Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ขนมฝรั่งกุฎีจีน Kanom Farang Kudeejeen





ช่วงที่ผ่านมา บ้านเรามีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย มากจนผมคิดอะไรไม่ค่อยออก จนมีเพื่อนชาว Blog เข้ามาบอกว่า "แหม..ชักจะอืดๆไปนะบล็อกนี้" ผมเลยกลับมานั่งดูบล็อกย้อนหลัง และพบว่า "โห...นี่ผ่านมา ๓ สัปดาห์แล้วที่คนโง่ปั่นจักรยานไม่ได้โพสเรื่องใหม่ๆเข้ามาเลย..."

ครับ..การเดินทางค้นหาบ้านที่ทำขนมฝรั่งกุฎีจีนในครั้งนี้ เราก็จะได้เห็นและรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับขนมฝรั่งที่สืบทอดกันมาถึง ๕ ชั่วอายุคนกันแล้ว และแน่นอนครับว่า ต้นตระกูล ของท่านที่ทำก็ต้องเป็น ฝรั่งโปรตุเกส นั่นแหละ

ถ้าพูดถึงฝีมือการทำขนมแล้วล่ะก็ ผมนึกถึง ท้าวทองกีบม้า ครับ ... ท่านคือภรรยาของขุนนางฝรั่งเศสที่ยิ่งใหญ่เหลือเกินในสมัยสมเด็จพระยารายณ์มหาราช คือ คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ ท่านผู้นี้เป็นผู้ที่ทูลให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงสร้างป้อมปราการขึ้นระหว่างสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางกอก และอยู่เหลือมาจนปัจจุบัน คือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ในกองทัพเรือ

เมื่อสิ้นสมเด็จพระยารายณ์และสามีของท่าน คือ ท่านฟอลคอน ซึ่งถูกสังหารในคราวพระเพทราชายึดอำนาจและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์อยุธยา ท้าวทองกีบม้าผู้ภรรยา ต้องตกระกำลำบากทั้งถูกจับถูกขังในคอกม้า

เมื่อหนีออกมาได้ก็หอบลูกหนีมาแถวบางกอกมาขอความช่วยเหลือจากทหารฝรั่งเศส แต่กลับถูกจับขังซ้ำสองที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ โดยเพื่อนทหารฝรั่งเศสของสามี ถูกขังอยู่บนป้อมที่ครั้งหนึ่งสามีของนางเป็นผู้ริเริ่มให้ก่อสร้างด้วยซ้ำ

ถึงแม้ว่าท้าวทองกีบม้าจะตกระกำลำบากปานใด แต่ด้วยฝีมือการทำขนมที่เลื่องลือไปทั่วพระนคร ทำให้แม้ท่านจะถูกสั่งคุมขังในสถานที่ต่างๆ แต่ท่านก็ยังต้องมีหน้าที่ทำขนมส่งเข้าไปถวายเจ้านายในวังอยู่ตลอด

ด้วยความเลื่องลือของฝีมือการทำขนมของท่าน ในบั้นท้ายชีวิตท้าวทองกีบม้าจึงได้กลับเข้าสู่วังหลวงอีกครั้ง ด้วยฝีมือการทำขนมอันสุดแสนจะเลิศล้ำของท่านนั่นเอง

เข้าใจว่าฝีมือการทำขนมของท่าน ผมเชื่อว่าลูกหลานเชื้อสายของท่านก็ยังคงหลงเหลือสืบเชื้อสายมาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี กรุงเทพฯจนปัจจุบัน...

ขนมฝรั่งกุฎีจีน ก็คือขนมที่ฝรั่งที่โปรตุเกสทำสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นนับถึงวันนี้ประมาณได้ ๕ รุ่น หรือ ๒๐๐ ปีกว่าๆแล้ว


วันนี้..ลูกหลานคงไม่มีเค้าโครงฝรั่งให้เราเห็นได้เด่นชัดนัก แต่ผมก็รู้สึกขนลุกทุกครั้งที่คิดว่า คนซึ่งหน้าตาเป็นไทยๆ แต่พอนับย้อนขึ้นไปเขามีบรรพบุรุษฟากหนึ่งเป็นฝรั่ง!!!

โป้ง .. ชายผู้ที่สืบทอดการทำขนมฝรั่งกุฎีจีนมาจากเชื้อสายทางคุณตา ได้เล่าให้ฟังว่า ความจริงขนมชนิดนี้มีทำมาตั้งแต่สมัยอยุธยากันแล้ว พอฝรั่งโปรตุเกสเข้ามาสยาม ก็เอาวิธีการทำขนมพวกนี้เข้ามาด้วย และชาติโปรตุเกสน่าจะเป็นชาติที่ทำขนมได้อร่อยเหลือเกินในสายตาของโป้ง และยิ่งอร่อยขึ้นเมื่อเกิดการผสมผสานเข้ากับวิธีการทำขนมแบบไทยๆ


ทุกวันนี้ สถานฑูตโปรตุเกสยังส่งการ์ดเชิญมาถึงโป้งและครอบครัวทุกวันชาติโปรตุเกส และนั่นทำให้เขาได้ลิ้มรสชาติอาหารโปรตุเกสฝีมือแท้ๆของชาติบรรพบุรุษของเขา

