Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อารยธรรมโรมัน






อารยธรรมโรมัน เป็นอารยธรรมที่สืบเนื่องมาจากอารยธรรมกรีก โดยชาวอิทรัสกัน (Etruscan) ซึ่งมีถิ่นเดิมอยู่ในเอเชียไมเนอร์อพยพเข้าในแหลมอิตาลี นำเอาความเชื่อและศิลปวัฒนธรรมของกรีกเข้ามาด้วย ต่อมาบรรพบุรุษของชาวโรมันคือ ละติน ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำไทเบอร์ (Tiber) ได้ขับไล่กษัตริย์อิทรัสกันออกไป ชาวละตินรวมตัวและชุมนุมกันบริเวณที่เรียกว่า ฟอรัม (Forum) ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของเมืองและเป็นจุดเริ่มต้นของกรุงโรมในเวลาต่อมา ชาวโรมันจึงรับเอาอารยธรมของชาวกรีกจากชาวอิทรัสกันมาเป็นต้นแบบอารยธรรมของตนด้วย
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของโรมันได้เปรียบกว่ากรีกหลายประการ คือ มีที่ราบอันกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์เพาะปลูกได้เต็มที่ หุบเขาใกล้เคียงมีป่าไม้และเหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์ ที่ตั้งของกรุงโรมอยู่ห่างจากทะเล 15 ไมล์ เหมาะกับการทำการค้าทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กรุงโรมตั้งอยู่ในทำเลที่ความเหมาะสมทางยุทธศาสตร์ คือ สามารถใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางคมนาคม มีภูเขาและหนองน้ำกีดขวางผู้บุกรุก ประมาณ 100 ปีก่อนคริสตกาล โรมันได้รวบรวมดินแดนโดยรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไว้ในอำนาจ ปัจจัยที่สนับสนุนการแพร่อำนาจของอาณาจักรโรมันคือ การสร้างถนนที่มั่นคงถาวรไปยังดินแดนที่ยึดครอง ทำให้เกิดความคล่องตัว การขยายกองทัพและการคมนาคมขนส่ง การสร้างถนนจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายอำนาจและสร้างความมั่นคงให้กับจักรวรรดิโรมัน

ประวัติศาสตร์และอารยธรรมโรมัน

อิทธิพลที่ส่งต่อมาสู่การก่อกำเนิดอารยธรรม
โรมก่อตัวจากหมู่บ้านทางภาคกลางของอิตาลี อุปนิสัยของโรมันคือ ความเคร่งขรึมและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ อย่างช้า ๆ แต่มั่นคง ความสามารถทางทหารของโรมันอยู่ที่ความอดทนมากกว่ายุทธวิธีที่ฉลาดปราดเปรื่อง
ระยะแรกสำหรับประวัติศาสตร์โรมนั้นค่อนข้างมืดมน ราว 750 ปีก่อน ค.ศ. มีผู้อพยพมาตั้ง ถิ่นฐานแถบภูเขาพาเลนไตน์ใกล้แม่น้ำไทเบอร์ ต่อมาประมาณ 600 ปี ก่อน ค.ศ. บรรดาผู้อพยพต่างรวมตัวกันตั้งนครรัฐแห่งโรมขึ้น ทำเลของนครรัฐตั้งอยู่ในที่ซึ่งเหมาะสม เหมาะสำหรับความเจริญของโรมในอนาคตทางเหนือของโรมติดต่อกัยดินแกนที่เรียกว่า อีทรูเรีย คือ ทัสคานีปัจจุบัน อีทรูเนียเป็นที่อยู่อาศัยของพวกที่มีอารยธรรมสูงเรียกว่า อีทรัสกัน ซึ่งเป็นพวกที่วางรูปวัฒนธรรมของชาวโรมันแต่เริ่มแรก
- เผ่าพันธุ์ที่มีอำนาจเหนือดินแดน ชาวอีทรัสกันเป็นพวกที่รับอารยธรรมกรีกมาผสมผสานกับอารยธรรมของตนและส่งต่อให้กับโรม การปกครองของโรมในระยะแรกอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ที่มีพื้นเพเป็นอิทรัสกัน ความเป็นผู้นำที่มีความสามารถและมุ่งต่อการรุกราน ทำให้ชาวโรมันเป็นชาติที่ทรงอำนาจเหนือชนชาติอื่น ๆ ในละตินอุมชุมชนโรมันเจริญทั้งกำลังและความมั่งคั่ง และแล้วก็ได้มีการสร้างวิหารใหญ่โตตามแบบสถาปัตยกรรมของอีทรัสคันขึ้นบนภูเขาแห่งหนึ่งสำหรับเทพเจ้าจูปีเตอร์ของชาวโรมัน
ในราว 509 ก่อน ค.ศ. ขุนนางโรมันประสบความสำเร็จในการล้มกษัตริย์อีทรัสกัน และเปลี่ยนแปลงระบอบกษัตริย์มาเป็นสาธารณรัฐปกครองโดยชนชั้นขุนนาง มีประมุข 2 คน แทนที่กษัตริย์เรียกว่ากงสุลสภาขุนนาง (สภาเชเนท) เลือกตั้งกงสุลเป็นประจำทุกปี กงสุลปกครองโดยมีสภาขุนนางเป็นที่ปรึกษาการปกครองนั้น แม้จะปกครองในนามชาวโรมันแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของชนชั้นสูง คือ แพทริเชียน ส่วนชนชั้นต่ำหรือเพลเบียนนั้น เกือบไม่มีสิทธิทางการเมืองเลย การแต่งงานระหว่าง เพลเบียนกับแพทริเชียนยังเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาดในระยะแรก ๆ
พวกเพลเบียนค่อย ๆ ยกฐานะของตน เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง ในชั้นแรกพวกนี้รวมกลุ่มกันจัดตั้งสภาที่ปรึกษา ซึ่งต่อมากลายเป็นองค์กรสำคัญทางการเมืองที่เรียกว่าสภาของเผ่า พวกเพลเบียนเลือกตัวแทนของตนเรียกว่า ทรีบูน ให้เป็นปากเสียงและเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของตนในรัฐบาลซึ่งคุมโดยแพทริเชียน ทรีบูนเป็นพวกที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน
เมื่อประมาณ 450 ก่อน ค.ศ. ได้มีการนำกฎหมายที่สืบทอดกันมาตามประเพณีมาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร คือ กฎหมายสิบสองโต๊ะ กฎหมายนี้ช่วยพิทักษ์บรรดาเพลเบียนให้พ้นจากอำนาจตามอำเภอใจของกงสุลที่มาจากชนชั้นแพทริเชียน กฎหมายสิบสองโต๊ะนี้นับว่ามีความสำคัญมากต่อพัฒนาการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของโรมัน
การพิทักษ์ทางกฎหมาย ทำให้เพลเบียนสามารถจัดการกับเรื่องการจัดสรรที่ดินให้พวกตนได้รับการแบ่งปันบ้าง สภาของเป่าของพวกเพลเบียนได้รับอำนาจในการริเริ่มร่างกฎหมายและมีบทบาทในการปกครองโรมัน ช่วงนี้การแต่งงานกลายเป็นสิ่งไม่ต้องห้าม ต่อมามีกฎหมายที่รองรับให้เพลเบียนมีบทบาทในการปกครองมากขึ้น มาตรการเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโรมไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสำเร็จบริบูรณ์ในปี 287 ก่อน ค.ศ.
การแผ่อำนาจของโรมนั้น มีทั้งการเป็นพันธมิตรและการทำสงครามกับพวกที่เป็นศัตรู อาณาจักรของโรมขยายตัวไปเรื่อย ๆ แต่ชาวโรมันมักจะใจกว้างต่อบรรดาชาติอิตาลีที่ตนเข้าปกครอง โดยยอมให้มีการปกครองตนเองมากพอสมควร จึงมักประสบความสำเร็จในการรักษาความสวามิภักดิ์ไว้ได้ ในเวลาต่อมาเมื่อพิสูจน์ว่าคนในปกครองจงรักภักดีก็จะยอมให้เป็นพลเมืองโรมัน ด้วยวิธีการนี้โรมจึงสามารถสร้างจักรวรรดิที่มีอายุยืนยาวกว่าจักรวรรดิเอเธนส์ของเพริเคลส เมื่อประมาณ 265 ก่อน ค.ศ. โรมอยู่ในฐานะที่ทัดเทียมกับคาร์เธจและนครรัฐทายาทของกรีก คือ เป็นหนึ่งในมหาอำนาจของทะเล เมดิเตอเรเนียน


ลำดับเหตุการณ์พัฒนาการของอารยธรรม

โรมันเป็นพวก อินโดยูโรเปียน ย้ายเข้ามาอยู่ใน แหลมอิตาลี กลุ่มที่อพยพเข้ามา เรียกรวมๆว่า อิตาลิก ( Italic) แต่กลุ่มคนที่สำคัญส่วนใหญ่คือ พวกลาติน ซึ่งเอาชนะชาวพื้นเมืองอีทรัสกัส และสร้างอาณาจักรโรมขึ้นมา รวมทั้งกรุงโรมด้วย
2. ชาวโรมันมีนิสัยเด่น คือ ชอบทำการรบ และการปกครอง เป็นพวกมีวินัย เป็นนักคิด นักปฏิบัติ
3. การปกครองของโรมันแบ่งออกเป็น 2 ยุค ได้แก่
3.1 โรมันในสมัยสาธารณรัฐ
• มีผู้นำคนสำคัญ คือ จูเลียส ซีซ่า ( Julius Caesar) มีความสามารถด้านการรบมากสามารถแผ่ขยายอณาเขต รบชนะ กรีก อียิปต์ เอเชียไมเนอร์ แอฟริกา และ เสปน ได้หมด
3.2 โรมันในสมัย จักรวรรดิ
• เริ่มต้นขึ้นเมื่อตอนที่ออคตาเวียน ขึ้นปกครองโรม จึงเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบกษัตริย์ และสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ ชื่อว่า ออกุสตุส ซีซ่าร์
• สมัยออตเตเวียนและจักรพรรดิ์ต่อมาอีก 4 พระองค์ โรมันเจริญสูงสุดและได้ชื่อว่าเป็นสมัยแห่ง “ สันติภาพโรมัน ”
• หลังจากนั้นโรมันก็ถูกชนเยอรมันเผ่า ก๊อด ( Goth) มารุกราน จักรพรรดิ์คอนสแตนติน จึงต้องแยก โรมันออกเป็น 2 ส่วน
( Goth เป็นชื่อเรียกชนเผ่าหนึ่งที่เอยู่ตอนเหนือของยุโรป แบ่งเป็น 2 เผ่า คือ
1. VisiGoth ตะวันตก (อยู่ในแถบฟินแลนด์และ สวีเดน)
2. Ostrogoths ตะวันออก (เยอร์มัน/โปแลนด์) )
• ฝั่งตะวันตก มีศูนย์กลางอยู่ที่ กรุงโรม
• ฝั่งตะวันออก มีศูนย์กลางอยู่ที่ กรุงคอนสแตนติโนเปิล ( เดิมชื่อ ไบแซนไทน์ ปัจจุบันคือ อิสตันบลู ของตุรกี )
ค.ศ. 476 กรุงโรมได้ สลายลง เพราะการโจมตีของชนเยอรมัน ติวโตนิก
4. อารยธรรมเด่นๆ
4.1 ศิลปะโรมันได้รับอิทธิพลศิลปกรรมจากกรีก แต่ก็ได้พัฒนาให้มีรูปแบบเป็นของตัวเอง แสดงออกถึงความยิ่งใหญ่ โอ่อ่าหรูหรา ซึ่งต่างจากกรีกที่มีรูปแบบเคร่งครัดตายตัว ประณีต และแสดงออกซึ่งจิตวิญญาณมากกว่าโรมัน ทั้งนี้เพราะปรัชญาแห่งการดำเนินชีวิตต่างกัน ในขณะที่กรีกมีพื้นฐานปรัชญาเน้นพุทธิปัญญา ( Intellectual) เป็นเป้าหมายสูงสุด แต่โรมันมีเป้าหมายอยู่ที่ความสุข เพราะมีหลักปรัชญาแบบประโยชน์นิยมและสุขนิยมเป็นพื้นฐาน โรมันจึงสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อรับใช้จักรพรรดิ์และประชาชน โรมันเป็นนักดัดแปลงที่เก่งกาจ มรดกของโรมันได้เหลือตกทอดให้แก่คนในยุคปัจจุบันได้ใช้ประโยชน์มีเป็นจำนวนไม่น้อย อาณาจักรโรมันจึงเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกที่น่าศึกษาและอนุรักษ์เป็นมรดกโลก
4.2 โรมันเป็นพวกที่ไม่นิยมการปั้นรูปปั้นเน้นสัดส่วนแบบกรีก แม้ว่าจะได้รับอิทธิพลทางศิลปะจาก กรีกแต่โรมันก็นำ มาปรับใช้ให้เหมาะสมและเน้นเรื่องการใช้ประโยชน์มากที่สุด ชาวโรมันจึงมีความสุขกับวัตถุนิยม และมีความภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของตน
4.3 มีการประมวลกฎหมาย12โต๊ะ คือกฏหมาย เน้นเรื่องความเสมอภาคของประชาชนทุกคนในโรมัน และเป็นรากฐานของกฎในปัจจุบันนี้
4.4 มีการสร้างสถานที่เด่นๆหลายอย่าง เช่น
• สนามกีฬาโคลอสเซียม
• ประตูชัย
• สะพานและท่อลำเลียงน้ำ
4.5 ถ้าสังเกตดีๆจะรู้ว่า อาคารส่วนใหญ่ของชาวโรมันจะเป็นรูปโค้ง หรือ หลังคาเป็นรูปโดม เพราะเชื่อว่า วงกลม เป็นรูปแบบที่ ไม่มีที่สิ้นสุดเปรียบเหมือนพระเจ้าที่ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีที่สิ้นสุด
4.6 วรรณกรรมที่เด่นๆ เช่น มหากาพย์ อีเนียด

