Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เมืองถลางครั้งกรุงศรีอยุธยา

เมืองถลางครั้งกรุงศรีอยุธยา
ข้อมูลที่ข้าพเจ้าจะนำเสนอต่อไปนี้เป็นบทความที่ให้รายละเอียดความเป็นมาและการกำเนิดของเมืองถลาง ตลอดจนบุคคลสำคัญของเมืองถลางในช่วงแรกเริ่มของการกำเนิดเมืองถลาง ซึ่งเมืองถลลางนี้เป็นเมืองที่ก่อกำเนิดขึ้นในช่วงต้นรัชกาล พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ พ.ศ. ๒๒๗๗

เมืองถลางครั้งกรุงศรีอยุธยา : ปัญญา ศรีนาค : วารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 24 ฉบับที่ 9 กรกฏาคม 2546 : ลำดับที่ 285

ผู้สนใจประวัติศาสตร์โบราณคดีส่วนมากมักจินตนาการว่าเมืองเก่ามีชื่อเสียงในพงศาวดารมีซากถาวรวัตถุเหลือไว้เป็นประจักษ์พยาน เช่น กำแพง ป้อมค่าย ศาสนสถาน โบราณวัตถุ ทิ้งไว้ให้ผู้คนรุ่นหลังได้ศึกษา แต่เมืองถลางเหลือสิ่งเหล่านี้ไม่มาก อาจทำให้ผู้จินตนาการเสียความรู้สึก เพราะเมืองถลางไม่ได้โบราณดึกดำบรรพ์

เมืองถลางเกิดราว พ.ศ. ๒๒๗๗ อันเป็นต้นปีรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ยุคทองสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ชนชั้นปกครองก็ไม่ใช่คนท้องถิ่น เป็นขุนนางชนชั้นสูงของราชสำนัก บุตรหลานส่วนใหญ่ผูกพันกับส่วนกลางมากกว่า ส่วนบุตรหลานสืบสายเป็นเจ้าเมืองกันต่อเนื่องมักประสบเคราะห์กรรมจากปัญหาการเมืองทั้งภายในภายนอกทั้งสงครามกับพม่า ภาษีส่วยสาอากรที่ถูกสูบเข้าส่วนกลาง ไม่เหลือให้ชนชั้นปกครองเมืองถลางสร้างถาวรวัตถุเป็นหลักฐานและเป็นหน้าเป็นตา

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จประพาสเมืองนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ มีความตอนหนึ่งว่า
“…ที่เมืองถลางนั้นไม่มีสิ่งปรากฏให้เห็นว่าเคยเป็นเมืองใหญ่โตเพียงใด เพราะไม่มีกำแพงแรงเตยอะไรเลย ซึ่งไม่มีอะไรเหลือเป็นชิ้นเป็นอัน แต่บ้านคนยังมีแน่นหนา เดิมเคยมีพลเมืองถึงสองหมื่น กลาบัดนี้เหลืออยู่แปดพันและทราบว่าเป็นจีนเสียส่วนมาก…”

พ.ศ. ๒๔๕๓ เมืองถลางถูกยุบเป็นส่วนหนึ่งของเมืองภูเก็ตอันเป็นที่ตั้งของมณฑลเทศาภิบาลภูเก็ตอีกด้วย

ถลางไม่ได้เป็นคำในภาษาไทยมาแต่เดิม เป็นคำในภาษามาลายู เขียนตาม Bahasa Melayu ว่า talang อ่านว่า ทาลัง แปลว่าหมู่บ้านเล็ก ๆ, นายหน้า ซึ่งตรงตามหน้าที่ของเจ้าเมืองถลาง เพราะทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระองค์ในการค้าขายกับต่างประเทศอยู่ ณ ภูมิภาคนั้น และถลางคงเป็นชุมชนที่ไม่ใหญ่โตนัก

ถลางเป็นคำสามานยนาม เช่น ถลางบางคลี ถลางตะเคียน ถลางบ้านดอน ถลางบางโรง ฯลฯ แต่ถลางที่เป็นชื่อเมืองบนเกาะที่เคยเป็นแหลมของอาณาจักรอยุธยาเกิดขึ้นเมื่อปลายกรุงศรีอยุธยา ดังเรื่องราวต่อไปนี้
เมืองถลางครั้งกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๒๕๒ ในต้นรัชกาลมีการค้าขายช้าง ด้วยบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษซึ่งเวลานั้นครอบครองอินเดียบางส่วน แล้วรุกพื้นที่เพื่อขยายาอาณานิคมจึงถูกชาวพื้นเมืองต่อต้านรุนแรงจำเป็นต้องซื้อช้างเป็นยุทธปัจจัยในสงครามปราบปราม
การส่งออกช้าง พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขาบันทึกว่าทำให้เกิดพระราชทรัพย์มาก

เหตุที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงเลือกภูมิภาคฝั่งทะเลตะวันตกเป็นที่ส่งออกช้างมีปัจจัย เช่น พื้นที่ยังไม่มีความเป็นเมือง, อยู่ในร่องมรสุมจึงมีป่ามาก ช้างมีมากตามไปด้วย, ช้างมีคุณภาพตรงกับความต้องการของอังกฤษ ( ๑ ) ระยะทางใกล้เมืองมัทราสสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออก, เมืองมะริด ทวาย ท่าเรือเคยใช้อยู่เดิมกำลังจะมีปัญหากับพม่า, ปัญหาการเมืองภายในเพื่อหาตำแหน่งใหม่ให้ขุนนางที่สนับสนุนพระองค์ขึ้นครองราชย์ซึ่งคงหายาก เพราะไม่ได้ทำสงครามกลางเมืองแย่งชิงราชสมบัติ, เพื่อดุลกำลังกับเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งมีปัญหากันมาหลายรัชกาล และน่าจะเป็นเหตุที่สำคัญคือยุทธศาสตร์สะสมกำลังไว้ต่อต้านพวกบูฆิสที่พงศาวดารเรียกแขกมักกะสันซึ่งเวลานั้นเรืองอำนาจอยู่บนแหลมมลายู กรุงศรีอยุธยารู้ฤทธิ์เดชแขกพวกนี้ดี

ขุนนางที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการในราว พ.ศ. ๒๒๕๓ พงศาวดารเมืองถลางระบุว่าชื่อจอมเฒ่า จากคำบอกเล่าของกลุญาติเมืองถลางและหลักฐานสิ่งแวดล้อมประกอบ เชื่อว่าจอมเฒ่ามีอิสริยายศหรือบรรดาศักดิ์เป็นพระสุรินทราชาหรือพระยาสุริทราชา จางวางกรมคชบาลซ้าย ทั้งเป็นผู้ใกล้ชิดไว้วางพระทัย และอาจมีสายสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับชนชั้นปกครองบรรดาหัวเมืองมลายูโดยเฉพาะเมืองไทรบุรี
จอมเฒ่าตั้งค่าย ณ บ้านบางคลี ที่เคยปรากฏชื่ออยู่ในสัญญาค้าขายอยุธยากับฝรั่งเศสในปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ว่าถลางบางคลี คำว่าคลีมาจากภาษามลายู khali คาลี แปลว่าหยุดพัก, สงบนิ่ง เป็นที่หลบพายุหลบมรสุมและหาน้ำจืดบริโภคของนักเดินเรือนักเดินทางข้ามคาบสมุทรมาแต่โบราณ ( ซึ่งปัจจุบันอยู่ในตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา )

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระสวรรคต พ.ศ. ๒๒๗๕ เกิดสงครามกลางเมืองชิงราชสมบัติ พระราชโอรสคือเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศ กับพระอนุชาคือกรมพระราชวังบวรฯ พระอนุชาเป็นฝ่ายชนะขึ้นครองราชย์เรียกรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สงครามแย่งราชสมบัติครั้งนั้นรุนแรงมากขุนนางเก่าใรรัชกาลตายในที่รบที่เหลือถูกลงโทษประหารจำนวนมาก จอมเฒ่าขุนนางคนสนิทรัชกาลเก่าอยุ่ในข่ายถูกประหารแต่อาจเป็นเพราะน้องชายต่างมารดาคนหนึ่งเป็นคนโปรดของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ และคงมีความชอบในสงครามครั้งนั้นมากพอที่จะขอพระราชทานชีวิตพี่ชายได้

จอมเฒ่าคงถูกลงโทษแค่ถอดและให้พ้นตำแหน่ง การรอดพ้นโทษดูเหมือนต้องลงทุนอยู่มาก เพราะลูกสาวคนหนึ่งถูกยกให้เป็นเมียเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์แม่ทัพใหญ่สงครามแย่งราชสมบัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
อย่างไรก็ตามเชื่อว่า พ.ศ. ๒๒๗๖ น้องชายของจอมเฒ่าที่พงศาวดารเมืองถลางว่าชื่อจอมร้างเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตกแล้ว

จอมร้างมีภริยาชื่อตามพงศาวดารว่าหม่าเรี้ย คือมาเรียในสากล หรือมาเรียมของไทยมุสลิมภาคกลาง ซึ่งต่อไปจะขอใช้ชื่อว่าวันหม่าเรี้ย ตามธรรมเนียมของไทนบุรี วันมาจากวานิตาหรือวนิดาของไทย มีความหมายว่าหญิงหรือคุณหญิงอันเป็นคำเรียกอย่างลำลอง เพราะตามชาติกำเนิดเธอเป็นเจ้าหญิง ( puteri = ปุตเตอรี )
วันหม่าเรี้ยเป็นราชธิดาของสุลต่านตนกูอาหมัดตายุดินหมัดลำซะ ผู้ครองรัฐเคดาห์หรือไทรบุรี ลำดับที่ ๑๗ และเป็นพี่นางร่วมมารดา? กับสุลด่านตนกูมูฮัมหมัดยิหวาผู้ครองรัฐไทรบุรี ลำดับที่ ๑๘
จอมร้างผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตกจึงมีฐานะเป็นพี่เขยของสุลต่านรัฐไทรบุรี

จอมร้างกับหม่าเรี้ยภริยาอพยพผู้คนไปตั้งบ้านเรือนบนเกาะจังซีลังในราว พ.ศ. ๒๒๗๗ โดยตั้งฐานโรงเรือนชั่วคราวที่บ้านกาแนนซึ่งอยู่เหนือไปตามลำน้ำถลาง ปัจจุบันเรียกบ้านแหนนหรือแขนน ความหมายในภาษามลายูกาแนน ( kanan ) แปลว่าอาวุโสหรือขวา ซึ่งอาจเป้นชุมชนเก่าขนาดเล็กครั้งอยู่ภายใต้การดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช เพราะมีหลักฐานว่าเมืองนครศรีธรรมราชมีตำแหน่งข้าราชการระดับขุนตระเวนมาเก็บภาษีอำพัน รังนกและไข่มุก

