Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อารยธรรมอียิปต์






อารยธรรมที่เก่าแก่และรุ่งเรืองมากแห่งหนึ่งของโลกคือ อาณาจักรอิยิปต์โบราณชาวอิยิปต์มีพัฒนาการทางวิชาการที่ก้าวหน้ามีการ สร้างสรรสิ่งก่อสร้างและศิลป โดยสถาปนิก จนเป็นที่เลื่องลืองานศิลปที่สำคัญได้แก่ การแกะสลักและงานสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ชาว อิยิปต์ได้พัฒนาศาสตร์ในสาขาต่างๆ ทั้งเรื่อง ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ การแพทย์ และงานสร้างสรรรูปวาดทั้งที่วาดบนฝาผนัง หรือ แผ่นพาไพรัส (papyrus) ผลงานที่จารึกบนแผ่นพาไพรัสมีชื่อเสียงเลื่องลือและเป็นที่บันทึกประวัติศาสตร์ได้ดี


1. แหล่งที่ตั้ง และสภาพแวดล้อมของแหล่งอารยธรรมอียิปต์

ชื่อแหล่งอารยธรรม
อารยธรรมลุ่มน้ำไนล์หรืออารยธรรมอียิปต์

สถานที่ตั้งในอดีต
บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำไนล์ ประเทศอียิปต์ อยู่บนสองฟากฝั่งแม่น้ำไนล์ มีพรมแดนธรรมชาติ ทิศเหนือคือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศตะวันออกคือทะเลแดง ทิศใต้คือประเทศนูเบียหรือซูดานในปัจจุบัน ส่วนทิศตะวันตกคือทะเลทรายซะฮาราอียิปต์โบราณประกอบด้วยบริเวณสองแห่งคืออียิปต์บน (Upper Egypt) และอียิปต์ล่าง (Lower Egypt)

สถานที่ตั้งในปัจจุบัน
บริเวณประเทศอียิปต์ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกาอียิปต์บน (Upper Egypt) อยู่บริเวณตอนบนของแม่น้ำไนล์ระหว่างเขื่อนอัสวันและกรุงไคโรในปัจจุบันและอียิปต์ล่าง (Lower Egypt) อยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ

ลักษณะภูมิประเทศของแหล่งอารยธรรม
บริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์เป็นบริเวณที่มีการไหลบ่าของแม่น้ำท่วมสองฝั่งในเดือนสิงหาคม ถึงตุลาคมเป็นประจำทุกปี เมื่อน้ำลดโคลนตมที่พัดพามาจะตกตะกอนเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำไนล์นี้ ทำให้ชาวอียิปต์โบราณรวมตัวกันอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำร่วมแรงร่วมใจกันสร้างระบบชลประทานเพื่อป้องกันน้ำท่วม มีการสร้างทำนบกั้นน้ำ ขุดคูน้ำไปยังพื้นที่ที่ห่างไกล เกิดการรวมตัวของบ้านเรือนและพัฒนาเป็นนครรัฐ จนในที่สุดมีการรวมตัวเป็นอาณาจักรใหญ่ 2 แห่ง คือ อียิปต์บน (Upper Egypt) อยู่บริเวณตอนบนของแม่น้ำไนล์ระหว่างเขื่อนอัสวันและกรุงไคโรในปัจจุบัน โดยแม่น้ำไนล์ไหลผ่านหุบเขา มีความยาวประมาณ 500 ไมล์ ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำไนล์ตอนนี้เป็นหน้าผาลาดกว้างไปจนสุดสายตา เต็มไปด้วยเนินเขาที่แห้งแล้ง มีเนินทรายสีแดงและสีเหลืองเป็นตอนๆ และอียิปต์ล่าง (Lower Egypt) ที่แม่น้ำไนล์แตกสาขาออกเป็นรูปพัดไหลลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน บริเวณนี้ชาวกรีกโบราณเรียกว่า เดลต้า เป็นบริเวณปลายสุดของลำน้ำมีความยาวประมาณ 200 ไมล์ และกว้างระหว่าง 6-22 ไมล์ อารยธรรมโบราณของอียิปต์ได้เจริญขึ้นในบริเวณแถบเดลต้านี้
นักประวัติศาสตร์กรีกท่านหนึ่งคือ เฮโรโดตัส (Herodotus:484-425 B.C.) กล่าวถึงอียิปต์ว่าเป็น a gift of the Nile เพราะถือว่าแม่น้ำไนล์นั้นคือหัวใจสำคัญที่หล่อเลี้ยงประเทศอียิปต์ เพราะตามปกติอียิปต์เป็นดินแดนกันดารฝน มีอากาศร้อนและแห้งแล้ง เพราะล้อมรอบด้วยทะเลทราย มีฝนตกเพียงเล็กน้อยในฤดูหนาวและตกเฉพาะบริเวณเดลต้า อียิปต์จึงได้อาศัยความชุ่มชื้นจากแม่น้ำไนล์ ได้รับการหล่อเลี้ยงจากแม่น้ำไนล์ซึ่งได้รับน้ำอันเกิดจากหิมะละลาย และฝนในฤดูร้อนจากภูเขาในอบิสสิเนีย น้ำจะไหลบ่าลงมาตามแม่น้ำ ในราวกลางเดือนสิงหาคมจนถึงตุลาคมทุกปี ทำให้สองฝั่งแม่น้ำไนล์จมอยู่ใต้น้ำเป็นบริเวณกว้าง เมื่อน้ำลดโคลนตมที่น้ำพัดพามาไว้บริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำ จะตกตะกอนเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ความอุดมสมบูรณ์ ลุ่มแม่น้ำไนล์ได้มาจากตะกอนโคลนตมอันอุดมด้วยปุ๋ยซึ่งน้ำที่ท่วมประจำปีนำมาทิ้งไว้ ฉะนั้น ถ้าขาดแม่น้ำไนล์เสียอียิปต์ก็จะกลายเป็นทะเลทรายที่ร้อนระอุด้วยเหตุที่แม่น้ำไนล์ให้ความอุดมสมบูรณ์นี้อารยธรรมของอียิปต์จึงเป็นอารยธรรมที่เกิดจากการเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังมีการร่วมแรงกันสร้างระบบชลประทานเพื่อป้องกันน้ำท่วม สร้างทำนบกั้นน้ำ ขุดคูน้ำไปยังดินแดนที่ห่างไกลออกไป


สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ทั้งหลายที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้กษัตริย์อียิปต์สามารถรวบรวมและปกครองดินแดนทั้งหมด ไว้ได้อย่างมั่นคงตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ปัจจัยดังกล่าวได้แก่

