Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กบฏ 26 มีนาคม 2520

กบฏ 26 มีนาคม 2520 หรือ “กบฏพลเอกฉลาด หิรัญศิริ” ในปี พ.ศ. 2520 คือ การพยายามยึดอำนาจจากรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากการแต่งตั้งและการสนับสนุนของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ดู คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน) เหตุการณ์เริ่มขึ้นในตอนเช้ามืดของวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2520[1] เมื่อพลเอกฉลาด หิรัญศิริ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งถูกให้ออกราชการตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยมี พันโท สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นเลขาธิการ นำกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี และกองพลทหารราบที่ 19 กองพันที่ 1, 2 และ 3 ราว 300 นาย เข้ายึดศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี, กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า, กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย พร้อมกับควบคุมตัวนายทหารสำคัญคือ พลเอก ประเสริฐ ธรรมศิริ รองผู้บัญชาการทหารบก พลเอก ประลอง วีระปรีย์ เสนาธิการทหารบก และพลตรี อรุณ ทวาทศิน ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ฝ่ายผู้ก่อการพยายามเข้าควบคุมตัวพลเอก เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบกด้วย แต่พลเอกเสริมสามารถหนีออกจากบ้านพักไปได้[2]

การกบฏครั้งนี้จบสิ้นภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ฝ่ายทหารของรัฐบาลพลเรือน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.กมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก ได้ปราบปรามฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ

การก่อการครั้งนั้น เกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่ คือ พล.อ.อรุณ ทวาทศิน อดีตผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ถูก พล.อ.ฉลาด ยิงเสียชีวิต ซึ่งไม่เป็นที่ชัดเจนว่า พล.อ.อรุณ เข้าไปร่วมด้วยแต่เปลี่ยนใจภายหลัง หรือถูกบังคับแต่ต้น ผลจากการเสียชีวิตของพล.อ.อรุณ ทำให้ภายหลังเมื่อมีการปราบปรามกบฎลงได้แล้ว ได้มีการประหารชีวิต พล.อ.ฉลาด โดยใช้มาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2520 นับเป็นกบฏคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตตราบจนบัดนี้[3]

ความเกี่ยวข้องของ จปร. 7 ในครั้งนี้ คือ พ.อ.มนูญ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ไปปราบกบฎ ซึ่งก่อนที่จะนำรถถังเข้าล้อมได้มีการตกลงกับ พ.อ.สนั่น ไว้ก่อนแล้วว่าให้ต่างฝ่ายต่างถอดชนวนปืนเพื่อไม่ให้ยิงใส่กันได้จริง ๆ (ปืนรถถังกับปืนต่อสู้รถถังที่ฝ่ายกบฎนำมาจากกาญฯหลายกระบอก)
เวลา 09.15 น. กลุ่มผู้ก่อการออกประกาศในนามคณะปฏิวัติ อ้างชื่อพลเอกประเสริฐ ธรรมศิริ เป็นหัวหน้า ผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลโดยพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกประกาศแต่งตั้งพลเอก เสริม ณ นคร เป็นผู้อำนวยการรักษาพระนคร เพื่อต่อต้านการปฏิวัติ


เวลา 10.15 น. ฝ่ายรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ชี้แจงสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อประชาชน โดยยืนยันว่ากำลังทหาร 3 เหล่าทัพและตำรวจยังเป็นของรัฐบาล พร้อมชี้แจงว่าพลเอก ประเสริฐ ธรรมศิริถูกบีบบังคับและแอบอ้างชื่อ


สถานการณ์ของกลุ่มผู้ก่อการแย่ลงเป็นลำดับ เมื่อมีการใช้อาวุธปืนสังหารพลตรี อรุณ ทวาทศิน ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่โดยอ้างว่าพลตรีอรุณเข้าแย่งปืน[4] และในช่วงสายก็เป็นที่แน่ชัดว่านอกจากกำลังทหารที่นำมา ไม่ปรากฏกองกำลังในกรุงเทพ ฯ เข้าร่วมก่อการด้วย[5] ฐานอำนวยการปฏิวัติที่ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดีก็เริ่มถูกปิดล้อมจากรถถังของฝ่ายรัฐบาล พอถึงเวลา 13.30 น. การออกอากาศของกลุ่มผู้ก่อการก็ต้องยุติลงเมื่อสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยถูกตัดกระแสไฟฟ้า


ในขณะที่กลุ่มผู้ก่อการตกอยู่ในฝ่ายเสียเปรียบ และเริ่มมีทหารบางส่วนยอมวางอาวุธและมอบตัวกับฝ่ายรัฐบาล พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเป็นเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินด้วย ได้เข้าเจรจากับกลุ่มผู้ก่อการจนได้ข้อยุติ[6] เวลา 20.30 น. รัฐบาลออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องการยินยอมให้บุคคลชั้นหัวหน้าของกลุ่มผู้ก่อการ 5 คนคือ พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ พันโท สนั่น ขจรประศาสน์ บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ พันตรี วิศิษฐ์ ควรประดิษฐ์ และพันตรี อัศวิน หิรัญศิริ บุตรชายของพลเอกฉลาดเดินทางออกนอกประเทศได้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวพลเอกประเสริฐ ธรรมศิริ กับพลเอกประลอง วีระปรีย์ อย่างไรก็ตาม ในเวลา 21.00 น. ขณะที่ผู้ก่อการทั้ง 5 เดินทางถึงสนามบินดอนเมืองและได้ขึ้นไปนั่งรอบนเครื่องบิน เพื่อเตรียมจะออกเดินทางไปประเทศไต้หวัน ทั้งหมดก็ถูกนำตัวลงมาและถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏ โดยรัฐบาลให้เหตุผลในเวลาต่อมาว่าเพราะรัฐบาลไต้หวันไม่อนุญาตให้ผู้ก่อการลี้ภัย และทางไทยไม่คิดส่งผู้ก่อการไปประเทศใดอีก การดำเนินคดีนี้เป็นไปอย่างเร่งรัดและเฉียบขาด ในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2520 รัฐบาลได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 21 ตัดสินลงโทษโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมปกติ มีคำสั่งให้ถอดยศ และประหารชีวิตนายฉลาด หิรัญศิริ และจำคุกตลอดชีวิตผู้ก่อการที่เหลืออีก 4 คน ซึ่งต่อมาได้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตเพิ่มอีก 8 คน รวมเป็น 12 คน นอกจากนั้นยังมีผู้ได้รับโทษลดหลั่นลงมาอีก 11 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีพลเรือนที่พลเอกฉลาดชักชวนมา อาทิ นายพิชัย วาสนาส่ง นายสมพจน์ ปิยะอุย นายวีระ มุสิกพงศ์ ภายหลังทั้งหมดได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2520[7]




สาเหตุของการก่อการ
สำหรับสาเหตุของการปฏิวัติ น่าจะมาจากการที่พลเอกฉลาดสูญเสียอำนาจและต้องการช่วงชิงกลับคืนมา โดยก่อนหน้านี้พลเอกฉลาด เมื่อครั้งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลตรีประมาณ อดิเรกสาร[8] ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาทหารบกเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519 เพื่อรอขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก ต่อจากพลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์ที่จะเกษียณอายุราชการในปีนั้น โดยหวังจะให้คานอำนาจกับกลุ่มพลเอกกฤษณ์ สีวะรา[9] อย่างไรก็ตามการย้ายครั้งนี้ถือว่าข้ามลำดับอาวุโส (พลเอกฉลาดมีอายุราชการเหลืออยู่อีกถึง 7 ปี) และข้ามขั้นตอนเพราะเรื่องไม่ได้ผ่านจากผู้บัญชาการทหารบก แถมยังเป็นคำสั่งโยกย้ายนอกฤดูกาลจากรัฐบาลรักษาการ[10] (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ประกาศยุบสภาไปตั้งแต่เดือนมกราคม ปีเดียวกัน) หลังเปลี่ยนรัฐบาล กลุ่มพลเอกกฤษณ์ขึ้นมามีอำนาจ พลเอกฉลาดจึงถูกคำสั่งย้ายในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 ให้ไปประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด และได้รับคำสั่งย้ายอีกครั้งในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2519 ให้ไปช่วยราชการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม[11] ช่วงนี้เองที่ข่าวลือว่าพลเอกฉลาดจะทำการการปฏิวัติเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า[12] แม้การที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินของพลเรือเอกสงัด เข้ายึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เวลา 18.00 น. ก็เชื่อกันว่าเป็นการยึดอำนาจเพื่อตัดหน้าพลเอกฉลาดที่จะกระทำการในเวลา 22.00น.[13] ผลก็คือพลเอกฉลาดถูกให้ออกจากราชการในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ด้วยเหตุผลว่าไม่ยอมไปรายงานตัวกับทางคณะปฏิรูปการปกครอง[14] พลเอกฉลาดหลบภัยการเมืองด้วยการบวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร แต่ขณะที่เป็นพระก็ได้ติดต่อกับทหารระดับต่างๆ รวมถึงพลเรือนเพื่อเตรียมการปฏิวัติ[15] จนสึกออกมาทำกระทำการในเช้าวันดังกล่าว

