วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553
ศุลกสถาน
ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ซึ่งใกล้กับโรงแรมโอเรียนเต็ล โรงแรมที่ดีที่สุดในโลกนั้น มีอาคารเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี หลังหนึ่งตั้งอยู่ น่าเสียดายที่ความทรุดโทรมของตัวตึกและ สภาพแวดล้อม ทำให้แทบมองไม่เห็นร่องรอยของความงาม ทางด้านสถาปัตยกรรมหลงเหลืออยู่เลย
หากมองย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 113 ปีก่อนซึ่งตรงกับสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาคารศุลกสถานซึ่งใช้ เป็นที่ทำการของกรมศุลกากรหลังนี้เคยสวย งามและทรงคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรม จนเป็นที่ร่ำลือตั้งแต่สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2431 ก่อนที่กรมฯ นี้จะย้ายไปอยู่ที่คลองเตย ในปี พ.ศ.2492
ตัวอาคารมีรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยคลาสสิค เป็นรูปสี่เหลี่ยมยาวแผ่ขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีระเบียงทางเดินด้าน หน้าซึ่งประกอบด้วยซุ้มหน้าต่างตลอดแนวอาคาร ชั้นล่างเป็นซุ้มสี่เหลี่ยมเรียบๆ ส่วนชั้น 2-3 เป็นซุ้มโค้ง ขอบระเบียงเป็นลูกกรงแก้วปูนปั้น มีเสาอิงเป็นระยะสลับกับแนวหน้าต่าง ช่วงกลางเป็นจั่ว รูปสามเหลี่ยมบรรจุนาฬิกาทรงกลมในจั่ว เหนือจั่วมีกระบังหน้าคล้ายมงกุฎปั้นเป็นตราแผ่นดิน
ผู้ออกแบบคือ โยคิม กราซี (Joachim Crassi) สถาปนิกชาวอิตาลี ซึ่งเข้ามารับราชการในราชสำนักสยามตอนต้น รัชกาลที่ 5 มีหน้าที่ช่วยออกแบบก่อสร้างสถานที่ราชการ วัง และบ้านเสนาบดีที่มีฐานะในช่วงนั้น
ในหนังสือ Bangkok Times Guide Book ปี ค.ศ.1890 ได้บันทึกถึงอาคารศุลกสถานไว้ว่า
"เป็นสถานที่งดงามแห่งหนึ่งในบรรดาสถานที่ซึ่งสร้างขึ้นในกรุงเทพฯ ภายในระยะ 10 ปีที่ล่วงมานี้ และตั้งอยู่ ริมแม่น้ำในที่สง่าผ่าเผย เนื้อที่ซึ่งใช้เป็นท่าเรือ โกดังสินค้า ตัวตึกที่ทำการ และที่อยู่พนักงานที่เกี่ยวข้องกับศุลกสถาน โดยตรง มีขนาดกว่า 10 เอเคอร์ (3-4ไร่) ท่าเรือมีทางสะดวกสำหรับขนถ่ายสินค้าจากเรือลำเลียง แม้เรือกลไฟขนาดใหญ่ ก็เข้าเทียบขนส่งสินค้าได้ มีโรงพักสินค้า และที่พักพนักงาน ตัวตึกใหญ่นั้นรูปทรงงดงามมี 3 ชั้น"
ในหนังสือตำนานกรมศุลกากร ของพระยาอนุมานราชธน ก็ได้เขียนชมความงามไว้เช่นกันว่า
"สมัยนั้น ถ้านั่งเรือไปตามแม่น้ำจะปรากฏตัวตึกกรมศุลกากรตั้งตระหง่านเด่นเห็นได้แต่ไกล ด้วย เป็นตึกที่ตอนกลางสูงถึง 3 ชั้น ซึ่งในสมัยนั้นนอกจากกระทรวงกลาโหมแล้ว ดูเหมือนจะมีแต่ตึกกรมศุลกากร เท่านั้นที่เป็นตึกขนาดใหญ่ และสง่างาม"
เพราะความงดงามและมีคุณค่าของอาคารหลังนี้ ในสมัยนั้นทางราชการจึงได้ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเกี่ยวกับชาวต่างประเทศ บ้างใช้เป็นที่รับรอง บ้างใช้เป็นสถานที่เต้นรำ ในคราวพระราชพิธีเฉลิม พระชนมพรรษา รวมทั้งพระราชพิธีสมโภชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จนิวัติพระนครจากการเยือนประเทศในยุโรปครั้งแรก
