Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พระพิฆเณศวร์ : เทพผู้ประทานความสำเร็จ


พระพิฆเณศวร์ : เทพผู้ประทานความสำเร็จ


แม้ว่าอดีตที่ผ่านมา คนไทยจะรู้จักและเคารพนับถือเทพอยู่หลายองค์ เช่น เจ้าแม่กวนอิม พระแม่อุมา พระศิวะ พระพรหม และพระนารายณ์ เป็นต้น แต่ปีสองปีที่แล้ว เทพที่มาแรงแซงโค้ง เห็นทีจะไม่มีองค์ใดดังเกินท่านพ่อจตุคามรามเทพ เพราะความนิยมในตัวท่าน ก่อให้เกิดกระแส “จตุคามรามเทพฟีเวอร์” ขึ้นทั่วประเทศ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยต้องมีองค์ท่านอย่างน้อยรุ่นใดรุ่นหนึ่ง เพราะชื่อแต่ละรุ่นล้วนชวนให้สะสมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรุ่นโคตรเศรษฐี รุ่นเศรษฐีทวีทรัพย์ รุ่นมั่งมีศรีสุข ฯลฯ เรียกว่าแค่มีไว้ จะรวยจริงหรือไม่ ก็รู้สึกอุ่นใจขึ้นอักโข

แต่สำหรับปีชวดหรือปีหนูนี้ เทพที่กำลังเป็นที่นิยมและต้องหาไว้บูชาเป็นพิเศษคือพระพิฆเณศวร์ หลายคนคงสงสัยว่า ทำไม? เพราะอันที่จริง พระพิฆเณศวร์ท่านก็ดังแบบอภิมหาอมตะนิรันดร์กาลอยู่แล้ว คือเป็นเทพอันดับต้นๆที่คนทั่วไปให้ความเคารพบูชาเสมอมา แล้วทำไมปีนี้จึงต้องบูชาเป็นพิเศษ คำตอบก็เพราะ ท่านเป็นเทพที่มี “หนู”เป็นพาหนะผู้คนจึงเชื่อว่า ถ้าบูชาท่าน ก็อาจช่วยให้ “หนู” ซึ่งเป็นลูกน้องของท่านและเป็นสัญลักษณ์ของปี ๒๕๕๑ นี้ไม่เที่ยวอาละวาด ทำความเดือดร้อนมาสู่ตัวเขา และยังอาจนำโชคลาภวาสนามาให้อีกด้วย

ดังนั้น เพื่อให้เป็นความรู้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำตำนานและเรื่องราวเกี่ยวกับเทพองค์นี้มาเสนอให้ทราบดังนี้

พระพิฆเณศวร์ หรือบางแห่งก็เขียน พระพิฆเนศ หรือ พระคเณศ เป็นเทพองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู ซึ่งคนไทยรู้จักกันดี ด้วยเชื่อว่าท่านเป็นเทพแห่งศิลปะความรู้ และความสำเร็จทั้งมวล ถ้าใครบูชาท่าน ท่านก็จะช่วยขจัดปัดเป่าอุปสรรค ข้อขัดข้องต่างๆให้ รวมทั้งอำนวยความสำเร็จให้แก่กิจการทั้งหลายทั้งปวงด้วย คนจึงนิยมกราบไหว้ท่านก่อนที่จะกระทำการใดๆ