(1) การที่อิยิปต์ล้อมรอบด้วยทะเลทรายทั้งทางทิศตะวันตก และทิศตะวันออกตลอดจนการที่แม่น้ำไนล์มี แก่งโจน(Catarats) ตั้งแต่ปากน้ำจนสุดสายแม่น้ำซึ่งยาวประมาณ 700 ไมล์ ช่วยป้องกันการแทรกซึมของพวกลิเบียจากทะเลทรายทางทิศตะวันตก หรือพวกเอเซียทางทิศตะวันออกและพวกนูเบียจากทิศใต้ ทำให้เป็นการยากแก่ศัตรูภายนอกที่จะเข้ารุกราน มีทางเดียวเท่านั้นที่ศัตรูจะเข้ามารุกรานอียิปต์ได้คือเดลต้าที่เชื่อมทวีปอัฟริกากับเอเซียคือตรงบริเวณทะเลแดง แต่ก็ป้องกันได้ง่าย
2. แม่น้ำไนล์เปรียบเสมือนกระดูกสันหลัง และระบบประสาทในการรวมดินแดนเป็นรัฐที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม่น้ำไนล์เป็นแม่น้ำที่เรือแพล่องไปมาได้สะดวก โดยอาศัยการควบคุมการเดินเรือในแม่น้ำไนล์ ผู้ปกครองก็สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชน และการถ่ายเทของสินค้าได้โดยอัตโนมัติ และอาศัยแม่น้ำไนล์เป็นเส้นทางคมนาคม สำหรับการเดินเรือไปเก็บภาษีอากรจากประชาชนตลอดจนเป็นเส้นทางเดินทัพ นอกจากนี้การที่เขตอุดมสมบูรณ์จำกัดอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์เป็นแนวยาวตามสองฟากฝั่งทำให้ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่เฉพาะในบริเวณนี้ก็ยังเอื้อให้การปกครองประชาชนเป็นไปโดยง่าย
ความอุดมสมบูรณ์อย่างสม่ำเสมอที่อียิปต์ได้รับจากแม่น้ำไนล์ ด้วยเหตุนี้นักภูมิศาสตร์ จึงเรียกอียิปต์ว่า ดอกผลแห่งแม่น้ำไนล์ (Gift of the Nile) ประกอบกับสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นปราการป้องกันศัตรูจากภายนอกทำให้ชาวอียิปต์โบราณมีความรู้สึกที่มั่นคงปลอดภัย
3. การที่แม่น้ำไนล์ท่วมฝั่งทุกปี ทำให้ประชาชนที่เข้าอยู่บริเวณนี้ต้องพยายามหาทางที่จะเอาชนะธรรมชาติจึงเกิดความร่วมมือกันทำงาน เช่น มีการชลประทาน มีการขุดคูส่งน้ำ เมื่อมีคนมาอยู่มากก็ต้องมีรัฐบาลปกครองเพื่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุข นอกจากนี้ความอุดมสมบูรณ์ที่ได้รับจากแม่น้ำไนล์ก็ยังมีส่วนทำให้ชาวอียิปต์มีจิตใจที่จะคิดค้นและสร้างสมศิลปวัฒนธรรมและวรรรณคดีต่างๆ
2. ประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของอารยธรรมที่ศึกษา
อิทธิพลที่ส่งต่อมาสู่การก่อกำเนิดอารยธรรม
อิทธิพลที่ส่งผลต่อมาสู่การก่อกำเนิดอารยธรรม คือ ดินแดนนี้เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อราวหนึ่งหมื่นปีก่อน ทะเลทรายซาฮารายังเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยสัตว์ป่าและพืชพรรณนานาชนิด ในท้องทุ่งอุดมไปด้วยสัตว์ป่าอย่างช้างและแอนทีโลป มนุษย์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ในช่วงแรกดำรงชีวิตโดยการล่าสัตว์ และทำปศุสัตว์จวบจนกระทั่งเมื่อราวเจ็ดพันปีก่อนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้ซาฮารา ค่อยๆแห้งแล้ง และกลายเป็นทะเลทรายในท้ายที่สุดก็เหลือแต่เพียงพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำไนล์เท่านั้นที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่ และเนื่องจากทุกปีแม่น้ำไนล์จะพัดเอา ตะกอนหน้าดินมาถมฝั่ง ทำให้พื้นดินแห่งนี้มีความอุดม สมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ผู้คนเริ่มอพยพจากพื้นที่รอบนอกเข้ามาจับจองพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำและเริ่มมีการเพาะปลูกขึ้น เผ่าชนเหล่านี้มาอาศัย รวมกันตามริมฝั่งแม่น้ำไนล์และแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ เรียกว่าโนมส์
เผ่าพันธุ์ที่มีอำนาจเหนือดินแดนเผ่าพันธุ์ที่มีอำนาจเหนือดินแดนของอารยธรรมอียิปต์ คือ โนมส์ ในแต่ละโนมส์จะปกครองโดยกลุ่มนักบวชซึ่งพัฒนามาจากหมอผีในสมัยหินใหม่ ต่อมาความจำเป็นในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ทำให้ต้องมีการจัดระบบชลประทานขึ้น หัวหน้ากรรมกรผู้ควบคุมการ ชลประทานเหล่านี้ได้ถูกยกย่องให้เป็นหัวหน้านักรบของโนมส์ เมื่อขนาดของชุมชนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆก็มีการพัฒนาเป็นนครรัฐขนาดเล็กกระจัดกระจายตาม ริมฝั่งแม่น้ำดินแดนของแม่น้ำไนล์ถูกแบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์เป็น อียิปต์บนและอียิปต์ล่าง
ลำดับเหตุการณ์พัฒนาการของอารยธรรม
กำเนิดแห่งอาณาจักร

ความเป็นมาแต่แรกของอียิปต์โบราณนั้นไม่รู้จักกระจ่างนัก รู้แต่เพียงว่าดินแดนอียิปต์
โบราณถูกยึดครองโดยชาว ลิบยานทางตะวันตกเฉียงเหนือ เซมิติคทางตะวันออกเฉียงเหนือ และ
นิโกรทางใต้ ประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ
1. สมัยก่อนราชวงศ์ (The Predynastic Period)
2. สมัยราชวงศ์ (The Dynastic Period)
3. สมัยภายใต้การปกครองของผู้รุกราน (The Period of Invasion)

1. สมัยก่อนราชวงศ์
เป็นช่วงระยะเวลาประมาณ 4,500-3,110 B.C. ในสมัยนี้ชาติอียิปต์โบราณยังไม่มี แต่ชาวอียิปต์โบราณได้เข้าตั้งมั่นบริเวณลุ่มน้ำไนล์แล้ว มีการรวมตัวเป็นกลุ่ม มีหัวหน้าเป็นผู้นำด้านการปกครองและสังคม ขณะเดียวกันมักแย่งชิงดินแดนซึ่งกันและกัน ในที่สุดดินแดนทั้งสองฝั่งของลุ่มแม่น้ำไนล์ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
1. อียิปต์บน หรืออียิปต์ตอนใต้ (The Uppe Egypt or The Southern Egypt or The Narrow Valley) หมายถึงดินแดนอียิปต์ตอนใน บริเวณดังกล่าวเป็นป่าทึบและเกาะแก่งน้ำตก พื้นที่ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก ผู้คนอยู่บางเบา
2. อียิปต์ล่าง หรืออียิปต์ทางตอนเหนือ (The Lower Egypt of the Northen Egypt or The Nite Deits) หมายถึงดินแดนอียิปต์ตอนนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณดินแดนตอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์นั้นพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกผู้คนอยู่หนาแน่นความเจริญเท่าที่ปรากฎในช่วงนี้คือ ความเจริญทุกอย่างของมนุษย์ที่สามารถทำได้ในยุคหิน รวมถึงรู้จักการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์และการชลประทาน

2. สมัยราชวงศ์
เป็นช่วงระยะเวลาประมาณ 3100-940 B.C. ในสมัยนี้ชาติอียิปต์โบราณได้ก่อตั้งขึ้นและผู้นำชาวอียิปต์โบราณเป็นผู้ดำเนินการปกครองดินแดนอียิปต์เองเป็นส่วนใหญ่ สมัยราชวงศ์แบ่งออกเป็นสมัยย่อยได้ ดังนี้
2.1) สมัยต้นราชวงศ์ (The Protodynastic Period)
2.2) สมัยอาณาจักรเก่า (The Old Kingdom)
2.3) สมัยอาณาจักรกลาง (The Middle Kingdom)
2.4) สมัยอาณาจักรใหม่ หรือสมัยจักรวรรดิ (The New Kingdom or the Empire Age)
2.1 ) สมัยต้นราชวงศ์ (3110-2,665 B.C.)
อยู่ในช่วงราชวงศ์ที่ 1-2 เริ่มจากการแบ่งแยกดินแดน ในราว 3200ปีก่อนคริสตกาล ราชาแมงป่อง (Scorpion king) ผู้ครองนครธีส (This) อันตั้งอยู่บริเวณตอนกลางแห่งลุ่มน้ำไนล์ได้กรีฑาทัพ เข้ายึดครองนครรัฐต่างๆในอียิปต์บนและตั้งตนเป็นฟาโรห์แห่งอาณาจักรบน ราชาแมงป่องปรารถนาจะรวมอียิปต์เข้าด้วยกันแต่พระองค์สิ้นพระชนม์เสียก่อน โอรสของพระองค์(ข้อนี้นักประวัติศาสตร์ยังไม่แน่ใจนักแต่จากหลักฐานที่มีแสดงว่าทั้งสองพระองค์น่าจะเกี่ยวดองกัน)นามว่า นาเมอร์(Namer)ได้สานต่อนโยบายและกรีฑาทัพเข้าโจมตีอียิปต์ล่าง จนกระทั่งมาถึงสมัยของ ฟาโรห์เมเนส(Menese)อียิปต์โบราณสิ้นสุดลงโดยความสามารถของพระองค์ สามารถผนวกทั้งสองอาณาจักรเข้าด้วยกันได้สำเร็จในปี 3110 B.Cและ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นฟาโรห์(Pharaoh)พระองค์แรกของราชอาณาจักรอียิปต์โดยตั้งเมืองหลวงที่ เมมฟิส (Memphis) ในอียิปต์ล่าง ซึ่งอยู่ตอนกลางของลุ่มน้ำไนล์ ฟาโรห์เมเนสเป็นฟาโรห์องค์แรกแห่งราชวงศ์ที่หนึ่งของอียิปต์โบราณ
แม้จะรวมดินแดนเข้าเป็นผืนเดียวกันก่อตั้งเป็นชาติขึ้น แต่ชาวอียิปต์โบราณก็ยังนิยมเรียกชาติตนครั้งนั้นว่า Land of Two Lands หลักฐานประวัติศาสตร์ในสมัยนี้มีน้อยมาก
2.2) สมัยอาณาจักรเก่า (2225-2180 B.C.)
อยู่ในช่วงราชวงศ์ที่ 3-6 สมัยนี้บางครั้งถูกเรียกว่า สมัยปิรามิด (The Pyramid Age) เพราะเกิดการสร้างปิรามิดขึ้นเป็นครั้งแรก และมีปิรามิดเกิดขึ้นมากกว่า 20 แห่ง ปิรามิดแห่งแรกสร้างขึ้นในสมัยกษัตริย์โจเซอร์ ในราชวงศ์ที่ 3 ที่เมืองสควารา และเพราะมีวิทยาการใหม่ ศิลปกรรม และสถาปัตยธรรมเจริญมากในราชวงศ์ที่ 4 ประจวบกับกษัตริย์มีอำนาจในการปกครองเป็นผลให้เกิดปิรามิดใหญ่ที่สุดขึ้น ปิรามิดอันนี้เป็นของกษัตริย์คูฟุ (Khufu) อยู่ที่เมือง กีซา (Giza) สมัยอาณาจักรเก่าสิ้นสุดลง ในราชวงศ์ที่ 6 เพราะกษัตริย์ไร้ความสามารถในการปกครองและการรบ ความทะเยอทะยานแย่งชิงอำนาจของขุนนาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกขุนนางที่เรียกว่าโนมาร์ซ (Nomarch) เป็นผลให้เป็นเวลาร่วมสองศตวรรษที่อียิปต์โบราณต้องวุ่นวายเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นบ่อยครั้งและต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของพวกขุนนางช่วงดังกล่าวนี้เรียกว่า ช่วงขุนนางปกครองครั้งที่หนึ่ง
ช่วงขุนนางปกครองครั้งที่1 (The First Federal 2180-2052 B.C.)เป็นช่วงระหว่างปลายสมัยอาณาจักรกลาง ในช่วงนี้ขุนนางมีอำนาจตั้งราชวงศ์ที่ 7-11 ปกครองอียิปต์โบราณ กล่าวคือที่เมืองธีปส์ (Thebes) ในอียิปต์บน ได้เป็นศูนย์กลางการปกครองของราชวงศ์ที่ 7 และที่ 8 ต่อมาขุนนางที่เมืองเฮราเคบโอโปลิส (Herclepopolis) ในอียิปต์ล่างได้ตั้งราชวงศ์ที่ 9-10 ขึ้น ขณะที่อยู่ในราชวงศ์ที่ 10 (2100-2052 B.C.) ปรากฎว่าได้มีการจัดตั้งราชวงศ์ที่ 11 (2134-1999 B.C.) ขึ้นที่เมืองธีปส์ควบคู่กันขึ้นมา เป็นผลทำให้เกิดสงครามกลางเมืองเพื่อแย่งชิงอำนาจและดินแดนกัน
2.3) สมัยอาณาจักรกลาง (2052-1786 B.C.)
อยู่ในช่วงราชวงศ์ที่ 11 ตอนปลายกับราชวงศ์ที่ 12 เริ่มด้วยกษัตริย์เมนตูโฮเต็ปที่ 2 (Mentuhotep 2) กษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์ที่ 11 แห่งธีปส์ปราบปรามขุนนางได้และรวบรวมดินแดนอียิปต์โบราณเข้าด้วยกัน ทรงฟื้นฟูการค้าและสภาพแวดล้อม เวลาส่วนใหญ่ของสมัยอาณาจักรกลางอยู่ในช่วงราชวงศ์ที่ 12 กษัตริย์ที่สามารถคือ อเมเนมฮัสที่ 1 (Amenemhat) ทรงเก่งในการรบและทรงฟื้นฟูการค้ากับฟินิเซียน
2.4) สมัยอาณาจักรใหม่หรือสมัยจักรวรรดิ (1554-1090 B.C.)
อยู่ในช่วงราชวงศ์ที่ 18-20 มีธีปส์เป็นเมืองหลวง จักรวรรดิ์อียิปต์โบราณเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเพราะกษัตริย์เก่งในการรบ การปกครอง อียิปต์โบราณต้องทำสงครามยาวนานกับฮิตไตท์ พระให้การสนับสนุนกษัตริย์ อำนาจของขุนนางหมดไป ในสมัยนี้อียิปต์โบราณมีนโยบายรุกรานชุมชนใกล้เคียงมุ่งขยายอำนาจและการป้องกันการรุกรานของศัตรูภายนอก ดินแดนอียิปต์ขยายกว้างใหญ่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยนี้มีมากและแน่นอนกว่าสมัยใดๆ ที่ผ่านมา
ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของรามซีสที่ 2 แห่งราชวงศ์ที่ 21ปรากฎว่าจักรวรรดิ์โบราณก็เริ่มเสื่อมลงเป็นลำดับเพราะกษัตริย์ไร้ความสามารถในการปกครองและการรบ ขุนนางก่อความวุ่นวายแย่งชิงอำนาจกันพระขึ้นปกครองอียิปต์ครั้งราชวงศ์ที่ 21 ขึ้นที่เมืองทานิส (Tanis) และอียิปต์ถูกรุกรานจากศัตรูภายนอก

3. สมัยภายใต้การปกครองของผู้รุกราน 940 B.C. เรื่อยมา
สมัยนี้ชนภายนอกปกครองอียิปต์โบราณเป็นระยะเวลายาวนานกล่าวคือ
3.1 ลิบยาน (Libyans) ปกครองระหว่าง 940-710 B.C. ตั้งราชวงศ์ที่ 22-24
3.2 เอธิโอเปียน (Ethiopians) ปกครองระหว่าง 736-657 B.C. ตั้งราชวงศ์ที่ 25
3.3 อัสซีเรียน (Assyrians) ปกครองระหว่าง 664-525 B.C.
3.4 เปอร์เซียน (Perians) ปกครองระหว่าง 525-404 B.C.
3.5 เปอร์เซียนปกครองอียิปต์ครั้งที่สองระหว่าง 341-332 B.C.
3.6 กรีก (Greeks) ปกครองระหว่าง 332-30 B.C.

การแบ่งชนชั้นในสังคมและระบบการปกครอง

การแบ่งชนชั้นในสังคม
สังคมอียิปต์โบราณเปรียบได้กับรูปสามเหลี่ยมจัดแบ่งออกได้เป็น 3 ชนชั้น 5 ระดับ
1. ชนชั้นสูง
- กษัตริย์และราชวงศ์ถูกกำหนดให้อยู่ในตำแหน่งสูงสุด กษัตริย์สามารถมีมเหสีและสนมได้มากมาย ตลอดจนสนมอาจเป็นพี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกับมนุษย์
- พระและขุนนาง มีบทบาททางด้านศาสนาและการปกครอง ชนทั้งสองกลุ่มนี้จัดเป็นชนชั้นสูงรองจากกษัตริย์
2.ชนชั้นกลาง
- พ่อค้า เสมียน ช่างฝีมือและศิลปิน
3. ชนชั้นต่ำ
- พวกชาวนา ผู้ใช้แรงงาน ชาวนาซึ่งจัดเป็นชนชั้นต่ำส่วนใหญ่ของดินแดนสภาพของชาวนาอยู่ในรูปข้าติดที่ดิน ชาวนาเป็นกำลังสำคัญในกองทัพและเป็นแรงงานหลักในการสาธารณประโยชน์
- ทาส เป็นชนชั้นต่ำสุดถูกกวาดต้อนมาภายหลังพ่ายแพ้สงคราม

ระบบการปกครอง
ลักษณะการปกครองเป็นแบบเทวธิปไตย (Theocracy) อยู่ใต้การปกครองของกษัตริย์องค์เดียว กล่าวคือ ฟาโรห์มีฐานะเป็นโอรสของเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์คือสุริยเทพ เร หรือรา ทรงทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าพระเป็นการรวมศาสนจักรและอาณาจักรเข้าด้วยกัน เป็นผู้บัญชาการกองทัพและบัญชาการทางด้านพลเรือนผู้ปกครองอ้างดำเนินการปกครองในนามหรืออาศัยอำนาจของเทพเจ้าเพื่อใช้ในการปกครองกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการปกครองได้แก่
1. กษัตริย์หรือฟาโรห์ (Pharaoh) ฟาโรห์ เป็นผู้ที่ชาวอียิปต์โบราณยอมรับว่าเป็นเทพเจ้าและเป็นกษัตริย์ในเวลาเดียวกัน หน้าที่ของฟาโรห์คือเป็นผู้นำทางการปกครองและศาสนา กฎ ระเบียบ ข้อบังคับในการปกครองเกิดจากการกำหนดขึ้นของกษัตริย์ผู้เป็นเจ้าของชีวิตของชาว
อียิปต์โบราณ
2. ขุนนางชั้นผู้ใหญ่หรือวิเชียร (Vizier) เป็นตำแหน่งใช้เรียกผู้บริหารที่สำคัญรองจากกษัตริย์ ตำแหน่งนี้ในสมัยราชวงศ์ต้นสงวนเฉพาะสำหรับราชโอรส แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงตกทอดแก่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่และมีการสืบทอดแก่คนในตระกูลเดียวกัน
3. ขุนนาง (Noble) ทำหน้าที่รับผิดชอบหน่วยงานที่สำคัญ เช่น ในการเก็บภาษีและการชลประทาน เป็นต้น
4. ขุนนางมณฑลหรือผู้ว่าการมณฑลหรือโนมาร์ซ (Nomarch) เป็นตำแหน่งข้าหลวงประจำตามมณฑลหรือเมืองที่ห่างไกลจากเมืองหลวง มณฑลหรือเขตนั้นเรียกว่านอม (Nome)ขุนนางประเภทนี้มักก่อกบฎว่าวุ่นวายและเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อาณาจักรสมัยต่างๆ ในอดีตต้อง
เสื่อมลง
นอกจากฟาโรห์แล้ว บุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดคือหัวหน้านักบวชของสุริยเทพ รา ซึ่งเป็นจอมเทพสูงสุด ในการบริหารงาน ฟาโรห์จะมีคณะเสนาบดีที่นำโดย วิเซียร์ (Vizier) ซึ่งเป็นตำแหน่งขุนนางสำคัญ เป็นผู้ช่วย และส่งข้าหลวง (Nomarch) ไปทำหน้าที่ปกครองหัวเมืองต่างๆ โดยขึ้นตรงต่อองค์กษัตริย์ ในยุคอาณาจักรเก่านี้ อียิปต์ไม่มีกองทหารประจำการ แต่จะเกณฑ์พลเมืองเข้ากองทัพเมื่อเกิดสงคราม

แนวความคิดหรือความเชื่อของประชาชนในสังคม
1.การนับถือเทพเจ้า
เดิมทีก่อนการรวมแผ่นดิน หัวเมืองต่างๆทั้งในอียิปต์บน และ ล่าง ต่างนับถือเทพต่างๆกันต่อมาเมื่อรวมแผ่นดินแล้วก็ยังคงความเชื่อแบบพหุเทวนิยม อยู่ โดยมี รา (RA) เป็นเทพสูงสุด ชาวอียิปต์เชื่อว่าพระองค์เป็นผู้สร้างโลกและสวรรค์รวมทั้งสิ่งมีชีวิตทั้งปวง นอกจาก รา แล้ว เทพที่ชาวอียิปต์นับถือกันมากได้แก่ โอซิริส เทพแห่งยมโลกผู้มีหน้าที่ตัดสินดวงวิญญาณ , เทพีไอซิสเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ,เซ็ท เทพแห่งสงคราม ,ฮาธอร์เทพีแห่งความรัก และฮอรัส เทพผู้เป็นตัวแทนของฟาโรห์ทุกพระองค์ นอกจากนี้ยังมีเทพอื่นๆที่ถือเป็นเทพเจ้าประจำแต่ละเมือง
ชาวอียิปต์โบราณเชื่อในเทพเจ้าหลายองค์ เพราะความหวาดกลัวเชื่อและบูชาในปรากฎการณ์ธรรมชาติทำให้ชาวอียิปต์โบราณกำหนดเทพเจ้าขึ้นมากมาย ลักษณะเทพเจ้าในช่วงแรกนั้นมีรูปร่างเป็นสัตว์มากกว่ามนุษย์ ต่อมาได้มีการพัฒนารูปร่างเทพเจ้าให้ดีขึ้น แต่เพราะชาติอียิปต์โบราณเกิดจาการรวมตัวของหลายชุมชน ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้เทพเจ้าของอียิปต์โบราณมีมากมายหลายองค์เทพเจ้าที่สำคัญคือ
-เทพเจ้าอะมอน-เร (Amon-Re)มีสัญลักษณ์ คือ หินที่มีรูปร่างคล้ายพิระมิด เป็นเทพเจ้าที่สูงสุดในมวลเทพเจ้าทั้งหลาย ของอียิปต์โบราณ เป็นเทพเจ้าแห่งแสงสว่างและชีวิต ชื่อเทพเจ้าองค์นี้เกิดจากการนำเทพเจ้าอะมอนซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งอากาศและความอุดมสมบูรณ์ของเมืองธีปส์ มารวมกับเทพเจ้าเรซึ่งเป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ของเมืองเฮลิโอโปลิส ได้เป็นเทพเจ้าอะมอน-เร ผู้ทรงพลังและอิทธิฤทธิ์
-เทพเจ้าโอซิริส (Osiris) เป็นเทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำไนล์ เทพเจ้าแห่งความตาย และเทพเจ้าแห่งการตัดสินภายการตายเพื่อการเข้าสู่ภายหน้า เชื่อว่าเป็นเทพผู้นำความอุดมสมบูรณ์
-เทพเจ้าไอริส (Isis) คือ เทพีผู้เป็นมเหสีของเทพเจ้าโอซิริส เป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์
-เทพเจ้าโฮรัส (Horus) เป็นเทพเจ้าแห่งสวรรค์ของชาวอียิปต์โบราณแถบดินแดนสามเหลี่ยม
ชาวอียิปต์โบราณมีความเชื่อว่าเทพเจ้าแต่ละองค์ควรมีสัตว์ไว้คอยรับใช้ดังนั้นจึงมีการสมมติสัตว์รับใช้ดังกล่าวให้เทพเจ้า เช่น แกะตัวผู้เป็นสัตว์รับใช้ของเทพเจ้าอะมอน-เร เป็นต้น สำหรับเรื่องการบวงสรวงนั้นพระเป็นผู้ประกอบพิธี และได้รับค่าจ้างตอบแทน
นอกจากนั้นชาวอียิปต์ยังเชื่อว่าฟาโรห์ทุกพระองค์คือสุริยเทพ แบ่งภาคมาจุติในรูปของมนุษย์ และเมื่อตายจะเข้าไปรวมเป็นส่วนเดียวกับเทพโอซีริส ส่วนคนที่ตายไปแล้วจะต้องไปพบกับยมเทพ ดังนั้น จึงต้องมีคัมภีร์มรณะ (Book of Dead) ให้กับคนตาย
ทัศนะเกี่ยวกับเทพเจ้าดังกล่าวนำไปสู่การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่มหัศจรรย์และยิ่งใหญ่ที่สุดคือ พีระมิด(Pyramid) ความคิดที่ว่าฟาโรห์คือเทพเจ้าทำให้เกิดความเชื่อว่าฟาโรห์ คือ ผู้ที่อมตะหรือผู้ที่ไม่ตาย ดังนั้น พวกเขาจึงเก็บรักษาร่างกายไว้มิให้เน่าเปื่อยผุพัง วิญญาณของฟาโรห์จะคงอยู่ตลอดไป

2.ความเป็นอมตะของวิญญาณ
ชาวอียิปต์โบราณเชื่อในความเป็นอมตะของวิญญาณ คำตัดสินครั้งสุดท้ายและโลกหน้า ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าภายหลังความตายที่ทำความดีจะฟื้นขึ้นมาและเข้าพำนักในโลกหน้าซึ่งน่าอยู่และอุดมสมบูรณ์เช่นอียิปต์ จากความเชื่อนี้ทำให้เกิดการเก็บรักษาไว้เรียกว่า มัมมี่ (Mummy) มัมมี่นิยมทำเฉพาะกับกษัตริย์ คนธรรมดาจะฝังเท่านั้น มัมมี่จะถูกนำไปวางลงในหีบศพพร้อมม้วนกระดาษรู้จักในนามคัมภีร์ผู้ตาย (Book of the Dead)คัมภีร์ผู้ตายที่ถูกต้องนั้นต้องเขียนโดยพระ ข้อความในคัมภีร์นั้นล้วนชี้แจงว่าผู้ตายกระทำดีเป็นหลักในโลกมนุษย์ทำชั่วบ้างเล็กน้อย เทพเจ้าโอซิริสเป็นผู้พิจารณาและดำเนินการตัดสินครั้งสุดท้ายถึงการให้วิญญาณดังกล่าวเข้าสู่โลกหน้าที่สมบูรณ์ได้หรือไม่ หีบศพและสมบัติของผู้ตายจะถูกนำวางไว้สุสานหินเรียก ปิรามิด (Pyramid) สฟิงค์ (Sphinx) เป็นสัตว์ประหลาดที่แกะสลักจากหินนำวางไว้หน้าปิรามิดเพื่อทำหน้าที่เฝ้าศพและสมบัติของผู้ตายที่บรรจุไว้ในปิรามิด

3.การนับถือศาสนา
ศาสนาของเทพเจ้าอะมอน-เร ศาสนาของเทพเจ้าอะมอน-เร เป็นศาสนาที่นับถือเทพเจ้าหลายองค์ (ความเชื่อแบบพหุเทวนิยม) โดยมี รา (RA) เป็นเทพสูงสุด ชาวอียิปต์เชื่อว่าพระองค์เป็นผู้สร้างโลกและสวรรค์รวมทั้งสิ่งมีชีวิตทั้งปวง นอกจาก รา แล้ว เทพที่ชาวอียิปต์นับถือกันมากได้แก่ โอซิริส เทพแห่งยมโลกผู้มีหน้าที่ตัดสินดวงวิญญาณ , เทพีไอซิสเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ,เซ็ท เทพแห่งสงคราม ,ฮาธอร์เทพีแห่งความรัก และฮอรัส เทพผู้เป็นตัวแทนของฟาโรห์ทุกพระองค์ นอกจากนี้ยังมีเทพอื่นๆที่ถือเป็นเทพเจ้าประจำแต่ละเมือง การเข้าถึงเทพเจ้าทำได้โดยการทำสงครามหรือทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้า

ศาสนาของกษัตริย์อเมนโฮเต็ปที่ 4 ศาสนาของอะเมนโฮเต็ปที่ 4 มีจุดมุ่งหมายนำชาวอียิปต์โบราณให้พ้นจากความเชื่อในศาสนาอียิปต์โบราณที่บูชาในเทพเจ้าหลายองค์ (Polytheism) และมุ่งนำชาวอียิปต์โบราณให้พ้นจากอำนาจของพระ ศาสนาใหม่ของอะเมนโฮเต็ปกำหนดให้บูชาเฉพาะเทพเจ้าอะตัน (Aton) เพียงองค์เดียว ทรงสอนว่าเทพเจ้าอะตันเป็นเทพเจ้าสูงสุด ไม่มีตัวตนเป็นบิดาของมนุษย์ การเข้าถึงเทพเจ้าอะตันทำได้โดยสักการะด้วยดอกไม้ของหอมมิใช่ทำสงครามหรือทำพิธีบวงสรวงด้วยชีวิตสัตว์ ทรงสั่งปิดวิหารของเทพเจ้าทั้งหลายทรงปฎิเสธความเชื่อเรื่องการฟื้นจากความตายและโลกหน้า ทรงปฏิเสธการทำสงครามกับศัตรู เพราะทรงเชื่อว่าเทพเจ้าอะตันคือบิดาของมวลมนุษย์และการทำสงครามจะทำให้เทพเจ้าอะตันไม่พอใจ

เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารยธรรม

การเสื่อมและการล่มสลายของอียิปต์ (ปีที่1075 - 332 ก่อน ค.ศ.)
หลังการสวรรคตของรามเสสที่2 และโอรสของพระองค์มเนปตาห์ ขึ้นครองราชย์ จักรวรรดิอียิปต์เริ่มส่อเค้าวุ่นวาย บรรดาเมืองขึ้นต่างๆ เช่นนูเบียและลิเบียได้ก่อกบฎขึ้นแต่โชคดีที่ทางอียิปต์สามารถปราบปรามลงได้ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองทางฝ่ายฮิตไตท์ประสบภาวะ แห้งแล้งขาดแคลนอาหารทำให้ทางอียิปต์ต้องส่งอาหารไปช่วยตามข้อตกลงที่มีในสมัยรามเสสที่2 หลังการสิ้นพระชนม์ของฟาโรห์มเนปตาห์อียิปต์ต้องพบกับปํญหาการเมืองภายใน ฟาโรห์แต่ละองค์ครองราชย์เพียงช่วงสั้นๆ จนมาถึงปีที่1186ก่อนค.ศ.ฟาโรห์รามเสสที่3 ขึ้นครองราชย์พระองค์ทรงได้รับการยอมรับจากทุกกลุ่ม ทำให้ปัญหาการเมืองภายในหมดไป แต่ในช่วงที่อียิปต์เริ่มจะฟื้นตัวนั้นเหตุการณ์สำคัญก็ได้เกิดขึ้น

การรุกรานของชนทะเล (Sea people)
หลังการครองราชย์ของรามเสสที่3 ทางด้านเมดิเตอเรเนียนได้เกิดความวุ่นวาย เนื่องจากภาวะแห้งแล้ง ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการรุกรานและการอพยพจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ประชาชนจากเมดิเตอเรเนียนต้องอพยพออกจากถิ่นฐานเดิม กลุ่มชนเหล่านี้ถูกเรียกว่าชาวทะเล(sea people) นักรบชาวทะเลเหล่านี้ประกอบด้วยคนเชื้อชาติต่างๆ เช่นไมซีเน่ อีเจียน ฟิลิสทีนแม้กระทั่งชาวซีเรียโดยพวกเขาได้เข้ารุกรานและทำลายบ้านเมืองต่างๆเรื่อยมา

นักรบชาวทะเลประกอบด้วยคนเชื้อชาติต่างๆ
สิ่งที่พวกนี้ต้องการ คือดินแดนใหม่ที่ อุดมสมบูรณ์ซึ่งพวกเขาจะตั้งถิ่นฐานได้ นอกจากนี้ชาวทะเลเหล่านี้ยังได้เข้าโจมตีและทำลายนครฮัตตูซัสเมืองหลวงของจักรวรรดิฮิตไตท์จน ราบคาบจากนั้นชาวทะเลจึงมุ่งหน้ามายังอียิปต์ดินแดนอู่ข้าวอู่น้ำของโลกโบราณ และในปีที่1179 ก่อน ค.ศ. สงครามระหว่างชาวทะเลกับอียิปต์ก็เกิดขึ้น

ฟาโรห์รามเสสที่3 สามารถพิชิตกองทัพชาวทะเลได้ทั้งทางบกและทางน้ำ ทำให้สามารถปกป้องจักรวรรดิได้สำเร็จชื่อเสียงของพระองค์เลื่องระบือ หลังสงครามพระองค์ยังปราบปรามพวกลิเบียที่ก่อกบฎลงได้ ทำให้จักรวรรดิเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งแต่ทว่าสงครามที่ยาวนานทำให้อียิปต์สูญเสียกำลัง คนไปมากการค้าก็หดหายไปทำให้อียิปต์ขาดรายได้และท่ามกลาง ปัญหานี้เองรามเสสที่3 ก็สวรรคตลง

เหตุที่ทำให้อาณาจักรล่มสลาย
หลังการสวรรคตของรามเสสที่3 อียิปต์กลับสู่ความวุ่นวายอีกครั้ง ทั้งจากปัญหาการเมืองและความอดอยาก ในที่สุดอียิปต์ก็แตกแยกกลายเป็นก๊กเป็นเหล่า บรรดาเมืองต่างๆตั้งตนเป็นอิสระ ชาวลิเบียซึ่งเป็นนักโทษสงครามของรามเสส ถือโอกาสตั้งตนเป็นอิสระผู้นำของพวกเขานามว่าโชชอง(Chochong) ได้เป็นฟาโรห์และรวบรวมแผ่นดินได้สำเร็จ แต่ก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆและบ้านเมืองก็เข้าสู่สภาพแตกแยกอีกครั้ง

จนกระทั่งในปีที่663 ก่อน ค.ศ. กษัตริย์อัสซูบานิปาลแห่ง อัสสิเรีย ได้ยกกองทัพเข้ารุกรานอียิปต์ เมืองต่างๆถูกทำลาย ทรัพย์สมบัติถูกปล้นชิง และอียิปต์ก็ไม่อาจฟื้นตัวได้อีกต่อมาในปีที่525 ก่อนค.ศ. อียิปต์ก็ถูกปกครองโดยชาวเปอร์เซียและเมื่ออเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาซีโดเนีย ซึ่งเป็นชนเชื้อชาติกรีกพิชิตเปอร์เซียลง อียิปต์ก็ตกเป็นของมาซีโดเนียในปีที่335 ก่อน ค.ศ.

