Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อาสนวิหารอัสสัมชัญ


สร้างในสมัย : รัชกาลที่ 5

ประเทศไทยนั้น แม้ว่าจะมีประชากรนับถือศาสนาพุทธอยู่มากที่สุด รองลงมาเป็นศาสนาอิสลามและคริสต์ตามลำดับนั้น จะเห็นได้ว่าไทยเราก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางขนบธรรมเนียมประเพณี และศาสนาที่ทั้งหมดนี้ต่างก็ดำรงตนร่วมกันมาได้อย่างสงบสุขมาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

ที่ถนนเจริญกรุง ตรงย่านเก่าแก่บริเวณบางรักเรื่อยมาจนถึงย่านสี่พระยาที่แต่ก่อน ในยุคกลาง รัตนโกสินทร์นั้น เป็นชุมชนฝรั่งที่อยู่กันค่อนข้างหนาแน่น ทั้งนี้เราจะเห็นได้จากบ้านเรือนแบบฝรั่งและชื่อตรอกซอกซอยที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พำนักของฝรั่งผู้มีบทบาทในราชสำนักไทย อาทิ โรงแรมโอเรียลเต็ล บริษัทอีสเอเชียติก ตรอกกัปตันบุช บริษัทหลุยส์ ตีเลียวโนเว็น (บุตรชายของนางแอนนา ต้นแบบแห่งงานประพันธ์อื้อฉาวเรื่อง Anna and the King of Siam) และอาสนวิหารอัสสัมชัญ

อาสนวิหารอัสสัมชัญ ที่อ้างถึงเมื่อข้างต้นนั้น เกิดขึ้นมาได้ราว 90 ปีแล้ว โดยผู้ริเริ่มให้มีการสร้างวิหารนี้ขึ้นนั้นคือ บาทหลวง ปาสกัล ซึ่งหวังจะให้มีโบสถ์ที่เทิดพระเกียรติแด่พระแม่มาเรีย ขนานไปกับโบสถ์คาทอลิก ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ชื่อ โบสถ์ ซางตาครู้ส ที่สร้างมาก่อนหน้านี้แล้ว
คุณพ่อปาสกัลนั้น ได้รวบรวมเงินจากการบริจาคของเหล่าคริสตังในไทยมาได้เงินจำนวนหนึ่งนำมาให้แด่บาทหลวงฟลอรังส์ เพื่อใช้ซื้อที่ดิน ใกล้ๆ กับโรงแรมโอเรียลเต็ล ซึ่งแต่ก่อนเต็มไปด้วยสวนกล้วยอยู่หลายไร่ ครั้นพอซื้อที่ดินได้สมใจหมาย หากแต่เงินก็หมดพอดี จึงไม่สามารถสร้างวิหารได้ ดังนั้น ทางศาสนจักรที่วาติกันจึงส่งเงินอุดหนุนมาให้สร้างวัด และตัวอาคารวัดก็สร้างจนแล้วเสร็จได้ภายใน 2 ปี (พ.ศ.2465)

หลังจากที่สร้างวิหารจนแล้วเสร็จพร้อมทั้งมีการจัดฉลองวัดอย่างยิ่งใหญ่ในปีเดียวกันนั้น วัดนี้จึงได้กลายเป็นที่พำนักของสำนักพระคาดินัล และประมุขมิสซังไปโดยปริยาย และใน 17 ปี ให้หลังนั้น บาทหลวงแปรูดงก็ได้สั่งหินอ่อนจากฝรั่งเศสมารสร้างเป็นแท่นวิหารใหญ่เพื่อใช้ประกอบพิธีสำคัญๆ แต่ครั้นพอถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาสนวิหารถูกระเบิดทำลายจนเสียหายมากมาย โบสถ์นี้จึงต้องเริ่มบูรณะใหม่เกือบทั้งหมด

ในปีพ.ศ.2527 สมเด็จพระสันตปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ได้เสด็จมาเยือนไทย พระองค์จึงได้เสด็จมาเยี่ยมชมอาสนวิหารด้วย หากเราได้มีโอกาสแวะมาเยือนอาสนวิหารแห่งนี้ เราจะได้เห็นรูปปั้นของนักบุญต่างๆ และที่สำคัญนอกเหนือไปจากพระเยซูผู้เป็นศาสดาแล้ว รูปเคารพของพระนางมาเรียอันเป็นแม่พระพรหมจรรย์ (Virgin Mary) จะเป็นสิ่งที่ท่านได้พบเห็นมากที่สุดในโบสถ์