สำหรับรูปกายของท่าน หลายๆคนคงจะคุ้นกันดี เพราะท่านจะมีหุ่นคล้ายๆกับพระสังกัจจายย์บ้านเรา คือทรงตุ้ยนุ้ย อ้วนพุงพลุ้ย และแทนที่จะมีหัวเป็นคน ท่านกลับมีเศียร(หัว)เป็นช้าง มีกร(มือ) ๔บ้าง ๖บ้าง ๘บ้าง สุดแล้วแต่จะเสด็จมาปางใด ซึ่งในเชิงปรัชญาเขาบอกว่า ร่างกายแต่ละส่วนของท่านล้วนมีความหมายในทางมงคลทั้งสิ้น นั่นคือ พระเศียร ที่เป็นหัวช้าง จะเป็นเศียรที่ใหญ่ จึงหมายถึง สมองที่เต็มไปด้วยปัญญาความรู้ พระกรรณ (หู) ที่กว้างใหญ่ หมายถึง การได้รับฟังคำสวดจากคัมภีร์หรือความรู้อื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งเบื้องต้นของการศึกษาเล่าเรียน หรือพูดง่ายๆว่าฟังมาก ก็รู้มาก ส่วน งา ที่มีเพียงข้างเดียวและอีกข้างหักนั้น มีนัยแสดงให้รู้ว่าคนเรามักต้องอยู่ระหว่างความดี-ความชั่วอยู่เสมอ จึงต้องรู้จักแยกแยะ ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ถึงความแตกต่างนั้น เช่นเดียวกับ งวงช้างที่อยู่ตรงกลาง ที่ใช้ชั่งน้ำหนักต่อการกระทำหรือค้นหาสิ่งที่ดีงามโดยใช้ปัญญาเลือกเฟ้นไม่ว่าจะเป็นความผิด-ความถูก ความดี-ความชั่ว และหนู พาหนะที่ท่านขี่มา หมายถึง ความปรารถนาของมนุษย์ ตรงนี้อาจจะเข้าใจยากสักหน่อย เพราะเป็นความคิดเชิงปรัชญา เลยต้องคิดให้ลึกซึ้งกว่าปกติ

โดยทั่วไป เราจะพบเห็นรูปพระพิฆเณศวร์ มี ๑ เศียร ๔ กร แต่จริงๆแล้วท่านมีหลายปางมาก บางประเทศอย่างอินเดียหรือเนปาล พระพิฆเณศวร์จะมีถึง ๕ เศียร ส่วนพระกรหรือมือ จะมีตั้งแต่ ๒ กรไปจนถึง ๑๐ กว่ากรขึ้นไป โดยแต่ละหัตถ์หรือมือของท่านก็จะถือสิ่งของแตกต่างกันไป มีทั้งที่เป็นขนม ผลไม้ อาวุธ และสิ่งมงคลต่างๆ เช่น ขนมโมทกะ (เป็นข้าวสุกผสมน้ำตาลปั้นเป็นลูก)ผลทับทิม ลูกหว้า งาหัก ขวาน ตรีศูล สังข์ แก้วจินดามณี เป็นต้น ส่วนท่าทางนั้น เดิมจะอยู่ในรูปยืนเสียเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาก็พัฒนาเป็นท่านั่ง ซึ่งจะมี ๔ ลักษณะด้วยกัน คือ ๑.ท่าเข่าข้างหนึ่งยกขึ้น อีกข้างงอพับบนอาสนะ(ที่นั่ง) ๒.ท่านั่งขาไขว้กัน ๓.ท่านั่งห้อยพระบาทข้างใดข้างหนึ่ง และอีกข้างพับอยู่บนอาสนะ ๔.ท่านั่งโดยขาทั้งสองข้างพับอยู่ด้านหน้า ฝ่าเท้าทั้งสองอยู่ชิดติดกัน

