบาตรขึ้นมาหนึ่งใบได้นั้นต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ หลายสิบขั้นตอน และบาตรหนึ่งใบล้วนประกอบจากฝีมือของช่างหลากหลาย
คนตามความชำนาญ ทำให้การทำบาตรต้องเป็นหนึ่งในการพึ่งพากันของชาวบ้าน ชาวบ้านจะต้องมีปฏิสัมพันธ์
แลกเปลี่ยนกันเพื่อให้สามารถประกอบเกิดเป็นบาตรหนึ่งใบได้ แสดงให้เห็นว่าการทำบาตรช่วยก่อให้เกิดความสามัคคี
ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน


แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ช่างที่ทำบาตรลดจำนวนลงอย่างมาก หลายต่อหลายบ้านที่เคยทำบาตรเลิกทำบาตร เพราะไม่สามารถต้านทาน
กระแสการทำบาตรปั๊มที่มีราคาต่ำมากไม่ได้ จึงเลิกกิจการกันไป ปัจจุบันบ้านที่เป็นร้านค้าหลักในการจำหน่ายบาตรเหลือเพียง
ไม่กี่หลังคาเรือน


ร้านทำบาตรเก่าแก่ที่ถือว่าเป็นหน้าตาของชุมชน เนื่องจากได้รับการตอบรับจากสื่อต่าง ๆ มากมายเช่น รายการเกมแก้จน
หนังสือแก้จน หนังสือพิมพ์ และสื่อต่าง ๆ อีกมาก ทำให้เป็นที่รู้จักกันดีของคนนอกชุมชนมากกว่า ถือเป็นร้านเดียวที่มีช่าง
ครบทุกขั้นตอน ภายในร้านเก่าแก่ดั้งเดิมมีบาตรพระที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในชุมชน เป็นบาตรของตระกูล "เสือ ศรีเสริม"
ซึ่งมีต้นตระกูลมาจากคุณปู่อิน-คุณย่าด่วน เสือศรีเสริม เล่าขานกันว่า เป็นชาวอยุธยาที่อพยพมาตั้งรกราก ณ ชุมชนแห่งนี้
นับร้อยปีแล้ว บาตรใบเก่าแก่ที่สุดตีขึ้นที่บ้านบาตร โดยคุณปู่อิน เสือศรีเสริม เป็นบาตรขนาด 9 นิ่ว ตีขึ้นจากเหล็กถังยางมะตอย
โดยนำถังมาตีแผ่ออกเป็นแผ่น ทำให้บาตรที่ได้มีความหนา เมื่อลองเคาะบาตรจะมีเสียงก้องกังวาน ลูกหลานผู้สืบทอดการตีบาตรพระของตระกูลได้เก็บรักษาและนำมารมดำใหม่ จึงทำให้สภาพของบาตรใบนี้ไม่เก่าตามอายุ
หลายขั้นตอนในการทำบาตร ทำให้ต้องใช้ช่างที่มีฝีมือจำนวนหลายคน จำนวนช่างจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของเจ้าของร้าน ทำให้เกิดการแก่งแย่งพื้นที่ในการกระจายงาน กล่าวคือ บ้านช่างหนึ่งคนสามารถรับงานได้เพียงหนึ่งร้านเท่านั้น



เนื่องจากปรากฏภาพความขัดแย้งและเป็นที่รับรู้กันทั้งชุมชน นายช่างให้ความเห็นว่า สาเหตุหลักคือแย่งงานกัน อีกทั้งช่างมีจำนวนน้อยทำให้ไม่สามารถทำบาตรพระได้ตรงตามกำหนดเวลา เกิดกระทบกระทั่งกันกัน ส่งผลให้ความ
สัมพันธ์ร้าวฉานกัน ตัวช่างเองไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากต้องพึ่งพาร้านขายบาตรทุกร้าน จึงแก้ไขปัญหาด้วยการแบ่งแยกงาน
กันไปทำ บ้านไหนรับทำบาตรของคู่ตรงข้ามก็จะไม่รับงานของอีกฝ่ายไปโดยปริยาย มิฉะนั้นจะไม่ได้งานจากร้านใดเลย


เมื่อเกิดปัญาหทางความสัมพันธ์ สิ่งที่เกิดตามมาคือ การตัดราคากัน การกล่างอ้างที่ต่างกันออกไป อาทิ มีใบประกาศการประกวดเป็นสิ่งการันตีความสวยงาม ใช้ความดั้งเดิมที่ทำมาตั้งแต่โบราณอย่างแท้จริง และทำป้ายบอกทางตลอดบริเวณใกล้เคียง เพื่อต้องการให้ลูกค้าเข้าร้านตนเป็นร้านแรก มีการกล่าวโจมตีกัน
ในบางคราว


ภาวะเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันสูงขึ้นเพื่อให้ต่างก็สามารถอยู่รอดได้ ราคาบาตรที่สูงขึ้น ทำให้การตัดราคากันเพื่อ
ดึงดูดลูกค้าทั่วไป ที่สนใจในราคามากกว่าฝีมือในการทำบาตรกลุ่มผู้บริโภค สำหรับคนไทย ไม่นิยมซื้อบาตรพระเป็นของที่ระลึก เนื่องจากมีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป เช่น การนำบาตรเข้าบ้านเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะบาตรเป็นของสูงของที่พระใช้ เป็นต้น

แต่สำหรับชาวต่างชาติไม่มีความเชื่อเช่นนี้ อีกทั้งงานฝีมือที่ทำจากมือยิ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก แม้ราคาจะแพงกว่าคนไทยซื้อถึง
เท่าตัวก็ตาม (บาตรขนาด 3 นิ้ว คนไทยราคา 300-500 บาท
ชาวต่างชาติ 600-1,200 บาท) ผู้บริโภคทั่วไปเป็นชาวต่างชาติเสียเป็นส่วนมาก จึงเกิดการแย่งลูกค้ากัน


ปรากฏการณ์ OTOP ของภาครัฐบาล ที่จัดการประกวดและมอบใบประกาศนียบัตร ทำให้เกิดความแตกต่างกันภายในชุมชน เพราะใบประกาศเหมือนเป็นคำตัดสินในคุณภาพ ทั้งที่บางครั้งคุณภาพบาตรที่เข้าประกวดกับบาตรที่ทำขายนั้นแตกต่างกันก็เป็นได้
สำหรับสาเหตุอื่นที่ส่งผลต่อความขัดแย้ง ผู้เขียนมิอาจทราบได้ เนื่องจากเวลาในการเก็บข้อมูลเป็นแค่ช่วงระยะสั้น แต่ทั้งนี้ผู้เขียนกลับเห็นข้อดีในการแข่งขันกันในชุมชน ภาวะที่ต้องแข่งขันกัน ส่งผลให้บาตรมีราคาที่ไม่สูงเกินไป เป็นราคาที่เหมาะสมและยุติธรรมต่อผู้บริโภค อีกทั้งคุณภาพในการทำบาตรต้องประณีตที่สุดเพื่อให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จัก ลูกค้าจะได้กลับมาซื้อบาตรในครั้งต่อไป เมื่อมีการแข่งขันกันอยู่อย่างนี้ การทำบาตรด้วยงานฝีมือคงไม่หมดไป เพราะการแข่งกันทำบาตรที่ดีที่มีคุณภาพ ยิ่งทำให้บาตรของชุมชนบ้านบาตรยิ่งเป็นที่ยอมรับและคงอยู่คู่สังคมไทยได้

บรรณานุกรม
"กว่า 200 ปีจากอยุธยาสู่พระนครชุมชนบ้านบาตร การทำบาตรพระด้วยมือ งานฝีมือที่ยังหลงเหลือ", น.ส.พ.บางกอกทูเดย์. วันที่ 15 กันยายน 2546. หน้า 10-11.
"บาตรบุ บ้านบาตร", โครงการพัฒนาผลผลิตบาตรพระด้วยมือและชุมชนบ้านบาตรให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว. สำนักงานเขตป้อมปราบ
ศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ.
เอกสารจากฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม. สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น