การแบ่งชนชั้นในสังคมและระบบการปกครอง
สมัยสาธารณรัฐ(509-27 BC)
หลังจากพิชิตอีทรัสกันได้ก็มีการขยายดินแดนออกไปในแหลมอิตาลี เนื่องจากมีความสามารถทางการทหารและการปกครอง การปกครองใช้ระบอบสาธารณรัฐแทนระบอบกษัตริย์ตามแบบอารยธรรมโบราณอื่นๆ พลเมืองโรมันจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆคือกลุ่มที่เป็นผู้บริหารและชนชั้นปกครองกับราษฎรธรรมดาทั่วไป ในสมัยแรกๆกลุ่มผู้บริหารและชนชั้นปกครองจะมีอำนาจในการปกครองและออกกฎหมายมากในขณะที่ราษฎรธรรมดาแทบไม่มีสิทธิเหล่านี้เลย จนกระทั่งราวปี 450 BC กลุ่มพลเมืองธรรมดาจึงเริ่มมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น มีผู้แทนของตนเข้าไปมีส่วนร่วมในระบอบการปกครองในระบบสภาผู้แทน
ระบอบการปกครองทำให้โรมันมีความแข็งแกร่ง และขยายอำนาจออกไปเรื่อยๆทั้งทางบกและทางทะเล ทางทะเลในขณะนั้นฟินิเชียที่มีเมืองหลวงชื่อ คาร์เธจ (ปัจจุบันคือเมือง Tunis ในประเทศตูนิเซีย)ซึ่งกำลังรุ่งเรืองทางด้านการค้าอยู่แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในขณะนั้น ได้ขยายอิทธิพลมาจนถึงเมือง Syracuse (บริเวณอาณาจักรของกรีก)ของโรมัน สงครามระหว่างโรมันและฟินิเชียจึงเริ่มขึ้นในราว 264 BC เรียกว่าสงครามพิวนิค(Punic War) มีการรบกันใหญ่ๆ 3 ครั้งผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะจนกระทั่งในที่สุดโรมันก็สามารถปราบคาเธจอย่างราบคาบได้ในปี 149-146 BC จากนั้นจึงเริ่มขยายดินแดนไปทางกรีกและยึดครองกรีกได้ราว 146 BC
ชาติโรมันมีสงครามเพื่อขยายดินแดนออกไปเรื่อยๆ มีอาณาเขตกว้างขวางขึ้นปัญหาด้านเศรษฐกิจและการปกครองก็ตามมา มีความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น มีการทุจริตคอรับชัน มีความขัดแย้งภายในระหว่างผู้นำกลุ่มต่างๆจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ทำให้ระบบสาธารณรัฐซึ่งผู้นำมาจากการเลือกตั้งต้องพังพินาศและเปลี่ยนมาเป็นระบอบจักรวรรดิซึ่งมีผู้นำคือจักรพรรดิ์แทน
สงครามกลางเมืองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองครั้งสำคัญคือสงครามระหว่างจูเลียส ซีซาร์(Jurlius Caesar 102-44 BC)กับปอมเปย์(Pompey) ซึ่งร่วมกับ Crassus อีกคน ทั้งสามร่วมทำการปกครองโรม ต่อมาซีซาร์ไปรบและได้ชัยในแคว้นโกลซึ่งเป็นเขตประเทศฝรั่งเศสและเบลเยียมในปัจจุบัน จากนั้นได้ยกทัพข้ามช่องแคบอังกฤษเพื่อไปปราบพวกเคลต์ ไบรตัน(Celtic Britons)ซึ่งให้ความช่วยเหลือพวกเคลต์ในแคว้นโกล ช่วง 49 BC ซีซาร์ได้รับคำสั่งจากสภาให้ยึดครองดินแดนอิตาลี ในระหว่างที่ซีซาร์ออกไปรบตามแคว้นต่างๆนั้นปอมเปย์คิดที่จะรวบอำนาจไว้ ซีซาร์จึงเข้าต่อสู้ได้ชัยต่อกองทัพปอมเปย์ในกรีซ ส่วน แครสซุสได้ตายก่อนในการรบตั้งแต่ปี 53 BC แล้ว จากนั้นซีซาร์รบขยายดินแดนเข้าไปในอียิปต์ จนในยุคนี้เกิดตำนานความสัมพันธ์ระหว่างซีซาร์และนางคลีโอพัตราแห่งราชวงศ์ปทอเลมีของอียิปต์ ซีซาร์ตั้งให้นางเป็นผู้ปกครองอียิปต์ ซีซาร์ได้รบขยายดินแดนต่อไปในอาฟริกาเหนือและสเปน จากนั้น 45 BC เขาได้เดินทางกลับโรมและถูกฆ่าตายโดย Brutus หลังจากกลับถึงโรมไม่ถึงปี ณ บริเวณหน้ารูปปั้นของปอมเปย์ในสภา
ในยุคสมัยของซีซาร์นั้นมีการปฏิรูปการปกครอง รวบอำนาจทั้งทางการปกครองและศาสนามาเป็นของตน มีการแต่งตั้งคนใกล้ชิดเข้าไปเป็นสมาชิกสภา มีการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม มีการสร้างงานและสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนนและงานชลประทาน ผลงานของซีซาร์เป็นที่ชื่นชมของคนโรมันเพราะเขาเป็นผู้รื้อฟื้นระเบียบวินัยของโรมและนำความรุ่งเรืองมาสู่สาธารณรัฐสมัยจักรวรรดิ์โรมันจักรพรรดิ์กลายเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดเพียงผู้เดียวทั้งทางด้านการปกครองหรือศาสนา ตั้งแต่ยุคออคตาเวียน ซึ่งภายหลังสถาปนาตนเป็นออกุสตุส ซีซาร์(Augustus Caesar)ในสมัยนี้สงครามใหญ่ๆมักไม่ค่อยมี ด้วยประชาชนเห็นว่าการปกครองแบบจักรวรรดิสงบเรียบร้อยกว่าแบบสาธารณรัฐ บ้านเมืองจึงสงบสุข มีอำนาจและร่ำรวยที่สุดในโรม ออกุสตุสได้ใช้จ่ายเงินเพื่อสร้างอาคารสาธารณประโยชน์ใหม่ๆและใหญ่ๆมากมาย
การปกครองตั้งแต่ยุคออกุสตุสเป็นต้นมามีความสุขสงบจนได้ชื่อว่าเป็นสมัยสันติภาพโรมัน(Pax Romana 27 BC- ค.ศ. 180) แม้จะมีจักรพรรดิ์ที่วิกลจริตบ้าง แต่ในยุคนี้ถือได้ว่าจักรวรรดิ์โรมันรุ่งเรืองที่สุดทั้งทางด้านเศรษฐกิจและอำนาจการปกครองในสมัยจักรพรรดิที่ดี 5 องค์(The Antonines)เพราะวิธีเลือกจักรพรรดิไม่ได้เลือกโดยวิธีสืบสายเลือดแต่เลือกจากบุคคลที่มีคุณสมบัติดีมาเป็นทายาทและดำรงตำแหน่งจักรพรรดิ์ จักรพรรดิที่ดี 5 องค์นั้นประกอบด้วย เนอร์วา(nerva ค.ศ. 96-98 ) ทราจัน (Trajan ค.ศ. 98-117)ฮาเดรียน (Hadrian ค.ศ. 117-138) อันโตนิอุส ปิอุส (Nantonius Pius ค.ศ. 138-161) และมาคุส ออเรลิอุส (Marcus Aurelius ค.ศ. 161-180) แต่ละองค์สร้างประโยชน์ให้แก่โรมอย่างใหญ่หลวง เช่น ทราจันรบได้ดินแดนตอนเหนือของแม่น้ำดานูบ เป็นสมัยที่โรมันมีอาณาเขตกว้างที่สุด ฮาเดรียนมีความสามารถด้านการบริหารปกครองบ้านเมือง สร้างกำแพงใหญ่ไว้ป้องกันการรุกรานจากอนารยชน(Barbarians)
สมัยจักรพรรดิที่ดีทั้ง 5 สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 180 เพราะหันกลับไปใช้ระบบเก่าคือสืบสายโลหิต จากนั้นอาณาจักรเริ่มเสื่อมลง โดยปัจจัยหลักๆ 3 ประการคือ ความเสื่อมโทรมของเศรษฐกิจในชนบท การแย่งชิงอำนาจในสกุลวงศ์ของจักรพรรดิ์ และการรุกรานของอนารยชน แม้บางสมัยการเมืองการปกครองจะดีขึ้นบ้างเช่นสมัยจักรพรรดิไดโอคลีเชี่ยนและคอนแสตนตินแต่ก็ไม่ได้สภาพที่ดีขึ้นอย่างถาวร
ปี ค.ศ. 313 จักรพรรดิคอนแสตนติน สามารถรวบรวมอำนาจการปกครองไว้ที่พระองค์ได้ ทรงสร้างนครหลวงแห่งใหม่ที่ทางตะวันออก ในแคว้นไบแซนติอุม(Byzantium)ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกรีกปัจจุบันคือตุรกี มีชื่อว่าคอนแสตนติโนเปิลการสร้างอาณาจักรที่สองนี้ทำให้แบ่งโรมันออกเป็น 2 ส่วน ในปี ค.ศ. 395 จักรวรรดิ์ทั้งสองถูกแยกการปกครองจากกันอย่างถาวร