การที่มีจำนวนพระเศียร และสัญลักษณ์ที่ถือในมือ ตลอดจนลักษณะท่าทางที่ปรากฎเป็นปางที่ไม่เหมือนกันนั้น ก็เพราะความเชื่อที่ว่า แต่ละปางก็จะให้คุณที่แตกต่างกันออกไปนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น
-ปางพาลคเณศ จะเป็นรูปพระคเณศตอนเด็ก อยู่ในท่าคลานหรืออิริยาบถไร้เดียงสาแบบเด็ก ถ้าโตหน่อยก็จะเป็นรูปนั่งขัดสมาธิบนดอกบัว มี ๔ กร ถือขนมโมทกะ กล้วย รวงข้าว ซึ่งปางนี้หมายถึง ความมีสุขภาพดีของเด็กๆในครอบครัว จึงนิยมบูชาในบ้านที่มีเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน
-ปางนารทคเณศ เป็นปางที่อยู่ในท่ายืน มี ๔ กร ถือคัมภีร์ หม้อน้ำ ไม้เท้า และร่ม หมายถึงการเดินทางไกลไปศึกเล่าเรียน ปางนี้เขาว่าเหมาะกับคนที่มีอาชีพเป็นครูบาอาจารย์
-ปางมหาวีระคเณศ เป็นปางที่มีมือมากเป็นพิเศษอาจจะ ๑๒-๑๖ กรเลยทีเดียว และแต่ละพระหัตถ์ก็ถืออาวุธต่างๆกัน เช่น ตะบอง หอก ตรีศูล คันธนู ฯลฯ ปางนี้เป็นปางออกศึกเพื่อปราบศัตรู จึงเหมาะกับพวกทหาร ตำรวจ และข้าราชการ
-ปางสัมปทายะคเณศ เป็นปางที่เราพบเห็นกันบ่อย คือ มี ๔ กร ถืออาวุธอยู่สองหัตถ์บน เช่น ขวานหรือตรีศูล ที่ทรงใช้ทำลายสิ่งชั่วร้าย และคอยขับไล่อุปสรรค อีกพระหัตถ์ถือบ่วงบาศ หมายถึง บ่วงที่ทรงใช้ลากจูงให้คนทั้งหลายเดินตามรอยพระบาทของท่านหรือใช้ขจัดศัตรู หัตถ์ล่างจะถือขนมโมทกะ ท่านถือไว้เพื่อประทานเป็นรางวัลแก่ผู้ปฏิบัติตามรอยพระบาทของท่าน ส่วนหัตถ์ขวาล่างทำท่าประทานพร หมายถึง ทรงประทานความผาสุกและความสำเร็จให้แก่สาวกของท่าน หรือบางที่ก็ถืองาที่หัก

อ้อ! มีบางคนอาจสงสัยเกี่ยวกับงูที่พันรอบพุงท่านว่ามาจากไหน เขาก็มีเรื่องเล่าขำๆว่า วันหนึ่งหลังเสด็จกลับจากงานเลี้ยง กำลังขี่หนูเพลินๆ ก็ดันมีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยผ่านหน้า หนูตกใจเลยทำท่านหล่นลงมาท้องแตก ด้วยความเสียดายขนมต้มที่ทะลักออกมา (เพราะเสวยเข้าไปมาก) ท่านจึงเอาขนมยัดกลับไปในพุงใหม่ แล้วเอางูตัวแสบตัวนั้นมารัดพุงเสีย เจ้ากรรม ! สิ่งที่ท่านทำ พระจันทร์มาเห็นเข้า ก็ขำกลิ้ง ท่านคงโกรธและอาย เลยเอางาขว้างไปติดพระจันทร์จนแน่น ทำให้โลกมืดไปในทันใด ทวยเทพที่ทราบเรื่อง ก็เลยพากันไปอ้อนวอนขอโทษแทน ท่านใจอ่อนก็ยอมถอนเอางาออก แต่คงยังไม่หายเคือง จึงให้พระจันทร์ต้องรับโทษ ด้วยการต้องเว้าๆแหว่งๆไม่เต็มดวงทุกคืน ยกเว้นวันขึ้น ๑๕ ค่ำและแรม ๑ ค่ำ นี่ก็เป็นเหตุหนึ่งที่เราเห็นพระจันทร์เป็นเสี้ยวอยู่บนท้องฟ้าแทบทุกค่ำคืน

