Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การบูชาผีพระขะพุง



คนไทยเราเชื่อกันมาแต่โบร่ำโบราณแล้วว่ามีเทวดาผูปกปักรักษาบ้านเมือง ในสมัยกรุงสุโขทัยมีพระขะพุงผีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เชื่อกันว่า”ถ้าไหว้ดีพลีถูกบ้านเมืองก็เจริญรุ่งเรือง แต่ถ้าไหว้ดีพลีไม่ถูกบ้านเมืองก็ล่มจม” พระขะพุงผีนี้เข้าใจกันว่าน่าจะเป็นเทวรูปศิลาของเทวนารีซึ่งปัจจุบันเรียกว่าแม่ย่า สันนิษฐานว่าพ่อขุนรามคำแหงให้สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมารดาคือนางเสือง

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและต่อมาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีความเชื่อว่าเทวดาที่คุ้มครองบ้านเมืองคือ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระหลักเมือง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงให้ความหมายของพระเสื้อเมืองว่ามีมัลลิตารีเพาเวอร์ คืออำนาจทางทหาร พระทรงเมืองเป็นซีวิลพาวเวอร์ คืออำนาจของข้าราชการพลเรือน ส่วนพระหลักเมืองเป็นจูดิคัลพาวเวอร์ คืออำนาจตุลาการ ซึ่งสื่อแสดงว่าบ้านเมืองจะร่มเย็นได้ ก็ต้องประกอบด้วยความเข้มแข็งทางทหาร การปกครองที่ดีงาม และกระบวนการด้านความยุติธรรมอันถูกต้องเที่ยงตรง อย่างไรก็ตามในส่วนของชาวบ้านโดยทั่วไปยังให้ความเคารพยำเกรงต่อพระแก้วและพระกาฬ จนมีคำสาบานที่อ้างพระแก้วพระกาฬอย่างติดปาก พระแก้วก็คือพระแก้วมรกตซึ่งถือได้ว่าเป็นของคู่บุญพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเป็นของคู่บ้านคู่เมืองโดยแท้ เพราะชื่อกรุงรัตนโกสินทร์ก็หมายถึงสถานที่ที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต นั่นเอง ส่วนพระกาฬหรือพระกาฬไชยศรีเป็นบริวารพระยม มีหน้าที่นำดวงวิญญาณมนุษย์ไปยมโลก

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่าประเทศไทยมีเหตุการณ์ที่เกือบจะต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่บังเอิญมีเหตุให้รอดพ้นภยันตรายมาได้เสมอ ชะรอยคงจะมีเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยอภิบาลรักษาอยู่ สมควรที่จะทำรูปเทพยดาองค์นั้นขึ้นสักการบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการปั้นรูปสมมุติขึ้น แล้วหล่อด้วยทองคำแท่ง มีลักษณะแบบเทวรูปมีความสูง 8 นิ้ว ทรงเครื่องอย่างเทพารักษ์ ทรงมงกุฏ ประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นในท่าจีบเสมอพระอุระ ประทับในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์ มีลักษณะแบบวิมานเก๋งจีน และถวายพระนามว่าพระสยามเทวาธิราช โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระจอมกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคารพบูชาพระสยามเทวาธิราชเป็นอย่างสูงทรงถวายเครื่องสักการะเป็นประจำทุกวัน และทรงถวายเครื่องสังเวยทุกวันอังคารและวันเสาร์ก่อนเวลาเพล กับโปรดฯ ให้จัดพิธีสังเวยเทวดาในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 อันตรงกับวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติแบบโบราณด้วย ทั้งเป็นที่ร่ำลือกันว่าพระสยามเทวาธิราชนั้นศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเคารพนับถือพระสยามเทวาธิราชเช่นเดียวกับพระราชบิดา นอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ในเครื่องทรงแบบพระสยามเทวาธิราชขึ้นองค์หนึ่งประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต เพื่อทรงสักการะแล้ว ยังโปรดเกล้าฯ ให้นำรูปพระสยามเทวาธิราชประทับนั่งใส่ในด้านหลังของเหรียญกษาปณ์ ราคาเสี้ยว อัฐ และโสฬส ซึ่งออกใช้ในรัชสมัยของพระองค์ด้วย

ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ หรือพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ เสด็จแทนพระองค์ไปทรงถวายเครื่องสังเวยพระสยามเทวาธิราช ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 และระหว่างงานฉลองกรุงเทพฯ 200 ปี ในปี พ.ศ.2525 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสยามเทวาธิราชออกมาให้ประชาชาชนทั่วไปได้สักการบูชาเป็นครั้งแรก

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิสกุล ได้ทรงบันทึกเรื่องพระสยามเทวาธิราช มีความตอนหนึ่งว่า “...เหตุการณ์ต่าง ๆ ดังเราได้ประสบมาด้วยตนเอง ยิ่งนานวันก็ยิ่งเห็น ๆ ว่าพระสยามเทวาธิราชนั้นมีจริง เราจงพร้อมใจกันอธิษฐาน ด้วยกุศลผลบุญที่เราทำมาแล้วด้วยดี ขอให้เทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์พระองค์นี้ จงได้ทรงคุ้มครองป้องกันภัย และโปรดประสิทธิ์ประสาทความสมบูรณ์พูนสุข ให้แก่ประชาชนชาวสยามทั่วกันเทอญ...”





พระขะพุงผี

ขนหัวลุก/ใบหนาด



"สมุห์แจ้ง" เล่าเรื่องขนหัวลุกของผีบ้านผีเมืองสมัยโบราณ

คนสมัยนี้ไม่ค่อยเชื่อเรื่องผีๆ สางๆ หาว่าเป็นเรื่องเหลวไหล ใครเชื่อเรื่องผีถือว่าหัวเก่าเร่อร่าล้าหลัง ไม่ทันยุคทันสมัย...ลองหันมองรากเหง้าตนเองกันบ้างปะ ไร!

คนไทยสมัยโบราณจนถึงสมัยปู่ย่าตายายก็ยังเชื่อถือเรื ่องผีมาตลอด เพราะส่วนหนึ่งกลายเป็นพิธีกรรมควบคู่กับศาสนาไปแล้ว หลายๆ แห่งถือเป็นประเพณี จนกลายเป็นวัฒนธรรมของชาวเอเชียส่วนใหญ่

ตามคติเก่า เชื่อว่ามีภูตผีสิงอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าในไร่นาป่าเขา ห้วยหนองคลองบึง มีทั้งผีดึกดำบรรพ์อย่างผีแถน ผีฟ้า ขะพุงผี อีกทั้งเทพยดาอารักษ์ทั้งหลาย จึงต้องบูชาผี เคารพนบนอบผี เชื่อว่าภูตผีระดับใหญ่ๆ เช่นผีหลวงผีฟ้าจะช่วยให้ฟ้าฝนตกหล่นบริบูรณ์ ทำไร่ทำนาได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ไม่เจ็บไข้ใดๆ

ผีตาแฮก ผีปู่ผีตา ยังนับถือกันอยู่แม้ในทุกวันนี้!

ในสุภาษิตพระร่วงกล่าวถึงผีไว้ตอนหนึ่งว่า

"จงนบนอบผู้ใหญ่ ช้างไล่แท่นเลี่ยงหลบ สุวานขบอย่างขบตอบ อย่ากอปรจิตริษยา เจรจาตามคดี อย่าปลุกผีกลางคลอง"

ขนาดในคลองยังมีผีมีสาง นับประสาอะไรกับแม่น้ำหรือทะเล แม้แต่ห้วยหนอง บ่อน้ำน้อยใหญ่...อย่าหมิ่นประมาทสิ่งใดด้วยความทะนง ตนเป็นสิ่งประเสริฐที่ สุด

ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลัก 1 มีคำจารึกเกี่ยวกับภูตผีน่าสนใจ ดังนี้

"เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฏิวิหารปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส มีป่าพร้าว ป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโดก มีพระขะพุงผี เทพดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ - ขุนผู้ใดถึงเมืองสุโขทัยนี้แล้ว ไหว้ดีพลีถูก ผิไม้บพลีบ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้มบ่เกรงเมืองนี้หาย"

"ขะพุง" เป็นภาษาเขมร แปลว่า "สูง"

"พระขะพุงผี" จึงแปลว่า "เทพเจ้าแห่งความสูง" หรือ "เทพเบื้องสูง"

ไทยเราได้รับอิทธิพลหลายอย่างจากเขมร ลาวและพม่า ไม่ว่าการแต่งกาย อาหารการกิน ไปถึงความเชื่อถือในเรื่องสิ่งเร้นลับ ไสยศาสตร์ หรือการทรงเจ้าเข้าผี ที่คนส่วนมากยอมรับนับถือ ลัทธิเคารพบูชาผีแผ่กระจายไปทั่วดินแดนอุษาคเนย์มาช้ านานแล้ว

"ผีพม่า" ก็โลดโผนพิสดารไม่น้อยหน้าเพื่อนบ้านแต่ประการใด

"มหาคีรี" ฟังเผินๆ คล้ายหมายถึงขุนเขาขนาดใหญ่ แต่ความจริงเป็นชื่อผีของพม่า สถิตอยู่บนยอดเขาโปปา ซึ่งเป็นชื่อของภูเขาไฟเก่า ที่ชาวบ้านเคารพนับถือกันมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า...

ยอดเขาโปปาเป็นที่สถิตของผีสองตน คือพี่ชายและน้องสาวที่ถูกพระเจ้าแผ่นดินสั่งให้ประห ารชีวิตโดยที่มิได้ กระทำผิดใดๆ วิญญาณทั้งสองพี่น้องจึงไปสิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่บ นยอดเขาโปปานั่นเอง

ต่อมาเกิดมหาวาตะ พายุใหญ่โหมกระหน่ำจนต้นไม้โค่นลงแม่น้ำ ล่องลอยมาจนถึงเมืองพุกาม

น่าอัศจรรย์ที่ต้นไม้ประหลาดนั้นสลักเป็นรูป "มิน มหาคีรี" หมายถึงเจ้าแห่งบรรพต หรือเทพแห่งขุนเขา กับน้องสาวชื่อ "ดวงจีจิน" เป็นที่เคารพกราบไหว้ของผู้คนโดยทั่วไป

ตำนานเรื่องนี้บ่งบอกถึงการก่อตั้งลัทธิบูชาผีบนยอดเ ขา เมื่อเริ่มมีการลงหลักปักฐาน สร้างบ้านแปงเมืองขึ้นมา

นักโบราณคดีบางท่านสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นอาณาจักรฟูห นาน หรือฟูนันก็เป็นได้ เนื่องจากคำนี้แปลว่า "ภูเขา" อีกทั้งเคยพบโบราณวัตถุศิลปะฟูนัน (ราวพุทธศตวรรษที่ 8-9) ที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว

คนเราย่อมมีสิทธิ์ที่จะเชื่อเรื่องบุญ - กรรม หรือไม่ตามใจชอบ

เรื่องภูตผีก็เช่นกัน!

ถ้าเชื่อเรื่องผีแล้วมัวแต่กลัวผีท่าเดียวก็ไม่เกิดป ระโยชน์อะไร แต่กลัวผีแล้วเกิดมรณสติ หมั่นประกอบบุญกุศลเป็นเสบียงกรัง เมื่อถึงเวลาต้องเดินทางไกลไปสู่ปรโลก

คิดดี พูดดี ทำดี ไม่ต้องกลัวคนกลัวผี ทั้งโลกนี้และโลกหน้าเป็นแน่นอน!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น