ความสำคัญของเหตุการณ์
แม้จะเป็นการปฏิวัติที่ล้มเหลว แต่เหตุการณ์นี้มีความสำคัญตรงที่มีการลงโทษประหารชีวิตผู้ก่อการซึ่งเป็นนายทหารยศถึงพลเอก ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากการที่พลเอกฉลาดสังหารพลตรีอรุณ พลเอกฉลาดไม่มีกำลังทหารของตนเอง โดยเฉพาะกำลังในกรุงเทพฯ การเข้าควบคุมตัวนายทหารชั้นผู้ใหญ่และเป็นนายทหารที่คุมกำลังจึงน่าจะหวังผลของการร่วมมือ แม้ว่าจะเป็นในลักษณะของการ “ตกกระไดพลอยโจน” ก็ตาม (กรณีนี้ผู้ก่อการพยายามจะเข้าคุมตัวพลเอกเสริม ผู้บัญชาการทหารบกด้วย ซึ่งคงหวังจะใช้คานกับรัฐบาลโดยเฉพาะกลุ่มพลเรือเอกสงัด แต่ไม่สำเร็จ) แต่เมื่อพลตรีอรุณ ในฐานะผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ขัดขวางหรือไม่ให้ความร่วมมือไม่ว่าจะในลักษณะใด ก็คงทำให้ “ผิดแผน” ซึ่งลงเอยด้วยการสังหารพลตรีอรุณในที่สุด[16] การฆ่าทหารชั้นผู้ใหญ่ด้วยกันนี้ทำให้การ “หักหลัง” จากที่จะให้ลี้ภัยเป็นการตัดสินคดีอย่างรวดเร็วและรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต ไม่ได้รับการติเตียนมากนัก ดังคำพูดของพลเรือเอกสงัด นายทหารกลุ่มพลเอกกฤษณ์ที่แย่งชิงอำนาจกันมากับพลเอกฉลาดว่าต้องดำเนินคดีในข้อหา “กบฏและฆ่าคนตาย”[17] และคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่พลเรือเอกสงัดเป็นหัวหน้านี้เองที่คัดค้านนายธานินทร์ไม่ให้ดำเนินคดีไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติแต่ให้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีตัดสินลงโทษตามมาตรา 21 เลย (จากถ้อยคำของนายธานินทร์)[18] อย่างไรก็ตามมีผู้วิเคราะห์ว่าพลเอกเกรียงศักดิ์ซึ่งเป็นผู้เจรจาและถูกหาว่าหลอกพลเอกฉลาดนั้น ไม่มีความตั้งใจที่จะเอาโทษรุนแรงกับกลุ่มผู้ก่อการ[19] และในกลุ่มทหารก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยที่จะตัดสินลงโทษทหารด้วยกันหนักขนาดนั้น เมื่อมีการปฏิวัติล้มรัฐบาลในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 ทหารกลุ่ม “ยังเติร์ก” ที่มีส่วนในการยึดอำนาจครั้งนี้ (ดู ทหารยังเติร์กกับการเมืองไทย) จึงได้สนับสนุนให้รัฐบาลที่มีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์เป็นนายกรัฐมนตรี ออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดที่เหลือ[20]

“ความฝังใจ” เรื่องการลงโทษประหารชีวิตนายทหาร ดังในกรณีพลเอกฉลาด คงมีมากพอควร ทำให้การก่อการที่ล้มเหลวในครั้งต่อๆมา ผู้ก่อการถ้าไม่ได้รับโอกาสให้ลี้ภัยไปต่างประเทศก็ได้รับการนิรโทษกรรม ดังเช่นกรณี “กบฏ 9 กันยายน พ.ศ.2528” (ดู กบฏเดือนกันยายน 2528) แม้ว่าพันเอกมนูญ รูปขจร (ปัจจุบันพลตรีมนูญกฤต รูปขจร) ผู้เคยทำการปฏิวัติล้มเหลวและได้รับการนิรโทษกรรมมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ “กบฏเมษาฮาวาย” (ดู กบฏเมษาฮาวาย) จะนำกำลังรถถังเข้าปะทะกับกำลังพลของรัฐบาลในกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ จนมีผู้เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนถึงทรัพย์สินราชการเสียหาย แต่พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ผู้เข้าเจรจากับฝ่ายผู้ก่อการและได้ให้พันเอกมนูญเดินทางออกนอกประเทศไปได้ ก็อ้างว่าตน “ได้รับการติดต่อจากทักษิณว่า อย่าเป็นอย่างกรณีเสธ.ฉลาด” (หมายถึงทางพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์)[21] ในเวลาต่อมาผู้ต้องหาคดีนี้ทั้งหมดได้รับการนิรโทษกรรมในเดือนกันยายน พ.ศ.2531

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น