อียิปต์ตกเป็นของมาซีโดเนีย
หลังการสวรรคตของอเล็กซานเดอร์จักรวรรดิมาซิโดเนียของพระองค์ล่มสลายลง เหล่าขุนศึกมาซีโดเนียต่างตั้งตนเป็นใหญ่ในดินแดนต่างๆที่พระองค์พิชิตมา นายพลปโตเลมีขุนศึกของพระองค์ก็ตั้งตนเป็นฟาโรห์และ ตั้งราชวงศ์ปโตเลมีซึ่งถือเป็นราชวงศ์สุดท้าย ขึ้นปกครองอียิปต์โดยมีเมืองหลวงที่อเล็กซานเดรีย

การรบที่แอคติอุม(Actium)
จนกระทั่งมาถึงปีที่ 36 ก่อน ค.ศ. พระนางคลีโอพัตราแห่งราชวงศ์ปโตเลมีพ่ายแพ้กองทัพโรมันที่แอคติอุม(Actium) และได้ปลิดชีวิตตนเองลงจากนั้นจักรวรรดิโรมันจึงผนวกอียิปต์เข้าเป็นส่วน หนึ่งของโรมและ นั่นคือการล่มสลายลงโดยสิ้นเชิงจากนั้นมา อียิปต์กลายเป็นเพียงมณฑลหนึ่งของโรมและกลายเป็นของจักรวรรดิไบเซนไทน์ในเวลาต่อมา และได้ถูกพวกมุสลิมเข้ายึดครองในภายหลัง


--------------------------------------------------------------------------------


3. ผลงานสำคัญที่เกิดจากการสร้างสรรค์อารยธรรมอียิปต์

อารยธรรมที่ราบลุ่มแม่น้ำไนล์ เกิดขึ้นบนดินแดนของอียิปต์ที่อุดมสมบูรณ์จนได้ชื่อว่า “ของขวัญของลุ่มแม่น้ำไนล์” ซึ่งมีผลงานที่สำคัญหลายด้าน ได้แก่
1.ด้านศิลปกรรม
ศิลปกรรมแรกเริ่มมุ่งเพื่อรับใช้ศาสนาโดยการวาดหรือปั้นรูปเทพเจ้า ชาวอียิปต์โบราณเป็นหนึ่งในกลุ่มนักสร้างถาวรวัตถุผู้ยิ่งใหญ่ของโลกโบราณ ผลงานเกิดความรู้ทางวิทยาศาสตร์แขนงเรขาคณิตและคณิตศาสตร์บวกกับความสามารถและความชำนาญ ความสามารถและความเด็ดขาดของผู้นำ
1.1) ปิรามิด

(จากซ้าย) ปิรามิดไมซีรีนัส ปิรามิดคีเฟรน และ ปิรามิดคีออพส์ ปิรามิดเป็นสิ่งก่อสร้างรูปกรวยเหลี่ยม มีขนาดใหญ่โตและมีความสำคัญเทียบเท่าศาสนสถาน มีการตกแต่งด้วยภาพเขียนประติมากรรม เครื่องเรือน และของมีค่ามากมาย เป็นที่สำหรับเก็บศพกษัตริย์อียิปต์โบราณ และเป็นสิ่งก่อสร้างที่มหัศจรรย์ที่สุด เดิมทีฟาโรห์จะสร้างห้องเก็บพระศพขนาดใหญ่เป็น สุสาน ต่อมาในสมัยของฟาโรห์โซเซอร์ แห่งราชวงศ์ที่สาม (2650ปีก่อน ค.ศ.) อิมโฮเทปที่ปรึกษาของฟาโรห์ ซึ่งเป็นนักปราชญ์และสถาปนิกที่มีความสามารถ ได้ทำการออกแบบ พีระมิดขั้นบันไดที่เรียกว่า มาสตาบา (Mastaba) ที่เมืองซักคาราขึ้น นอกจากเป็นผู้ออกแบบพีระมิดแล้ว อิมโฮเทปยังมีผลงานประพันธ์ต่างๆมากมายทั้งวรรณคดีและตำราเภสัชศาสตร์ ชาวอียิปต์รุ่นหลังนับถือเขาในฐานะเทพแห่งความรู้ หลังจากยุคของฟาโรห์โซเซอร์ ก็ได้มีการสร้างพีระมิดขั้นบันไดต่อมาและค่อยๆพัฒนากลายเป็นแบบสามเหลี่ยมมาสตาบา (Mastaba)
ปิรามิดในอียิปต์มีอยู่ 70แห่ง ด้วยกัน แต่ปิรามิด 3 แห่งที่อยู่เมืองกีซ่า ( 29°58′45.25″N, 31°08′03.75″E) พีระมิดทั้งสามสร้างเรียงต่อกันเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกของกรุงไคโร เมืองหลวงของประเทศอียิปต์ปัจจุบัน
ปิรามิดทั้ง 3 แห่ง คือ
-ปิรามิดของพระเจ้าฟาโรห์คีออพส์ หลุมฝังศพของพระเจ้าฟาโรห์คีออพส์[พระเจ้าคูฟู(Khufu or Cheops)] เป็นปิรามิดที่ใหญ่ที่สุด เรียกว่ามหาปิรามิด สันนิษฐานว่าปิรามิดนี้ สร้างขึ้นมาตั้งแต่ 4600 ปีมาแล้ว คือสร้างเมื่อประมาณปี 2600 B.C. ใช้ก้อนหินประมาณ 2300,000 ก้อน แต่ละก้อนหนักกว่า 2 ตัน ใช้แรงงานคนสร้างถึง 100,000 คนสกัดหินทุกก้อนด้วยสิ่วและค้อนอย่างยากลำบาก ประณีตและชำนาญ ปิรามิดนี้สร้างบนเนื้อที่ประมาณ 12 เอเคอร์ หรือ 570,000 ตารางฟุต บริเวณฐาน ปิรามิด 4 ด้านนั้น มีความกว้างยาวเท่ากัน คือ 755 ฟุต ตัวมหาปิรามิดนี้สูงประมาณ 432 ฟุต( 147เมตร)สันนิษฐานว่าผู้สร้างปิใจกลางปิรามิดมีห้องเก็บพระศพของพระเจ้าคีออพส์ข้างในทำจากหินแกรนิต กว้าง 34 ฟุต ยาว 17 ฟุต และสูง 19 ฟุต หีบพระศพของพระเจ้าคีออพส์ทำด้วยหินแกรนิตตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของห้องปิรามิดของพระเจ้าคีออพส์ ล้อมรอบด้วยหลุมศพ และปิรามิดเล็ก ๆ อีก 3 แห่ง ซึ่งเป็นของสมาชิกในราชวงศ์และในราชสำนักชั้นสูง นับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคเก่า ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและยังคงตั้งตระหง่านอยู่เพียงแห่งเดียวในโลก ใช้เวลาสร้าง 10 ปีและ จัดเป็นสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งในเจ็ดของโลก
-ปิรามิดคีเฟรน(Khafra) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมหาคีออพส์ปิรามิด เล็กกว่ามหาคีออพส์ปิรามิดเล็กน้อย คือสูง 460 ฟุต ช่วงบนของปิรามิดนี้มีลักษณะเด่นเพราะเป็นหินปูนขาว
-ปิรามิดไมซีรีนัส(Micerinus) เป็นปิรามิดที่เล็กที่สุดในบรรดาทั้งสามแห่ง ฟาโรห์ไมซีรีนัส (Micerinus) โอรสของ ฟาโรห์คีเฟรน ขึ้นปกครองอียิปต์ได้สร้างพีระมิด ขึ้นเป็นหลังที่สามที่ความสูง 65.5 เมตร (ปัจจุบันคงเหลือความสูง 62 เมตร) ฐานแต่ละด้านกว้างประมาณ 105 เมตร และเอียงทำมุมประมาณ 51 องศา ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็กที่สุดในหมู่พีระมิดแห่งกิซ่า แต่ก็ยังสูงประมาณอาคาร 18 ชั้น (เมื่อคิดความสูงที่ชั้นละ 3.6 เมตร) สำหรับพีระมิดไมซีรีนัส นี้ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากนับตำแหน่งมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ ของพีระมิดไมซีรีนัส เป็นตำแหน่งอ้างอิง และหากพีระมิดไมซีรีนัส มีขนาดใหญ่ประมาณเท่ากับพีระมิดคีเฟรน มุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพีระมิดจะต่อกับมุมด้านตะวันตกเฉียงใต้ของพีระมิดคีเฟรนพอดี และมีระยะห่างกันเท่ากับระยะระหว่างพีระมิดคีออปส์และคีเฟรน นั่นคือเป็นไปได้ว่าเดิมการก่อสร้างพีระมิดไมซีรีนัส อาจมีความตั้งใจสร้างให้มีขนาดเท่ากับพีระมิดแห่งกิซ่า 2 องค์ก่อนหน้า แต่ภายหลังได้ตัดสินใจก่อสร้างเป็นขนาดเล็กอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
1.2) สฟิงซ์