ในปี ค.ศ.1809 คุณพ่อปาสกัลป์ ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวโปรตุเกส-ไทย (บวชปี 1805) ได้รวบรวมเงิน 1,500 บาท จากบรรดาคริสตังญาติพี่น้อง และมิตรสหายของท่าน ได้ถวายเงินจำนวนนี้แก่คุณพ่อฟลอรังส์ เพื่อสร้างวัดเป็นเกียรติแด่อัสสัมชัญของพระนางมหามารีอา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 1810 คุณพ่อฟลอรังส์ เขียนจดหมายถึงคุณพ่อเลอต็องดัล ว่า "เพื่อความมุ่งหมายดังกล่าวข้าพเจ้าได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งราคา 250 บาท คงจะต้องขยายสักหน่อยในภายหลัง เพื่อจะได้สร้างวัดให้สมกับความตั้งใจของผู้บริจาค เพื่อพระสิริมงคลของพระเป็นเจ้าและของพระนางมหามารีอา ที่ดินแปลงนี้อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามวัดซางตาครู้ส ของเราอยู่เหนือวัดของพวกกิสมาติ๊กเล็กน้อย" (ปัจจุบันคือวัดแม่พระลูกประคำ) วันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1810 คุณพ่อฟลอรังส์ เขียนว่า "เวลานี้กำลังตระเตรียมที่ดินแปลงนี้เพื่อที่จะได้สร้างวัดแม่พระตามความปรารถนาของผู้ใจบุญที่ได้ถวายเงิน1,500บาทแล้วนั้น และซึ่งข้าพเจ้าได้รับเมื่อปีที่แล้วจากคุณพ่อปาสกัล" ในปี ค.ศ. 1820 พระคุณเจ้าฟลอรังส์ ก็สามารถซื้อที่ดินทั้งหมด (สวนกล้วย) ตั้งแต่ที่ดินที่ตั้งสามเณราลัยของมิสซังจนถึงริมแม่น้ำ สำหรับที่ดินสามเณราลัยนั้นปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอัสสัมชัญ แปลงที่สองซึ่งซื้อเมื่อปี ค.ศ. 1820 เป็นที่ตั้งของอาสนวิหารอัสสัมชัญปัจจุบัน, โรงเรียนวัด (อัสสัมชัญศึกษา),โรงเรียนของซิสเตอร์เซนต์ปอลเดอชาร์ตร(อัสสัมชัญคอนแวนต์), สำนักพระสังฆราช, ศูนย์คาทอลิก,บริษัทอีสต์เอเซียติ๊ก, บ้านคริสตัง ฯลฯ. เงินที่ได้รับจากคุณพ่อปาสกัลเหลือไม่พอที่จะสร้างวัดได้ พระคุณเจ้าฟลอรังส์ จำเป็นต้องพึ่งพระคาร์ดินัลผู้ใจบุญจากกรุงโรม ซึ่งยินดีบริจาคเงิน 1,500 ปิอาสตร์ เพื่อสร้างวัดเป็นเกียรติแด่พระนางมารีอารับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ การดำเนินงานต่างๆ ก็เริ่มทันที คือปรับที่ดินให้เรียบ และลงมือสร้างวัดอัสสัมชัญหลังแรกเป็นอิฐเสร็จในปี ค.ศ. 1822 นอกจากนั้นยังสร้างสำนักพระสังฆราชและพระคุณเจ้าฟลอรังส์ ก็มาพำนักอยู่ที่นี่ พิธีเสกอาสนวิหารอัสสัมชัญกระทำอย่างสง่าในวันฉลองแม่พระลูกประคำปี ค.ศ. 1822 ตั้งแต่นั้นมา อัสสัมชัญได้เป็นที่พำนักของบรรดาพระสังฆราชประมุขมิสซังต่างๆ ในประเทศไทย ปี ค.