Wlecom To Blog Kru Ploy Na Ka

หน้าเว็บ


ขอฝากจากตลาดคลองสาน 100 ปี

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

ท้าวทองกีบม้า (ราชินีขนมไทย)






ว่าที่จริงแล้ว ขนม หรือ ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าของหวานกับคนไทยนั้น เพิ่งจะมารู้จักมักคุ้นกันเมื่อ ๒๐๐ กว่าปีมานี้เอง ก่อนหน้านั้นคนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยลิ้มรสของกินรสหวานมันซึ่งปรุงจาก แป้ง ไข่ กะทิ และน้ำตาลกันเท่าใดนัก



..........โยส เชาเด็น ผู้จัดการบริษัทการค้าฮอลันดา ซึ่งเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าทรงธรรมและพระเจ้าปราสาททองเป็นเวลานาน ๘ ปี บันทึกไว้ว่า…อาหารของชาวสยามไม่ฟุ่มเฟือยและมีน้อยสิ่ง ตามปกติมี ข้าว ปลา และผัก ส่วนเครื่องดื่มตามปกตินั้น เขาดื่มแต่น้ำอย่างเดียว


..........ส่วนนิโคลาส์ แชรแวส ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นเวลานาน ๔ ปี ก็บันทึกไว้ว่า…ไม่มีชนชาติใดที่จะบริโภคอาหารอดออมเท่าคนสยาม สามัญชนดื่มแค่น้ำเท่านั้น แล้วก็กินข้าวหุง ผลไม้ ปลาแห้งบ้างเล็กน้อยแล้วยังกินไม่ค่อยอิ่มท้องเสียด้วย ชนชั้นสูงก็มิได้บริโภคดีไปกว่านี้ ทั้งที่สามารถซื้อหามาบริโภคได้ตามปรารถนา



..........เช่นเดียวกับซีมอง เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ได้บันทึกไว้ว่า…ชาวสยามคนหนึ่ง ๆ จะอิ่มหนำสำราญด้วยข้าวซึ่งมีน้ำหนักวันละ ๑ ปอนด์ ราคาตกราว ๑ ลิอาร์ต แล้วก็มีปลาแห้งอีกเล็กน้อย หรือไม่ก็ปลาเค็ม ซึ่งราคาค่างวดก็ไม่แพงไปกว่าคาคาข้าวนัก เหล้าโรงหรือเหล้าที่ทำจากข้าวขนาด ๑ ไปน์ ที่กรุงปารีสก็ตากราว ๒ ซู เท่านั้นก็พอแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ชี้ให้เห็นถึงนิสัยอยู่ง่ายกินง่ายของคนไทยเท่านั้น ยังเป็นสิ่งที่แสดงให้รู้ด้วยว่า คนไทยในสมัยโบราณยังไม่รู้จักคำว่า ขนม ซึ่งเป็นอาหารอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่กับข้าว แต่เป็นของกินหลังอาหาร หรือกินเล่น มีรสชาติหวานมัน อร่อยถูกปากเพราะปรุงจากแป้ง ไข่ กะทิ และน้ำตาล เชื่อกันว่าผู้ประดิษฐ์คิดขนมไทยออกมาเผยแพร่จนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางสืบต่อมาจนทุกวันนี้มีชื่อว่า ท้าวทองกีบม้า ซึ่งเพี้ยนมาจาก ดอญ่า มาร กีมาร์ ท้าวทองกีบม้ามีชื่อเต็มว่า มารี กีมาร์ เด ปนา ส่วนคำว่า “ดอญ่า” เป็นภาษาสเปน เทียบกับภาษาไทยในขณะนั้นได้ว่า “คุณหญิง” เหตุที่เธอเป็นภริยาของออกญาวิไขเยนทร์อัครมหาเสนาบดีแห่งกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช



เธอเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๑ หรือ ๒๒๐๒ แต่บางแห่งว่าเธอเกิด พ.ศ.๒๒๐๙ โดยอ้างเหตุผลที่มีผู้บันทึกว่า เธอแต่งงานกับคอนสแตนติน ฟอลคอน ในปี พ.ศ. ๒๒๒๕ เมื่อมีอายุ ๑๖ ปี บิดาของท้าวทองกีบม้าเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นผสมแขกเบงกอลชื่อ ฟานิก ส่วนมารดาเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นผสมโปรตุเกสเกิดในกรุงศรีอยุธยา มีชื่อว่าอุรสุลา ยามาดา เชื่อกันว่าเชื้อสายทางมารดาของท้าวทองกีบม้าอพยพเเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยา หลังจากซามูไรชุดแรกเดินทางเข้ามาเป็นทหารอาสาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่นานนัก เซญอรา อิกเนซ มาร์แตงซ์ ผู้เป็นมารดาของอุรสุลาและเป็นยายของท้าวทองกีบม้าเล่าว่า ครองครัวของนางเป็นคาธอลิกที่เคร่งครัดมาก และนางก็เป็นหลานสาวของคริสต์ศาสนิกชนคนแรกของญี่ปุ่นซึ่งนักบุญฟรานซิสซาเวียร์ประทานศีลล้างบาปและตั้งนามทางศาสนาให้



..........ประมาณ พ.ศ. ๒๑๓๕ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของญี่ปุ่นหรือที่เรียกันว่าโชกุน ผู้มีนามว่าฮิเดโยชิ ได้ออกพระราชกฤษฎีกาในพระนามสมเด็จพระจักรพรรดิ ให้จับกุมชาวญี่ปุ่นที่นับถือคริสต์ศาสนาลงโทษและริบราชบาตร บาทหลวงที่ทำงานเผยแพร่ศาสนาในญี่ปุ่นถูกกำจัดและขับไล่ พวกเข้ารีตปลายคนถูกประหารชีวิตที่เมืองนางาซากิน สร้างความตื่นเต้นตกใจให้แก่ชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคาธอลิกเป็นอย่างมาก ยายของท้าวทองกีบม้าเองก็อยู่ในกลุ่มของชาวคริสต์ที่ถูกขับไล่ด้วย นางถูกจับยัดใส่กระสอบนำมาลงเรือที่เมืองนางาซากิ เพื่อเนรเทศไปยังเมืองไฟโฟประเทศเวียดนาม ซึ่งมีคริสต์ศาสนิกชนอยู่กันมากบนเรือลำนั้น นางได้พบกับตาของท้าวทองกีบม้า ซึ่งเป็นเจ้าชายแห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น ซึ่งเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์เช่นกัน เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ทั้งสองจึงได้แต่งงานกันอย่างถูกต้องตามศาสนาและประเพณี หลังจากร่วมชีวิตกันมาระยะหนึ่งจึงหันมาประกอบการค้าจนมีฐานะดีขึ้น ขณะนั้นมีข่าวชาวญี่ปุ่นกลุ่มหนี่งเดินทางมาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาและได้รับการต้อนรับอย่างดีสามารถตั้งหลักแหล่งทำมาหากินได้อย่างดี เพราะเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ทำให้ตาและยายของท้าวทองกีบม้าตัดสินใจเดินทางมาตั้งถิ่นฐานยังกรุงศรีอยุธยาตลอดชีวิต โดยอาศัยอยู่ที่ค่ายโปรตุเกส ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา


..........หลังจากอุรสุลาแต่งงานกับฟินิกและมีลูกด้วยกันหลายคน มารี กีมาร์ เป็นลูกสาวที่จัดว่ามีรูปโฉมงดงามกว่าใครไม่เพียงแต่เป็นที่ต้องตาของชายหนุ่มชาวตะวันตกที่เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น แม้แต่ออกหลวงสรศักดิ์ก็ชื่นชมในความงามของเธอด้วย กล่าวกันว่าท้าวทองกีบม้านอกจากจะมีรูปโฉมเป็นเลิศแล้ว เธอยังเป็นผู้มีน้ำใจงดงามซื่อสัตย์และใจบุญสุนทาน มีความเมตตาปรานีอย่างหามีผู้ใดเสมอเหมือน ตลอดชีวิตของเธอดำเนินไปภายใต้กรอบแห่งความดีงามและความถูกต้อง โดยมีแรงศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าที่เธอเคารพนับถือเป็นหลักชัย ทำให้ได้ชื่อว่า เป็นคาธอลิกที่เคร่งครัดมากที่สุดคนหนึ่ง ท้าวทองกีบม้าเป็นสตรีที่มีความอดทนเป็นเลิศ แม้ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากแสนสาหัสเพียงใดก็ยืนหยัดสู้โดยไม่ยอมท้อถอย ความเป็นผู้มีจิตใจสูงและมีน้ำใจกรุณาปรานี ทำให้เธอเป็นที่เคารพรักของคนทั่วไป ในขณะที่ชีวิตรุ่งโรจน์เธอก็ไม่ได้คิดแต่ความสุขเฉพาะตนหากแต่ยังห่วงใยถึงผู้ทุกข์ยากอีกมากมาย โดยได้รับอุปการะเลี้ยงดูเด็กสาวกำพร้าและบรรดาลูกทาสที่เป็นลูกครึ่ง มีแม่เป็นชาวพื้นเมือง แต่มีพ่อเป็นชาวยุโรปเอาไว้หลายคน เด็กเหล่านี้ถูกบิดาทอดทิ้งไม่เหลียวแล ปล่อยให้อยู่กับมารดาที่ยากจนตามลำพัง เมื่อได้รับความอุปการะจากท้าวทองกีบม้าจึงมีชีวิตที่ดีขึ้น