จอมร้างเลือกดงตะเคียนสร้างบ้านแปลงเมือง คนทั่วไปเรียกถลางบ้านตะเคียน ศูนย์การปกครองที่อยู่บางคลีบนแผ่นดินใหญ่ก็เลื่อนลงไปทางใต้บนเกาะที่เคยเป็นแหลม จังซีลังที่เคยเป็นชื่อเรียกก็เปลี่ยนเป็นเกาะถลางตามชื่อเมือง
จอมเฒ่าพี่ชายก็อพยพลูกหลานบริวารตามน้องชายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ปลายน้ำ คนทั่วไปเรียกถลางบ้านดอน
จอมเฒ่า

พงศาวดารเมืองถลางพรรราถึงผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตกคนแรก ความตอนหนึ่งว่า
“…ขุนนางเมืองถลางนั้นจอมเฒ่าอยู่บ้านดอนจอมร้างอยู่บ้านตะเคียน จอมเฒ่าและจอมร้างเป็นลูกพ่อเดียวกันคนละมารดา ลูกหลานมรหุมอยู่บ้านดอนได้เป็นพระยาเจียดทอง…”
มรหุมเป็นภาษามลายู เรียกญาติผู้ใหญ่มีศักดิ์สูงซึ่งล่วงลับไปแล้ว และไม่มีในคำไทย ทั้งอาจเป็นเพราะจอมเฒ่าถูกถอดจึงไม่รู้จะหาคำเรียกอย่างไร และอาจเป็นได้เช่นกันว่ามีเชื้อสายไทรบุรี อยู่ด้วย ซึ่งต้องค้นคว้าต่อไป
ประโยคว่ามีลูกหลานเป็นพระยาเจียดทองตามผู้ให้การพงศาวดารฯ คือพระยาถลางทองพูนเป็นลูก เจ้าพระยาสุรินทราชา ( จัน ) เป็นหลาน เจ้าพระยาถลางเทียนก็เป็นชนชั้นหลานตัวนายเริกผู้ให้การพงศาสดารฯ เป็นอดีตพระยาถลางที่ถูกถอดก็เป็นหลานของจอมเฒ่า

ก่อนออกสำเร็จราชการหัวเมืองทะเลตะวันตก เชื่อว่าจอมเฒ่าได้เป็นเจ้ากรมคชบาลซ้ายแล้วและคงเป็นผู้สนับสนุนสำคัญ จึงเมื่อหลังสงครามชิงราชสมบัติมีรัชกาลใหม่อยู่ในข่ายถูกกำจัด จอมเฒ่าอยู่ในตระกูลคชบาลใกล้ชิดราชสำนัก
จอมเฒ่า ( ๒ ) เป็นคำเรียกบรรพบุรุษตามธรรมเนียมโบราณและอาจเพราะมีอายุยืนยาวกว่าใคร และน่าจะเป็นปัจจัยทำให้ลูกคือพระยาถลางทองพูนได้เป็นเจ้าเมืองถลาง รวมถึงหลานคือเจ้าพระยาสุรินทราชา ( จัน ) ครั้งยังเป็นเพียงนายฤทธิได้รับราชการที่นครศรีธรรมราช
ไม่มีหลักฐานรายละเอียดการค้าช้างในครั้งนั้น คงมีร-ายได้เป็นพระราชทรัพย์มากจนกรุงศรีอยุธยาถึงต้องส่งขุนนางขั้นเจ้ากรมวิศส ( ๓ ) ลงไปกำกับ ทั้งยังทำให้เกิดเมืองขนาดเล็กตามเส้นทางขนส่งคือเมืองกราภูงา เมืองคุรอด เมืองคูรัด เมืองพนมและเมืองคีรีรัฐนิคมในกาลต่อมา
สิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เกิดสงครามแย่งราชสมบัติระหว่างพระราชโอรสคือเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศกับพระอนุชาคือ กรมพระราชวังบวรฯ ขุนนางส่วนใหญ่สนับสนุนเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศ ยกเว้นพวกกรมท่าที่กรวมพระราชวังบวรฯ ทรงกำกับ เห็นจะเป็นเพราะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระมีราชกิจจานุวัตรหรืออาจพระทัยดีจึงมีผู้จงรักภักดีมาก แเม้สวรรคตแล้ว หลักฐานประวัติศาสตร์ขัดแย้งกับความเชื่อว่ากษัตริย์พระองค์นี้โปรดการทำบาปถึงกับเรียกรัชกาลว่าแผ่นดินทรงปลาทั้งที่รัชกาลอื่นฆ่าสัตว์ใหญ่น้อยเป็นว่าเล่น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาแสดงความไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจนโดยจดบันทึกไว้ท้ายรัชกาลว่า
“…พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาบังเกิดในปีมะแม ได้เสวยราชสมบัติอยู่ ๒๖ ปีเศษ พระชนมายุได้ ๕๔ ปีเศษ กระทำกาลกิริยา ผู้ใดมีเมตตาไม่ฆ่าสัตว์อายุยืน ไม่มีเมตตาฆ่าสัตว์อายุสั้น…”
ความจงรักภักดีของจอมเฒ่าต่อรัชกาลเก่าด้วยการสนับสนุนเจ้าฟ้าพระโอรสมีเหตุผลสมควร แต่ก็เป็นฝ่ายแพ้ปัจจัยจากการที่กรมพระราชวังบวรฯ ทรงกำกับกรมท่ามีพระราชทรัพย์จากการค้าต่างประเทศ การค้าที่เฟื่องฟูทำให้กรมท่าขวา-ซ้ายมีกำลังเป็นแขกจีนมาก จึงน่าเชื่อว่าการใช้กำลังในนครและพื้นที่ใกล้เคียงล้วน ๆ กำลังคนในกรมท่ามีเปรียบกว่ากำลังของกรมอื่น ๆ ที่มีอยู่ในเวลานั้น ทั้งยังเป้นกองกำลังทางเรือซึ่งมีโอกาสฝึกกับกองโจรสลัดที่เป็นสนามจริงตลอดเวลา
กรมพระยาราชวังบวรฯ เป็นฝ่ายชนะ เรียกรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ การกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามค่อนข้างรุนแรงแม้จะหนีไปบวชก็ยังถูกตามฆ่า จอมเฒ่าก็คงจะพบชะตากรรมเช่นเดียวกันถ้าไม่มีน้องชายซึ่งเป็นคนโปรดของผู้ชนะ การฆ่าฟันกันล้มตายจำนวนมากทำให้สกุลกลุ่มขุนนางเก่าแต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ต่อรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาบางสกุลขาดตอนการเข้ารับราชการตำแหน่งสำคัญ แต่ทำให้พ่อค้าจีนแขกในกรมท่าเติบโตและมีอิทธิพลมาก จนจอมเฒ่าซึ่งอยู่ในตระกูลผู้ดียกธิดาคนหนึ่งให้เป็นภริยา (ขุนนาง) เศรษฐีจีนคือเจ้าขรัวเงินพระสวามีในกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์พระพี่นางองค์น้อยในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นอกจากยกธิดาให้เศรษฐีย่านตำบลถนนตาล จอมเฒ่ายังยกธิดาอีกคนเป็นภริยาเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์แม่ทัพสงครามชิงราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีบุตรก็คือเจ้าฟ้าพระยาสุรินทราชา (จัน) ลูกหลานจอมเฒ่ามีอำนาจวาสนามากเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ไม่พบหลักฐานทั้งคำบอกเล่าของกุลญาติเมืองถลางว่าเกิด ถึงแก่กรรมในปีใด มีแต่เพียงคำบอกเล่าของกลุ่มผู้สืบสายโลหิตว่าเถ้ากระดูกของจอมเฒ่าผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝรั่งตะวันตกคนแรกถูกบรรจุไว้ในเจดีย์ที่คนท้องที่เรียกเจดีย์เจ้าวัด ณ วัดบ้านดอนอันมีชื่อทางการว่า วัดเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นวัดที่จอมเฒ่าสร้างตามประเพณีนิยมสร้างวัดของชาวกรุงศรีอยุธยา
จอมร้าง
ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตกคนที่ ๒ พงศาวดารเมืองถลางว่าเป้นน้องต่างมารดาของจอมเฒ่าผู้สำเร็จราชการคนแรก มีภริยาเป็นเจ้าหญิงม่ายราชวงศ์ไทรบุรี การที่พงศาวดารเรียกจอมร้าง เพราะร้างมาจากภาษามลายู รางฆี (ranggi) แปลว่าสง่างาม, องอาจ, เย่อหยิ่ง, จองหอง เป็นคนรูปงาม เป็นที่โปรดปรานของพระราชาและเมียรวย คุณสมบัติสามประการเพียงพอที่จะทำให้พลเมืองถลางเวลานั้นซึ่งเป็นชาวไทรบุรี เสียส่วนใหญ่มีความชื่นชมปนหมั่นไส้?
คำบอกเล่าของกุลญาติเมืองถลางยืนยันว่ามีอดีตมหาดเล็กผู้นี้รูปงาม เลยไม่รู้ว่าเป็นการชื่นชมหรือหมั่นไส้
พ.ศ. ๒๒๗๖ ปีที่จอมร้างออกไปสำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตก พวกบูฆิสหรือแขกมักกะสันมีอำนาจในรัฐสลังงอร์ และกำลังคุกคามไทรบุรี เพื่อนด้านเหนือที่สุลต่านผู้ครองรัฐเป็นน้องเมีย เชื่อว่าการออกไปสำเร็จราชการภูมิภาคแห่งนี้ไม่ใช่เพราะรูปงามหรือโชคช่วย แต่เป็นเพราะความเหมาะสมและความสามารถด้วยเพราะตำแหน่งในวังหน้าคือพระยาภักดัภูธร จางวางกรมรักษาพระองค์ซ้าย ถ้าไม่สามารถการรบคงไม่รอดจากสงครามกลางเมือง และดูเหมือนว่าจอมร้างทำได้ดีในระดับหนึ่ง การคุกคามไทรบุรี ของพวกบูฆิสด้วยการอ้างทวงหนี้ที่สุลต่านตนกูมูฮัมหมัดยิหวาค้างค่าจ้างทำสงครามชิงราชสมบัติไทรบุรี จนแล้วจนรอดบูฆิสซึ่งเสียแดงปะรานีหัวหน้าใหญ่คนหนึ่งไม่กล้าจะบุกไทรบุรี ของสุลต่านน้องเมียจอมร้าง
ความสามารถที่มีหลักฐานอีกประการคือการควบคุมผู้คนเพราะในเบื้องต้นพลเมืองภูมิภาคนี้ทั้งอยู่และอพยพ ( ๔ ) ตามวันหม่าเรี้ยมีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับชาวไทรบุรี แต่จอมร้างทำให้ผู้คนเหล่านี้ยอมรับการนำและชักจูงมาเป็นพลเมืองถลางที่บ้านตะเคียนได้โดยไม่ใช้กำลังดังที่กรุงศรีอยุธยาชอบกระทำ
ชุมชนถลางบ้านตะเคียนของจอมร้างและหม่าเรียนเป็นชุมชนของคนเลี้ยงช้าง เพราะอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินที่จะมีต้นไม้ใบหญ้า น้ำจืดไว้เลี้ยงช้างซึ่งเป็นสัตว์กินจุ บ้านตะเคียนอยู่บนเชิงเขาพระแทว ( ๕ ) มีคุณสมบัติเหมาะสม อีกทั้งไม่ห่างกับทำเลที่เป็นท่าเรือ ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของเกาะ
จอมร้างเป็นผู้สำเร็จราชการระยะไม่ยาวนานนัก คำบอกเล่าของกุลญาติเมืองถลางกับตำนานเมืองถลางระบุตรงกันเรื่องพระยาถลางภักดีภูธรเสียชีวิตในวัยหนุ่มหรือลูกยังเล็ก เพียงแต่สับสนตัวบุคคล มีพระยาถลางที่ก้าวมาจากตำแหน่งภักดีภูธรบริพารของวังหน้าสองคน คนแรกก็คือจอมร้าง อีกคนคือหม่อมศรีภักดีลูกเขยเป็นสามีคนแรกของท้าวเทพกษัตรี การสืบต่อตำแหน่งกันในครอบครัวเป็นปัญหาหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย
จอมร้างถึงแก่อนิจกรรมในราว พ.ศ. ๒๒๘๗ นอกจากสร้างเมืองถลางทิ้งไว้เป็นมรดก ยังมีถาวรวัตถุบางแห่งที่ควรกล่าวถึง คือ
วัดพระนางสร้าง
เชื่อว่าสร้างขึ้นพร้อมกับถลางบ้านตะเคียน สันนิษฐานว่าบนพื้นที่เคยเป็นศาสสถานของพวกนับถือฮินดูมาก่อนแต่ทิ้งร้าง อาศัยชั่วคราว หรือสถานีการค้าขนาดเล็ก หรือเพื่อการสำรวจเส้นทางข้ามคาบสมุทรเส้นใหม่ ๆ หรือค่ายทหารเพื่อท้าทายจักวรรดิที่ควบคุมช่องแคบมะละกา ทำเลที่ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกที่มีภูเขาสูงขวางทางแทนจะหันหน้าสู่ลำน้ำตามความนิยมของชาวกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งพื้นที่วัดเดิมเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหลักฐานว่ามีการตั้งถิ่นฐานชั่วระยะเวลาไม่นานของมนุษย์ชาติพันธุ์ต่าง ๆ แล้วอพยพทิ้งถิ่นหลายครั้ง บันทึกของตะวันตกฝรั่งโปรตุเกสก็ยังเคยตั้งถิ่นฐานก่อนจะอพยพทิ้งบุตรหลานไว้บนเกาะ
พระนางสร้าง มาจากภาษามลายูปนไทยของชาวถลางครั้งนั้นพานากะวานสร้าง พานากะวานเป็นภาษามลายู panakawan แปลว่าข้าราชบริพาร ( ในราชสำนัก ) สร้างเป้นภาาาไทย ชื่อวัดมีความหมายว่า ข้าราชบริพารเป็นคนสร้าง เป็นที่รู้กันว่าจอมร้างเป้นข้าหลวงเดิมในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครั้นต่อมาถูกกร่อนคำตามนิยมของคนภูมิภาคนี้เหลือเพียงวัดนาสร้าง แต่ไม่พบหลักฐานว่ามีชื่อเป็นทางการว่าวัดพระนางสร้างมาเมื่อไร เห็นจะสับสนไปกับตำนานพระนางเลือดขาวที่เล่าลือมาแต่โบราณกาลกับเรื่องพระนางเลือดขาว ( ๖ ) มเหสีของสุลต่านรัฐเล็ก ๆ บนเกาะลังกาวีซึ่งเป็นมุสลิมทั้งยังเกิดภายหลังเกือบร้อยปี กุลญาติเมืองถลางบางคนบางกลุ่มก็รู้ว่าไม่ต้อง แต่บางช่วงบางยุคอยู่ในฐานะลูกหลานผู้ต้องโทษฉกรรจ์ก็นิ่งเฉยเสีย แต่บางครั้งข้าราชการจากส่วนกลางก็ลุแก่อำนาจหาฟังความชาวบ้านและบางครั้งคนท้องถิ่นเองก็จินตนาการเลยเถิด ดังเช่น เรื่องการประชุมทัพสู้พม่าของท่านผู้หญิงจัน พ.ศ. ๒๓๒๘ บริวารชาวเมืองถลางมรดกจากหม่าเรี้ยมารดาเป็นมุสลิมส่วนใหญ่ ไม่ปรากฏว่ามุสลิมที่ใดประชุมกันในวัดพุทธเพื่อทำสงคราม แต่เชื่อว่ามีการประชุมกันจริง หากเป็นเรื่องอื่นและผู้เข้าประชุมก็ล้วนเป็นพุทธ เหตุที่ประชุมกันในวัดแห่งนี้อาจเป็นด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน เพราะเจดีย์ประธานในวัดบรรจุเถ้ากระดูก ( ๗ ) และเครื่องใช้ไม้สอยของจอมร้างผู้สร้างวัดและสร้างเมืองถลาง เจดีย์คงสร้างภายหลังอนิจกรรม ส่วนอุโบสถและพระประธานจอมเฒ่าผู้สร้างซึ่งตรงตามการประมาณอายุที่กรมศิลปากรทำไว้
ท่าเรือ
ชุมชนการค้าท่าเรือ ( เมอนิก ) และป่าคอก (ช้าง) ตอนสร้างถลางบ้านตะเคียนจอมร้างคงใช้ปากน้ำลำเมืองถลางเป็นท่าออกสู่ทะเล อยู่ฝั่งตะวันตก ระยะทางใกล้ถลางบ้านตะเคียนและใกล้เมืองมัทราสซึ่งเป้นเมืองท่าปลายทางมากที่สุด แต่ปากน้ำแห่งนี้หันหน้ารับมรสุมตะวันตก คลื่นทะเลพัดเอาทรายทับถมในแต่ละปีจนปากน้ำตื้นเขินยากต่อการเดินเรือขนาดใหญ่ ปัจจุบันคนท้องถิ่นเรียกในทอน ทอนมาจากโทฮอร์ ( tohor ) ภาษามลายู แปลว่าน้ำตื้น จึงต้องย้ายมาใช้ปากอ่าวทางตะวันออกค่อนไปทางใต้ ตัวท่าเรือมีแผ่นดินของตัวเกาะกำบังมรสุมตะวันตก ทิศตะวันออกมีแหลมเล็ก ๆ ชื่อแหลมยามูคอยกันคลื่นลมที่มาทางตะวันออก
ท่าเรือแห่งนี้มีความเหมาะสมมาก ใช้ต่อกันมายาวนานจนเกิดชุมชนค้าขายส่งออกนำเข้าขนาดใหญ่ว่าเมอเนียมา ( meniama ) แปลว่าค้าขาย ( ใหญ่ ) ปัจจุบันยังมีชื่อบ้านมาหนิกแต่ก็มีชื่อบ้านท่าเรือ อยู่เช่นกัน ผู้ปกครองเมืองถลางชั้นหลัง ๆ ย้ายศูนย์กลางเมืองไปอยู่ ณ บ้านท่าเรือ แต่ที่ที่จอมร้างปลูกจวนนั้นตกเป็นของรัฐเพราะพระยาภูเก็ต ( ลำดวน ) ผู้สืบสายโลหิตคนหนึ่งเป็นหนี้ภาษีทำเหมืองแร่ดีบุกจึงถูกรัฐบาลยึดปัจจุบันอยู่ในบริเวณพื้นที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกลางซึ่งรวมถึงซากบ้านพระยาวิชิตสงคราม ( ทัด ) บิดาของพระยาภูเก็ต ( ลำดวน )
จอมร้างได้สร้างคอกช้างอยู่บริเวณใกล้กันเพื่อฝึกช้างและรอการส่งออก ปัจจุบันคือบ้านป่าคลอก ซึ่งได้ชื่อมาจากความเชื่อว่าพม่าตีป้อมเมืองถลางที่ท่าเรือแตกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๓ จับเอาชาวถลางให้ไฟคลอก เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะยุคนั้นคนเป็นแรงงานมีค่า นิยมเกณฑ์เชลยไปใช้งาน ทั้งไม่เคยพบหลักฐานว่าพม่าเคยจับคนไทยไปเผา ชื่อชุมชนแห่งนี้ที่ถูกคือ ป่าคอก ( คอกเลี้ยงช้างของพระเจ้าแผ่นดินถึงจะเรียกว่าเพนียด )
รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นยุคทองของวรรณกรรม การกวีรุ่งเรื่อง เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศทรงนิพนธ์บทกวีจำนวนมากที่ไพเราะทั้งรสกวีและภาษา มีการแต่งตำราภาษาไทยซึ่งเป็นแบบอย่างภาษาไทยปัจจุบัน คำบอกเล่าของกุลญาติเมืองถลางว่าแม้จะไม่มีโรงเรียนสอนแต่ลูกหลานชายหญิงส่วนใหญ่อ่านออกเขียนได้ บางคนมีความสามารถทางโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ว่าสืบทอดจากบรรพบุรุษผู้สร้างเมืองถลางซึ่งมีความรู้ภาษาไทยมาก ( ๘ )
จอมร้าง เป็นเจ้าเมืองถลางและเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตกประมาณ ๑๐ ปี คาดคะเนจากจำนวนบุตรธิดากับหม่าเรี้ย ๕ คน เพราะถึงอนิจกรรมตอนอายุไม่มากบุตรธิดายังเล็ก ตำแหน่งเจ้าเมืองถลางจึงตกเป็นของพระยาถลางทองพูนลูกของจอมเฒ่า ศูนย์กลางเมืองถลางจึงเลื่อนไปอยู่ทางตะวันตก ณ ถลางบ้านดอนที่อยู่ปลายน้ำ
วันหม่าเรี้ย
ไทรบุรี หรือเคดาห์เป็นรัฐที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู ปลายแสงเทียนแห่งอำนาจของราชอาณาจักรอยุธยาเป็นหัวเมืองประเทศราชที่ต้องส่งดอกไม้เงินทองให้กรุงศรีอยุธยาในบางช่วงระยะเวลา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ในเรื่องพงศาวดารอันเป็นมูลเหตุแห่งจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ความตอนหนึ่งว่า
“…เมืองไทรบุรี เมืองปัตตานี เป็นเมืองขึ้นของไทยมาดึกดำบรรพ์…”
ดึกดำบรรพ์ดังพระนิพนธ์คือรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรและเพียงรัชกาลเดียว เพราะไทรบุรี รู้กิตติศัพท์เมื่อพระองค์ส่งขุนนางซึ่งเป็นทหารคนสนิทไปเป็นเจ้าเมืองมะริด ชาวไทรบุรี หวาดระแวงกษัตริย์อยุธยาพระองค์นี้ที่หัวเมืองมลายูให้สัญญาว่ารายาอาปี แปลว่าพระเพลิง
กษัตริย์อยุธยามักจะชอบอ้างว่าหัวเมืองทั้งหมดบนแหลมมลายูเป็นของตน โดยเฉพาะราชวงศ์สุพรรณภูมิที่สืบวงศ์จากกษัตริย์รัฐที่เอกสารจีนเรียกเสียน ซึ่งเคยร่วมอยู่ในอาณาจักรโบราณศรีวิชัยแต่มักถูกปฏิเสธจากผู้ปกครองรักฐเหล่านี้ เช่นเดียวกันกับรัฐไทรบุรี
ไทรบุรี ตามหลักฐานโบราณคดีเชื่อว่าเป็นบ้านเป็นเมืองก่อนใครในบรรดารัฐมลายูฝั่งตะวันตก ชาติพันธุ์ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวมลายูและสยามอพยพเข้าตั้งถื่นฐานตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ด้วยเป็นพื้นที่ราบเหมาะกับการเพาะปลูก ปากน้ำเหมาะกับการเป็นท่าเรือ มีเส้นทางบกที่สะดวกในการข้ามคาบสมุทรไปฝั่งตะวันออกที่เมืองปัตตานี เมื่อเริ่มมีการบันทึกประวัติศาสตร์พลเมืองได้ผสมกลมกลืนกันแล้ว และนับถือศาสนาแบบฮินดู-พุทธ เจ้าผู้ครองรัฐมีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างอินเดีย
การเดินทางค้าขาย แสวงบุญ ฯลฯ ระหว่างอินเดีย-จีน และแหล่งอารยธรรมอื่น ๆ ผ่านเอเชียอาคเนย์ทำให้เกิดรัฐเล็กรัฐน้อยจำนวนมาก รัฐเหล่านี้ขัดแย้งทำสงครามกันตลอด
ครั้นเมื่อเข้ายุคศรีวิชัย ซึ่งมีอายุระหว่าง พ.ศ. ๑๐๐๐ ถึง พ.ศ. ๑๗๐๐ รัฐเหล่านี้รวมกันหลวม ๆ ภายใต้การนำของกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร เมื่ออาณาจักรศรีวิชัยล่มสลายกลุ่มรัฐเหล่านี้ก็แตกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยอีกครั้ง
รัฐตอนบนผนึกแน่นเป็นอาณาจักรสยาม ( จีนเรียกเสียนแปลว่าเทพหรือเทวดา ) มีศูนย์กลางอยู่ริมทะเลอ่าวไทย ภาคกลางประเทศไทยปัจจุบัน บางช่วงบางเวลามีอำนาจควบคุมเมืองท่าบางเมืองบนเกาะสุมาตราริมทะเลช่องแคมมะละกาและเมืองท่าบางเมืองในหมู่เกาะปลายแหลมมลายู
บางรัฐตกอยู่ในอำนาจของกษัตริย์ราชวงศ์มัชปาหิต มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่หมู่เกาะชวากลาง บางกลุ่มก็เป็นอิสระเพราะอยู่ห่างจากอาณาจักรใหญ่ บางกลุ่มก็รวมกันอย่างเล็ก ๆ เช่น อัจเจห์กับไทรบุรี
ต่อมากลุ่มรัฐที่รวมกันเป็นอาณาจักรสยามถูกอาณาจักรละโว้ผนวกเกิดอาณาจักรอยุธยา
รัฐเล็กรัฐน้อยบนเกาะสุมาตราและปลายแหลมมลายูยกเว้นไทรบุรี ถูกกษัตริย์อยุธยาอ้างสิทธิการดูแลที่เป้นมรดกจากอาณาจักรสยาม ( และศรีวิชัย?? ) เรียกร้องดอกไม้เงินทอง
รัฐไทรบุรี ถูกบังคับให้ส่งดอกไม้เงินทองรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร ( แห่งอยุธยา ) ความสัมพันธ์ฐานะรัฐดอกไม้เงินทองเป็นอย่างไร้เสถียรภาพแปนผันตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความต้องการสินค้าจำเป็นคือข้าว เครื่องใช้ที่เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ทำเองไม่ได้ กำลังทหารเพื่อดุลกำลังกับรัฐเพื่อนบ้าน ตลอดจนความเข้มแข็งของรัฐบาลกรุงศรีอยุธยาในแต่ละช่วงเวลาด้วย และบ่อยครั้งที่ชนชั้นปกครองรัฐดอกไม้เงินทองเหล่านี้ไปมีส่วนร่วมการแย่งชิงอำนาจการเมือง ณ พระนครที่เป็นศูนย์กลางอำนาจอาณาจักร
เมื่ออำนาจอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอรัฐเหล่านี้ก็ตั้งตัวเป็นอิสระ แล้วหันมารบพุ่งกัน เป็นเช่นนี้ตลอด จนทยอยตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและฮอลันดา วัฏจักรนี้จึงสิ้นสุดลง
ไทรบุรี อยู่ใกล้มะละกาที่ประกาศตนเป็นอิสลามรัฐแรกในภูมิภาค แต่ไทรบุรี เป็นรัฐกลุ่มหลัง ๆ ที่รับอิสลามทั้งยังปรับให้เข้ากับประเพณีดั้งเดิมของตน ภาษาปากคนไทยเรียกพลเมืองรัฐเล็กรัฐน้อยปลายแหลมมลายุว่าแขก แต่เดิมนั้นคำแขกที่หมายถึงกลุ่มคนชาติพันธุ์มนุษย์ นัยคนโบราณของบรรพบุรุษคนไทยคือพวกที่ข้ามจากเกาะสุมาตราเท่านั้น โดยใช้คู่กับคำขอมซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ด้านตะวันออกของไทย เชื่อว่าแต่เดิมนั้นแขกหมายถึงกลุ่มคนมลายู ( ๙ ) ที่เข้ามาอยู่ในอำนาจอาณาจักร ดังที่กฎมณเฑียรบาลระบุ ไม่ได้รวมชาวชวา ชาวจาม ฯลฯ อยู่ในกลุ่มแขก ต่อเมื่อคนเหล่านี้รับอิสลาม แขกจึงมีความหมายครอบคลุมพวกอิสลามและรวมชาวอาหรับ ชาวเติร์ก ชาวเปอร์เซีย ฯลฯ
ประวัติศาสตร์มาเลเซียที่เขียนโดยชาวตะวันตกเชื่อว่ากลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยปลายแหลมมลายูมีอำนาจปกครองรัฐเล็ก ๆ เหล่านี้คือพวกนังกระเบา ( ๑๐ ) ดั้งเดิมอาศัยอยู่ที่ราบสูงชื่อมินังกระเบาบนเกาะสุมตราอพยพข้ามช่องแคบมะละกา ( ชาวมินังกระเบา ประวัติศาสตร์ไทยเรียกแขกแม่นางกระบาว ) ต่อมาชาติพันธุ์มลายูตามเกาะต่าง ๆ ก็อพยพตามไปอยู่ด้วยกระนั้นกลุ่มมินังกระเบายังคงเป็นใหญ่ ณ ปลายคาบสมุทร
ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ( พ.ศ. ๒๑๕๓–๒๑๗๑ ) มีกลุ่มชาติพันธุ์มลายูอีกกลุ่มทยอยอพยพขึ้นไปอยู่บนพื้นที่คาบสมุทรมลายู พวกนี้เดิมอยู่บนเกาะสุลาเวสี ( Sulawesi ) แผนที่ของชาวตะวันตกเรียกซีเลบีส ( Celebes ) ประวัติศาสตร์มาเลเซียเรียกพวกนี้ว่าพวกบูฆิส ( Bugis ) ประวัติศาสตร์ไทยเรียกแขกมักกะสันตามชื่อเมืองหลวงเก่าชื่อมากัสซาร์ ( Magassar ) ปัจจุบันอยู่จังหวัดอุจุงปันดัง บนเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย พวกนี้จะเข้าครอบครองที่ว่างเปล่าปลอดอำนาจอาณาจักรหรืออำนาจบางเบาหรือเจ้าของพื้นที่อ่อนแอ เช่น ที่เมืองสงขลาเก่าที่เจ้าของเดิมอ่อนแอและอาณาจักรอยุธยามีปัญหาการเมืองภายใน
บูฆิสเป็นพวกที่เจริญกว่าเกาะอื่น ๆ มีความสามารถในการทอผ้า ค้าขาย เดินเรือและการรบ ทั้งมีความทะเยอทะยานสูง ดังนั้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ความเป็นนักรบที่มีความสามารถสูงชาวบูฆิสก็มีอำนาจอยู่ในรัฐบนแหลมมลายู โดยเฉพาะรัฐสลังงอร์เพื่อบ้านด้านใต้ของไทนบุรี จึงถูกชาวมินังกระเบาซึ่งมีอำนาจเดิมต่อต้านรบพุ่งกันมาตลอด
ในราว พ.ศ. ๒๒๗๐ รัฐไทรบุรี ซึ่งรับอิสลามมา ๑๐๐ ปีเศษ ผู้ปกครองรัฐเรียกสุลต่าน มีนามว่า สุลต่านตนกูอาหมัดตายุดินหมัดลำซะ เจ้าผู้ครองรัฐไทรบุรี ลำดับที่ ๑๗ พิราลัย ในวลานั้นสุลต่านรัฐยะโฮร์ที่ประวัติศาสตร์มาเลเซียเรียกยาเกซิล ซึ่งถูกยกย่องให้เป็นหัวหน้าของรัฐชาวมินังกระเบาทั้งปวง สนับสนุนให้อนุชาของสุลต่านเก่าขึ้นเป็นสุลต่านองค์ใหม่ แต่โอรสคือตนกูมูฮัมหมัดยิหวาไม่ยอม เพราะกำลังของตนไม่พอจะสู้กำลังของเจ้าอาที่มีรายาเกซิลประมุขของมินังกระเบาสนับสนุน ตนกูมูฮัมหมัดยิหวาซึ่งอยู่ในวัยรุ่นก็หันไปหาหัวหน้าชาวบูฆิส ชื่อแดงปะรานี ซึ่งมีอำนาจทำนองคล้ายผู้สำเร็จราชการรัฐสลังงอร์เพื่อนบ้านทางใต้ของไทรบุรี โดยจ้างนักรบบูฆิสด้วยเงินจำนวนหนึ่ง
แม้นจะดูเหมือนว่าเป็นเพียงสงครามชิงราชสมบัติระหว่างอาหลานของรัฐเล็ก ๆ แต่เป็นสงครามที่ใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ของภูมิภาคปลายแหลมมลายู เพราะเป็นสงครามระหว่างเผ่าพันธุ์มินังกระเบาที่มีรายาแห่งยะโฮร์เป็นแม่ทัพ กับเผ่าพันธุ์บูฆิสซึ่งมีผู้สำเร็จราชการแห่งสลังงอร์เป็นแม่ทัพ ความรุนแรงของสงครามถึงขนาดแม่ทัพของทั้งสองฝ่ายตายในระหว่างสงคราม โดยแดงปะรานีตายในสนามรบ แต่ฝ่ายบูฆิสชนะ
ตนกูมูฮัมหมัดยิหวาขึ้นครองรัฐไทรบุรี ลำดับที่ ๑๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๓
สงครามครั้งนั้นทำกันอยู่หลายปีไม่ปรากฏว่ากรุงศรีอยุธยาเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยตามที่อ้างว่าเป็นรัฐในความดูแล อาจเพราะปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงพระประชวร การเมืองภายในที่มีเค้าความไม่ราบรื่น หรืออาจเข็ดเขี้ยวกับแขกมักกะสันมาแต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์คราวกบฎที่ป้อมเมืองบางเกาะ
สุลต่านตนกูมูฮัมหมัดยิหวาได้ราชสมบัติไทรบุรี สมใจ แต่กลายเป็นทุกขลาภ สงครามติดพันกันหลายปีเปลืองทั้งพระราชทรัพย์และเวลาทำมาหากินของพลเมือง ( อนิจจา ) สุลต่านหนุ่มไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างให้นักรบบูฆิสที่ทำให้พระองค์ได้ราชสมบัติ เจ้าหนี้รายนี้มีชื่อทางการรบและโหดร้าย ญาติมิตรที่เป็นมินังกระเบาก็เลิกคบหากันไปแล้ว เพราะความดื้ออยากได้ราชสมบัติของตนทำให้คนเหล่านี้ล้มตายไปจำนวนมากยากจะอภัยกัน
แต่ไม่ถึงกับสิ้นไร้ไม้ตอก สุลต่านหนุ่มมีพระพี่นางวัยไล่เลี่ยที่เป็นม่ายสงครามในครั้งนั้น เป็นม่ายทรงเครื่องใหญ่ด้วยมรดกจากสุลต่านบิดากับของเจ้าชายผู้สามี พระพี่นางของสุลต่าน ( พงศาวดารเมืองถลางที่ตีพิมพ์โดยองค์การค้าของคุรุสภาตลอดถึงที่อื่นว่าพระนามหม่าเสี้ย ซึ่งผิดอย่างแน่นอน หม่าเสี้ยไม่มีในขนบการตั้งชื่อของมุสลิม ที่ถูกคือหม่าเรี้ย ตามเรื่องของชาวถลาง มาเรียมของมุสลิมภาคกลางของไทย มาเรี้ยของชาวเคดาห์ มารีของชาวคริต์ พระมารดาของพระเยซู หรือนบีอิซาของอิสลาม )
สุลต่านตนกูมูฮัมหมัดยิหวาขอมรดกที่พระพี่นางได้รับจากพระบิดา พระพี่นางไม่ยอมให้ พงศาวดารเล่าถึงความครั้งนั้นว่า
“…เมียจอมร้างเป็นแขกเมืองไท หม่าเรี้ยลูกมะหุมเก่าแต่ก่อนผัวตายเป็นหม้ายอยู่ มะหุมน้องบากมาเอาเงินห้าพันเศษ หม่าเรี้ยขัดใจไม่อยู่เมืองไทร มาอยู่เมืองถลาง ได้กับจอมร้างเป็นผัว มีลูกชาย ๒ คน หญิง ๓ คน รวม ๕ คน…”
มะหุมที่พงศาวดารเมืองถลางระบุคือมรหุม เป็นคำเรียกบรรพบุรุษมีศักดิ์สูงที่ล่วงลับทำนองคล้ายคำ “ในโกศ” ของประเพณีไทย มะหุมเก่าแต่ก่อนคือมรหุมลิบง ครั้งยังมีพระชนม์ชีพคือสุลต่านตนกูอาหมัดตายุดินหมัดลำซะเจ้าผู้ครองรัฐไทรบุรี ลำดับที่ ๑๗ ส่วนมะหุมน้องก็คือสุลต่านตนกูมูฮัมหมัดยิหวา ผู้ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างนักรบบูฆิส
การรู้สึกขัดใจมาอยู่เมืองถลางคงมีรายละเอียดและขั้นตอน เพราะเป็นเรื่องใหญ่เป็นการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่เจ้าหญิงของรัฐดอกไม้เงินทองจะอยู่กินกับเจ้าเมืองที่มีความสำคัญเทียบเท่าเมืองเจ้าพระยามหานครในสังคมและการเมืองไทยเวลานั้น ( หรือปัจจุบันนี้ )
ยากจะเข้าใจสตรีที่เพิ่งจะอายุครบยี่สิบว่าการเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาในราว พ.ศ. ๒๒๗๓–๒๒๗๔ ทรงประสงค์ใด ขัดใจ ( กับ ) น้อง? ช่วยน้อง (และสกุลวงศ์กับบ้านเมืองของตน)?? ขอให้ผู้อ่านวินิจฉัยเอาเอง
เจ้าหญิงหม่าเรี้ย
ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกอย่างลำลองเพื่อความสะดวกในการเขียนว่าหม่าเรี้ย ตัดสินใจเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารผ่านผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตกในเวลานั้น คือจอมเฒ่าที่มีศูนย์การปกครอง ณ ถลางบางคลีและคงมีข้าราชบริพารที่จงรักภักดีและชาวอื่น ๆ ปลายแหลมมลายูที่ต้องการหนีสงครามกลางเมืองที่อาจเกิดขึ้นอีก
