Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความเชื่อของชาวล้านนาจากจารึกโบราณ


ความเชื่อของชาวล้านนาจากจารึกโบราณ


ภาคเหนือของไทยที่คนทั่วไปมักเรียก “ล้านนา”นั้น นับเป็นดินแดนอีกแห่งหนึ่งที่มีมนต์เสน่ห์ดึงดูดใจให้คนอยากไปเยือนอยู่เสมอ ทั้งนี้ เพราะวิถีชีวิตที่ปรากฎเป็นรูปธรรมอันโดดเด่นได้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ต่างไปจากภูมิภาคอื่นๆ จากหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ในอดีต “ล้านนา” เป็นอาณาจักรหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งทางภาคเหนือตอนบนก่อนที่จะมาหลอมรวมกับกรุงรัตนโกสินทร์เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งแม้จะผ่านช่วงพัฒนาการที่ยาวนานทั้งการเป็นอาณาจักรที่เป็นอิสระปกครองโดยราชวงศ์มังราย มีความเจริญรุ่งเรืองและเสื่อม จนต่อมาต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าและสยามนั้น อาณาจักรล้านนาก็ยังคงมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มชน ภายใต้ระบบความเชื่อแบบผสมผสานทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และการนับถือผี โดยสะท้อนให้เห็นจากมรดกวัฒนธรรม อาทิ ศาสนสถาน โบราณสถาน โบราณวัตถุ และเอกสารโบราณต่างๆ เช่น คัมภีร์ใบลาน พับสา สมุดไทย และจารึกล้านนาที่มีเป็นจำนวนมาก

จากจารึกล้านนาอันเป็นเอกสารโบราณนี้เองที่นางสาวธนพร แตงขาว นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ทำการวิจัยโดยทุนสนับสนุนของสวช.เรื่อง “การศึกษาวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวล้านนาจากจารึกล้านนา” โดยเป็นการศึกษาวิเคราะห์วิถีชีวิต สังคม ความเชื่อของชาวล้านนาในทุกชนชั้น จากข้อมูลในจารึกล้านนาที่มีการจารึก ตั้งแต่พ.ศ. ๑๘๒๒-๒๔๗๘ จำนวน ๑๘๖ หลัก ที่พบบริเวณ ใน ๘ จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่และแม่ฮ่องสอน เน้นในเรื่องวิถีชีวิตด้านกิจกรรมทางศาสนาของสังคมอาณาจักรอันได้แก่กษัตริย์ เจ้าเมือง และชาวบ้าน และสังคมพุทธจักรที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ การเป็นข้าวัดหรือข้าพระ (หมายถึงการถวายคนให้เป็นผู้ดูแลพระสงฆ์ รวมทั้งดูแลวัดและผลประโยชน์ของวัด เนื่องจากสมัยก่อนวัดในล้านนารุ่งเรืองมาก จึงต้องมีข้าวัดหรือข้าพระคอยดูแลและถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง) รวมถึงความเชื่อของชาวล้านนาที่ปรากฎในจารึกดังกล่าวข้างต้น ซึ่งในที่นี้ ทางกลุ่มประชาสัมพันธ์ สวช. กระทรวงวัฒนธรรมจะขอนำเฉพาะเรื่องความเชื่อของชาวล้านนามาเสนอ เพื่อให้เห็นถึงแนวคิดและความศรัทธาที่สืบเนื่องมาจากอดีตว่าเป็นเช่นไร จึงมีผลต่อการดำเนินชีวิตดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