ปัจจุบันอาคารหลังนี้เป็นที่พำนักและเป็นที่ทำการของตำรวจน้ำ และน่าเสียดายอย่างยิ่งที่ขาดงบประมาณในการดูแลรักษา และยังมิได้ใช้ประโยชน์จากคุณค่าทางสถาปัตยกรรมของอาคารอย่างเต็มที่ จนกลายเป็นอาคารเก่าแก่รกรุงรังริมน้ำอาคารหนึ่ง เมื่อมองแล้วอดเปรียบเทียบกันไม่ได้กับตึก Author'sWing ของโรงแรมโอเรียนเต็ลซึ่งอยู่ใกล้กัน ถูกออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลีเหมือนกัน และสร้างเสร็จในระยะ เวลาใกล้เคียงกันคือ ในปี พ.ศ.2430 แต่ทุกวันนี้ยังคงได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจนกลายเป็นสถานที่แห่งหนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาชื่นชม และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ >> อาคารสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก (อาคารเก่า) เดิมเป็นที่ของหลวงราชายสาธก ต่อมาได้ถูกยึดเพื่อหักใช้หนี้พระราชทรัพย์ เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินของบริเวณอาคารนั้น มีการเปลี่ยนแปลงถือกรรมสิทธิ์คือ ส่วนที่เป็นตึก 3 หลัง เดิมเป็นเรือนไม้สองชั้น เป็นที่อยู่ของฝรั่งชาวโปรตุเกส ชื่อนายเจ.เอน.เอฟ.ดาคอสตา รับราชการอยู่กรมศุลกากร มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงราชายสาธก (เป็นชื่อบรรดาศักดิ์ของกรมศุลกากร คู่กับขุนเสวกวรายุตถ์ ผู้เป็นน้องชาย) เมื่อหลวงราชายสาธกถึงแก่กรรมแล้ว ภรรยาแหม่มของหลวงราชายสาธก จึงอยู่ในที่นั้นต่อมา ภายหลัง ร้องทุกข์ขอเบี้ยบำนาญเลี้ยงชีพ โดยตกลงยกสิทธิ์ที่อยู่ให้แก่รัฐบาลเป็นการแลกเปลี่ยนกัน กรมศุลกากรจึงรื้อเรือนไม้สร้างเป็นตึกขึ้น เพื่อเป็นที่ทำการศุลกากร เนื่องจากตัวที่ทำการศุลกากร (Customs House) หรือโรงภาษีแต่เดิมนั้นไม่มี มีแต่เพียงด่านขนอนที่ตั้งเก็บอากรการผ่านเขต ตัวที่ทำการศุลกากร (Customs House) หรือโรงภาษี เริ่มมีเป็นครั้งแรก หลังจากไทยได้ทำสนธิสัญญาบาวริงกับประเทศอังกฤษ ซึ่งในตอนหนึ่งระบุว่า จะต้องปลูกโรงภาษีให้ใกล้ท่าจอดเรือพอสมควร ถึงแม้ว่าภายหลังจากสนธิสัญญาบาวริง ได้มีที่ทำการศุลกากร (Customs House) หรือโรงภาษีขึ้นแล้ว แต่ก็ทราบได้แน่นอนราวปี พ.ศ. 2428 ว่าที่ทำการศุลกาการเวลานั้น เดิมเรียกว่า โรงภาษีร้อยชักสาม หรือเรียกสั้นๆ ว่าโรงภาษีตั้งอยู่ปากคลองผดุงกรุงเกษม เยื้องธนาคารฮ่องกงและเซียงไฮ้แบงค์ปัจจุบัน ลักษณะของอาคารเป็นเรือนปั้นหยาชั้นเดียว หันหน้าลงแม่น้ำ ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่หลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงภาษีนี้แก่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอิศริยาภรย์ เพื่อทำตึกให้ฮ่องกงแอนด์เซียงไฮ้แบงค์เช่า (พระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 ถึงเจ้าพนักงาน พระคลังมหาสมบัติ ลงวันที่ 7 ปีชวด สัมฤทธิศก พ.