Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สะพานมอญ สี่กั๊กพระยาศรี บ้านมอญ คลองมอญ วัดมอญ (วัดประดิษฐาราม) มอญปากลัด (มอญพระประแดง) มอญสามโคก คลองโอ่งอ่าง นางเลิ้ง




มอญเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยอีกประเทศหนึ่งที่เคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาแต่อดีต และเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอื่นๆ คือ เมื่อมีเรื่องเดือดร้อน
โดยเฉพาะเมื่อถูกพม่า กดขี่ ข่มเหง ก็มักขอความช่วยเหลือจากไทย หรือไม่ก็พากันอพยพ เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในปัจจุบันจึงยังคงมีชื่อสถานที่หรือชื่อที่เกี่ยวกับชาวมอญอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมากได้แก่



สะพานมอญ เป็นสะพานข้ามคลองคูเมือง อยู่ด้านหลังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม บริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมอญกลุ่มหนึ่ง ชาวมอญกลุ่มนี้เป็นมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้อพยพหนีภัยสงครามครั้งเสียกรุง พ.ศ ๒๓๑๐ พร้อมๆกับชาวไทย ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ชาวมอญกลุ่มนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมฝั่งคลองคูเมืองเดิม ใกล้ป้อมวิชัยประสิทธิ์
ปัจจุบันแม้ร่องรอยส่วนใหญ่ของมอญกลุ่มนี้จะสูญสลายไปแล้วก็ตามแต่ที่ยังคงเหลืออยู่เป็นหลักฐานก็คือชื่อสะพานมอญ ซึ่งพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ซึ่งเป็นเชื้อสายพระยารามจัตุรงค์ หัวหน้าชาวมอญ เป็นผู้นำขอแรงชาวมอญที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นสร้างขึ้น ซึ่งก็ได้เรียกขานกันต่อมาว่า “สะพานมอญ”



สี่กั๊กพระยาศรี นอกจากชื่อสะพานมอญแล้ว ชื่อที่ยังคงเหลืออยู่เป็นหลักฐานบ่งบอกถึงเรื่องราวของชาวมอญกลุ่มนี้อีกชื่อหนึ่งก็คือชื่อสี่กั๊กพระยาศรี คำว่า กั๊ก เป็นภาษาจีน แปลว่า แยก ชื่อสี่แยกนี้เรียกตามชื่อ พระยาศรีหเทพ (ทองเพ็ง) ผู้นำชาวมอญ ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณสี่แยกนั้น ปัจจุบันแม้ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อสี่แยกนี้เป็นสี่แยกพระยาศรี แต่ประชาชนก็ยังคงนิยมเรียก “สี่กั๊กพระยาศรี”

คลองมอญ บ้านมอญ วัดมอญ (วัดประดิษฐาราม) ด้านฝั่งธนบุรีปัจจุบันยังปรากฎชื่อเกี่ยวกับชาวมอญอยุ่หลายแห่งชาวมอยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ฝั่งธนบุรีนี้เป็นกลุ่มชาวมอญซึ่งมีพระยาเจ่ง(ต้นสกุลคชเสนี)เป็นหัวหน้า พากันอพยพหนีพม่าเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มอญกลุ่มนี้ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองในการร่วมสู้รบกับพม่า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณปากคลองใต้บ้านขมิ้น คลองนี้จึงเรียก “คลองมอญ”และสถานที่ที่ชาวมอญกลุ่มนี้อาศัยอยู่หนาแน่น คือแนวคลองบางกอกใหญ่ใกล้กับสถาบันราชภัฏสมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน บริเวณนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “บ้านมอญ”และยังมีวัดที่ชาวมอญแถบนี้สร้าง เรียกสามัญว่า “วัดมอญหรือวัดรามัญ” ชื่อเป็นทางการคือ “วัดประดิษฐาราม”

มอญปากลัด (มอญพระประแดง)ในสมัยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านนภาลัย เมื่อครั้งโปรดให้สร้างเมืองหน้าด่านป้องกันข้าศึกทางทะเลขึ้นที่ลัดต้นโพธิ์ เมืองพระประเดง และโปรดพระราชทานนามเมืองใหม่นี้ว่า “เมืองเขื่อนขันธ์” ได้โปรดให้ย้ายชาวมอญกลุ่มที่อาศัยอยู่ฝั่งธนบุรีบางส่วนไปอยุ่ ณ เมืองสร้างใหม่นี้ หลักฐานเกี่ยวกับมอญกลุ่มนี้คือคำเรียก “มอญปากลัด”หรือ “มอญพระประแดง”

มอญสามโคก คลองโอ่งอ่าง นางเลิ้ง ในรัชสมัยเดียวกันนี้ ได้มีมอญอีกกลุ่มหนึ่งอพยพหนีพม่าจากเมืองเมาะตะมะเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร มอญกลุ่มนี้ได้เดินทางแยกย้ายเป็นหลายสายเข้ามาทางเมืองตากบ้าง เมืองอุทัยธานีบ้าง เมืองกาญจนบุรี ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านนภาลัยโปรดให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ เสด็จไปรับครัวมอญที่เมืองนนทบุรี และโปรด พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มอญกลุ่มนี้บางส่วนตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ณ ตำบลสามโคก แขวงเมืองปทุมธานี คนทั่วไปเรียกมอญกลุ่มนี้ว่า “มอญสามโคก”
ปัจจุบันแม้จะไม่ใคร่ปรากฎหลักฐานเกี่ยวมอญกลุ่มนี้ แต่ก็ยังมีชื่ออันเกิดจากอาชีพและผลิตผลของมอญสามโคก ได้แก่อิฐมอญ ตุ่มสามโคก และตุ่มอีเลิ้ง เป็นต้น
ผลิตผลเหล่านี้ยังก่อให้เกิดชื่อสถานที่ขึ้นอีกหลายแห่ง เช่นบริเวณปากคลองรอบกรุงด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นที่ที่ชาวมอญมักนำภาชนะเครื่องปั้นดินเผาของตนบรรทุกเรือมาจอดขายครั้งละนานๆ คนทั่วไปจึงเรียกคลองรอบกรุงตอนนี้ว่า “คลองโอ่งอ่าง”
และผลิตผลของชาวมอญ ณ ตำบลสามโคกอีกชนิดหนึ่งคือ ตุ่ม เรียกกันว่า “ตุ่มสามโคก”ตุ่มชนิดนี้มีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนตุ่มที่อื่น ชาวบ้านทั่วไปรู้จักกันดีจนใช้เป็นคำเปรียบเปรยถึงผู้หญิงที่มีรูปร่างอ้วน ว่ารูปร่างอ้วนเหมือนตุ่มสามโคก
ผลิตผลของชาวมอญกลุ่มนี้อีกชนิดหนึ่งที่ให้เกิดชื่อสถานที่คือ “ตุ่มอีเลิ้ง” ตุ่มอีเลิ้งเป็นผลิตผลของชาวมอญอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว เรือที่บรรทุกตุ่มอีเลิ้งนี้มักจะมาจอดขายบริเวณคลองผดุงกรุงเกษมตอนตัดกับคลองเปรมประชากร คนทั่วไปจึงมักเรียกบริเวณนี้ว่า “อีเลิ้ง” ต่อมาในสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้เปลี่ยนชื่อ อีเลิ้ง เป็น นางเลิ้ง เพื่อให้ดูสุภาพขึ้น แต่ก็หมดความหมายการเป็นชื่อตุ่มของชาวมอญกลุ่มนี้โดยสิ้นเชิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น