จากการศึกษาวิเคราะห์จารึกข้างต้นพบว่า ชาวล้านนามีความเชื่อในคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นสำคัญ โดยมีความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ และความเชื่อทางโหราศาสตร์ผสมผสานอยู่ด้วย กล่าวคือ
๑.ความเชื่อในคำสอนของศาสนาพุทธ ได้แก่ ความเชื่อในกฎแห่งกรรม ชาวล้านนาเชื่อว่าการทำดีย่อมได้รับผลดีตอบแทน เช่น การทำบุญทำนุบำรุงพุทธศาสนา ก็จะทำให้ผู้ทำบุญพบแต่สิ่งที่ดีงาม คิดสิ่งใดก็สมปรารถนา เชื่อในเรื่องนิพพาน เชื่อว่าหากตนได้บรรลุนิพพานก็จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ดังนั้น จึงมุ่งทำบุญให้ตนเองหลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เชื่อว่าพุทธศาสนายุคพระสมณโคดมจะสิ้นสุดเมื่อมีอายุ ๕,๐๐๐ปี ชาวล้านนาจึงมุ่งทำบุญเพื่อต่ออายุพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันก็เชื่อว่าจะมียุคพระศรีอาริยเมตตไตรยต่อเนื่องจากนั้น จึงทำบุญเพื่อขอให้ตนได้ไปเกิดเป็นพระหรือพระอรหันต์ในยุคนั้น นอกจากนี้ชาวล้านนายังเชื่อและศรัทธาในเรื่องพระธาตุ เป็นอย่างมาก ดังปรากฎว่าสถานที่สำคัญๆทุกเมืองจะกล่าวถึงที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ และเชื่อว่าผู้ที่ได้สักการะพระธาตุอันเป็นกระดูกของพระพุทธเจ้าจะเกิดสิริมงคลแก่ตน ความเชื่อเรื่องเทวดาพุทธ ชาวล้านนาเชื่อว่าเทวดาที่ปรากฎในคำเทศนาของพระพุทธองค์ เช่น พระอินทร์ พระพรหม ท้าวจัตุโลกบาลเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณงามความดี และอยู่ในภพภูมิที่สูงกว่ามนุษย์ และจะคอยปกป้องคุ้มครองผู้ที่กระทำความดี จึงให้ความเคารพสักการะเทวดาเหล่านี้ด้วย ความเชื่อในเรื่องการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ชาวล้านนาเชื่อว่าผลบุญที่ทำจะสามารถอุทิศให้แก่บุคคลที่ล่วงลับไปแล้วได้ และยังสามารถอุทิศให้แก่บุคคลที่มีชีวิตอยู่ให้มีความสุข ความสมหวังได้ด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากคำอธิษฐานที่ปรากฎในจารึกที่ต่างๆ

๒.ความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ นอกจากจะนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ชาวล้านนายังเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ นับถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และวิญญาณต่างๆในธรรมชาติที่ช่วยปกป้องคุ้มครองให้ผู้คนในสังคมอยู่เย็นเป็นสุข ดังที่ปรากฎอยู่ในจารึก ๒ เรื่องคือ ความเชื่อในเรื่องเรือนยันต์ อันเป็นคาถาที่ขอให้เกิดความเป็นสิริมงคลในการทำกุศลกิจกรรม หรือเป็นคาถาขับไล่สิ่งชั่วร้าย มิให้เกิดขึ้น ความเชื่อเรื่องเสื้อบ้าน เสื้อเมืองและเสื้อวัด เสื้อบ้านจะหมายถึง วิญญาณที่คอยให้ความอนุเคราะห์แก่คนในหมู่บ้าน ส่วนเสื้อเมือง หมายถึง วิญญาณของเจ้าเมืององค์ก่อนๆหรือวีรบุรุษที่คอยให้ความคุ้มครองและอนุเคราะห์ดูแลคนทั้งเมือง และเสื้อวัด คือ วิญญาณที่คอยปกป้องดูแลวัด ซึ่งในปัจจุบันชาวล้านนาก็ยังมีความเชื่อในเรื่องนี้อยู่ ดังจะได้เห็นบางบ้านมีหิ้งบูชาบรรพบุรุษหรือหรือหิ้งผีปู่ย่า หรือในหมู่บ้านก็จะมีสถานที่ตั้งของเสื้อบ้านหรือผีหมู่บ้านอยู่ โดยทุกปีชาวบ้านจะมีการจัดของไปเซ่นไหว้ จากนั้นก็นำมาแจกจ่ายกันกิน

๓.ความเชื่อในเรื่องโหราศาสตร์ ในเรื่องฤกษ์งามยามดี ชาวล้านนาเมื่อจะประกอบการทำบุญทำกุศลซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ก็จะดูฤกษ์ยามที่เป็นมงคลควบคู่กันไปด้วย ซึ่งความเชื่อนี้จะปรากฎให้เห็นในวงดวงหรือดวงฤกษ์ที่จารึกในตอนบนสุด และจารึกที่เป็นการบอกปี เดือน วัน ดิถี นาทีฤกษ์ของการทำกิจกรรมนั้นๆ รวมถึงวงดวงชะตาของโบสถ์ วิหารหรือวัดด้วย อันแสดงให้เห็นว่าความเชื่อทางโหราศาสตร์สามารถผสมผสานกับความเชื่อทางพุทธศาสนาอย่างลงตัว

กล่าวโดยสรุปชาวล้านนามีความเชื่อในคำสอนของพุทศาสนาเป็นหลักสำคัญ และใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต อีกทั้งใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงส่งผลให้ชาวล้านนามุ่งเน้นที่จะประกอบการบุญการกุศล นอกจากนี้ก็ยังมีความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น เรือนยันต์ ที่เป็นเวทย์มนต์คาถาที่คอยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไป และยังมีความเคารพต่อเสื้อบ้าน เสื้อเมือง ซึ่งก็คือวิญญาณของบรรพบุรุษหรือวีรบุรุษ ที่เชื่อว่ายังคงอยู่และคอยคุ้มครองให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหลาน โดยจะมีพิธีกรรมที่แสดงออกถึงความเชื่อด้วยการเซ่นไหว้เป็นประจำทุกปี นอกเหนือจากนี้ชาวล้านนายังเชื่อเรื่องการดูฤกษ์งามยามดีอันเป็นเวลามงคลในการประกอบกุศลกรรมต่างๆด้วย

ความเชื่อของชาวล้านนาเหล่านี้ หลายคนอ่านแล้ว อาจคิดว่าก็ไม่ต่างอะไรกับคนปัจจุบันที่เชื่อทั้งในเรื่องพุทธศาสนา โหราศาสตร์ และสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่โดยความเป็นจริงแล้วความเชื่อของชาวล้านนาดังกล่าวเป็นความเชื่อสั่งสม ที่ผ่านการสั่งสอน และปลูกฝังจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาด้วยระยะเวลาอันยาวนาน จึงปรากฎเป็นหลักฐานให้เห็นเด่นชัดทั้งในโบราณสถาน โบราณวัตถุ และจารึกต่างๆตามที่กล่าวข้างต้น และเป็นความเชื่อที่มุ่งเน้นให้คนประกอบคุณงามความดีโดยมีจุดมุ่งหมายให้เกิดความสุข ความเจริญแก่ตน ครอบครัว ชุมชนและบ้านเมือง มิใช่สอนให้คนงมงาย เห็นแก่ตัว หรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวกเป็นที่ตั้งโดยใช้ศาสนาบังหน้า หรือชักจูงไปสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ดังที่เห็นในสมัยนี้ ที่บางแห่งยังมีความเชื่อทางไสยาศาสตร์อันถือเป็นมนต์ดำมาเกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ดี ในยุคโลกาภิวัตน์ที่โลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ความเชื่อบางอย่างก็ได้สูญหายไปกับกาลเวลาและข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ แต่ความเชื่อหลายอย่างก็ยังอยู่ เพื่อท้าทายให้พิสูจน์ถึงสัจจธรรมความเป็นจริงแห่งชีวิตที่คนทั้งหลายไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังเช่น เรื่อง “กฎแห่งกรรม”ของพระพุทธองค์ ที่หลายๆคนพูดว่า “ยุคนี้ เป็นยุคกรรมติดจรวด” เห็นผลทันตา ทันใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น