ศ. 1864 พระคุณเจ้าดือปองด์ จึงตั้งอัสสัมชัญเป็นกลุ่มคริสตชนอย่างเป็นทางการ คุณพ่อ ฟรังซัว ยอแซฟ ชมิตต์ (Schmitt) เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ท่านได้เปิดบัญชีวัดทุกเล่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1864 เป็นต้นมา (หลักฐาน : A.M.E. Vol. 892 pp. 263, 264, 267 ; Ann.M.E. 1913 p. 91 Memoiral II.) ปี ค.ศ. 1910 คุณพ่อกอลมเบต์ลงมือสร้างอาสนวิหารอัสสัมชัญหลังปัจจุบัน สร้างเสร็จเรียบร้อยในปี ค.ศ. 1918 (หลักฐาน : C.R. ; หมายเหตุประจำวันของคุณพ่อกอลมเบต์) ในปี ค.ศ. 1939 คุณพ่อแปรูดงได้สร้างแท่นใหญ่ทำด้วยหินอ่อนทั้งแท่งมาจากประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1940 พระสังฆราชแปร์รอส ได้เสกอาสนวิหารอัสสัมชัญอย่างสง่าที่สุด ส่วนการอภิเษกพระแท่นใหญ่ได้ทำในวันพฤหัสที่ 4 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1942 ได้เกิดสงคราม เครื่องบินมาทิ้งระเบิดในบริเวณวัดอัสสัมชัญ คุณพ่อแปรูดงต้องซ่อมแซมหมดทุกอย่างสิ้นเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด 77,200 บาทในสมัยนั้น ในปี ค.ศ. 1984 สมเด็จพระสันตะปาปา ยอนห์ ปอล ที่ 2 ได้เสด็จเยือนประเทศไทย พระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู ได้ถือเป็นเกียรติอัญเชิญสมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จมาเยี่อมเยือนอาสนวิหารอัสสัมชัญและอวยพระพรแก่บรรดาพระสงฆ์,นักบวชชายหญิงทุกคณะ พร้อมด้วยบรรดาคริสตังที่มาเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่น ปี ค.ศ. 1934 คุณพ่อแปรูดงคิดที่จะเปิด ร.ร. อัสสัมชัญศึกษาให้เป็นโรงเรียนของวัด และได้ขอให้ซิสเตอร์เซนต์ปอลเดอชาร์ตรของอารามอัสสัมชัญคอนแวนต์ร่วมมือ โดยให้รับโรงเรียนของวัดนี้เป็นส่วนหนึ่งของร.ร.อัสสัมชัญคอนแวนต์อย่างเป็นทางการ และขอให้ส่งซิสเตอร์มาช่วยบริหาร คุณพ่อแปรูดงต้องสร้างอาคารเรียนเป็นไม้ถึง 3 หลัง เพราะจำนวนนักเรียนที่ฝากบัญชี ร.ร.อัสสัมชัญคอนแวนต์ได้เพิ่มมากขึ้น ต่อมาคุณพ่อปอล สวัสดิ์ กฤษเจริญ ซึ่งเป็นปลัดของคุณพ่อแปรูดง ได้ขอให้แยกโรงเรียนอัสสัมชัญ ศึกษาออกจากโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ให้มีฐานะเป็น 2 โรงเรียนซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ออกใบอนุญาตให้เมื่อปี ค.ศ. 1953 นอกจากนี้คุณพ่อแปรูดงยังได้ซื้อที่ดินที่ตรอกจันทน์ และเริ่มสร้างโรงเรียนชาย-หญิง และวัดนักบุญ ยอแซฟ เพื่อเตรียมแยกกลุ่มอัสสัมชัญออกเป็น 2 กลุ่ม ในสมัยที่คุณพ่อวิลเลียม ตัน เป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ (ค.ศ. 1960-1969) ท่านได้รื้ออาคารไม้และสร้างเป็นตึกใหญ่ 4 ชั้น 2 หลัง และ 3 ชั้น 1 หลังพร้อมกับโรงอาหาร ฯลฯ ในสมัยคุณพ่อดาเนียล ธานี วงศ์พานิช เป็นเจ้าอาวาส (ค.