ได้รู้จักรูปลักษณ์ของท่านแล้ว คราวนี้มาถึงชาติกำเนิดกันบ้าง เขาว่ามีอยู่สองสามตำนาน ได้แก่
ตำนานแรก เล่าว่าวันหนึ่งพระนางปารวตีหรือพระแม่อุมา เมียพระศิวะทรงสรงน้ำ อาบไปอาบมา ถูกขี้ไคลไปด้วย ก็นึกขึ้นได้ว่าพระสหายเคยแนะนำให้หาบริวารเป็นของตนเองบ้าง จะได้ไม่ต้องพึ่งพาแต่บริวารของพระสวามี คิดได้ดังนั้นแล้ว พระนางก็เลยนำเอาเหงื่อไคลมาปั้นเป็นหนุ่มรูปงาม แล้วสั่งให้ไปเฝ้าประตู ห้ามใครเข้ามารบกวน ถ้าไม่ได้อนุญาต หนุ่มน้อยที่ว่าก็ทำหน้าที่นายทวารบาลอย่างดีเยี่ยม จนมาวันหนึ่งพระศิวะเกิดคิดถึงพระนางปารวตี จึงเสด็จมาหา เจ้าหนุ่มไม่รู้จักว่าทรงเป็นพระบิดา ก็เข้าขัดขวางมิให้พบพระมารดา พระศิวะจึงทรงกริ้ว และคงบวกกับลมเพชรหึงด้วย เพราะจู่ๆก็มีหนุ่มรูปงามมาเฝ้าอยู่หน้าห้องเมีย แถมห้ามมิให้เข้าหาอีก ก็เลยพุ่งตรีศูลตัดเศียรนายทวารบาลหนุ่มจนสิ้นชีพ พอความทราบถึงพระนางปารวตีก็ทรงโกรธพระสวามียิ่ง (ฐานฆ่าบริวารที่พระนางอุตส่าห์ปั้นมากับมือ และถือได้ว่าเป็นลูกชายตาย) โดยไม่ถามไถ่ให้รู้เรื่อง จึงเกิดศึกใหญ่ระหว่างเทพและเทพีบนสวรรค์ ร้อนถึงพระฤษีนารอดอดรนทนไม่ไหว ต้องทำหน้าที่เป็นทูตเจรจาหย่าศึก พระนางก็ยินยอม แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องชุบชีวิตลูกของพระนางให้ฟื้นคืนมา พระศิวะจึงต้องระดมเทวดาทั้งหลายให้ไปหาศีรษะของสิ่งมีชีวิตสิ่งแรกที่พบมาต่อให้โอรสพระนาง ปรากฏว่าได้หัวช้างงาเดียวมา จึงต่อให้พระคเณศฟื้นขึ้นมา และเมื่อคืนชีวิตแล้ว พระคเณศได้ทราบว่าพระศิวะคือพระบิดาก็ตรงเข้าไปขออภัยโทษ เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พระศิวะพอพระทัย จึงประสาทพรให้พระคเณศมีอำนาจเหนือเทวดาทั้งปวง ท่านจึงได้ชื่อว่าพระคเณศ หรือคณปติที่หมายถึงผู้เป็นใหญ่ในคณะเทพ

ส่วนตำนานที่สอง เล่าว่าครั้งหนึ่งพระศิวะและพระแม่อุมาได้เสด็จไปเที่ยวภูเขาหิมาลัย แล้วไปเจอช้างกำลังสมสู่กัน ก็บังเกิดความใคร่ พระศิวะก็แปลงเป็นช้างพลาย ส่วนพระแม่แปลงเป็นช้างพังร่วมสโมสรกันจนมีลูกเป็นพระคเณศ