แม้วันนี้ คนรุ่นใหม่จะมีขนมฝรั่งหน้าตาดีๆราคาแพงๆทานกันอย่างอร่อยล้ำ แต่ในอีกซอกหลืบหนึ่งของบางกอก ยังมีกลุ่มคนเล็กๆ อย่างน้อยก็อีกสองตระกูล คือตระกูลยายเป้าและตระกูลธนูสิงห์ (ของโป้ง) ที่ยังคงสืบต่อการทำขนมที่มีอายุสืบต่อกันมายาวนานกว่า ๒๐๐ ปีแล้ว

"เราไม่ได้กินแค่ขนม แต่ เรากินฝาบ้าน เรากินประวัติศาสตร์ของครอบครัวเขาเข้าไปด้วย...." ครูแหลมพูดหลังจากกลืนขนมที่ทำสืบต่อกันมากว่า ๒๐๐ ปี...

ครั้งต่อไป... "คนโง่ปั่นจักรยาน" จะพาทุกท่านไปพบกับ โบสถ์ซางตาครู้ส ... ที่ครั้งหนึ่งสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อกองทัพสัมพันธมิตร นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดหวังถล่มบางกอกให้ย่อยยับ

วันนั้น..ชาวบ้านฝั่งท่าเตียนมองเห็น "พระแม่มารี" ทรงยืนถือผ้าเช็ดหน้าอยู่เหนือโบสถ์โบสถ์แห่งนี้ และระเบิดพลาดเป้าหมายไปหมดแทบทุกลูก....



Kanom Farang Kudeejeen

ชุมชนกุฎีจีน มีประวัติความเป็นมากว่า 200 ปี ย้อนกลับไปครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราช และสถาปนากรุงธนบุรีขึ้น โดยที่พระองค์ได้รวบรวมเหล่าไพร่พลที่กระจัดกระจายหลังจากศึกสงคราม ทั้งชาวไทย ชาวจีน และชาวโปรตุเกส และพราชทานที่ดินให้เป็นที่อยู่อาศัยโดยผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ล้วนแตกต่างกันด้วย ความคิด เชื้อชาติ วัฒนธรรม และศาสนา การที่คนเชื้อชาติต่างๆ ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ก็ได้รับซึมซับวัฒนธรรมของไทยเข้าไปด้วย แต่วัฒนธรรมเชื้อชาติเดิมของเขาก็ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ แต่จะหลงเหลืออยู่ในด้านอาหารการกินซะส่วนใหญ่ เช่นสูตรทำขนมที่คนรุ่นเก่าแก่ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังๆ อย่างขนมฝรั่งกุฎีจีน โดยได้ต้นตำหรับมาจากชาวโปรตุเกส ที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในชุมชนกุฎีจีนแห่งนี้

ขนมฝรั่งกุฎีจีน หน้าขนมฝรั่งมีความหมายมากกว่าความอร่อย ชิ้นฟักเชื่อม มีความหมายให้อยู่เย็นเป็นสุข
ลูกเกต และลูกพลับ เป็นผลไม้มีประโยชน์ และราคาแพง ถ้าใครซื้อ ต้องเป็นคนที่สำคัญจริงๆ
ส่วนน้ำตาลนั้น หมายความว่าขอให้มีความสุข ร่ำรวยกันจนนับไม่ถ้วน

กุฎีจีนเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ตั้งยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี บรรพบุรุษของชาวกุฎีจีนประกอบไปด้วยผู้คนหลายเชื้อชาติและต่างศาสนา ซึ่งในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ชาวจีนมาตั้งบ้านเรือนอยู่เหนือคลองกุฎีจีนใกล้วัดกัลยาณมิตร ส่วนชาวคริสต์และโปรตุเกส ตั้งบ้านเรือนรวมกันอยู่ตอนใต้ลงมา
ที่มาของชื่อ “กุฎีจีน” นี้น่าจะมาจากที่บริเวณนี้มีชาวจีนอยู่มาก่อน และมีศาลเจ้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ริมคลองกุฎีจีน ปัจจุบันศาลเจ้าจีนแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นใหม่ โดยยังคงสถาปัตยกรรมจีนโบราณ ภายในประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม ส่วนชาวคริสต์สร้างโบสถ์ขึ้นชื่อว่า “โบสถ์ซางตาครู้ส”

การเดินทาง
รถยนต์ส่วนตัว : เข้าทาง ซ. สน. บุปผาราม (เชิงสะพานเจริญพาศน์) หรือเข้า ซ. อิสรภาพ 24 แล้ววิ่งออกทาง ถ. เทศบาลสาย 1 ข้างวัดประยูร ออกสะพานพุทธ
รถประจำทาง : สาย 3, 4, 7, 9, 10, 19, 21, 40, 42, 56, 82, 85, ปอ. 3, 4, , 21, และ82
เรือ : นั่งเรือด่วนเจ้าพระยา ขึ้นที่ท่าราชินี ล้วลงเรือข้ามฟากมาขึ้นที่ท่ากุฎีจีน

1 ความคิดเห็น: