วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553
กบฏทหารนอกราชการ
กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยา เป็นความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ของนายทหารนอกประจำการคณะหนึ่ง ประกอบด้วย พันเอกมนูญ รูปขจร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลเอกเสริม ณ นคร พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร่วมด้วยทหารประจำการอีกส่วนหนึ่ง และพลเรือนบางส่วนซึ่งเป็นผู้นำแรงงาน โดยได้ความสนับสนุนทางการเงินจากนายเอกยุทธ อัญชันบุตร การกบฎครั้งนี้พยายามจะยึดอำนาจการปกครองที่นำโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กบฏครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปราชการที่ประเทศอินโดนีเซีย ส่วนพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจในทวีปยุโรป
การก่อการเริ่มต้นเมื่อเวลา 3.00 น. โดยรถถังจำนวน 22 คัน จากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) พร้อมด้วยกำลังทหารกว่า 400 นาย จากกองกำลังทหารอากาศโยธิน เข้าควบคุมกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และอ่านแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ ระบุนาม พลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ
ในส่วนของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ได้นำกำลังทหารส่วนหนึ่ง และผู้นำสหภาพแรงงาน เข้าไปยึดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และควบคุมตัวนายพิเชษฐ สถิรชวาล ผู้อำนวยการ ขสมก. ในขณะนั้น เพื่อนำรถขนส่งมวลชนไปรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้ามาร่วมด้วย
ต่อมาทหารฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วยพลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผบ.ทบ. รักษาการตำแหน่ง ผบ.ทบ. พลโทชวลิต ยงใจยุทธ รองเสนาธิการทหารบก, พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ ประสานกับฝ่ายรัฐบาลซึ่งพลเอกประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งกองอำนวยการฝ่ายต่อต้านขึ้นที่ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) บางเขน และนำกองกำลังจาก พัน.1 ร.2 รอ. เข้าต่อต้าน และออกแถลงการณ์ตอบโต้ในนามของ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก กองกำลังหลักของฝ่ายรัฐบาลคุมกำลังโดยกลุ่มนายทหาร จปร. 5 ประกอบด้วย พลโทสุจินดา คราประยูร พลโทอิสระพงศ์ หนุนภักดี พลอากาศโทเกษตร โรจนนิล
เมื่อเวลาประมาณ 9.50 น. รถถังของฝ่ายกบฏ ที่ตั้งอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เริ่มระดมยิงเสาอากาศวิทยุ และอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และยิงปืนกลเข้าไปในบริเวณวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ทำให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียชีวิตสองคน คือ นายนีล เดวิส ชาวออสเตรเลีย และนายบิล แรตช์ ชาวอเมริกัน
ทั้งสองฝ่ายปะทะกันรุนแรงขึ้น และมีการเจรจาเมื่อเวลา 15.00 น. โดยพลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล และพลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นตัวแทนฝ่ายกบฏ และทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ และถอนกำลังกลับที่ตั้งเมื่อเวลา 17.30 น.
ส่วนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อคืนวันที่ 9 กันยายน แล้วเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ในคืนนั้น
เมื่อการกบฏล้มเหลว ผู้ก่อการ คือ พันเอกมนูญ รูปขจร และนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร ได้ลี้ภัยไปสิงคโปร์และเดินทางไปอยู่ในประเทศเยอรมนีตะวันตก ส่วนคณะที่เหลือให้การว่าถูกบังคับจากคณะผู้ก่อการกบฏ มีผู้ถูกดำเนินคดี 39 คน หลบหนี 10 คน
มีข่าวลือเกี่ยวกับการยึดอำนาจครั้งนี้ว่า พันเอกมนูญ รูปขจร ทำหน้าที่เพียงเป็นหัวหอกออกมายึด เพื่อคอยกำลังเสริมของผู้มีอำนาจที่จะนำกำลังออกมาสมทบในภายหลัง และการกบฏครั้งนี้ล้มเหลวเนื่องจาก "นัดแล้วไม่มา"
เกร็ดเพิ่มเติม
ในขณะนั้น คาราบาว วงดนตรีเพื่อชีวิตกำลังมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมอย่างสูง คาราบาวได้รับการติดต่อแบบขอร้องแกมบังคับตั้งแต่เวลา 03.00 น. ให้ไปตั้งวงแสดงดนตรีที่สวนอัมพร ซึ่งตามแผนจะมีการถ่ายสดการแสดงคอนเสิร์ตของคาราบาวทางโทรทัศน์ สลับกับการอ่านประกาศของคณะปฏิวัติ เพื่อปลุกใจให้คนหันมาเป็นแนวร่วม แต่ทว่าแผนการเกิดผิดพลาด ดังนั้น ในอัลบั้มชุดที่ 6 ของคาราบาว "อเมริโกย" จึงมีอยู่เพลงนึงชื่อ มะโหนก มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตทหาร และมีท่อนนึงที่ร้องว่า "โหนกตัดสินใจรับใช้ชาติประชา มาเป็นพลทหารม้าสังกัดมอพันสี่" ซึ่งต้องการสื่อหมายถึง พ.อ.มนูญ รูปขจร นายทหารม้าสังกัด กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในเหตุการณ์ครั้งนี้ และในท้ายเพลงมีบันทึกเสียงปืนจากรถถังที่ยิงใส่เวทีคอนเสิร์ตในวันเกิดเหตุด้วย พร้อมกับเสียงผู้คนโหวกเหวก และเป็นที่มาของหน้าปกอัลบั้มชุดนี้ที่เป็นลายพรางทหาร และคำว่า vol.6 ซึ่งเมื่ออ่านกลับหัวจะอ่านได้ว่า 9 กย.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น