ตำนานที่สาม เล่าว่าพวกอสูรและรากษสได้ทำการบวงสรวงพระศิวะจนได้รับพรหลายประการ จึงเกิดความฮึกเหิมก่อความเดือดร้อนไปทั่ว ร้อนถึงพระอินทร์ต้องนำเทวดาทั้งหลายไปเฝ้าพระศิวะบ้าง ขอให้พระองค์ทรงสร้างเทพแห่งความขัดข้องขึ้น เพื่อขัดขวางมิให้พวกยักษ์บวงสรวงขอพรได้สำเร็จ พระศิวะจึงทรงแบ่งกายส่วนหนึ่งให้บังเกิดในครรภ์ของพระแม่อุมา ซึ่งออกมาเป็นบุรุษรูปงามนามวิฆเนศวรมีหน้าที่ขัดขวางเหล่าอสูร และคนชั่วมิให้ทำการบัดพลีขอพรจากพระศิวะ อีกทั้งให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกแก่เทวดาและคนดีที่จะทำการใดๆให้ไปสู่ความสำเร็จ ดังนั้น ชื่อ วิฆเนศวร ซึ่งเป็นอีกพระนามของพระคเณศ ที่หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในความติดขัด จึงมาจากตำนานนี้ คือ ทำให้คนชั่วทำการติดขัด แต่ส่งเสริมคนดีให้ประสบความสำเร็จในกิจการต่างๆ

สำหรับสองตำนานแรก จะเห็นกำเนิดพระคเณศที่บอกเหตุว่าทำไมจึงมีเศียรเป็นช้าง แต่ตำนานที่สามมิได้บอกไว้ ซึ่งไม่แน่ชัดว่าจะเป็นตำนานหลังนี้หรือไม่ ที่มีเรื่องเล่าต่อมาว่า เมื่อพระคเณศมีอายุพอจะทำพิธีโสกันต์ (โกนจุก)แล้ว พระศิวะก็ได้ให้เทวดาไปอัญเชิญพระนารายณ์หรือพระวิษณุที่บรรทมอยู่ ณ เกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนมมาร่วมพิธีด้วย ปรากฎว่าท่านกำลังหลับเพลินๆอยู่ พอถูกปลุกก็คงจะหงุดหงิด จึงพลั้งปากเปล่งวาจา ว่า “ไอ้ลูกหัวหาย กวนใจจริง” ด้วยวาจาสิทธิ์ เลยมีผลให้เศียรพระคเณศหลุดไปในทันใด พระศิวะจึงต้องมีเทวโองการให้เหล่าเทวดาไปหาหัวมนุษย์ที่เสียชีวิตมาต่อให้ แต่ปรากฏว่าวันนั้น กลับไม่มีใครตาย มีเพียงช้างที่นอนตายอยู่ทางทิศตะวันตกเท่านั้น เทวดาจึงต้องตัดหัวช้างมาต่อเศียรให้พระคเณศแทน ท่านเลยมีหัวเป็นช้างมาตั้งแต่บัดนั้น และอาจเพราะเหตุนี้ คนโบราณเขาถึงห้ามมิให้นอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก เพราะจะทำให้ประสบเหตุร้าย แต่บางแห่งก็ว่าเป็นทิศเหนือ นี่ก็สุดแต่ความเชื่อ

ส่วนสาเหตุที่พระคเณศมีเพียงงาเดียวนั้น เล่ากันว่า ถูกขวานของปรศุรามขว้างใส่ ซึ่งปรศุรามนี้ เป็นพราหมณ์ซึ่งเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระนารายณ์ และได้รับประทานขวานเพชรจากพระศิวะ ทำให้มีฤทธิ์เดชมาก ได้ใช้เทพศัตราวุธนี้ไปล้างแค้นแทนบิดามารดา รวมถึงไปปราบปรามเหล่ากษัตริย์ทั้งหลายจนสิ้นโลก วันหนึ่งปรศุรามเกิดระลึกถึงพระศิวะ จึงอยากไปเฝ้าด้วยความจงรักภักดี แต่เมื่อไปถึงเทพสถานชั้นใน ก็ถูกพระคเณศออกมาห้ามมิให้เข้าไป เนื่องจากพระศิวะมีเทวบัญชาห้ามผู้ใดเข้าเฝ้าเด็ดขาดในวันนั้น เพราะกำลังทรงพระสำราญกับพระแม่อุมาอยู่ ไม่อยากให้ใครรบกวน แต่เพราะปรศุรามคิดว่าตนเป็นคนโปรด ไม่ฟังเสียง จะเข้าเฝ้าให้ได้ จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น ปรศุรามโกรธจนลืมตัว เหวี่ยงขวานเพชรไปที่องค์พระคเณศ พระคเณศเห็นขวานถูกขว้างมาก็ตกใจและจำได้แม่นว่าเป็นขวานของพระศิวะเทพบิดา ก็เกิดความเคารพยำเกรง ไม่กล้าต่อสู้ด้วย เพราะกลัวว่าจะเป็นการหลู่พระเกียรติยศของมหาเทพ อีกทั้งเห็นว่าลูกไม่ควรบังอาจไปต่อต้านอาวุธของพ่อ แม้จะเสียชีวิตเพราะความกตัญญูก็ต้องทำ จึงก้มเศียรลงคารวะต่ออาวุธพระบิดา พร้อมหลับเนตรลง ยอมถวายชีวิตแต่โดยดี ก็ปรากฎว่าขวานที่ขว้างมากระทบกับงาเบื้องขวาของท่าน เสียงดังสนั่นหวั่นไหว และก่อนงาที่หักจะตกสู่โลก ท่านก็รีบรับไว้ ด้วยเกรงว่า หากงาของท่านตกสู่พื้นโลกจะเป็นอันตรายต่อโลก และเพราะเสียงดังเอะอะขนาดนั้น พระศิวะและพระแม่อุมาที่กำลังสำราญพระทัยก็เลยต้องเสด็จออกมาดู ครั้นพอทราบเรื่อง พระแม่อุมาก็กริ้วจัด สาปปรศุรามจนสิ้นฤทธิ์ ต่อมาพระวิษณุได้มาอ้อนวอนขอให้พระแม่อุมายกโทษให้ปรศุราม พระแม่จึงยอมและถอนคำสาปให้

อย่างไรก็ดี พระวิษณุก็ได้มีเทวประกาศิต แบ่งกำลังของปรศุรามมาให้พระคเณศครึ่งหนึ่ง เพื่อมิให้ปรศุรามมีกำลังมากเกินไป และใช้ไปในทางที่ไม่ควรอีก นอกจากให้กำลังแล้ว ท่านยังประกาศให้พระคเณศมีพระนามว่า เอกทนต์ คือ ผู้มีงาเดียว และว่านามนี้จะเป็นเครื่องประกาศคุณงามความดีที่ทรงเป็นลูกกตัญญูต่อบิดา รู้จักรักษาเกียรติบิดา และยังให้นามว่า พิฆเนศวร ซึ่งหมายถึงผู้ที่สามารถกำจัดอุปสรรคได้นานาประการ รวมทั้งให้นามว่า สิทธิบดี หมายถึง เจ้าแห่งความสำเร็จ แต่ที่สำคัญคือ ทรงให้พรแก่พระคเณศอีกว่า ในการประกอบพิธีกรรมทั้งปวง ท่านจงเป็นใหญ่เป็นประธาน ผู้กระทำพิธีกรรมใดๆ หากไม่เอ่ยนามท่าน ไม่สวดสรรเสริญท่านก่อน พิธีกรรมนั้นจะไร้ผล และล้มเลิกโดยสิ้นเชิง บุคคลใดสวดสดุดีท่านก่อนทำกิจกรรมใดๆ กิจกรรมของเขาจะลุล่วงเป็นผลสำเร็จโดยง่าย

และด้วยพรที่พระวิษณุหรือพระนารายณ์ประทานแก่พระคเณศนี้เอง ที่ทำให้ผู้คนทั้งหลายต่างพากันบูชาและกล่าวสดุดีองค์พระพิฆเณศวร์ก่อนเทพองค์อื่นเพื่อความสำเร็จแห่งตน และนอกจากพระนามข้างต้นแล้ว พระคเณศยังมีอีกหลายพระนามซึ่งล้วนเรียกตามลักษณะของพระองค์ทั้งสิ้น เช่น อาขุรถ หมายถึง ผู้ทรงหนูเป็นพาหนะ สัพโพทร หมายถึง ผู้มีท้องย้อย และ ลัมพกรรณ หมายถึง ผู้มีหูยาน เป็นต้น

นอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว พระคเณศยังได้ชื่อว่า เป็นเทพแห่งปัญญาด้วย โดยมีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งพระแม่อุมาได้นำมะม่วงผลหนึ่งมาถวายพระศิวะ โอรสทั้งสองคือ พระคเณศและพระขันธกุมาร ต่างอยากเสวยมะม่วงผลนี้บ้าง พระศิวะจึงได้ทดสอบดูว่าพระกุมารทั้งสองใครเก่งกว่ากัน โดยบอกว่าใครก็ตามที่เดินทางรอบโลกได้เจ็ดรอบ แล้วกลับมาถึงก่อนเป็นผู้ชนะ ขันธกุมารได้ฟังปั๊บไม่รอช้า ขี่นกยูงออกไปท่องโลกทันที ฝ่ายพระคเณศแทนที่จะทำตาม กลับเดินประทักษิณ (เดินเวียนขวา) รอบพระศิวะผู้เป็นบิดาเจ็ดรอบ แล้วกล่าวว่า “ข้าแต่พระบิดา พระองค์คือจักรวาล และจักรวาลคือพระองค์ พระองค์เป็นผู้สร้างโลก และทรงเป็นบิดาแห่งข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้ทำประทักษิณพระบิดาเจ็ดรอบ ถือว่าได้กุศลเท่ากับเดินทางรอบโลกเจ็ดรอบ” พระศิวะได้ยินคำตอบก็ชื่นชมในสติปัญญาของพระคเณศ จึงมอบผลมะม่วงให้พระองค์ทันที

ที่ว่ามาข้างต้นถือว่าเป็นเรื่องในตำนาน แต่ตามหลักวิชาการ เขาว่ากันว่า ลัทธิบูชาพระคเณศ นั้น น่าจะมาจากชนพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดียซึ่งเป็นลัทธิที่บูชาสัตว์ และพระคเณศอาจมีต้นกำเนิดมาจากการเป็นเทพเจ้าประจำเผ่าของคนที่อาศัยอยู่ในป่าเขาอันกว้างใหญ่ และต้องเผชิญกับฝูงช้างอันน่ากลัว จึงได้เกิดการเคารพในรูปช้างขึ้น เพื่อปกป้องคุ้มครองตน และได้พัฒนาต่อมาเป็นเทพชั้นสูง จนกลายมาเป็นเทพผู้ขจัดอุปสรรค ที่มีความเฉลียวฉลาด และยังได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าแห่งเทพที่มีเศียรเป็นสัตว์ทั้งหลายอีกด้วย และต่อมาก็ได้พัฒนาเรื่องราวจนกลายเป็นโอรสแห่งพระศิวะและพระแม่อุมาตามตำนานข้างต้น ส่วนหนูนั้น เขาว่าน่าจะเกิดจากการที่สมัยก่อนคนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ หนูที่ชอบทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารจึงเป็นอุปสรรคต่ออาชีพและเป็นศัตรูอันดับหนึ่ง ดังนั้น การนำหนูมาเป็นพาหนะของเทพเจ้าที่ตนนับถือ จึงเป็นการแสดงความมีอำนาจเหนือกว่า และมีนัยของการขจัดอุปสรรคไปในตัว

ทั้งหมดทั้งปวงที่ว่ามานี้ คงจะทำให้ทุกท่านได้รู้เรื่องราวขององค์พระพิฆเณศร์เพิ่มขึ้น และก่อนจบขอนำคาถาที่นิยมใช้บูชาพระองค์มาให้ท่านผู้สนใจได้ท่อง คือ “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” หมายถึง ข้าฯขอนอบน้อมแด่พระคเณศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น