Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กบฏเสนาธิการ


กบฏเสนาธิการ หรือ กบฏนายพล นี้ เป็นกระบวนการทางการเมืองที่เป็นผลผลิตของการต่อต้านนคณะรัฐประหาร พ.ศ.2490 ภายในกองทัพบกเอง โดยมีปัจจัยหลัก 2 ประการที่นำมาสู่การเคลื่อนไหวการกบฏ คือ ดุลอำนาจในกองทัพบก และ ปัจจัยทางด้านความคิดที่มีผลให้เกิดการเคลื่อนไหว

ในด้านดุลอำนาจในกองทัพบก จะเห็นได้ว่าหลังหารยึดอำนาจ คณะรัฐประหารทำการประนีประนอมกับบรรดานายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในขณะนั้น โดยมีการตั้งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทยขึ้น แล้วให้จอมพล ป. พิบูลสงครามรับตำแหน่ง แต่ก็ยังคงให้ พล.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อไป โดยคณะรัฐประหารมิได้ปลดออกจากตำแหน่งแต่อย่างใดและยังแต่งตั้งให้ พล.อ.อดุล รับตำแหน่งอภิรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย บรรดานายทหารในกลุ่มคณะรัฐประหารมิได้รับตำแหน่งสูงมากนักและยังต้องอาศัยการประสานกับทหารฝ่ายอื่นอยู่ไม่น้อยในการควบคุมกำลัง โดยที่ยังไม่มีอำนาจเต็มที่ในกองทัพบกแต่อย่างใด

จนกระทั่งเมื่อคณะรัฐประหารได้จี้รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ออก และสถาปนาอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นแทน ความไม่พอใจในหมู่ทหารจึงได้เริ่มขึ้น และยิ่งเมื่อ พล.ท.กาจ กาจสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบกและเม่ทัพกองทัพบกที่ 1 ดำเนินการก้าวก่ายการเมืองและเคลื่อนไหวทางทหารตามชอบ และเข้าไปเป็นกรรมการองค์การ อจส (องค์การจัดซื้อและขายสินค้า) นอกจากนี้ยังมีข่าวพัวพันการทุจริต มีข่าวในด้านลบต่างๆ เช่น ข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับเงินรูปี จน พล.ท.กาจ กาจสงคราม ได้รับฉายาว่า “นายพลรูปี” ทั้งยังเป็นคนเขียนหนังสือเรื่องกรณีสวรรคตที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล จึงถูกดำเนินคดีข้อหาละเมิดอำนาจศาล ถูกปรับเป็นเงิน 200 บาท รวมถึงการที่ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เข้าไปควบคุมองค์การทหารผ่านศึก และเริ่มเข้าไปพัวพันกับสัมปทานและการแสวงหาผลประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจมากขึ้นว่าคณะรัฐประหารก็มุ่งแสวงหาผลประโยชน์เช่นกัน และนำมาซึ่งความพยายามในการก่อการยึดอำนาจ


ปัจจัยทางด้านความคิดนั้น นับว่าเป็นตัวแปรสำคัญอีกประการที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองในกลุ่มทหาร ทั้งนี้เนื่องจากในระยะที่รัฐบาลประชาธิปไตยพลเรือนบริหารประเทศระหว่าง พ.ศ.2487 – 2490 นั้น ได้มีการผลักดันแนวคิดแยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการฝ่ายทหาร โดยเห็นว่า การที่ทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง อาจะสนับสนุนลัทธิเผด็จการได้ นี่คือแนวคิดแบบที่เรียกว่า “ความคิดทหารอาชีพ” ซึ่งเผยแพร่อย่างมากในกองทัพ ทหารจะต้องปฏิบัติภารกิจที่จำเป็นของฝ่ายทหาร และต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือถ้าหากจะเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองก็จะต้องลาออกจากทหารประจำการก่อน ซึ่งแนวคิดนี้ค่อนข้างจะสวนทางกับคณะรัฐประหารที่เห็นว่าทหารจะต้องมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมือง จะต้องเข้าแก้ไขและนำพาชาติในภาวะวิกฤต แนวคิดทั้ง 2 แนวนี้ดำรงอยู่ด้วยกันในกองทัพในช่วง พ.ศ. 2490 – 2491 และเป็นเหตุหนึ่งที่นำมาสู่การก่อกบฏเสนาธิการนี้ด้วย

