Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เยาวราช


ถนนเยาวราช (อังกฤษ: Yaowarat Road) เป็นถนนสายหนึ่งแห่งกรุงเทพมหานคร ระยะทางความยาวตลอดเส้นทางประมาณ 1 กิโลเมตร ได้รับการกล่าวขานและขนานนามว่าเป็น "ถนนมังกร" โดยมีจุดเริ่มต้นของหัวมังกรที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาบริเวณวงเวียนโอเดียน ท้องมังกรอยู่ที่บริเวณตลาดเก่าเยาวราชและสิ้นสุดปลายหางมังกรที่บริเวณปลายสุดของถนน สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้ระยะเวลาในการตัดถนน 8 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2434 - พ.ศ. 2443 เพื่อให้เยาวราชกลายเป็นสถานที่สำหรับส่งเสริมการค้าขาย เดิมทีชื่อ "ถนนยุพราช" และได้โปรดเกล้าพระราชทานนามใหม่ว่า "ถนนเยาวราช"

ถนนเยาวราชประกอบไปด้วยจุดสำคัญหลายจุดเช่น วงเวียนโอเดียน ถนนเจริญกรุง ซึ่งอยู่ในท้องที่แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของถนนเยาวราชตัดกับถนนทรงสวัสดิ์ (สี่แยกเฉลิมบุรี) ถนนราชวงศ์ (สี่แยกราชวงศ์) และถนนจักรวรรดิ (สี่แยกวัดตึก) ข้ามคลองรอบกรุง (สะพานภาณุพันธุ์) เข้าสู่ท้องที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร สิ้นสุดที่แยกถนนพีระพงษ์ตัดกับถนนมหาไชยและถนนจักรเพชร

บริเวณถนนเยาวราชเป็นแหล่งชุมชนชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก จัดเป็นย่านธุรกิจการค้า การเงิน การธนาคาร ร้านทอง ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านค้า ฯลฯ รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครโดยได้รับการขนานนาม "ไชน่าทาวน์" (China Town) จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ถนนเยาวราชเมื่อแต่ก่อน
วิถีชีวิตชุมชนแถวถนนเยาวราชในยุคปัจจุบัน (ย่านตลาดเก่า)
ถนนเยาวราชเมื่อมีการจัดเป็นพื้นที่ถนนคนเดินถนนเยาวราชเป็นถนนที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามโครงการถนนอำเภอสำเพ็งซึ่งเป็นนโยบายสร้างถนนในท้องที่ที่เจริญแล้วเพื่อส่งเสริมการค้าขาย สำเพ็งเป็นย่านการค้าที่เจริญมากแห่งหนึ่งนอกเหนือจากบริเวณถนนเจริญกรุงแล้ว ทำให้มีพระราชดำริที่จะสร้างถนนให้มากขึ้น ถนนเยาวราชเป็น 1 ใน 18 ถนนที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ขณะดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ) เสนอให้สร้าง เช่น ถนนจักรวรรดิ ถนนราชวงศ์ ถนนอนุวงศ์

ถนนเยาวราชเริ่มตั้งแต่คลองรอบกรุงตรงข้ามกับป้อมมหาไชย ตัดลงไปทางทิศใต้บรรจบกับถนนราชวงศ์ซึ่งสร้างแยกจากถนนเจริญกรุงตรงไปฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ท่าราชวงศ์) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์กราบบังคมทูลว่าจะสร้างถนนใน พ.ศ. 2434 โดยให้ชื่อถนนว่า "ถนนยุพราช" ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า "ถนนเยาวราช" และในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2434 ได้มีพระบรมราชโองการให้ออกประกาศกรมโยธาธิการแจ้งให้ราษฎรทราบว่า การตัดถนนเยาวราชเนื่องจากมีพระราชประสงค์จะให้บ้านเมืองเจริญและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปเพื่อมิให้ราษฎรพากันตกใจขายที่ดินไปในราคาถูก เพราะเข้าใจว่าจะซื้อเป็นของหลวง หรือบางทีเข้าใจว่าการชิงขายเสียก่อน ถึงจะได้ราคาน้อยก็ยังดีกว่าจะสูญเปล่า และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตึกที่ยื่นล้ำเข้ามาในแนวถนนไม่เกินกว่า 1 วา ไม่ต้องรื้อถอนด้วย