กรุงศรีอยุธยาเวลานั้น กรมพระราชวังบวรฯ ทรงว่าราชการกรมท่าซึ่งดูแลกำกับหัวเมืองปักษ์ใต้เป้นความดีความชอบที่ทูลถวายราชสมบัติให้พระเชษฐาโดยไม่ต้องทำสงครามกลางเมือง การคุกคามของพวกบูฆิสบนแหลมมลายูเป็นผลให้เกิดเมืองถลางบนเกาะจังซีลังมีน้ำหนักมากเพียงพอที่จะพระราชทานหม่าเรี้ยให้ข้าหลวงเดิมของพระองค์ซึ่งเป็นน้องชายต่างมารดาของผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตก เป็นวิเทโศบายเพื่อปกป้องดินแดนและอำนาจของราชอาณาจักรแม้จะเป็นมุมมองของคนยุคใหม่ แต่ก็นับถือในพระปรีชาชาญของพระมหากษัตริย์อยุธยารัชกาลนี้
ข้อสงสัยว่าหม่าเรี้ยขัดใจสุลต่านน้องชายตรงตามนัยที่พงศาวดารเมืองถลางระบุหรือไม่ ประการใด การเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารประโยชน์ตกอยู่กับสุลต่านน้องชายและชาวไทรบุรี เพราะการอ้างถึงพระราชทรัพย์ที่ติดไปกับพี่สาว และการตามไปเอาคืนที่กรุงศรีอยุธยาเป็นเรื่องซึ่งบูฆิสต้องคิดมากขณะที่ตัวเองเปิดศึกสองด้านกับพวกมินังกระเบาบนบกและพวกฮอลันดาในทะเล มั่วกันเป็นศึกสามเส้ากันที่ปลายแหลมมลายูในเวลานั้น บูฆิสในรัฐสลังงอร์จึงทำได้แค่ขู่และคุกคามด้านอื่นไม่กล้าจะบุกโจมตีไทรบุรี ในจนแล้วจนรอด
หากพิจารณาความสามารถของสมาชิกราชวงศ์ลงมาเป็นลำดับ จะเห็นว่ารัฐเล็ก ๆ แห่งนี้ประคับประคองตัวรักษาตระกูลรักษาแผ่นดินของตนอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน สมาชิกราชวงศ์รุ่นหลังหลายคนได้รับการยกย่อง ( โดยเฉพาะตนกูอัดดุลลาห์ ผู้นำการต่อสู้เพื่อเอกราชและเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งมาเลเซียยุคใหม่ ) ส่วนข้อโต้แย้งการขัดใจกันตามพงศาวดารฯ จริง เพราะยังหาหลักฐานไม่พบว่า หม่าเรี้ย ได้กลับไปไทรบุรี อีกหรือไม่ประการใด ทั้งลูกหลานในชั้นหลังก็ฟ้องร้องกล่าวโทษกัน แม้ในยามที่เมืองเกิดทุพภิกขภัยหลังสงครามพม่า พ.ศ. ๒๓๒๘ ขาดแคลนข้าว อดอยากไปทั่ว ท่านผู้หญิงจันลูกสาวก็ไม่ขอความช่วยเหลือซื้อข้าวจากไทรบุรี ทั้งที่สุลต่านอับดุลลาห์คือลูกผู้น้อง
อย่างไรก็ตามไทรบุรี และสุลต่านตนกูมูฮัมหมัดยิหวาก็รอดจากภัยพิบัติจากน้ำมือของพวกบูฆิสในครั้งนั้น
สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ คงพระราชทานหม่าเรี้ยให้เป็นภรรยาจอมร้างในราว พ.ศ. ๒๒๗๔ ไม่พบหลักฐานว่าเวลานั้นมีตำแหน่งใด หากรู้เพียงว่าก่อนออกเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตกเป็นพระหรือพระยาภักดีภูธรจางวางกรมรักษาพระองค์ซ้ายที่วังหน้า มีข้อสังเกตว่าตำรวจวังหน้า เป็นชาวไทรบุรี ในครั้งรัชกาลที่ ๓ ดังจดหมายหลวงอุดมสมบัติเขียนบันทึกไว้ ไม่พบหลักฐานว่าเป็นเพราะเหตุใด คำสแลงเรียกตำรวจว่า หมาต่า ก็เป็นคำเรียกตำรวจในภาษามลายู จากการสันนิษฐานว่าจอมร้างได้รับพระราชทานหม่าเรี้ยเป็นภริยาในราว พ.ศ. ๒๒๗๓–๒๒๗๔ พอคาดคะเนได้ว่า จัน ลูกคนแรกคงเกิดในราว พ.ศ. ๒๒๗๕ มุก ลูกสาวคนถัดมาคงเกิดในราว พ.ศ. ๒๒๗๗ ตรงกับความเชื่อของกุลญาติเมืองถลางบางคนว่าวีรสตรีทั้งสองเกิดในกรุง และเป็นชาววังหน้า
ต้นปี พ.ศ. ๒๒๗๕ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระสวรรคต เกิดสงครามชิงราชสมบัติ ( ๑๑ ) ระหว่างเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศ พระราชโอรส กับสมเด็จกรมพระยาวังบวรฯ พระอนุชา ขุนนางส่วนใหญ่ รัชกาลเก่าทรงแต่งตั้งหรือเติบโตในรัชกาลซึ่งยาวนาน ๒๓ ปี และมีพระทัยดี จึงอยู่ฝ่ายพระโอรส สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีเพียงข้าราชการที่สังกัดวังหน้ากับพวกกรมท่าที่ทรงกำกับมาตั้งแต่ต้นรัชกาลเก่า แต่เป็นด้วยกำลังของกรมท่าซึ่งเติบโตมาจากการค้าขายต่างประเทศเป็นปัจจัยที่สำคัญ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทรงชนะ แต่กรุงศรีอยุธยาก็ต้องเสียขุนนางใหญ่น้อยจำนวนมาก ขุนนางชั้นผู้น้อยโดยเฉพาะที่สังกัดวังหน้าได้รับบำเหน็จรางวัลได้ตำแหน่งสำคัญถ้วนหน้ารวมถึงจอมร้าง ( ๑๒ ) ที่ได้เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตกแทนจอมเฒ่าพี่ชาย
จอมร้างคงพาครอบครัวไปถลางบางคลีราวปลายปี พ.ศ. ๒๒๗๖ หรือต้นปี พ.ศ. ๒๒๗๗ เป็นช่วงที่ปลอดมรสุมและคงตัดสินใจข้ามช่องแคบปากพระในปี พ.ศ. ๒๒๗๗ นั้นเอง
หม่าเรี้ยมีบทบาทมากที่สุดกับการสร้างบ้านแปลนเมืองบนเกาะที่เคยเป็นแหลมมาก่อนในครั้งนั้น เพราะต้องใช้ทั้งเงินทองและกำลังคนซึ่งจอมร้างสามีไม่ค่อยจะมีแต่หม่าเรี้ยมีพร้อม ทรัพย์มีมาแต่ครั้งบิดาถึงแก่พิราลัยและเป็นหม้าย กำลังคนก็จากข้าราชบริพารที่ตามมาจากไทรบุรี ส่วนใหญ่ตกค้างอยู่บริเวณนี้ทั้งยังมีมลายูอื่นที่หนีภัยสงครามและพวกที่อยู่เก่าซึ่งมีสายสัมพันธุ์ทางสายโลหิตตลอดถึงภาษาพูด
หม่าเรี้ยจึงได้รับความเคารพเทิดทูนจากชาวเมืองถลางมาก มีตำนานมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับแม่หม่า ตามสำเนียงวัฒนธรรมการเรียกบรรพสตรีอยู่มากมาย จนหลายคนเชื่อว่าเป็นผู้สร้างวัดพระนางสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง เพราะพระนางเป็นตำแหน่งที่เรียกมเหสีของกษัตริย์ และคงบัญญัติใช้ในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งหม่าเรี้ยเป็นมุสลิม จึงมีคำถามว่าจอมร้างใช้ชีวิตร่วมกับหม่าเรี้ยอย่างสามีภรรยากันอย่างไร จากหลักฐานฝ่ายสามีมีการสร้างวัด ภรรยาก็สร้างมัสยิด เมื่อพิจารณาจากชื่อบุตรธิดาจะปรากฏข้อน่าสังเกตคือ
ลูกคนแรกเป็นผู้หญิงชื่อจัน ท่านผู้หญิงจัน, ท้าวเทพกระษัตรี แปลว่าชื่อจันมาตั้งแต้เดิม กุลญาติถลางคนบางคนว่าเคยมีชื่อตามขนบอิสลามว่าซาเลีย เใอตรวจสอบกันก็สับสนเพราะบ้างก็ว่าแม่ของหม่าเรี้ยต่างหากที่ชื่อซาเลีย
เรื่องชื่อบุคคลต้องเชื่อพงศาวดารเมืองถลาง เพราะแม่นยำทุกชื่อ หากเชื่อว่าท่านเติบโตในวังซึ่งล้วนแต่เป็นญาติฝ่ายบิดาเห็นจะเป็นอุปสรรคมากที่จะรับอิสลาม ยิ่งเห็นคำอวยจตุรพิธพร อายุ วรรณะ สุขะ พละ เชื่อว่าลูกสาวคนหัวปีนับถือศาสนาพุทธ
ลูกสาวคนที่สองชื่อมุก คือท้าวศรีสุนทร กุลญาติเมืองถลางกลุ่มเดียวกับที่เชื่อว่าจันมีชื่ออิสลามว่าซาเลีย บอกว่ามุกเคยมีชื่อตามขนบอิสลามว่าฟาติมา ซึ่งไม่มีเหตุผลสนับสนุนเพราะถ้าเชื่อว่าทั้งคู่เติบโตในวังเพื่อประกันความจงรักภักดีประสาลูกสาวเจ้าเมืองรัฐชายขอบ จึงเป็นไปไม่ได้ที่แยกกันนับถือศาสนา
ลูกคนที่สามเป็นชายชื่ออาด คือพระถลางอาด อาดคือ อดัมตามขนบการตั้งชื่อของอิสลาม เมื่อบิดาสิ้นชีวิต อาดอยู่ที่เมืองถลางกับแม่รับราชการจนเป็นปลัดเมืองที่พระพลสงคราม และเป็นเจ้าเมืองถลางระยะสั้น ๆ ก่อนถูกผู้ร้ายยิงตาย ลูกชายของหม่าเรี้ยคนนี้เป็นมุสลิมเหมือนกับแม่
ลูกคนที่สี่เป็นชายชื่อเรือง พงศาวดารไมได้กล่าวถึงสันนิษฐานว่าคงเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในวังตามบรรพบุรุษและคงเสียชีวิตในสงครามเสียกรุง หรทอเหตุอื่น คนนี้เป็นพุทธแน่เพราะกุลญาติเมืองถลางยังหาชื่อทางอิสลามไม่พบ
ลูกคนสุดท้องเป็นผู้หญิง พงศาวดารเมืองถลางว่าชื่อหมา ลูกสาวคนนี้เป็นมุสลิมตามวันหม่าเรี้ยมารดา เพราะหมาคือฟาติมาอย่างย่อของภาษาท้องถิ่นที่ชอบตวัดเสียงพยางค์ไปให้สูง เช่น รัตน์มักจะออกเสียงเป็นหรัด ภาษาไทยกลางก็มีอยู่ เช่น ประวัติ ซึ่งออกเสียงประวัด แต่กลายเป็นประหวัด ฯลฯ
หมายความว่าลูกห้าคนนับถือศาสนาตามพ่อสามตามแม่สอง เป็นไปตามกฎหมายบานแผนกว่าด้วยการแบ่งลูกเข้าสังกัดของพ่อแม่ที่ต่างกรม ทั้งหมดที่วิเคราะห์มาสรุปได้ว่าลูกของหม่าเรี้ย ๕ คน ๓ คน คือจัน มุกและเรือง สังกัดตามจอมร้างบิดาคือวังหน้าและนับถือศาสนาพุทธ ส่วนอีก ๒ คน คืออาดกับฟาติมา สังกัดเมืองถลางตามมารดาและนับถืออิสลาม
ไม่มีหลักฐานตำนานว่าชีวิตครอบครัวราบรื่นแค่ไหน แต่ทั้งคู่รักกันเพราะอยู่กัน ๑๐ ปี มีลูกด้วยกัน ๕ คน และถ้าจอมร้างไม่สิ้นชีพเสียก่อนคงจะมีลูกอีก?
ไม่ปรากฏหลักฐานว่าหม่าเรี้ยอายุยืนยาวเท่าใด สิ้นชีพเมื่อไรทั้ง ๆ ที่มีตำนานและเรื่องเล่าของกุลญาติเมืองถลางผู้สืบสายโลหิตมากมายหลายเรื่อง
จอมนายกองเมืองตะกั่วทุ่ง