กลุ่มนายทหารร่วมการกบฎ
นายทหารกลุ่มแรกในกองทัพบกที่ต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารคือ นายทหารฝ่ายเสนาธิการ ผู้นำของกลุ่มนี้คือ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต (หลวงศรานุชิต) รองเสนาธิการกลาโหม พล.ต.เนตร เขมะโยธิน รองเสนาธิการทหารบก และ พล.ต.หลวงรณกรรมโกวิท (เพิ่ม ศิริวิสูตร) นายทหารประจำกรมเสนาธิการทหารบก ส่วนคนอื่นๆมักจะเป็นครูหรือนักเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหาร เช่น พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ พ.อ.จรูญ สิทธิเดชะ พ.อ.สงบ บุณยเกศานนท์ (ขุบสงบระงับศึก) เป็นต้น และยังมีนายทหารอื่นเข้าร่วม เช่น พ.อ.หลวงจิตรโยธี (จาด รัตนสถิตย์) พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม (โลม ศิริปาลกะ) และ พ.ท.พโยม จุลานนท์ (ส.ส.เพชรบุรี) เป็นต้น


นายทหารในสายเสนาธิการนี้ มีลักษณะพอเศษที่ค่อนข้างแตกต่างจากทหารสายอื่น โดยจะมีลักษณะเป็นปัญญาชนและเป็นสายงานทหารที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในรัฐบาลพลเรือนของ นายปรีดี พนมยงค์ และ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายทหารสายเสนาธิการหลายคนจบการศึกษาจากต่างประเทศ เช่น พล.ท.จิร วิชิตสงคราม จบการศึกษาจากประเทศสหราชอาณาจักร ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมทุกสมัยในรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ และ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต และ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน จบการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารจากฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้นำทหารของเสนาธิการกับผู้นำของคณะรัฐประหาร จะเห็นความแตกต่างบางประการได้ชัด เพราะผู้นำของคณะรัฐประหารทั้ง น.อ.กาจ เก่งระดมยิง พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พ.อ.สวัสดิ์ ส.สวัสเกียรติ พ.อ.หลวงสถิตยุทธการ พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พ.อ.ก้าน จำนงภูมิเวท ต่างไม่มีใครจบการศึกษาจากต่างประเทศ และมักเป็นนายทหารที่ก้าวหน้าในอาชีพด้วยแรงผลักดันทางการเมือง สภาพเช่นนี้ทำให้ลักษณะทางความคิดของนายทหารสองกลุ่มนี้แตกต่างกันด้วย เพราะในขณะที่นายทหารกลุ่มคณะรัฐประหารยึดมั่นในอุดมการณ์ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายทหารสายเสนาธิการอย่าง พล.ต.เนตร เขมะโยธิน และ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต มีทัศนคติโน้มเอียงไปในทางประชาธิปไตยของฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์

สาเหตุการกบฎ
เหตุผลหลักของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนายทหารสายเสนาธิการอยู่ที่ การไม่ยอมรับการที่ฝ่ายคณะรัฐประหาร ออกมาสนับสนุนให้ทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และยังเห็นว่าการที่นายทหารผู้ใหญ่เข้าไปแทรกแซงทางการเมืองนั้นเป็นความเสื่อมโทรมของกองทัพ และไม่ต้องการให้กองทัพตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มใดๆ จึงได้คิดหาทางล้มอำนาจของคณะรัฐประหาร เพื่อให้ทหารทำหน้าที่ทหารแต่เพียงอย่างเดียว