เป็นผลงานด้านประติมากรรมที่ยิ่งใหญ่และรู้จักไปทั่วโลก มีลักษณะใบหน้าเป็นคน หัวเป็นสิงโตแกะ สลักบนหินก้อนใหญ่หมอบเฝ้าหน้าปิรามิด โดยหน้ามนุษย์ใบหน้านี้เป็นใบหน้าของพระเจ้าคีเฟรน ซึ่งมีคนนับถือเป็นพระเจ้าแห่งพระอาทิตย์ รูปสฟิงซ์นี้สูงถึง 66 ฟุต ยาว 240 ฟุต หมอบเฝ้าปากทางที่พามุ่งตรงไปยังปิรามิดแห่งคีเฟรน
1.3) วิหารคาร์นัคแห่งเมืองธีปส์
วิหารนี้ได้รับยกย่องว่าเป็นอาคารใหญ่สุดของอียิปต์โบราณ ยาว 338 ฟุต กว้าง 170 ฟุต ใช้เสาหินกลมสูง 79 ฟุต รองรับหลังคา
1.4) ภาพแกะสลัก (Sculpture)
ได้แก่ ภาพสฟิงซ์ที่หน้าปิรามิคของกษัตริย์คูฟู ลำตัวเป็นสิงโตหมอบมีความยาว 13 ฟุต กว้าง 8 ฟุต แกะสลักมาจากหิน
1.5) รูปปั้นหรือรูปหล่อ (Statue)
นิยมปั้นหรือหล่อเฉพาะครึ่งตัวบนของจักรพรรดิ์ เช่น รูปปั้นหรือรูปหล่อครึ่งตัวบนของพระนางฮัทเซฟซุทกษัตริย์ทัสโมสที่ 2 กษัตริย์อเมนโฮเต็ปที่ 4 และมเหสี กษัตริย์รามซีสที่ 2
1.6) ภาพแกะสลักฝาผนัง ภาพแกะสลักฝาผนังที่มีชื่อคือภาพการต่อสู้ของพระเจ้ารามซีสที่ 2 กับฮิตไตท์ที่วิหารคาร์นัค ภาพนี้ยาว 170 ฟุต
1.7) ภาพวาด ภาพวาดนี้นิยมวาดตามผนังและเพดานของวิหาร พระราชวัง และปิรามิด ภาพวาดจัดเป็นศิลปกรรมประเภทหนึ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพราะทำให้ชนรุ่นหลังได้รู้รายละเอียดเกี่ยวกับสภาพสังคม การปกครอง การค้า การแต่งกาย และประเภทของเครื่องใช้เป็นต้น

2. ด้านการแพทย์
2.1) เกิดการเก็บศพในสุสานขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “มัมมี่” หลายพันปีมาแล้ว ชาวอียิปต์โบราณได้คิดค้นวิธีที่จะรักษาสภาพศพให้สมบูรณ์ เพื่อรอคอยการเกิดใหม่ของดวงวิญญาณ การทำมัมมี่จึงถือกำเนิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์นี้คำว่า "มัมมี่" (Mummy) เชื่อกันว่ามาจากคำว่า มัมมียะ (Mummiya) คำในภาษาเปอร์เชียซึ่งหมายถึงร่างของศพที่ถูกทำให้มีสีดำมัมมี่มีส่วนชี้ให้เห็นถึงความสวยงามทางการแพทย์ของอียิปต์โบราณซึ่งแอ็ดวินสมิธเป็นผู้พบข้อความทั้งหมดถูกบันทึกไว้เมื่อประมาณปี 1600 ระบุแสดงความสามารถของแพทย์อียิปต์โบราณด้านการผ่าตัดกระโหลก ผ่าตัดกระดูกสันหลัง การวิจัยและรักษาโรคต่างๆ


มัมมี่อียิปต์
การทำมัมมี่: มัมมี่ถูกทำขึ้นในสมัยราชวงศ์ที่4 และมีเรื่อยมาจนถึงค.ศ.641 ชาวอียิปต์เชื่อว่าหลังจากที่มนุษย์ ตายไปแล้วดวงวิญญาณจะกลับมาเกิดใหม่ในร่างเดิมจึงต้องเก็บร่างเอาไว้เพื่อรอรับการเกิดใหม่ในยุค อาณาจักรเก่าเชื่อว่ามีเพียงฟาโรห์เท่านั้นที่จะกลับมาคืน ร่างเดิมแต่ในสมัยต่อมาการทำมัมมี่ได้แพร่หลายสู่ขุนนางและสามัญชนแม้กระทั่งสัตว์ที่เป็นสัญลักณ์ ของเทพเจ้าในการทำมัมมี่ชาวอียิปต์จะเริ่มจากการนำศพของผู้ตายมาทำความสะอาด ล้วงเอาอวัยวะภายในออกโดยการใช้ตะขอที่ทำด้วยสำริดเกี่ยวเอาสมองออกทางโพรงจมูก แล้วใช้มีดที่ทำจากหินเหล็กไฟซึ่งมีความคมมาก กรีดข้างลำตัว เพื่อล้วงเอาตับ ไต กระเพาะอาหาร ปอดและลำไส้ออกจากศพ โดยเหลือหัวใจไว้สาเหตุที่ไม่เอาหัวใจออกจากร่างด้วยเพราะเชื่อกันว่าหัวใจเป็นศูนย์รวมแห่งจิตวิญญาณ อวัยวะภายในเหล่านี้จะถูกแทนที่ด้วยวัสดุประเภทขี้เลื่อย เศษผ้าลินิน โคลน และเครื่องหอม จากนั้นอวัยวะทั้งหมดจะถูกนำไปล้างด้วยไวน์ปาล์ม และนำไปผสมกับเครื่องหอมและทำให้แห้งด้วยสมุนไพรจากนั้น จึงนำไปดองในน้ำยานาตรอนประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนจะนำมาบรรจุลงในภาชนะสี่เหลี่ยม มีฝาปิด ที่รู้จักกันในชื่อของ " โถคาโนปิก(Canopic) " สี่ใบ
ส่วนศพจะนำไปชำระล้างใน แม่น้ำไนล์ จากนั้นจะนำไปแช่ในน้ำยานาตรอน(Natron)ซึ่งเป็นสารพวกsodium Carbonate โดยเปลี่ยนน้ำยาทุกสามวันและแช่ประมาณหกสิบวันจนศพแห้งสนิทแล้ว ก็จะถูกนำมาเคลือบด้วยน้ำมันสน จากนั้นจะมีการตกแต่งและพันศพด้วยผ้าลินินสีขาวชุบเรซิน มัมมี่ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วจะถูกนำบรรจุลงในหีบศพ พร้อมกับเครื่องรางของขลังต่างๆ และมัมมี่บางตัวยังมีหน้ากากที่จำลองในหน้าของผู้ตายวางไว้ในหีบศพของมัมมี่อีกด้วย
หีบศพและโถคาโนปิกจะถูกนำไปบรรจุในสุสานพร้อมข้าวของเครื่องใช้และสมบัติเพื่อรอการกลับมาของวิญญาณ

2.2) เกิดวิทยาการทางการแพทย์ ในระยะแรกๆยังรักษาพยาบาลคนป่วยไข้ด้วยความเชื่อในเรื่องเวทย์มนต์คาถา ประมาณ 1,700 ปีก่อนคริสตกาลเริ่มนำแนวทางของวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในการรักษา ทำให้การแพทย์ของอียิปต์เจริญขึ้นเป็นลำดับ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เช่น จักษุแพทย์ ทันตแพทย์ และศัลยแพทย์ แพทย์อียิปต์มีความเข้าใจในความสำคัญของหัวใจ มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัด รู้จักใช้น้ำเกลือรักษาบาดแผลเพื่อป้องกันการอักเสบ ใช้ต่างในการรักษาบาดแผล มีการค้นพบการทำน้ำยารักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อย

3. ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
3.1) การทำปฏิทิน อียิปต์โบราณรู้จักการทำปฏิทินโดยยึดหลักสุริยคติกล่าวคือ 1 ปีมี 12 เดือน 30 วัน อีก 5 วันสุดท้ายถูกกำหนดเพื่อการเฉลิมฉลองการกำหนดฤดูถือตามหลักความเป็นไปของธรรมชาติและการเพาะปลูก 1 ปีมี 3ฤดูๆละ 4 เดือน เริ่มจากฤดูน้ำท่วมหรือน้ำหลาก (The Flood of River Nite) ฤดูที่สองคือ ฤดูเพาะปลูกหรือไถหว่าน (The Period of Cultivation) ฤดูที่สามคือ ฤดูเก็บเกี่ยวพืชผล (The Period of Havesting) การที่ชาวอียิปต์โบราณรู้จักการทำปฏิทินนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ชัดความเจริญและความสามารถโดยแท้จริง
3.2) คณิตศาสตร์ เป็นผู้วางรากฐานหลักวิชาเลขคณิตและเรขาคณิต รู้จักการบวก ลบ หาร แต่ยังไม่รู้จักวิธีคูณ โดยเฉพาะด้านเรขาคณิตอียิปต์โบราณเจริญมาก กล่าวคือ สามารถคำนวณหาพื้นที่ของสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมคางหมูและวงกลมได้ ตลอดจนชำนาญในการวัดที่ดิน ความสามารถในด้านคณิตศาสตร์มีส่วนช่วยอย่างมากในงานสถาปัตยกรรม รู้จักคำนวณหาปริมาตรของปิรามิด ค้นพบเลขระบบทศนิยม ค้นพบว่า ¶ ( Pie) มีค่าเท่ากับ 3.14
3.3) กระดาษปาปิรุส กระดาษ เป็นวัสดุที่ผลิตขึ้นมาสำหรับการจดบันทึก มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เชื่อกันว่ามีการใช้กระดาษครั้งแรกๆ โดยชาวอียิปต์โบราณ และชาวจีน ตั้งแต่สมัยโบราณ แต่กระดาษในยุคแรกๆ ล้วนผลิตขึ้นเพื่อการจดบันทึก ด้วยกันทั้งสิ้น จึงกล่าวได้ว่าระบบการเขียน คือแรงผลักดันให้เกิดการผลิตกระดาษขึ้นในโลก
กระดาษของชาวอียิปต์โบราณ ผลิตจากเยื่อต้นอ้อ (Papyrus) โดยนำต้นอ้อที่มีขึ้นแถบลุ่มแม่น้ำไนล์มาลอกเอาเยื่อออกวางซ้อนกันตากให้แห้งกลายเป็นกระดาษ และเรียกว่ากระดาษปาปิรุสก้านอ้อแข็งคืออุปกรณ์ที่ใช้เขียน ยางไม้ผสมสีใช้เป็นหมึก พบว่ามีการใช้จารึกบทสวดและคำสาบาน บรรจุไว้ในพีระมิดของอียิปต์ นักประวัติศาสตร์เชื่อว่ามีการใช้กระดาษที่ทำจากปาปิรุสมาตั้งแต่ปฐมราชวงศ์ของอียิปต์ (ราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล)
สำหรับวัสดุใช้เขียนอื่นๆนั้น ในสมัยโบราณมีด้วยกันหลายอย่าง เช่น แผ่นโลหะ หิน ใบลาน เปลือกไม้ ผ้าไหม ฯลฯ ผู้คนสมัยโบราณคงจะใช้วัสดุต่างๆ หลากหลายเพื่อการบันทึก ครั้นเมื่อราว ค.ศ. 105 ชาวจีนได้ประดิษฐ์กระดาษจากเศษผ้าฝ้าย และหลังจากนั้นได้มีการใช้วิธีผลิตกระดาษเช่นนี้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว

4. ด้านศาสนาและความเชื่อ
เกิดเทพเจ้าหลายองค์ ได้แก่ รา (RA) เป็นเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ ชาวอียิปต์เชื่อว่าพระองค์เป็นผู้สร้างโลกและสวรรค์รวมทั้งสิ่งมีชีวิตทั้งปวง นอกจาก รา แล้ว เทพที่ชาวอียิปต์นับถือกันมากได้แก่ โอซิริส เทพแห่งยมโลกผู้มีหน้าที่ตัดสินดวงวิญญาณเทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ , เทพีไอซิสเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ,เซ็ท เทพแห่งสงคราม ,ฮาธอร์เทพีแห่งความรัก และฮอรัส เทพผู้เป็นตัวแทนของฟาโรห์ทุกพระองค์ นอกจากนี้ยังมีเทพอื่นๆที่ถือเป็นเทพเจ้าประจำแต่ละเมือง มีการจารึกบนกระดาษปาปิรุสหรือบนหีบศพเพื่อแสดงต่อเทพเจ้าโอซิริสที่เรียว่า “คัมภีร์มรณะ”(Book of Dead)

คัมภีร์มรณะ วาดบนกระดาสปาปิรุส

5. ด้านอักษรศาสตร์
ศิลปการเขียนของอียิปต์โบราณเริ่มเมื่อประมาณ 300 B.C. การบันทึกทำเป็นอักษรภาพ รู้จักในนามอักษรภาพเฮียโรกลิฟฟิค (Hieroglyphic) ซึ่งมีทั้งแบบที่เป็นรูปภาพและแบบที่เป็นสัญลักษณ์ประกอบเป็นคำ โดยจะบันทึกลงในแผ่นหินและม้วนกระดาษปาปิรัสซึ่งทำจากต้นกก ตัวอักษรอียิปต์มีประมาณ 1000 ตัว ในสมัยก่อน ผู้ที่สามารถอ่านเขียนอักษรเฮียโรกลิฟฟิคได้คล่องแคล่วจะมีโอกาสได้ทำงานเป็นอาลักษณ์ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสที่จะเลื่อนขึ้นเป็นขุนนาง หรือนักบวชสำคัญได้
ต่อมาเพื่อให้การเขียนง่ายขึ้นไม่สลับซับซ้อน ได้พัฒนาการเขียนให้มีตัวอักษรภาพน้อยลงเรียกอักษรเฮราติค (Hieratic) ภารเขียนทั้งสองแบบนี้เขียนได้ในหมู่พระเท่านั้น ในประมาณศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาลได้มีการพัฒนาการเขียนให้ดีขึ้นกว่าเดิมมุ่งให้เขียนง่ายขึ้น ตัวอักษรภาพลดจำนวนน้อยลงและจำนวนผู้ที่สามารถเขียนได้มากขึ้น จากเหตุผลดังกล่าวทำให้อักษรภาพลดเหลือเพียง 24 ตัว เรียกตัวอักษรเดโมติค (Demotic) จากชัยชนะในการเขียนและการค้า ทำให้ศิลปะการเขียนของอียิปต์แพร่หลายออกไป
สำหรับอักษรของอียิปต์นั้น นับแต่อารยธรรมล่มสลายลงไปก็ไม่มีใครสามารถตีความได้ จนกระทั่งได้มีการค้นพบ ศิลาจารึก โรเซทต้า (ROSETTA) ในปี ค.ศ. 1799 ที่มีจารึกอักษรเฮียโรกลิฟฟิคกับอักษรกรีกโบราณเอาไว้ ฟรองซัวส์ ชองโพลียอง ใช้วิธีการค้นคว้าโดยอ่านเทียบกับอักษรกรีกโบราณ และสามารถตีความได้สำเร็จในปี 1822

อักษรเฮียโรกลิฟฟิค

6. ด้านการชลประทาน
มีการขุดคลองส่งน้ำ เพื่อการชลประทานเชื่อมต่อแม่น้ำไนล์เนื่องจาก อียิปต์โบราณต้องพึ่งแม่น้ำไนล์เพื่อใช้ในการเพาะปลูกประมาณเมื่อ 4200 B.C. อียิปต์โบราณค้นพบวิธีเก็บกักน้ำและส่งน้ำเข้าพื้นที่ตอนในด้วยการขุดคูคลองระบายน้ำต่างระดับและทำทำนบกั้นน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตรกรรม และการคมนาคมวิธีการดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นการริเริ่มการชลประทาน

7.) ด้านวรรณกรรม
วรรณกรรมเด่นของอียิปต์โบราณแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. วรรณกรรมเกี่ยวเนื่องกับศาสนา ได้แก่คัมภีร์ผู้ตาย คัมภีร์นี้มุ่งแสดงต่อเทพเจ้าโอซิริส เพื่อการเข้าสู่โลกหน้าที่อุดมสมบูรณ์และสุขสบายเช่นอียิปต์โบราณ นอกจากนี้ยังมีบทสรรเสริญของพระเจ้าอเนโฮเต็ปที่ 4 ต่อเทพเจ้าอะตัน เป็นต้น
2. วรรณกรรมไม่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา ได้แก่งานสลักบันทึกเหตุการณ์ตามเสาหินหรือผนังปิรามิด เป็นต้น

9 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ2 ตุลาคม 2554 เวลา 12:23

    มีปรพโยชนมาก ขอบคุนมาก่ะ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณมากค่ะ

    ตอบลบ
  4. มีประโยชน์ค่ะ น่าจะมีภาพประกอบด้วยนะคะ

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ5 มกราคม 2555 เวลา 18:17

    ข้อมูลแน่นมากเลย

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ4 มีนาคม 2555 เวลา 12:26

    ชนชั้นมัมมี่ละครับอยากได้มากๆๆ

    ตอบลบ
  7. ขอบคุณค่ะ่ มีประโยชน์มาก มีภาพประกอบด้วยจะขอบคุณมาก

    ตอบลบ
  8. ไม่ระบุชื่อ12 กรกฎาคม 2555 เวลา 21:56

    ครูพลอยยย^^'

    ตอบลบ
  9. สนุหมากเลยมีความรู้เพียบ

    ตอบลบ