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ โปรดเกล้าฯ จอมเฒ่าจางวางกรมคชบาลซ้าย ออกไปเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตกเพื่อจับช้างส่งขายบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษในราว พ.ศ. ๒๒๕๓ บริเวณนี้มีผู้คนเบาบาง กำลังคนกรมคชบาลซ้ายที่ติดต่อจอมเฒ่าจากกรุงศรีอยุธยาก็คงมีไม่มากพอ จำเป็นต้องให้หัวเมืองใหญ่คือนครศรีธรรมราชส่งกองทหารจำนวนหนึ่งไปคุ้มกัน โดยตั้งค่ายอยู่ที่ตะกั่วทุ่งชุมชนเล็ก ๆ ริมอ่าว ชาวชุมชนดั้งเดิมเชื้อสายมลายูประกอบอาชีพประมงเป็นหลักและเกษตรกรรมเล็ก ๆ ชาวชุมชนเรียกถิ่นที่อยู่ของตนว่ากั่วทุ่ง เป็นคำกร่อนจากภาษามลายูว่า กัวลาทุงกุ ( kualatungku ) แปลว่าปากน้ำที่มีช่องออกสู่ทะเลสามช่อง ปัจจุบันปากน้ำที่มีสามช่องอยู่ในตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา คำว่ากะไหลก็เป็นภาษามลายูเช่นกัน มาจาก kalai แปลว่ายืนพิง เพราะเป็นช่องน้ำที่มีเขาพิงกันซึ่งมีชื่อเสียงตั้งอยู่ ว่าเดิมนั้นเมืองตะกั่วทุ่งตั้งอยู่ที่ตำบลกะไหลก่อนที่จะมาตั้งอยู่ที่ตำบลกระโสมจนปัจจุบัน กระโสมเป็นภาษาไทยปนมลายู กระเป็นภาษาไทยของคนกลุ่มหนึ่ง แปลว่าปากน้ำ โสมมาจากโซมหรือซวม ภาษามลายู แปลว่าร้อน เพราะมีบ่อน้ำพุร้อน
หัวหน้ากองกำลังเรียกนายกองซึ่งเป็นตำแหน่งทางทหารครั้งโบราณ เช่น เรียกหัวหน้ากองกำลังที่พม่าตั้งใจควบคุมภายหลังกรุงแตกว่าสุกี้พระนายกอง จอมเป็นคำเรียกผู้มีอิสริยายศ
พงศาวดารเมืองถลางเรียกหัวหน้ากองกำลังหรือทหารในครั้งนั้นว่า จอมนายกองเมืองตะกั่วทุ่ง และระบุว่าเป็นชาวนครศรีธรรมราช นิวาสสถานเดิมที่บ้านใหญ่ลายสายซึ่งอยู่ทางด้านเหนือของเมืองนครศรีธรรมราช ปัจจุบันคือค่ายวชิราวุธกองทัพภาคที่ ๔ กุลญาติเมืองถลางว่าจอมนายกองตะกั่วทุ่งเมื่อกลับบ้านกลับเมืองได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แต่ไม่ยืนยันว่าเป็นคนเดียวกันกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชที่เคยเป็นเจ้าพระยาสุภาวดีมาก่อน แต่ยืนยันว่าบรรพบุรุษส่วนใหญ่สังกัดกรมสุภาวดีหรือประกอบอาชีพด้วยวิชากฎหมาย พิเคราะห์จากสิ่งแวดล้อมน่าจะใช่คนเดียวกัน และถ้าไม่ใช่คนเดียวกันก็คงเป็นพี่ชายหรือพี่เขย เพราะคนในสกุลนี้เป็นเจ้าเมืองมาอย่างน้อยสองชั่วคนก่อนที่จะเป็นเจ้าเมืองที่อดีตเจ้าพระยาสุภาวดี ทั้งยังต่อเนื่องกันในสายโลหิตหลายชั่วคน จนมีการปรับปรุงระบบการปกครองหัวเมืองในรัชกาลที่ ๕ ( ๑๓ )
ประวัติศาสตร์ที่บันทึกในส่วนกลางจะระบุว่าเมืองนครศรีธรรมราชปกครองโดยขุนนางที่ส่งไปจากราชสำนัก แต่เจ้าเมืองทั้งหมดก็สืบเนื่องอยู่ในตระกูลทั้งยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเอง คล้ายเจ้าประเทศราชมากกว่าเป็นเมืองเจ้าพระยามหานครดังที่ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาให้เป็น
พงศาวดารเมืองถลางระบุว่า จอมนายกองตะกั่วทุ่งมีภริยาคนหนึ่งชื่อชีบุญเกิด ชีเป็นสถานะหนึ่งของอุบาสิกาที่โกนศรีษะนุ่งห่มขาวซึ่งคงจะเป็นภายหลัง บุญเกิดคือชื่อจริง คำบอกเล่าของกุลญาติเมืองถลางในเรื่องประวัติของชีบุญเกิด ทั้งพิสดารและน่าสับสน เพราะสถานที่ ชื่อต่าง ๆ มีอยู่จริง แต่ไม่เคยมีบันทึกหรือคำบอกเล่าจากบุคคลหรือหน่วยงานทั้งที่น่าจะมี เพราะไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ
ตามคำบอกเล่าว่าชีบุญเกิดเป็นราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์หนึ่ง มีความผิดไม่ปรากฏเป็นเรื่องอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ถูกเนรเทศให้ไปอยู่ที่ภูมิภาคชายทะเลตะวัรตก เดินมาทางบกมาลงเรือที่ปากคลองมะรุ่ย บริเวณนั้นจึงมีชื่อว่า “ปากลาว” โดยสารเรือข้ามอ่าวพังงาขึ้นบกตั้งหลักปักฐานอยู่ริมสายน้ำเล็ก ๆ ปัจจุบันยังมีชื่อว่า “บ้านเชียงใหม่” อยู่ติดกับบ้านกะไหลที่จอมนายกองเมืองตะกั่วทุ่งตั้งค่ายทหาร
ชีบุญเกิดแม้จะเป็นเจ้าเชียงใหม่แต่มีเชื้อเม็งหรือมอญทำบุญแผ่กุศลให้บรรพบุรุษด้วยการหล่อรูปนกยูง ( ๑๔ ) บูชาพระรัตนตรัยไว้ตามวัดต่าง ๆ ปัจจุบันยังมีชื่อ “บ้านหล่อยูง” และ “วัดหล่อยูง” ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเชียงใหม่ อย่างไรก็ตามไม่เคยพบเห็นเรื่องอย่างนี้จากพงศาวดารหรือเอกสารใด ๆ
จอมนายกองตะกั่วทุ่งมีภริยาและบุตรธิดาหลายคนมีบุตรธิดากับภริยาชื่อบุญเกิด ๒ คน คนหัวปีเป็นหญิงชื่อคง เป็นภริยาพระยาประสิทธิสงคราม ได้เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตกถัดจากจอมร้าง มีบุตรหลานอย่างน้อยคนหนึ่งเป็นเจ้าเมืองตะกั่วป่า
บุตรคนที่ ๒ เป็นชาย พงศาวดารเมืองถลางระบุว่าชื่อหม่อมศรีภักดี ซึ่งเป็นสามีคนแรกของท้าวเทพกระษัตรี แม้ว่าพงศาวดารเมืองถลางจะพรรณนาถึงไม่มากนัก แต่หม่อมศรีภักดีผู้นี้มีบทบาทมากในประวัติศาสตร์ไทยตอนเสียกรุงครั้งที่ ๒
จอมนายกองเมืองตะกั่วทุ่ง กุลญาติเมืองถลางนับถือเป็นบรรพบุรุษเมืองถลางคนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนมาจากนครศรีธรรมราช
ถ้าจอมนายกองเมืองตะกั่วทุ่งคือเจ้าพระยานครศรีธรรมราชผู้พี่ ( หรือพ่อ ) จะถึงแก่อสัญจกรรมปลายรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศหรือต้นรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ แต่ถ้าเป็นคนเดียวกันกับอดีตเจ้าพระยาราชสุภาวดีหรือเจ้าพระยานครศรีธรรมราชคนสุดท้ายก็จะถึงแก่อสัญจกรรมในสงครามต่อต้านพม่า พ.ศ. ๒๓๐๘
หม่อมศรีภักดี
หม่อมศรีภักดีเป็นบุตรของจอมนายกองเมืองตะกั่วทุ่งกับภริยาชื่อบุญเกิด คำนำหน้าว่าหม่อมมาจากอิสริยายศของกรุงศรีอยุธยาหรือของเมืองนครศรีธรรมราช ยังหาหลักฐานไม่พบ
หม่อมศรีภักดีไม่ใช่ลูกชายคนโตหรือลูกที่เกิดจากภรรยาหลวงแต่มารดาคงมีศักดิ์สูงลูกชายคนโตหรือลูกเมียหลวงคงถวายตัวเป็นข้าหลวงในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศหรือเจ้าฟ้าองค์ที่มีสิทะในราชสมบัติ แต่หม่อมศรีภักดีถูกเจ้าพระยานครศรีธรรมราชคนที่เป็นปู่หรือเป็นลุงนำไปถวายให้เจ้าฟ้าเอกทัศซึ่งแทบจะไม่มีสิทธิในราชสมบัติ การถวายตัว ( ๑๕ ) ของลูกขุนนางยังหาหลักฐานไม่พบว่าเป็นประเพณีหรือถูกบังคับ
หม่อมศรีภักดีจึงเป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ โดยรับราชการอยู่ในวังหน้าแต่ครั้งกรมพระราชวังบวรเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ หรือรู้จักกันว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรอภิมหากวี จนได้ที่พระภักดีภูธรเจ้ากรมรักษาพระองค์ซ้ายในวังหน้า และคงแต่งงานกับจัน สาวชาววังหน้าด้วยกันจึงได้ตำแหน่งที่พ่อตาเคยเป็น
ครั้นบิดาได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคงขอตัวไปช่วยราชการที่เมืองนครศรีธรรมราชในราว พ.ศ. ๒๓๐๐ พระยาถลางทองพูนถึงแก่อนิจกรรม ซึ่งเป็นปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งอาจทรงพระประชวร เชื่อว่าเจ้าพระยานครศรีธรรมราชถือโอกาส? ส่งลูกชายที่เป็นลูกเขยและผู้สร้างเมืองถลางเป็นเจ้าเมืองถลาง เพราะมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาจะไม่ทรงกระทำเรื่องเช่นนี้ เพราะราโชบายสร้างเมืองถลางเพื่อดุลกำลังกับนครศรีธรรมราช การให้เจ้าเมืองทั้งสองเป็นพ่อลูกกันกรุงศรีอยุธยาไม่กระทำ มีเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชบางคนวาสนาบารมีมากพยายามจะทำแต่ไม่เคยสำเร็จ พงศาวดารเมืองถลางจึงมีบันทึกบ้างเรื่องพระภักดีภูธรเคยเป็นเจ้าเมืองถลาง แต่คงสถานการณ์พ่อลูกเป็นเจ้าเมืองฯ แบบนี้ได้ไม่นาน ในราว พ.ศ. ๒๓๐๒–๒๓๐๓ หรืออาจก่อนหน้าเล็กน้อยสมเด็จพระที่นั่งสริยาศอมรินทรทรงมีปัญหากับขุนนางผู้ใหญ่และเจ้านายซึ่งอาวุโสแต่ครั้งรัชกาลก่อน กลุ่มคนพวกนี้คงคิดกันจะถอดถอนพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทรทรงเรียกบรรดาข้าหลวงเดิมและผู้จงรักภักดักลับเข้ารับราชการในพระนครเพื่อดุลกำลังกับพวกที่คิดถอดถอนพระองค์ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชกับเจ้าเมืองถลางจึงถูกเรียกกลับเข้ากรุง ตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชไม่ตั้งใหม่ยังคงให้คนเดิมเป็นแต่ให้ปลัดเมืองอดีตหลวงนายสิทธิ ( หนู ) รักษาการแต่เจ้าเมืองถลางต้องการให้รับใช้ใกล้ชิดตลอด จึงทรงแต่งตั้งเจ้าพระยาพิไชยสุรินทรเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตกและเจ้าเมืองถลาง พงศาวดารเมืองถลางเรียกจอมสุรินทรบ้านลิพอน