แผนการของกบฎเสนาธิการ
แผนการของฝ่ายคณะเสนาธิการนั้น จะลงมือยึดอำนาจในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ซึ่งจะเป็นวันที่มีการฉลองงานมงคลสมรสระหว่าง พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ น.ส.วิจิตรา ชลทรัพย์ ซึ่งคนสำคัญในคณะรัฐประหารจะมารวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาลและจะเป็นการง่ายแก่การจับกุม โดย พ.ท.พโยม จุลานนท์ ได้รับมอบหมายให้นำกำลังเข้าควบคุมตัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ส่วน พ.ต.เจริญ พงษ์พานิช รับหน้าที่จับกุมตัว พล.ต.หลวงสถิตยุทธการ เสนาธิการกองทัพที่ 1 และ พ.อ.บัญญัติ เทพหัสดินทร์ ผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ 1 และกำลังอีกส่วนหนึ่งนำโดย พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ จะบุกเข้ายึดกระทรวงกลาโหมเพื่อใช้เป็นกองบัญชาการในการยึดอำนาจ


อย่างไรก็ตาม การดำเนินการครั้งนี้ประสบความล้มเหลว แผนการต่างๆรั่วไหล ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งกำลังไปจับกุม พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์และกำลังส่วนใหญ่ของฝ่ายเสนาธิการได้ที่กระทรวงกลาโหมในคืนวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2491 ก่อนเวลาลงมือปฏิบัติการ และเช้าวันรุ่งขึ้นได้จับตัว พล.ต.หลวงรณกรรมโกวิท และ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม แต่ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน และ พ.ท.พโยม จุลานนท์นั้นหนีรอดไปได้ จนกระทั่งวันที่ 25 ตุลาคม ก็สามารถตามจับกุมผู้ที่หลบหนีไปได้อีก 7 คน รวมทั้ง พล.ต.เนตร เขมะโยธิน และ พ.ท.พโยม จุลานนท์ ส่งฟ้องศาลรวม 22 คน ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี 9 ราย คือ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ พ.อ.หลวงจิตรโยธี พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม พ.ท.ประสบ ฐิติวร พ.ต.ชิน หงส์รัตน์ ร.อ.หิรัญ สมัครเสวี ร.อ.สุรพันธ์ อิงคุลานนท์ ร.ท.บุญช่วย ศรีทองเกิด ส่วนที่เหลือได้รับการปล่อยตัวไป

ผลกระทบ
ผลของกบฏเสนาธิการที่มีต่อการเมืองของประเทศไม่รุนแรงนัก เพราะรัฐบาลสามารถจับตัวไดก่อนลงมือทำการ แต่อย่างไรก็ตาม กบฏครั้งนี้เปรียบเสมือนสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่า คณะรัฐประหารเริ่มหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศแล้ว และแนวโน้มที่จะใช้กำลังทหารเพื่อการยึดอำนาจอาจเกิดขึ้นได้อีก ผลกระทบที่สำคัญของกบฏนี้คือ ทำให้ฝ่ายคณะรัฐประหารสามารถเข้าควบคุมอำนาจในกองทัพบกได้มากขึ้น นายทหารสายเสนาธิการที่เหลือตกอยู่ใต้การบังคับบัญชาของ พล.ต.เดช เดชประดิยุทธ์ นายทหารที่คณะรัฐประการไว้วางใจ นอกจากนี้ยังมีการเลื่อนเอาคนของฝ่ายคณะรัฐประหารมาแทนนายทหารระดับนายพันหลายคนที่ถูกปลดจากตำแหน่งอันเนื่องจากการก่อการ กองทัพบกต้องเสียนายทหารระดับหัวกะทิที่มีแนวโน้มประชาธิปไตยมากที่สุดในกองทัพไปในกบฏครั้งนี้ และทำให้กองทัพมีแนวโน้มไปในทางอนุรักษ์นิยมมากขึ้น