ปรากฏในเอกสารของกรมโยธาธิการว่าเมื่อเจ้าพนักงานไปวัดที่ตัดถนนบริเวณตำบลตรอกเต๊านั้น ราษฎรร้องเรียนว่าเจ้าพนักงานไม่ยุติธรรม เพราะถ้าวัดปักไม้ถูกบ้านของผู้มีบรรดาศักดิ์ก็จะเลี่ยงไปปักที่ใหม่ ถูกแต่ที่ราษฎรทั้งสิ้น ทำให้แนวถนนไม่ตรง ราษฎรที่ตรอกเต๊าจึงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์จึงเสนอให้มีเงินค่าเวนคืนที่ดินหรือคำทำขวัญขึ้นเช่นเดียวกับที่คนในบังคับต่างประเทศได้รับ โดยได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเมื่อ พ.ศ. 2437 และได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าปรึกษาในที่ประชุมรัฐมนตรีสภา ซึ่งมีพระราชดำรัสว่า "ถนนสายเดียวซึ่งผู้ที่ไม่ได้ขัดขวางยอมให้ทำล่วงไปแล้วจะไม่ได้รับรางวัล จะได้แต่ผู้ที่ร้องขัดขวางเช่นนี้ก็เป็นที่น่าสงสารอยู่" แต่อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเห็นชอบในการจ่ายค่าที่ดินแก่คนไทยเช่นเดียวกับคนในบังคับต่างประเทศ เพื่อคนไทยจะได้ไม่เสียเปรียบคนต่างประเทศ

การสร้างถนนเยาวราชประสบอุปสรรคหลายประการนับแต่เริ่มกรุยทางในปี พ.ศ. 2435 จนถึงปี พ.ศ. 2438 ก็ยังไม่เสร็จ เพราะนอกจากราษฎรจะขัดขวางแล้วยังปรากฏว่า เจ้าของที่ดินหลายรายขวนขวายที่จะขายที่ดินให้กับคนในบังคับต่างประเทศ ทำให้การก่อสร้างค่อนข้างล่าช้า เพราะกระทรวงนครบาลไม่อาจจัดการเรื่องที่ดินที่ถนนจะต้องตัดผ่านให้กับกรมโยธาธิการได้ ปรากฏว่าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการได้มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาลเกี่ยวกับการมอบที่ดินที่อยู่ในแนวถนนให้กระทรวงโยธาธิการ ขอให้กระทรวงนครบาลจัดการในกรณีที่คนในบังคับต่างประเทศจะมาทำหนังสือซื้อขายหรือจำนำที่ดินที่ได้กรุยทางสร้างถนนเยาวราชไว้โดยสั่งให้เจ้าพนักงานหรืออำเภอกำนันให้ทราบว่าเป็นที่ทำถนนอย่าให้รับทำหนังสือซื้อขาย "ขอกระทรวงเมืองได้โปรดประทานพระอนุญาตให้ราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำเนินไปโดยสดวกด้วย" แต่กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ทรงอ้างว่าต้องทรงรอคำวินิจฉัยจากที่ประชุมเสนาบดีในเรื่องที่ราษฎรร้องเรียนกันขึ้นมาว่าการตัดถนนผ่านที่ดินเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม และปรากฏหนังสือโต้ตอบกันระหว่างเสนาบดีทั้ง 2 กระทรวงนี้ เพราะกระทรวงโยธาธิการก็ต้องการสร้างถนนให้เสร็จสิ้น ขณะที่กระทรวงนครบาลพยายามที่จะให้ราษฎรได้รับเงินค่าที่ดินจากรัฐบาล จึงรอพระบรมราชโองการเกี่ยวกับเรื่องนี้ และยังไม่มอบที่ดินให้กระทรวงโยธาธิการ ถึงกับกรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิธาดาทรงระบุว่า กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ทรงพระเมตตากับราษฎรบริเวณถนนเยาวราชกว่าราษฎรในแนวถนนอื่น ๆ กรมโยธาธิการจึงต้องดำเนินการสร้างถนนส่วนที่ไม่มีปัญหาและที่ดินที่เป็นของหลวงก่อน

