Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พานเสี้ยว สะพานเหล็ก สะพานโค้ง

สะพานทั้งสามสะพานนี้ ปัจจุบันไม่ปรากฎทั้งชื่อและตัวสะพานหรือแม้แต่ความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องราวของสะพานนี้ก็กำลังจะสูญสลายหายไปในไม่ช้า จึงจะขอบันทึกประวัติความเป็นมาของสะพานทั้งสามเท่าที่จะค้นคว้าได้ไว้ ณ ที่นี้

สะพานเสี้ยว เป็นสะพานข้ามคลองคูเมือง บริเวณสะพานผ่านพิภพลีลาในปัจจุบัน ชื่อสะพานเรียกตามลักษณะของสะพานซึ่งมีรูปเสี้ยวเหมือนขนมเปียกปูนสมัยโบราณ แม้ต่อมาจะได้มีการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงรูปร่างของสะพานเสียใหม่หลายครั้งหลายหนแต่ก้ยังคงชื่อสะพานไว้เช่นเดิม
จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๔ ครั้งโปรดให้สร้างสะพานผ่านพิภพลีลาขึ้นบริเวณที่เป็นสะพานเสี้ยว จึงโปรดให้ย้ายสะพานเสี้ยวไปอยู่ด้านเหนือ ตรงกับถนนจักรพงษ์ ใกล้ๆ สะพานผ่านพิภพลีลานั่นเอง
ในสมัยที่กรุงเพฯ ยังมีรถรางอยู่นั้น สะพานเสี้ยวได้กลายเป็นเส้นทางสำหรับรถรางวิ่งข้ามคลองคูเมืองเดิม จนกิจการรถรางเลิก สะพานเสี้ยวจึงกลับมาเป็นสะพานคนเดิมข้ามอีกครั้ง และได้รื้อออกเมื่อครั้งสร้างสะพานพระปิ่นเกล้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ในครั้งนั้นเองที่ทั้งชื่อสะพานและตัวสะพานได้สูญสลายหายไปจากสายตาและกำลังจะหายไปจากความทรงจำของคนกรุงเทพฯ ในไม่ช้า

สะพานเหล็ก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการพัฒนาการสร้างสะพานทั้งวัสดุที่ใช้สร้างและรูปทรงของสะพาน สะพานที่นับว่าแปลกใหม่ที่สุดในสมัยนั้นทั้งวัสดุและรูปทรงก็คือ สะพานที่สร้างด้วยแหล็ก ลักษณะพิเศษคือเป็นสะพานที่มีโครงทำด้วยแหล็ก ส่วนเสาคานและพื้นยังคงเป็นเครื่องไม้อยู่ ใต้พื้นสะพานมีล้ออยู่บนรางเหล็ก สำหรับแยกสะพานออกจากกันให้เรือแล่นผ่าน เมื่อสะพานเหล็กสร้างเสร็จใหม่ๆ นั้น เป็นที่โจษขานกันถึงความแปลกใหม่ มีผู้คนจากที่ต่างๆ พากันเดินทางมาชมความแปลกใหม่ของสะพานนี้เป็นจำนวนมากทุกวัน
เท่าที่มีหลักฐานปรากฏ สะพานเหล็กรุ่นแรกมี ๒ สะพานคือ สะพานเหล็กข้ามคลองรอบกรุงเทพฯ บริเวณคลองโอ่งอ่างสะพานหนึ่ง เรียกกันทั่วไปว่า “สะพานเหล็กบน” ภายหลังโปรดพระราชทานนามว่า “สะพานดำรงสถิตย์” สะพานเหล็กอีกสะพานหนึ่งเป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณป้อมปิดปัจจนึก ชาวบ้านเรียกกันว่า “สะพานเหล็กล่าง” ซึ่งต่อมาโปรดพระราชทานนามว่า “สะพานพิทยเสถียร”
ครั้นเวลาผ่านไป สะพานเหล็กชำรุดทรุดโทรมลง สะพานที่สร้างขึ้นแบบสะพานเหล็กได้กลายเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก และเหล็กก็มิใช่วัสดุที่แปลกใหม่อีกต่อไป ชื่อสะพานเหล็กจึงค่อยๆ ห่างหายไปจากความทรงจำของคนทั่วไป

สะพานโค้ง สะพานโค้งเป็นชื่อของสะพานที่คนทั่วไปเรียกตามลักษณะรูปทรงของสะพาน ซึ่งแตกต่างจากสะพานอื่นๆ คือมีโครงเหล็กสูงโปร่งเป็นรูปโค้งอยู่เหนือตัวสะพาน ซึ่งก็มีรูปร่างโค้งสูงตามโครงเหล็กด้านบน ทั้งนี้เพื่อให้เรือสามารถลอดผ่านได้
สะพานชนิดที่เรียกกันว่าสะพานโค้งนี้ เท่าที่ปรากฏหลักฐานมีอยู่ ๒ สะพานคือ สะพานข้ามคลองที่บางลำพู มืชื่อทางราชการว่า “สะพานนรรัตนสถาน” และสะพานโค้งข้ามคลองผดุงกรุงเกษมที่หัวลำโพง มีชื่อว่า “สะพานสุประดิษฐ” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “สะพานเจริญสวัสดิ์”
ปัจจุบันสะพานที่มีรูปทรงอย่างที่เรียกกันว่าสะพานโค้งนี้ ไม่มีเหลืออยู่ในกรุงเทพฯมหานครแม้แต่เพียงแห่งเดียว เพราะเมื่อสะพานชำรุดทรุดโทรม ได้รับการซ่อมแซมใหม่ ก็จะกลายเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กรูปร่างคล้ายคลึงกันเป็นส่วนมาก



แหล่งอ้างอิง: ข้อมูลดีๆ จากหนังสือ "ชื่อบ้าน นามเมือง" โดยคุณศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในเครือสำนักพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น