จดหมายเก่าเล่าเหตุการณ์


จดหมายฉบับนี้ ผู้เขียนได้มาในครอบครองนานแล้ว เพิ่งจะได้เอามาอ่านและพิมพ์ขึ้นก็คราวนี้เอง เป็นสำเนาหนังสือราชการ ที่ตำรวจชั้นผู้น้อยนายหนึ่งได้พิมพ์รายงานการปฏิบัติหน้าที่ของตน เผอิญช่วงที่อยู่รายงานนั้นมีส่วนเข้าไปอยู่ในประวัติศาสตร์ฉากเล็กๆของการเมืองไทย ซึ่งไม่มีใครค่อยรู้เห็นมากนัก เพราะเป็นเรื่องราวในเรือนขัง ที่จองจำนักโทษคดีการเมืองในสมัยนั้น รวมถึงคดีสวรรคต

แม้จะไม่ได้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ใดๆ แต่ก็ใช้เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ยืนยันว่ามีเหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา ส่วนข้อมูลผู้ใดที่เคยทำผิดๆไว้ เช่น ระยะเวลาที่มีการกวาดล้างกบฎบ่งแยกดินแดนนั้นเป็น ต้นเดือน พฤศจิกายน 2491 ไม่ใช่ 28 กุมภาพันธ์ 2491

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากเอกสารเก่าๆก็เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความสนใจที่จะสืบสาวหาข้อมูลประกอบให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในจดหมายนี้นั่นเอง ดังที่จะได้อ่านต่อไปนี้


หมายเหตุ: ข้อความศัพท์และสำนวนในหนังสือ คัดลอกมาจาสำเนาเอกสารที่เลือนลางแต่ยังพอแกะได้ จึงขอคงไว้ตามนั้น แต่ขอสงวนนามเจ้าของผู้ทำจดหมายฉบับนี้และเพื่อนร่วมงานที่มีชื่อปรากฎไว้เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว


หน่วยรักษาการณ์เรือนจำลหุโทษ เรือนขัง 7
23 เมษายน 2492


เรื่อง รายงานการปฏิบัติหน้าที่ราชการภายนอกกรมกอง


จาก จ.ส.ต. ...............

ถึง ผู้กำกับกอง 4 ตำรวจสันติบาล

ด้วยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2490 ข้าพเจ้ากับ จ.ส.ต........... ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน พร้อมด้วยอาวุธปืนและกำลังตำรวจรวม 12 นาย โดยได้รับคำสั่งจากรองผู้กำกับการกอง 4 สันติบาลให้ไปตั้งหน่วยรักษาการอยู่ในเรือนจำลหุโทษโดยมีหน้าที่ควบคุมจำเลยเรื่องคดีสวรรคตตลอดจนคดีการเมืองอื่นๆด้วย และคอยดูแลสังเกตุการณ์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยทั่วๆไปภายในเรือนจำลหุโทษ ข้าพเจ้ากับพวกได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเคร่งครัดตลอดมา และเหตุการณ์ภายในเรือนจำลหุโทษก็สงบเรียบร้อยดี


ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2491 ขณะเกิดกบถขึ้น ข้าพเจ้ากับพวกก็ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่รักษาการณ์อยู่ในเรือนจำ ต่อมาประมาณวันที่ 6 ตุลาคม 2491 นั้นข้าพเจ้ากับพวกได้รับคำสั่งจากท่านรองอธิบดีกรมตำรวจว่า ให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลจำเลยที่ก่อการกบถด้วยอีกกรณีหนึ่ง โดยมี พ.อ.หลางศรีฯ กับพวกที่ไปฝากควบคุมไว้ในเรือนจำและข้าพเจ้ากับพวกก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งโดยเคร่งครัด ครั้นต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2491 ทางกองสันติบาลได้ส่งกำลังตำรวจไปเพิ่มอีก 5 คนเพื่อไปสมทบกับกำลังที่ในเรือนจำที่มีอยู่แล้วรวมเป็น 17 คน


ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2491 ได้มีผู้ต้องหากบถแบ่งแยกดินแดน โดยมีนายทิม ภูริพัฒน์กับพวกไปฝากควบคุมไว้ในเรือนจำอีกและ


ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2492 ทางการตำรวจได้นำ พ.อ. ทวนฯกับพวกไปฝากควบคุมไว้ในเรือนจำอีก และ ร.ต.อ.ผาดฯ รองผู้กำกับการกอง 4 สันติบาลได้สั่งข้าพเจ้ากับพวกช่วยควบคุมดูแลด้วย ข้าพเจ้ากับพวกก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามคำสั่งโดยเคร่งครัดและเรียบร้อยตลอดมา จนถึงคืนวันที่เกิดเหตุการณ์จราจลคือ 26 27 28 กุมภาพันธ์ 2492 นั้นฉะเพาะในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 เวลา 12 น. ข้าพเจ้าได้ออกจากเวรประจำหน่วยในเรือนจำไปโดยมอบหน้าที่ให้กัย จ.ส.ต. ........ รับไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้กลับมาพักผ่อนยังบ้านพักของข้าพเจ้า เลขที่ 443/4 ถนนสามเสน ครั้นต่อมาเวลาประมาณ 21.00 น. ในวันเดียวกันข้าพเจ้าก็ได้ทราบข่าวทางวิทยุกระจายเสียงว่ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและมีการถอดถอนอธิบดี, รองอธิบดีกรมตำรวจ กับมีการเปลี่ยนแปลงผู้บังคับ เพื่อที่จะเข้าไปที่เรือนจำขัง 7 ก็ได้มีพนักงานฝ่ายเรือนจำออกมาแจ้งกับข้าพเจ้าว่า ท่านผู้บัญชาการเรือนจำให้มาถามดูว่าข้าพเจ้าเข้าเวรหรือเปล่าและแจ้งต่อไปว่าถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เข้าเวรก็ไม่ต้องเข้าไปในเรือนขัง 7 เพราะไม่มีเหตุการอย่างใด ทั้งได้ใส่กุญแจเป็นที่แน่นหนาดีแล้ว เมื่อข้าพเจ้าได้รับทราบเช่นนั้นแล้วข้าพเจ้าก็ได้รอคอยฟังเหตุการณ์อยู่ที่ประตูหน้าเรือนจำและแถวบริเวณหน้าเรือนจำจนถึงรุ่งขึ้นตอนเช้าประมาณ 06.00 น. เศษ ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2492 ข้าพเจ้าจึงได้เข้าไปในเรือนขัง 7 เมื่อเข้าไปถึงแล้วก็ได้ทราบจาก จ.ส.ต. ...... ว่าเหตุการณ์เรียบร้อยดี สำหรับวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2492 นั้น ข้าพเจ้าได้อยู่ประจำที่หน่วยรักษาการณ์ในเรือนจำลหุโทษ พร้อมด้วย จ.ส.ต. ....... และกำลังตำรวจทั้งหมด เพื่อรอฟังคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาทางกองฯ พร้อมกับเพื่อรวมเป็นกำลังไว้ระงับเหตุการณ์ฉุกเฉินอาจจะเกิดขึ้นภายในเรือนจำลหุโทษด้วย นับตั้งแต่วันที่ 26-27-28 กุมภาพันธ์ 2492 ซึ่งเป็นวันเกิดจราจลนั้น สำหรับเหตุการณ์ภายในเรือนจำลหุโทษสงบเรียบร้อยดี หลังจากเกิดการจราจลดังกล่าวแล้ว ทางการตำรวจก็ได้ทำการจับกุมผู้ต้องหาในกรณีย์ก่อการจราจลไปฝากขังและควบคุมไว้ในเรือนจำลหุโทษเรื่อยๆมาและให้อยู่ในความควบคุมดูแลของข้าพเจ้ากับพวกเช่นเดียวกับคดีการเมืองอื่นๆอีกด้วย


นับตั้งแต่วันที่ข้าพเจ้ากับพวกได้รับคำสั่งให้ไปตั้งหน่วยรักษาการณ์อยู่ในเรือนจำลหุโทษนั้น ทางผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้จัดพนักงานฝ่ายเรือนจำ ซึ่งมีขั้นพัศดีเป็นหัวหน้า เข้าปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับฝ่ายตำรวจ โดยการรับผิดชอบร่วมกับข้าพเจ้ากับพวกก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้ประสานงานกับเจ้าพนักงานฝ่ายเรือนจำเป็นไปตามระเบียบของทางราชการจึงบังเกิดผลเป็นที่เรียบร้อยตลอดเวลามา ฉะนั้นจึงรายงานเรียนมาเพื่อทราบ


ขอแสดงความนับถือ


ลายเซ็น


(จ่านายสิบตำรวจ .................)


จากจดหมายกลายเป็นการค้นและคว้า


สืบสาวราวเรื่อง



ภาพขณะทำการรัฐประหารหน้ากระทรวงกลาโหม เช้าวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490


ตามที่ทราบกล่าวคือ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะทหารอันมี พลโท ผิน ชุณหะวัน พันเอกกาจ กาจสงครามกับคณะทหารได้ทำการ ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แล้วได้เชิญ จอมพลแปลก พิบูลสงครามขึ้นเป็นหัวหน้าคณะ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย และแต่งตั้งให้นายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งยังประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 (มีอยุเพียง 6 เดือน) แล้วได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราวลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2489 มาใช้บังคับ โดยมีบทเฉพาะกาลให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาไปจนกว่าจะได้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสำเร็จเรียบร้อย กับให้ทำการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายใน 90 วัน และยังได้ประกาศใช้พระราชกำหนดคุ้มครองความสงบสุข เพื่อให้การดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเป็นไปโดยสะดวก



สมาชิกกลุ่มรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ทุกคน ต้องให้คำปฏิญญาดังในภาพนี้

มีใจความว่า....

...ได้กระทำด้วยเจตน์จำนงอันแน่วแน่ที่จะทำนุบำรุงประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อขจัดความยุคเข็ญ ให้ประเทศชาติร่มเย็นและก้าวสู่ความเป็นอารยะ มิได้มักใหญ่ใฝ่สูงด้วยประการใด...จะขอตั้งปณิธานยึดมั่นในใจ ว่าจะรักษาเกียรติ วินัยอันดีงามด้วยความกล้าหาญ จะเว้นการที่ควรเว้น ประพฤติการที่ควรประพฤติ รักษาความสามัคคีของหมู่คณะ ไม่ทรยศริษยาต่อผู้ประกอบคุณงามความดี...ขอยึดมั่นในสัจจวาจาอันนี้ ด้วยดวงจิตต์อันแน่วแน่ทุกลมหายใจ ตราบจนชีพสลาย


แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผลเท่าไรนัก แม้คณะรัฐประหารจะได้มีการสืบทราบว่ามีการสะสมอาวุธซึ่งเป็นอาวุธที่สหประชาชาติให้ไว้กับพวกเสรีไทยไว้ต่อต้านญี่ปุ่นและทางเสรีไทยไม่คืนสหประชาชาติ และเมื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นบ้านนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม และอดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี อดีตสมาชิกเสรีไทย ก็พบอาวุธอย่างที่ได้สืบมาได้ซุกซ่อนอยู่ในห้องใต้ดิน

หลังจากนั้น ก็เกิดเหตุการณ์กบฎอยู่เนืองๆ เป็นความพยายามแย่งอำนาจของฝ่ายสังคมนิยม ที่มี นายปรีดี พนมยงค์อดีตหัวหน้าเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเป็นแนวหน้า ซึ่งตามเนื้อหาในหนังสือที่ยกมานี้มีเหตุการณ์สำคัญๆกล่าวไว้ถึง 4 เหตุการณ์ก็คือ กรณีสวรรคต กบฎ 1 ตุลาคม 2491 กบฎแบ่งแยกดินแดน และกบฎ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ซึ่งมีการจับกุมผู้ต้องหาเข้าคุมขังในเรือนจำลหุโทษ เรืองขัง 7 ทั้งสิ้น ภายใต้การรักษาการณ์ของคณะตำรวจสันติบาล 17 นายและพนักงานเรือนจำระดับพัสดีร่วมปฏิบัติงาน

ต่อไปนี้เป็นเหตุการณ์กบฎที่มีการเอ่ยถึงในจดหมายเก่าเหตุการณ์าเรื่องฉบับนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น