วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
เที่ยวชมย่านเก่าในกรุงเทพฯ “ตลาดพลู”
วันนี้จะชวนไปชมย่านเก่าในกรุงเทพฯ นั่นก็คือย่าน “ตลาดพลู” บริเวณถนนเทอดไทในฝั่งธนบุรีนี่เอง
แน่นอนว่าชื่อ “ตลาดพลู” ย่อมต้องมีที่มาที่ไป โดยแต่เดิมนั้นพื้นที่ริมคลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวงนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีนมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี แต่เมื่อมีการย้ายราชธานีไปยังฝั่งพระนคร ชาวจีนบางส่วนก็โยกย้ายบ้านเรือนไปย่านสำเพ็ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของชุมชนชาวจีน และก็ได้มีชาวอิสลามเข้ามาอาศัยแทนที่
และเป็นชาวอิสลามนี่เองที่เป็นผู้ริเริ่มทำสวนพลูในย่านนี้ขึ้น จนต่อมาทั้งชาวอิสลามและชาวจีนต่างก็ทำสวนพลูเป็นอาชีพอย่างแพร่หลาย จนบริเวณริมคลองบางหลวงนี้กลายเป็นตลาดซื้อขายพลู และเกิดเป็นชุมชนเก่าแก่ที่เรียกกันว่า “ตลาดพลู” มาแต่บัดนั้น มาถึงปัจจุบันแม้จะหาพลูไม่ได้แล้วสักต้นในย่านนี้ แต่ชื่อของตลาดพลูก็ยังคงอยู่
รู้ถึงที่มาของชื่อตลาดพลูแล้ว เราก็มาเริ่มเดินเท้าท่องเที่ยวในสถานที่สำคัญๆ ของย่านตลาดพลูกันเลยดีกว่า เริ่มจากที่แรก ที่ “วัดอินทารามวรวิหาร” หรือวัดบางยี่เรือนอก วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา วัดแห่งนี้มีความสำคัญสูงสุดในสมัยกรุงธนบุรี โดยหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี พระองค์ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแต่จะทรงบูรณะวัดแห่งนี้เท่านั้น พระองค์ยังทรงเสด็จมาประกอบพระราชกุศล และปฏิบัติกรรมฐานอยู่เสมอๆ โดยยังมีพระราชอาสน์ที่พระองค์ทรงประทับทรงศีลอยู่ภายในวัดด้วย
เมื่อเดินเข้าไปภายในวัดแล้วก็จะเห็นพระอุโบสถหลังใหญ่โตสวยงาม เป็นพระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในประดิษฐานพระพุทธชินวร พระประธานสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย ส่วนด้านหน้าพระอุโบสถ ก็จะมีพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินในท่าประทับนั่ง มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา และหากเดินมาด้านหลังวัดบริเวณที่ติดกับคลองบางหลวง ก็จะพบกับพระอุโบสถหลังเก่า และวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งมีพระบรมรูปของพระองค์อยู่หน้าวิหารอีกเช่นกัน เป็นพระบรมรูปทรงม้า พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือพระแสงดาบชูขึ้นฟ้า ลักษณะเดียวกับพระบรมรูปตรงวงเวียนสมเด็จพระเจ้าตากสิน
สักการะ พระบรมรูปของท่านแล้ว ฉันเดินเข้าไปในพระวิหารสมเด็จฯ ภายในนั้นนอกจากจะมีพระพุทธรูปเหลืองอร่ามอยู่หลายองค์แล้ว ก็ยังมีแท่นพระบรรทมไสยาสน์ ซึ่งเป็นพระราชอาสน์สำหรับประทับแรมทรงศีลและทรงกรรมฐาน ของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และยังมีพระบรมรูปจำลองขณะที่พระองค์กำลังทรงกรรมฐานอยู่ด้วย
ข้างพระวิหารฯ นั้นก็เป็นพระอุโบสถหลังเก่า ภายในมีพระประธานซึ่งใต้ฐานชุกชีนั้นบรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จพระเจ้าตาก สินฯ ไว้ด้วย ส่วนเจดีย์สีทองสององค์ด้านหน้านั้นก็เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฐิของ พระองค์และพระอัครมเหสี
ชมสิ่งต่างๆ ภายในวัดอินทารามเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่อยากให้พลาดชมของดีที่อยู่ด้านหลังวัด หากเดินออกไปตรงท่าน้ำของวัดก็จะเห็นศาลาท่าน้ำหลังเล็กสีเขียวอ่อนมีลวดลาย แบบขนมปังขิง ศาลาท่าน้ำนี้มีชื่อว่าศาลาภิรมย์ภักดี ศาลาแห่งนี้ก็คือท่าเรือเมล์ขาว ซึ่งเป็นเรือเมล์ของพระยาภิรมย์ภักดีที่วิ่งรับส่งคนในคลองบางหลวงสมัยก่อน ตอนนี้ก็เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวที่ท่าน้ำวัดอินฯ นี่แหละ
และเมื่อออกมาจากท่าน้ำแล้วอย่าลืมหันไปมองทางซ้ายมือ จะเห็นห้องแถวเล็กๆ ที่อยู่ติดกับศาลาท่าน้ำ ห้องแถวห้องนี้มีประตูที่แปลกไม่เหมือนใคร หากมองเผินๆ อาจจะเห็นเพียงแค่ประตูลูกกรงไม้ธรรมดา แต่มองดีๆ จะเห็นว่าไม้นั้นทำเป็นรูปทรงตะเกียบ 4 อันวางห่างกันพอประมาณ คนลอดออกไม่ได้ แต่หากต้องการจะออกก็จะต้องยกตะเกียบซี่หนึ่งซึ่งหนักไม่ใช่เล่นออกเสียก่อน ประตูแบบนี้ฉันก็เพิ่งจะเคยเห็นเป็นครั้งแรกนี่แหละ แต่ชาวจีนแต้จิ๋วเขานิยมกัน สมัยนี้คงหาดูได้ยากแล้วล่ะ
จากวัด อินทารามฉันเดินต่อไปโดยใช้เส้นทางเล็กๆ ริมคลองบางหลวงด้านหลังวัด ผ่านตลาดวัดกลางซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังวัดจันทาราม เพื่อจะเดินต่อไปยัง “วัดราชคฤห์วรวิหาร” แต่ก่อนจะเดินทางไปถึงฉันก็เสียเวลากับตลาดวัดกลางไปมากพอดู เพราะนอกจากจะแวะกินชากาแฟร้อนๆ กินข้าวเหนียวหมูทอดหอมๆ เดินชมตลาดสดที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาแล้ว ก็ยังเพลินกับการได้เห็นห้องแถวไม้เก่าๆ ดูคลาสสิค ห้องแถวเหล่านั้นบ้างก็เป็นร้านสังฆภัณฑ์ ร้านขายขนม รวมทั้งร้านขายยาหน้าตาโบราณที่ขายยาสมุนไพร น่าดูไม่น้อย
จากตลาดวัดกลางฉันก็เดินทะลุมายังวัดราชคฤห์ หรือวัดบางยี่เรือใน บางคนก็เรียกวัดบางยี่เรือมอญ เพราะสร้างโดยนายกองมอญในสมัยอยุธยา และมีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรี โดยพระยาสีหราชเดโช หรือที่เรารู้จักกันในชื่อพระยาพิชัยดาบหักนั่นเอง
ภายในวัดราชคฤห์นี้มีสิ่งสำคัญก็คือ เจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่นำมาจากกรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย ส่วนพระปรางค์อีกองค์หนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้กันก็เป็นพระปรางค์ที่บรรจุอัฐิ ของพระยาพิชัยดาบหัก ที่ตามประวัติศาสตร์นั้น ท่านได้ขอตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสินไปด้วย
นอกจากนั้น หากใครเคยนั่งรถผ่านวัดราชคฤห์บนถนนเทอดไท หลายคนก็คงจะเห็นสิ่งก่อสร้างที่ลักษณะคล้ายภูเขาตั้งอยู่บริเวณหน้าวัด สิ่งก่อสร้างที่ว่านั้น ที่จริงแล้วเรียกว่า “เขามอ” หรือภูเขาจำลองที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน และบนยอดเขามอนั้นก็มีพระมณฑป ซึ่งภายในมีพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่ สามารถขึ้นไปกราบไหว้ด้านบนได้
แต่ ที่แปลกที่สุดก็คือ ที่วัดราชคฤห์แห่งนี้มี พระพุทธรูปนอนหงาย!! อย่าเพิ่งตกใจว่าใครอุตริไปสร้างพระปางใหม่ขึ้น จริงๆ แล้วพระพุทธรูปองค์นี้เป็นปางถวายพระเพลิง ซึ่งตามพุทธประวัตินั้น เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ศิษยานุศิษย์ก็ได้นำพระสรีระของพระองค์มาถวายพระเพลิง แต่พระสรีระของพระองค์ไม่ยอมติดไฟ เนื่องจากพระองค์ต้องการจะรอให้พระมหากัสสปะเดินทางมาถึงเสียก่อน
พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงที่วัดราชคฤห์นี้มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปนอนหงาย พระเศียรหนุนพระเขนย พระกรทั้งสองข้างแนบพระองค์ หลับพระเนตร และมีพระมหากัสสัปปะนั่งพนมมืออยู่ที่พระบาท ใครสนใจก็ไปกราบสักการะกันได้
จากวัดริมฝั่งคลองบางหลวง คราวนี้เดินข้ามถนนมายังฝั่งตรงข้ามที่ “วัดโพธิ์นิมิตรมหาสีมาราม” กันบ้าง วัดแห่งนี้โดดเด่นด้วยความที่เป็นวัดฝ่ายมหานิกายที่มีการผูกพัทธสีมาสอง ชั้น คือพัทธสีมาและมหาพัทธสีมา ซึ่งก็หมายถึงว่ามีจะมีอาณาเขตในการทำสังฆกรรมที่กว้าง อีกทั้งวัดแห่งนี้ยังมีความน่าสนใจตรงที่จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถไม่ได้เป็น เรื่องราวพุทธประวัติหรือชาดกอย่างวัดอื่นๆ แต่เป็นเรื่องราวการอัญเชิญกิ่งพระศรีมหาโพธิ์จากอินเดียมายังเกาะลังกา อีกทั้งยังมีภาพงานประเพณีต่างๆ ของไทย โดยมีฉากเป็นวัดต่างๆ ที่เราคุ้นเคยกันดีเช่นวัดสุทัศน์ฯ วัดราชบพิธฯ วัดพระแก้ว เป็นต้น
จริงๆ แล้ววัดในแถบตลาดพลูนี้ยังมีอยู่อีกหลายวัดด้วยกัน แต่ขอเดินชมเพียงเท่านี้ก่อน เพราะตอนนี้ฉันกำลังจะเดินเท้าไปยัง “สถานีรถไฟตลาดพลู” สถานีรถไฟเล็กๆ แต่พลุกพล่านไปด้วยผู้คนมากมาย ทางรถไฟสายนี้วิ่งตรงจากวงเวียนใหญ่ ไปถึงมหาชัย จังหวัดสมุทรสงครามโน่น ฉันไปด้อมๆ มองๆ ดูราคาตั๋วรถไฟแล้วก็พบว่าถูกอย่างไม่น่าเชื่อ จากตลาดพลูไปวงเวียนใหญ่ 3 บาท ไปบางบอน 5 บาท ไปมหาชัย 10 บาท เท่านั้นเอง
และนอกจากผู้คนที่มารอรถไฟแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริเวณสถานีรถไฟตลาดพลูมีผู้คนพลุกพล่านก็คือ เพราะบริเวณนี้เป็นแหล่งรวมร้านอาหารสำหรับคนเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว หอยทอดผัดไท ข้าวราดแกงต่างๆ ที่นอกจากจะนั่งกินที่ร้านได้แล้วก็สามารถซื้อใส่ถุงหิ้วขึ้นรถไฟได้เลย
และไม่ไกลจากสถานีรถไฟตลาดพลูนักก็มีร้านอาหารขึ้นชื่อหลายร้านด้วยกันที่นักชิมยกให้เป็นร้านอร่อยของตลาดพลู ไม่ว่าจะเป็น ร้านขนมหวานตลาดพลู ร้านหมี่กรอบเก่าแก่และอร่อยมาตั้งแต่สมัย ร.5 ร้านน้ำใบบัวบกเย็นชื่นใจ ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อเปื่อยน้ำซุปเข้มข้น และอีกมากมายหลายร้าน ใครสนใจจะไปชิมก็เชิญได้ตามอัธยาศัย
และหากเดินข้ามถนนมาอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านในแถบนั้นเรียกกันง่ายๆ ว่า ใต้สะพานตลาดพลู ซึ่งสะพานที่ว่านั้นก็คือถนนรัชดาภิเษกที่ลอยพาดผ่านอยู่ด้านบน ในยุคหลังๆ บริเวณถือเป็นศูนย์กลางของตลาดพลูก็ว่าได้ คือมีทั้งตลาดและโรงภาพยนตร์ถึงสองโรงด้วยกัน คือโรงภาพยนตร์ศรีนครธน และโรงภาพยนตร์ศรีตลาดพลู สำหรับโรงภาพยนตร์ศรีนครธนนั้น เขาเรียกกันว่าวิกสูง เพราะส่วนที่เป็นโรงหนังนั้นอยู่ชั้นบน ด้านล่างก็เป็นตลาด ดังนั้นโรงภาพยนตร์ศรีตลาดพลูจึงเรียกกันว่าวิกเตี้ย แต่ตอนนี้ก็ไม่มีโรงหนังเหลือให้เห็นแล้วล่ะ และหากใครยังไม่เมื่อย จะเดินมาทางด้านหลังตลาดพลู ชมตึกแถวเก่าสองชั้นสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยก็ได้ ยังคงได้บรรยากาศเก่าๆ ของย่านตลาดพลูแบบดั้งเดิม
ความเป็นตลาดพลูที่คึกคักในอดีตเริ่มลดน้อยถอยลงหลังจากที่เกิดระบบขนส่งมวล ชนใหม่ๆ ขึ้น ทั้งรถไฟ ถนน และรถยนต์ ความนิยมในการกินหมากพลูที่น้อยลง อีกทั้งการเกิดห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตสมัยใหม่ขึ้น ก็ล้วนมีส่วนทำให้ตลาดพลูในวันนี้ไม่ใช่ตลาดพลูที่รุ่งเรืองเหมือนสมัยก่อน แต่หากได้มาเดินดูอย่างใกล้ชิดแล้วละก็ ฉันว่ากลิ่นอายของตลาดพลูก็ยังไม่จางหายไปเสียทั้งหมดหรอก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น