ศ. 1969-1975) ได้ปรับปรุงสนามใหญ่และขยายตึกเรียน "มารีอา" โดยต่อปีกออกมาทั้งซ้ายและขวา และชั้นล่างมีศาลาสงบ (สำหรับผู้ตาย) นอกจากนี้ยังได้สร้างหอระฆังระหว่างวัดและโรงเรียน คุณพ่อคมทวน มุ่งสมหมาย เป็นเจ้าอาวาสในระหว่างปี ค.ศ. 1975-1979 ได้ริเริ่มแบ่งสายงานบริหารและปรับปรุงวิชาการของโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา ให้มีชื่อเสียงดีขึ้นจนเป็นที่ยอมรับจากสำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) ต่อจากนั้นวัดอัสสัมชัญก็ได้รับเจ้าอาวาสพิเศษองค์หนึ่งได้แก่คุณพ่อสังวาล ศุระศรางค์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในระหว่างปี ค.ศ. 1979-1983 และในเวลาเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งอุปสังฆราช คุณพ่อเป็นผู้ที่มีความสามารถมาก คุณพ่อได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1987 คุณพ่อชุมภา คูรัตน์ (ค.ศ. 1983-1989) เห็นว่าภายในอาสนวิหารอัสสัมชัญจำเป็นต้องได้รับการตบแต่งเสียใหม่ จึงได้ทำการตบแต่งและซ่อมแซมวัดไปในเวลาเดียวกัน พร้อมทั้งได้จัดทำพระแท่นบูชาและพื้นบริเวณพระแท่นเสียใหม่ มีความสวยงามอย่างยิ่ง คุณพ่อสนัด วิจิตรวงศ์ (ค.ศ. 1989-1994) เป็นผู้ดำเนินงานจัดตั้งเครื่องเสียงภายในวัดให้มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผู้เริ่มต้นว่าจ้างยามรักษาความปลอดภัยและดูแลการจราจรรอบๆบริเวณวัดอีกด้วย ได้จัดบริเวณหน้าบ้านพักพระสงฆ์เสียใหม่ คุณพ่อปิยะ โรจนะมารีวงศ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1994-1999 และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาของอัครสังฆมณฑลด้วย ได้พยายามสานต่องานของคุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ ก่อนๆ เช่น ส่งเสริมเยาวชนในการร่วมกิจกรรมของวัด สานต่องานอภิบาลทุกๆ ด้าน ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง อุปกรณ์บางชิ้นภายในวัด ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1995 ได้จัดส่งผู้แทนเยาวชนเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน เยาวชนไทย-เยอรมัน งานที่สำคัญที่สุดด้านหนึ่งของวัด ได้แก่ การศึกษา ซึ่งคุณพ่อได้มีหน้าที่ด้านนี้โดยตรง อยู่แล้ว และได้มีโครงการหลายโครงการ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่าง 3 โรงเรียนที่อยู่ภายในเขตวัด
คุณพ่อสำรวย กิจสำเร็จ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1999 - 2003
คุณพ่อเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 2003 - 2007
คุณพ่อทวีศักดิ์ กิจเจริญ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 2007 - ปัจจุบัน

ประวัติรูปแม่พระที่ประทับหน้ายอดมุขวัดอัสสัมชัญ

