Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ



สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็น พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาชุ่ม รัชกาลที่ ๔ ประสูติในบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๐๕ ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร

การศึกษาของพระองค์ในขั้นต้น ได้ทรงศึกษาภาษาไทยตามแบบเก่ากับคุณแสงเสมียนและคุณปาน ธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ในพระบรมมหาราชวัง ภาษาบาลีในสำนักพระยาปริยัติธรรมธาดา(เปี่ยม)และหลวงธรรมานุวัติจำนง(จุ้ย)ภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลวง นายฟรานซิส ยอร์ช แพตเตอร์สัน เป็นพระอาจารย์

พระองค์ได้รับราชการในกรมทหารมหาดเล็กมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าโปรดให้ทรงจัดการกรมแผนที่เพื่อฝึกให้คนไทยทำแผนที่ พระองค์ก็ทรงกระทำอย่างเรียบร้อย ภายหลังโปรดให้บังคับบัญชากรมกองแก้วจินดา พระองค์ก็ทรงปฏิบัติได้อย่างถูกต้องพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ จึงทรงได้รับพระราชทานสุพรรณบัตร สถาปนากรมหมื่นดำรงราชานุภาพ

การปกครองในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้ทรงปฏิรูปใหม่เป็นอันมาก เช่นเมื่อทรงเห็นโรงเรียนมากขึ้นตามลำดับ ก็ทรงตั้งกรมศึกษาธิการขึ้นโดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นปฐมอธิบดี และต่อมากิจการศึกษาธิการกว้างขวางขึ้น จึงโปรดให้รวมกรมศึกษาธิการเข้ากับกรมธรรมการแล้วทรงตั้งให้เป็นกระทรวงธรรมการ ต่อมาโปรดให้เป็นราชฑูตพิเศษออกนานาประเทศ พระองค์ก็สนองพระราชโองการได้โดยเรียบร้อย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดระเบียบการปกครองใหม่ ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทั้งยังเคยทรงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้สำเร็จการราชการแผ่นดิน

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้ทรงรับสถาปนาเลื่อนขึ้นเป็นกรมหลวง ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านก็ได้สนองพระเดชพระคุณตลอดมา ตราบจนชราทุพพลภาพ ไม่สามารถทำราชการหนักในตำแหน่งต่อไปอีก จึงกราบถวายบังคมลาออกจากเสนาบดีมหาดไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงสถาปนาเป็นเสนาบดีที่ปรึกษา

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดเกล้าให้เลื่อนเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อันเป็นยศที่สูงสุดในทางทรงกรม

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเริ่มประชวรด้วยโรคพระหทัย (หัวใจ)พิการมาตั้งแต่เดือนธันวา พ.ศ.๒๔๘๔ จึงเสด็จกลับมารักษาพระองค์ยังเมืองไทย พระอาการทรงและทรุดเรื่อยมาจนสิ้นพระชนม์เมื่อ วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๖

ผลงานนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

๑. พงศวดาร ๑๓๔ เรื่อง

๒. โคลงกลอน ๙๒ เรื่อง

๓. ศาสนา ๗๙ เรื่อง

๔. อธิบายแทรก ๑๙ เรื่อง

๕. ประวัติ ๑๖๐ เรื่อง

๖. ตำนาน ๑๓๐ เรื่อง

๗. ในนิตยสารสยามสมาคม ๑๐ เรื่อง และพระนิพนธ์เรื่องสุดท้ายคือ ลักษณะเรียกพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงร่างไว้ด้วยดินสอค้างไว้ก่อนสิ้นพระชนเพียง ๑ เดือน ปัจจุบันเก็บไว้ในหอสมุดดำรงราชานุภาพ



พระเกียรติคุณของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยากที่จะพรรณนาได้หมด ด้วยพระองค์ท่านเป็นอัจฉริยะบุรุษ ทรงประกอบพระเกียรติคุณเป็นอันมาก ในด้านการปกครอง พระองค์เป็นเสนาบดีคู่พระราชหฤทัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเช่นเดียวกับสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ ในด้านการศึกษา นอกจากทรงค้นคว้าหลักวิชาการต่างๆ และได้จัดการโรงเรียนเป็นพระองค์แรกแล้ว ยังได้ทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆไว้อย่างมากมาย ในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี พระองค์ได้ทรงค้นคว้าและหาหลักฐานต่างๆเป็นอันมาก ถ้าทรงทราบว่ามีวัตถุโบราณแล้ว มักจะเสด็จไปตรวจตราด้วยพระองค์เองจนทำให้ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเด่นชัดอีกเป็นอันมาก ในด้านวรรณคดี พระองค์ได้ทรงนิพนธ์เรื่องร้อยกรองไว้ไม่น้อย ข้อที่สำคัญที่สุดในทางวรรณคดี ก็คือ พระองค์ทรงสามารถรวบรวมวรรณคดีเก่าๆไว้ ให้พวกอนุชนรุ่นหลังได้พบเห็นได้เป็นอันมาก ตั้งแต่วรรณคดีตอนปลายกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้นๆ จะเห็นได้ว่าพระองค์ท่านเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวรรณคดี และทั้งยังเป็นนักปราชญ์นักปกครองที่สามารถอีกด้วย


**********************************

บรรณานุกรม

พูนพิศมัย ดิศกุล. ชีวิตและงานของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ.กรุงเทพ:สำนักพิมพ์คลังวิทยา,๒๕๑๗.
พูนพิศมัย ดิศกุล. สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ.กรุงเทพ:มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป , ๒๕๒๕.
ทักษิณ ณ ตะกั่วทุ่ง. พระบิดาองค์บิดาและพระมารดาของไทย.กรุงเทพ:สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร,๒๕๔๖.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น