แนวความคิดหรือความเชื่อของประชาชนในสังคม
ศาสนาโรมัน
โรมมีเทพเจ้าประจำชาติ แต่ด้วยขันติธรรมทางศาสนา ลัทธิบูชาต่าง ๆ จึงอยู่ได้ในโรมัน บุคคลหนึ่งสามารถนับถือได้หลายลัทธิ สมัยพรินซิเพทเกิดลัทธิบูชาจักรพรรดิ (Cult of Emperor) จักรพรรดิออกุสตุสได้รับการยกย่องบูชาโดยถือเป็นเทพ ลัทธินี้กลายเป็นพิธีกรรมประจำชาติอย่างเป็นทางการเพื่อปลุกใจให้รักชาติมากกว่าเป็นเรื่องทางศาสนา สำหรับชาวยิวและคริสต์แล้วไม่เกี่ยวกับพิธีกรรมดังกล่าวเพราะขัดกับหลักคำสอนทางศาสนา
สมัยออกุสตุส ชาวโรมันเริ่มบูชาเทพเจ้าจากทางตะวันออกในแนวของการไถ่บาปในโลกหน้าเช่น บูชาเทพไอซีสของอียิปต์ เทพมิทราของเปอร์เชีย ฯลฯ ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่าเป็นลัทธิรหัสยนิยม ลัทธิเหล่านี้ก่อให้เกิดลัทธิสากลนิยมและอัตตาธิปไตยที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ก็มีลัทธิเปลโต้ใหม่ (Neo - platoism) โพลตินุสเป็นนักปรัชญาของลัทธินี้ได้เผยแพร่การบูชาเทพองค์เดียวผู้ทรงอนันตภาพไม่มีขอบเขต ลัทธินี้ต่อมาได้สังเคราะห์แก่นสำคัญของลัทธินอกศาสนาอื่น ๆ เข้ามาด้วย
บรรยากาศของลัทธิศาสนาแบบต่าง ๆ นี้ มีผลให้ลัทธิเหตุผลนิยมและมนุษยนิยมของกรีกถูกกลืนเกือบหมดสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นจากลัทธิใหม่ ๆ เหล่านี้คือ โหราศาสตร์ เวทย์มนต์ การหลอกลวงและพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งครอบงำคนมากย่องกว่าในสังคมกรีก ท่ามกลางบรรยากาศเหล่านี้ คริสตศาสนาได้เกิดขึ้นและได้ชัยชนะเหนือจิตใจประชาชน
คริสตศาสนาในจักรวรรดิโรมัน
คริสตศาสนามีลักษณะที่นำเอาความเชื่อจากลัทธิที่มีมาก่อนมาจัดรวมกัน เช่น แนวความคิดเรื่องความตายและการฟื้นคืนชีพ อย่างไรก็ตามได้มีพื้นฐานต่างจากศาสนาอื่น ๆ อย่างน้อย 2 ประการ คือ ประการแรก คริสตศาสนามีพระเจ้าเพียงองค์เดียว ประการที่สอง พระเยซูนั้นถือเป็นพระผู้ไถ่บาป และเป็นบุคคลในคำพยากรณ์ของศาสนาฮิบรู ทรงเป็นบุคคลร่วมสมัยกับออกุสตุส แต่พระชนม์น้อยกว่า พระเยซูมีปาฏิหาริย์ต่าง ๆ และหลักคำสอนของพระองค์เน้นความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และการอ่อนน้อมถ่อมตน การดำรงชีวิตอย่างมีสติ มีเมตตากรุณาต่อเพื่อนและศัตรู พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่คนจนและผู้ทอดทิ้ง
การที่พระเยซูทรงวิจารณ์ข้อบกพร่องทางศีลธรรมของบรรดาพระในศาสนายิวผสมกับการที่ทรงอ้างว่าตรัสในนามของพระเจ้า มีผลให้ทรงถูกตรึงกางเขนในฐานะผู้พยายามโค่นล้มระบบการปกครอง
นักบุญปอลอัครสาวกสามารถใส่ความคิดเรื่องภราดรภาพสากลเข้าในศาสนาคริสต์ได้สำเร็จ ทำให้ศาสนาคริสต์แพร่ไปได้มาก มิชชันนารีอื่น ๆ รวมทั้งนักบุญปีเตอร์และอัครสาวกองค์อื่น ๆ ต่างพากันเดินทางจาริกเผยแพร่ศาสนาและรวบรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรทางศาสนาขึ้น

เอกสารทางประวัติศาสตร์ของชาวคริสต์เริ่มมีมากในคริสตศตวรรษที่ 2 และ 3 องค์กรทางศาสนาก็เริ่มเด่นชัดกว่าเดิม มีการจัดลำดับสงฆ์เป็นหลายชั้นลดหลั่นกันลงมา อัครสังฆราชที่อยู่ประจำตามมหานครมีความสำคัญเป็นพิเศษ เช่น ที่โรม อเลกซานเดรีย แอนติออค และต่อมาที่กรุงคอนแสตนติโนเปิลด้วย เมื่อเวลาผ่านไป อัครสังฆราชที่โรมได้รับการยกย่องมากขึ้นจนสูงกว่าองค์อื่น ๆ
แนวความคิดของคริสตศาสนาได้รับการพัฒนาให้ลึกซึ้งตามแนวปรัชญาต่าง ๆ ของกรีกและยิว เช่น ของเปลโต้ สโตอิค และพระคัมภีร์เก่าของยิว แนวความคิดที่ได้รับการตีความเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นพื้นฐานให้กับนิกายออร์ธอดอกซ์ อย่างไรก็ตามได้ทำให้คริสตศาสนามีความหมาย และดึงดูดใจปัญญาชนมากขึ้น
การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในจักรวรรดิโรมันเป็นไปอย่างรวดเร็ว คำสอนและทางรอดในคริสตศาสนาสอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกของยุค คริสตศาสนาได้รับเอามรดกของวัฒนธรรมโรมในเรื่ององค์กรทางการเมืองและกฎหมายมาใช้ รูปแบบองค์กรของศาสนาคริสต์ในยุคกลางเหมือนกับระบอบการปกครองของจักรวรรดิโรมันนั่นเอง
ในระยะแรก คริสตศาสนิกชนมักตกเป็นเป้าความเกลียดชัง ระแวงสงสัย เพราะการปฏิเสธศาสนาอื่น และไม่ยอมรับนับถือเทพเจ้าของรัฐ ในบางช่วงคริสตศาสนิกชนจึงโดนกวาดล้างขนานใหญ่ เป็นช่วง ๆ แต่ศาสนาคริสต์ก็เผยแพร่ไปไม่หยุดยั้ง แต่เมื่อถึงต้นคริสศตวรรษที่ 4 ศาสนาคริสต์ก็เติบโตเกินกว่าจะทำลายล้างได้แล้ว จักรพรรดิโรมันได้หันมาประนีประนอมกับคริสตศาสนา จักรพรรดิคอนแสตนตินเป็นจักรพรรดิโรมันองค์แรกที่นับถือคริสตศาสนา และเมื่อสิ้นคริสตศตวรรษที่ 4 ประชาชนส่วนใหญ่ก็หันมานับถือคริสต์

เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารยธรรม

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองระหว่างปี 246 – 146 ก่อน ค.ศ.

ช่วงระยะเวลาระหว่างสงครามพิวนิคทั้ง 3 ครั้ง ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโรม ส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงมาจากความเป็นมาในความมั่งคั่งร่ำรวย และความสำเร็จทางด้านการทหาร ซึ่งค่อย ๆ บ่อนทำลายคุณความดีดั้งเดิมของพลเมือง อีกนัยหนึ่งเมื่อโรมพิชิตกรีกนั้น โรมค่อย ๆ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโลกเฮลเลนิสติค ทั้งความฟุ่มเฟือยและความเป็นปัจเจกชนนิยมอย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้ได้กัดกร่อนความเป็นอนุรักษ์นิยม และการอุทิศตนเพื่อส่วนรวมของคนโรมัน แต่การสูญเสียของโรมก็ได้รับการทดแทนในเรื่องของวัฒนธรรมและภูมิปัญญา โรมได้รับหลักสโตอิคเกี่ยวกับเรื่องภราดรภาพสากลเป็นหลักปรัชญาที่เหมาะสมสำหรับจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ รัฐบุรุษโรมันหลายคนได้กลายเป็นพวกสโตอิค ส่วนทางด้านการเกษตรโรมได้รับเอาเทคนิคการเกษตรแบบเฮลเลนิสติคเข้ามาด้วย คือ การทำกสิกรรมขนาดใหญ่การทำกสิกรรมขนาดใหญ่ หรือ “ลาติฟุนเดีย” เกิดขึ้นเนื่องจากการทำสงครามได้นำความมั่งคั่งและทาสจำนวนมากมาสู่ชาวโรมัน อิตาลีทางภาคกลาง และภาคใต้จึงเต็มไปด้วยผืนนาขนาดใหญ่เข้าแทนที่นาอิสระเล็ก ๆ นาอิสระเล็ก ๆ จะผลิตข้าวชนิดต่าง ๆ ส่วนลาติฟุนเดียมุ่งผลิตพืชผลที่ค้ากำไร เช่น องุ่น เพื่อทำเหล้า มะกอกเพื่อทำน้ำมันมะกอก รวมทั้งเลี้ยงแกะ ชาวนาเล็ก ๆ นั้น เมื่อถูกเกณฑ์ทหารบ่อยเข้า ได้ขายที่นาแก่เจ้าของลาติฟุนเดีย และในที่สุดต้องอพยพเข้าเมืองไปอยู่ตามเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะในกรุงโรม ต่อมาคนอพยพที่ว่างงานเหล่านี้จะก่อความไม่สงบหลายครั้ง จนทำให้รัฐบาลหวาดเกรงและใช้นโยบายให้อาหารตลอดจนการบันเทิงโดยไม่คิดมูลค่า จนเป็นการเพาะนิสัยว่าจะต้องได้ “ขนมปังและละครสัตว์”ในขณะที่โรมต่อสู่กับคาร์เธจนั้น การค้าที่เติบโตขึ้นทำให้เกิดชนชั้นใหม่คือนักธุรกิจและผู้รับเหมางานสาธารณประโยชน์ เมื่อพวกนี้มั่งคั่งขึ้นจะกลายเป็นคู่แข่งของขุนนางสมาชิกสภาเซเนทเจ้าของที่ดิน ชนชั้นใหม่นี้เรียกว่า อัศวิน หรือ “ผู้ขี่ม้า” เพราะพวกนี้สามารถรับราชการในกองทัพโดยเป็นทหารม้ามากกว่าทหารราบ ชนชั้นขี่ม้านี้ปกติจะไม่สนใจการเมืองนอกจากเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของตน ชัยชนะทางทหารและการติดต่อกับโลกเฮลเลนิสติค ทำให้พวกขุนนางเจ้าที่ดินและชนชั้นขี่ม้ามีความเป็นอยู่ที่ร่ำรวยฟุ่มเฟือย ช่วงระหว่างคนรวยกับคนจนก็ขยายกว้างไปเรื่อย ๆ แรงกดดันความไม่สงบในสังคมเริ่มคุกคามเสถียรภาพของสังคมโรมันข้าหลวงและขุนนางโรมันในสมัยนี้ปกครองแบบไม่ยุติธรรมซึ่งต่างจากในสมัยแรก มีการขูดรีดประชาชนประชาชนเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งเป็นส่วนตัว การฉ้อราษฎร์บังหลวงนี้ได้รับการลงโทษสถานเบาเพราะผู้พิพากษาบางคนลังเลใจที่จะลงโทษขุนนางชั้นเดียวกับตน และบางคนก็รับสินบน

ความรุนแรงและการปฏิวัติในศตวรรษสุดท้ายของสาธารณรัฐ (133 – 30 ปี ก่อน ค.ศ.)
ท่ามกลางปัญหานั้นได้มีความพยายามที่จะปฏิรูปไทบีเรียส และไกอุส สองพี่น้อง สกุลราสชุส พยายามดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน ทั้งสองเคยรับราชการในตำแหน่งทรีบูน แต่ความพยายามของเขาล้มเหลว ตัวของทั้งคู่ถูกฆาตกรรม ไทบีเรียสในปี 133 ก่อน ค.ศ. และไกอุส ในปี 121 ก่อน ค.ศ.
หลังจากนั้นได้มีความพยายามของมวลชนและชนชั้นขี่ม้าที่จะสู้กับพวกสภาเซเนท บรรดาบุคคลทั้งหลายต่างพยายามแสวงหาทางใช้อาชีพทหารในการไต่เต้าขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง ผู้บัญชาการทหารมักจะสู้กันเพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่ทางการเมือง เช่น ซุลลากับมาริคุส กองทหารโรมันเวลานี้กลายเป็นหนทางสู่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กองทัพมีท่าทีว่าจะเป็นทหารอาชีพและทหารเริ่มอยู่ใต้ผู้บังคับบัญชามากกว่าอยู่ใต้รัฐ ในปี 83 ก่อน ค.ศ. ซุลลาได้ยึดอำนาจและตั้งตนเป็นผู้เผด็จการ หลังจากได้ออกกฎหมายเพื่อเสริมอำนาจให้กับสภาเซเนทแล้วเขาก็ปลดเกษียณ ใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างสบบายในคฤหาสน์นอกเมืองที่คัมปาเนีย
ในช่วงทศวรรษที่ 60 ก่อน ค.ศ. ซิเซโร นักปรัชญาการเมืองและนักวาทศิลป์ พยายามรวมสภาเซเนทและชนชั้นขี่ม้าเข้าด้วยกันเพื่อต่อต้านการคุกคามที่รุนแรงขึ้นทั้งของพวกนายพลและมวลชน แต่ซิเซโรไม่ประสบผลสำเร็จด้วยความด้อยสมรรถภาพของสภาเซเนทเอง ผู้นำทางการทหารเด่น ๆ เช่น ปอมเปอี จูเลียส ซีซาร์ ต่างพยายามหาความสนับสนุนจากชนชั้นต่ำ สาธารณรัฐใกล้จะเสื่อมสลายลงไป แต่ก็มีระบอบใหม่ที่ช่วยให้โรมดำรงความยิ่งใหญ่ต่อไปได้ คือ ระบอบปรินซ์ซิเปต
เหตุที่ทำให้อาณาจักรโรมันล่มสลาย
ช่วงสุดท้ายของจักรวรรดิโรมันนั้น โรมันเริ่มเสื่อมลงด้วยปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าทางด้านเศรษฐกิจ การแย่งชิงอำนาจของจักรพรรดิ์ และการรุกรานจากพวกอนารยชน ทางภาคเหนือของอิตาลีชนเผ่าต่างๆกระจายกันอยู่โดยทั่วไป ชนเผ่าต่างๆมีการรุกรานโรมันมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล แต่ก็พ่ายโรมันโดยตลอด ปีค.ศ. 373 ฮั่น Hans ได้ยกทัพข้ามแม่น้ำโวลก้ามารุกรานพวกกอธ ทำให้พวกกอธหนีลงมาบริเวณแคว้นเทรซของโรมัน และเข้าโจมตีแคว้นเทรซ ค.ศ. 378 จักรพรรดิ์วาเลนของโรมันได้ยกทัพเข้าต้านทานที่เมือง เอดรีอาโนเปิลแต่แพ้และเสียชีวิตในสนามรบ ทำให้ชื่อเสียงเรื่องการรบที่ไม่มีวันแพ้ของโรมันต้องเสื่อมลง และอนารยชนเผ่าต่างๆก็คอยรุกรานจักรวรรดิอยู่บ่อยๆ จนราวปี ค.ศ. 410 Visigoths พวกโกธเยอรมันสายเหนือได้เข้ารุกรานในโรม ค.ศ. 450 พวกฮั่นซึ่งเป็นมองโกเลียสายหนึ่งได้ยกทัพมารุกรานโรมัน ปี ค.ศ. 454 เยอรมันอีกพวกคือ Vandals ได้ยกทัพข้ามช่องแคบยิบรอลต้า Gibralta ซึ่งอยู่ระหว่างสเปนและอาฟริกาเข้ายึดครองสเปนและคาร์เธจ อนารยชนอื่นๆ เช่น เบอร์กันดียึดลุ่มแม่น้ำไรน์ แฟรงค์ยึดทางเหนือของแคว้นโกล แองโกล -แซกซอนและจูส์ยึดเกาะอังกฤษ ออสโตรโกธยึดทางเหนือของแม่น้ำดานูบ ลอมบาร์ดซึ่งเป็นเยอรมันเผ่าล่าสุดยึดทางเหนือของอิตาลี ตราบจนกระทั่งใน ค.ศ. 476 ถือป็นการสิ้นสุดของจักรวรรดิเมื่อจักรพรรดิองค์สุดท้ายคือโรมิวรุส ออกุสตุสถูกถอดจากบัลลังก์โดยแม่ทัพโรมันเชื้อชาติเยอรมัน จากนั้นอำนาจจักรวรรดิก็ยิ่งอ่อนแอเป็นผลให้เมืองขึ้นต่างๆแข็งขอและพร้อมใจกันสถาปนาตนขึ้นเป็นอาณาจักรใหม่ทั่วยุโรป ทำให้จักรวรรดิโรมันอวสานอย่างสิ้นเชิง

ผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์อารยธรรมที่ศึกษา
สนามกีฬากรุงโรม
- วัตถุประสงค์ในการสร้าง
ใช้เป็นสถานที่ให้นักโทษต่อสู้กับสิงโตที่อดอาหารหรือใช้เป็นที่ประลองฝีมือเชิงฟันดาบของเหล่าทาสให้ต่อสู้กันเอง
- อิทธิพลที่ส่งผ่านมายังผลงาน
ความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรโรมันโบราณ
-จุดเด่นของผลงาน
เป็นอนุสรณ์ใหญ่โตของอาณาจักร ตัวสนามสร้างเป็นตึกวงกลมก่อด้วยอิฐและหินขนาดใหญ่ วัดโดยรอบยาว527เมตร สูง57เมตร มี4ชั้น ภายในมีอัฒจรรย์สำหรับคนนั่งดู จุคนประมาณ 80,000 คน ใต้อัฒจรรย์มีห้องขังนักโทษที่รอการประหารชีวิตและสิงโตหลายร้อยห้อง
สวนลอยแห่งกรุงบาบิโลน
สถานที่ตั้ง กลางทะเลทราย แบกแดด ประเทศอิรักปัจจุบัน ทั้งสวนทรุดโทรมจนแทบไม่เหรือซาก
ประวัติ
พระเจ้าเนบูซัดเนซซาร์สร้างขึ้นให้พระราชินีของพระองค์ที่ร่วมกันขับไล่พวกอัสซีเรียออกไปได้ พระราชินีเซมีรามิสทรงอาลัยอาวรณ์ภูมิประเทศบ้านเกิดของพระองค์ซซึ่งเป็นพื้นที่เทือกเขาแบบเปอร์เซียและไม่โปรดความเรียบร้อยของนครบาบิโลน พระเจ้าเนบูซัดเนซซาร์ทรงให้สร้างสวนลอยที่เป็นภูเขาที่สร้างโดยฝีมือมนุษย์ขึ้น
สวนแห่งนครบาบิโลนสร้างขึ้นเมื่อประมาณ600ปีก่อนคริสตการ โดยก่อเป็นเนินสูงเป็นชั้นๆสูง100เมตรล้อมด้วยกำแพงหนา7เมตรหลังจากพระเจ้าเนบูซัดเนซซาร์สิ้นพระชนม์22ปี สวนลอยนี้อยู่คู่กับเมืองได้จนถึงศตวรรษที่3ก่อนคริสตการ
ปัจจุบันสวนลอยแห่งนี้ได้ทรุดโทรมจนแทบไม่เหลือแล้ว หลงเหลือเพียงบ่อน้ำและซุ้มประตู
ลักษณะเด่นของผลงานที่เกิดขึ้นของโรมัน
ดังที่กล่าวมาด้านบนนี้จะสังเกตได้ว่าโรมันจะเน้นการตกแต่งอย่างพิถีพิถันไม่เน้นประโยชน์ทางโครงสร้างเท่าไรนัก สถาปัตยกรรมที่สำคัญต่างๆเช่น ซุ้มประตู สะพานที่ใช้ส่งน้ำจากภูเขา สิ่งก่อสร้างต่างๆของโรมันได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางวิศวกรรมของโรมันอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงพ.ศ.600-873 ได้สะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งและอำนาจของอาณาจักรโรมันอาคารสถาปัตยกรรมมขนาดกว้างใหญ่และมีการตกแต่งอย่างฟุ่มเฟือยและมีการควบคุมทำเลที่ตั้งการจัดภูมิทัศน์อย่างพิถีพิถันมีการสร้างโรงชุมนุม โรงมหรสพหรือสนามกีฬาโรงอาบน้ำสาธารณะและอาคารที่พักอาศัยมากมาย ส่วนใหญ่ประดับด้วยหินสีหินอ่อนและประติมากรรมแกะสลักตกแต่งอย่างสวยงาม
อารยธรรมโรมัน จักรวรรดิโรมันปกครองคาบสมุทรอิตาลีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ส่วนใหญ่รับวัฒนธรรมมาจากกรีกโบราณตั้งแต่สมัยอีทรัสกัน เป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ มีอารยธรรมด้านต่างๆ มากมาย คือ : -

ด้านอารยธรรมโรมัน ได้แก่ การปกครอง การสื่อสารคมนาคม วิศวกรรม และการทหาร
ด้านการปกครอง ยึดพระจักรพรรดิมีอำนาจสูงสุด
ด้านการคมนาคม มีการสร้างถนนเชื่อมต่อเมืองต่างๆ
ด้านกฎหมาย เกิดหลักกฎหมาย “All free men are equal before the law”
ด้านเศรษฐกิจ แปรผันตามการเกษตรกรรม
ด้านสังคม แบ่งชนชั้นผู้ถูกปกครองและผู้ปกครอง
ด้านปรัชญา ได้แก่ปรัชญาของสโตอิคส์และเอปิคิวเรียน
ด้านสถาปัตยกรรม รับอิทธิผลมาจากกรีกเฮลเลนิสติก เน้นความแข็งแรงใหญ่โต เช่น :- โรงละคร วิหารพาร์เธนอน โคลีเซี่ยม โรมันฟอรัม
ด้านการประพันธ์ กวีมีชื่อคือ เวอร์จิล ผู้ประพันธ์มหากาพย์อีเนียด (Aeneid)


ศิลปะโรมัน

509 BC- ค.ศ. 475



เป็นชนเผ่าลาตินซึ่งมีเชื้อสายอินโด-ยูเปียน เช่นเดียวกันกับกรีก อพยพมาทางเหนือของแหลมอิตาลีนับพันปีก่อนคริสตร์กาล ราว 509 BC โรมันสามารถเอาชนะอีทรัสกันได้ และเริ่มต้นของอาณาจักรโรมันตามนักประวัติศาสตร์โบราณ สาธารณรัฐโรมันได้ถูกตั้งขึ้นในภายหลังได้มีการขยายและแข็งแกร่งขึ้นโดยการรวบรวมอาณาเขตแว่นแคว้นของดินแดนต่างๆให้อยู่ภายใต้การปกครองของโรมัน ทหารโรมันได้กวาดไปทางตะวันออกผ่ากรีกไปสู่เมโสโปรเตเมียตะวันตกไปถึงอังกฤษข้ามทะเลไปถึงอียิปต์ตลอดไปถึงริมอาฟริกาทางตอนเหนือ ใน 27 BC เมื่อและอ็อคตาเวียนได้เปลี่ยนชื่อเป็น Augustus Caesar (ซีซาร์เป็นตำแหน่งทางการเมือง)กรุง Rome ได้กลายเป็นจักรวรรดิอย่างเป็นทางการ

โรมันมีความเชื่อว่าตนเองมีบรรพบุรุษจากเจ้าชายชาวทรอย มีบทบาทปรากฏใน Illiad ของ Homer's คือ Aeneas ผู้ซึ่งหลบหนีหลังจากที่เมืองทรอยถูกปล้น และตั้งบ้านเรือนและมีการปกครองในบริเวณนี้ ต่อมามีลูกหลานจนถึงสมัยของสองพี่น้องคือ Numiter และ Amulus เกิดแย่งชิงสมบัติกัน อามิวรุสสามารถแย่งชิงสมบัติจากพี่ได้แล้วประหารโอรสของพี่ชายจนหมด เหลือไว้เพียงธิดาองค์หนึ่ง Rhea Sylvia ซึ่งต่อมาได้มีลูกฝาแฝดขึ้นตามตำนานว่าลูกนี้เกิดจากเทพมาร์ส เทพแห่งสงคราม เนื่องจากนางเกรงลูกจะถูกประหารจึงนำเด็กใส่ตระกร้าลอยน้ำไปแม่หมาป่ามาพบจึงนำไปเลี้ยง ต่อมาชาวบ้านเลี้ยงแกะมาพบจึงตั้งชื่อว่า โรมิวรุส(Romulus)และ เรมุส(Remus) เมื่อเติบใหญ่ได้กลับมาฆ่าอามิวรุสและชิงสมบัติคืน จากนั้นจึงสร้างเมืองขึ้นใหม่ใช้ชื่อว่าโรมตามชื่อโรมิวรุสนั่นเอง เมืองโรมถูกตั้งตอนแรกในยุค Etruscan ใน 753 BC ตำนานนี้ปรากฏในภาพ She-Wolf สำหรับภาพ Romulus และ Remus ได้ถูกเพิ่มเข้าไปในสมัย Renaissance เพื่อให้รูปหมาป่า Bronze นี้มีความสมบูรณ์ ภาพนี้ทำหน้าที่ในฐานะสัตว์ที่เคารพ ของโรม เป็นไปได้ว่าเคยตั้งอยู่บน Capitoline Hill ในโรมในช่วงปี 296 BC She-Wolf ทำให้ระลึกถึง Roman ในเรื่องความจงรักภักดี การรักชาติและแผ่นดินของแม่

ศาสนาและปรัชญา

ศาสนาและปรัชญาของโรมันรับมาจากกรีกเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น เทพเจ้าต่างๆผสมกับความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจประจำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำธาร ผีเรือน เตาผิง แม้จะรับวัฒนธรรมกรีกแต่โรมันก็ไม่นิยมพิธีกรรมและศาสนกิจของกรีก ไม่มีการบูชาเทพเจ้าอย่างใหญ่โต หน้าที่ส่วนใหญ่ทางศาสนาจะเป็นของพระและชั้นปกครองมากกว่าประชาชนทั่วไป

แม้โรมันมักจะลอกเลียนแบบปรัชญาและศาสนามาจากกรีกแต่จะเน้นที่มีผลด้านการปฏิบัติมากกว่า ด้านศาสนาและปรัชญาฝั่งตะวันออกนั้น โรมันรับความเชื่อที่ว่ากษัตริย์เป็นสมมติเทพมาใช้เพื่อประโยชน์ด้านการปกครอง นอกจากนับถือเทพต่างๆแบบกรีกแล้วพระเจ้าอีกองค์คือจักรพรรดิ์ โรมันมีความชำนาญและเข้มแข็งทางด้านการบริหาร กฎหมาย การปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง เมื่อเปรียบกับกรีกแล้วพบว่ากรีกจะเน้นการบูชาในเรื่องเหตุผลในขณะที่โรมันเคารพในอำนาจ กรีกชอบแสดงความเห็นส่วนตัวและยกย่องเสรีภาพส่วนบุคคล ในขณะที่โรมันเน้นเรื่องการควบคุมตนเองให้อยู่ในวินัยและระเบียบแบบแผน ผลคือกรีกจะมีความโดดเด่นในทางสร้างสรรค์และเป็นนักปรัชญา นักทฤษฎีแต่โรมันจะมีความสามารถด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์



ศิลปกรรมของโรมัน

กรีกถูกพิชิตโดยโรมัน แต่กลับนำศิลปะและวัฒนธรรมที่เจริญกว่ามาชนะใจชาวโรมันทำให้ชาวโรมันยอมรับในศิลปะกรีก BC)เหมือนกับ Philip ของ Macedon และ Alexander ซึ่งเขาทั้งหลายได้พิจารณาแล้วว่า วัฒนธรรมและศิลปะกรีกนั้นเหนือกว่าวัฒนธรรมอื่นใดแต่ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบ้างให้สอดคล้องกับอุปนิสัย ธรรมเนียมประเพณีและความคิด ทำให้งานทั้งสองชาติต่างกันบ้างโดยกรีกเน้นความเรียบง่ายสง่างาม เพื่อแสดงพุทธิปัญญาและความเป็นปราชญ์ แต่โรมันเน้นความหรูหรา สง่างาม อำนาจ ศิลปกรรมสนองความต้องการทางกายและความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิ์ เหมือนกันกับจักรวรรดิ์ Hellenistic ที่เกิดก่อน จักรวรรดิ์โรมันได้ยึดเอารูปแบบลักษณะ(character) ของกรีกอย่างชัดเจน จักรวรรดิ์โรมันได้ขนเอางานศิลปะของกรีกจำนวนนับพันรวมถึงการ Copy อีกจำนวนมหาศาล จริงๆแล้วจำนวนไม่น้อยของงานศิลปะกรีกในปัจจุบันเรารู้จักผ่านการ Copy ของโรมันแทบทั้งนั้น(ของกรีกแท้เหลือน้อยศิลปะกรีกส่วนใหญ่คือศิลปะกรีกที่โรมันทำจำลองขึ้น) เทพของกรีก ถูก Adapted สู่ศาสนาของโรมัน Jupiter จากภาษากรีกเป็นภาษาละติน กลายเป็น Zeus เทพ Venus กลายเป็น Aphrodite และอื่นๆอีกมาก

ในช่วงแรกๆโรมันใช้แบบแผนสถาปัตยกรรมของกรีก ในการก่อสร้างอาคารและวิหารของตน ชอบเป็นพิเศษในเรื่องของการประดับตกแต่งอย่างมากมายตามแบบแผนของ Corinthian จำนวนมาก(หากไม่ใช่ทั้งหมด)ของศิลปินโรมันคือคนเชื้อชาติกรีกจนกระทั่งเขาทั้งหลายได้กลายเป็นคนโรมัน( Romanized)ไป ในที่สุด ในช่วงหลังโรมันมีการพัฒนาด้านศิลปกรรมมากขึ้นโดยเฉพาะเห็นได้อย่างชัดเจนด้านสถาปตยกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะตัวและเทคนิคที่มีความโดดเด่น แม้กระทั่งในยุคปัจจุบันสถาปัตยกรรมจำนวนมากก็ได้อิทธิพลทางด้านรูปแบบและวิธีการมาจากโรมัน



ศิลปกรรมสมัยสาธารณรัฐ

เริ่มตั้งแต่สมัยหลังจากที่ได้ขับไล่กษัตริย์อีทรัสกันออกจากอำนาจจวบจนถึงการลอบสังหารจูเลียส ซีซาร์ และอ็อคตาเวียนสถาปนาตนเองเป็นออกุสตุสถือเป็นอันสิ้นสุดยุคสาธารณรัฐ ศิลปกรรมสมัยนี้ยังคงได้รับอิทธิ พลของศิลปะอีทรัสกันและเฮเลนนิสติกส์ซึ่งเจริญมาก่อน ทางอีทรัสกันเคยเจริญและเป็นนายของโรมันมาก่อน ส่วนทางกรีกนั้นหลังจากโรมันมีอำนาจเหนือกรีก ช่างกรีกจำนวนมากได้เดินทางเข้าไปทำงานในอาณาจักรโรมันและสอนวิชาช่างแก่ชาวโรมัน ทำให้ลักษณะของศิลปะกรีกไม่สามารถแยกจากโรมันได้ ศิลปะกรีกและอีทรัสกันเปรียบเหมือนมารดาของศิลปะโรมันแต่ในทางกลับกันหากไม่มีโรมันแล้วศิลปะเฮเลนิสติกและศิลปะกรีกอื่นๆ คงจะไม่มีผู้เผยแพร่ขยายออกไปยังชาติอื่นๆ รวมถึงไม่สามารถเผยแพร่ขยายมายังยุคสมัยหลังด้วยเพราะโรมันเป็นผู้มีส่วนสำคัญทั้งในการอนุรักษ์และพัฒนา



ประติมากรรม

โรมันยังขาดประติมากรผู้มีฝีมือสูงในระยะแรกๆ จึงนิยมขนประติมากรรมกรีกไปประดับอาคารสถานที่ต่างๆของตนทั้งทางสาธารณะและสมบัติส่วนตน 146 ปีก่อน ค.ศ.มีบันทึกว่าโรมันขนรูปหล่อสำริด 285 รูป รูปสลักหินอ่อน 30 รูปจากเมืองคอรินธ์ หรือสมัยจักรพรรดิเนโรก็ได้ขนรูปหล่อสำริด 500 รูปจากเมืองเดฟีไปไว้ในกรุงโรม ครั้นต่อมางานกรีกเริ่มหร่อยหรอน้อยลง จึงเกิดการทำการลอกเลียนผลงานกรีกชิ้นเยี่ยมๆที่มีชื่อเสียงของกรีกขึ้นมาใหม่ ซึ่งผลงานเหล่านี้ทำให้คนรุ่นปัจจุบันมีผลงานของกรีกเหลือให้ศึกษาจำนวนมากรวมถึง Spear Bearer ด้วย นอกจากนี้ยังมีการลอกเลียนรูปแบบงานในราชสำนัก(official)ของกรีกด้วย ดังเช่น Figures ของจักรพรรดิ์ Augustus of Prima Porta เป็นตัวอย่างว่าได้แบบอย่างจากศิลปะกรีกที่มีมาก่อน แต่มันอาจจะผสมศิลปะ Etruscan ในลักษณะด้านความอบอุ่นและความเป็นมนุษย์มีชีวิตชีวาของมัน(Warmth and Humanity)ลักษณะดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจพิเศษให้กับศิลปะที่ Roman เก่งมากเป็นพิเศษคือภาพเหมือนของบุคคลทั่วไป ต่างจากกรีกที่นิยมเทพเจ้าและชนชั้นปกครอง

ชาวโรมันมีประเพณีนิยมการทำ อิมเมจินส์(Imagines = หน้ากากขี้ผึ้ง) โดยใช้ขี้ผึ้งหล่อหน้าบรรพบุรุษเก็บไว้บูชา จากความนิยมนี้ทำให้การสร้างภาพเหมือนมีความเจริญมาก ซึ่งการทำศิลปะแบบเหมือนจริงนี้อาจได้รับอิทธิพลจากอีทรัสกัน

ดังนั้นประติมากรรมในสมัยสาธารณรัฐจึงพอสรุปได้ว่ามี 2 กระแสคือ

1. การสร้างเทวรูปเคารพซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของศิลปะกรีกแบบเฮเลนิสติก ซึ่งประติมากรโรมันจะขาดบุคลิกส่วนตัว

2. ส่วนแนวที่สองนั้นทำตามรูปแบบเหมือนจริงตามแบบอีทรัสกันและชอบทำรูปเคารพบรรพบุรุษของตัวเอง

หากพิจารณาแนวที่ 2 นี้จะพบว่ามีความแตกต่างกับประติมากรรมของกรีกโดยประติมากรรมของกรีกเน้นความสมบูรณ์แบบอุดมคติแต่ของโรมันแนวอีทรัสกันนี้เน้นความเหมือนจริงว่ากันว่ารูปบางรูปแสดงสีหน้าของอาการป่วยของผู้เป็นเจ้าของรูปออกมาได้เลย ดังเช่นตัวอย่างหนึ่งคือ Portrait ของคู่สามีภรรยาผู้เต็มไปด้วยลักษณะสมจริงของตัวบุคคลอย่างชัดเจน เราไม่อาจรู้จักตัวจริงของเขา แต่มันสามารถสรุปได้แน่นอนจากที่เห็นว่าภาพๆนี้มีลักษณะท่าทางที่เป็นจริง มีลักษณะของแบบอย่างอุดมคติน้อยที่สุด ภาพสามีชราที่มีรอยย่นบนหน้าเป็นหลักฐานได้เป็นอย่างดี มีผู้วิเคราะห์ว่าอาการเจ็บป่วยได้ถูกแสดงออกมาในภาพของเขา ภรรยาของเขาดูแข็งแรงกว่าปราศจากสัญลักษณ์ของอาการเจ็บป่วยและสัมผัสมือของสามี นักวิชาการวิเคราะห์ว่าRoman ยึดมั่นในความศรัทธาในการซื่อสัตย์ในการพรรณนาภาพที่ตรงกับความจริงมาก อย่างไรก็ตามประติมากรรมกรีกและจำนวนมากของภาพคนโรมันมีลักษณะที่แตกต่างกันมากในประเด็นนี้ portrait นี้น่าอัศจรรย์มากที่เราสามารถคาดเดาถึงเจ้าของมันได้แม้ว่าเขาจะตายไปแล้วกว่า ๒๐๐๐ ปี



สถาปัตยกรรม

โรมันได้ผสมผสานความรู้ด้านสถาปัตยกรรมจากกรีกและอีทรัสกันและนำความรู้นั้นมาสนองความต้องการของตนเองซึ่งคำนึงถึงด้านประโยชน์ใช้สอยมากกว่าฉพาะเพียงด้านความงาม นอกจากจะนำรูปแบบหัวเสาของกรีกมาใช้ โดยเฉพาะนิยมนำแบบคอรินเธียนมาใช้แล้ว ยังมีการคิดประดิษฐ์หัวเสาที่เรียกว่าคอมโพไซท์(Composite)โดยมีลักษณะผสมผสานระหว่างไอโอนิคกับคอรินเธียน มีการนำระบบก่อสร้างแบบ Arch กับ Vault ซึ่งพวกอีทรัสกันเคยใช้มาพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้ามากขึ้น เช่นนำ Vault มาทำโครงสร้างหลังคาสร้างเป็นรูปโดม ด้านวัสดุก่อสร้างนอกเหนือจากหินอ่อนมีการนำหินลาวาและดินบางชนิดจากภูเขาไฟมาใช้ วัสดุเหล่านี้มีความทนทานเหมาะที่จะทำถนน นอกจากนี้ในยุคหลังๆยังมีการค้นพบซีเมนต์ จากการผสมทราย ปูนขาว หินซิลิกา หินจากเถ้าภูเขาไฟและน้ำมาผสมกัน ซึ่งทำให้การก่อสร่างมีความรวดเร็ว คงทนและประหยัด

โรมันเน้นประโยชน์ทางด้านการปฏิบัติ(Pracmatic)และหลักความจริงมากกว่าอุดมคติดังเช่นกรีก ดังนั้นสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่จึงเป็นอาคาร สิ่งก่อสร้าง ถนน สาธารณะมากกว่าวิหารเทพเจ้า สถาปัตยกรรมของโรมันจึงนิยมสร้าง

1. วิหารและสุสาน

2. สถานที่อาบน้ำสาธารณะ

3. โรงมหรสพและสนามกีฬา

4. โฟรุ่มและบาซิลิกา

5. อาคารที่พักอาศัย

6. สะพานและท่อส่งน้ำ

ที่โดดเด่นที่สุดของสถาปัตยกรรมสมัยสาธารณรัฐของโรมันคือการสร้างวิหารและสุสาน

วิหารและสุสาน นิยมสร้างแบบกรีกผสมกับแบบอีทรัสกันแบบอีทรัสกันคือ อาคารยกสูง จะมีบันไดขึ้นทางด้านหน้าด้านเดียว อาคารปิดทึบไม่มีระเบียงรอบเหมือนแบบกรีก เสาที่มีเป็นเสาหลอกไม่ได้รับน้ำหนักอาคาร ลักษณะดังกล่าวเช่นวิหาร Temple of Fortuna Virillis ราว 200 BC. นอกจากวิหารแบบเหลี่ยมแล้วแบบกลมก็พบด้วย วิหารที่มีชื่ออีกแห่งคือวิหารของเทพีฟอร์จูนา พริมิจิเนีย Fortuna Primiginia ที่เมืองพาเนสเต สร้างเพื่อถวายเทพีฟอร์จูนาเทพีแห่งโชคชะตา วิหารแห่งนี้สร้างคร่อมบนเนินเขา อาคารมีระดับสูงต่ำลดหลั่นกัน 7 ชั้น เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของโรมัน ทางเดินขึ้นไปสู่ชั้นบนคล้ายซิกูรัตของเมโสโปรเตเมีย วิหารนี้ในยุคกลางได้มีชุมชนเข้ามาอาศัยอยู่และสร้างต่อเติมจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่แห่งนี้ได้โดนระเบิดทำให้ซากอาคารโบราณเผยออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

สถาปัตยกรรมอีกแห่งที่สำคัญคือเมืองปอมเปอี เฮอคูลาเนียม และสตาปิเอซึ่งถูกภูเขาไฟวิสุเวียสระเบิดและลาวาถล่มทับในราว ปี ค.ศ. 79 เมืองเหล่านี้อาจไม่มีความสำคัญนักแต่ก็แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตตลอดจนสภาพบ้านเมืองในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นที่เก็บรักษาจิตรกรรมสมัยโรมันให้รอดพ้นจากการถูกทำลายโดยธรรมชาติและคน



จิตรกรรม

หากจะเปรียบเทียบกันแล้ว Roman เป็นชาติที่มีความชำนาญด้านการ Painting เช่นกัน เรารู้จักรจิตรกรรมโรมันเพียงเล็กน้อยกว่าจิตรกรรมกรีก จากเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นใน 79 AD ในปีนั้นภูเขาไฟ Vesuvius ได้เกิดระเบิดขึ้นและฝังเมือง Pompeii ซึ่งอยู่ห่างออกไปร้อยไมล์ทางตอนใต้ของกรุงโรมระหว่างเมืองของ Iterculaneum ผลคือ Lava และขี้เถ้าแพร่ห่มคลุมพื้นที่และทำหน้าที่เหมือนกับ Capsule แห่งกาลเวลา Pompeii ได้ถูกฝังโดยไม่ถูกรบกวนจากธรรมชาติมากว่า 16 ศตวรรษกระทั่งในปี 1748 ได้มีการขุดค้นภายใต้การค้นหาของนักโบราณคดีชาวเยอรมัน Joachim Winckelmann ในพื้นที่ของ Pompeii ค้นพบ Frescoes อันน่ามหัศจรรย์นั้นได้ถูกรักษาเป็นอย่างดี Pompeii ไม่ใช่เมืองสำคัญ เราไม่สามารถสรุปได้ว่าศิลปินชั้นยอดมาชุมนุมกันอยู่ที่นี่ แต่มันคือหลักฐานบางอย่างที่ อย่างไรก็ตามจิตรกรรมฝาผนังนี้ให้การระบุถึง Style ของวิธีการทางศิลปะบางอย่างในจักรวรรดิ์ ณ ช่วงเวลานั้น

จิตรกรรมที่เหลือรอดที่เมืองปอมเปอีมีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น มีการวาดภาพที่มีสถาปัตยกรรมประกอบเรื่องราว ใช้เทคนิคการวาดแบบ Perspective แม้จะดูมีระยะใกล้ไกล แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์นักด้วยข้อจำกัดด้านวิทยาการ เช่นที่ Villa of the Mysteries ใกล้เมืองปอมเปอี การวาดแสงเงามีปรากฏให้เห็นที่ Villa Farnesian นอกจากนี้ยังมีการวาดด้วยเทคนิคการลวงตา เช่นวาดหน้าต่างให้มองเห็นวิวหลอก (Window Views) วาดเสาให้ดูทำหน้าที่คล้ายกับเสาจริง เขียนด้วยเทคนิค Fresco บนกำแพงของบ้านพัก มีการสร้างทัศนียภาพเชิงบรรยากาศและผลการรับรู้ด้าน 3 มิติถูกทำให้เกิดด้วยเทคนิค Chiaroscuro มีที่ ปอมเปอี หรือการวาดที่ดูคล้ายการนำรูปภาพหลายๆรูปมาประดับตกแต่งผนัง เช่นที่ House of yhe Vetii เนื้อหาในการวาดส่วนมากเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้า ทิวทัศน์หรือพิธีกรรม

นอกจากนี้ทางจิตรกรรมยังมีการทำโมเสก ซึ่งเคยมีมาก่อนในเมโสโปเตเมียและกรีก ภาพที่มีชื่อเสียงอยู่ที่ House of the faun ที่ปอมเปอี ทำเป็นรูปพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สู้กับพระเจ้าดาริอัส



ศิลปกรรมสมัยจักรวรรดิ์

กินระยะเวลาตั้งต่ 27 BC- 285 AD. ตั้งแต่จูเลียส ซีซาร์ถูกสังหาร สาธารณรัฐโรมันเดิมเกิดกลียุค เกิดการรบแย่งชิงอำนาจ อ็อคตาเวียน ซีซาร์หลานของจูเลียส ซีซาร์ได้ปราบปรามบ้านเมืองและสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิองค์แรกของจักรวรรดิ์ ตั้งแต่สมัยพระองค์ไปอีกราว 150 ปี บ้านเมืองค่อนข้างสงบไม่มีสงครามใหญ่ บางคนก็ว่าเป็นสมัยที่มนุษย์ชาติมีความสุขมากที่สุด โรมมีพลเมืองกว่าล้านคน บ้านเมืองใหญ่โต สวยงาม ศิลปกรรมสมัยนี้มีความเจริญสูงสุด



สถาปัตยกรรม

สถาปัตยกรรมที่สำคัญในสมัยนี้มี

1. โฟรัม(Forum)เป็นย่านชุมนุมชน สถานที่ราชการ ตลาด คล้ายกันกับ อโกลา (agora)ของกรีก โฟรัมจะมีอยู่ในทุกๆเมือง ขึ้นอยู่กับขนาดและจำนวนพลเมืองหากเมืองมีขนาดเล็กโฟรัมก็จะมีแห่งเดียวแต่หากเป็นเมืองใหญ่ก็อาจมีหลายโฟรัม โฟรัมจะมีลักษณะเป็นลานกว้างแต่บางแห่งอาจจะมีหลังคา บริเวณรอบๆจะรายล้อมด้วย อาคาร สถานที่ราชการ วิหาร หอสมุด ที่มีชื่อเสียงในนสมัยจักรวรรดินี้คือโฟรัมของทราจัน(Forum of Trajan)ซึ่งอาคารที่อยู่รายรอบมีถึง 6 ชั้น เป็นที่จำหน่ายผักผลไม้ เป็นที่เก็บไวน์และน้ำมัน เป็นร้านค้า เป็นที่เก็บอาหารและทรัพย์สินและเป็นถังเก็บน้ำจากท่อส่งน้ำด้วย

การแสดงออกที่ฟุ่มเฟือยที่สุดในสถาปัตยกรรมของรัฐโรมันคือ Forum Romanum ศูนย์กลางทางการเมืองของโรม ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้คือการสร้างขึ้นมาใหม่จากจินตนาการ ราวคริสต์ศตวรรษแรกประชากรอยู่รอบๆบริเวณนี้ราว 1 ล้านคน ทั้งหมดอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์ที่สร้างอยู่รอบๆบริเวณ Forum เอกสารได้ระบุว่า ในเวลานั้นมี 1797 ครัวเรือนในเมือง Etruscans มีการพัฒนาที่ตั้งของตลาด แต่ในแผนพัฒนาของ Julius Caesar และการสนับสนุนของ Augustus นั้น Forum กลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจโรมันและความสูงส่งใหญ่โต ปูลาดทางเท้าด้วยหินอ่อน ครอบคลุมไปถึงระเบียงและพื้นที่ของสาธารณะชน เช่น วัด ศาลยุติธรรมและอาคารของรัฐ เช่นลานกีฬา ที่เก็บเอกสารและ Curia หรือบ้านของวุฒิสมาชิก

2. บาซิลิกา(Basilica)เป็นชื่อเรียกอาคารขนาดใหญ่ซึ่งใช้เป็นศาลยุติธรรมและอาคารพาณิชย์ของรัฐ ที่มีชื่อเสียงมากคือ บาซิลิกา อุลปิอา(Basilica Ulpia)สร้างโดยจักรพรรดิทราจัน นามอุลปิอามีที่มาจากสกุลของจักรพรรดิ์ สร้างติดกับโฟรัมทราจันหรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของโฟรัม ผังเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าด้านกว้างทั้งสองทำเป็นรูปครึ่งวงกลม หลังคารูปจั่ว เสาแบบคอรินเธียน บางครั้งที่แห่งนี้ใช้ทำพิธีสำคัญๆทางการเมืองและศาสนาปัจจุบันพังทลายไปมาก

3. โรงละครและสนามกีฬา(Theatres and Amphitheatres)เป็นสถานที่พักผ่อนชมกีฬา ชาวโรมันมีด้วยกันหลายแห่งแห่งที่มีชื่อคือ Colosseum หรือเรียกว่า Flavian Amplitheatre เพราะเริ่มต้นสร้างในสมัยราชวงศ์ฟราเวียน ในสมัยจักรพรรดิ Vespasian สร้างเสร็จราว ค.ศ. 80 เป็นโรงมหรสพรูปวงกลมที่มีอัฒจันทร์ล้อมรอบ สำหรับเกมกีฬาต่อสู้และความบันเทิงของสาธารณชน แรงงานส่วนใหญ่เป็นยิวซึ่งได้มาจากการที่โรมไปตีได้เยรูซาเร็มและกวาดต้อนยิวมาเป็นทาส(ยิวค่อนข้างถูกทารุณมากในสมัยโรมันเพราะนับถือในพระเจ้าองค์เดียวและหัวแข็งไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา ไม่เชื่อในเทวราชาตามแบบพวกโรมัน) สถาปนิกได้ดัดแปลงจากโรงละครกลางแจ้งของกรีกให้กลายมาเป็นสนามกีฬา เพื่อใช้เป็นสถานที่ต่อสู้ของคนกับคนและคนกับสัตว์โดยเน้นการฆ่าฟันถึงตาย โดยคนดูมีส่วนร่วมในการตัดสิน โคลอสเซียมครอบคลุมพื้นที่ ราว 6 เอเคอร์หรือราว 15 ไร่มีอัฒจรรย์ล้อมรอบสนามที่อยู่ตรงกลาง มีที่นั่งสำหรับคนดูได้ราว 50000 คนซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ในบริเวณสนามเรียกว่าอรีนา(Arena = แปลว่าทรายหรือหาดทราย)เป็นพื้นทรายเพราะใช้ดูดซับเลือดได้ดี บางครั้งก็อาจจุน้ำได้หากเป็นการต่อสู้ทางน้ำในโอกาสพิเศษ นักสู้เรียกว่า Gradiator จะสู้รบกับคู่ต่อสู้หรือกับสัตว์ป่าซึ่งเป็นการแข่งขันที่น่าสยดสยองและเต็มไปด้วยเลือดมากผิดปกติ ด้วยความที่เป็นสนามกีฬาใหญ่จึงต้องคิดระบบระบายคนเข้าออกอย่างรวดเร็วโดยการทำช่องทางเข้าออก 80 ช่องรอบๆสนาม เมื่อเกมจบ อาคารจะว่างเปล่าในช่วงไม่กี่นาที ซึ่งเป็นการออกแบบอาคารที่มีระบบการระบายคนได้อย่างยอดเยี่ยม มุมมองจากภายนอกทำให้เราเข้าใจถึงลักษณะที่อยู่ข้างในตลอดจนผังทั้งหมดของมัน ปัจจุบันมันอาจดูโรแมนติคสำหรับนักท่องเที่ยวและถือเป็นมงกุฎของอาณาจักรโรมันเลยทีเดียว

การก่อสร้างโคลอสเซียมใช้ระบบ Arch และ Vault รับคาน(Linten) ซึ่งแบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ชั้น มีการใช้เสาประดับแตกต่างกันไป ชั้นล่างเป็นแบบดอริก ชั้นสองเป็นแบบไอโอนิค ชั้น 3 เป็นแบบคอรินเธียน ชั้นสี่ซึ่งเป็นชั้นบนสุดเป็นเสาหลอกแบบผ่าครึ่งซีก(Pilaster)ติดประดับไว้ วัสดุที่ใช้ประกอบด้วยหินลาวา อิฐและคอนกรีต รวมถึงหินอ่อนที่ใช้ประดับตกแต่ง โคลอสเซียมแสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านสถาปัตยกรรมของโรมัน

นอกจากสนามกีฬาแล้วยังมีโรงมหรสพซึ่งได้แรงบันดาลใจมากจากกรีกด้วย แต่ไม่ได้สร้างตามเนินเขาเหมือนกรีก สร้างด้วยคอนกรีตและนิยมสร้างในเมือง แผนผังยังคงคล้ายของกรีกคือมีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม พื้นที่ล่างสุดเป็นที่สำหรับแสดงละคร บางครั้งก็เปลี่ยนมาใช้เป็นที่ประชุม ที่นั่งผู้ชมจะลดหลั่นแบบอัฒจรรย์ทั่วไป ความสำคัญอยู่ที่การคำนานเรื่องระบบเสียงและการมองเห็นเพื่อผู้ชมเห็นและได้ยินการแสดงอย่างชัดเจน โรงมหรสพที่มีชื่อเสียงคือ The Opeion of Herodes Athicus อยู่ที่เอเธนส์ สร้างในปี ค.ศ. 161

4. สนามกีฬาหรือเซอร์คัส(Circus) ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของโรมันอีกแห่ง ส่วนใหญ่ใช้แข่งม้า ที่มีชื่อเสียงมากคือสนามกีฬา แมกซิมุส The Circus Maximus อยู่ในโรมครั้นจูเลียส ซีซาร์เรืองอำนาจ ต่อมาอ็อคตาเวียนได้บูรณะขึ้นใหม่ ในสมัยจักรพรรดิเวสปาเซียน ได้ตกแต่งให้งดงามขึ้นและปรับปรุงป็นสนามแข่งรถยาวประมาณ 2000 ฟุต กว้าง 650 ฟุต บรรจุคนดูได้ 25000 คนเป็นอีกที่ที่มีคนตายมากเพราะในการแข่งไม่มีกติกาใดๆทั้งสิ้นจะชนรถคู่แข่งให้คว่ำก็ได้ จะทับคนที่นอนอยู่ให้ตายก็ได้ ขอเพียงให้เข้าถึงเส้นชัยถือเป็นชัยชนะ

5. วิหาร(Temple)ที่สำคัญในยุคจักรวรรดิต้นคือวิหารแพนเธออน(Pantheon)หมายถึง The temple to “all of God” Pantheon เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญ สร้างขึ้นราว 27-25 BC โดยจักรพรรดิมาร์คุส วิบซานิอุส อะกริบปา จุดมุ่งหมายในการสร้างไม่ชัดเจนต่อมามีการสร้างใหม่ในสมัยจักรพรรดิฮาเดรียน ใน ค.ศ. 126 และซ่อมใหญ่ในปี ค.ศ. 202 โดยจักรพรรดิ์ เซพติมิอุส เซเวรุส และคาราคาลา การก่อสร้างในสมัยจักรพรรดิฮาเดรียนมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเทวสถานของเทพเจ้าโรมัน 7 องค์หรือเทพแห่งดาวในระบบสุริยะ Apolloพระอาทิตย์ Diana พระจันทร์ Mars อังคาร Mercury พุธ Jupiter พฤหัส Venus ศุกร์ Saturn เสาร์

ผังของแพนเธออน ทางเข้าด้านหน้าทำเป็นมุขเหมือนวิหารกรีก ที่มีเสาตั้งเรียงกันอยู่เป็นเสาแบบคอรินเธียน ส่วนด้านในเป็นรูปทรงกระบอกคล้ายถังน้ำมันขนาดใหญ่ หลังคาเป็นโดมครึ่งวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 144 ฟุต ตัวโดมทำด้วยคอนกรีต ตรงกลางเจาะรูให้เห็นท้องฟ้าและรับแสงสว่างเรียกว่า Oculus แปลว่าตา(ซึ่งหมายถึงสัญลักษณ์ของตาจากสวรรค์)เส้นผ่านศูนย์กลาง 30 ฟุต ความสูงจากพื้นถึงหลังคาประมาณ 140 ฟุต เกือบจะเหมือนกับเป็นการผสมกันระหว่างแทงค์น้ำมันกับประตูด้านหน้าวัดในยุค Classic

การประดับตกแต่งภายในของ Pantheon เราอาจดูได้จาก Panini Painting ในบทที่ 13 (374)คือความประทับใจแม้จะวัดจากมาตรฐานในปัจจุบัน ความสูง 142 ฟุตและความกว้าง 140 ฟุต รอบๆฐานคือช่องที่ทำเข้าไปในกำแพง 7 ช่องซึ่งแต่เดิมประดับประติมากรรมลอยตัว(สามารถเห็นได้ในจิตรกรรมปัจจุบันไม่มีแล้ว)ของเทพเจ้าบนฟ้า อันได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ Mercury Venus Mars Jupiter และ Saturn ที่ยอดเยี่ยมกว่านั้นคือระดับการลดหลั่นของโดมได้แผ่ออกในลักษณะของครึ่งวงกลมอันสมบูรณ์แบบ และมีการเซาะออกเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ค่อยๆลดระดับ เรียกว่า “Coffers” ที่ซึ่งทำให้โดมโปร่งเบาทั้งทางด้านสายตาและทางด้านโครงสร้าง

ผู้มาเยี่ยมชมในปัจจุบันรู้ดีถึงความกว้างใหญ่ของ Space ภายในดังเช่น Sports Stadiums ควรระลึกด้วยว่าโรมันนั้นไม่มีวัสดุไฮเทคที่ช่วยในการสร้าง Space อาคาร Pantheon เป็นการสร้างด้วย Concrete อย่างง่ายๆซึ่งอาจจะทำให้เรารู้สึกประหลาดใจในอัจฉริยะทางด้านสถาปัตยกรรมที่ต้องการ Enclose ปิดล้อมบริเวณว่างขนาดนี้ด้วย Concrete สามารถสร้างพื้นที่ปิดเป็นรูปทรงตามต้องการด้วย Concrete และรักษาพื้นที่ปิดนี้ได้มากว่า 2000 ปี Pantheon ได้มีการใช้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในช่วงแรกของศตวรรษที่ 7 มันกลายเป็นโบสถ์คริสเตียน กรรมวิธีการก่อสร้างและรูปแบบแพนเธออน ได้ให้อิทธิพลแก่งานศิลปะในยุคหลังหลายแห่งเช่น สตา โซเฟียที่คอนสแตนติโนเปิ้ล โบสถ์ของวัดประจำเมืองในฟลอเรนซ์ โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ในโรม เซนต์ปอลในลอนดอน บ้านพักของประธานาธิปดีโธมัสเจฟเฟอร์สันในมอนติเชลโล นอกจากนี้แพนเธออนยังเคยเป็นโบสถ์ของคริสต์ศาสนาชื่อ สตา มารีอา โรทอนดา และยังเคยเป็นที่ฝังศพของราฟาเอลและไมเคิลแองเจโลด้วย

6. โรงอาบน้ำสาธารณะหรือเธอเม(Thermae or Bath) Thermae มาจาก Thermos แปลว่าร้อนในภาษากรีก ใช้สำหรับเรียกชื่ออาคารสถานที่ที่ใช้สำหรับอาบน้ำกับที่ออกกำลังกายในร่มของชาวโรมัน

ในสมัยอาณาจักรต้น เธอเมจะทำอย่างวิจิตรและหรูหราและฟุ่มเฟือย เนื่องจากโรงอาบน้ำนั้นเป็นที่บำรุงความสุขของคน และคนส่วนน้อยที่ร่ำรวยเท่านั้นจึงจะเป็นเจ้าของได้เพราะการอาบน้ำจะทำไปพร้อมกับการอบตัว ดังนั้นรัฐจึงจัดสถานที่ เช่น โรงมหรสพ สนามกีฬา สถานที่อาบน้ำสาธารณะ สำหรับคนทั่วไปให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ นอกจากจะใช้เป็นที่อาบน้ำและอบตัวแล้วในบางครั้งอาจใช้เป็นที่พบปะ ประชุม พูดคุย ถกกันในเรื่องต่างๆของชนทุกชั้น ไม่ว่าจะเป็น พลเมืองทั่วไปและนักปกครองด้วย บางครั้งอาจใช้เป็นที่แสดงการละเล่นต่างๆรวมถึงแสดงดนตรี

เธอเมที่สำคัญเป็นของจักรพรรดิคาราคารา(Bath of Caracalla) สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 215 มีความกว้าง 120 หรา ยาว 240 หราจุคนได้ 1600 คน

7. ประตูชัย(Triumphal Arch)จัดเป็นอนุสาวรีย์ประเภทหนึ่ง สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะจากสงคราม สร้างโดยจักรพรรดิ์ นิยมสร้างคร่อมถนนโดยทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ตรงกลางทำเป็นทางลอดและประตูโค้ง บริเวณส่วนหน้าและหลังประดับด้วยประติมากรรมและข้อความจารึกเหตุการณ์หรือวีรกรรมของผู้สร้างที่ได้ชัยชนะจากสงคราม ประตูชัยที่สำคัญๆได้แก่ ประตูชัยของติตุสในโรม สร้างขึ้นราว ค.ศ. 1 เพื่อรำลึกชัยชนะของพระองค์ที่มีต่อพวกจูดาห์ ประตูชัยของทราจันที่เบเนเวนโต ซึ่งสร้างฉลองถนนเวีย ไตรอะนาที่ยาว 200 ไมล์เชื่อมระหว่างกรุงโรมกับเมืองท่าบรินดิสิ นับเป็นประตูชัยแห่งเดียวที่ไม่ได้เน้นเรื่องสงครามเหมือนประตูชัยอื่นๆ

8. สะพานและท่อส่งน้ำ(Bridges and Aqueduct) การทำท่อน้ำมีทั่วไปในอาณาจักรโรมันเพื่อบริการน้ำสะอาดแก่ประชาชน เพราะเป็นบริการจากรัฐ น้ำจะแยกจากท่อใหญ่ไปตามท่อเล็กๆที่ทำด้วยตะกั่ว ท่อดินเผา หรือท่อไม้เข้าสู่เธอเม บ้านเรือน หรือตามที่สถาธารณะ เช่น น้ำพุ เป็นต้น ประมาณการณ์กันว่าโรมในสมัยนั้นใช้น้ำวันละ 350 ล้านแกลอน นอกจากโรมแล้วเมืองอื่นๆก็มีท่อลำเลียงน้ำเช่นนี้เหมือนกัน บางแห่งต้องลำเลียงน้ำผ่านหุบเขาและที่ลุ่มจึงจำเป็นต้องยกท่อให้ได้ระดับไม่เช่นนั้นน้ำจะไหลออกหมด ท่อน้ำที่มีสะพานรองรับยกระดับน้ำผ่านหุบเขาและที่ลุ่มที่มีชื่อเสียงมากคือ Pont Du Gard ที่เมืองนิมส์ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส มีช่วงที่ข้ามช่องเขาหลายตอนด้วยกัน การก่อสร้างใช้ระบบอาร์ค Arch หรือประตูโค้งกว้างช่องละ 82 ฟุตใช้หินก้อนละประมาณ 2 ตันวางเรียงกันโดยไม่ต้องใช้ซีเมนต์เชื่อม บางตอนอยู่ลึกมากจำเป็นต้องใช้ฐานรองรับถึง 3 ชั้นมีความสูงราว 50 เมตร มีความยาวจากแหล่งต้นน้ำถึงเมืองนิมส์ราว 30 ไมล์ ลำเลียงน้ำได้ราววันละ 100 แกลอน

สถาปัตยกรรมอื่นๆของโรมัน เช่น อาคารที่พักอาศัยคล้ายแฟลตหรืออพาร์ทเม้นท์สูงหลายชั้น หรือพระราชวังของจักรพรรดิก็มีปรากฏอยู่เช่นกัน



สรุปแนวทางสถาปัตยกรรมของโรมันได้ 4 อย่าง

1. ส่วนมากมีเน้นวัตถุประสงค์ด้านการใช้งานแก่สาธารณะเป็นประการสำคัญ สถานที่ทางศาสนาเช่นเทวาลัยก็มีบ้างแต่ส่วนใหญ่เป็นสิ่งก่อสร้างเพื่อสาธารณชนหรือจักรวรรดิมากกว่า

2. เน้นในเรื่องความสูงสง่าความมีอำนาจน่าเกรงขาม สถาปัตยกรรมโรมันเน้นความสูงและใหญ่โต อาจเนื่องมาจากต้องการแสดงอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิ์ เช่น ตึก 6 ชั้นในโฟรัมทราจัน สถานที่อาบน้ำสาธารณะ ประตูชัย

3. การออกแบบภายในนิยมทำอย่างหรูหรา ชาวโรมันให้ความสำคัญกับเนื้อที่ภายในอาคารมาก โดยเฉพาะเรื่องความใหญ่โตและการประดับตกแต่ง

4. ระบบ Arch และ Vault เป็นเอกลักษณ์สำคัญของโรมันในการก่อสร้าง ช่วยให้อาคารดูไม่ทึบตัน ประหยัด สวยงาม ใช้ประโยชนในพื้นที่ได้มากเต็มที่ เพราะระบบนี้ใช้เสาน้อยกว่าระบบคานวางพาดเสาดังอาคารกรีก และยังสามารถสร้างซ้อนหลายๆชั้นดังเช่น สะพานส่งน้ำ หรือโคลอสเซียมได้ เมื่อนำ Vault หลายๆอันมาใช้ร่วมกันสามารถทำเป็น Cross Vault หรือ Groined Vault และ Cross Barrel Vault ช่วยให้ทำหลังคาเป็นโดมได้ ซึ่งทำให้พื้นที่ภายในกว้างขวาง การคิดค้นซีเมนต์-คอนกรีตได้ก็มีส่วนสำคัญต่อความเจริญด้านสถาปัตยกรรม



ประติมากรรม

จำแนกออกได้เป็น 2 แบบ

1. นิยมทำภาพนูนสูงประดับอนุสาวรีย์หรือบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในยุคนั้น ประดับตัวสถาปัตยกรรม

ชิ้นที่เก่าแก่มากคือ The Altar of Peace แท่นบูชาสันติภาพสร้างโดยจักรพรรดิ์ ออกุสตุส ราว 13-9 BC เป็นอนุสรณ์การลับคืนสู่โรมหลังจากการรบในต่างแดน ลักษณะเป็นวิหารเล็กๆ รอบๆกำแพงทั้งภายนอกและภายในมีประติมากรรมแบนประดับอยู่ แสดงเรื่องราวของจักรพรรดิกับข้าราชบริพาร ประติมากรรมประดับอนุสรณ์สถานอีกชิ้นคือภาพประดับประตูชัยติตุส ทำขึ้นราว ค.ศ. 81 บนถนน เวีย สาครา ตัวประตูชัยเป็นแบบคอรินเธียน ลักษณะทั่วไปคล้ายการสร้างโคลอสเซียม ประติมากรรมเป็นแบบนูนสูงแสดงเหตุการณ์ของติตุสที่ได้ชัยชนะจากพวกยิว

ตัวอย่างถัดไปคือ เสาของทราจัน(The Column of Trajan)สร้างโดยสภาเซเนทและประชาชน Trajan เป็นจักรพรรดิที่ทรงอำนาจของโรมใน ๙๘ A.D. บทบาทของเขาไม่เพียงในทางการเมืองแต่เป็นเรื่องการทหารด้วย ขยายดินแดนของจักรวรรดิและปกป้องมันจากการรุกรานภายนอก ในช่วงแรกของการครองราชย์ Trajan ไปรบกับเดเชี่ยน Dacians พวกยุโรปตอนกลางทางตอนใต้ของแม่น้ำดานูบ(ปัจุบันคือฮังการีและโรมาเนีย) ผู้ชอบลอบจู่โจมจักรวรรดิ์โดยไม่รู้ตัวอยู่ประจำ และได้ชัยถึง 2 ครั้ง ชัยชนะของเขาได้เฉลิมฉลองโดยใช้เสาแห่งชัยชนะเป็นอนุสาวรีย์อยู่ในกรุงโรม เสาเป็นอนุสาวรีย์ที่บันทึกเหตุการณ์ สร้างขึ้นราว ค.ศ. 113 บริเวณโฟรัมของทราจันเอง เป็นเสากลมสูง 128 ฟุต เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 ฟุต ยอดเสามีรูปปั้นทราจันสูง 13 ฟุตปัจจุบันเปลี่ยนเป็นรูปเซ็นต์ปีเตอร์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 รูปโทรจันเองสูญหายไป โคนเสาเป็นฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 12x 12 ฟุต มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้บรรจุศพของทราจันและเป็นอนุสรณ์แก่ชัยชนะในการรบต่อพวกดาเชี่ยน

ภายในเสากลวงมีบันไดเวียนขึ้นไปถึงยอด บริเวณด้านนอกมีประติมากรรมนูนต่ำสลักจากหินอ่อนทำเป็นแถบคล้ายผ้าพันแผลหมุนเวียนจากซ้ายไปขวารอบเสาเหมือนเกลียวสว่าน ตั้งแต่โคนเรื่อยไปจนถึงยอดมี 25 ชั้นถ้านำมาคลี่ออกจะมีความยาว 656หรือ625 ฟุตราว สนามฟุตบอล 2 สนาม แถบมีความกว้างจากโคนประมาณ 25 นิ้วและกว้างขึ้นเรื่อยๆถึงยอดกว้างประมาณ 50 นิ้ว แถบประติมากรรมนี้มีรูปลักษณะที่แบนและมีความต่อเนื่องกันไป (Continuous Narratives)ตัวประติมากรรมเป็นเรื่องราวของจักรพรรดิ์ทราจันทำสงครามกับพวกเดเชี่ยน โดยแบ่งออกเป็นตอนได้ 150 ตอน เริ่มตั้งแต่ชั้นล่างสุดเป็น Trajan ซึ่งกำลังเตรียมทำสงครามไล่ไปจนชั้นบนสุดซึ่งเป็นการพิชิต Dacians รูปคนทั้งหมดมีประมาณ 2500 รูปนอกจากนี้ยังมีรูปรถ ม้า เรือ และอาวุธต่างๆด้วย ประติมากรรมนี้เด่นตรงการบรรยายเหตุการณ์ต่างๆด้วยรูปสลักทั้งหมด ทั้งการสร้างป้อม ค่ายต่างๆแต่ทุกตอนจะเน้นบุคคลสำคัญในภาพคือจักรพรรดิทราจัน

2. ทำรูปเหมือนบุคคล

ซึ่งนิยมมาตั้งแต่สมัยเป็นสาธารณรัฐแล้ว มาถึงสมัยจักรวรรดินิยมก็ยังคงนิยมอยู่แต่ต่างกันบ้างในรายละเอียดคือสมัยสาธารณรัฐนิยมทำภาพเหมือนจริงของบุคคลให้มีความเหมือนตามจริงมากที่สุดแต่ในสมัยจักรวรรดินิยมชอบให้แสดงออกถึงลักษณะอันสง่างาม เป็นอุดมคติ โดยเฉพาะรูปชนชั้นสูงจะดูสง่างามราวเทพเจ้าของกรีก เป็นการผสมผสานระหว่างความเหมือนจริง Realism กับความเป็นอุดมคติ Idealism ส่วนรูปประชาชนทั่วไปก็ยังคงมีลักษณะแบบเหมือนจริงเช่นเดิม

รูปคนเหมือนที่มีชื่อเสียงคือรูปของจักรพรรดิออกุสตุส เวสปาเชี่ยนและฮาเดรียน อีกรูปที่สำคัญมากคือจักรพรรดิมาร์คุส ออเรลิอุสทรงม้า ที่สร้างให้จักรวรรดิโรมันรุ่งโรจน์ สันนิษฐานว่าการสร้างรูปแบบนี้ได้รับความนิยมจากจักรพรรดิทุกองค์แต่เหตุที่เหลือเพียงจักรพรรดิออเรลิอุสเพียงองค์เดียวอาจเนื่องจากถูกพวกคริสต์เตียนซึ่งเรืองอำนาจขึ้นในสมัยกลาง นำรูปเหล่านี้มาหลอมเพราะเห็นว่าศิลปะโรมันเป็นของพวกนอกศาสนา และยังเคยเป็นศัตรูแก่พวกคริสเตียนด้วย จึงทำลายรูปต่างๆของโรมันโดยเฉพาะรูปจักรพรรดิลงเกือบหมด และอาจเป็นไปได้ว่าเข้าใจว่ารูปจักรพรรดิออเรลิอุสคือรูปจักรพรรดิคอนสแตนตินผู้ประกาศอิสรภาพในการนับถือศาสนาแก่คริสเตียนและเป็นจักรพรรดิเพียงองค์เดียวที่คริสต์เตียนรัก ท่าทางของรูปอยู่ในอากัปกิริยาของผู้ทรงความกรุณา มือขวาที่ยกขึ้นคล้ายสันตะปาปากำลังประทานพร มีท่าทางราวกับพระเจ้า ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อที่ว่าจักรพรรดิมีฐานะราวกับเทพองค์หนึ่ง ทั้งจักรพรรดิองค์นี้ได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์ มีสมาธิอันแกร่งกล้าและมีความเมตตาเหมอนนักบุญ ลักษณะดังกล่าวได้แสดงออกในงานประติมากรรมนี้ รูปออเรลิอุสทรงม้าก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ศิลปินในยุคหลังๆเช่น ยุคเรอเนซองที่นิยมสร้างอนุสาวรีย์รูปคนขี่ม้า และแพร่หลายไปทั่วโลก

18 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ6 ธันวาคม 2553 เวลา 10:29

    สวัสดีครับ ผมชื่อต้นนะครับอยู่ ม.4
    ผม ชอบอารยธรรมกรีก-โรมันมากครับ ขอบคุณนะครับสำหรับข้อมูล

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ7 ธันวาคม 2553 เวลา 20:23

    ขอบคุณ สำหรับข้อมูล คับ จะเอาไปทำรายงาน ด้วย เป็นอารยธรรมที่น่าสนใจ มากนะครับ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ13 ธันวาคม 2553 เวลา 18:40

    ขอบคุณสำหรับขอมูลนะครับ (เอาไปทำรายงาน)

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ16 มกราคม 2554 เวลา 11:31

    ยาวไปคะแต่เนื้อหาใช้ได้

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ10 พฤษภาคม 2554 เวลา 16:00

    ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  6. ดีเยี่ยม

    ตอบลบ
  7. ขออนุญาตินำไปทำรายงานนะคะ ข้อมูลดีมากๆเลย ขอบคุณค่ะ ^^

    ตอบลบ
  8. ขอบคุนค่ะ
    ทำรายงานได้สบายแล้ว

    ตอบลบ
  9. ดีครับ ผมขอถามหน่อยครับหาคำตอบไม่ได้ สาเหตุที่โรมันล่มสลายลงเพราะเหตุใดครับ

    ตอบลบ
  10. ไม่ระบุชื่อ23 กรกฎาคม 2554 เวลา 15:21

    ขอบคุณครับ ^^ สำหรับข้อมูล

    กำลังทำรายงานพอดีเลย ^^

    ตอบลบ
  11. ไม่ระบุชื่อ9 สิงหาคม 2554 เวลา 22:52

    ขอบคุณสำหรับข้อมูลมากนะครับ
    ผมต้องทำรายงานอยู่พอดี :)

    ตอบลบ
  12. ไม่ระบุชื่อ18 สิงหาคม 2554 เวลา 18:31

    ขอบคุณจร้าา
    กำลังหาข้อมูลทำรายงานพอดีเลยย
    ขอบคุณสำหรับข้อมูลน้าา
    ^^

    ตอบลบ
  13. ไม่ระบุชื่อ4 กันยายน 2554 เวลา 00:20

    ขอบคุณคุณครูมากนะคะสำหรับข้อมูล
    ขออนุญาตินำไปประกอบการทำโครงงานวิชาสังคมศึกษานะคะ

    ขอบพระคุณมากค่ะ
    ข้อมูลตรงกับที่วาวโครงเรื่องไว้เลยล่ะค่ะ :)

    ตอบลบ
  14. ไม่ระบุชื่อ20 กันยายน 2554 เวลา 20:30

    โห........เยอะมากอ่านจนตาเเฉะเลยครับพี่น้องคร้าบบ.....

    ตอบลบ
  15. จากข้อความนี้
    เทพของกรีก ถูก Adapted สู่ศาสนาของโรมัน Jupiter จากภาษากรีกเป็นภาษาละติน กลายเป็น Zeus เทพ Venus กลายเป็น Aphrodite และอื่นๆอีกมาก

    เหมือนว่าจะจำสลับกันนะครับ
    จริงๆแล้ว มันต้องเป็นอย่างนี้ครับ

    Zeus จากภาษากรีกกลายเป็น Jupiter ในภาษาละติน
    Aphrodite จากภาษากรีกกลายเป็น Venus ในภาษาละตินครับ

    ตอบลบ
  16. ไม่ระบุชื่อ3 สิงหาคม 2555 เวลา 21:52

    THK for anything

    ตอบลบ
  17. ไม่ระบุชื่อ20 สิงหาคม 2555 เวลา 23:39

    เจ่งมาก

    ตอบลบ