พระรูปแม่พระเก่าแก่คู่กับอาสนวิหารอัสสัมชัญ ได้รับการซ่อมแซมเป็นครั้งแรกหลังจากสร้างวัดมาเกือบร้อยปี ได้รับการเสกและอัญเชิญขึ้นสู่ที่ประทับหน้ายอดมุขของวัดดังเดิม ในโอกาสฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1990 ที่ผ่านมา พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู พร้อมกับบรรดาพระสังฆราชเกือบ 10 องค์ ได้ร่วมพิธีฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ซึ่งเป็นฉลองอาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก ซึ่งในปีนี้คุณพ่อสนัด วิจิตรวงศ์ ได้อัญเชิญพระรูปแม่พระที่ประทับ อยู่หน้ามุขของวัดลงมาซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุดบริเวณใบหน้า ซึ่งได้รับความเสียหายเล็กน้อยเนื่องมาจากแรงระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้ทำการลงรักปิดทองให้ดูสวยงามและเหมือนเดิม และได้ทำการเสกใหม่โดยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ท่ามกลางพี่น้องสัตบุรุษที่ไปร่วมพิธีกันอย่างเนืองแน่น
จากการเปิดเผยของคุณพ่อสนัด วิจิตรวงศ์ กล่าวว่า นายโรเช่ ลามาช ต้นตระกูลลามาช
(ที่เมืองไทย) เป็นผู้บริจาคให้ อดีตเป็นครูฝึกสอนทหารไทยในสมัยรัชการที่ 4 ได้รับพระราชทานยกเป็นหลวงอุปเทศทวยหาร หลังจากลาออกจากราชการ ตอนต้นรัชกาลที่ 5 ได้ตั้งบริษัทสั่งของจากประเทศฝรั่งเศสมาขาย การสนิทสนมกับคุณพ่อเจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ จึงได้สั่งรูปแม่พระปฏิสนธินิรมลเพื่อถวายแก่วัด เมื่อประมาณ 128 ปีมาแล้ว แต่ขณะนั้นวัดอัสสัมชัญหลังเก่า ซึ่งมีชื่อว่า แม่พระยกขึ้นสวรรค์ แต่ขณะนั้นที่วัดอัสสัมชัญยังไม่มีรูปแม่พระ พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ จึงได้ขอไว้เมื่อรูปแม่พระมาถึงเมืองไทย ถึงแม้จะเป็นองค์ละปางก็ตาม ยังดีกว่าไม่มีรูปแม่พระ ต่อมาได้มีการสร้างวัดอัสสัมชัญหลังใหม่ขึ้น (หลังปัจจุบัน) คุณพ่อกลอมเบต์ จึงได้อัญเชิญรูปแม่พระประทับหน้ายอดมุข เมื่อเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2 ขึ้น วัดอัสสัมชัญได้ถูกลูกระเบิดตกข้างวัดด้านขวา (ด้านหอระฆัง) ทำให้ผนังวัดเป็นรูโบ๋ ได้เอาไม้มาปิดรูโบ๋นี้ไว้ ด้วยแรงระเบิดจึงทำให้กระจกสี และกระจกต่างๆ ภายในวัดแตก รูปแม่พระข้างบนนี้ ถูกความร้อน และถูกน้ำฝนจึงทำให้รูปแม่พระดำ ภายหลังสงครามสงบ คุณพ่อเปรูดอง จึงขอให้ คุณหมง วังตาล ปิดทองให้ใหม่ แต่ด้วยกาลเวลาและช่วงสมัยสงครามสงบลงยังไม่มีกระจกหนาๆ จึงทำให้กระจกแตกอีก รูปแม่พระจึงดูเก่าและดำ จึงได้มีการบูรณะลงรักปิดทองขึ้นใหม่ โดยนายโรเช่ ลามาช ซึ่งเป็นเหลนโดยตรงของท่าน (ต้นตระกูล ลามาช ที่เมืองไทย) ในสมัยคุณพ่อสนัด วิจิตรวงศ์ เป็นเจ้าอาวาส คุณพ่อได้ตั้งตู้ทานเพื่อเป็นค่าซื้อกระจกหนาๆ พร้อมขอร้องกับบริษัทก่อสร้าง ซึ่งเจ้าของเป็นคาทอลิก ได้อนุเคราะห์เอารถกระเช้ามายกรูปแม่พระลงมาขัด และลงรักปิดทอง เมื่อทำเสร็จจึงได้อัญเชิญขึ้น ที่เก่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1990 วันแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์