ครั้นเจ้าพระยาอัครมหาเสนา เสนาบดีกลาโหมถึงแก่อสัญกรรมกลางสนามรบที่แม่น้ำเอกราช สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์จึงทรงตั้งให้หม่อมศรีภักดีภูธรเป็นเสนาบดีกลาโหมแทน ( ๑๖ ) พระยากลาโหมคนใหม่ได้นำทัพตั้งรับกับกองทัพพม่าในสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ หลายครั้งสงครามครั้งนั้นพงศาวดารฉบับต่าง ๆ บันทึกเรื่องต่าง ๆ ค่อนข้างสับสน แต่มีเรื่องที่ตรงกันว่าแม่ทัพนายกองที่อาสาสมัครหรืออาจเป็นด้วยพระเจ้าแผ่นดินทรงไว้วางพระทัยเป็นข้าราชการกรมพระตำรวจกับกลุ่มมหาดเล็กข้าหลวงเดิม
ข้อมูลที่น่าสนใจและน่าจะถูกต้องเป็นธรรมในสงครามครั้งนั้นคือ การจัดทัพของบรรดาขุนนางที่จงรักภักดีของคำให้การของขุนหลวงหาวัด เพราะสอดคล้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง ยุทธวิธี ธรรมเนียมประเพณีการจัดทัพ ดังการแต่งทัพออกต่อต้านพม่าแต่ละครั้งมีเหตุผลอธิบายได้ว่าทำไมแม่ทัพคนใดคนหนึ่งถึงมีนายทัพนายกองตามที่คำให้การของขุนหลวงหาวัดระบุ ดังจะยกตัวอย่างการแต่งทัพที่ออกไปตั้งรับกองทัพพม่าที่ท่ากระดานตามคำให้การของขุนหลวงหาวัดความว่า
“…แล้วจึงเกณฑ์ขุนนางและทหารมีชื่อขึ้นอีกคือ สนิท เสน่ห์ เล่ห์อาวุธ สุดจินดา ไชยขรรค์ พลพาย พลพัน อันทหารมีชื่อเจ็ดคนนี้เกณฑ์ให้เป็นนายทัพ มีทัพช้างและทัพม้าทหารโยธา ครบตัวกันทั้งสิ้นแล้ว จึงมีทัพลำเลียงเป็นอันมากแล้ว จึ่งเกณฑ์พระยากลาโหมเป็นแม่ทัพยกไปตั้งรับอยู่ทางท่ากระดาน…”
ผู้ที่เคยอ่านกฎหมายตราสามดวงจะทราบว่า นายทัพทั้งเจ็ดอยู่ในกรมมหาดเล็กด้วยกัน กำลังพลในกองทัพก็คือมหาดเล็ก เหตุที่ให้พระยากลาโหมเพราะเชื่อว่าก่อนจะรับตำแหน่งต่อจากเจ้าพระยากลาโหมคนที่ตายในสงครามแม่น้ำเอกราช ( ชาวบ้านเรียกกลาโหมคลองแกลบ ) พระยาภักดีภูธรคงว่ากรมมหาดเล็ก การเสียแม่ทัพในที่รบเชื่อว่ากำลังพลสังกัดกลาโหมคงกระจัดกระจายหายไปไม่เหลือให้พระยากลาโหมคนใหม่
กำลังพลในทัพของพระยากลาโหมนอกจากมีมหาดเล็กก็ยังมีบุตรหลานของแม่ทัพนายทัพที่อยู่วัยที่ต้องเรียนวิชาราชการทัพตามสบายของพรรพบุรุษธรรมเนียมปฏิบัติของลูกหลานขอนนางเวลานั้น บุตรหลานพระยากลาโหม ( หม่อมศรีภักดี ) ชื่อเทียนกับเจ้าพัดจึงรู้จักกับนายสุดจินดา ซึ่งมีชื่อเดิมว่าบุญมา ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
การเสียชีวิตของข้าหลวงเดิมผู้จงรักภักดีกับเจ้าเหนือหัวมีอยู่สองความเชื่อและใหลักฐานยืนยันทั้งสองความเชื่อ แต่จะสิ้นชีวิตตามหลักฐานใดก็ล้วนงดงามยิ่งสำหรับข้าราชบริพารที่จงรักภักดีปกป้องสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดินที่ชุบเลี้ยงและบ้านเมืองของตนจนลมหายใจสุดท้าย พงศาวดารเมืองถลางและชาวถลางที่ตั้งชื่อเรียกชนชั้นปกครองเป็นอย่างเที่ยงธรรม เหตุที่ชื่อ “ภักดีถูธร” ทั้งที่ทุกครั้งที่เปลี่ยนตำแหน่งจะมีชื่อใหม่และชื่อนี้ก็มีผู้ใช้หลายคน แต่ชาวเมืองถลางและผู้ให้การเป็นพงศาวดารเมืองถลางพร้อมใจกันที่ให้ชื่อนี้กับหม่อมศรีภักดี
เชิงอรรถ
๑. ช้างป่าริมชายทะเลตะวันตกไม่ตกใจกลัวเสียงปืนใหญ่ เพราะฤดูมรสุมคลื่นทะเลกระแทกฝั่งเสียงดังกว่าปืนใหญ่มาก ช้างที่ถูกนำไปใช้รบที่อินเดียไม่ต้องปรับตัวมาก เพราะภูมิอากาศใกล้เคียงกัน
๒. ชาวเมืองระนองเรียกพระยาสุจริตดำรงมหิศรภักดี ( คอซูเจียง ) เจ้าเมืองระนองคนแรกและเป็นต้นตระกูล ณ ระนอง ว่าเจ้าคุณเฒ่า จอมเป็นคำเรียกผู้มีอิสริยายศ จอมเฒ่าจึงเป็นคำเรียกบรรพบุรุษต้นตระกูลที่มีอิสริยายศแต่ไม่บอกว่าชั้นใด จากไหน มะหุมหรือมรหุม เป็นคำเรียกบรรพบุรุษที่มีศักดิ์ผู้ล่วงลับไปแล้ว ทำนอง “ในโกศ”
๓. คือพระยาประสิทธิสงคราม เป็นบรรพชนของผู้คนในภูมิภาคนี้คนหนึ่ง อำนาจของผู้สำเร็จราชการฯ หาได้เบ็ดเสร็จทีเดียว ทางกรุงยังส่งขุนนางจากส่วนกลางมาเป็นกรมการเมืองอีกสองคน แต่ไม่สู้จะมีบทบาทมากนัก พระยาประสิทธิสงคราม มาประจำอยู่ในภูมิภาคนี้หลังจากจอมเฒ่าเข้าไปบุกเบิกนานพอสมควร คงเกิดปัญหาพระราชทรัพย์รั่วไหล
๔. ก่อนที่จอมร้างจะอพยพไปสร้างบ้านแปลงเมืองบนเกาะจังซีลังมีชุมชนเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไปบนเกาะ ชาวชุมชนอาจพูดภาษาไทยปนมลายู หรือพูดไทยใช้ศัพท์บางตัวของมลายู เป็นเรื่องที่ต้องค้นคว้า แต่พวกนี้มีสายสัมพันธุ์กับชาวไทรบุรี มากกว่าชาวนครศรีธรรมราช เมื่อไทรบุรี รับอิสลามพวกนี้ก็รับตามเลยทีเดียวไม่ ครอบครัวมุสลิมบางครอบครัวเพิ่งรับอิสลามภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็มีให้เห็น
๕. ภูเขาพระแทว เป็นต้นน้ำคลองถลาง ( บางทีเขียนบางใหญ่ก็มี ) แทวเป็นภาษาถิ่น แปลว่าเทพหรือเทวดาหรือเทวา
๖. เหตุการณ์เรื่องพระนางเลือดขาวเกิดภายหลังการสร้างวัดพระนางสร้างนานหลายสิบปี ปัจจุบันผู้สืบสายโลหิตยังตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านกมลา มาจากคำกระ แปลว่าปากน้ำ มาลา ( mala ) แปลว่าผู้โชคร้าย กระมาลาเป็นกมลา คือปากน้ำผู้โชคร้าย
๗. มีบางตำนานว่าศพจอมร้างถูกลูกที่มีแม่เป็นมุสลิมแย่งไปทำพิธีอาจไม่ใช่ลูกเพราะยังเล็ก ถ้าเป็นจริงผู้ที่จะกระทำได้ก็มีเพียงหม่าเรี้ยภริยาและแย่งมาจากญาติพี่น้องที่เป็นชาวกรุงศรีอยุธยาซึ่งตอนนั้นจอมเฒ่าพี่ชายยังมีชีวิต ศพจอมร้างอาจทำทั้งพิธีพุทธและอิสลาม มีความเป็นไปได้มากเช่นกันว่าในเจดีย์ประธาร วัดพระนางสร้าง อาจจะมีเพียงเครื่องใช้ไม้สอยส่วนร่างถูกฝังไว้ ณ กุโบบ้านตะเคียนตามประเพณีอิสลาม?
๘. ผู้สืบสายโลหิตบางคนเป็นกวี เช่น พระองค์เจ้าหญิงอุบลในรัชกาลที่ ๑ ฯลฯ บางส่วนก็พยายามเป็นกวี กุลญาติเมืองถลางหลายสายเล่าว่าการเล่าเรียนหนังสือกันในครอบครัว แม้แต่ผู้หญิงก็รู้หนังสือ ดีดลูกคิดเป็นแม้จะไม่มีโรงเรียน
๙. แขก นอกจากความหมายว่าผู้มาเยือน ผู้คนที่ใกล้ชิดกับชาวมลายูว่าอาจหมายถึงบรรพบุรุษหรือผู้ชายที่แก่มาก เช่น ทวด ปู่ ตา ฯลฯ ภาษามลายูว่า กาแก๊ก ( kakek ) ทำนองเดียวกับเรียกคนจีนว่าเจ๊ก คืออาเจก พี่น้องผู้ชายของพ่อ
๑๐. มินังกระเบา ( menangkerbau ) ภาษามลายูแปลว่าผู้สำเร็จ (ปราบ) ควาย สันนิษฐานว่าเป็นชาวอุษาคเนย์กลุ่มแรก ๆ ที่สามารถฝึกควายปลักนำมาใช้งานได้อย่างจริงจัง แต่ชาวไทรบุรี ไม่ใคร่ยอมรับเพราะเชื่อว่าตัวเองมีเชื้อสายโรมัน ไทยเรียกแขกหรุ่ม
๑๑. พงศาวดารว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระมีพระราชประสงค์ให้เจ้าฟ้าอภัยพระราชโอรสองค์รองรับราชสมบัติ แต่กรมพระราชวังบวรฯ มีพระประสงค์ให้เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์พระโอรสเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ที่พระองค์ทรงขอมาเลี้ยงเป็นพระราชบุตรบุญธรรม คงจะตรึงกำลังกันอยู่ในพระนคร แม่ทัพนายกองไปไหนไม่ได้
๑๒. เป็นมหาดเล็กในกรมพระราชวังบวรฯ เวลานั้นทรงกำกับกรมท่าซึ่งควบคุมหัวเมืองปักษ์ใต้ ตั้นกรุงรัตนโกสินทร หัวเมืองปักษ์ใต้กลับไปอยู่กับกลาโหม แต่กรมพระราชวังบวรฯ ยังทรงกำกับ
๑๓. เจ้าพระยานครศรีธรรมราชผู้สืบสกุลคนสุดท้าย ชื่อหนูพร้อมประสบมรสุมทางการเมืองจากการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองหัวเมืองในครั้งนั้น
๑๔. นกยูง เป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานอื่นว่ามีชาวมอญเคยมาตั้งถิ่นฐาน แต่ชาวยวนหรือโยนกนั้นเคยมี แต่คนท้องถิ่นเข้าใจว่าเป็นญวนเวียดนาม แต่ญวนเวียดนามก้มีแต่จะอยู่ริมฝั่งทะเลอ่าวไทย
๑๕. ลูกเจ้าเมืองหัวเมืองปักษ์ใต้แทบทุกคนมีอดีตเป็นมหาดเล็ก
๑๖. แต่ละพงศาวดารมีชื่อของขุนนางคนสนิทของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลนี้แตกต่างกันไป เช่น เจ้าพระยารัตนาธิเบศ เจ้าพระยาพิชัย พระยาธิเบศปริยรรค์ พระยาพลเทพ ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น