Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บางลำพู ถนนแห่งวัฒนธรรม


หากย้อนไปถึง เรื่องราวอันเป็นที่มาของชื่อ จะได้รับคำตอบจากคนเก่าแก่ ซึ่งกล่าวถึง พื้นที่อันเป็นเสน่ห์ของบางกอกแห่งนี้ว่า เป็นที่ลุ่มต่ำ แต่เดิมมีน้ำท่วมขังตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีต้นลำพูขึ้นอยู่หนาแน่นจึงเรียกว่า บางลำพู
นอกจากนั้น สถานที่ดังกล่าว ยังมีการกล่าวถึงอยู่เป็นประจำ ถึงเรื่องราวของต้นลำพูต้นสุดท้าย ซึ่งค้นพบในช่วงการเตรียมงานถนนคนเดินในเดือนมกราคม 2541 โดยมีการค้นพบจากอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ และบางกอกฟอรั่ม ซึ่งได้พากันสำรวจประวัติความเป็นมาของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เดินสำรวจต้นลำพู ซึ่งคาดว่าน่าจะยังมีหลงเหลืออยู่

ภายหลังจากการค้นพบครั้งนั้น จึงมีการดำเนินโครงการอนุรักษ์ต้นลำพู และที่สำคัญที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้ทางราชการอนุรักษ์ไว้ให้ดีที่สุด ในการนี้ ผู้ว่ากรุงเทพมหานครและทางส่วนกลางจึงได้หารือเพื่อปรับปรุงโครงการสร้างเขื่อนหรือตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่แต่เดิมจะสร้างผลกระทบกับระบบนิเวศน์ของต้นลำพู โดยการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตกันน้ำท่วมของกทม.จะทำให้น้ำจากแม่น้ำไม่สามารถไหลเข้ามาหล่อเลี้ยงไม้ชายเลนอย่างลำพูต้นนี้ได้ ดังนั้น โครงการนี้จึงได้ปรับแก้เขื่อน ให้สามารถมีประตูน้ำปิดเปิดเพื่อระบายน้ำ ทำให้ระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด

จากการปรับโครงการทำเขื่อน หน่วยงานรัฐจึงมีความคิดริเริ่ม ในการปรับปรุงบริเวณต้นลำพูและป้อมพระสุเมรุ เพื่อก่อสร้างเป็นสวนสาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรก ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวาระครบรอบ 72 พรรษา ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานชื่อสวนสาธารณะแห่งใหม่ว่า “สวนสันติชัยปราการ”

หลังจากนั้นพื้นที่ริมถนนพระอาทิตย์ จึงมีการเกิดขึ้นของกลุ่มร้านอาหารริมถนนพระอาทิตย์ ในลักษณะร้านอาหารตกแต่งใหม่ ที่เน้นกลุ่มนักศึกษาและนักท่องเที่ยว นอกจากนั้นยังมีร้านค้าประเภทอื่นๆเช่น ร้านหนังสือ ร้านกาแฟ ร้านเครื่องประดับ ทยอยเปิดเพิ่มขึ้น โดยในย่านนี้ มีกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ศิลปินและปัญญาชนมาพบปะพูดคุยและทานอาหารกันอยู่เป็นประจำ

พื้นที่แห่งการสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ เป็นที่ตั้งของชุมชนบางลำพู ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่มีความเป็นมายาวนาน ชุมชนนี้เกิดอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีหมู่บ้านเล็กๆ ของชาวสวนตั้งอยู่ห่างๆ ริมแม่น้ำและปากคลอง และมีวัดเก่าในสมัยนั้น คือ วัดกลางนา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดชนะสงคราม”


นอกจากนั้นยังประกอบด้วยชุมชนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลานานแยกออกเป็น 4-5 ชุมชนหลัก ได้แก่ ชุมชนตรอกไก่แจ้-เขียนนิวาสน์ ตั้งอยู่บริเวณมุมถนนริมป้อมพระสุเมรุ ที่ดินส่วนใหญ่ของชุมชนนี้ เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ชุมชนนี้เป็นชุมชนเก่าแก่กว่า 80 ปี บ้านพักหลายหลังดัดแปลงเป็นเกสเฮาส์

ชุมชนมัสยิดจักรพงศ์ ตั้งอยู่ถัดจากชุมชนตรอกไก่แจ้-เขียนนิวาสน์มาทางทิศใต้ ติดกับถนนพระสุเมรุและถนนจักรพงศ์ เป็นที่ดินของเอกชนซึ่งอยู่กันมานานปีแล้ว เจ้าของที่ดินเป็นประธานประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม ชุมชนนี้นับถืออิสลามกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ที่ดินส่วนหนึ่งเป็นที่ดินสาธารณะ บ้านเรือนในชุมชนนี้ปลูกเป็นห้องแบ่งให้เช่า มีผู้เช่ามาอยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวค่อนข้างหนาแน่นแออัด

ชุมชนวัดสังเวชวิทยาราม กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมศาสนาและเอกชน ชุมชนนี้มีอายุเก่ากว่า 25 ปี การปลูกสร้างอาคารส่วนใหญ่เป็นตึกแถวอาคารพาณิชย์ และบ้านไม้สองชั้น ที่ชุมชนวัดสังเวชนี้เป็นที่ตั้งของสำนักดุริยประณีตที่สืบทอดมรดกดนตรีไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 มาจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนวัดสามพระยา เป็นชุมชนเก่า เคยเป็นที่อยู่ของกลุ่มคนชั้นปกครอง ปัจจุบันเป็นที่ดินของวัด มีเนื้อที่ 4 ไร่เศษ และชาวชุมชนจะเช่าที่ดินวัดเป็นรายปี โดยส่วนมากปูลกบ้านเพื่ออยู่อาศัย แต่มีบางส่วนปูลกให้เช่า

ปัจจุบันนี้ยังมีชุมชนต่าง ๆ อีก อาทิเช่น ชุมชนบวรรังสี ชุมชนตรอกข้าวสาร ชุมชนรอบตลาดยอด และตลาดนานา นอกจากนั้นยังมีชุมชนอื่นๆ ที่เลือนหายไปได้ไม่นาน เช่น ชุมชนวัดชนะสงคราม ซึ่งถูกไฟไหม้ถึง 2 ครั้ง และกระจัดกระจายย้ายไปอยู่แห่งอื่นๆ อย่างไรก็ตามย่านบางลำพู ยังคงเป็นอีกหนึ่งความงามและเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพมหานครจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น