ในการเชิญพระรูปแม่พระลงและขึ้นนั้นทาง บริษัท ช.นนทชัยก่อสร้าง ได้นำรถเครนขนาดใหญ่ มาใช้ ซึ่งทำให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็ว แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในระหว่างพิธีฝนได้ตกลงมาอย่างหนักทำให้ไม่สามารถทำพิธีแห่ได้ เนื่องจากบริเวณรอบวัดที่จะแห่มีน้ำท่วม พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้ทำพิธีสวดภาวนาและถวายดอกไม้แด่แม่พระในวัด
สำหรับการฉลองวัดในปีนี้ในตอนกลางวัน ทางคุณพ่อเจ้าอาวาส พร้อมกับบราเดอร์หลุยส์ ชาแนล อธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก และมาเซอร์วาแลนติน อธิการโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และซิสเตอร์ สมพร กตัญญู ได้จัดพิธีฉลองในตอนกลางวันสำหรับนักเรียนคาทอลิกทั้งสามโรงเรียน โดยเริ่มด้วยการถวายมิสซา โดยคุณพ่อจำเนียร กิจเจริญ อุปสังฆราช เป็นประธานถวายบูชามิสซา และหลังจากนั้นเป็นการแสดงบนเวทีของนักเรียน ในโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก
ส่วนในวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม ซึ่งหลายๆ วัดถือว่าเป็นการฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์เลื่อนมาจากวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันตรงทางวัดได้จัดให้เป็นวันรับศีลกำลังของเด็กนักเรียนคริสตังของทั้งสามโรงเรียนพร้อมกัน คุณพ่อสนัด วิจิตรวงศ์ เจ้าอาวาส ได้กล่าวแก่ อุดมสารว่า สำหรับการฉลองแม่พระนี้ทางอาสนวิหารอัสสัมชัญ จะจัดในวันตรง คือ วันที่ 15 สิงหาคม ของทุกปี จะไม่เลื่อนไปวันอาทิตย์ อยากให้ทางวัดได้ถือเหมือนเดิมและเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวัด และคิดว่าแม้ฉลองตรงวันทำงาน ก็ไม่มีอุปสรรคมากนักเพราะเราฉลองตอนเย็น สำหรับคนกรุงเทพฯ คงไม่ลำบากนัก และในโอกาสฉลองวัด สภาอภิบาลวัดได้จัดงานอัสสัมชัญสังสรรค์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในระหว่างพี่น้องสัตบุรุษของวัด และพี่น้องที่ไปร่วมงาน เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งช่วยเหลือคนยากจน โดยผ่านทางสมาคมวินเซน เดอ ปอล ทางวัดเพื่อช่วยเหลือ คนยากจน และเป็นค่าใช้จ่ายกิจกรรมของสภาอภิบาลในการดำเนินงานสนับสนุนกิจกรรมของทางวัดอีกด้วย ในวันที่ 18 สิงหาคม ในบริวณโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา โดยมีการแสดงของนักเรียนและคณะเยาวชนของวัดและจับฉลากของรางวัลสำหรับผู้ร่วมงานด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น