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2441 ปัญหาเรื่องที่ดินซึ่งจะต้องตัดถนนผ่านก็ยังไม่ยุติ ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้กระทรวงโยธาธิการดำเนินการตัดถนนต่อไป เพราะมีพระราชดำริว่าที่ดินซึ่งถูกตัดถนนผ่านไปนั้น ย่อมทวีราคาขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายสิบเท่าเป็นประโยชน์แก่เจ้าของมาก ไม่ควรจะเสียดายที่ดินซึ่งเป็นท้องถนนแต่เพียงเล็กน้อย เพราะรัฐบาลที่ลงทุนทำถนนก็ไม่ได้เก็บเงินค่าคนหรือรถม้าที่เดินบนถนนเลย เพื่อบำรุงการค้าขายให้สะดวก เจ้าของจึงไม่ควรหวงแหน และโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์และกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดาปรึกษากันต่อหน้าพระที่นั่งว่าจะทำอย่างไรให้การตัดถนนสายนี้สำเร็จลงได้ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์จึงทรงรับที่จะออกประกาศให้เจ้าของที่ดินออกจากที่ดิน หากเจ้าของที่ดินไม่ยอมรื้อก็ให้กระทรวงโยธาธิการแจ้งไปที่กระทรวงนครบาล และให้กระทรวงนครบาลเป็นผู้ให้กรมอัยการฟ้อง ทำให้การตัดถนนเยาวราชดำเนินการต่อไปได้

เมื่อแรกตัดถนนเยาวราชใหม่ ๆ นั้น มีชาวจีนอยู่อาศัยกันหนาแน่น แม้ต่อมาถนนเยาวราชก็ยังคงมีความสำคัญ เพราะเป็นย่านร้านอาหารชั้นนำ ตึกที่สร้างสูงที่สุดตึกแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ก็สร้างที่ถนนเยาวราชเป็นแห่งแรก ช่วงปี พ.ศ. 2500 ถนนเยาวราชรถยังวิ่งสวนทางกัน มีรถเมล์สาย 23 หรือที่เรียกกันว่า "เมล์แดง" และรถเมล์สาย 24 ที่เรียกกันว่า "ไทยประดิษฐ์" วิ่งสวนทางกัน และมีรถรางวิ่งอยู่อีกช่องทางหนึ่ง ถนนเยาวราชจะเป็นที่จัดงานประจำปีอยู่เนือง ๆ โดยจะปิดการจราจรชั่วคราว เป็น "ถนนคนเดิน" มีการขายอาหารจีนที่มีชื่อ การแสดง และออกร้านมากมายจากร้านค้าที่อยู่สองข้างทาง


ภาพเมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช-ในปัจจุบัน) เสด็จประพาสเยาวราช สำเพ็ง ด้วยการพระราชดำเนิน รัชกาลที่ 8 เสด็จประพาส
ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช-ในปัจจุบัน) เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรด้วยการพระราชดำเนินที่เยาวราช สำเพ็ง ตั้งแต่เวลาเช้าจนถึงเที่ยง เป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร และทรงเสวยพระกระยาหารเที่ยงที่ชาวเยาวราชจัดถวายด้วย

เนื่องด้วยในเวลานั้นมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างคนไทยกับคนไทยเชื้อสายจีนหรือชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยเฉพาะบริเวณเยาวราช ถึงกับมีการทำร้ายร่างกายคนไทยที่เข้าไปในบริเวณนี้ การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรครั้งนี้นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งที่ต้องจารึกไว้ และเป็นการสลายความขัดแย้งทั้งหมดไปได้


"เสื่อผืนหมอนใบ" วลีสั้นๆ ที่แฝงเรื่องเล่าประจำตระกูลของคนไทยเชื้อสายจีนทุกบ้านเสมือนเป็นตำนานเคียงคู่เยาวราช แต่ภาพความเจริญของเยาวราชวันนี้กำลังทำให้คุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ของวลีนี้เลือนราง เพื่อไม่ให้ตำนานมังกรเหลือเพียงเรื่องเล่าซ้ำซากที่ลูกหลานเบื่อฟังแล้วเงียบหายไปจากชุมชนจีนแห่งนี้ "ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช" จึงเกิดขึ้น

สองฟากถนนเต็มไปด้วยร้านรวงที่มีป้ายภาษาจีนตัวเบ้อเริ่มแข่งกันโดดเด่นเพื่อชิงพื้นที่ในสายตาของผู้คนที่ผ่านไปมา แม้ถนนมีขนาดไม่ใหญ่นักแต่ก็มีรถราแล่นไปมาวันละหลายหมื่นคัน มีผู้คนแวะเวียนไม่ต่ำกว่าแสนคนต่อวัน