ศ. 2430) จึงได้ย้ายมาตั้ง ณ ที่อาคารเก่าศุลกากร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจดับเพลิงบางรักในปัจจุบัน ที่ทำการศุลกากร มีชื่อเรียกในหนังสือทางราชการว่า ศุลกสถาน แต่คนทั่วไปเรียกว่า โรงภาษี ร้อยชักสาม หรือเรียกสั้นๆ ว่า โรงภาษี ส่วนชาวแต้จิ๋วเรียกว่า ฟ้าซีกวนหรือแป๊ะลั่นซา ซึ่งมีความหมายเดียวกัน เหตุที่เรียกว่าร้อยชักสาม เพราะเดิมเรียกเก็บภาษีจากสินค้าต่างประเทศ ที่เข้ามาขายเพียงอัตราเดียว คือ เก็บเป็นภาษีตามราคาของสินค้าร้อยละสาม สถานที่ตรงศุลกากรเดิมเป็นตึกจีน เป็นที่ของนายนุด อาหารบริรักษ์ ภายหลังตกเป็นของหลวง เมื่อย้ายมาอยู่ในทีแรกตั้งอยู่ที่ตึกจีนหลังกลาง ภายหลังจึงสร้างเป็นเรือนปั้นหยา 2 หลัง ตั้งอยู่คนละมุม หลังหนึ่งเป็นที่ทำการภาษีร้อยชักสาม ซึ่งพระยาภาศกรวงศ์ (ชุมพร บุนนาค) เป็นผู้บังคับบัญชา อีกหลังหนึ่ง เป็นที่บัญชาการภาษีข้าวขาออก ซึ่งพระยาพิพิธโภคัยเป็นผู้บังคับบัญชา แยกกันคนละส่วน แล้วจึงสร้างที่ทำการศุลกากร ให้ชื่อว่า ศุลกสถาน เป็นตึกซึ่งเห็นอยู่ทุกวันนี้ ตึกหลังนี้ มิสเตอร์กราสลี นายช่างชาวอิตาเลี่ยน เป็นผู้ออกแบบรับเหมาก่อสร้าง สร้างเสร็จภายหลังปี พ.ศ.2431 เพราะมีหลักฐานอยู่ในหนังสือ Bangkok Time Guide ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2433 กล่าวชุมศุลกากรสถานที่สร้างใหม่ว่า เป็นสถานที่ที่งดงามแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำในที่สง่างาม มีเนื้อที่ราวๆ 2 - 4 ไร่ ใช้เป็นท่าเรือ กุดังสินค้า ตัวที่ทำการตึกเฉลียง ข้างที่อยู่เจ้าพนักงานและอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับศุลกสถานโดยตรง ท่าเรือมีความสะดวก สำหรับขนถ่ายสินค้าจากเรือลำเลียง แม้เรือกลไฟใหญ่กินน้ำ ซึ่งก็สามารถเข้าเทียบท่ากลางขนถ่ายสินค้าได้ มีโรงพักสินค้าและที่ทำการเจ้าพนักงาน และมีรถรางขนาดเบา ซึ่งนอกจากใช้ในการขนสินค้า ยังใช้บรรทุกน้ำจากแม่น้ำ ไปจ่ายตามเรือนที่พักของเจ้าพนักงานในเวลานอกราชการ ตัวตึกใหญ่นั้นรูปทรงงดงาม มีสามชั้น โดยมากใช้เป็นที่ทำการของพนักงานกรมเกษตร (ชั้นที่สาม เดิมนัยว่าใช้เป็นที่เต้นรำของชาวต่างประเทศ เป็น เครื่องประดับมีกระจกเงาแผ่นใหญ่ๆ โคมระย้าแก้ว ฉากรูปแล้ว ฉากรูปสีน้ำยังเหลือสืบมา ได้รื้อถอนไปในราว 70 กว่าปีมาแล้ว) มีสะพานข้ามติดต่อกับที่ทำการศุลกากร ซึ่งเป็นตึก 2 ชั้น เป็นที่ทำการภาษีขาเข้าขาออก (ยังมีตัวหนังสือบอกว่า Import and Export Department ไว้ที่หน้าบันตัวตึกหลังนี้) ที่ทำการกรมศุลกากร ดังที่กล่าวไว้ในหนังสือ Bangkok Tihes Guide Book ชมศุลกสถานว่า เป็นตึกที่งดงามในสมัยนั้น เพราะทางราชการเคยใช้ศุลกสถานตอนชั้นที่ 3 เป็นสถานที่เต้นรำของชาวต่างประเทศ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา แม้ต่อมาในสมัยพระวรงค์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช เป็นอธิบดีกรมศุลกากร ก็เคยใช้ศุลกสถาน เป็นที่เต้นรำในงานเฉลิมพระชนม์พรรษา 2 - 3 ครั้ง รวมทั้งงานสมโภช เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากยุโรปคราวแรกด้วย ต่อมา ได้เปลี่ยนมาเป็นที่ทำการตำรวจน้ำ (ศุลการักษ์ คนโดยทั่วไป เรียกว่าโบลิศน้ำ ภายหลังเรียกว่าพลตระเวน แล้วต่อมาเรียกตำรวจนครบาล หรือเรียกสั้นๆ ว่าตำรวจ มีหน้าที่ในทางน้ำคล้ายตำรวจนครบาล) เป็นที่ที่ทำการ ของสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก เมื่อ พ.ศ. 2502 ปัจจุบัน อยู่ในความดูแลของกองตำรวจดับเพลิง.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น