..........มารี กีมาร์ แต่งงานกับคอนสแตนติน ฟอลคอนชาวกรีกที่เข้ามารัยราชการในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนเป็นที่โปรดปราน ได้รับแต่งตั้งเป็นถึงอัครมหาเสนาบดีฟอลคอนยอย่องเธอในฐานะภรรยาเอก แม้ว่าก่อนหน้านั่นเขาจะเลี้ยงดูสตรีไว้ในฐานะภรรยาแล้วหลายคน ชีวิตสมรสของท้าวทองกีบม้าไม่สู้ราบรื่นนัก ด้วยคอนแสตนติน ฟอลคอน มีนิสัยเจ้าชู้ มักนอกใจเธออยู่เสมอ จึงมีเหตุต้องทะเลาะกันอย่างรุนแรงเสมอมา เช่นเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๒๓๑ ฟอลคอนเกิดติดอกติดใจคลารา ทาสสาวที่ท้าวทองกีบมาอุปการะไว้ ทำให้มีปากมีเสียงกันอย่างรุนแรง จนเธอต้องขนข้าวของและเด็กสาวในอุปการะทั้งหมดหนีจากลพบุรีกลับมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา อันที่จริง ก่อนที่มารี กีมาณื หรือท้าวทองกีบม้าจะตกลงปลงใจยินยอมแต่งงานกับคอนสแตนติน ฟอลคอนนั้น เธอมิได้รักหรือชอบพอชายผู้นี้มาก่อนเลย แถมยังออกจะชิงชังนิสัยใจคอของชายชาวกรีกผู้นี้ด้วย นอกจากนั้นแล้วฟานิกเองก็เกลียดชังฟอลคอนมาก เพราะไม่เพียงแต่เขาจะนับถือศาสนาโปรเตสตันท์ซึ่งแตกต่างจากเธอแล้ว ฟอลคอนมักแสดงอาการดูหมิ่นเหยียดหยามบิดาของเธอเป็นประจำ โดยมักเรียกฟานิกว่าแขกดำ เหตุที่มารี กีมาร์ยินยอมแต่งงานกับฟอลคอน เพราะได้รับคำขอร้องจากบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งเป็นที่เคารพนับถืออย่างสุงของเธอและบิดา โดยฟอลคอนให้สัญญาว่าเมื่อแต่งงานแล้วจะเปลี่ยนศาสนาเป็นคาธอลิก ชีวิตหลังจากแต่งงานของท้าวทองกีบม้ารุ่งโรจน์มาก แม้ฟอลคอนจะมีนิสัยเจ้าชู้ แต่ก็ให้ความเกรงใจเธอตลอดมา ๑ ปี หลังการแต่งงานฟอลคอนก็ได้เป็นผู้ควบุคมการก่อสร้างป้อมแบบยุโรปในกรุงศรีอยุธยาและบางกอก ต่อมาเมื่อออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) ถึงแก่กรรม ออกญาพระเสด็จซึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งออกญาโกษาธิบดีแทนก็เลื่อนตำแหน่งให้เขาขึ้นมาทำหน้าที่ผู้ช่วยและยังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกพระฤทธิ์กำแหง ตำแหน่งนี้ทำให้ฟอลคอนร่ำรวยชึ้นมาอย่างรวดเร็วเพราะประกอบการค้าส่วนตัวควบคู่ไปกับราชการด้วย ท้าวทองกีบม้าจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายหรูหราอย่างหาผู้ใดในกรุงศรีอยุธยาเปรียบเทียบไม่ได้ การเป็นภรรยาของขุนนางที่มีตำแหน่งสูง ทั้งยังต้องติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศเสมอ ทำให้ท้าวทองกีบม้าต้องพบปะเจอะเจอแขกที่เดินทางมาในฐานะราชอาคันตุกะและแขกในหน้าที่ราชการของสามี ดังนั้น เธอจึงจำเป็นต้องให้การต้อนรับและปรับตัวให้สมกับฐานะคุณหญิงที่ดำรงอยู่ด้วยการจัดตกแต่งบ้านเรือนแบบตะวันตกและนำสิ่งของที่ได้รับเป็นของขวัญจากภรรยาขุนนางต่างประเทศที่ส่งมาให้จัดวางในมุมที่หรูที่สุดของบ้าน นอกจากจะมีความรุ้ในเรื่องการจัดตกแต่งอย่างดีแล้ว เธอยังมีความรุ้ในด้านการปรุงอาหารอย่างดีเยี่ยมเพราะต้องทำอาหารเลี้ยงดูแขกเหรื่ออยู่เป็นประจำมิได้ขาด ปีที่ ๖ ของการเข้ารับราชการ ฟอลคอนได้รับตำแหน่งหน้าที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุด โดยได้เป็นสมุหนายกอัครมหาเสนาบดี แต่ด้วยความคิดมิชอบฟอลคอลที่ติดต่อกับฝรั่งเศสเป็นการลับให้ยึดสยามเป็นอาณานิคมจึงถูกกลุ่มของพระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์จับในข้อหากบฏ เรียกตำแหน่งคืน ริบทรัพย์ และถูกประหารชีวิต เล่ากันว่า ก่อนขึ้นตะแลงแกงฟอลคอนได้รับอนุญาตให้ไปอำลาลูกเมียที่บ้าน แต่ด้วยความเกลียดชัง ท้าวทองกีบม้าซึ่งถูกจองจำอยู่ในคอกม้าถึงกลับถ่มน้ำลายรดหน้าและไม่ยอมพูดจาด้วย ต่อมาเธอถูกนำตัวกลับมายังกรุงศรีอยุธยา และถูกส่งตัวเข้าไปเป็นคนรับใช้ในพระราชวัง ออกหลวงสรศักดิ์ที่มีความพึงพอใจเธออยู่เป็นทุนเดิมต้องการได้เธอเป็นภรรยาน้อย แต่เธอไม่ยินยอม ทำให้ออกหลวงสรศักดิ์ไม่พอใจมากออกปากขู่ต่าง ๆนานา จนท้าวทองกีบม้าไม่สามารถทนอยู่ต่อไปได้ จึงตัดสินใจลอบเดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยา โดยติดตามมากับนายทหารฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ ร้อยโทเซนต์ มารี เพื่อมาอาศัยอยู่กับนายพลเดฟาซจ์ที่ป้อมบางกอกและขอร้องให้ช่วยส่งตัวเธอและลูก ๒ คน ไปยังประเทศฝรั่งเศส แต่นายพลเตฟาช์จไม่ตกลงด้วยเพราะเห็นว่าจะเป็นปัญหาภายหลัง จึงส่งตัวท้าวทองกีบม้าให้แก่ออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ซึ่งท่านก็รับไว้ด้วยความเมตตา กระนั้นเธอก็ยังต้องถูกคุมขังเป็นเวลานานถึง ๒ปี หลังการปลดปล่อยเธอได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ทำอาหารหวานประเภทต่าง ๆ ส่งเข้าไปในพระราชวังตามกำหนด ระหว่างนี้ท้าวทองกีบม้าได้กลับมาพักอยู่ที่ค่ายโปรตุเกส ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บ้านเกิดของเธอ การทำหน้าที่จัดหาอาหารหวานส่งเข้าพระราชวังทำให้ท้าวทองกีบม้าต้องประดิษฐ์คิดค้นขนมประเภทต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา จากตำรับเดิมของชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะโปรตุเกสซึ่งเป็นชาติกำเนิดของเธอ ท้าวทองกีบม้าได้พัฒนาโดยนำเอาวัสดุดิบพื้นถิ่นที่มีในประเทศสยามเข้ามาผสมผสาน จนทำให้เกิดขนมที่มีรสชาติอร่อยถูกปากขึ้นมามากมาย เมื่อจัดส่งเข้าไปในพระราชวังก็ได้รับความชื่นชมมาก ถึงขนาดถูกเรียกตัวเข้าไปรับราชการในพระราชวังในตำแหน่งหัวหน้าห้องเครื่องต้น มีหน้าที่ดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวงเป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์และเก็บผลไม้เสวย มีพนักงานอยู่ใต้บังคับบัญชาถึง ๒,๐๐๐ คน ซึ่งเธอก็ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยกย่องชื่นชม มีเงินคืนท้องพระคลังปีละมาก ๆ ด้วยนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีเมตตา ทำให้ท้าวทองกีบม้าถ่ายทอดตำรับการปรุงขนมหวานแบบต่าง ๆ ให้แก่สตรีที่ทำงานใต้บังคับบัญชาของเธอจนเกิดความชำนาญ และสตรีเหล่านี้เมื่อกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ญาติพี่น้องยังบ้านเกิดของตนก็ได้นำตำรับขนมหวานไปเผยแพร่ต่ออีกทอดหนึ่ง จึงทำให้ตำรับขนมหวานที่เคยอยู่ในพระราชวังแผ่ขยายออกสู่ชนบทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดก็กลายเป็นขนมพื้นบ้านของไทย


..........ชีวิตบั้นปลายของท้าวทองกีบม้าจัดว่ามีความสุขสบายตามสมควร โดยพักอาศัยอยู่ที่บ้านในค่ายโปรตุเกส กลางวันก็เดินทางเข้าไปทำงานในหน้าที่หัวหน้าห้องเครื่องต้นในพระราชวัง เย็นกลับมาอยู่กับหลาน ๆ วันอาทิตย์ไปโบสถ์เพื่อฟังธรรม และเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง มีหลักฐานที่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่า ท้าวทองกีบม้ามีอายุยืนยาวกว่า ๖๖ ปี ได้เห็นการเปลี่ยนแผ่นดินถึง ๔ รัชกาล คือ รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือและรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ แม้ว่าท้าวทองกีบม้าจะมีกำเนิดเป็นคนต่างชาติ แต่เธอก็เกิด เติบโตและมีชีวิตอยู่ในประเทศสยามจวบสิ้นอายุขัย แถมยังสร้างสิ่งประดิษฐ์อันล้ำค่าทั้งในด้านชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมประเพณีของไทยเอาไว้อย่างมากมายมหาศาล สมกับคำยกย่องกล่าวขานของคนรุ่นหลังที่มอบแด่เธอว่า ราชินีขนมไทย

สมัยสุโขทัย
ขนมไทยมีที่มาคู่กับชนชาติไทย จากประวัติศาสตร์ที่ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศคือ จีนและอินเดียในสมัยสุโขทัย มีส่วนช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ด้านอาหารการกินร่วมไปด้วย

สมัยอยุธยา
เริ่มมีการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับต่างประเทศทั้งชาติตะวันออกและตะวันตก ไทยเรายิ่งรับเอาวัฒนธรรมด้านอาหารของชาติต่างๆ มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ เครื่องมือเครื่องใช้ วัตถุดิบที่หาได้ ตลอดจนนิสัยการบริโภคของคนไทยเอง จนบางทีคนรุ่นหลังแทบจะแยกไม่ออกเลยว่า อะไรคือขนมไทยแท้ๆ อะไรที่เรายืมเค้ามา เช่น ทองหยิบ ทองหยอดและฝอยทอง หลายท่านอาจคิดว่าเป็นของไทยแท้ๆ แต่ความจริงแล้วมีต้นกำเนิดจากประเทศโปรตุเกส โดย "มารี กีมาร์" หรือ

"ท้าวทองกีบม้า" "ท้าวทองกีบม้า" หรือ "มารี กีมาร์" เกิดเมื่อ พ.ศ. 2201 หรือ พ.ศ. 2202 แต่บางแห่งก็ว่า พ.ศ. 2209 โดยยึดหลักจากการแต่งงานของเธอที่มีขึ้นในปี พ.ศ. 2225 และขณะนั้น มารี กีมาร์ มีอายุเพียง 16 ปี บิดาชื่อ "ฟานิก (Phanick)" เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นผสมแขกเบงกอล ผู้เคร่งศาสนา ส่วนมารดาชื่อ "อุรสุลา ยามาดา (Ursula Yamada)" ซึ่งมีเชื่อสายญี่ปุ่นผสมโปรตุเกส ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในอยุธยา ภายหลังจากพวกซามูไรชุดแรกจะเดินทางเข้ามาเป็นทหารอาสา ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่นานนัก

ชีวิตช่วงหนึ่งของ "ท้าวทองกีบม้า" ได้เข้าไปรับราชการในพระราชวังตำแหน่ง "หัวหน้าห้องเครื่องต้น" ดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง เป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์ และเก็บผลไม้ของเสวย มีพนักงานอยู่ใต้บังคับบัญชาเป็นหญิงล้วน จำนวน 2,000 คน ซึ่งเธอก็ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ชื่นชม ยกย่อง มีเงินคืนทองพระคลังปีละมากๆ ระหว่างที่รับราชการนี่เอง มารี กีมาร์ ได้สอนการทำขนมหวานจำพวก ทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง ทองพลุ ทองโปร่ง ขนมผิงและอื่นๆ ให้แก่ผู้ทำงานอยู่กับเธอและสาวๆ เหล่านั้น ได้นำมาถ่ายทอดต่อมายังแต่ละครอบครัวกระจายไปในหมู่คนไทยมาจนปัจจุบันนี้

ถึงแม้ว่า "มารี กีมาร์" หรือ "ท้าวทองกีบม้า" จะมีชาติกำเนิดเป็นชาวต่างชาติ แต่เธอก็เกิด เติบโต มีชีวิตอยูในเมืองไทยจวบจนหมดสิ้นอายุขัย นอกจากนั้น ยังได้ทิ้งสิ่งที่เธอค้นคิดให้เป็นมรดกตกทอดมาสู่คนรุ่นหลัง ได้กล่าวขวัญถึงด้วยความภาคภูมิ "ท้าวทองกีบม้า เจ้าตำรับอาหารไทย"


ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

วันที่ขึ้นเนื้อหา: 03 กุมภาพันธ์ 2553
จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน:11893

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น