เมื่อรวมกับชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในเยาวราช หรือ "ไชน่าทาวน์เมืองไทย" ซึ่งนับเป็นไชน่าทาวน์ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ความพลุกพล่าน และเสียงจึงอยู่คู่กับชุมชนจีนแห่งนี้ทั้งในยามกลางวันและค่ำคืน

ขณะที่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกมองภาพความวุ่นวายเหล่านี้เป็นสีสันและชีวิตชีวา ในข้อเท็จจริง เยาวราชยังเป็นย่านธุรกิจที่มีเงินไหลเวียนเข้าออกอย่างไม่ขาดสายตลอดทั้งวัน

ในพื้นที่เพียง 1.43 ตารางกิโลเมตรของเยาวราช มีร้านทองรวมกันกว่า 130 ร้าน กลายเป็นย่านค้าทองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และยังเป็นตลาดทองรูปพรรณทำด้วยมือที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถนนสายทองคำแห่งนี้มีกระแสเงินหมุนเวียนจากการค้าทองคำวันละหลายสิบล้านบาท หรือสูงกว่า 3 พันล้านบาทต่อปี

นอกจากตลาดค้าทอง เยาวราชยังมีตลาดค้าส่งผ้า เครื่องประดับ ของขวัญ และของใช้เบ็ดเตล็ดราคาย่อมเยาแหล่งใหญ่อย่างตลาดสำเพ็ง มีตลาดเชียงกงเป็นแหล่งเครื่องจักรเก่าและเครื่องยนต์มือสอง มีตลาดคลองถมเป็นศูนย์รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า นาฬิกา และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ราคาถูก และยังมีตลาดเล่งบ๋วยเอี๊ยเป็นแหล่งรวม วัตถุดิบชั้นดีในการประกอบอาหารแบบจีน

ในยามราตรี ถนนเยาวราชยังกลายเป็นแหล่งรวมอาหารจีนเลิศรสตลอดเส้นทางกว่า 1 กิโลเมตร มีร้านอาหารกว่าพันร้านให้เลือกชิมในหลากหลายราคาและรูปแบบ ทั้งภัตตาคารหรู ร้านห้องแถว ร้านข้างถนน หาบเร่แผงลอย

มีตั้งแต่เมนูธรรมดาอย่างก๋วยเตี๋ยวคั่ว ก๋วยจั๊บน้ำใส บะหมี่จับกัง ตือฮวน หอยทอด ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวหน้าเป็ด ฯลฯ และเมนูเจ้าสัวอย่างอาหารทะเล กระเพาะปลา หูฉลามน้ำแดง ปลิงทะเล และแพะเย็น เป็นต้น ทั้งยังมีขนมและผลไม้ให้ตบท้าย อาทิ เต้าทึง ลอดช่องสิงคโปร์ ติ่มซำ จุ๋ยก้วย แปะก้วย เม็ดบัว เกาลัด รังนกฯลฯ... สมกับเป็นสวรรค์ของนักชิมอย่างแท้จริง

ความคึกคักตลอดทั้งวันและคืนทำให้เยาวราชเป็นย่านธุรกิจที่ใครๆ ก็อยากเข้ามาจับจองพื้นที่ทำมาหากิน จนในปี 2547 ราคาที่ดิน ในเยาวราชพุ่งขึ้นมาแพงที่สุดในเมืองไทย โดยตกอยู่ที่ราคา 650,000 บาทต่อตารางวา ล้มแชมป์อย่างถนนสีลมไปอยู่อันดับ 2 ในราคา 500,000 บาท และอันดับ 3 คือสยามเซ็นเตอร์ที่ราคา 450,000 บาท

ความเป็น "เมืองการค้า (trading town)" ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทยของ เยาวราชในวันนี้ ไม่ใช่สถานภาพที่ได้มาเองด้วยความบังเอิญโดยปัจจัยภายนอก และก็ไม่ได้เพิ่งเกิดเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่ใช้เวลาก่อรูป เป็นความรับรู้ในสังคมไทยมานานกว่า 200 ปี นับตั้งแต่ชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มแรกหนีความแร้นแค้นจากแผ่นดินใหญ่มาเทียบท่าที่สำเพ็ง อันเป็นก้าวแรกบนแผ่นดินไทย

ภาพตึกรามอาคารใหญ่โตในเยาวราช ทำให้คนไทยเชื้อสายจีนรุ่นหลังมองไม่เห็นแม้แต่เงาอดีตของเพิงไม้หลังเล็กๆ ที่บรรพบุรุษเคยต้องใช้อยู่อาศัยอย่างเบียดเสียด

ความมั่งคั่งของครอบครัวที่ทำให้ อาตี๋ อาหมวยได้ทุกสิ่งทุกอย่างตามต้องการ ทำให้หลายคนหลงลืมเสื่อผืนหมอนใบและหาบไม้ของอาเหล่ากงไปเสียสิ้น

ประกอบกับชีพจรที่เร่งรีบของเยาวราชวันนี้ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตำนานมังกรและคำสั่งสอนของหลายตระกูล รวมถึงเรื่องเล่าประจำตรอกที่แฝงคุณค่าเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ของชุมชนจีนแห่งนี้หล่นหายไปตามกาลเวลา

เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตอันเป็นความภาคภูมิใจของชาวไทยเชื้อสายจีนในเยาวราช เพื่อสืบทอดและธำรงไว้ซึ่งวิธีคิด ค่านิยม และแบบอย่างการดำเนินชีวิตของบรรพบุรุษชาวจีนไปสู่ลูกหลานเลือดมังกร จึงมีการจัดสร้าง "ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช" ขึ้นบนชั้น 2 ของพระมหามณฑป ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม

ขณะที่ชั้น 3 ของพระมหามณฑปฯ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือ "หลวงพ่อทองคำ" พระพุทธรูปทองคำแท้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อ ให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักและมีความรู้เกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ก่อนที่ขึ้นไปชมและสักการะ

โดยโครงการจัดสร้างพระมหามณฑป ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร วัดไตรมิตรวิทยาราม จัดทำขึ้นโดยประชาคม นักธุรกิจเขตสัมพันธวงศ์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อฉลองวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา เมื่อ พ.ศ.2550

ทั้งนี้ ผู้ดำเนินการออกแบบและจัดสร้างนิทรรศการ ทั้งในศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราชและนิทรรศการพระพุทธมหาสุวรรณ ปฏิมากร เป็นผลงานของบริษัทรักลูก เอ็ดดูเท็กซ์ จำกัด ภายใต้การดูแลของ "ศิริพร ผลชีวิน" ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและบริหารโครงการนี้

"Strong Message ที่เราเสนอก็คือ DNA แบบคนจีน คือขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน และรู้จักใช้โอกาส เมื่อเมล็ดพันธุ์ที่ดีแบบนี้มาตกต้องบนแผ่นดินไทยที่อุดมสมบูรณ์ บวกกับการให้โอกาสของสังคมไทย และพระมหากษัตริย์ จึงสามารถเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาในย่านที่เขาอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้" ศิริพรเชื่อว่านี่เป็นจุดที่ "รักลูกฯ" ชนะใจกรรมการ

ขณะที่จุดเด่นของนิทรรศการหลวงพ่อทองคำที่โดนใจกรรมการ อยู่ที่การนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับหลวงพ่อทองคำอย่างรอบด้านและลึกซึ้ง ตั้งแต่กำเนิดพระพุทธรูป ความหมายของปางมารวิชัยซึ่งเป็นปางเดียวกับหลวงพ่อทองคำ ประวัติและวิธีการสร้างองค์หลวงพ่อ ตลอดจนเหตุการณ์และการเดินทางครั้งต่างๆ ของหลวงพ่อ

รวมถึงการเดินทางครั้งสุดท้ายที่จะมาถึง คือการประดิษฐานบนชั้น 4 ของพระมหามณฑปองค์ใหม่นี้ โดยหลังจากนั้นจะมีพระราชพิธีสมโภชพระมหามณฑปแห่งใหม่ซึ่งจะจัดขึ้นราววันจักรี (อาจก่อนหรือหลังจากนั้น) จากนั้นศูนย์ประวัติศาสตร์ฯ และนิทรรศการหลวงพ่อทองคำจึงจะกลับมาเปิดให้ชมเป็นการถาวร หลังจากที่เปิดชิมลางไป 10 กว่าวันหลังตรุษจีน

ทั้งนี้ เฉพาะการจัดแสดงนิทรรศการ ทั้ง 2 ชั้นใช้งบประมาณรวมกันกว่า 70 ล้านบาท

สำหรับศูนย์ประวัติศาสตร์ฯ แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 6 โซน เริ่มต้นจาก "เติบใหญ่ใต้ร่มพระบารมี" เป็นส่วนเกริ่นนำ ที่บอกเล่าถึงความเป็นมาของย่านการค้าสำคัญของเยาวราช การต่อสู้ชีวิตของคนจีน ที่นี่ และความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของชาวเยาวราช ผ่านบทสนทนาของเจ้าสัวกับหลานชาย ด้วยเทคนิคนำเสนอ แบบ Magic Vision ประกอบกับจอวีดิทัศน์

ในโซน "กำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์" มีการเล่าถึงสถานการณ์ของประเทศจีน ประกอบกับโอกาสค้าแรงงานในประเทศไทย อันเป็นเหตุปัจจัยให้ชาวจีนอพยพมาทางเรือสำเภาขนสินค้าเพื่อมาลงหลักปักฐานในเมืองไทยในช่วง ร.1-ร.3

เพื่อให้ลูกหลานชาวจีนเข้าใจและ ซึมซับความยากลำบากของบรรพบุรุษในการใช้ชีวิตแรมเดือนบนเรือสำเภากว่าจะได้เทียบท่าที่สำเพ็ง ในโซนนี้จึงได้จำลองบรรยากาศท้องเรือสำเภาหัวแดงท่ามกลางพายุฝนกระหน่ำ จำลองท่าเรือที่พลุกพล่านด้วยกุลีชาวจีน และตลาดย่านท่าเรือที่เต็มไปด้วยร้านอาหารจีนและร้านขายสินค้านำเข้าจากเมืองจีน โดยทั้งคนขายและคนซื้อล้วนเป็นคนจีน

นิทรรศการนำเสนอว่าจุดเริ่มต้นยุคใหม่ของชาวจีนเยาวราช ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการค้าขายทางทะเลเปลี่ยนมาใช้เรือกลไฟแทนเรือสำเภาจึงใช้เวลาในการเดินทางสั้นลง ไม่เพียงความสะดวกในการค้าขายระหว่างประเทศไทยกับโลกภายนอกที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จำนวนชาวจีนอพยพก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

ภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาบาวริ่ง ประเทศไทยต้องเปิดการค้าขายเสรี กิจการนำเข้าส่งออกจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่ชาวจีนเยาวราชเป็นกลุ่มสำคัญที่ได้ประโยชน์จากการก้าวเข้าสู่การค้าสมัยใหม่ในโลกการค้าเสรีนี้ ยิ่งประกอบกับโครงการตัดถนนในท้องที่อำเภอสำเพ็ง (ย่านเยาวราชในปัจจุบัน) ในสมัย ร.5 พื้นที่บริเวณท่าเรือไปจนแนวถนนหลายสายในย่านเยาวราชก็เริ่มพัฒนากลายเป็นเขตการค้าที่รุ่งเรืองเรื่อยมา

โซน "เส้นทางสู่ยุคทอง" แสดงถึงพัฒนาการของชุมชนจีนจากตลาดสำเพ็งสู่ความเป็นย่าน ธุรกิจสมัยใหม่ที่ถนนเยาวราช ภายในโซนนี้มีการจำลองสำนักงานบริษัทค้าข้าวที่ถนนทรงวาดสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งคณะผู้จัดนิทรรศการเชื่อว่าธุรกิจค้าข้าวเป็นจุดเริ่มต้นความเจริญรุ่งเรืองของ ย่านเยาวราช ก่อนที่จะมีการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจสมัยใหม่อื่นๆ อย่างเช่นธุรกิจไฟแนนซ์

ความเจริญก้าวหน้าทางธุรกิจของย่านเยาวราชอาจสะท้อนผ่านภาพอาคารสูง 6 ชั้น 7 ชั้น และ 9 ชั้น ซึ่งทั้ง 3 อาคารนี้เคยได้ชื่อว่าเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย เคยเป็นแหล่งบันเทิงที่ทันสมัยที่สุดของกรุงเทพฯ

เยาวราชยังเป็นแหล่งที่มีลิฟต์ขนส่งผู้คนตัวแรก มีร้านนาฬิกาแห่งแรก และยังมีโรงหนังแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย

ไฮไลต์ของโซนนี้อยู่ที่โมเดลขนาด 9 เมตร ที่จำลองตึกแถวบนถนนเยาวราชช่วงทศวรรษ 2500 ซึ่งถือเป็นยุคเฟื่องฟูที่สุดของย่านนี้ โดยมีการให้รายละเอียดของทุกบริษัทห้างร้าน และมีให้ชมทั้งในบรรยากาศช่วงกลางวันและกลางคืน

"โมเดลนี้เราใช้เวลา 4-5 เดือนเก็บข้อมูล ปรึกษาอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมว่า รูปแบบเป็นยังไง และเดินเคาะทุกประตูบ้าน ไปขอดูรูปเก่าบ้าง ไปถามว่าเมื่อก่อนเป็นยังไงบ้าง เราบอกได้เลยว่าโมเดลของเรา 80% ถูกต้อง อีก 20% หาไม่ได้จริงๆ ก็ต้อง ยอมปล่อยไป" ศิริพรเล่า

ขณะที่รอบโมเดลมีการจัดแสดงด้วย Diorama อีก 11 ฉาก ซึ่งเป็นการหยิบเอาสถานที่ที่มีความสำคัญต่อจิตวิญญาณของเยาวราชมาขยายให้เห็นเรื่องราว วัฒนธรรม วิถีทางสังคม และวิถีความเป็นอยู่ในด้านต่างๆ ของชาวเยาวราชในยุคนั้น

อาทิ "ศาลเจ้าไต้ฮงกง" ที่สะท้อนถึงความศรัทธาของชาวจีนอันนำมาสู่งานสาธารณกุศล หรือมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง "โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ" แสดงถึงอุดมการณ์การช่วยเหลือดูแลกันของพี่น้องชาวจีน "โรงเรียนเผยอิง" กลไกทางสังคมของชุมชนเยาวราชในการสืบทอดค่านิยมและวิธีคิดของบรรพบุรุษชาวจีนสู่คนรุ่นหลัง "วัดเล่งเน่ยยี่" วัดจีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวจีน "โรงงิ้ว" สื่อบันเทิงและสื่อสำคัญในการถ่ายทอดคติธรรม ประวัติศาสตร์ชนชาติจีนและความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับชาวจีนผู้ไม่รู้หนังสือ เป็นต้น

จากปี พ.ศ.2500 ในห้องโมเดล เสมือนว่าผู้ชมได้เดินทางข้ามเวลากว่าครึ่งศตวรรษมาอย่างรวดเร็ว เมื่อเข้ายังห้องที่จัดแสดงด้วยกราฟิกบอร์ดสีสันสดใส และมีชีวิตชีวาของเยาวราชยามค่ำคืนซึ่งว่าด้วยเรื่องก้าวปัจจุบันของเยาวราช

ถัดไปเป็น Hall of Frame หรือตำนานชีวิตชาวเยาวราชที่เป็นแบบอย่าง และแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลัง บอกเล่าผ่านสื่อวีดิทัศน์ ตัวอย่างบุคคลที่สังคมรู้จักดี เช่น ชิน โสภณพนิช, อุเทน เตชะไพบูลย์ และเทียม โชควัฒนา เป็นต้น

ต่อด้วยโซน "พระบารมีปกเกล้าฯ" ซึ่งเป็นแกลเลอรี่ภาพถ่ายและวีดิทัศน์ โดยมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลปัจจุบันที่มีต่อชุมชนเยาวราช

จบท้ายด้วยโซน "เยาวราชวันนี้" ที่สรุปถึงภาพลักษณ์ที่โดดเด่น 4 แง่มุม ของเยาวราชในปัจจุบัน อันได้แก่ ถนนสายทองคำ ย่านตลาดใหญ่ที่สุดของประเทศ แหล่งวัฒนธรรมประเพณีจีน และแหล่งรวมอาหารอร่อย

เพราะการรับรู้อดีตอาจช่วยให้ปัจจุบันมีคุณค่าและความหมายมากขึ้น เชื่อว่า หลังจากที่นักท่องเที่ยวอิ่มเอมกับรอยอดีตของเยาวราชและตำนานของเหล่ามังกรเยาวราชแล้ว หลายคนจะมองเยาวราชด้วยมิติทางใจที่ลุ่มลึกมากขึ้น

1 ความคิดเห็น: